ฉบับที่ 276 ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ สำรวจซ้ำรอบใหม่ปัญหาไม่ลดลง

        ความเชื่อ ความเข้าใจ ตลอดมาของผู้บริโภค คือ น้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญคุณภาพดีและราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับน้ำดื่มบรรจุขวด   ทำให้การใช้บริการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญยังคงได้รับความนิยมอย่างสม่ำเสมอ แต่เป็นเช่นนั้นจริงหรือ         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญที่ประชาชนควรได้บริโภคน้ำดื่มจากตู้น้ำแบบหยอดเหรียญที่มีคุณภาพถูกสุขลักษณะไม่มีสารปนเปื้อนใด ๆ จึงได้ริเริ่ม ความร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในเขตพื้นที่ กรุงเทพมหานคร สำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ซึ่งผลสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญปีนั้น พบว่า ร้อยละ 91.6 ไม่มี/ไม่พบใบอนุญาตแสดง ณ จุดให้บริการ         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังเฝ้าระวังอยู่ และเฝ้าระวังต่อ โดยร่วมกับ “ศูนย์สิทธิผู้บริโภคในพื้นที่ 33 เขตของกรุงเทพฯ ครั้งนี้สำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญจำนวน 1,530 ตู้         พบว่ามีตู้ที่ไม่ติดใบอนุญาตประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญถึงร้อยละ 90 ของกลุ่มตัวอย่าง หรือ1,380 ตู้         มีตู้น้ำดื่มไม่มีฉลากระบุเรื่องการควบคุมคุณภาพการเปลี่ยนไส้กรองน้ำ1,334 ตู้ คิดเป็นร้อยละ 87.2 และไม่มีการแสดงรายงานการตรวจคุณภาพน้ำ จำนวน 1,392 ตู้  คิดเป็นร้อยละ 91         อีกทั้งยังสำรวจความคิดเห็นผู้ใช้บริการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญใน 33 เขตดังกล่าวจำนวน 3,041 ราย   เพิ่มเติมอีกด้วย เพื่อฟังเสียงของประชาชน (ดูผลสำรวจได้ในนิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 260) การสำรวจครั้งใหม่        ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 และฉบับแก้ไขข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและเรื่องค่าธรรมเนียมสำหรับการดำเนินกิจการตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. 2561 และต้อง “ติดฉลาก” ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก พ.ศ. 2553 เรื่อง ให้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติเป็นสินค้าควบคุมฉลาก         เมื่อสถานการณ์ความปลอดภัยของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญยังไม่ได้รับการยกระดับ หน่วยงานยังไม่ตอบรับกับผลการสำรวจของภาคประชาชน ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2566 มูลนิธิฯ จึงร่วมกับศูนย์สิทธิผู้บริโภค 33 เขต ในพื้นที่กรุงเทพฯ สำรวจคุณภาพตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอีกครั้งระยะเวลาการสำรวจ          มิ.ย. - ก.