ฉบับที่ 137 นิสสัน อัลเมลา (บางคัน) กว้างแถมเปียก

เชื่อว่าเวลาเราซื้อรถยนต์ สิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือ ขอให้ได้รถดีเหมือนที่โฆษณา และเราก็เชื่อว่ารถดีมีเป็นร้อยที่ถอยออกจากโรงงานในแต่ละวัน แต่รถคุณภาพต่ำต้อยก็มีสิทธิหลุดออกมาได้เหมือนกัน ถ้าคุณภาพบริการหลังการขายไม่ดี ความชอกช้ำชีวีมีถึงผู้บริโภคแน่นอนนี้คือคำโฆษณา...“นิสสัน อัลเมลา อีโคคาร์ 4 ประตูคันแรกของเมืองไทย”“ความสุขที่กว้างขึ้น ความภาคภูมิที่สัมผัสได้ตั้งแต่แรกเห็น”“ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกที่ออกแบบอย่างภูมิฐานเหนือระดับพร้อมสปอย์เลอร์หลังเพิ่มประสิทธิภาพทางการขับขี่ตัวถังเน้นความโอ่อ่า เพื่อให้ห้องโดยสารภายในกว้างขวางผ่อนคลายพร้อมขยายพื้นที่ช่วงขาให้ยาวขึ้นนอกเหนือความงามคือความใส่ใจเพื่อผู้โดยสารนั่งสบายทุกอิริยาบถ” และนี้คือความจริง.......“ซื้อนิสสัน อัลเมลา ป้ายแดง ใช้งานมาได้ 4 เดือนค่ะ ตอนนี้พบปัญหา น้ำเข้าขณะล้างรถและตอนจอดตากฝน” คุณรฐาผู้บริโภคของเราบอก“น้ำเข้ารถ 2 จุด คือที่ประตูหลังด้านขวาและเข้าทางกระโปรงหลัง ได้เข้าปรึกษากับทางศูนย์ที่ออกรถมาว่าจะรับผิดชอบให้เราอย่างไร เราไม่ได้คำตอบ โทรไปเซลล์ไม่รับสาย”คุณรฐาพยายามช่วยเหลือตัวเองด้วยการไปสอบถามกับศูนย์บริการอีกแห่ง ได้รับการยืนยันว่าเกิดจากกระบวนการผลิตต้องส่งเคลมโรงงาน แต่ก็ไม่มีการดำเนินการต่อไปหลังจากนั้น“ไม่มีคำตอบว่าจะมีความรับผิดชอบเมื่อไรและอย่างไร เราได้รับบริการที่แย่มากมาตั้งแต่ต้น เราควรปฏิบัติอย่างไรในกรณีนี้คะ” คุณรฐาถาม แนวทางแก้ไขปัญหาจะเห็นว่าคำโฆษณานั้นดูดีเสมอ โดยเฉพาะกับการขายรถยนต์ราคาเป็นแสนๆ แต่การเกิดปัญหาเล็กๆ น้อยๆ อย่างที่เด็กบางคนเรียกว่า “เรื่องกะโหลกกะลาแค่เนี้ย” เมื่อไม่ได้รับการแก้ไขปัญหากะโหลกกะลามันก็จะบานปลายจนส่งผลต่อชื่อเสียงของสินค้าได้ไม่ยาก และหวังว่าคุณรฐาจะไม่ใช้รถคันนี้ตอนช่วงน้ำท่วม นึกเห็นภาพแล้ว...ความเสียหายคงบาน...วิธีแก้ปัญหานี้ คือ การเจรจาให้ผู้ขายรถยนต์ต้องรับรถไปตรวจและส่งซ่อมโดยเร็ว และผู้ขายสินค้าก็ไม่ควรอิดเอื้อนบ่ายเบี่ยงทำตัวเหมือนคนท้องผูก ปิดประตูห้องน้ำนั่งขยี้กระดาษชำระเล่น หรือไม่ยอมรับสาย ไม่ยอมพบปะพูดจากับลูกค้า เพราะคิดว่าเป็นเรื่องหมูในอวย ขายรถได้แล้วเป็นอันจบศูนย์รถแห่งไหนเลี้ยงพนักงานขายแบบนี้ ยิ่งมีมากก็ยิ่งเจ๊งไว สาธุ...ทำไมถึงแช่งกันอย่างนั้น เพราะยิ่งพนักงานขายแชเชือนแช่บ๊วยปล่อยปัญหาให้ช้าเนิ่นนานไป ก็ยิ่งจะทำให้ผู้บริโภคเกิดอารมณ์ขุ่นมัวสะสมพอกพูนแปรสภาพเป็นการเรียกค่าเสียหายผ่านการฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคได้สำหรับผู้บริโภคก็อย่าเพิ่งลัดขั้นตอนใจร้อนเอาเรื่องไปฟ้องร้องต่อศาลเพื่อขอเปลี่ยนรถใหม่หรือให้ซื้อรถคืนเลย เพราะฟ้องไปหากศาลท่านเห็นว่าน่าจะซ่อมได้ท่านก็คงสั่งให้ไปซ่อมก่อน ซ่อมได้ก็จบกันไป หากซ่อมไม่ได้หรือซ่อมไปแล้วเอากลับมาใช้อีก มองแล้วอาจเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายของผู้บริโภคท่านถึงจะพิจารณาให้เรียกคืนรถและชดใช้เงินค่าซื้อรถกันได้ สรุปว่าทุกอย่างมีขั้นตอนดังนั้น สิ่งที่ผู้บริโภคควรทำเมื่อเกิดปัญหาแนวๆ นี้ คือ นำสินค้าที่เสียหายหรือชำรุดบกพร่องโดยที่ไม่ได้เกิดจากการความบกพร่องจากการใช้งานของผู้บริโภคส่งให้ผู้ขายสินค้าตรวจเช็คและร้องขอเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของตนเองเพื่อขอให้ผู้ขายสินค้าซ่อมสินค้าที่ชำรุดบกพร่องโดยทันที และเริ่มนับเวลาค่าเสียหายที่ขาดโอกาสในการใช้รถนับแต่วันที่ส่งซ่อมทันที ไม่ได้หวังว่าจะเอามาคิดเป็นเงินจริงจังก็ได้ แต่คิดเป็นตัวเลขเพื่อใช้กดดันเป็นปฏิกิริยาเร่งให้มีการซ่อมสินค้าโดยเร็ว ซ่อมได้ภายในระยะเวลาที่เหมาะสมไม่เยิ่นเย้อยาวนานเกินไปก็สมควรจบปัญหากัน แต่หากซ่อมไม่ได้หรือซ่อมไม่หายจึงค่อยเรียกร้องให้เปลี่ยนสินค้าใหม่หรือคืนเงินกัน หากผู้ขายสินค้าไม่ยินยอมจึงค่อยไปฟ้องร้องต่อศาลในคดีผู้บริโภคได้ ว่ากันเป็นกระบวนยุทธ์อย่างนี้ ปัญหายุติเร็วแน่นอน ที่สำคัญยุติ แบบยุติธรรมด้วย แต่อย่าลืมเรื่องอายุความของคดีที่มีระยะเวลาแค่ 1 ปี นับแต่วันที่รับรู้ถึงความเสียหาย ต้องฟ้องร้องภายในกรอบระยะเวลานี้ หากพ้นระยะเวลานี้ไปก็หมดสิทธิที่จะเรียกร้องความรับผิดกันได้หลังจากได้รับคำแนะนำไปคุณรฐาเธอจึงเริ่มดำเนินการเจรจาตามกระบวนยุทธพิทักษ์ผู้บริโภค ไม่นานศูนย์นิสสันลาดพร้าวก็ได้ทำการตรวจสอบสภาพความชำรุดบกพร่องของรถ จนทราบสาเหตุที่น้ำรั่วไหลเข้ารถว่าเป็นเพราะขอบยางจากกระโปรงท้ายรถติดตั้งไม่เรียบร้อย และไม่มีการปิดฝาท่อระหว่างท้ายรถกับห้องโดยสารทำให้น้ำรั่วไหลเข้าไปได้ทั้งในเวลาล้างรถหรือตอนฝนตก จึงได้ทำการซ่อมแซมแก้ไขให้“เมื่อรับรถออกมาเราได้ทดสอบเบื้องต้นโดยการเอาน้ำฉีด น้ำไม่เข้าแล้ว...ขอขอบคุณทางมูลนิธิฯมากๆ ค่ะ ที่ให้คำปรึกษาดีมากๆ ขอบคุณค่ะ...”

อ่านเพิ่มเติม >