ฉบับที่ 122 รถไปไม่ถึงหมอชิต ทำไมไม่บอก

 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนวันเข้าพรรษาของปี 2553 หนึ่งวัน คือตรงกับวันที่ 26 กรกฎาคม 2553เวลาประมาณ 23.30 น. คุณเทพรักษ์ บุญรักษา ได้เดินทางโดยรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท นครชัยแอร์ จำกัด จากขอนแก่นเพื่อเข้ามาทำธุระในกรุงเทพมหานคร โดยตั้งใจว่าจะลงรถที่สถานีขนส่งสายเหนือหมอชิต(ใหม่) ระหว่างเดินทางคุณเทพรักษ์บอกว่าการบริการไม่มีปัญหาอะไร แต่ปัญหามาเกิดเอาเมื่อรถเกือบถึงปลายทางอยู่รอมร่อรถได้เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ และเข้าจอดที่ศูนย์บริการของบริษัทนครชัยแอร์ ถ.กำแพงเพชร 2 ในเวลา 05.40 น. มีผู้โดยสารบางส่วนลงที่สถานีแห่งนี้ ส่วนที่เหลือยังนั่งอยู่ในรถโดยสารเพื่อจะเดินทางเข้าสถานีขนส่งสายเหนือหมอชิตคุณเทพรักษ์เล่าว่า ตนเข้าใจว่ารถโดยสารที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดทุกคันจะต้องเข้าไปส่งผู้โดยสารที่หมอชิตด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้โดยสารที่ต้องอาศัยรถโดยสารประจำทาง ขสมก.หรือรถร่วมที่มีท่ารถจอดอยู่ในหมอชิตหลายสิบสาย เพื่อเดินทางต่อในเขตกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียง โดยไม่ต้องเสียค่าแท็กซี่ที่มีราคาแพงกว่าหลายสิบเท่าตัว“ผมรออยู่ได้สักพักรถก็ไม่เคลื่อนออกไปไหน แต่มีพนักงานประจำรถมาบอกผู้โดยสารว่า รถจะไม่เข้าไปที่สถานีขนส่งหมอชิต ทำให้ผมแปลกใจมาก เพราะไม่มีการแจ้งข้อมูลนี้มาก่อนออกเดินทางเลย จึงถามเหตุผลกับพนักงานประจำรถว่าทำไมรถไม่เข้าหมอชิต พนักงานประจำรถบอกว่า เป็นช่วงเทศกาลรถติดมากจึงไม่เข้าหมอชิต” “การไม่บอกข้อมูลเรื่องนี้ให้ผู้โดยสารทราบ ผมเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญมากในการตัดสินใจที่จะใช้บริการรถโดยสารเที่ยวนี้หรือไม่ ผมจึงเดินลงจากรถเข้าไปในศูนย์บริการของบริษัทฯ และหยิบกระดาษขึ้นมาเขียนข้อความร้องเรียนกับบริษัทนครชัยแอร์ว่าพนักงานบริการประจำรถไม่ได้แจ้งข้อมูลล่วงหน้ากับผู้โดยสารว่ารถโดยสารจะไม่เข้าไปที่สถานีหมอชิต ทำให้ตนเสียค่ารถโดยสารเพิ่ม และติดต่องานล่าช้า แล้วจึงส่งลงกล่องรับความคิดเห็นจากผู้ใช้บริการต่อหน้าพนักงานของบริษัท”เมื่อทำเรื่องร้องเรียนเสร็จ คุณเทพรักษ์ก็ต้องเรียกแท็กซี่เพื่อไปทำธุระของตนต่อโดยไม่คาดหวังอะไรมากนักกับการส่งเรื่องร้องเรียนไปแต่ปรากฏว่าในสายวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ของบริษัทนครชัยแอร์ได้ติดต่อกลับมาเพื่อขอโทษและยอมรับในข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น และได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการมอบตั๋วเดินทางชั้นไฮคลาสให้ฟรีหนึ่งที่นั่ง