ฉบับที่ 234 ผู้บริโภคได้อะไรจากน้ำมันกัญชา

        ในช่วงที่กัญชา (Cannabis indica) กำลังจะถูกกฏหมายนั้นพืชที่เป็นพี่น้องของกัญชาคือ กัญชง (Cannabis sativa) ก็ได้เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายของสังคมไทยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากกัญชง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับการสรรทนาการ แต่เป็นด้านการนำเปลือกจากลำต้นไปทำเส้นใยเพื่อผลิตสินค้าหลายชนิดที่มีความทนทาน ทำเป็นเส้นด้ายและเชือกสำหรับการทอผ้าเพื่อทำเครื่องนุ่งห่มต่างๆ ผลิตเป็นกระดาษ ใช้ดูดซับกลิ่นของน้ำหรือน้ำมัน ใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการตกแต่งอาคารและเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือ การนำน้ำมันที่ สกัดจากเมล็ดกัญชง ซึ่งเรียกว่า น้ำมันเฮมพ์ (Hemp oil หรือ Hemp seed oil) มาใช้ในกิจการด้านอาหารและโภชนาการและการนำน้ำมันที่ สกัดจากต้นและใบกัญชง ซึ่งเรียกว่า น้ำมันซีบีดี (cannabidiol oil) มาใช้เป็นยาบำบัดบางโรคที่เกี่ยวกับสมอง         น้ำมันเฮมพ์นั้นได้มาจากการบีบ (หีบ) น้ำมันที่อยู่ในเมล็ดกัญชง ซึ่งมีขั้นตอนทำนองเดียวกับการสกัดน้ำมันจากเมล็ดพืชน้ำมันทั่วไป สิ่งที่ควรทราบคือ น้ำมันเฮมพ์นั้นไม่ควรมีสาร CBD (cannabidiol) หรือ THC (tetrahydrocannabinol) หรือสารแคนนาบินอยด์ชนิดอื่นๆ เพราะในเมล็ดกัญชงมีสารเหล่านี้น้อยมากจนถึงไม่มีเลย         ข้อมูลทางโภชนาการของน้ำมันเฮมพ์คือ อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ เช่น วิตามินอี วิตามินบีต่าง ๆ ธาตุโปแทสเซียมและธาตุแมกนีเซียม ส่วนกรดไขมันไม่อิ่มตัวนั้นมีประมาณร้อยละ 82 โดยเป็นกรดไขมันโอเมกา-6 ราวร้อยละ 54 และมีกรดไขมันโอเมกา-3 มีร้อยละ 22 (ซึ่งถือว่ามีในปริมาณสูงกว่าเมล็ดพืชอื่น ๆ เช่น น้ำมันถั่วเหลืองซึ่งมีกรดไขมันโอเมกา-3 ราวร้อยละ 7) แต่เมื่อเทียบกับน้ำมันจากเมล็ด flax (ลำต้นถูกใช้ทอเป็นผ้าลินิน) ซึ่งมีกรดไขมันโอเมกา-3 ราวร้อยละ 53 แล้วน้ำมันเฮมพ์ดูว่าแพ้ราบคาบ (โดยเฉพาะเรื่องราคา) นอกจากนี้น้ำมันเฮมพ์ยังเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ จึงเหมาะสำหรับใช้ปรุงอาหารที่ไม่ต้องใช้ความร้อนเช่น สลัดผัก หรือทำเครื่องสำอางค์ เช่น ครีมทาผิว แชมพู และสบู่ เป็นต้น        สำหรับน้ำมันซีบีดี (CBD oil) ซึ่งสกัดมาจากทุกส่วนของกัญชงยกเว้นเมล็ดนั้น มีสารสำคัญหลักคือ สาร CBD และสารแคนนาบินอยด์อื่นๆ ที่ไม่ออกฤทธิ์เกี่ยวกับการทำงานของสมอง น้ำมันซีบีดีนั้นถ้าสกัดโดยไม่ผ่านการแยกสารอาจมีสาร THC ปนนิดหน่อยขึ้นกับกฏหมายของแต่ละประเทศอนุญาตให้มีได้เท่าไหร่ เช่น ในยุโรปนั้นผลิตภัณฑ์ซีบีดีที่ถูกกฏหมายสามารถมี THC ปนได้ไม่เกินร้อยละ 0.2 ส่วนในสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ผลิตภัณฑ์ซีบีดีมีสาร THC ปนได้ไม่เกินร้อยละ 0.3 สำหรับไทยนั้นในอนาคตอันใกล้น่าจะกำหนดปริมาณ THC ในผลิตภัณฑ์ซีบีดีมีได้ไม่เกินร้อยละ 1         ในอนาคตอันไม่ไกลนักผู้เขียนเข้าใจว่า น้ำมันซีบีดีคงได้รับการยอมรับให้ใช้เป็นยาบำบัดโรคบางชนิดตามกฏหมายในหลายประเทศ ดังนั้นในการซื้อน้ำมันซีบีดีที่ขายออนไลน์ สิ่งแรกที่ผู้บริโภคควรกระทำคือ คุยกับแพทย์ที่รู้และเข้าใจในโรคที่ผู้ต้องการใช้น้ำมันซีบีดีเป็นเสียก่อน ไม่ควรเป็นอย่างยิ่งในการสั่งซื้อออนไลน์มาใช้ตามคำแนะนำของผู้ไม่รู้จริง         ประเด็นสำคัญที่มีการเตือนไว้ในอินเทอร์เน็ต คือ สินค้าที่ระบุว่าเป็นน้ำมันซีบีดีนั้นมีหลายลักษณะ ซึ่งราคานั้นต่างกันมากแม้แต่ในแพลทฟอร์มของการค้าออนไลน์เดียวกัน เนื่องจากองค์ประกอบที่ต่างกันน้ำมันซีบีดีจึงมีการขายอยู่ใน 3 รูปแบบคือ         ลักษณะแรกเป็นน้ำมันที่สกัดอย่างง่ายจากต้นและใบของกัญชงดังนั้นจึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอะไรต่อมิอะไรผสมอยู่ ซึ่งอาจมีสาร THC ปนบ้างเล็กน้อย         ส่วนลักษณะที่สองนั้นเป็นน้ำมันที่มีการสกัดแยกให้ได้สารในกลุ่มของแคนนาบินอยด์ต่าง ๆ ผสมกันแต่ไม่มี THC แล้ว และ         ลักษณะสุดท้ายเป็นน้ำมันที่มีการแยกเอาเฉพาะแคนนาบิไดออลอย่างเดียวออกมา ซึ่งลักษณะสุดท้ายนี้มีราคาแพงที่สุดและควรใช้ในลักษณะยาบำบัดโรคที่มีการพิสูจน์แล้วว่าได้ผล        ข้อมูลจากการวิจัยเกี่ยวกับน้ำมันซีบีดีที่มีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่าง ๆ นั้น ผู้บริโภคควรทราบระดับการวิจัยว่าถึงขั้นใดคือ ในคน ในสัตว์ หรือระดับหลอดทดลอง ซึ่งความจริงแล้วก็ขึ้นกับชนิดของความเจ็บป่วยว่าทดลองได้ถึงระดับใดด้วย ผู้เขียนได้ให้ระหัส doi หรือ Digital object identifier สำหรับผู้ที่สนใจและสามารถเข้าค้นหาในอินเตอร์เน็ทเพื่อดูรายละเอียดของแต่ละบทความ ตัวอย่างงานวิจัยที่พบว่าน้ำมันซีบีดีมีผลการศึกษาที่น่าสนใจ เช่น        ·  เจ็บปวดเรื้อรัง ปวดไมเกรน เจ็บปวดที่เกิดจากเส้นประสาท และเจ็บปวดจากมะเร็ง (ศึกษาได้ผลในคนไข้ doi: 10.1186/s10194-018-0862-2)         ·  หยุดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง (ศึกษาได้ผลในเซลล์มะเร็งเต้านมที่เลี้ยงในหลอดทดลอง doi: 10.1016/j.toxlet.2012.08.029)         ·  โรคลมชักหรือลมบ้าหมู (การศึกษาได้ผลในคน doi: 10.1007/s13311-015-0375-5)         · โรคปลอกประสาทอักเสบของระบบประสาทส่วนกลาง (ศึกษาได้ผลในคน doi: 10.3389/fneur.2017.00299)         ·  กล้ามเนื้ออ่อนแรง (ศึกษาได้ผลในเซลล์ที่เลี้ยงในหลอดทดลองและผลในสัตว์ทดลอง doi: 10.4103/1673-5374.197125)         ·  โรคพาร์กินสัน (ศึกษาได้ผลในคน doi: 10.1089/can.2017.0002)         ·  อาการอักเสบที่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย (ศึกษาได้ผลในสัตว์ทดลอง doi:10.4155/fmc.09.93)         · สิว (ศึกษาได้ผลในเซลล์ผิวหนังที่เลี้ยงในหลอดทดลอง doi:10.1172/JCI64628)         ·  โรคสะเก็ดเงินบนผิวหนัง (ศึกษาได้ผลในเซลล์ keratinocyte ที่เลี้ยงในหลอดทดลอง doi:10.1016/j.jdermsci.2006.10.009)         ·  กระดูกหัก (ศึกษาได้ผลในสัตว์ทดลอง doi 10.1002/jbmr.2513)         ·  โรควัวบ้า (ศึกษาได้ผลในสัตว์ทดลอง doi:10.1523/JNEUROSCI.1942-07.2007)         ·  เบาหวาน (ศึกษาได้ผลในคน doi: 10.1016/j.ajpath.2011.11.003)         ·  ความดันโลหิตสูง (ศึกษาได้ผลในคน doi: 10.1172/jci.insight.93760)         นอกจากนี้ยังมีข้อมูลถึงผลของน้ำมันซีบีดีต่อโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์  คลื่นไส้ วิตกกังวล สมาธิสั้น โรคจิตเภท อาการติดยา อาการอยากเหล้า อยากบุหรี่ โรคหัวใจ อาการลำไส้แปรปรวน และความจำเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ด้วย ซึ่งท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่าน้ำมันซีบีดีนั้น เข้าข่ายเป็นยาครอบจักรวาฬซึ่งพึงต้องระวังอย่างมากในการซื้อหามาใช้         อีกประเด็นหนึ่งซึ่งน่าสนใจคือ การสกัดน้ำมันซีบีดีจากต้นกัญชงมีขั้นตอนที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการสกัดน้ำมันจากเมล็ดกัญชงมาก เพราะน้ำมันซีบีดีนั้นมีปริมาณน้อยมาก ต้องใช้ต้นกัญชงจำนวนมากในการสกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าต้องการได้น้ำมันซีบีดีคุณภาพสูงต้องใช้อุปกรณ์และเครื่องมือที่มีราคาแพงซึ่งใช้คาร์บอนไดออกไซด์เหลวที่อุณหภูมิต่ำมาก เพื่อให้ได้น้ำมันที่เมื่อระเหยเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกแล้วได้น้ำมันที่ปราศจากกลิ่นของตัวทำละลาย จึงทำให้ราคาน้ำมันซีบีดีแพงกว่าน้ำมันเฮมพ์หลายเท่าตัว แพลทฟอร์มต่าง ๆ ที่มีการขายน้ำมันจากกัญชงจึงพยายามโฆษณาให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด (เอง) ว่า น้ำมันเฮมพ์มีศักยภาพคล้ายน้ำมันซีบีดีหรือสินค้าบางยี่ห้อระบุเลยว่า น้ำมันที่ขายนั้นสกัดจากทั้งใบ ต้น ดอกและเมล็ด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อาจทำให้ผู้บริโภคที่สนใจสินค้าเข้าใจสับสนได้

อ่านเพิ่มเติม >