ค. 2566 พื้นที่การสำรวจ        33 เขตกรุงเทพฯ ได้แก่ เขตบางบอน,ลาดพร้าว,หนองจอก,แรงงานหนองจอก,คลองเตย,คลองสาน,คันนายาว,จตุจักร,จอมทอง,ดอนเมือง,ทุ่งครุ,สาทร,บางเขน,บางกอกใหญ่,บางขุนเทียน,บางคอแหลม,บางนา,บางพลัด,บึงกุ่ม,ประเวศ,พระโขนง,มีนบุรี,ยานนาวา,ราษฎร์บูรณะ,ลาดกระบัง,วัฒนา,สวนหลวง,สะพานสูง,สายไหม,หลักสี่,ห้วยขวาง,คลองสามวาและแรงงานนอกระบบเขตลาดกระบังแนวทางการการสำรวจ         การสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ดำเนินการในกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ (1) การขออนุญาตประกอบกิจการตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมสำหรับการดำเนินกิจการตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. 2561 (2) พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และ (3) คำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุุขเรื่องแนวทางการควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ พ.ศ. 2553         กรอบการสำรวจมีดังนี้ 1.ใบอนุญาตประกอบกิจการ 2.สถานที่ตั้ง 3.ลักษณะทางกายภาพ 4.แหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิต 5.การบำรุงรักษาและทำความสะอาด และ 6.การติดฉลาก   ผลการสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ (2566)1.ใบอนุญาตประกอบกิจการ          93 % ไม่พบการติดใบอนุญาตประกอบกิจการ (เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนที่ไม่พบการติดใบอนุญาต 91 %) 2.สถานที่ตั้ง         30% บริเวณที่ตั้งมีฝุ่นมาก           8% อยู่ใกล้แหล่งน้ำเสียหรือมีน้ำขัง         2% พบแมลงหรือสัตว์พาหนะนำโรคบริเวณตู้น้ำ  3.กายภาพของตู้น้ำ         31%  ตู้น้ำไม่สะอาด         6%  ไม่มีฝาปิดจ่ายน้ำ         5%  ไม่มีฝาปิดช่องหยอดเหรียญ         31% หัวจ่ายน้ำไม่สะอาด 4. แหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิต        96%  ใช้น้ำประปาในการผลิตน้ำดื่ม5. การบำรุงรักษาและทำความสะอาด          57 %  ไม่มีการล้าง ทำความสะอาดถังเก็บน้ำภายในทุกเดือน  6.การติดฉลาก         93%   มีชื่อยี่ห้อ ชื่อผู้ผลิต หรือเบอร์ติดต่อ         26%   ไม่มีข้อแนะนำ หรือวิธีการใช้งาน         85%   ไม่มีบันทึกการเปลี่ยนไส้กรอง         87%    ไม่มีรายงานการตรวจคุณภาพน้ำ         42% ไม่มีแสดงราคาน้ำดื่มต่อลิตร         56%    ไม่มีคำเตือนระบุว่า "ระวังอันตรายหากไม่ตรวจสอบวันเดือนปีที่เปลี่ยนไส้กรองและตรวจสอบคุณภาพน้ำ”                  ข้อเสนอแนะจากการสำรวจ          1. เร่งดำเนินการตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานและดำเนินการตามกฎหมาย กับผู้ประกอบธุรกิจที่กระทำผิดตาม พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และฉบับแก้ไข         2. ให้มี “ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ” เป็นการเฉพาะ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การทำธุรกิจการติดตั้งตู้น้ำดื่ม และให้มีบทกำหนดโทษ เพื่อให้น้ำที่ผลิตมีความสะอาดและปลอดภัย เพราะปัจจุบันผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญยังไม่มีความชัดเจนในบทบาทหน้าที่ของตนเอง เช่น หากเป็นเพียงผู้ให้เช่าพื้นที่เพื่อการติดตั้งตู้น้ำดื่มเท่านั้น ไม่ได้เป็นเจ้าของตู้น้ำดื่ม ผู้ให้เช่าพื้นที่จะต้องร่วมปฏิบัติตามกฎ ระเบียบใดบ้าง เป็นต้น         3. เสนอให้หน่วยงานรัฐร่วมมือกับองค์กรเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ขยายผลเรื่อง การตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เช่น การสนับสนุนผ่านกองทุนสุขภาพของแต่ละเขตพื้นที่ เป็นต้น ........................................... เลือกใช้ 'ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ' อย่างไร ให้ปลอดภัย        1. บนตู้น้ำดื่มต้องแสดง 'ใบอนุญาตประกอบกิจการ' ไว้ที่ตู้ให้เห็นชัดเจน (มีอายุ 1 ปี)        2. สถานที่ตั้งห่างไกลจากท่อระบายน้ำ ตลาดสด แหล่งขยะ ปลอดสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค อย่างหนู แมลงวัน แมลงสาบ        3. ตู้ยกสูงจากพื้นอย่างน้อย 10 เซ็นติเมตร สภาพตู้น้ำสะอาด ไม่มีฝุ่นจับหนา ไม่ผุกร่อน รั่วซึม หรือเป็นสนิม        4. แสดงการจดบันทึก วัน เดือน ปี ที่เปลี่ยนไส้กรองทุกครั้ง        5.แสดงวันเดือนปีที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำและมีคำเตือน'ตัวอักษรสีแดง'บนพื้นสีขาวระบุว่า "ระวังอันตรายหากไม่ตรวจสอบวันเดือนปีที่เปลี่ยนไส้กรองและตรวจสอบคุณภาพน้ำ"        6. ห้องจ่ายน้ำไม่มีคราบสกปรกตะไคร่น้ำหรือน้ำขังสภาพฝาปิดห้องจ่ายน้ำไม่ชำรุดแตกหัก        7.หัวจ่ายน้ำไม่มีคราบตะไคร่น้ำหรือสนิมจับและควรล้างภาชนะให้สะอาดก่อนบรรจุน้ำขณะรองน้ำปากภาชนะไม่จ่อติดหัวจ่ายน้ำ "น้ำดื่มต้องใส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรสชาติ" ข้อมูลจาก: คณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 ยกระดับคุณภาพน้ำดื่มหยอดเหรียญ ทำได้จริง

กลางเดือน กันยายนที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, สภาองค์กรของผู้บริโภคและสภาองค์กรผู้บริโภคประจำจังหวัดกรุงเทพฯ จัดเสวนาหัวข้อ “การคุ้มครองผู้บริโภค กทม. จากกรณีศึกษาปัญหาผู้บริโภค 3 เรื่อง” และได้ยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่ากรุงเทพมหานครในการแก้ไขปัญหาสำคัญ 3 เรื่อง คือ ระบบขนส่งสาธารณะ คุณภาพตู้น้ำดื่มแบบหยอดเหรียญ  และเรื่องผังเมือง         ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของชาวกรุงเทพมหานครมายาวนาน โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพน้ำดื่มแบบหยอดเหรียญก่อนการจัดเวทีและยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่า กทม. ครั้งนี้ ทีมงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร จึงได้ดำเนินการสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญครั้งล่าสุด ระหว่างวันที่ 15 – 31 สิงหาคม 2565 จำนวน 1,530 ตู้ในพื้นที่ 33 เขตของกรุงเทพฯ พบข้อมูลสำคัญ คือตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่สำรวจว่าร้อยละ 90 ไม่ติดใบอนุุญาตประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ร้อยละ 91 ไม่มีการแสดงรายงานการตรวจคุณภาพน้ำ และร้อยละ 87.2 ไม่มีการติดฉลาดระบุการตรวจไส้กรอง        ฉลาดซื้อพูดคุยกับ คุณก้อ ฐิตินัดดา รักกู้ชัย ประธานศูนย์สิทธิผู้บริโภค เขตบางกอกน้อย ที่ทำงานเฝ้าระวังคุณภาพตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญมาอย่างยาวนาน ยืนยันว่าแม้สถานการณ์คุณภาพของตู้ดื่มน้ำหยอดเหรียญจะยังไม่เป็นที่น่าพอใจ แต่มีสถานการณ์ที่ดีขึ้น