โดยให้สิทธิแก่คุณเทพรักษ์ที่จะเลือกเดินทางไปที่ไหนก็ได้ที่บริษัทนครชัยแอร์มีเส้นทางบริการอยู่ “การร้องเรียนครั้งนี้แสดงว่า ผู้บริโภคยังมีสิทธิมีเสียงในการร้องเรียนอยู่ในสังคมไทย และยังมีผู้ประกอบการที่ดีที่ยังรับฟังเสียงเล็กๆ ของผู้บริโภคอยู่” คุณเทพรักษ์กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ ข้อแนะนำเพิ่มเติม บทเรียนเรื่องนี้ เป็นข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า “ร้องทุกข์หนึ่งครั้ง ดีกว่าบ่นพันครั้ง” อย่างแน่นอนครับ น่าเสียดายสำหรับผู้โดยสารท่านอื่นที่เกิดเหตุการณ์เดียวกันไม่ได้ใช้สิทธิร้องเรียนเหมือนคุณเทพรักษ์ พึงระลึกไว้เสมอว่าเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิขึ้น ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย เราควรร้องเรียนโดยตรงต่อผู้ประกอบธุรกิจโดยทันที การร้องเรียนด้วยวาจาอาจทำให้เราสะดวกและได้ระบายอารมณ์ แต่มันไม่ค่อยมีผลในการเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ดังนั้น การร้องเรียนที่ดีจะต้องมีเป้าหมายไม่ใช่เพียงแค่การระบายอารมณ์ครับ แต่ควรจะเรียกร้องให้ผู้ประกอบธุรกิจเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเราด้วย โดยให้เขียนข้อร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษรไป แล้วแจ้งว่าเราได้รับความเสียแค่ไหนอย่างไรและขอให้เยียวยาความเสียหายแก่เราเป็นจำนวนเท่าไหร่ด้วยวิธีการใดก็ระบุให้ชัดเจน แต่ถ้าไม่แน่ใจก็เขียนไปว่าขอให้พิจารณาเยียวยาความเสียหายให้แก่เราตามสมควรครับ ถ้าเก็บสำเนาข้อร้องเรียนนี้ได้ก็จะเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องต่อไปได้อย่างชัดเจนที่สุดครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 109 ผู้โดยสาร “นครชัยขนส่ง” ร้องกระเป๋าตังค์หาย

“ถ้าเป็นเงินของหนูเอง คงไม่ร้องหรอกค่ะ แต่เงินที่หายน่ะเป็นเงินของแม่ที่ขายมันสำปะหลังได้ 15,000 บาท แม่ฝากให้หนูเอาไปเข้าธนาคาร หนูสงสารแม่มาก หนูอยากได้เงินคืนค่ะ” เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันที่ 13 ตุลาคม 2552 วาสนาได้บอกลาผู้เป็นแม่เพื่อเดินทางกลับมาทำงานที่กรุงเทพฯ โดยแม่ได้ฝากเงินจำนวน 15,000 บาท ให้วาสนานำไปเข้าธนาคารในตัวเมืองจังหวัดนครราชสีมา วาสนาเก็บเงินจำนวนนั้นไว้ในกระเป๋าสตางค์และเก็บไว้ในกระเป๋าเป้สะพายอีกทีเวลาประมาณเที่ยงครึ่งของวันที่เกิดเหตุ วาสนาขึ้นรถโดยสารปรับอากาศ ป.2 ที่อำเภอพระทองคำบ้านเกิดซึ่งแล่นมาจากอำเภอเชียงคานมุ่งหน้าเข้าตัวจังหวัดนครราชสีมา เป็นรถของบริษัท นครชัยขนส่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเดียวที่วิ่งบริการในเส้นทางดังกล่าว“ตอนที่จะขึ้นรถ วาดจะสะพายเป้ขึ้นไปบนรถด้วย แต่พนักงานก็มาหยิบกระเป๋าที่วางอยู่ตรงเก้าอี้ตรงที่รอรถไป แล้วบอกว่าเอาไว้ข้างล่างนี่แหละ ข้างบนคนเยอะ”พูดจบพนักงานของรถก็นำกระเป๋าของวาสนาไปวางแหมะตรงที่เก็บกระเป๋าใต้ท้องรถ วาสนาจึงเอ่ยขอใบรับฝากกระเป๋า แต่พนักงานไม่ให้โดยให้เหตุผลว่าเป็นป้ายรายทางไม่ต้องมี แต่วาสนาจำได้ว่าทุกครั้งที่ขึ้นรถและมีการรับฝากกระเป๋าที่ผ่านมาก็จะได้รับใบรับฝากมาโดยตลอด แต่ต้องขึ้นรถไปเพราะโดนเร่ง และนั่งอยู่ในรถด้วยใจตุ้มต่อมพลางปลอบใจว่าคงไม่มีอะไรเพราะนั่งรถเข้าโคราชใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง พอรถแล่นมาถึง บขส.นครราชสีมา วาสนารีบลงไปรับกระเป๋า ปรากฏว่า “กระเป๋าเป้หายไปแล้ว”“เดินหาจนทั่วก็ไม่มี เลยไปขอให้บริษัทช่วยประชาสัมพันธ์ เขาก็ไม่ประชาสัมพันธ์ให้ จะไปขอดูกล้องวงจรปิดก็มีคนมาบอกว่าเขาคงไม่ให้ดู”วาสนา เดินตามหากระเป๋าของตัวเองจนค่ำมืด ไม่พบกระเป๋า และไม่ได้รับการช่วยเหลือจากบริษัทรถและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใด ๆ ท้ายสุดจึงต้องไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจแนวทางแก้ไขปัญหาถึงแม้ว่าจะมีข้อสันนิษฐานว่า วิญญูชนโดยทั่วไปมักจะเก็บสิ่งของมีค่าหรือกระเป๋าเงินไว้กับตัวไม่ยอมฝากไว้กับใครที่ไม่รู้จัก อย่างไรก็ดีเมื่อสืบค้นข้อมูลไปที่เว็บไซต์ของบริษัทขนส่งจำกัด(บขส.) พบว่ามีผู้โดยสารที่เก็บกระเป๋าสตางค์ไว้ในกระเป๋าเดินทางและฝากไว้ในที่เก็บของใต้ท้องรถอยูหลายรายเช่นกัน และพนักงานประจำรถของ บขส. ได้ให้ความช่วยเหลือผู้โดยสารติดตามคืนมาได้หลายรายจนมีการประกาศชื่อชมเชยพนักงานท่านเหล่านั้นก็เยอะแต่น่าเสียดายที่พฤติกรรมดี ๆ ของพนักงานเช่นนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นกับพนักงานประจำรถในเที่ยวรถคันดังกล่าวของบริษัท นครชัยขนส่ง จำกัด ซึ่งกระทำผิดระเบียบของพนักงานหลายข้อด้วยกัน เช่น ผิดที่หนึ่ง คือ ไปหยิบดึงกระเป๋าของผู้โดยสารโดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจากผู้โดยสาร ผิดที่สอง คือ รับฝากกระเป๋าผู้โดยสารแล้วไม่ออกใบรับฝากให้ผู้โดยสารเก็บไว้เป็นหลักฐาน ผิดที่สาม คือ ไม่ให้ความช่วยเหลือผู้โดยสารเมื่อได้รับการร้องขอ ผิดที่สี่ เมื่อผู้โดยสารร้องเรียนแล้วกลับเพิกเฉยทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องที่บริษัทแห่งนี้ต้องรีบปรับปรุงการบริการของตนเองโดยด่วน ส่วนการเรียกร้องความเสียหายนั้นหากบริษัทยังเพิกเฉยต่อไป ผู้โดยสารมีสิทธิฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคได้เช่นกันล่าสุดได้ข่าวแว่วว่า บริษัท นครชัยขนส่ง มีการปรับปรุงบริการในการรับฝากกระเป๋าด้วยการให้ใบรับฝากแก่ผู้โดยสารทุกราย และเวลารับกระเป๋าได้ให้ผู้โดยสารเข้ารับกระเป๋าอย่างมีระเบียบแล้ว เหลืออีกอย่างเดียวคือลองพิจารณาเยียวยาความเสียหายให้น้องวาสนาคนต้นเรื่องตามสมควรด้วยจักเป็นพระคุณยิ่ง

อ่านเพิ่มเติม >