ฉบับที่ 155 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนธันวาคม 2556 ภาชนะอะลูมิเนียม อันตรายแฝงเพียบ กรมวิทยาศาสตร์บริการ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ทำการสุ่มทดสอบภาชนะประเภทอะลูมิเนียม เพื่อตรวจสอบดูคุณภาพความเหมาะสม และความปลอดภัยในการใช้บรรจุอาหาร โดยได้ทำการสุ่มเก็บตัวอย่างภาชนะอะลูมิเนียม จำนวน 21 ตัวอย่าง ประกอบด้วย หม้อ กระทะ ถาดใส่อาหาร ฯลฯ ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ เช่น กรุงเทพฯ เชียงราย นครพนม การทดสอบแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การหาองค์ประกอบทางเคมี และการทดสอบการละลายของโลหะหนักจากภาชนะตัวอย่าง ซึ่งจากการทดสอบองค์ประกอบทางเคมีพบว่าตัวอย่างที่ไม่ผ่านเกณฑ์กำหนดเกือบทั้งหมดเป็นภาชนะประเภทอะลูมิเนียมโลหะผสม ซึ่งพบปริมาณตะกั่ว สังกะสี และทองแดง สูงเกินเกณฑ์กำหนด สำหรับการทดสอบการละลายของโลหะหนักจากภาชนะตัวอย่าง ซึ่งเลียนแบบการใช้งานเวลาหุงต้มหรือปรุงอาหารประเภทกรด พบว่ามีปริมาณอะลูมิเนียม ตะกั่ว เหล็ก และสังกะสี ละลายออกมาในสารละลายตัวแทนอาหาร โดยเฉพาะภาชนะอะลูมิเนียมโลหะผสม มีโลหะเหล่านี้ละลายออกมาสูงกว่าภาชนะอะลูมิเนียม ดังนั้นคำแนะนำในการปรุงอาหารประเภทกรด การใช้ภาชนะอะลูมิเนียมน่าจะปลอดภัยจากโลหะปนเปื้อนมากกว่าการใช้ภาชนะอะลูมิเนียมโลหะผสม   สำหรับข้อสังเกตในการเลือกซื้อระหว่างภาชนะประเภทอะลูมิเนียม และอะลูมิเนียมโลหะผสมคือภาชนะอะลูมิเนียมโลหะผสมผิวไม่ค่อยเรียบอาจมีรูพรุน มีความมันวาวน้อยกว่า และมีสีเข้มกว่า อย่างไรก็ตาม การปนเปื้อนของโลหะจากภาชนะขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นด้วย เช่น ประเภทอาหารที่ปรุง ระยะเวลา อุณหภูมิ------------------------------------------------------------------------------   “น้ำหมัก” ขายดี แถมมีงบ กสทช. ช่วย!? ปัญหาเรื่องการหลอกลวงขายสินค้าพวกผลิตภัณฑ์สุขภาพอาหารเสริม ยังคงเป็นมหาวายร้ายทำลายสุขภาพและหลอกปล้นเงินผู้บริโภค ที่ยิ่งนับวันก็มีแต่จะสร้างปัญหารุนแรงมากขึ้นทุกที ไม่รู้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการปัญหาหลงลืมหน้าที่ตัวเองหรืออ่อนด้อยฝีมือ ปัญหาเหล่านี้ถึงยังไม่ถูกกวาดล้างจัดการสักที แถมล่าสุดมีการออกมาแฉโดยเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดร้อยเอ็ด ว่างบประมาณที่ทาง กสทช. จัดสรรลงพื้นที่เพื่อจัดให้มีการอบรบผู้ประกาศระดับภูมิภาคเป้าหมายเพื่อให้ความรู้ที่ทุกต้องเรื่องการรับฟังสื่อโฆษณาต่างๆ จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของสินค้าโอ้อวดหลอกลวงสรรพคุณ แต่ลับหลังกลับมีการแอบขายน้ำหมักกันเป็นล่ำเป็นสัน ถึงขนาดที่มีการสร้างเครือข่ายให้ผู้อบรมเอาไปขายต่อยังสถานีวิทยุของตัวเอง นายประวิทย์ หันวิสัย เจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดร้อยเอ็ด ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ในพื้นที่มีปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริงเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะตามคลื่นวิทยุชุมชน มีการเปิดสปอตโฆษณาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ต่ำกว่า 30 รอบ ใน 1 วัน ทั้งยังใช้เทคนิคนำผู้มีชื่อเสียงอ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ประกอบวิชาชีพมาอวดอ้างสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ มีการใช้ของรางวัลล่อใจ เช่น ซื้อผลิตภัณฑ์แล้วส่งมาชิงโชคมอเตอร์ไซค์ และทองคำ รวมถึงมีการสัมภาษณ์ผู้ใช้ที่เป็นหน้าม้าว่าผลิตภัณฑ์ดี แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นการเปิดเสียงของเก่า ทั้งที่คนที่สัมภาษณ์ว่าใช้ดี ตายเพราะการใช้ผลิตภัณฑ์ไปแล้วก็มี ซึ่งพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดเท่าที่ทราบมีผู้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย โดยรายแรกเกิดจากการใช้ยาแผนโบราณ แต่พบว่ามีส่วนประกอบของยาแผนปัจจุบัน และมีจุลินทรีย์ในอัตราที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย อีก 2 รายเสียชีวิตจากการดื่มน้ำหมัก เพราะมีโรคประจำตัวอยู่คือ มะเร็วกระดูกและพาร์กินสัน ปัญหาหนึ่งที่ทำให้หน่วยงานภาครัฐจับไม่ได้ไล่ไม่ทันสถานีวิทยุเหล่านี้ เพราะสินค้าที่เป็นปัญหามักจะคอยเปลี่ยนชื่อสินค้าไปเรื่อยๆ เวลาที่เกิดปัญหามีเรื่องร้องเรียน เมื่อสินค้าถูกนำไปตรวจสอบก็จะรีบเปลี่ยนชื่อผลิตภัณฑ์ทันทีทั้งที่เป็นตัวเดิม ทำให้ อย. ต้องนำผลิตภัณฑ์เดิมในชื่อใหม่ไปตรวจสอบอีกครั้ง กว่าจะส่งต่อให้ กสทช.ดำเนินการสั่งปิดสถานี ซึ่งกว่าจะทราบผลก็ใช้เวลานาน 2-3 เดือน เจ้าของผลิตภัณฑ์ก็เปลี่ยนชื่อใหม่แล้ว สินค้าก็ถูกโฆษณาขายใหม่ไปแล้วเรียบร้อย     สธ.ตัวการ ทำเมืองไทยเป็นเมือง “แร่ใยหิน” รศ.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) เปิดเผยว่า จากการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รักษาการ รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ได้มีมติตามการนำเสนอของ นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัด สธ.เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้คงการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ ซึ่งมติดังกล่าวเป็นการสวนทางกับการยกเลิกการใช้แร่ใยหินทั่วโลก เครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย (T-BAN) เปิดเผยว่ามีความพยายามที่จะให้ข้อมูลลดทอนความเป็นอันตรายของแร่ใยหินไครโซไทล์ ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การว่าจ้างทำวิจัย จัดประชุมนำเสนอข้อมูล เพื่อทำให้สังคมสับสน ซึ่งมติของทาง สธ.ที่ยังคงให้ใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ได้ในประเทศไทยนั้น น่าจะเป็นเหตุผลทางการเมือง เป็นเรื่องของผลประโยชน์ทางการค้ากับทางรัสเซียที่เป็นประเทศส่งออกแร่ใยหินให้กับไทย ซึ่งทั้งๆ ที่ผ่านมา สธ.เองเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเสนอข้อมูลในเรื่องนี้ว่าแร่ใยหินเป็นอันตรายและต้องยกเลิก ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกและองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ แต่ในยุค นพ.