ฉบับที่ 136 อย่าช่างมันเถอะ แม้เป็นอุบัติเหตุ

“ความเชื่อเรื่องเคราะห์ อาจจะไปเปลี่ยนยาก ตัวเองก็คิดนะคะเพราะเกิดอุบัติเหตุก่อนจะสอบวิทยานิพนธ์แค่สองวัน ทำให้เราไปสอบไม่ได้ ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นบุญกรรมที่เราทำมา แต่ความรู้จะช่วยให้เราแก้ปัญหาและผ่านสถานการณ์นั้นไปได้ และรู้ว่าสิทธิของเรา เราควรได้รับการชดเชยอย่างไรบ้าง ตั้งแต่ร่างกาย รายได้ที่เราต้องเสียไป ถ้าหากเราไม่บาดเจ็บเราก็ทำงานได้ คนเราถ้าหากรู้สิทธิก็คงจะพิทักษ์สิทธิของตัวเองแน่นอน แต่ก็ขออย่าให้เกินงามและ “อย่าช่างมันเถอะ” นะคะ สิทธิเรามี เราต้องรักษา” ธิติยา ไชยศร หรือ ครูบิว ครูสอนพิเศษคณิตศาสตร์ที่ได้รับอุบัติเหตุจากการเล่นเครื่องเล่นใน Mansion 7 บูติค ทริลเลอร์มอลล์ ส่วน Playground Zone เมื่อวันที่ 17 กันยายน ปี 2554 เวลา 21.30 น. ซึ่งเธอได้ทำตามคำแนะนำและกติกาการเล่นที่พนักงานคุมเครื่องเล่นแนะนำก่อนการเล่นทุกอย่าง ทั้งสวมหมวกกันน็อค สนับข้อศอก และสนับเข่า เป็นอุปกรณ์ป้องกันอุบัติเหตุในขณะเล่นเครื่องเล่น “ป๊อก....” “เราได้ยินเสียง ตอนเราตกลงมา แต่ก็ไม่รู้ตรงส่วนไหน พอจะลุกรู้แล้วว่าข้อมือน่าจะหัก เพราะเราบังคับแขนไม่ได้ พอรู้ก็นอนอยู่ท่าเดิม”   ธิติยา ตกเครื่องเล่นลงมา สนับข้อศอกซ้ายที่ใส่อยู่เลื่อนหลุดมากระแทกกับข้อมือซ้ายหัก เจ้าหน้าที่ Mansion 7 บอกกับเธอว่าจะดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด จึงพาเธอไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระราม 9 แพทย์วินิจฉัยว่ากระดูกข้อมือซ้ายหัก ต้องเข้าเฝือก ผ่าตัดใส่เหล็กยึดกระดูก และทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง โดยทางโรงพยาบาลประเมินค่าใช้จ่ายมา 60,000 บาท เจ้าหน้าที่จึงให้เธอช่วยสำรองจ่ายไปก่อน เธอเห็นท่าไม่ดีจึงขอย้ายโรงพยาบาลไปรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ เสียค่ารักษา 2,465 บาท เธอได้แจ้งเรื่องค่ารักษาพยาบาลราคาใหม่ให้กับ Mansion 7 ทราบ เจ้าหน้าที่รับเรื่องและบอกว่าจะดำเนินการชดเชยเงินค่ารักษาพยาบาลให้เธอ แต่กว่าจะได้ 2,465 บาท ก็ช่างยากเย็น หลังจากโทรติดต่อกับเจ้าหน้าที่ไปสักระยะก็ดูจะไม่มีอะไรคืบหน้า เธอจึงทำหนังสือถึงกรรมการบริหารของ Mansion 7 จึงจะได้เงินชดเชยมา ปลอดภัยเมื่อใช้ ไม่ใช่แค่มีการเล่นเครื่องเล่น เธอต้องขึ้นไปนั่งข้างบนที่นั่งที่เป็นตัวสัตว์ต่างๆ และแกนกลางเป็นสปริง โยกไป โยกมาได้ และใช้วิธีการโยก เพื่อที่จะไปอีกย้ายตัวเอง ไปนั่งอีกตัวข้างหน้า “เราก็เข้าใจว่ามันเป็นอุบัติเหตุ มีการป้องกันก็จริง เราก็มองว่าเขาเองก็พยายามป้องกันแล้ว แต่มันเป็นกีฬาเอ็กซ์ตรีม โอกาสที่จะเกิดอันตรายนั้นมีมาก อย่างเราตกลงมาก็ข้อมือหักเลย” การรองรับการตกของผู้เล่นนั้น พื้นเป็นเบาะยิมนาสติก 2 ชั้น แล้วมีโฟมรองอยู่ด้านบน “ส่วนตัวแล้วก็มีการป้องกันดีนะ แต่สนับก็น่าจะมี Size ไว้รองรับกับคนที่มาเล่นที่หลายๆ ขนาด หรืออาจจะกำหนดความสูงของคนเล่น สูงเท่านี้เล่นได้ สูงเท่านี้เล่นไม่ได้ เพราะมีผลต่อความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ก็ต้องให้ความรู้ในเรื่องนี้ด้วย คือมันเป็นลักษะการเล่นที่ต้องตก จะปฏิเสธไม่ได้ว่าจะไม่ตก แต่ว่าพอตกลงมาควรจะมีอุปกรณ์อะไร ชนิดไหน มารองรับการตกของเราให้ปลอดภัย ซึ่งถ้ามองดูกรณีของเรา สนับแขนก็ตกลงมาที่ข้อมือแล้วและกลายเป็นว่าทำให้ข้อมือเราหัก แบบนี้มันจะปลอดภัยได้ไง” ตอนนี้เครื่องเล่นนี้ Mansion 7 ได้นำออกไปแล้ว และนำของเล่นใหม่เข้ามาแทนที่ ซึ่งเครื่องเล่นจะถูกหมุนเวียนสับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ   ดูแลเหมือนเรื่องเกิดในบ้านตัวเอง “ตอนเราไปเล่น เราซื้อบัตรเข้าไปเล่น ก็น่าจะรับผิดชอบให้รวดเร็วด้วย เหมือนมีคนมาบาดเจ็บในบ้านเรา ถ้าเป็นเราจะนิ่ง จะเงียบ จะเฉยไหม ก็ต้องดูแลกันให้ดีที่สุด กว่าจะได้เงิน 2,465 บาท นี่ก็นานค่ะ ซึ่งเงินส่วนนี้เป็นส่วนที่เราเสียไปจริง ก็แค่อยากจะให้เขารับผิดชอบในส่วนนี้เท่านั้นจริงๆ เรื่องรายได้ที่เราต้องเสียไปก็ถือซะว่าฟาดเคราะห์ แต่พอเริ่มกินเวลานานเข้า เราก็รู้สึกว่าไม่ใช่ละ คือเขาต้องแสดงความรับผิดชอบกันหน่อย เพื่อนที่เป็นทนายก็แนะนำว่าเรามีสิทธิอะไรบ้าง ก็เลยร้องมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” “คำบอก” จากหลายๆ “คำบอก” ของผู้บริโภคที่มีปัญหากับผู้ประกอบการ ก็คือการแสดงความรับผิดชอบ การดูแลเอาใจใส่ตั้งแต่เกิดความเสียหายขึ้น จะมากจะน้อยไม่สำคัญ สำคัญเพียงแค่ได้พยายามแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายนั้นแล้วหรือยัง รู้สิทธิ ใช้สิทธิ ธิติยาเข้าร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเมือวันที่ 15 พฤศจิกายน 54 และได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยกับบริษัทลานกลางเมือง จำกัด ซึ่งเธอยื่นเรียกค่าเสียหายรวม 54,200 บาท แบ่งออกเป็นค่าอุปกรณ์การรักษารวมกับค่าเดินทาง 3,800 บาท ค่าขาดรายได้จากการเป็นครูสอนพิเศษที่โรงเรียนบ้านคำนวณ สยามสแควร์ 51 ชั่วโมง ชั่วโมงละ 400 บาท เป็นเงิน 20,400 บาท และจากการสอนพิเศษแบบตัวต่อตัวอีก 20 ชั่วโมง ชั่วโมงละ 200 บาท เป็นเงิน 4,000 บาท รวมทั้งจากการสอนพิเศษแบบกลุ่มย่อย ที่ จ.ตรัง อีก 40 ชั่วโมง ชั่วโมงละ 400 บาท เป็นเงิน 16,000 บาท รวมเป็นเงิน 40,400 บาท ซึ่งแพทย์ได้ลงความเห็นให้เธอพักฟื้น 2 เดือนนั่นคือ 18 ก.ย. – 17 พ.