เรื่องตู้น้ำมีความสำคัญอย่างไรมาเริ่มทำงานเรื่องนี้ได้อย่างไร         เรื่องตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เราเริ่มเห็นว่าตู้สกปรกมาก ฝุ่นเกาะ  หรือเอากระป๋องนมที่ขึ้นสนิมมารอง แบบนี้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค  เพราะประชาชนเสียเงิน เขาควรได้รับความปลอดภัย         เราทำงานมาตั้งแต่ปี 2559 -2560 ทำงานและสื่อสารตั้งแต่ทำให้รู้ว่าส่วนประกอบของตู้น้ำคืออะไร  ตอนนั้นยังไม่มีการจดทะเบียนภาษี การขออนุญาตตอนแรกตู้ละ 2,000 บาท ผู้ประกอบการรายย่อย เขาบอกว่า เขาไม่ไปจดทะเบียนนะเพราะบางตู้ คนมากดยังไม่ถึงเลย  พอได้เงินแล้วเขาต้องหักค่าไฟ ค่าน้ำ ตอนหลังการจดทะเบียนไม่ถึง 2,000 บาทแล้ว เหลือ 500 บาทในตู้แรก ตู้ต่อไป 25 บาท 2 ตู้จ่าย 525 บาท ศูนย์สิทธิผู้บริโภค ทำงานอย่างไรบ้าง         การทำงานคล้ายๆ อสม. แต่ศูนย์สิทธิฯ เรารับเรื่องร้องเรียน สถานที่จะเป็นที่สาธารณะ หรือที่บ้านก็ได้ แต่ขอให้ประชาชนที่มาสามารถมาร้องเรียนหรือ เล่าเรื่องของเขาได้ ปัจจุบันศูนย์สิทธิผู้บริโภค เขตบางกอกน้อย ก็ทำงานให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ด้วย ตามมาตรา 50 (5) เป็นการบันทึกข้อมูลในระบบ CRM แล้วเราไม่ได้นั่งรับเรื่องร้องเรียนเท่านั้น แต่ลงตรวจคุณภาพน้ำด้วย เราสุ่มตรวจด้วยชุดตรวจโคลิฟอร์ม เรากำหนดพื้นที่ความรับผิดชอบกันชัดเจน ว่าในพื้นที่ที่แต่ละคนดูแลอยู่จะต้องสุ่มตรวจอย่างน้อยกี่ตู้ พอได้ผลเป็นอย่างไร เราจะคืนข้อมูลให้สำนักงานเขต เขตก็ลงมาตรวจตู้ ถ้าน้ำไม่สะอาดเขาต้องไปเปลี่ยนไส้กรอง การทำงานที่ผ่านมา พบปัญหา อุปสรรคอย่างไร           เราพบจากการสำรวจว่า ผู้ประกอบการรายย่อยก็ยังไม่รู้นะ ว่าต้องไปขออนุญาต ไม่มีคนมาแนะนำว่าเขาต้องไปจด เขาถามว่าทำไมเราต้องลงไปสำรวจ เราก็บอกว่าเราทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค บางทีเจ้าของตู้ก็ด่า บางทีเจ้าของบ้าน เขาก็เป็นเจ้าของเองหน้าบ้านเขาก็ตั้งตู้น้ำดื่ม เขาจะได้กินด้วย มีรายได้ แล้วพอไปตรวจ เขาก็กลัวว่าเราไปจับผิดเขา เพราะว่าที่เราลงไป เรามีการทำหนังสือ เหมือนเขาก็เดือดร้อนว่าต้องไปจดใบอนุญาต แล้วเมื่อผ่านได้ใบอนุญาตมาแล้ว ทางเจ้าของจะกลัวว่า จะถูกสุ่มลงมาตรวจ ไม่ได้ทำความสะอาด เปลี่ยนไส้กรองไหม เขาเลยตั้งตู้เฉยๆ อยู่แบบนั้นไม่ไปจด คนที่ขอไปแล้ว แต่ไม่ไปเอาใบอนุญาตจึงเยอะ  เพราะเขากลัวว่าเรื่องจะเยอะตามมา         แล้วหากน้ำไม่สะอาด การล้างแต่ละครั้งต้องมีช่างมาล้าง  เจ้าของตู้เขาต้องใช้เงินจากกำไร ที่เขาต้องได้เป็นพันก็ต้องมาจ่ายตรงนี้ แต่ก่อนจากที่เขาได้กำไรเยอะตอนที่ตู้ยังน้อย แต่ตอนนี้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะมีตู้เยอะขึ้น แล้วเวลามีข่าวตู้น้ำดื่มไม่สะอาด คนก็หันมาติดตั้ง เครื่องกรองน้ำที่บ้านมากขึ้น         ส่วนชาวบ้านเขาก็คิดว่า แล้วทำไมต้องมาจด รัฐบาลไม่มีเงินเลยจะมาเอาเงินภาษี แบบนี้ก็มี แต่คนทำงานมองว่าสถานการณ์คุณภาพตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเริ่มดีขึ้น         ใช่ ทำงานตอนแรก ทั้งชาวบ้าน ทั้งผู้ประกอบการ เขาไม่ได้สนใจเลย ชาวบ้านด้วยก็ไม่ได้สนใจ แต่พอเรารณรงค์มากขึ้น ชาวบ้านเขาเริ่มรู้ ทำงานไปเรื่อยๆ ก็ต้องแอบนะเพราะเขาเริ่มรู้ว่าเรามาทำอะไร เขาเห็น เขาก็มาเช็ดๆ ตู้ เราก็บอกเขาว่าไม่ใช่ ต้องทำความสะอาดข้างในด้วย เขาก็ทำด้วย เราบอกว่ากลัวว่ากดไปดื่มแล้วจะท้องเสีย         แล้วบางทีจุดตั้งตู้อยู่ใกล้ถังขยะ เปิดแล้วหนูก็วิ่งขึ้นไป คือตอนที่สำรวจอาจจะยังไม่เจอหนูก็จริง แต่สภาพแวดล้อม สถานการณ์มันมีได้         ตอนนี้ความเปลี่ยนแปลงคือเราเห็นตู้ใหม่ๆ เยอะ การขอใบอนุญาตไม่ยากแล้ว   สำนักงานเขตจะมีข้อมูล ผู้ประกอบการที่เขายอมเปลี่ยนแปลงได้เพราะอะไร           เขาไม่ได้มีเงื่อนไขอะไร แต่บางทีเราชี้แจง แล้วตัวเขาบางทีเขากดไปกินน้ำด้วย เขาตั้งตู้แล้วเขาก็กินเองด้วย เขาก็แก้ไข บางคนเขาดีนะ เราบอกแล้วเขาก็แก้ไข บางทีเขาไม่รู้ว่า ตู้น้ำต้องไปขอใบอนุญาต  เขาก็กลัวว่าเขาจะมีความผิดเหมือนกัน  บางคนเขาทำแล้ว มาบอกเราให้ไปทดสอบเลยว่า คุณภาพดีขึ้นไหม  มาตรวจเลย         แล้วผู้ประกอบการบางคนเขามีใบอนุญาตนะ แต่เขาไม่รู้ว่าต้องนำมาติดไว้ที่ตู้ ทำงานมาเรื่อยๆ เขาก็รู้มากขึ้น         การทำงานที่ผ่านมา เราคิดว่า ทางเขตตอบรับเราดี ลงมาตามเรา เขาบอกว่าถ้ามีอะไร ให้เขาลงไป  เขายินดี ถ้าเราจะไปสำรวจอะไร เขาดีใจที่มีอาสาสมัครมาทำงานแบบนี้ แล้วจริงๆ เขตเขามีคนน้อย การทำงานของศูนย์สิทธิผู้บริโภค ช่วยให้เขตทำงานได้ถูกจุดมากขึ้น         ใช่       การทำงาน เมื่อเราแจ้งเขต เป็นการกระตุ้นให้เขาทำงานด้วย พอเราส่งข้อมูลให้เขต เขตบอกว่าจะไปตรวจ  ตอนแรกเขาจะตักเตือนก่อน  แต่ตักเตือนแล้วยังไม่ทำ  เขาก็จะฟ้อง เพราะมีกฎหมาย เขาเลยจะเตือนมาก่อนตอนนี้ กทม. มีเทศบัญญัติ แล้ว เทศบัญญัติที่มีเกิดจากการทำงานของเครือข่าย         เทศบัญญัติที่มีมาตั้งแต่ ปี 2562 เกิดจากการทำงานของเครือข่าย  ไปผลักดันจนเกิดนโยบาย ช่วงปี 60- 61 พี่ไปที่สำนักงานเขต ถามเขาว่า ถ้าเกิดเจอตู้ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตบอกว่า หัวหน้าสิ่งแวดล้อมบอกว่าเขาจะตักเตือน ถ้าไม่เปลี่ยนแล้วยังไม่มา เขาจะลงไปเอาโซ่ล่าม การฟ้องมันใช้เวลา ส่วนมากจะจบที่การไกลเกลี่ย เขาไม่อยากถูกฟ้อง เขาก็ต้องทำ         การทำงานที่ผ่านมาเรายังได้ ประสานกันหลายฝ่าย เราก็ได้พัฒนาตัวเองด้วย  น้ำที่ไม่สะอาด พอเอาโคลิฟอร์มมาตรวจ น้ำจะเปลี่ยนสีเลย น้ำที่ได้มาตรฐาน จะเป็นสีส้ม น้ำที่ตรวจเจอแล้วเป็นสีเหลือง มันมีอันตรายอย่างไร คือเป็นน้ำที่ดื่มเข้าไปแล้วทำให้ท้องร่วงได้ เราก็ให้ศูนย์สาธารณสุขมาให้ความรู้กับ อาสาสมัครเราด้วย         พี่เลยมองว่า สถานการณ์ดีขึ้น ประชาชนมีความรู้มากขึ้น ผู้ประกอบการเขาก็มีความตระหนักขึ้นนะ แล้วการทำงานร่วมกันในพื้นที่ก็มีส่วนเสริมกัน เรามองว่าช่วยกันได้ แล้ว อาสาสมัครถ้าทำงานไปเรื่อยๆ ก็ได้พัฒนาตัวเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ

