ฉบับที่ 156 รู้ เลือก น้ำยาล้างห้องน้ำ

  แค่ราดทิ้งไว้ แป๊บเดียวก็สะอาด เป็นคำที่คุ้นๆ กันดีในโฆษณาผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างห้องน้ำ ซึ่งมีให้เลือกหลากหลายยี่ห้อมาก และในแต่ละยี่ห้อยังมีหลายสูตรให้เลือกอีกด้วย เล่นเอา งง เวลาไปเลือกที่ชั้นวาง ฉลาดซื้อเลยหยิบผลิตภัณฑ์ที่รู้จักกันค่อนข้างกว้างขวางมาแกะรอย “สารเคมี” ที่ใช้ในแต่ละผลิตภัณฑ์ เพื่อจะได้เลือกใช้งานกันได้อย่างเหมาะสม ไม่เอะอะๆ ก็ราดไปเรื่อย เพราะบางผลิตภัณฑ์ราดทิ้งไว้ก็ไม่ออกนะจะบอกให้ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดห้องน้ำและเครื่องสุขภัณฑ์ที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาด สามารถแบ่งกลุ่มของสารเคมีที่ใช้ได้ใหญ่ 2 กลุ่ม คือ กรดและด่าง ตอนนี้ในตลาดส่วนใหญ่จะเป็น กรดเกลือ หรือชื่อทางเคมีว่ากรดไฮโดรคลอริก (hydrochloric acid) กรดนี้มีฤทธิ์กัดกร่อนสูง และสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามความเข้มข้นที่นำมาผลิต ในผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำพบกรดเกลือความเข้มข้นตั้งแต่ 8% - 20% ข้อดี คือ พลังกำจัดคราบรอยเปื้อนสูง โดยเฉพาะคราบฝังแน่น ข้อเสีย คือ กลิ่นฉุนแสบจมูกจากไอของกรด ใช้บ่อยครั้งจะกัดยาแนวกระเบื้อง ทำให้ผิวหน้าของพื้นห้องน้ำผุกร่อน ขรุขระ (ยิ่งทำให้สะสมคราบสกปรกเพิ่มขึ้น) ไอของน้ำยายังทำให้อุปกรณ์บางชิ้นในห้องน้ำเป็นสนิมด้วย   กรดอีกตัวที่ใช้คือ กรดซิตริก(citric acid) มีฤทธิ์กัดกร่อนพอตัว แต่ไม่รุนแรงเท่ากรดเกลือ และกลิ่นไม่ฉุนมาก ส่วนสารออกฤทธิ์ที่เป็นด่าง มียี่ห้อไม่หลากหลายเท่ากรดเกลือ ตัวที่นิยมใช้เป็นกลุ่มเดียวกับพวกสารฟอกขาว (Chlorine Bleach) ที่เรารู้จักดีในผลิตภัณฑ์ซักผ้า ได้แก่ โซเดียมไฮโปคลอไรท์ (sodium hypochlorite) และกลุ่มคลอรีน บีช ที่กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำตัวล่าสุดคือ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (hydrogen peroxide) คุ้นๆ ใช่ไหม ตัวเดียวกับที่เคยใช้เป็นยาล้างแผลนั่นเอง แต่ในผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำจะมีความเข้มข้นสูงกว่า คือ 5% ข้อดีและเป็นจุดขายสำคัญของกลุ่มคลอรีน บีช คือ การกำจัดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัสและตัวที่สร้างปัญหาในห้องน้ำมากสุดคือ เชื้อรา ข้อเสีย มีฤทธิ์กัดกร่อนสูงไม่แพ้กรดเกลือ(ระดับฟอกผ้าขาวได้) และมีข้อต้องระวังในการใช้หลายอย่าง เช่น โซเดียมไฮโปคลอไรท์ ห้ามเจอกรด(หรือใช้ร่วมกับน้ำยาที่เป็นกรด)และสารประกอบแอมโมเนียเด็ดขาด เพราะจะกลายเป็นก๊าซพิษ(ก๊าซคลอรีน) ก่อให้เกิดอันตรายจากการสูดดมไอพิษ ทั้งกรดและด่างที่นำมาใช้เป็นสารเคมีตั้งต้นในผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำ ส่วนใหญ่จะไม่มาเพียวๆ แต่จะผสมพวกสารลดแรงตึงผิว (Surfactant)   เพื่อช่วยในการแทรกซึมของน้ำยาเข้าสู่พื้นผิวได้อย่างทั่วถึง สารลดแรงตึงผิวที่นิยมได้แก่ Diethylene glycol butyl ether  , Linear Alkylbenzene Sulfonate,  Linear Alkylbenzene Sulfonate , Sodium Salt  ,  Ethoxylate Alcohol  ( 7 EO ) แต่ถ้าไม่ชอบพวกกรดและด่างที่มีฤทธิ์กัดกร่อนสูง แพ้หรือกลิ่นแสบจมูก ให้เลี่ยงมาใช้ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มที่ใช้แต่เฉพาะ  ตัวทำละลายอินทรีย์(Organic Solvent)และสารลดแรงตึงผิวแทน ต่อไปความต้องการผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดห้องน้ำของผู้บริโภคจะยิ่งมีมากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในรูปแบบใหม่ๆ แต่โดยทั่วไปแล้วผลิตภัณฑ์ต่างๆ เหล่านี้จะใช้สารเคมีตั้งต้นที่คล้ายๆ กัน ในกระบวนการผลิต แตกต่างกันในส่วนของสารเติมแต่งต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นสารเคมีสังเคราะห์ทั้งสิ้น สารเคมีบางอย่างก็มีอันตรายต่อร่างกายทั้งในลักษณะของการแพ้อย่างเฉียบ พลันหรืออาจสะสมความเป็นพิษในร่างกายได้ ดังนั้นการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจึงต้องพิจารณาส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ ตลอดจนชนิดและปริมาณที่ใช้ เพื่อให้เหมาะกับสภาพการใช้งานและมีความปลอดภัย   ฉลาดซื้อแนะ 1.เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำให้ตรงกับสภาพความสกปรกของพื้นผิวและลักษณะของพื้นผิว(วัสดุที่ใช้เป็นพื้นห้องน้ำหรือตัวสุขภัณฑ์ เช่น กระเบื้อง เซรามิก หินอ่อน หินขัด) 2. คราบสกปรกที่ล้างออกได้ง่าย เช่น คราบสบู่ คราบสกปรกทั่วไป ไม่ควรใช้ส่วนผสมของกรดหรือด่างที่มีฤทธิ์กัดกร่อนสูง ใช้แค่สูตรที่เป็นสารลดแรงตึงผิวก็เพียงพอในการกำจัดคราบ 3.พวกมีฤทธิ์กัดกร่อนสูง ควรใช้เฉพาะกับคราบฝังแน่นเท่านั้น 4.กรดที่ผสมในผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำมีให้เลือกหลายชนิดตามความเข้มข้น อาจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกรดที่มีความเข้มข้นต่ำก็จะปลอดภัยกว่าชนิดเข้มข้นสูง 5.สามารถใช้ผลิตภัณฑ์กลุ่มน้ำยาซักผ้าขาว(ไฮเตอร์ ไฮยีน) ล้างห้องน้ำแทนสูตรโซเดียมไฮโปคอลไรท์ได้ โดยเฉพาะการกำจัดเชื้อรา เนื่องจากมีราคาถูกกว่ามาก 6..อ่านวิธีการใช้และคำเตือนให้ละเอียด เพื่อป้องกันอันตรายจากการใช้งานผิดพลาดหรือเผอเรอ   ผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างห้องน้ำ                   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point