ประดิษฐ พบว่า มีขบวนการสนับสนุนให้มีการขายสินค้าอันตราย เครือข่าย T-BAN จึงมีมติเดินหน้าตรวจสอบการทำงานของผู้ที่เกี่ยวข้องในการออกมติรับให้สินค้าแร่ใยหินไม่เป็นอันตราย พร้อมเรียกร้องให้เปิดเผยผลการประชุมของคณะทำงานศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหินต่อสังคมด้วย   คาราบาวแดงทำแสบ หลอกชิงทอง 100 บาท พอถูกรางวัลจ่ายเงินแค่ 100 เดียว เหตุการณ์เกิดขึ้นกับแม่ค้าชาว จ.สุโขทัย ท่านหนึ่ง ที่ได้ร่วมชิงโชคกับเครื่องดื่มชูกำลัง “คาราบาวแดง” โดยได้ขูดสติกเกอร์ "ขูดปั๊บรับโชคร้อยถึงล้านกับแพคบาวแดง" แล้วพบข้อความระบุว่า "คุณคือผู้โชคดี ได้รับทองคำมูลค่า 100 บาท" แม่ค้าท่านนี้ดีใจสุดขีดเพราะโชคดีจะได้เป็นเศรษฐี แต่ฝันก็มีอันต้องสลายเมื่อโทรศัพท์ติดต่อไปยังบริษัทเครื่องดื่มคาราบาวแดงเพื่อขอรับรางวัล กลับได้รับคำตอบว่า ข้อความที่ระบุในสติกเกอร์นั้น หมายถึงได้รับเงินสด 100 บาท ไม่ใช่ทองคำหนัก 100 บาท ทางคาราบาวแดงได้ชี้แจงถึงเรื่องนี้ว่า การทำโปรโมชั่นขูดปั๊บรับโชคจะแจกเป็นทองคำตามมูลค่าที่แจ้งไว้นั้น หมายถึงมูลค่าราคา ไม่ได้หมายถึงน้ำหนัก เป็นเรื่องน่าเจ็บใจที่ผู้บริโภคต้องตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาที่จงใจเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างชัดเจนแบบนี้ แม้ผู้บริโภคที่หลงเชื่อคำโฆษณาท่านนี้จะไม่ได้ฟ้องเอาผิดกับทางบริษัท แต่ในทางกฎหมายสามารถนำเรื่องฟ้องร้องต่อศาลได้ โดยให้ศาลตีความ ว่าการใช้ถ้อยคำที่หวังสร้างให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดนั้นมีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ฝากเตือนเรื่องการชิงโชคชิงรางวัลจากการซื้อสินค้าต่างๆ ซึ่งพบว่ามีมากในปัจจุบัน ซึ่งนั้นเป็นเพียงกลยุทธ์หวังกระตุ้นยอดขายของผู้ผลิตสินค้าเท่านั้น มีผู้โชคดีเพียงไม่กี่รายที่ได้รับรางวัล และแทบไม่มีการตรวจสอบว่ารางวัลที่แจกนั้นมีการแจกจริงอย่างที่โฆษณาหรือไม่     ปัญหาอาหารปี 56 ปนเปื้อนเรื่องน่าห่วง ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม กาญจนบุรี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด พะเยา ลำปาง สุราษฎร์ธานี สงขลา และสตูล ได้ทำการสรุปเรื่องร้องเรียนปัญหาอาหารไม่ปลอดภัยระหว่างช่วง ก.ย. 55 - ธ.ค. 56 มีรวมกันทั้งสิ้น 152 กรณี แบ่งปัญหาได้เป็นประเด็นต่างๆ เช่น ปัญหาอาหารปนเปื้อน ปัญหาคุณภาพสินค้าไม่ได้มาตรฐาน การแสดงฉลากอาหารไม่ถูกต้อง การโฆษณาอาหาร/ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ปัญหาอาหารเสียก่อนวันหมดอายุ การผลิต/แหล่งผลิตไม่ถูกสุขลักษณะ ฯลฯ สำหรับปัญหาอาหารปนเปื้อนนั้น ที่พบจากกรณีร้องเรียนเช่น พบการปนเปื้อนของ เส้นผม ขน เล็บ แมลงสาบ หรือเกิดความผิดปกติขออาหาร เช่น มีตะกอน ขึ้นรา และเน่าเสีย รวมถึงการใช้สารเคมีที่ไม่ควรใช้ในอาหาร เช่น ฟอร์มาลิน บอแรกซ์ โดยมีตัวอย่างปัญหาที่พบบ่อยและต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ เชื้อราในขนมปัง ก้อนขาวในนมกล่อง และสิ่งแปลกปลอมในนมผงสำหรับเด็ก สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านอาหาร เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคได้นำเรื่องเข้าหารือกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยประเด็นที่จะทำการหารือร่วมกันประกอบด้วย 1.การพัฒนากลไกการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารที่เป็นรูปธรรมร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม 2.ปรับปรุงนโยบายฉลากโภชนาการให้เป็นแบบสีสัญญาณไฟจราจรเขียว เหลือง แดง แทนที่การใช้ฉลากโภชนาการแบบสีเดียว (GDA) 3.ให้บังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 อย่างเคร่งครัด และ 4.ในการแก้ไข พ.ร.บ.อาหาร ฉบับใหม่ ให้เพิ่มบทลงโทษให้มีความรุนแรงมากขึ้น   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 การปนเปื้อนในน้ำหมักชีวภาพ

กระแสความนิยมบริโภคน้ำหมักชีวภาพน่าจะมาพร้อมกับการเติบโตของเคเบิ้ลทีวียุคไร้การควบคุม ย้อนไปเมื่อราว 5-6 ปีก่อน เคเบิ้ลท้องถิ่นและวิทยุชุมชนผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด คอนเทนต์ที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพด้วยการขายสินค้าที่อวดอ้างสรรพคุณเกี่ยวกับการรักษาโรค บำรุงสุขภาพ ปรากฏอยู่ในสื่อประเภทนี้เกือบตลอดทั้งวัน น้ำหมักชีวภาพ หรือน้ำเอนไซม์ ก็เป็นตัวหนึ่งที่โด่งดัง หากจำกันได้ ผู้ที่สร้างกระแสฮือฮามากที่สุดเกี่ยวกับน้ำหมักชีวภาพก็คือ ป้าเช้ง หรือ นางสาวศิริวรรณ ศิริสุนทรินท์ ป้าเช็งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม หลังจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) แจ้งความดำเนินคดี ในข้อหาเป็นผู้ผลิตน้ำหมักชีวภาพ  "น้ำมหาบำบัด" ราคาขวดละ 1,000 บาท อ้างรักษาได้สารพัดโรค และ "น้ำเจียระไนเพชร "ราคาขวดละ 100 บาท ซึ่งอวดสรรพคุณว่าใช้เป็นยาหยอดตา(ทำให้มีคนตาบอด) ในข้อหาจำหน่ายและโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต และโฆษณาเกินจริง (วันที่ 25 มกราคม 2553) ปัจจุบันป้าเช้ง ก็ยังขายฝันอยู่ด้วยการประกาศแจกสูตรน้ำหมักฟรี ด้วยสโลแกน ทำเอง กินเอง เพราะสูตรน้ำหมักไม่ได้ทำยากเย็นอะไรเลย และการกินน้ำหมักหรือของหมักที่เกิดจากจุลินทรีย์ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร มนุษย์เรากินกันมาแต่โบราณแล้ว ข้าวหมาก ไวน์ น้ำส้มสายชูหมัก ก็อยู่ในตระกูลเดียวกับน้ำหมักชีวภาพ ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า น้ำหมักกินได้หรือไม่ได้ แต่ปัญหาคือ การอวดอ้างว่า กินน้ำหมักแล้วรักษาโรคได้ อย่างที่ป้าและคนอื่นๆ ที่แห่ทำขายตามๆ กันมาประกาศต่อชาวโลกต่างหากที่สร้างความสับสนให้กับคนทั่วไป เช่นเดียวกันกับสินค้าด้านสุขภาพอีกหลายประเภท ลำพังตัวมันเองอาจไม่ได้มีปัญหา แต่ปัญหามาจากความมักง่ายของผู้ผลิตที่ผสมสารเคมีทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์ลงไปในผลิตภัณฑ์ด้วย ทั้งนี้เพื่อทำให้เกิดผลบางอย่างที่สอดคล้องกับคำโฆษณา เช่น การผสมสเตียรอยด์ในยาแผนโบราณ หรือการผสมยาลดน้ำหนักลงในกาแฟ เพื่อให้เห็นผลเร็วในการบรรเทาอาการ สำหรับน้ำหมักชีวภาพปัญหาที่พบในส่วนของการผสมสารเคมีอันตรายลงไปคือ การผสม ไดคลอโรมีเทน หรือ เมทิลีนคลอไรด์ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ผลทดสอบ ล่าสุดทางศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 อุบลราชธานี รายงานพบ เครื่องดื่ม น้ำหมักพืชแท้(หอม หวาน เย็นซ่า เต็มพลัง) ตราผู้ใหญ่สุพรรณ ปนเปื้อน ไดคลอโรมีเทน 4,695 มิลลิกรัม/ลิตร  ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สหรัฐอเมริกา  กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ยามีปริมาณไดคลอโรมีเทนเจือปนได้ไม่เกิน 600 ส่วนในล้านส่วน หรือคิดเป็น 600 มิลลิกรัม/ลิตร นอกจากนี้สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สหรัฐอเมริกา กำหนดให้มีปริมาณไดคลอโรมีเทนปนเปื้อนในน้ำดื่มได้ไม่เกิน 0.005 มิลลิกรัม/ลิตร เครื่องดื่ม "น้ำหมักพืชแท้ หอม หวาน เย็นซ่า" เต็มพลังตราผู้ใหญ่สุพรรณ แพร่หลายทุกจังหวัดในแถบภาคอีสาน อาทิ นครราชสีมา สกลนคร ขอนแก่น และนครพนม มักอวดอ้างสรรพคุณทางยาที่สามารถรักษาโรค ให้หายขาดได้ ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำหมักเต็มพลัง ตราผู้ใหญ่สุพรรณ ต้องจัดเป็นยาเพราะมีการแสดงสรรพคุณที่ฉลากว่า บำรุงร่างกาย แต่กลับไม่ได้ขออนุญาตขึ้นทะเบียนตำรับยาจึงจัดเป็นยาเถื่อน ขอให้ผู้บริโภคอย่าได้หลงเชื่อซื้อยามาบริโภคโดยเด็ดขาด เพราะนอกจากเสียเงินโดยไม่จำเป็นแล้วยังไม่ปลอดภัยอีกด้วย ---------------------------------------------------------------------------------------------- ไดคลอโรมีเทน หรือ เมทิลีนคลอไรด์ เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 1 มีลักษณะเป็นของเหลวไม่มีสี ระเหยได้ง่าย มีกลิ่นหอม มักใช้เป็นตัวทำละลายการได้รับสารในระดับต่ำ อาจทำให้เกิดอาการทางระบบประสาท เช่น เคลิ้มฝัน เวียนศีรษะ กระวนกระวาย นอกจากนี้ยังระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการระคายคอ ไอ หายใจไม่อิ่ม การรับสัมผัสโดยการกินจะทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และอาจมีแผลและเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ การได้รับสัมผัสในระดับสูง อาจทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย และกดระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้การหายใจล้มเหลวได้อาการทางระบบประสาทหลังสัมผัสที่ระดับสูง ได้แก่ ปวดศีรษะ มีอาการผิดปกติด้านจิตใจและการเคลื่อนไหวจะกดระบบประสาทส่วนกลางจนหมดสติ เมื่อได้รับปริมาณสูง คือ การทำลายระบบประสาททำให้เสียชีวิต ระยะยาวอาจจะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ---------------------------------------------------------------------------------------------- การปนเปื้อนเชื้อโรคอันตราย น้ำหมักชีวภาพอีกหนึ่งปัญหาที่พบเสมอคือ การพบ เชื้อโคลิฟอร์ม และ อี. โคไล ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเกิดอาการท้องร่วงได้ตั้งแต่เล็กน้อย  