ฉบับที่ 132 เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องรถในขณะอยู่ในประกันมีสิทธิเลือกยี่ห้อมั้ย?

ตอนกำลังเผชิญหน้าน้ำท่วมใหญ่ มีคำแนะนำมากมายเรื่องรถยนต์ หนึ่งในนั้นก็คือ กรณีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ที่นักวิชาการด้านรถยนต์เขาแนะนำว่า หากน้ำท่วมรถไม่มาก แต่แช่น้ำอยู่นานก็ควรถ่ายน้ำมันเครื่องเสียเพื่อให้มั่นใจในการใช้รถต่อไปทีแรกได้ยินเรื่องนี้ก็ไม่ได้คิดอะไร เปลี่ยนก็เปลี่ยน  แต่เมื่อมีน้องคนหนึ่งโทรมาปรึกษาว่า  น้องเพิ่งซื้อรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิมาใช้ได้ประมาณหนึ่งปี   โดยในข้อสัญญาระบุว่ามีการประกันการใช้รถ ระยะทางจำนวน 150,000 กม.ในระยะเวลา 5 ปี  และฟรีค่าบริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องด้วย      ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รถยี่ห้อนี้ ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องกับศูนย์บริการของมิตซูเองเท่านั้น เพราะหากไปถ่ายที่อื่นหากเกิดอะไรขึ้นอาจเป็นเหตุให้บริษัทมิตซู  อ้างได้ว่าผู้ซื้อผิดกติกาของมิตซู และอาจถูกปฏิเสธการรับประกันดังกล่าวได้  ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาผู้ซื้อก็จะตัดสินใจไปถ่ายน้ำมันเครื่องที่ศูนย์ของมิตซู  (ประหยัดค่าจ้างถ่ายน้ำมันด้วย)น้องคนที่มาปรึกษามีบ้านอยู่ที่สมุทรสงครามสะดวกสุดก็จะถ่ายที่สมุทรสงคราม  แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ศูนย์มิตซูบิชิสมุทรสงคราม น้องบอกว่าไปถ่ายครั้งแรก เสียค่าใช้จ่ายไปเกือบ 3,000 บาท(ใช้น้ำมันเครื่องเชลล์) น้องก็เลยตรวจสอบสเป็กน้ำมันว่าใช้สเป็กไหน   และมีการไปเทียบราคาเพื่อจะได้ประหยัดในการถ่ายครั้งต่อไป(น้องเขาก็ฉลาดซื้อเหมือนกัน)  น้องบอกว่าน้องได้ซื้อน้ำมันเครื่องของ ปตท.ในสเป็กเดียวกัน  ซึ่งมีค่าใช้จ่ายราวๆ 1,300  บาทมาให้ศูนย์ฯ เปลี่ยนให้  แต่ศูนย์ฯ ปฏิเสธที่จะถ่ายให้บอกว่าศูนย์ฯ ขอสงวนสิทธิ ไม่ให้ลูกค้านำน้ำมันจากภายนอกเข้ามา  และอ้างว่าน้ำมันที่น้องซื้อมาเองไม่ดี  (อ้าวปตท.ว่าไง!) น้องก็ใช้สิทธิผู้บริโภค โดยการโทรหาบริษัทมิตซูส่วนกลางเพื่อสอบถามเรื่องการสงวนสิทธิของศูนย์บริการ ก็ได้รับคำตอบว่าการสงวนสิทธิไม่ใช่นโยบายของมิตซู  แต่เป็นนโยบายของแต่ละศูนย์ฯ เอง ศูนย์ฯ บอกว่างั้นก็ไปถ่ายศูนย์ฯ อื่นล่ะกัน  น้องก็บอกว่าบ้านอยู่ที่นี่ทำไมต้องเสียน้ำมันขับไปถ่ายจังหวัดอื่น  ศูนย์ฯ ก็จะยอมให้น้องคนเดียวเป็นกรณีพิเศษ  ซึ่งน้องได้ตอบปฏิเสธไปเพราะน้องบอกว่าที่น้องเรียกร้องสิทธิไม่ใช่แค่แก้ไขให้คนร้องคนเดียว  แต่ต้องปฏิบัติกับผู้ใช้บริการทุกคนอย่างเสมอภาพไม่ใช่เลือกปฏิบัติน้องถามอีกว่า...การที่ศูนย์ฯ สงวนสิทธิไม่ยอมให้ผู้บริโภคเลือกสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการ เป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคหรือไม่ ?      เอาละซิ !   คำถามนี้เป็นคำถามที่ท้าทายมาก.... เพราะการกระทำของศูนย์ฯ ผิด พรบ. คุ้มครองผู้บริโภคตามมาตรา 4  สิทธิผู้บริโภค อนุ 2 ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกซื้อสินค้าและบริการ   ซึ่งชัดเจนว่าหรือศูนย์บริการมิตซู สมุทรสงคราม ออกระเบียบละเมิดกฎหมาย โดยใช้สัญญามาผูกมัดให้ผู้บริโภคต้องยินยอม  เรื่องนี้ผู้เขียนแนะนำให้น้องไปร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคสมุทรสงคราม(ซึ่งไม่น่าจะทำงานยาก) เพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่างให้ผู้ประกอบการรายอื่นที่กำลังละเมิดสิทธิผู้บริโภคเช่นนี้อีก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 108 รำคาญเชฟโรเลตป้ายแดงกินน้ำมันเครื่อง

