ฉบับที่ 208 บุพเพสันนิวาส : ประวัติศาสตร์ในวันนี้จะแตกต่างจากวันนั้น

“ประวัติศาสตร์” คืออะไร ? ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่นิยามประวัติศาสตร์ว่า เป็นเรื่องราวของจริงซึ่งมีอยู่ในอดีต และถูกบันทึกส่งต่อไว้ผ่านกาลเวลาจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง แต่ก็มีนักคิดอีกกลุ่มหนึ่งโต้แย้งว่า ประวัติศาสตร์คือบทสนทนาของคนแต่ยุคที่มีต่ออดีตของตนเอง แต่ไม่ว่าประวัติศาสตร์จะเป็นการบันทึกเรื่องราว หรือเป็นการสนทนากับอดีตของมนุษย์ สิ่งที่เรามักจะไม่ค่อยตระหนักเป็นคำถามกันก็คือ ใครกันที่มีอำนาจในการบันทึกหรือสนทนาเรื่องราวของประวัติศาสตร์ จนกลายมาเป็นเรื่องเล่าให้เราๆ ต้องเรียนรู้หรือรับฟังกันผ่านรุ่นสู่รุ่น ลองย้อนกลับไปสมัยที่ยังเป็นนักเรียน และถูกบังคับให้ท่องจำเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์ ผู้เรียนเองก็แทบจะไม่เคยถามเลยว่า ประวัติศาสตร์ดังกล่าวเขียนขึ้นโดยใคร บันทึกไว้ด้วยเหตุผลใด หรือเป็นอำนาจและผลประโยชน์ของผู้ใดที่กำหนดให้เราต้องทั้ง “ท่อง” และ “จำ” เรื่องเล่าเหล่านั้น เพราะหน้าที่ของนักเรียนและเราๆ ก็คือ ผู้จดจำและสืบต่อ หาใช่คนที่จะมีส่วนร่วมในการเขียนหรือสร้างเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์นั้นไม่ อย่างไรก็ดี จะเกิดอะไรขึ้นหากบทบาทของคนรุ่นใหม่เริ่มย้ายปีกจาก “ผู้เสพ” มาเป็น “ผู้มีส่วนร่วมสร้าง” ประวัติศาสตร์ไทยกันบ้าง และที่สำคัญ หน้าตาของ “ประวัติศาสตร์ในวันนี้” ที่คนปัจจุบันร่วมขีดเขียน “จะแตกต่างจากวันนั้น” กันอย่างไร คำตอบเฉกเช่นนี้ดูจะปรากฏอยู่ในละครโทรทัศน์เรตติ้งแรงแซงทางโค้งของบรรดาออเจ้าทั้งหลายอย่าง “บุพเพสันนิวาส” เรื่องนี้นี่เอง หากจะทวนความกันสักเล็กน้อย เหตุแห่งรักข้ามภพข้ามชาติตามท้องเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” นั้น เริ่มต้นเมื่อ “เกศสุรางค์” นักศึกษาโบราณคดีรุ่นใหม่ประสบอุบัติเหตุ ทำให้ดวงวิญญาณของเธอสิ้นไปในภพปัจจุบัน และย้อนกลับไปสวมสิงอยู่ในร่างของ “แม่หญิงการะเกด” จนท้ายที่สุดก็พานประสบพบรักกับ “พ่อเดช” หรือ “หมื่นสุนทรเทวา” คู่หมายของแม่หญิงเมื่อราวกว่าสามศตวรรษก่อนหน้านี้  ด้วยเรื่องราวที่มีกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นฉากหลัง