ฉบับที่ 142 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนพฤศจิกายน 2555 ใบจองต้องเป๊ะ ซื้อรถคันแรก หลังจากที่รัฐบาลออกนโยบายรถคันแรกซึ่งเอื้อให้ประชาชนสามารถมีรถยนต์เป็นของตัวเองได้ง่ายขึ้น จากเงื่อนไขที่ภาครัฐที่จ่ายภาษีคืนให้กับผู้ซื้อ ทำให้ยอดการจองรถยนต์มีอัตราสูงขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยการทำสัญญาจองรถยนต์นั้นผู้บริโภคต้องให้ความสำคัญกับ “ใบจอง” เพราะเป็นเอกสารหลักฐานสำคัญที่ช่วยป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกหลอก โดยทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เคยทำหนังสือถึงผู้ประกอบการจำหน่ายรถยนต์ทุกค่ายพิจารณาการออกใบจองรถยนต์ให้ลูกค้าให้มีมาตรฐาน เป็นประโยชน์กับผู้ซื้อ โดยต้องแสดงรายละเอียดสำคัญให้ครบถ้วน ตั้งแต่รายละเอียดของรถยนต์ สี รุ่น ราคา ระยะเวลาการผลิตรถ ขนาดของเครื่องยนต์ และกำหนดเวลาส่งมอบรถ พร้อมสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ หากค่ายรถยนต์ใดไม่แสดงรายละเอียดข้อมูลดังกล่าวให้ครบถ้วน ถือว่าอาจเข้าข่ายการหลอกลวงผู้บริโภค จากข้อมูลของ สคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับรถยนต์ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2555 ทั้งสิ้น 889 เรื่อง เป็นกรณีขอเงินจองคืนเนื่องจากไม่ได้รถยนต์ 100 รายการ ไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญา 69 รายการ ยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน 53 รายการ ชำรุด 231 รายการ คืนรถ ค้างค่างวด 91 รายการ ยึดรถคืน 40 รายการ ขอชดใช้ค่าเสียหาย 38 รายการ ค่าปรับสูง 31 รายการ ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ 31 รายการ ขอคำปรึกษา 30 รายการ     ที่พักแพงแจ้ง สคบ. ปีใหม่นี้หลายๆ คนคงเตรียมตัวไปเที่ยวตามที่ต่างๆ ซึ่งสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องคิดและวางแผนเลือกกันอย่างดีก่อนที่จะออกไปเที่ยวก็คือ “ที่พัก” แม้จะมีให้เลือกมาก แต่รูปแบบและราคาก็แตกต่างกันมากด้วยเช่นกัน ที่สำคัญยิ่งถ้าเป็นช่วงหน้าท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่น บรรดาที่พักต่างๆ ก็มักจะฉวยโอกาสขึ้นราคา ถือว่าไม่ค่อยเป็นธรรมกับผู้บริโภค หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจึงจับมือกันเพื่อหาทางช่วยเหลือผู้บริโภค โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เป็นเจ้าภาพ ร่วมกับกรมการค้าภายใน กรมการท่องเที่ยว สมาคมโรงแรมไทย ฯลฯ โดยหนึ่งในมาตรการที่อยากขอร้องกับให้ผู้ประกอบการ รวมถึงบริษัททัวร์ ก็คือ ให้จัดทำโบรชัวร์แสดงราคาของที่พักที่ต้องมีความชัดเจน แจ้งทั้งราคาช่วงไฮซีซั่นและโลว์ซีซั่น เพื่อให้นักท่องเที่ยวเห็นและตัดสินใจได้ ซึ่งความจริงแล้วบริษัททัวร์ ที่พัก หรือสถานที่ท่องเที่ยว จัดอยู่ในกลุ่ม 26 สินค้าที่ สคบ. มีโครงการจะมอบตราสัญลักษณ์ให้ด้วยเช่นกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ทั้งนี้หากผู้นักท่องเที่ยวคนใดไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องราคาทั้งที่พัก สามารถร้องเรียนไปได้ที่ สายด่วน สคบ. 1166 บะหมี่สำเร็จรูปเกาหลีไม่มีสารก่อมะเร็ง หลังจากมีที่มีข่าวออกมาว่า มีการตรวจพบสารก่อมะเร็งในบะหมี่สำเร็จรูปยี่ห้อดังจากประเทศเกาหลี “นองชิม” (nongshim)  ที่วางจำหน่ายในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งส่งผลมาถึงประเทศไทยเราเพราะบะหมี่สำเร็จรูปยี่ห้อดังกล่าวก็มีวางขายในประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยงานนี้ทางคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง จึงออกมาตรการด่วนด้วยการสุ่มเก็บตัวอย่าง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนองชิมที่นำเข้าจากประเทศเกาหลีใต้และฮ่องกง จำนวน 20 ตัวอย่าง พร้อมกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทย จำนวน 3 ตัวอย่าง รวม 23 ตัวอย่าง เพื่อตรวจวิเคราะห์หาสารปนเปื้อนอันตราย ซึ่งผลวิเคราะห์ที่ได้พบว่าทุกตัวอย่างปลอดภัยจากสารก่อมะเร็ง ผู้บริโภคสามารถหาซื้อมารับประทานได้อย่างสบายใจ โดยการตรวจวิเคราะห์ในครั้งนี้เป็นการตรวจหาสารก่อมะเร็ง (สารเบนโซ (เอ) ไพรีน) ที่อยู่ในเครื่องปรุงรสของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งตัวอย่างที่นำมาวิเคราะห์ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสเต้าเจี้ยว, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสปลาหมึก, บะหมี่  กึ่งสำเร็จรูปรสอาหารทะเล และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสเผ็ด ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์ไม่พบสารก่อมะเร็งในเครื่องปรุงรสแต่อย่างใด คปภ. แนะซื้อประกันภัยสุขภาพอย่างถูกต้อง คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แนะนำผู้ที่จะซื้อประกันชีวิตและประกันสุขภาพ ต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนเลือกซื้อ อันดับแรกต้องเข้าใจก่อนว่าระหว่างการประกันชีวิตและการประกันภัยสุขภาพนั้น มีความแตกต่างกันอย่างไร สำหรับการประกันชีวิตนั้น เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองทางด้านชีวิตโดยตรง บริษัทประกันภัยจะจ่ายเงินสินไหมทดแทนเนื่องจากการเสียชีวิต (จากทุกกรณี) หรือเนื่องจากการมีชีวิตอยู่รอดตามระยะเวลาที่กำหนดขึ้นอยู่กับสัญญาประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะได้รับความคุ้มครองการเสียชีวิตและการอยู่รอดเต็มจำนวนผลประโยชน์ที่ซื้อจากทุกๆ กรมธรรม์ประกันชีวิต ส่วนการประกันภัยสุขภาพ ซึ่งเป็นสัญญาเพิ่มเติมที่ซื้อเพิ่มจากกรมธรรม์ประกันชีวิตจะให้ความคุ้มครองด้านค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล และเงินชดเชยรายได้เนื่องจากนอนพักรักษาพยาบาลเท่านั้น ไม่ว่าการรักษาพยาบาลนั้น จะเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย หรือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ซึ่งการพิจารณารับประกันภัยของบริษัทประกันภัย จะขึ้นอยู่กับสุขภาพและอายุของผู้เอาประกันภัยเป็นสำคัญ ทั้งนี้ บริษัทประกันภัยส่วนใหญ่จะไม่คุ้มครอง “โรคที่เป็นมาก่อนการทำประกันภัย” เช่น โรคมะเร็งระยะสุดท้าย และโรคเอดส์ และหากผู้ขอเอาประกันภัย มีสุขภาพไม่แข็งแรงหรือมีโรคประจำตัวหลายอย่าง