ฉบับที่ 270 ถามหามาตรฐานเครื่องทำน้ำแข็งทางออนไลน์ใช้ปีเดียวสนิมเขรอะ

        การซื้อสินค้าทางออนไลน์นั้นจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลให้รอบคอบ ตั้งแต่ความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์มและร้านค้า รายละเอียดและใบรับรองมาตรฐานของผลิตภัณฑ์นั้น แต่บางครั้งแม้เราจะเลือกจนแน่ใจว่าดีแล้ว ก็อาจไม่วายต้องผิดหวังหลังนำไปใช้เพราะการโฆษณาเกินจริงของร้านค้าต้นทาง เหมือนอย่างที่คุณวิชัยที่ซื้อเครื่องทำน้ำแข็งมาใช้ได้แค่ปีเดียวก็ไม่กล้าใช้ต่ออีกเลย         ย้อนไปช่วงอากาศร้อนๆ ในปี 2565 คุณวิชัยซื้อเครื่องทำน้ำแข็งยี่ห้อ Smarttek จากร้านทางการของแบรนด์นี้ ผ่านทางแพลตฟอร์มช็อปปี้ แต่พอหมดอายุรับประกันครบ 1 ปีปั๊บบริเวณแท่งทำน้ำแข็งก็มีสนิมโผล่ขึ้นมาปุ๊บ เขาจึงถามไปยังร้านค้าที่ซื้อมาและได้คำตอบว่า แท่งทำน้ำแข็งผลิตจากทองแดงเคลือบนิกเกิล และที่เห็นน่าจะเป็นนิกเกิลหลุดไม่ใช่สนิมซึ่งจำเป็นต้องเปลี่ยนมอเตอร์ด้านใน เพราะอาจเกิดการปนเปื้อนกับน้ำดื่มได้         คุณวิชัยคำนวณคร่าวๆ ถึงค่าใช้จ่าย ทั้งค่าขนส่งไป-กลับ และค่าเปลี่ยนมอเตอร์กับแท่งทำน้ำแข็ง แล้วมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,000 บาท  “ผมคิดว่าไม่คุ้ม เพราะเดี๋ยวใช้ๆ ไปก็คงเป็นสนิมอีก และมีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วย” จึงไม่เปลี่ยนอะไหล่และเลิกใช้เครื่องทำน้ำแข็งนี้ไปเลย         แต่คุณวิชัยก็ยังติดใจอยู่คือ ทำไมเครื่องทำน้ำแข็งนี้มีอายุการใช้งานที่สั้นจัง ทั้งๆ ที่สินค้ายี่ห้อนี้มีการโฆษณาว่าได้รับมาตรฐานส่งออกต่างประเทศและมีใบรับรอง จึงพยายามลองหาข้อมูลเพิ่ม ก็ถึงบางอ้อเมื่อเข้าไปสืบค้นข้อมูลแล้วพบว่าจริงๆ แล้ว สินค้านี้ไม่มี มอก. และร้านค้าก็ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลมาตรฐานต่างๆ ของสินค้าเมื่อมีลูกค้าแชตถามด้วย เขาสงสัยว่านี่จะเป็นการโฆษณาเกินจริงหรือไม่ จึงร้องเรียนมาในไลน์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในเบื้องต้น ทางมูลนิธิฯ ได้ประสานกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อขอให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และได้แนะนำว่าหากคุณวิชัยมีความประสงค์ที่จะตรวจสอบมาตรฐานของเครื่องทำน้ำแข็งที่สนิมขึ้นยี่ห้อนี้ ก็สามารถส่งไปได้ที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.)  หรือสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)  เพื่อขอให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 146 น้ำแข็งไส

  ไส หมายถึง การผลักไป รุนไป ไสน้ำแข็ง ก็คือการที่นำก้อนน้ำแข็งวางบนเครื่องไส ที่แบบบ้านๆ จะเป็นโต๊ะไม้เล็กๆ ที่มีใบมีดคมๆ หงายอยู่ตรงกลาง แล้วไถก้อนน้ำแข็งไปมาผ่านคมมีดเพื่อให้ได้เกล็ดน้ำแข็งฝอยๆ สำหรับกินกับ แตงไทย  เผือกลอดช่อง วุ้น เฉาก๊วย ขนมเชื่อมต่างๆ  อย่างลูกชิด มันเชื่อม หรืออื่นๆ แล้วราดด้วยน้ำเชื่อมหรือน้ำกลิ่นผลไม้ต่างๆ ขนมแบบนี้แหละที่เราเรียกมันว่า ขนมน้ำแข็งไส ประเทศร้อนๆ อย่างเมืองไทยของเรา คนสมัยก่อนคงนึกไม่ออกว่า น้ำจะเป็นตัว ได้อย่างไร แต่กับคนในบ้านเมืองที่มีอากาศหนาวเย็นติดลบ น้ำแข็งไม่ใช่ของแปลก และการนำน้ำแข็งมาใช้ทั้งกินและถนอมอาหารก็ทำกันมานานเป็นพันปีแล้ว เมื่อการค้าจากชาติที่มีทั้งอากาศหนาวเย็นและวัฒนธรรมการกินน้ำแข็งมาเยือนถึงถิ่นดินแดนเขตร้อน ราวศตวรรษที่ 19 น้ำแข็งจึงจัดเป็นสินค้าสำหรับชนชั้นสูงเท่านั้นเพราะขนส่งมาไกลข้ามน้ำข้ามทะเลกันมาหลายเดือน คนไทยเราสั่งนำเข้าน้ำแข็งมาครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 จากประเทศสิงคโปร์เพื่อถวายพระมหากษัตริย์และเจ้านายชั้นสูง ต่อมาจึงกลายเป็นของกินที่ทั้งแปลกและหรูหราในสมัยนั้น น้ำแข็งมากลายเป็นของธรรมดาก็เมื่อมีคนคิดค้นการผลิตน้ำแข็งขึ้นได้(ยุคแรกน้ำแข็งที่ใช้บริโภคเป็นน้ำแข็งที่เกิดตามธรรมชาติ) โรงงานน้ำแข็งแห่งแรกในประเทศไทยเป็นเจ้าเดียวกับคนที่ทำรถเมล์เจ้าแรก คือ นายเลิศ(พระยาภักดีนรเศรษฐ) ชื่อว่า น้ำแข็งสยาม ณ เวลานี้  แม้น้ำแข็งไสแบบเดิมยังคงได้รับความนิยมอยู่ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ น้ำแข็งไส หรือ น้ำแข็งใส ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ทันสมัยมากขึ้น เกล็ดน้ำแข็งที่ผ่านเครื่องไสแบบสมัยใหม่จะละเอียดจนเรียกว่า ปุยนุ่นหรือเกล็ดหิมะ แบบตักใส่ปากก็ละลายโดยไม่ต้องเคี้ยว และยังมีท้อปปิ้งหน้าตาสวยงามให้เลือกหลากหลาย แน่นอนราคาก็ไม่ธรรมดาตามไปด้วย บางเจ้าราคาไม่ต่ำกว่า 100 บาทด้วยซ้ำ ว่าแต่...ร้อนๆ แบบนี้ได้น้ำแข็งไสสักถ้วยคงดีไม่น้อยนะ ว่าไหม?

อ่านเพิ่มเติม >