        หลายคนคงเคยใช้บริการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เนื่องจากราคาถูก ง่ายต่อการใช้บริการ เปิดตลอด 24 ชั่วโมง หาง่ายในแหล่งชุมชนต่างๆ แต่จากการสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคในกรุงเทพมหานครพบว่ามีหลายตู้ตกมาตรฐาน        คุณต้นไม้ พักอยู่ที่คอนโดแห่งหนึ่งใจกลางลาดพร้าว 101 เขามักซื้อน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเป็นประจำ เพราะรู้สึกว่า ถูก ง่าย สะดวก เอาขวดน้ำที่ดื่มน้ำหมดแล้วมากรอกได้เลย แต่อยู่มาวันหนึ่ง เขาก็มาหยอดเหรียญโดยนำขวดมากรอกน้ำเหมือนเคย แต่พอดื่มเข้าไปแล้ว เขารู้สึกว่ารสชาติผิดปกติ ไม่เหมือนที่เคยดื่ม ลองเอามาดมก็มีกลิ่นแปลกๆ ไม่เหมือนเดิม เพราะทุกทีน้ำไม่มีกลิ่น เขาจึงลองไปหยอดเหรียญกรอกอีกรอบ ก็ยังพบว่าน้ำดื่มมีความผิดปกติทั้งรสชาติและกลิ่นไม่เหมือนที่เคยดื่ม ดังนั้นเลยลองเสิร์ชดูในกูเกิลเจอว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเคยออกข่าวเกี่ยวกับตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ได้มาตรฐาน สกปรก จึงมาขอคำปรึกษาและขอให้ช่วยตรวจสอบเนื่องจากมีคนในคอนโดใช้บริการจำนวนมาก แนวทางการแก้ไขปัญหา         เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวกับตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ซึ่งกำหนดให้มีการขออนุญาตก่อน หากมีการติดตั้งตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญและทุกอย่างต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ต้องมีการเปลี่ยนไส้กรอง การซ่อมบำรุง และต้องรายงานคุณภาพน้ำด้วย เมื่อดำเนินการตามกฎหมายแล้วต้องมีสติ๊กเกอร์การได้รับอนุญาต ผลคุณภาพน้ำ ระยะเวลาในการเปลี่ยนไส้กรอกติดไว้ที่ตู้ด้วย         ดังนั้น มูลนิธิฯ จึงได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการเขตบางกะปิ และเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาขอให้ช่วยตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ตู้ที่ผู้ร้องคือคุณต้นไม้ได้ร้องทุกข์ไว้ ทราบต่อมาว่าทางเขตบางกะปิได้ลงพื้นที่ตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญดังกล่าวแล้วและทางเขตสั่งให้ผู้ประกอบการปรับปรุงให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ตู้น้ำดื่มมีคุณภาพน้ำที่สะอาดสำหรับการบริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคม 2561กรมอนามัยเล็งชง อย.-สคบ. คุมเข้มชาเขียว-น้ำอัดลม ใช้แคมเปญล่อใจคนดื่มเพิ่มเว็บไซต์ Beevoice.org รายงานว่า นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สัมภาษณ์กรณีการบังคับใช้มาตรการเก็บภาษีน้ำตาล เพื่อควบคุมปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ โดยเฉพาะเครื่องดื่ม เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งมาตรการดังกล่าว ได้ผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการดำเนินการปรับปรุงสูตรเป็นระยะเวลา 2 ปี ส่งผลให้ผู้ประกอบการหันมาทำเครื่องดื่มสูตรหวานน้อยมากขึ้น เพื่อจะไม่ต้องจ่ายภาษีมากขึ้นแต่ปัญหาคือ เครื่องดื่มอย่างน้ำอัดลมหรือชาเขียวที่เดิมมีน้ำตาลสูง แม้จะมีการปรับสูตรให้มีน้ำตาลน้อยลง แต่กลับทำการตลาดโดยเฉพาะการชิงโชค เพื่อให้คนไทยหันมาบริโภคกันมากขึ้น ซึ่งประชาชนต้องรู้ทันเรื่องเหล่านี้ เนื่องจากการกินหวานมากๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะโรคอ้วนและโรคเบาหวาน ซึ่งภาครัฐได้พยายามทำให้ประชาชนบริโภคน้ำตาลลดลง นพ.วชิระ กล่าวว่า หากการชิงโชคในเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากอย่าง ชาเขียวหรือน้ำอัดลมเป็นปัญหามาก ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเสนอให้มีการออกกฎหมายควบคุมเหมือนเครื่องดื่มชูกำลังในอดีต โดยกรมอนามัยจะทำข้อมูลเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อพิจารณาออกประกาศห้ามชิงโชคในเครื่องดื่มเหล่านี้ เหมือนกับที่กรมอนามัยเสนอกรมสรรพสามิต ในการคุมภาษีน้ำตาลสำเร็จมาแล้ว*****อย.ปรับใหม่ ต้องจดแจ้งก่อนผลิตเครื่องสำอางนพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงว่า อย.จะเพิ่มมาตรการเพื่อประกันคุณภาพของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โดยปรับเชิงระบบ เนื่องจาก พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 กำหนดให้ผู้ประสงค์จะผลิตเครื่องสำอางเพื่อขายต้องจดแจ้งก่อน เมื่อ อย.รับแจ้งแล้ว จึงจะผลิตเครื่องสำอาง ณ สถานที่ที่แจ้งไว้ ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในเดือน มิ.ย.61โดย อย. ได้หารือกับผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  ซึ่งเสนอให้มีมาตรการเข้มงวดคุ้มครองผู้บริโภค เพิ่มโทษตามกฎหมาย และทบทวนระบบการอนุญาตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งการยื่นขออนุญาตเครื่องสำอางผ่านระบบ e-Submission ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอให้ยกเลิก เพื่อลดปัญหาเครื่องสำอางผิดกฎหมายนั้น ขอชี้แจงว่าการยื่นขออนุญาตมีทั้งยื่นเป็นเอกสาร และยื่นผ่านเครือข่ายออนไลน์ ซึ่ง อย.เคยพัฒนาระบบ Auto e-Submission เพื่อให้ระบบสามารถประมวลผลและออกใบรับจดแจ้งได้ทันที แต่ได้ยกเลิกใบรับแจ้งเหล่านั้นแล้ว รวมทั้งยกเลิกการรับจดแจ้งโดยอัตโนมัติ ตั้งแต่ 1 ก.ย.60 *********กทม. เตรียมรื้อ ‘ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ’ ไม่มีใบอนุญาต หลังพบตู้เถื่อนเกลื่อนกรุงวันที่ 2 พ.ค.61 นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยผลสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2561 พบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ได้รับใบอนุญาตถึง 3,804 ตู้ จากทั้งหมด 3,964 ตู้ โดยพื้นที่ที่มีตู้น้ำดื่มฯ มากที่สุด คือ เขตจตุจักร 310 ตู้, เขตลาดพร้าว 295 ตู้ และเขตยานนาวา 214 ตู้ที่ผ่านมาสำนักงานเขตได้ออกหนังสือเรียกผู้ประกอบการให้มาดำเนินการขอใบอนุญาตประกอบกิจการติดตั้งตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญตามกฎหมาย แต่ผู้ประกอบการไม่ยินยอมมาชำระค่าธรรมเนียม เนื่องจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 1 ตู้ ต้องเสียค่าธรรมเนียมปีละ 2,000 บาท ซึ่งปัญหานี้ กรุงเทพมหานครกำลังดำเนินการยกร่างข้อบัญญัติฯ ทำให้ค่าธรรมเนียมประกอบการเหลือ 500 บาทต่อปี เพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการมาขอใบอนุญาตจากนี้ไป กรุงเทพมหานครจะเพิ่มมาตรการที่เข้มข้น โดยให้สำนักงานเขตดำเนินการรื้อถอนตู้น้ำที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งหากมีการฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมายสาธารณสุขการประกอบการโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท*********ศาลฎีกาสั่งถอนสิทธิบัตรผลิต ‘ยาความดันโลหิตสูง-หัวใจ’ หลังต่อสู้ยาวนานกว่า 