ฉบับที่ 128 บิ๊กซีแพ้ซ้ำ คดีลูกค้าตกร่องน้ำในห้าง ศาลอุทธรณ์สั่งจ่ายเพิ่มอีก 2 หมื่น

ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีลูกค้าตกร่องระบายน้ำในห้าง บิ๊กซีประมาทจริง เปิดร่องระบายน้ำไม่มีเครื่องป้องกันเป็นเหตุให้ลูกค้าเดินตกจนข้อเท้าหัก สั่งจ่ายค่าขาดประโยชน์เพิ่มอีก 2 หมื่น หลังจากที่ศาลชั้นต้นได้สั่งบิ๊กซีให้จ่ายค่าเสียหายแก่ผู้บริโภครายนี้ไปแล้วร่วม 5 แสนบาทจากคดีที่คุณจุฬา สุดบรรทัด เดินตกร่องน้ำที่ไม่มีฝาปิดบริเวณห้างสรรพสินค้า บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาลำปาง เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2550 จนได้รับบาดเจ็บกระดูกข้อเท้าขวาหลุดและแตก เสียค่ารักษาและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องไปหลายบาท แต่ห้างบิ๊กซีฯ ปฏิเสธความรับผิดชอบศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2551 ให้บิ๊กซีต้องชำระเงินจำนวน 405,808.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 มกราคม 2550 ซึ่งเป็นวันที่เกิดเหตุจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่เกิน 81,275 บาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท แต่ไม่พิพากษาค่าขาดประโยชน์ให้เพราะรายได้ไม่สม่ำเสมอและไม่แน่นอนภายหลัง คดีสิ้นสุดในศาลชั้นต้น คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างใช้สิทธิอุทธรณ์ คุณจุฬาในฐานะโจทก์ยื่นอุทธรณ์ในประเด็นเรื่องค่าขาดรายได้ในช่วงที่บาดเจ็บต้องพักรักษาตัว ส่วนบิ๊กซีอุทธรณ์ว่าตนไม่ได้เป็นฝ่ายประมาท เหตุที่เกิดเป็นเพราะความประมาทของคุณจุฬาเองในที่สุด ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 และได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 กันยายน 54 โดยมีคำวินิจฉัยที่น่าสนใจในคดีนี้หลายประเด็น ขอยก มาให้ศึกษาเรียนรู้ร่วมกันเฉพาะที่สำคัญ ดังนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ห้างบิ๊กซีเป็นเจ้าของสถานที่ เป็นผู้ทำรางระบายน้ำรูปตัววีและเกาะกลางถนนเอง ควรจะทราบถึงความเป็นไปได้ในการที่จะเกิดอุบัติเหตุขึ้นแก่ผู้ที่เข้าไปใช้บริการห้างสรรพสินค้าในการเดินผ่านบริเวณที่เกิดเหตุ ห้างฯ ควรดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อป้องกันหรือบรรเทาอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการเดินผ่านบริเวณที่เกิดเหตุ เช่น การติดไฟส่องสว่าง การติดป้ายเตือนให้ระมัดระวังในการเดินในพื้นต่างระดับที่ติดต่อกับรางระบายน้ำรูปตัววีที่ห้างฯ ทำขึ้น แต่ห้างฯ กลับไม่ได้กระทำการดังกล่าว เพิกเฉย ละเลยในการป้องกันหรือบรรเทาอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น การกระทำของห้างฯ จึงเป็นการกระทำโดยประมาท และละเมิดต่อโจทก์ คือคุณจุฬา ที่เดินผ่านบริเวณที่เกิดเหตุแล้วประสบอุบัติเหตุลื่นล้มจนได้รับบาดเจ็บ คุณจุฬาจึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากห้างฯ ได้กรณีที่ห้างฯ อุทธรณ์อ้างว่า ห้างฯ ไม่ต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลเพราะคุณจุฬาสามารถเบิกค่ารักษาจากส่วนราชการได้ ศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยในส่วนนี้ว่า แม้คุณจุฬาจะเบิกค่ารักษาพยาบาลจากทางราชการได้ ก็ไม่ทำให้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายของคุณจุฬาที่จะเรียกร้องเอาจากห้างฯ ต้องระงับไป ห้างฯ ต้องรับผิดชดใช้ค่ารักษาพยาบาลให้แก่คุณจุฬากรณีค่าเสียหายในอนาคต ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้แก่คุณจุฬา จำนวน 100,000 บาท ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเหมาะสมแล้ว อีกทั้งห้างฯ ให้การและนำสืบแต่เพียงว่า คุณจุฬานำค่าใช้จ่ายในอนาคตมาคำนวณรวมไว้ด้วย แต่ไม่ได้ปฏิเสธหรือนำสืบให้เห็นว่าคุณจุฬาไม่ได้มีค่าใช้จ่ายในอนาคตแต่อย่างใด และไม่ได้ปฏิเสธโต้แย้งว่า รายการสรุปค่าเสียหายไม่ถูกต้อง ทำขึ้นโดยไม่ชอบหรือรับฟังไม่ได้ด้วยเหตุใดแล้ว จึงต้องถือว่ารายการสรุปค่าเสียหายนั้นรับฟังได้ว่า คุณจุฬามีค่าเสียหายในอนาคตที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดจริงประเด็นสำคัญสุดท้าย กรณีที่ศาลชั้นต้นไม่กำหนดค่าเสียหายในส่วนค่าขาดประโยชน์วันละ 2,000 - 5,000 บาท ให้แก่คุณจุฬานั้น ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คุณจุฬาจะยกเอาเรื่องการได้เงินค่าเบี้ยประชุมจากการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือกรรมการให้หน่วยงานราชการ และองค์กรสาธารณประโยชน์ ซึ่งเป็นเงินที่ได้มาเป็นเพียงบางครั้งบางคราว จำนวนเงินไม่แน่นอน มาอ้างเป็นรายได้ประจำและนำมาคำนวณเป็นค่าขาดรายได้เพื่อเรียกค่าเสียหายไม่ได้ อย่างไรก็ตามก็ยังต้องถือว่าเป็นรายได้ของคุณจุฬาที่เคยได้รับก่อนเกิดเหตุ ที่ศาลชั้นต้นไม่กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้คุณจุฬาเลยจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์ เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายเป็นค่าขาดรายได้ให้คุณจุฬาจำนวน 20,000 บาทศาลอุทธรณ์ จึงมีคำพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดรายได้ให้โจทก์(คุณจุฬา) เป็นเงิน 20,000 บาท ด้วย โดยที่ก่อนหน้านี้ห้างบิ๊กซีฯ ต้องจ่ายค่าเสียหายตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีเดียวกันเป็นเช็คเงินสดจำนวน 570,000 บาทมาแล้ว      

อ่านเพิ่มเติม >