ย. 54 ค่าเสียหายที่สำคัญอีกอย่างที่ผู้บริโภคท่านอื่นๆ ต้องไม่ลืมก็คือ ค่าเจ็บปวดทนทุกข์ทรมาน ทั้งการปวดแผล ความเครียด ขาดการดูแลจากผู้ประกอบการฐอุบัติเหตุครั้งนี้ทำให้เธอไม่ได้ไปเรียนและสอบหัวข้อวิทยานิพนธ์ได้ตามเวลาที่กำหนด ส่งผลกระทบต่อการเรียนต่อในระดับปริญญาโท คิดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน 10,000 บาท “ทางมูลนิธิฯ ก็ช่วยจัดการประสานงานให้จนเกิดการเจรจาชดเชย แต่ไม่รู้เหมือนกันว่าจะออกมาอย่างไร ยังมีค่าผ่าตัดนำเหล็กที่ข้อมือออกอีกใน 2 ปีข้างหน้า ส่วนนี้เราไปให้โรงพยาบาลประเมินมาแล้วอยู่ที่ 60,000 บาท แต่ก็ยังไม่รู้ว่าค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะถูกเยียวยาหรือเปล่า เพราะเป็นเรื่องอนาคตเราเองก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผ่าตัดแล้วแผลจะอักเสบไหม จะต้องเสียค่ารักษาพยาบาลอีกเท่าไร ถ้าหากว่าตกลงกันไม่ได้ ก็ต้องสู้ต่อในชั้นศาลค่ะ ซึ่งต้องเร่งให้เรื่องจบก่อน 1 ปี เพราะตอนนี้อายุความก็เกือบจะหมดแล้ว” เรื่องของธิติยาเกิดขึ้นก่อนมหาอุทกภัยในกรุงเทพฯ ซึ่งเธอเองก็ได้รับผลกระทบนี้เช่นกัน ครั้นมหาอุทกภัยผ่านไปแล้ว การเยียวยาจากคู่กรณียังคงเจรจากันอยู่ “ตอนเราป่วย ยอมรับว่าทางบ้านลำบากค่ะ คือเราไม่ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในครอบครัว เพียงแต่เราดูแลรับผิดชอบตัวเอง หาได้มาก็ส่งให้ครอบครัวบ้าง แต่พอเราป่วยเราทำงานไม่ได้ แล้วงานเราเป็นงานรายชั่วโมง ไม่สอนก็ไม่ได้เงิน พ่อกับแม่ก็หยิบยืมเงินก้อน เพื่อที่จะส่งมาให้เรา ตอนนี้ก็ทยอยใช้หนี้ไป”   สะเดาะเคราะห์ด้วยความรู้ ธิติยาบอกว่าตอนเธอทำหนังสือไปถึงกรรมการบริษัทนั้น ทำเพราะต้องการความยุติธรรม ยังไม่มีความรู้ในเรื่องสิทธิ หลังจากรู้ข้อมูลว่าการทำหนังสือไปถึงคู่กรณีนั้นควรจะลงส่งจดหมายแบบลงทะเบียน หรือส่งแบบมีใบตอบรับ เพื่อที่จะได้รู้ว่าจดหมายที่ส่งไปนั้นได้รับหรือไม่และใครเป็นคนรับเก็บไว้เป็นหลักฐานในการติดต่อประสานงาน “ความเชื่อเรื่องเคราะห์ ส่วนหนึ่งก็เป็นความเชื่อที่อาจจะไปเปลี่ยนยาก ตัวเองก็เชื่อนะคะเพราะเกิดอุบัติเหตุก่อนจะสอบวิทยานิพนธ์แค่สองวัน ทำให้เราไปสอบไม่ได้ ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นบุญกรรมที่เราทำมา แต่ความรู้จะช่วยให้เราแก้ปัญหาและผ่านสถานการณ์นั้นไปได้และรู้ว่าสิทธิของเรา เราควรได้รับการชดเชยอย่างไรบ้าง ตั้งแต่ร่างกาย รายได้ที่เราต้องเสียไป ถ้าหากเราไม่บาดเจ็บเราก็ทำงานได้ ความคิดเราจะเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน แรกๆ ก็ไม่ได้อยากจะเรียกร้องอะไร แต่มันเริ่มนานไป เราก็เลยอยากให้แสดงความรับผิดชอบบ้าง อีกมุมก็คือเรารู้สิทธิของเราแล้ว บิวคิดว่าคนเราถ้าหากรู้สิทธิก็คงจะพิทักษ์สิทธิของตัวเองแน่นอน แต่ก็ขออย่าให้เกินงามและ “อย่าช่างมันเถอะ” นะคะ สิทธิเรามี เราต้องรักษา” คุณครูสอนพิเศษ ฝากทิ้งท้าย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point