ฉบับที่ 156 หลับไม่เต็มตื่น

เช้าตรู่ (ประมาณ 5.45 น) ของวันหนึ่งในเดือนมกราคม 2557 ผู้เขียนได้ดูสารคดีสั้นจากสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ซึ่งมีรายการข่าวค่อนข้างเช้าให้ข้อมูลว่า ถ้าตื่นขึ้นมากลางดึกแล้วดื่มนมจะทำให้กลับไปนอนหลับต่อได้ดี โดยให้เหตุผลซึ่งฟังแล้วรู้สึกว่า คนจัดหาข้อมูลนั้นพยายามน้อยไปหน่อยหรือขาดความรู้ทางวิทยาศาสตร์โดยสิ้นเชิงอย่างน่าใจหาย จึงเขียนเหตุผลทำให้พิธีกรหญิงต้องเพ้อเจ้อว่า การดื่มนมทำให้ผู้ดื่มระลึกถึงสมัยเป็นทารกที่ได้ดื่มนมแม่แล้วรู้สึกสบายจึงนอนหลับได้ ผู้เขียนแทบไม่เชื่อหูในเหตุผลดังกล่าว แต่ก็ฉุกใจว่าควรคิดให้รอบคอบก่อน มันอาจจะเป็นความรู้ใหม่ที่มีผู้รู้ค้นพบ ดังนั้นจึงลองใช้ google ค้นหาคำอธิบายในเรื่องดังกล่าวจากคนไทยทั่วไปในอินเตอร์เน็ตก็พบว่า ส่วนใหญ่แล้วอธิบายประเด็นคำถามนี้ด้วยเหตุผลเดิมๆ ว่า การดื่มนมแล้วนอนหลับง่ายขึ้นเพราะ นมนั้นเป็นเครื่องดื่มที่มีกรดอะมิโนอิสระคือ ทริปโตเฟน ซึ่งร่างกายเราสามารถดูดซึมแล้วนำไปเปลี่ยนแปลงเป็นสารชีวเคมีชื่อ เมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งออกฤทธิ์ที่สมองซึ่งเป็นตัวควบคุมการนอนหลับของมนุษย์และสัตว์ชั้นสูงส่วนใหญ่   ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ชื่อทางชีวเคมีของเมลาโทนินคือ N-[2-(5-methoxy-1H-indol-3-yl)ethyl]acetamide ซึ่งเป็นสารที่ถูกสร้างภายในต่อมไพเนียล (Pineal gland) ซึ่งเป็นต่อมไร้ท่อในสมองโดยใช้กรดอะมิโนทริปโตเฟน ซึ่งได้จากการกินอาหารและการสลายตัวของโปรตีนในร่างกายเป็นสารตั้งต้น แล้วส่งไปทำงานทั่วร่างกาย จึงถูกจัดว่าเป็นฮอร์โมนธรรมชาติ ซึ่งก่อให้เกิดความรู้สึกเฉื่อยชารวมถึงอุณหภูมิของร่างกายลดต่ำลง ร่างกายจึงเข้าสู่สภาวะต้องการนอนหลับ การหลั่งของฮอร์โมนชนิดนี้ถูกกระตุ้นโดยความมืดและถูกยับยั้งโดยแสง ระดับของเมลาโทนินลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงเช้ามืดของวันใหม่ และมีต่ำมากในตอนกลางวันถ้าอยู่ในที่มีแสงสว่าง ดังที่เราเกือบทุกคนเป็นเหมือนกันคือ ถ้าอยู่ในที่มืดนาน ๆ จะเกิดอาการง่วงนอน ดังนั้นอุบัติเหตุที่เกิดเนื่องจากการเดินทางด้วยพาหนะจึงมักเกิดตอนกลางคืน ส่วนอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดตอนกลางวันมีแดดจ้านั้นคงไม่เกี่ยวกับเมลาโทนิน แต่คงเป็นเพราะร่างกายมันล้า อ่อนเพลียทนไม่ไหวแล้วมากกว่า ระดับของเมลาโทนินนั้นเพิ่มขึ้นสูงสุดในเด็กที่มีสุขภาพดีทั่วไปช่วงหลังเที่ยงคืน ส่วนผู้สูงอายุนั้นระบบการสร้างเมลาโทนินจะเริ่มเสื่อมลงเรื่อยๆ การศึกษาในสัตว์ทดลองแสดงให้เห็นว่า การหลั่งเมลาโทนินลดลงมีความสัมพันธ์กับกลไกการชราภาพ ซึ่งเป็นคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ว่า ทำไมผู้สูงอายุจึงพบกับปัญหาในการนอนไม่หลับมากกว่าผู้ที่อายุยังน้อย เมลาโทนินนี้เป็นสารชีวเคมีที่พบในพืชด้วย กล่าวกันว่าสารชีวเคมีนี้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโตของส่วนลำต้นของพืชแต่ลดการเจริญของราก