คุณไพฑูรย์ได้เดินทางเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอคำปรึกษาปัญหารถยนต์กินน้ำมันเครื่องแต่ศูนย์บริการไม่เปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ให้ จะใช้วิธีซ่อมอย่างเดียวคุณไพฑูรย์เล่าว่า ได้ซื้อรถยนต์เชฟโรเลต โคโลราโด รุ่น 2,500 ซีซี  เพื่อใช้รับจ้างบรรทุกของทั่วไป ตั้งแต่ปี 2548 มีระยะประกันเครื่องยนต์ 100,000 กิโลเมตรหรือ 3 ปี  วิ่งวันละไม่ต่ำกว่า 400 กิโลเมตร ปัญหาที่ทำให้คุณไพฑูรย์หัวเสียกับรถคันนี้มากคือ น้ำมันเครื่องจะหาย ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องทุก 5,000 กิโลเมตรแทนที่จะเป็น 10,000 กิโลเมตรเหมือนรถป้ายแดงคันอื่นคุณไพฑูรย์ได้นำรถเข้าศูนย์บริการแจ้งถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ฝ่ายช่างของศูนย์บริการแจ้งว่าเป็นอาการปกติของรถรุ่นนี้ โดยไม่ได้มีการตรวจสอบแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องบ่อยมากทุกๆ 5,000 กิโลเมตร สุดท้ายทนต่อค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่ไหวจึงเปลี่ยนมาใช้ศูนย์บริการอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งช่างเครื่องของศูนย์บริการแห่งนี้ได้ให้ข้อมูลว่ารถยนต์รุ่นนี้มีอายุการถ่ายน้ำมันเครื่องทุก 10,000 กิโลเมตรช่างเครื่องจึงได้แนะนำให้เข้าไปตรวจสอบกับศูนย์บริการใหญ่ คุณไพฑูรย์จึงได้ทำตามคำแนะนำโดยได้มีการทดสอบตามขั้นตอน เช่น ติดตั้งอุปกรณ์ดักไอน้ำมันเครื่อง แล้วให้ขับไปใช้งานเพื่อดูผลทีละหมื่นกิโลเมตรแต่อาการน้ำมันเครื่องหายก็ไม่หายเสียที ทดสอบตามขั้นตอนจนถึงเลขไมล์วิ่งมาที่ 95,947 กิโลเมตร จึงได้มีการนัดให้มาแก้ไขปรับปรุงเครื่องยนต์ ก็พอดีกับที่คุณไพฑูรย์ต้องใช้รถกว่าจะเข้าศูนย์บริการได้ เลขไมล์ก็เกิน 100,000 กิโลเมตรแล้ว คุณไพฑูรย์เห็นว่า ทางศูนย์บริการนั้นทราบดีว่าเครื่องยนต์มีปัญหาก่อน 100,000 กิโลเมตร แทนที่จะนัดเพื่อให้มาเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่แทนเครื่องยนต์เดิมกลับใช้วิธีแก้ไขเครื่องยนต์แทน จึงมาขอคำปรึกษากับมูลนิธิฯว่า จะเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้หรือไม่เพราะเป็นรถซื้อมาป้ายแดงแล้วเกิดปัญหาเช่นนี้แนวทางแก้ไขปัญหากรณีของความชำรุดบกพร่องของสินค้านั้น สามารถฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคได้ แต่อย่างไรก็ดีการที่ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนสินค้าใหม่ให้แก่ผู้บริโภคแทนการแก้ไขซ่อมแซมสินค้าที่ชำรุดบกพร่องนั้น ก็ต่อเมื่อศาลเชื่อว่าความชำรุดบกพร่องนั้นมีอยู่ในขณะส่งมอบสินค้าและไม่อาจแก้ไขให้กลับคืนสภาพที่ใช้งานได้ตามปกติ หรือถึงแม้จะแก้ไขแล้วแต่หากนำไปใช้บริโภคแล้วอาจเกิดอันตรายแก่ชีวิตร่างกายของผู้บริโภคได้  หรือพูดง่าย ๆ ก็คือแม้จะนำเรื่องขึ้นสู่ศาล หากศาลเห็นว่าความชำรุดบกพร่องนั้นไม่เกิดผลอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายของผู้บริโภค ศาลก็จะสั่งให้มีการซ่อมสินค้าก่อน คงจะไม่สั่งให้เปลี่ยนสินค้าโดยทันที ซึ่งในกรณีรถของคุณไพฑูรย์นั้นทราบว่าศูนย์บริการได้ดำเนินการซ่อมแก้ไขเครื่องยนต์ให้จนสามารถใช้งานได้ตามปกติ และปัญหาน้ำมันเครื่องหายได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้วโดยที่ผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพราะทางศูนย์บริการถือว่ายังอยู่ในระยะรับประกันอยู่  การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจึงเห็นว่าไม่มีความจำเป็น แต่ที่เสียความรู้สึกคือปัญหาถูกปล่อยให้เยิ่นเย้อยาวนานตรงนี้ต้องถือเป็นบทเรียนของผู้บริโภคด้วยเช่นกัน ที่ศูนย์บริการมักใช้วิธีประวิงเวลาจนอายุประกันใกล้หมดหรือหมดไปและหาเหตุที่จะไม่รับผิดชอบต่อลูกค้า ทางแก้ไขคือ การทักท้วงไม่ควรทักท้วงด้วยวาจาอย่างเดียว ควรทำเป็นลายลักษณ์อักษรตั้งแต่แรกเมื่อทราบถึงปัญหา และหากทักท้วงล่าช้าก็จะลำบาก อย่างไรก็ดี หากคุณไพฑูรย์มีหลักฐานพบว่าปัญหาน้ำมันเครื่องหายยังปรากฏขึ้นอยู่หลังการซ่อมแซมแล้วก็ยังสามารถนำเรื่องฟ้องต่อศาลเป็นคดีผู้บริโภคเพื่อขอให้เปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ได้เช่นกัน  

อ่านเพิ่มเติม >