ฉบับที่ 190 นาคี : อสรพิษที่ว่าร้าย ก็ไม่น่ากลัวเท่ากับคนหรอก

ในบริบทที่ประชาคมอาเซียนกำลังก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมานี้ ภาพของภูมิภาคอุษาคเนย์ดูจะมีลักษณะไม่ต่างจากเหรียญสองด้าน ที่ด้านหนึ่งผู้คนและวัฒนธรรมอาเซียนก็อาจฉายภาพของความแตกต่างและขัดแย้งกันอยู่ในที แต่อีกด้านหนึ่ง ก็เชื่อกันว่า ดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้ก็มีวัฒนธรรมและประเพณีความเชื่อที่มีรากร่วมกันบางอย่าง“นาคาคติ” หรือคติความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาพญานาค เป็นอีกกรณีตัวอย่างของวัฒนธรรมร่วมรากที่ดำรงอยู่อย่างยาวนานในพื้นถิ่นอุษาคเนย์ อันรวมถึงเป็นประเพณีความเชื่อที่อยู่ในดินแดนสยามประเทศของเราด้วยเช่นกันอาจารย์สุจิตต์ วงษ์เทศ เคยเขียนอธิบายไว้ในหนังสือ “นาคในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์” ว่า สุวรรณภูมิหรืออุษาคเนย์เป็นดินแดนแบบ “เฮ็ดนาเมืองลุ่ม” หรือเป็นชุมชนที่ราบลุ่ม มีน้ำท่วมน้ำหลาก และผู้คนมีวิถีชีวิตทำนาปลูกข้าวกันมายาวนาน เพราะฉะนั้น ผู้คนที่อยู่ในภูมิภาคนี้จึงล้วนเลื่อมใสลัทธิบูชานาคหรือลัทธิบูชางูมาตั้งแต่ก่อนที่ชาวตะวันตกจะขีดเส้นกั้นแบ่งแผนที่ทางภูมิศาสตร์ระหว่างประเทศเสียอีกรูปธรรมของคติการบูชานาคปรากฏอยู่ในนิทานพื้นบ้านปรัมปราของกลุ่มชนหลายเผ่าพันธุ์ของอุษาคเนย์ ไม่ว่าจะเป็นมอญ เขมร ลาว ญวน หรือไทย และแม้แต่เมื่อศาสนาพุทธและพราหมณ์จะเผยแผ่เข้ามาจากอนุทวีปสู่ดินแดนแถบนี้ ลัทธิบูชานาคก็ผสานกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิศาสนาใหม่ด้วยเช่นกันและเมื่อมาถึงยุคปัจจุบัน ใช่ว่าคติความเชื่อเรื่องนาคจะเลือนรางจางหายไปไม่ นาคาคติยังคงได้รับการสืบสานเอาไว้ผ่านช่องทางใหม่ๆ ร่วมสมัยอย่างสื่อบันเทิงต่างๆ รวมไปถึงละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกดราม่าลึกลับอย่างเรื่อง “นาคี” โดยการวางพล็อตเรื่องของ “นาคี” นั้น จับความเรื่องราวของ “คำแก้ว” หญิงสาวบ้านดอนไม้ป่า ผู้มีชาติกำเนิดลึกลับ เนื่องจากเธอเป็นกายหยาบที่ “เจ้าแม่นาคี” ใช้อาศัยสิงสู่อยู่ เพราะถูกคำสาปของ “ท้าวศรีสุทโธนาค” เจ้าปู่ที่ล่วงรู้ว่า เธอหนีขึ้นมาบนโลกและสมสู่อยู่กินกับมนุษย์ที่ชื่อ “ไชยสิงห์” จนมีลูกด้วยกัน แต่ทว่า ด้วยเวรกรรมที่ผูกพันเอาไว้ จึงทำให้คำแก้วหรือเจ้าแม่นาคีรอคอยที่จะพานพบไชยสิงห์ผู้มาเกิดใหม่เป็น “ทศพล” ในชาติปัจจุบันในขณะที่โครงเรื่องถูกวางอยู่บนโรแมนติกดราม่าเยี่ยงนี้ แต่เนื่องจาก “นาคี” เป็นเรื่องเล่าของลัทธิบูชานาคที่เล่าผ่านเรื่องราวของละครโทรทัศน์ ดังนั้น โทรทัศน์เองจึงมีอำนาจที่จะเล่าเรื่องและหยิบมุมมองบางอย่างซึ่งอาจจะแตกต่างไปจากปรัมปราคติความเชื่อแบบดั้งเดิมในด้านแรก แม้ว่านาคาคติเดิมจะสืบทอดให้เห็นความศักดิ์สิทธิ์ของการบูชานาคหรืองูเป็นพื้นฐาน แต่เพราะเรื่องเล่าใหม่เป็นละครโทรทัศน์ วิถีการมองนาคจึงผสมเรื่องราวความรักสมหวังผิดหวัง ประหนึ่งจะบอกเป็นนัยว่า ไม่ว่าจะมนุษย์หรือนาคต่างก็เป็นชีวิตที่เวียนว่ายอยู่ในวังวนรักโลภโกรธหลงไม่แตกต่างกันเลยในอีกด้านหนึ่ง เพราะ “นาคี” เป็นเรื่องเล่าที่ผูกโครงขึ้นมาใหม่ ละครก็ได้เลือกใช้กลวิธีการขยับโฟกัสมุมมองใหม่ให้คนดูเห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับนาคที่แตกต่างไปจากการรับรู้ในแบบเดิมๆ ของเราแม้ว่างูจะถูกสถาปนาให้กลายเป็น “ความศักดิ์สิทธิ์” ตามลัทธินาคาคติ แต่ในเวลาเดียวกัน สำหรับมนุษย์แล้ว คนส่วนใหญ่ก็มักจะมองงูมาจากจุดยืนที่ว่า สัตว์โลกชนิดนี้เป็น “อสรพิษ” ที่ดูน่ากลัวและไม่น่าไว้วางใจ ดังปรากฏหลักฐานอยู่ในสำนวนไทยที่ว่า “ตีงูต้องให้หลังหัก” หรือ “ขว้างงูต้องให้พ้นคอ” ไปจนถึงนิทานพื้นบ้านเรื่อง “ชาวนากับงูเห่า” ที่ต่างยืนยันความเป็นอสรพิษของงูดังที่ได้กล่าวมาแต่ทว่า ละคร “นาคี” กลับไม่ได้เล่าเรื่องงูจากจุดยืนของคนที่เกลียดกลัวอสรพิษ แต่เลือกวิธีที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของงูจากมุมมองของงูหรือนาคเอง หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นการย้ายวิถีการมองให้ผู้ชมได้ลอง “เอาใจงูมาใส่ใจคน” ดูบ้าง ทัศนะแบบนี้จึงทำให้เราได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับงูหรือนาคด้วยภาพที่ผิดแผกแตกต่างจากที่คุ้นๆ กันมา คงเหมือนกับวลีที่ว่า “ในความจริงแล้ว งูไม่เคยทำร้ายคนก่อน มีแต่คนเท่านั้นที่คอยจะทำร้ายงู” ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นตัวละครใดในท้องเรื่อง ต่างก็คอยตั้งการ์ดมุ่งมาดปรารถนาร้ายกับคำแก้วอยู่ตลอด เพียงเพราะเห็นว่าเธอเป็นกายหยาบที่เจ้าแม่นาคีสิงสถิตอยู่เท่านั้น เริ่มจาก “ลำเจียก” และ “พิมพ์พร” ศัตรูหัวใจของคำแก้วที่ขัดแย้งและรังควานเจ้าแม่นาคีกันมาตั้งแต่ชาติปางก่อน “กอ” “บุญส่ง” “หมออ่วม” และ “เมืองอินทร์” ที่ต่างก็คอยใช้เล่ห์กลมนตร์คาถามาจัดการกับคำแก้วในทุกวิธี “เลื่อง” ที่ต้องตาคำแก้วและวางแผนจะปลุกปล้ำขืนใจเธอมาเป็นเมีย และ “กำนันแย้ม” ที่ใช้อำนาจความเป็นผู้นำหมู่บ้านมาลงทัณฑ์เจ้าแม่นาคี โทษฐานที่ฆ่าลูกชายกำนันจนถึงแก่ชีวิตตัวละครเกือบทั้งหมดในเรื่องต่างพ้องเสียงประสานมือที่จะตัดสินความลงโทษคำแก้วและ “คำปอง” ผู้เป็นมารดาอย่างอยุติธรรม ดังประโยคที่คำแก้วได้เคยตัดพ้อกับแม่ว่า “อสรพิษที่ว่าร้าย ก็ไม่น่ากลัวเท่ากับคนหรอก” และแม้แต่กับเรื่องของความรักข้ามเผ่าพันธุ์ที่ผู้หญิงตัวเล็กๆ อย่างคำแก้วได้ยืนหยัดดิ้นรนต่อสู้ให้ได้ครองรักครองคู่อยู่กับทศพลชนิดข้ามภพข้ามชาติกันมานั้น กลุ่มตัวละครที่เป็นมนุษย์ทั้งหลายต่างก็ยังตามไปทำร้ายและพยายามพรากเธอและเขาออกจากกันฉากที่เราเห็นคำแก้วหรือเจ้าแม่นาคีต้องถูกทรมานทั้งด้วยแหวนพิรอดเอย ว่านพญาลิ้นงูเอย ครุฑศิลาเอย พิธีกรรมเครื่องรางของขลังอีกมากมาย จนถึงการเผาคำปองผู้เป็นมารดาของคำแก้วจนตายทั้งเป็น คงไม่ต่างจากพยานหลักฐานที่สะท้อนว่า มนุษย์เราโหดร้ายยิ่งกว่าอสรพิษอย่างงูมากมายหลายเท่านักแม้ในตอนจบ เราก็อาจจะพอเดาทางละครได้ว่า ความรักต่างเผ่าพันธุ์ระหว่างมนุษย์กับอมนุษย์เยี่ยงอสรพิษนี้ จะไม่อาจลงเอยไปได้แน่นอน แต่อย่างน้อย การได้ย้ายมามองจากจุดยืนสายตาของงูที่ถูกทารุณกรรมทั้งกายวาจาใจมาโดยตลอดนั้น ก็คงทำให้เราได้ยินเสียงเล็กๆ ของเจ้าแม่นาคีก้องอยู่ในโสตประสาทบ้างว่า ระหว่างอสรพิษเยี่ยงงูกับสิ่งมีชีวิตที่ “คอหยักๆ สักแต่เป็นคน” ใครหนอที่น่ากลัวกว่ากัน ???

อ่านเพิ่มเติม >