และที่สำคัญคือเป็นสารต้านออกซิเดชั่นซึ่งพืชที่กำลังเจริญเติบโตต้องการมาก สารนี้พบได้ในพืชหลายชนิดได้แก่ feverfew (ลักษณะคล้ายดอกเก็กฮวย) Saint John’s wort ข้าว ข้าวโพด มะเขือเทศ ผลไม้หลายชนิดเช่น กล้วย สับปะรด เชอรี่ องุ่น และส้ม และที่เป็นที่รู้กันว่าดื่มเมื่อไรมีโอกาสหลับได้ง่ายคือ ไวน์และเบียร์ ดังนั้นการบริโภคอาหารดังตัวอย่างที่กล่าวถึงนี้ ความเข้มข้นในเลือดของเมลาโทนินย่อมสูงขึ้นได้ ส่งผลให้ท่านอาจหลับในช่วงเวลาทำงานได้ไม่ยาก ซึ่งน่าจะใช้เป็นเหตุผลในการอ้างถึงการหลับกลางวันของหลายท่านได้อย่างมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ กระบวนการผลิตเมลาโทนินไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในมนุษย์เท่านั้น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมดก็ผลิตเมลาโทนินในเวลากลางคืนได้เช่นกัน โดยเฉพาะวัวจะผลิตด้วยกลไกเดียวกันกับมนุษย์ โดยส่งผ่านจากกระแสเลือดเข้าไปในน้ำนม ทั้งนี้ปริมาณเมลาโทนินขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของกลางวันและกลางคืน ผสมผสานไปกับอาหารที่วัวได้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ระบบแสงที่ออกแบบพิเศษในการเลี้ยงวัวนม มีผู้รายงานว่าน้ำนมนี้มีเมลาโทนินสูงขึ้นกว่านมทั่วไปถึง 1 ใน 3 เท่าของนมปกติ จึงมีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งร่วมกับบริษัทผลิตนมบริษัทหนึ่งในประเทศไทยขอจดสิทธิบัตรกรรมวิธีการผลิตแบบนี้เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังอยู่ในระหว่างการขอจดทะเบียนยาอีกด้วย ซึ่งประการหลังนี้ผู้เขียนค่อนข้างประหลาดใจในความคิดเป็นอย่างมากว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะยังไม่เห็นผลการศึกษาในคนว่า คนที่ดื่มนมพิเศษนี้นอนหลับง่ายกว่าคนที่ดื่มนมปรกติ ผู้เขียนเป็นคนมีกรรม เวลาต้องไปนอนต่างถิ่นมักนอนไม่ค่อยหลับ ยิ่งถ้าต้องไปนอนในต่างประเทศยิ่งมีปัญหาเนื่องจากเวลาเปลี่ยนไป อาการนี้หลายท่านคงทราบดีว่าฝรั่งใช้ศัพท์ว่า Jet lag มีงานวิจัยหลายชิ้นที่รายงานความไม่แน่นอนเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเมลาโทนินในการแก้อาการ Jet lag ด้วยวิธีการวิเคราะห์อภิมาน (Meta-analysis) [เป็นวิธีการนำงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นที่ทำเรื่องเดียวกัน แล้วนำมาตัดสินความน่าจะเป็นไปได้โดยรวมด้วยวิธีทางสถิติชั้นสูง เพื่อให้ได้คำตอบว่า ประเด็นที่เป็นปัญหานั้นใช่หรือไม่ แต่สถิติก็คือสถิติซึ่งเป็นวิชาที่เข้าถึงได้ยากของคนทั่วไป] ที่เปิดเผยข้อมูลโดย องค์กรความร่วมมือคอเครน (Cocrane) ของประเทศอังกฤษว่า การใช้เมลาโทนินที่ปริมาณ 0.5 - 5 มิลลิกรัมหรือไม่ใช้ในคนที่มีสภาวะ Jet lag นั้นให้ผลในการบรรเทาอาการไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ แต่หากใช้ที่ปริมาณมากกว่า 5 มิลลิกรัมขึ้นไปจะทำให้เวลาในการเคลิ้มหลับสั้นลง และยิ่งเห็นผลชัดมากขึ้นในคนที่ข้ามโซนเวลาคือ บินจากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก การวิเคราะห์อภิมานอื่นๆ กลับพบว่า เมลาโทนินไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์ได้อย่างชัดเจนสำหรับอาการ Jet lag รวมทั้งไม่ได้ช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้นในกรณีที่เกิดอาการนอนไม่หลับสำหรับผู้ที่ทำงานเป็นกะ นอกจากนี้เวลานอนหลับโดยรวมก็ไม่ได้นานอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นการจะบริโภคเมลาโทนินเพื่อช่วยในการนอนหลับนั้น ผู้บริโภคควรใช้วิจารณญาณอย่างเต็มที่ ครั้งหนึ่งเคยมีผู้ถามขณะฟังการบรรยายวิชาการของผู้เขียนว่า “เวลานอนไม่หลับกลางดึกของคืนที่ต้องนอนให้หลับเพราะพรุ่งนี้มีกิจกรรมสำคัญต้องทำ ควรทำอย่างไรเพื่อให้หลับ” คำตอบจากผู้เขียนนั้นอาจไม่ใช่คำตอบที่เป็นยาครอบจักรวาล แต่มักใช้ได้ผลกับผู้เขียนเองคือ “ช่างหัวมัน อย่าหวังว่าจะหลับ ปล่อยตามสบาย ถ้าจะไม่หลับก็แสดงว่า ร่างกายพักผ่อนพอแล้ว ให้ทำเป็นนอนเล่นสบาย ๆ ไม่คิดอะไร จากนั้นเผลอประเดี๋ยวเดียว เช้าแล้ว” สำหรับผู้เขียนในปัจจุบันนี้สามารถนอนหลับได้ง่ายเพราะ สามารถทำใจให้โปร่งสบาย ไม่คิด (แค้นใคร) ไม่เครียด (เพราะเกษียณแล้ว) และไม่เข้านอนหลัง 4 ทุ่ม (เพราะรายการทีวีไม่ค่อยได้เรื่อง กำลังรอดิจิตอลทีวีอยู่) ส่วนการกินอาหารที่มีเมลาโทนินหรือสารตั้งต้นคือ ทริปโตเฟน นั้นก็เป็นตัวช่วยได้ในกรณีที่นอนหลัง 4 ทุ่ม ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้างตามบุญตามกรรม แต่ไม่เคยกินสารเมลาโทนินที่สังเคราะห์ใส่ขวดขายเพราะมันเป็นกาลกิณีต่อกระเป๋าสตางค์นั่นเอง   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 96 ผู้ป่วยจิตเวชก็มีหัวใจ

คุณสมโชค (นามสมมติ) มีอาการนอนไม่หลับแบบเรื้อรังต้องใช้ยานอนหลับช่วยอยู่บ่อยครั้ง ต่อมาได้เข้ารับการรักษากับโรงพยาบาลชลประทาน ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แพทย์ตรวจพบโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน และจิตเวช ทำให้คุณสมโชคต้องมารับยาเพื่อนำไปรักษาอาการจากโรงพยาบาลอยู่เป็นประจำ ช่วงที่ผ่านมาคุณสมโชคสังเกตเห็นว่า ยาที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่ห้องจ่ายยาจะมีการใช้ปากกาเมจิกขีดทำตำหนิไว้ที่ด้านหลังแผ่นยาทุกแผง ส่วนยาทุกชนิดที่บรรจุกล่องอยู่จะถูกนำออกจากกล่องหมด “ไม่เข้าใจว่าทำไมเจ้าหน้าที่ห้องจ่ายยาต้องทำอย่างนี้ ผมอยากเหมือนคนไข้ทั่วไปที่ไม่ถูกแกล้งเอายาออกจากกล่อง ผมคิดมากจนนอนไม่หลับ ยาเอาไม่อยู่ ทำให้มีอาการนอนไม่หลับเพิ่มมากขึ้น อยากให้มูลนิธิฯ ช่วยคุยกับโรงพยาบาลให้ด้วย เพราะผมอยากได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับคนไข้ทั่วไปครับ” ผลการดำเนินการหลังได้รับเรื่องร้องเรียนมูลนิธิได้ทำหนังสือสอบถามถึงการให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยรายนี้ ซึ่งโรงพยาบาลได้มีหนังสือชี้แจงกรณียาที่บรรจุกล่อง ถูกนำออกจากล่อง ว่า 1. กรณีทั่วไป มีความเป็นไปได้อยู่เสมอที่จะมีการจ่ายยาลักษณะนี้เพราะแพทย์สั่งยาไม่ตรงตามขนาดบรรจุ เช่น บรรจุ 100 สั่ง 60 จะมียาเหลือ 40 ยาเช่นนี้ก็จะไม่มีกล่องบรรจุ 2. จากการเก็บข้อมูลความคลาดเคลื่อนทางยา พบว่ายาที่บรรจุกล่อง เช่น 2 กล่อง การปิดฉลากล่องที่ 1 เพียงกล่องเดียวแล้วมัดรวมกับกล่องที่ 2 เมื่อผู้ป่วยใช้กล่องที่ 1 หมด ฉลากจะถูกทิ้งไปพร้อมกล่องทำให้ใช้ยากล่องต่อไปไม่ถูก ในทางกลับกัน ถ้าปิดฉลากครบทั้ง 2 กล่อง แม้จะทำการอธิบายรวมทั้งแจ้งเตือนเป็นเอกสารฉลากช่วยว่าให้รับประทานทีละกล่องแล้วต่อเนื่องกันไป ก็ยังพบว่าผู้ป่วยทานยาทีเดียวทั้ง 2 กล่อง หรืออาจยุ่งยากขึ้นอีกกรณีสั่งยาไม่เต็มกล่องมีเศษ เป็น 1-2 แผง ทางที่ดีคือ เอายาออกจากล่องทั้งหมด ใส่ซองซิบพลาสติกแล้วปิดฉลากครั้งเดียวรวมทั้งหมด 3. การเอายาออกจากล่องหมายถึง การเอาฉลากออกทิ้งไปด้วย เพราะต้องการให้ผู้ป่วยสนใจและอ่านเนื้อหาที่สั้นที่สุด คือฉลากยาที่แปะหน้าซอง เพราะพบว่าผู้ป่วยอ่านเอกสารกำกับยาแล้วเกิดความสับสน หรือหวาดระแวงจนไม่ทานยาตามแผนการรักษา กรณีนี้พบเสมอในผู้ป่วยจิตเวช อย่างไรก็ดี วิธีปฏิบัติในข้อ 2 และ 3 เป็นวิธีที่เพิ่มภาระงานให้กับห้องยา จึงยังไม่ได้ทำทั้งหมด แต่เราพยายามที่จะทำเพื่อลดความคลาดเคลื่อนทางยา โดยเลือกทำในกลุ่มเสี่ยง เช่นผู้ป่วยสูงอายุที่เราประเมินได้ว่าอาจไม่สามารถดูแลตนเองให้รับยาได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และผู้ป่วยด้านจิตเวชก็เป็นกลุ่มเสี่ยงเช่นกัน ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ไม่อาจให้คำอธิบายโดยตรงได้ ด้วยมารยาทและจรรยาบรรณเราไม่ตอกย้ำประเด็นความบกพร่องของผู้ป่วย เราจะมุ่งเน้นให้คำอธิบายที่ชัดเจนไม่สับสน เท่านั้น ส่วนกรณีมีการใช้ปากกาเมจิกขีดตำหนิไว้ที่แผงยา กรณีนี้ ห้องยาขอปฏิเสธอย่างหนักแน่นว่าไม่เคยมีการปฏิบัติเช่นนั้น นอกจากนี้นายแพทย์สมชาย สุขอารีย์ชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลประทานได้กรุณาให้คำชี้แจงอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยรายนี้ อย่างละเอียดแต่เพื่อเป็นการรักษาสิทธิของผู้ป่วย จึงขอสรุปคำชี้แจงหลักๆ ว่า ทางแพทย์ผู้เกี่ยวข้อง คืออายุรแพทย์ จิตแพทย์ แพทยเวชศาสตร์ครอบครัว ได้รับทราบปัญหาของผู้ป่วย และมีแนวทางแก้ปัญหาโดยให้ผู้ป่วยรับการรักษากับแพทย์เฉพาะทางที่โรงพยาบาลเพียงแห่งเดียว เพราะเคยพบว่าผู้ป่วยไปรับการรักษากับสถานพยาบาล 2 แห่งในวันเดียวกันทำให้ผู้ป่วยอาจได้รับยามากเกินขนาดได้ ทั้งนี้เพื่อความต่อเนื่องอันจะเป็นประโยชน์และปลอดภัยกับตัวผู้บริโภคเอง ซึ่งแนวปฏิบัติดังกล่าวได้รับการยืนยันจากผู้ร้องเรียนว่า ตนได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลอย่างดีเยี่ยมไม่ว่าจะเป็นแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ห้องจ่ายยา ทำให้รู้สึกว่าสุขภาพกายและใจของตัวเองดีขึ้น ทางมูลนิธิฯ จึงขอขอบพระคุณ นายแพทย์สมชาย สุขอารีย์ชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลประทานและทีมงานที่ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างดีเยี่ยมด้วยความนับถืออย่างสูง  

อ่านเพิ่มเติม >