จนกระทั่งรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมีอาการปวดมวนท้อง ถ่ายเหลว อาจจะมีเลือดปน และมีไข้ได้   จุลินทรีย์กับน้ำหมัก จุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าต้องอาศัยการส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ จุลินทรีย์แพร่กระจายโดยทั่วไปในธรรมชาติอย่างกว้างขวางในที่ที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโต  อาหารและเครื่องดื่มแต่ละชนิดมีจำนวนจุลินทรีย์แตกต่างกันไป ซึ่งอาจมีอยู่โดยธรรมชาติ หรือเติมลงไปเพื่อทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ตามที่ต้องการ เช่น นมเปรี้ยว เครื่องดื่มแอลกอฮอล์  น้ำส้มสายชู กรดอินทรีย์ ยาปฏิชีวนะ  เป็นต้น  น้ำหมักชีวภาพเกิดจากการกระทำของแบคทีเรียที่สร้าง กรดแลกติก เป็นส่วนใหญ่ พบว่าแบคทีเรียเหล่านี้อาจมีอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งอาจปนเปื้อนมากับส่วนผสมของน้ำหมักชีวภาพ คือ ผัก ผลไม้ น้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำ รวมทั้งมาจากกระบวนการและกรรมวิธีในการผลิต หรืออาจเติมลงไปเพื่อใช้เป็นหัวเชื้อในการผลิต ซึ่งนิยมใช้ในอุตสาหกรรมอาหารหมักหลายชนิด การเติมหัวเชื้อจุลินทรีย์ในการผลิตนี้ เป็นการควบคุมการเจริญของจุลินทรีย์ปนเปื้อนอื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดผลเสียได้  เช่น แบคทีเรียโคไลฟอร์ม (Coliform) และ อี โคไล (E. coli) เป็นดัชนีชี้บ่งถึงสุขลักษณะของน้ำสมุนไพรสกัดชีวภาพ แบคทีเรียสตาฟีโลค็อคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) บาซิลลัส ซีเรียส (Bacillus cereus) อาจสร้างสารพิษในน้ำหมัก ทำให้อาหารเป็นพิษ คลอสทริเดียม เปอร์ฟริงเจน (Clostridium perfringens) เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบ แบคทีเรียซาลโมเนลลา (Salmonella spp.) อาจเป็นสาเหตุทำให้น้ำสมุนไพรสกัดชีวภาพเน่าเสีย นอกจากนี้ยังอาจพบราบางชนิดที่ปนเปื้อน จะสามารถสร้างสารพิษได้  และยีสต์อาจทำให้น้ำหมักเสียรสชาติ มีกลิ่นและลักษณะไม่เป็นที่ต้องการ  ความปลอดภัยและคุณภาพต่อการบริโภคนั้นขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของจุลินทรีย์ที่พบในกระบวนการผลิต และต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญของจุลินทรีย์ที่ต้องการในกระบวนการผลิต ในการควบคุมปัญหาการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ต่างๆ อาจใช้ความร้อน โดยการลวก หรือต้มวัตถุดิบ ส่วนผสมของการผลิตน้ำหมัก  หรืออาจเติมสารเคมีชนิดที่ใช้ในการผลิตอาหารลงในน้ำหมัก รวมทั้งการเลือกใช้วัตถุดิบที่สะอาด ปลอดภัย ในการผลิตน้ำหมักพืช เพื่อเป็นการควบคุมและกำจัดจุลินทรีย์ปนเปื้อน  ทั้งนี้จะต้องอาศัยกรรมวิธีที่เหมาะสมที่จะช่วยในการควบคุมและกำจัดจุลินทรีย์ปนเปื้อน แต่ไม่ทำให้คุณค่าสารสำคัญในน้ำหมักสลายหรือเสียสภาพไป http://www.be-v.net/index.php?lay=show&ac=article&Ntype=20 //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point