ฉบับที่ 126 กระแสต่างแดน

  โชคดีที่ไม่ร้อนเงินเขาว่ากันว่าหน้าร้อนที่สหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ (ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายน) อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 40 ถึง 50 องศาเซลเซียส ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่แปลกสำหรับประเทศที่ตั้งอยู่ในแถบตะวันออกกลาง  แต่ที่เป็นประเด็นก็เพราะผู้คนที่นี่เขาออกจะมีฐานะล่ำซำกันอยู่สักหน่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนที่อาศัยอยู่ในศูนย์กลางการค้าอย่างเมืองดูไบ ซึ่งประชากรประมาณ 2 ล้านคนของเขาไม่ยี่หระกับบิลค่าไฟฟ้าที่แพงลิบลิ่ว  คนส่วนใหญ่ในเมืองนี้นิยมเปิดเครื่องปรับอากาศที่บ้านไว้ตลอด 24 ชั่วโมง แม้ว่าตัวเองจะออกไปทำงานหรือไปทำธุระที่อื่น รวมๆ แล้วค่าเฉลี่ยการใช้พลังงานต่อหัวของคนที่ประเทศนี้เลยสูงติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก สูงกว่าการบริโภคไฟฟ้าต่อหัวของสเปนซึ่งมีประชากรถึง 47 ล้านคน ถึง 3 เท่า และสถิติการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวก็สูงกว่าคนอเมริกัน 2 เท่า เรียกว่า ร้อยละ 70 ของจากพลังงานที่ผลิตได้ถูกใช้ไปกับการทำความเย็นนี่เอง และเมื่อมีการบริโภคไฟฟ้าในเมืองดูไบสูงขนาดนั้น ไฟฟ้าในเขตอื่นๆ ของประเทศจึงอยู่ในภาวะติดๆ ดับๆ รัฐบาลเขาจึงออกมารณรงค์ให้เลิกพฤติกรรมดังกล่าว แต่ข่าวบอกว่ายังไม่ประสบผล คงจำกันได้ว่าตึกที่สูงที่สุดในโลกอย่างตึกเบิร์จ คาลิฟะห์ หรือที่เราเรียกกันว่าตึกดูไบเบิร์จ ก็อยู่ที่เมืองดูไบด้วย ตึกนี้ตึกเดียวก็ใช้ไฟฟ้าประมาณ 1 ใน 10 ของกำลังผลิตของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว นอกจากร้านรวงหรือสำนักงานต่างๆ แล้ว ในตัวตึกยังมีเนินสำหรับเล่นสกี ที่มีพื้นที่รวมกันทั้งหมดเท่ากับ 3 สนามฟุตบอล และต้องทำอุณหภูมิที่ – 8 องศาเซลเซียสตลอดเวลา เพื่อทำให้เกิดหิมะ นอกจากนี้ยังมีลานสเก็ตขนาดมาตรฐานโอลิมปิกที่ต้องทำความเย็นไว้รองรับผู้คนที่มาเยี่ยมเยือนวันละกว่า 150,000 คนด้วย ปัจจุบัน ร้อยละ 85 ของกระแสไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศนี้มาจากก๊าซธรรมชาติ (ที่เหลือมาจากน้ำมัน) แต่เขากำลังมีแผนจะสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์กำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ ทั้งหมด 4 เตา บนชายฝั่งของเมืองอาบูดาบีซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ และคาดว่าเตาแรกจะเริ่มใช้งานได้ในอีก 6 ปีข้างหน้า   ลุ้นโชครับลุคใหม่เกิดกระแสฮือฮากันไปทั่วในหมู่นักท่องราตรีเมืองผู้ดี เมื่อคลินิกศัลยกรรมแห่งหนึ่งประกาศจัดงานลุ้นรับบริการศัลยกรรมความงามมูลค่า 4,000 ปอนด์ (ประมาณ 200,000 บาท) ฟรี   งานที่ว่า ใช้ชื่องานว่า “My Big Fat Plastic Surgery” นี้เขาวางแผนจะจัดเดือนละครั้ง หมุนเวียนไปตามไนต์คลับในเมืองต่างๆ ทั่วสหราชอาณาจักร โดยเริ่มจากลอนดอนเป็นเมืองแรกแล้วก็ได้รับเสียงตอบรับท่วมท้น  แต่เมื่อข่าวนี้รู้ไปถึงหูของสมาคมศัลยกรรมเพื่อความงามของอังกฤษเข้า ทางสมาคมฯ ก็รีบออกมาสกัดดาวรุ่งว่าการจัดงานอย่างนั้นไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะการพึ่งมีดหมอเพื่อความงามนั้นเป็นสิ่งที่ควรจะผ่านการวางแผนไตร่ตรองมาอย่างถี่ถ้วน ไม่สมควรนำมาเป็นของรางวัลจากการจับฉลากลุ้นผู้โชคดี เพราะคนที่ได้รางวัลอาจจะไม่ได้มี “จุดบกพร่อง” อย่างแท้จริง อาจเพียงแค่ต้องการจะรักษาสิทธิก็ได้ ไหนๆ ก็ฟรีแล้ว   เพราะเพียงแค่เสียค่าบัตรผ่านประตูเข้าไนต์คลับ (ราคา 25 ปอนด์หรือประมาณ 1,200 บาท) คุณจะได้รับสิทธิร่วมลุ้นรับศัลยกรรมความงามฟรีโดยอัตโนมัติ และผู้โชคดีจะต้องปรากฏตัวขึ้นรับรางวัลทันที แต่ผู้จัดเขาบอกว่าไม่ได้เร่งรัดนะ แค่ให้ขึ้นไปรับรางวัลและถ่ายรูปเป็นหลักฐานเอาไว้ก่อน จากนั้นผู้โชคดีคนดังกล่าวก็จะมีเวลาไปขบคิดอีก 2 อาทิตย์ว่าจะให้หมอลงมีดอัพลุคตนเองที่ส่วนไหนดี ลาภจะได้ไม่กลายเป็นทุกขลาภไป  เรื่องนี้คงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันได้อีกพักใหญ่ เพราะข่าวบอกมาว่าการลุ้นรับโชคทำศัลยกรรมความงามฟรีนั้นกำลังเป็นที่นิยมมากในอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นในนิตยสาร ในอินเตอร์เน็ตก็นิยมให้คนมาร่วมสนุกด้วยวิธีนี้ หรือแม้แต่ “ล็อตเตอรี่ความงาม” ก็มีให้ซื้อกันแล้ว   โซฟา โซเฟคถ้าเราจะลงทุนซื้อของแบรนด์เนมทั้งที เราคงเลือกซื้อจากร้านที่ดูหรูหราน่าเชื่อถือกันหน่อย เพราะทางร้านเขาคงจะกลัวเสียชื่อจึงต้องคัดมาเฉพาะของแท้เท่านั้น …แต่มันจริงหรือ? ถ้าไปถามโทรทัศน์ CCTV ของประเทศจีนตอนนี้เขาคงจะตอบว่าไม่ เพราะเขาเพิ่งจะออกมาเปิดโปงร้านขายเฟอร์นิเจอร์ไฮโซแห่งหนึ่งว่า ในร้านนั้นมีทั้งเฟอร์นิเจอร์ที่นำเข้าจากอิตาลี และเฟอร์นิเจอร์ประทับตรา “นำเข้าจากอิตาลี” ที่ผลิตมาจากโรงงานแห่งหนึ่งทางภาคใต้ของจีนนี่เอง  ร้านที่ว่านั้นมีชื่อว่า ดาวินชี่ ซึ่งมีบริษัทแม่อยู่ที่สิงคโปร์ เป็นร้านที่เศรษฐีชาวจีนแผ่นดินใหญ่นิยมไปหาซื้อเฟอร์นิเจอร์แบรนด์หรู อย่างเวอซาเช่ หรือเฟนดิ ไปประดับบ้าน สนนราคาของสินค้าที่นี่เขาก็ไม่ธรรมดา ถ้าอยากได้เฟอร์นิเจอร์ชุดห้องนอนก็ต้องพกเงินไปประมาณ 100,000 เหรียญ (หรือประมาณ 3 ล้านบาท) ทีเดียว  มาดามดอริส พัว ซีอีโอของบริษัท ดาวินชี่ รีบออกมาแถลงข่าวทันที ว่าบริษัทถูกใส่ร้ายชัดๆ พูดไปก็ร้องไห้ไปน่าเห็นใจอย่างยิ่ง แต่วันเดียวกันนั้นเอง สถานีโทรทัศน์ CCTV ก็ออกข่าวการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ศุลกากรคนหนึ่งในเซี่ยงไฮ้ ที่มีหลักฐานยืนยันว่าดาวินชี่ ไปเช่าโกดังเก็บเฟอร์นิเจอร์ไว้ในเขตการค้าเสรีไว่เกาเฉียว ในเซี่ยงไฮ้เอาไว้  ถ้าเก็บของที่ส่งเข้ามาจากต่างประเทศก็ไม่มีปัญหา แต่ที่เก็บอยู่นั้นมันเป็นเฟอร์นิเจอร์ “เมดอินไชน่า” ที่ถูกส่งมาพักเพื่อเปลี่ยนสถานภาพนั่นเอง  ในทางเทคนิคแล้ว สินค้าที่ถูกส่งไปเก็บในคลังที่เขตการค้าเสรีไว่เกาเฉียวนั้น ถ้ามันถูกเก็บไว้เกินหนึ่งวัน มันจะสามารถกลับออกมาพร้อมกับตราประทับว่าเป็นสินค้า “นำเข้า” ได้   กรุณางดกินตับอาหารเหลาเลื่องชื่อที่หลายคนใฝ่ฝันอยากลิ้มรสอย่าง ฟัวกราส์ ได้กลายเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสและเยอรมนีเข้าแล้ว เมื่อผู้จัดงานเทศกาลอาหารอานูกา ที่จะจัดขึ้นที่เมืองโคโลจน์ ทางตะวันตกของประเทศเยอรมนีในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ประกาศว่าปีนี้จะไม่มีการเสิร์ฟฟัวกราส์ (ที่เราเรียกกันว่า “ตับห่าน”) ในงานเด็ดขาด ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องของกลุ่มพิทักษ์สัตว์ที่ไม่เห็นด้วยกับการได้มาซึ่ง “ตับ” ที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติถึง 10 เท่า ด้วยกรรมวิธีที่ออกจะโหดร้ายไปหน่อย บรรดาเป็ดหรือห่านอับโชคพวกนี้จะถูกขังในกรงแคบๆ จนไม่สามารถขยับปีกได้ แล้วก็จะถูกบังคับ  ป้อนอาหารตลอดเวลา ผ่านทางหลอดให้อาหารที่สอดผ่านจงอยปากของพวกมันเข้าไปโดยตรงเพื่อให้ ตับของพวกมันโตไวๆ  แต่กระทรวงเกษตรของฝรั่งเศสเขารับไม่ได้ งานใหญ่ขนาดนี้จะไม่ให้นำเสนอตำรับอาหารเลื่องชื่อของตนเองได้อย่างไร ว่าแล้วรัฐมนตรีเกษตรของเขาจึงทำจดหมายไปขอร้องให้เยอรมนีทบทวนการตัดสินใจอีกครั้ง มิเช่นนั้นจะเขาจะบอยคอตด้วยการไม่เข้าร่วมพิธีเปิด แต่ทางรัฐบาลเยอรมนีตอบกลับไปว่าเรื่องนี้มันต้องแล้วแต่ผู้จัดงานเขา รัฐบาลไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้  ความจริงแล้วปีนี้สหภาพยุโรปเริ่มใช้กฎเกณฑ์ในเรื่องการเลี้ยงเป็ดหรือห่านเพื่อเป็นวัตถุดิบของฟัวกราส์แล้ว แต่องค์กรพิทักษ์สัตว์เขาบอกว่ามีเพียงร้อยละ 15 ของฟาร์มในฝรั่งเศส (ซึ่งเป็นผู้ผลิตร้อยละ 75 ของฟัวกราส์ทั้งหมดในโลก) เท่านั้นที่เลี้ยงตามเกณฑ์ดังกล่าว หมายเหตุ ที่เรียกกันว่า “ตับห่าน” นั้นคงจะไม่ตรงความจริงเท่าไรนัก เพราะสถิตระบุว่าในการผลิตฟัวกราส์ ของฝรั่งเศสในแต่ละปีเขาจะใช้เป็ดประมาณ 37 ล้านตัว ในขณะที่ใช้ห่านเพียง 7 แสนตัวเท่านั้น  น้ำมันปาล์มต้อง (โปร่ง) ใสปาล์มน้ำมันก็เป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง ที่กลุ่มนักอนุรักษ์กำลังจับตาดูเป็นพิเศษ   คนออสเตรเลียกำลังลุ้นว่าร่างกฎหมายที่กำหนดให้มีการระบุลงว่าส่วนผสมในอาหารที่เรียกว่า “น้ำมันพืช” นั้นจริงๆ แล้วเป็นน้ำมันจากพืชชนิดใด จะผ่านการยอมรับโดยสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่  ผู้ที่รณรงค์ให้เกิดกฎหมายนี้บอกว่า คนออสซี่นั้นบริโภคน้ำมันปาล์มเฉลี่ยคนละ 10 กิโลกรัมในแต่ละปี โดยที่ตนเองไม่รู้เรื่องเลย เพราะในฉลากอาหารของออสเตรเลียขณะนี้ มีเพียงคำว่า “น้ำมันพืช” ทำให้ผู้บริโภคไม่มีข้อมูลในการเลือกที่จะหลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำมันปาล์มเพื่อเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  ออสเตรเลียนำเข้าน้ำมันปาล์มปีละ 130,000 ตันจากมาเลเซียและอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตร้อยละ 85 ของน้ำมันปาล์มที่ใช้กันทั่วโลก (อันดับสามคือประเทศไทยเรานี่เอง) สองประเทศนี้จึงเป็นที่จับตามองของบรรดานักเคลื่อนไหวจากกรีนพีซ WWF (World Wildlife Fund) และแม้แต่องค์การสวนสัตว์วิคตอเรีย ในออสเตรเลีย เป็นพิเศษ  ทั้งนี้เพราะการเคลียร์พื้นที่เพื่อทำสวนปาล์มในอินโดนีเซียและมาเลเซียนั้นส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าและสัตว์ป่าไม่น้อย  รายงานของสหประชาชาติเมื่อสี่ปีที่แล้วระบุว่า ร้อยละ 98 ของป่าฝนในมาเลเซียและอินโดนีเซีย จะหายไปภายในปี ค.ศ. 2022 โดยปัจจัยสำคัญได้แก่การผลิตน้ำมันปาล์ม ที่ทำให้พื้นที่ป่าขนาดประมาณ 300 สนามฟุตบอลหายไปทุกๆ หนึ่งชั่วโมง

อ่านเพิ่มเติม >