บริษัทประกันภัยอาจจะพิจารณารับประกันภัยด้วยเบี้ยประกันภัยที่สูงกว่าคนปกติ หรืออาจจะไม่รับประกันภัยเลยก็ได้ สิ่งหนึ่งที่ต้องพิจารณาและควรรู้สำหรับผู้ที่จะทำประกันสุขภาพก็คือ การเบิกค่ารักษาพยาบาลจากการทำประกันภัยสุขภาพ ผู้เอาประกันภัยจะเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามที่จ่ายจริงเท่านั้น ดังนั้น การซื้อประกันภัยสุขภาพ ผู้เอาประกันภัยไม่จำเป็นต้องซื้อหลายๆ กรมธรรม์ แต่ควรพิจารณาว่าค่ารักษาพยาบาลที่ได้ทำอยู่แล้วครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลที่ผู้เอาประกันภัยต้องการหรือไม่ และควรศึกษาทำความเข้าใจในรายละเอียดเงื่อนไขความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยทุกครั้ง ว่าตรงกับที่บริษัทประกันภัยเสนอขาย     รถทัวร์เตรียมใช้ “จีพีเอส” ตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป รถโดยสารสาธารณะเตรียมนำระบบจีพีเอสมาใช้ เพื่อยกระดับความปลอดภัยให้กับผู้โดยสาร โดยจะเริ่มต้นที่รถของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กว่า 800 คัน ก่อนจะขยายผลไปยังรถร่วมบริการของ บขส. และรถตู้โดยสาร ซึ่งระบบจีพีเอสน่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องอุบัติเหตุของรถโดยสารที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในปัจจุบัน ระบบจีพีเอสมีเป็นระบบสื่อสารกับดาวเทียม สามารถรู้จุดตำแหน่งของรถที่ติดตั้ง การใช้ความเร็ว สามารถควบคุมให้พนักงานขับรถปฏิบัติตามกฎหมาย และเกิดความปลอดภัยกับผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จของผู้บริโภค หลังจากที่องค์กรผู้บริโภคและเครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านความปลอดภัยบนท้องถนนหลากหลายภาคส่วน ได้เข้ายื่นหนังสือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขอให้จัดตั้ง “ศูนย์ควบคุมการเดินรถโดยสารสาธารณะประจำทางตลอด 24 ชั่วโมง” และให้มีการติดตั้งระบบจีพีเอสและกล่องเก็บข้อมูลในรถโดยสารสาธารณะประจำทาง เพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา เห็นหรือยังว่าพลังของผู้บริโภคมีความสำคัญอย่างมากในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาและแก้ปัญหาต่างๆ ของผู้บริโภคในสังคม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 124 ตรวจฉลากบะหมี่สำเร็จรูป(อีกสักครั้ง)

  ตามที่สัญญาไว้ในฉบับที่แล้วว่า จะพาท่านผู้อ่านไปดูการให้ข้อมูลบนฉลากของอาหารกึ่งสำเร็จรูปแบบซองเดี่ยวชนิดซองต่อซอง ยี่ห้อต่อยี่ห้อของผู้ประกอบการในตลาด ฉลาดซื้อจึงได้เก็บตัวอย่างอาหารกึ่งสำเร็จรูปในตลาดเท่าที่หาได้จากห้างบิ๊กซีสาขาสะพานควาย และร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่นสาขาต่าง ๆ  รวมจำนวน 37 ตัวอย่าง ตัวอย่างละ 1 รสชาติ แบ่งตามตราสินค้าได้เป็น 12 ยี่ห้อ   ผลการทดสอบผู้ประกอบการกว่าครึ่งแสดงข้อมูลที่ต้องแสดงครบถ้วน ยกเว้นคำแนะนำในการเก็บรักษา (ซึ่งประกาศกระทรวงสาธารณสุขเปิดช่องไว้ให้ใส่หรือไม่ก็ได้เพราะใช้คำว่า “ถ้ามี”) ที่ผู้ประกอบการหลายตราสินค้าไม่ได้แสดง ได้แก่ ตราสินค้าไวไว ไวไวควิก ซื่อสัตย์ ฮาร์โมนีไลฟ์ และอินโดหมี่   สำหรับการเปรียบเทียบการแสดงข้อมูลรายการต่อรายการนั้นฉลาดซื้อขอนำเสนอใน 2 ประเด็นคือ การแสดงวันผลิต/วันหมดอายุ และฉลากโภชนาการ   วันผลิต/วันหมดอายุพบว่า การแสดงข้อมูลในส่วนของวันผลิต/วันหมดอายุหรือควรบริโภคก่อน ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน การแสดงฉลากค่อนข้างสับสนและมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปในผู้ประกอบการแต่ละตราสินค้า เช่น บางรายแสดงทั้งวันผลิต/วันหมดอายุหรือควรบริโภคก่อนโดยใช้คำภาษาไทยกำกับให้ดูบนซองแล้วใช้เลขหกหลักโดยไม่มีจุดหรือไม่เว้นวรรค เช่น มาม่า บางรายใช้เลขหกหลักกับจุดคั่นเพื่อให้รู้ว่าเป็นวัน/เดือน/ปี เช่น ยำยำ บางรายใช้เว้นวรรค เช่น อินโดหมี่ บางรายแสดงปีก่อนแล้วค่อยแสดงวันกับเดือน เช่น บะหมี่ผักอบแห้งโมโรเฮยะรสเห็ดหอมตราฮาโมนีไลฟ์  อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า แม้แต่ตราสินค้าเดียวกันแต่ต่างประเภทเส้นก็ยังมีการแสดงรายละเอียดที่ต่างกัน เช่น วุ้นเส้นกึ่งสำเร็จรสต้มยำกุ้งกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสหมูสับต้มยำน้ำข้นตรามาม่า ที่ตัวอย่างแรกแสดงคำว่าควรบริโภคก่อนเป็นภาษาไทย แล้วแสดงเลขหกตัวซึ่งน่าจะเป็น วัน/เดือน/ปี พร้อมด้วยล็อตผลิตเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ ขณะที่ตัวอย่างหลังแสดงคำว่า “วันที่ผลิต/วันที่ควรบริโภคก่อน ดูบนซอง” แล้วแสดงคำภาษาอังกฤษว่า MFG ตามด้วยเลขหกหลัก (090511) กับตัวอักษรภาษาอังกฤษและตัวเลข (H22) บรรทัดถัดมาแสดงคำภาษาอังกฤษว่า BBE ตามด้วยเลขหกหลัก (091111)   ผู้ประกอบการที่แสดงแต่วันที่ผลิตอย่างเดียวได้แก่ ตราสินค้าไวไว กับ เอฟเอฟ โดยที่รายแรกส่วนใหญ่แสดงเป็นคำภาษาไทยว่า “ผลิต” ตามด้วยเลขหกหลักส่วน รายหลังแสดงคำว่า “ผลิต (MFG)” ตามด้วยเลขหกตัวมีจุดคั่นเพื่อแสดงวัน/เดือน/ปี ในทางกลับกันตราสินค้าของผู้ประกอบการที่แสดงแต่วันหมดอายุหรือควรบริโภคก่อนเพียงอย่างเดียว ได้แก่ มาม่าประเภทเส้นกึ่งสำเร็จรูปอื่นที่ไม่ใช่เส้นบะหมี่ ซื่อสัตย์ อินโดหมี่ เกษตร และ ฮาโมนีไลฟ์   ข้อเสนอ ควรให้มีการใช้คำเป็นภาษาไทยว่า วันผลิต และ วันหมดอายุ ตามด้วยวัน/เดือน/ปี (ปีที่ใช้ควรเป็นแบบเดียวกัน เลือกเอาอย่างใด อย่างหนึ่งว่าจะใช้ ปี พ.ศ. หรือ ปี ค.ศ.) โดยที่จะมีภาษาอังกฤษเป็นตัวย่อต่อท้ายหรือไม่ก็ได้ และควรแสดงข้อความดังกล่าวไว้ในตำแหน่งเดียวกันบนฉลากในทุกผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้บริโภคสังเกตได้ง่าย   ฉลากโภชนาการ การแสดงฉลากโภชนาการมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลและความรู้ด้านคุณค่าทางโภชนาการของอาหารแก่ประชาชน อันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคทางด้านอาหารและโภชนาการ อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดให้การแสดงฉลากโภชนาการเป็นไปโดยสมัครใจเว้นแต่มีการกล่าวอ้างทางโภชนาการหรือมีการใช้คุณค่าในการส่งเสริมการขาย (ในกรณีอาหารกึ่งสำเร็จรูป) จากการตรวจสอบข้อมูลบนฉลากอาหารกึ่งสำเร็จรูปทั้ง 37 ตัวอย่างพบว่าอยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจ มีเพียง 1 ใน 3 (13 ตัวอย่าง) ที่แสดงข้อมูลโภชนาการ โดยที่ 6 ตัวอย่างเป็นของผู้ประกอบการตราสินค้ามาม่า (มีการกล่าวอ้างคุณค่าบนฉลากอาหาร)  ขณะที่ผลิตภัณฑ์จำนวน 24 ตัวอย่าง (2 ใน 3) ไม่มีการแสดงข้อมูลโภชนาการ โดยทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ของตัวอย่างที่ไม่แสดงข้อมูลโภชนาการ ได้แก่ ตราสินค้ายำยำจัมโบ้และยำยำช้างน้อย ไม่มีการแสดงข้อมูลโภชนาการเลย ถัดมาคือ ไวไวและไวไวควิก ที่มีเพียงตัวอย่างเดียวที่แสดงข้อมูลโภชนาการ ปิดท้ายด้วยตราสินค้ามาม่า ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งของตัวอย่างที่ทดสอบ ไม่แสดงข้อมูลโภชนาการ ขณะที่มาม่าบิ๊กแพ็คทั้งหมดไม่มีการแสดงข้อมูลโภชนาการ   ถ้าหากนำผลิตภัณฑ์มาให้ฉลากในลักษณะสัญญาณไฟจราจร พบว่าเกือบทั้งหมดมีโซเดียมสูง ติดระดับไฟแดง โดยเฉพาะยี่ห้อ เอฟเอฟที่ให้โซเดียมสูงถึง 2 กรัม (2,000 มิลลิกรัม) คิดเป็นร้อยละ 83 ของความต้องการสารอาหารต่อวัน ส่วนตัวอย่างที่มีระดับคะแนนโดยภาพรวมดีที่สุด ได้แก่ บะหมี่ผักอบแห้งโมโรเฮยะรสเห็ดหอมตราฮาโมนีไลฟ์ ที่ได้เกณฑ์คะแนนเป็นสีเขียวเกือบทั้งหมดยกเว้นโซเดียมที่ได้สีแดง  สรุปในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ควรเลือกจากการให้ข้อมูลบนฉลากเป็นสำคัญ ดูวันผลิต/วันหมดอายุหรือควรบริโภคก่อน ข้อความเฉพาะของวัตถุเจือปนอาหารเมื่อมีการใช้ และข้อมูลโภชนาการ แนะนำให้สนับสนุนผู้ประกอบการที่แสดงวันผลิตและวันหมดอายุ เป็นภาษาไทยบนฉลาก หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารกึ่งสำเร็จรูปของผู้ประกอบการตราสินค้าที่ไม่แสดงข้อมูลโภชนาการ และหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารกึ่งสำเร็จรูปเกินกว่า 1 ซองต่อวันเนื่องจากมีโซเดียมสูงอันอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ -------------------------------------------------------------------------------- การเก็บสินค้าและเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณา เก็บตัวอย่างอาหารกึ่งสำเร็จรูปจากห้างบิ๊กซีสาขาสะพานควาย และร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่นสาขาต่าง ๆ  รวมจำนวน 37 ตัวอย่าง ตัวอย่างละ 1 รสชาติ แบ่งตามตราสินค้าได้เป็น 12 ยี่ห้อ  ได้แก่  มาม่า 12 ตัวอย่าง มาม่าบิ๊กแพ็ค 3 ตัวอย่าง ไวไว 6 ตัวอย่าง ไวไวควิก 3 ตัวอย่าง ยำยำจัมโบ้  5 ตัวอย่าง ยำยำช้างน้อย 2 ตัวอย่าง เทสโก้ เกษตร  ฮาร์โมนีไลฟ์ อินโดหมี่ เอฟเอฟ และ ซื่อสัตย์ อย่างละ 1 ตัวอย่าง   พิจารณาตามเกณฑ์การแสดงฉลากตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 194) พ.ศ. 2543 เรื่องฉลากจำนวน 15 รายการ ซึ่งเมื่อจัดกลุ่มรวมจะเหลือ 10 รายการ ได้แก่ ชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุ ปริมาณของอาหาร ส่วนประกอบที่สำคัญ ข้อความเฉพาะของวัตถุเจือปนอาหารเมื่อมีการใช้ วันผลิต/วันหมดอายุ คำแนะนำในการเก็บรักษา วิธีปรุงเพื่อรับประทาน/คำแนะนำในการบริโภค และข้อมูลโภชนาการ (ตามสมัครใจ) --------------------------------------------------------------------------------      

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point