และด้วยการสร้างตัวละครที่เชื่อกันว่ามีชีวิตอยู่จริงในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็น “คอนสแตนติน ฟอลคอน” “ท้าวทองกีบม้า มารี กีมาร์” “ออกญาโหราธิบดี” และอีกหลากหลายชีวิตในยุคสมัยดังกล่าว ละครได้ยืนยันธีมหลักของเรื่องว่า ความรักของชายหญิงแม้จะอยู่ต่างภพชาติ แต่ก็ว่ายวนจนมาพบกันได้ก็ด้วยเพราะอำนาจแห่ง “บุพเพสันนิวาส” แม้จะมีแก่นหลักเป็นรักโรมานซ์และอำนาจของบุพเพที่ขีดกำหนดความรักเอาไว้ แต่ลึกลงไปกว่าเรื่องรักโรแมนติกนั้น ดูเหมือนละครได้สอดแทรกมุมมองของคนยุคใหม่ที่มีต่อเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ ซึ่งรังสรรค์ให้มีทั้งด้านที่ “เหมือน” และ “ต่าง” ไปจากที่เราๆ ต่างคุ้นเคยหรือท่องจำกันเพื่อทำข้อสอบส่งคุณครู เพื่อจะฉายให้เห็นจุดยืนของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อประวัติศาสตร์สังคมการเมืองไทยว่าเป็นเช่นเฉกใด ละครจึงสร้างโลกเสมือนจำลองภาพกรุงศรีอยุธยากันขึ้นมาเสียใหม่ โดยมี “มนต์กฤษณะกาลี” กลายเป็นช่องทางที่ชักนำให้เกศสุรางค์ได้เดินทางข้ามภพชาติมาพานพบรักกับหมื่นสุนทรเทวา พร้อมๆ กับพบพานหน้าประวัติศาสตร์เสมือนที่ตนได้เข้าไปร่วมขีดเขียนเรื่องเล่าดังกล่าวเอาไว้ ลำดับแรก หากประวัติศาสตร์เป็นบทสนทนาที่คนแต่ละยุคมีต่ออดีตของตนเองแล้ว เกศสุรางค์ก็จัดการแปลงความทรงจำในอดีตให้กลายเป็นเรื่องราวที่หวือหวาแปลกตา ดังประโยคที่เธออุทานขึ้นพลันที่รู้ตัวว่าได้ย้อนยุคไปในอดีตแห่งกรุงศรีอยุธยาว่า “สิ่งมหัศจรรย์อย่างนี้มีจริง ไม่ใช่เรื่องฝันของคนเขียนนิยาย มันคือทวิภพหรือคะเนี่ย...มันโคตรจริงเลยโว้ย!!!” หลังจากนั้น อากัปกิริยาต่างๆ ที่เกศสุรางค์ได้แสดงออกมาให้ตัวละครโดยรอบได้สัมผัส ไม่ว่าจะเป็นการปั้นหน้าเป็นคุณกิ๊กสุวัจนีตำนานนางร้ายในโลกร่วมสมัย การสอนบ่าวอย่าง “ผิน” และ “แย้ม” ให้ทำมือเป็นท่า “โอเค” การเล่นโยคะเพื่อให้ร่างฟิตแอนด์เฟิร์มจนเล่นเอาหมื่นสุนทรเทวาถึงกับตกใจ  การไปเวจเพื่อทำธุระส่วนตัวหรือขี่ม้าในวันนั้นของเดือน การออกท่าเชียร์ลีดเดอร์ให้กับฝีพายเรือแข่ง การประดิษฐ์สารพันเมนูอาหารตั้งแต่กุ้งเผาจิ้มน้ำจิ้มรสเด็ด หมูกระทะ หรือมะม่วงน้ำปลาหวาน ไปจนถึงอาการตื่นตาตื่นใจกับสถานที่ในอดีตที่ได้เห็นกับตาจริงๆ เหล่านี้ล้วนสะท้อนว่า คนรุ่นเราๆ มองอดีตด้วยมุมมองที่ตื่นเต้นตื่นตากันเพียงไร ลำดับถัดมา