7 ปีภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี นายกสภาเภสัชกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ค.61 ศาลฎีกาได้ตัดสินชี้ขาดให้ถอนรายการยาวาลซาร์แทน (Valsartan) ซึ่งเป็นยาที่ใช้เพื่อรักษาโรคความดันโลหิตสูงและป้องกันหัวใจล้มเหลว ออกจากการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรยาของประเทศไทย หลังจากที่ต่อสู้ยาวนานกว่า 7 ปี“ศาลฎีกาได้ใช้กระบวนการพิจารณาทรัพย์สินทางปัญญาในเรื่องนี้ตามมาตรฐานสากล โดยใช้ข้อเท็จจริงว่า กระบวนการผลิตยาเม็ดที่ถูกนำไปจดสิทธิบัตรคุ้มครองนั้น เป็นกระบวนการผลิตที่มีสอนเป็นปกติให้กับนักศึกษาของคณะเภสัชศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทุกคนที่มีความรู้ทางเภสัชกรรมก็สามารถทำได้ ไม่ควรได้สิทธิบัตรคุ้มครอง จึงขอให้ศาลฎีกาพิจารณายกเลิกการจดสิทธิบัตรฉบับนี้” นายกเภสัชกรรมกล่าวทั้งนี้ ในอดีตเมื่อบริษัทยาได้คิดค้นยาดังกล่าวแล้ว ได้ทำการจดสิทธิบัตรตัวยา และจดสิทธิบัตรกรรมวิธีการผลิตเป็นยาเม็ดเพิ่มเติมอีก 1 ฉบับ ที่สหรัฐอเมริกา และได้รับการคุ้มครองทั่วโลกยาวนานถึง 20 ปี โดยภายหลังที่สิทธิบัตรตัวยาดังกล่าวหมดอายุลง บริษัทยาในประเทศไทยได้ผลิตยาดังกล่าวออกมาแข่งขัน แต่ถูกบริษัทยาข้ามชาติฟ้องร้องว่าเป็นการละเมิดสิทธิบัตรกรรมวิธีการผลิตยา ทำให้มีการต่อสู้คดีกัน*********บทเรียนการใช้สิทธิกับการจัดการปัญหาอาคารสูงผิดกฎหมายในชุมชนเมื่อวันที่ 30 เม.ย.61 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ เครือข่ายผู้เสียหายจากอาคารสูงและตัวแทนผู้ได้รับความเสียหายจากชุมชนต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จัดเวทีสภาผู้บริโภคเรื่อง “บทเรียนการใช้สิทธิของผู้บริโภค กับการจัดการปัญหาอาคารสูงผิดกฎหมาย” เพื่อสะท้อนปัญหาอาคารสูงในซอยแคบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของชุมชนนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนดว่า ซอยที่มีความกว้างไม่เกิน 10 เมตรตลอดแนวไปจนถึงถนนสาธารณะ จะไม่สามารถก่อสร้างอาคารที่มีความสูงเกิน 8 ชั้น หรือเกินกว่า 23 เมตรได้ เพื่อให้รถดับเพลิงหรือกู้ภัยสามารถเข้าไปช่วยเหลือในกรณีที่เกิดเพลิงไหม้อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวยังมีความไม่ชัดเจนเรื่องวิธีการวัดความกว้างของถนน บางครั้งจึงมีการวัดความกว้างถนนโดยรวมพื้นที่ฟุตบาทเข้าไปด้วย ทำให้เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ รถดับเพลิงจึงไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ ดังนั้นจึงอยากเสนอให้มีการแก้ไขตัวบทกฎหมายให้ชัดเจน โดยระบะให้วัดความกว้างของถนนเฉพาะบริเวณผิวถนนที่รถสามารถวิ่งได้เท่านั้น”นายนรฤทธิ์ โกมลารชุน ตัวแทนผู้บริโภคกลุ่มชมรมอนุรักษ์พญาไท เสนอว่า หนึ่งในวิธีที่จะปกป้องสิทธิของชุมชน คือ อย่ารอให้โครงการเริ่มก่อสร้างแล้วค่อยจัดการ แต่ต้องป้องกันไว้ก่อน ด้วยการพิจารณาสภาพแวดล้อมในชุมชน ทั้งเรื่องความกว้างของถนน ฝุ่น เสียง ฯลฯ เช่น หากถนนในซอยกว้างไม่ถึง 10 เมตร แต่กำลังจะมีโครงการก่อสร้างคอนโดสูงเกิน 8 ชั้น ก็สามารถคาดการณ์ได้ว่าผิดกฎหมายแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >