ฉบับที่ 143 น้ำมะตูม

  เคยได้ยินคำว่า น้ำอัชบาล ไหม ใช่แล้วครับคำนี้มีที่ทางอยู่ในเรื่องราวของพุทธศาสนา เป็นเครื่องดื่มของพระสงฆ์ตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ซึ่งสามารถฉันได้ทั้งวันโดยไม่ผิดพระวินัย น้ำอัชบาลทำจากพืชพรรณที่มีอยู่ในท้องถิ่นและมีฤทธิ์ทางสมุนไพร เมืองไทยเราพืชพรรณธรรมชาติเยอะแยะล้วนมีฤทธิ์ในทางสมุนไพรทั้งนั้น ครั้งนี้ขอเลือกมาหนึ่งชนิด เพราะเห็นว่าเริ่มจะหาดื่มยากแล้วนั่นคือน้ำมะตูมครับ มะตูมนั้นจัดเป็นไม้ระดับเทพเจ้าหรือไม้มงคล  มีความเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมและพิธีมงคลของไทย ใช้ทัดหูในพิธีพราหมณ์ และใช้พรมน้ำมนต์ ตามความเชื่อที่ถ่ายทอดกันมาจากบรรพบุรุษ งานสมรสพระราชทานคู่บ่าวสาวก็จะมีใบมะตูมทัดหู การทำน้ำมนต์เพื่อสะเดาะเคราะห์ และการครอบครูก็จะใช้ใบมะตูมเป็นองค์ประกอบในพิธี ในอินเดียนั้นสามารถพบใบมะตูมและผลมะตูมได้ ตามร้านขายดอกไม้บูชา หรือตามโบสถ์ฮินดูต่างๆ ส่วนในไทยปัจจุบันตอนนี้อย่าว่าแต่ใบเลยครับ หาผลสดยังยาก ต้องเป็นแหล่งจริงๆ ถึงเจอ   ถึงหายากหน่อยแต่ถ้ารู้แหล่ง เราก็ยังสามารถหาได้ครับ พวกมะตูมแห้งยังหาได้ตามร้านยาจีน รวมถึงมะตูมเชื่อมก็ยังมีที่ตรอกมะตูมแถวถนนอรุณอัมรินทร์ ตรอกสะพานหัน  ส่วนในต่างจังหวัดก็น่าจะยังพอหาได้ตามตลาดใหญ่ๆ   วิธีทำน้ำมะตูมไม่ยากเลย ในกรณีได้มะตูมแห้งมา ใช้สัก 5-6 แว่น ต้มกับน้ำประมาณ 2 ถ้วยแก้ว เดือดแล้วเคี่ยวต่อไปเล็กน้อย ยกลงตั้งไว้ให้เย็นดื่มครั้งละ ครึ่งแก้วอาจเติมน้ำตาลนิดหน่อยเพื่อเพิ่มรสชาติ แก้หวัด แก้หลอดลมอักเสบและคลายร้อนได้ดีมาก   สำหรับท่านที่ยังพอหาผลมะตูมสดได้ เลือกผลแก่ขูดเปลือกนอกออก(บางตำรับก็ว่าเผาไฟสักหน่อยก่อนขูดเปลือกจะดีมาก) ทุบพอร้าว ต้มกับน้ำ น้ำตาล กลายเป็นน้ำดื่มสมุนไพรชั้นดี กินได้ทั้งน้ำและเนื้อ แก้ลม บำรุงธาตุดีนัก ทั้งยังช่วยระบายอ่อนๆ ด้วย   มะตูมผลสุกมีกลิ่นเฉพาะตัว บางคนว่าหอมชื่นใจ แต่บางคนก็อาจไม่คุ้น สมัยก่อนมะตูมไม่เพียงแต่รอกินผลสุก ใบอ่อนนำมาจิ้มน้ำพริกกินอร่อยมาก ช่วยเจริญอาหารและแก้ท้องเสียเล็กๆ ได้ ตามธรรมชาติแล้ว มะตูมจะออกดอกประมาณเดือนมีนาคม-พฤษภาคม และให้ผลแก่ประมาณ ธันวาคม-กุมภาพันธ์ ซึ่งอยู่ในช่วงนี้พอดี เจอผลสุกหรือมะตูมเชื่อมที่ไหน ลองซื้อมากินนะครับ บางคนที่ทำขนมเก่งๆ เขาก็ใช้มะตูมเชื่อมทำเป็นขนมเค้กที่หน้าตาดีและอร่อยไม่แพ้เค้กอื่นเลย ส่วนผลสุกถ้าไม่ทำน้ำมะตูมกินแบบสดก็อร่อยไปอีกแบบ แถมมีประโยชน์ด้วย มีสารเพคติน (pectin) สารแทนนิน และสารฟลาโวนอยด์ (flavonoids) ซึ่งช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระดีต่อสุขภาพโดยรวมครับ

อ่านเพิ่มเติม >