เพราะเกิดในยุคที่ธรรมเนียมปฏิบัติแตกต่างออกไป เกศสุรางค์จึงมีอีกด้านที่รู้สึกลึกๆ ว่า กับวิถีปฏิบัติของคนยุคก่อน “มันโบราณ มันออกจะโบราณ มันไม่เป็นรุ่นใหม่...” แบบเดียวกับที่เธอมักพูดจากระทบกระเทียบค่านิยมบางเรื่องของคนพระนครยุคนั้นว่า “เชย” บ้าง หรือเป็น “ไดโนเสาร์เต่าล้านปี” บ้าง ทั้งนี้ สำหรับคนรุ่นใหม่ในสังคมยุคประชาธิปไตยผู้ยึดมั่นในหลัก “สิทธิมนุษยชน” ด้วยแล้ว เกศสุรางค์จึงเห็นว่า “ประวัติศาสตร์จะต้องเปลี่ยน เปลี่ยนไปเป็นฉันและเธอเท่าเทียมกัน...” ไม่ว่าจะเป็นภาพการลงโทษโบยตีทาสในเรือน ไปจนถึงกฎมณเฑียรบาลที่ลงทัณฑ์ผู้หญิงที่ประพฤติตนไม่เหมาะสม ก็ถูกนางเอกของเรานิยามไปแล้วว่า ช่างละเมิดต่อสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์และอยุติธรรมต่อสิทธิของสตรีชนเสียนี่กระไร และที่สำคัญ แม้ฉากหลังของเรื่องละครจะเต็มไปด้วยความขัดแย้งทางการเมืองและผลประโยชน์ในยุคที่สยามประเทศเผชิญกับพายุแห่งจักรวรรดินิยมตะวันตกระลอกแรกๆ แต่ในทัศนะของคนรุ่นใหม่ เกศสุรางค์ก็เล่นบทบาทเพียงแค่ผู้เฝ้าสังเกตการณ์ โดยไม่พยายามเข้าไปแทรกแซงการเมืองของยุคสมัยนั้น (แม้จริงๆ เธอจะรู้อยู่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตตัวละครทั้งหลายในอนาคตก็ตาม)  เมื่อเหตุการณ์ทางการเมืองไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ คนรุ่นใหม่ก็จัดการปรับมุมมองเสียใหม่และทำให้ประวัติศาสตร์กลายเป็นตำนานบุพเพและรักโรมานซ์กันไปเสียเลย  ทั้งฉากพลอดรักของพระนางท่ามกลางแสงจันทร์ ฉากสบตาและเดินเที่ยวงานวัดเป็นคู่ๆ ของตัวละคร ฉากแอบมองกันและกันผ่านช่องหน้าต่างพร้อมเสียงดนตรีหวานๆ ที่เปิดคลอประหนึ่งมิวสิกวิดีโอ ไปจนถึงฉากจุมพิตในที่สาธารณะที่เล่นเอาสะท้านกันไปทั้งพระนคร ประวัติศาสตร์การเมืองของอดีตจึงสามารถ “มุ้งมิ้ง” และ “ฟรุ้งฟริ้ง” ไปด้วยโลกทัศน์แบบรักโรแมนติกของคนยุคปัจจุบัน ในท้ายที่สุด แม้ “บุพเพสันนิวาส” จะทำให้เกศสุรางค์และหมื่นสุนทรเทวาได้ข้ามมาพบรักครองคู่กัน แต่ก็เป็นเพราะ “บุพเพสันนิวาส” อีกเช่นกัน ที่ทำให้ภาพแห่งอดีตของสังคมไทยได้ถูกรื้อถอนและรื้อสร้างให้กลายเป็นประวัติศาสตร์ในโฉมหน้าใหม่แบบ “มุ้งมิ้งฟรุ้งฟริ้ง” หรือเป็นแบบที่คนยุคนี้ต้องการสนทนาเล่าสู่กันฟังว่า “ประวัติศาสตร์ในวันนี้จะแตกต่างจากวันนั้น” เพื่อที่ “รักของเราจะทันสมัย”

อ่านเพิ่มเติม >