ฉบับที่ 135 กระแสต่างแดน

ยอมกันไม่ได้จริงๆ ชายนอร์เวย์คนหนึ่งยื่นเรื่องร้องเรียนให้คณะกรรมการผู้บริโภคของสวีเดนทบทวนว่า สโลแกนส่งเสริมการท่องเที่ยว “สต็อคโฮล์ม – เมืองหลวงแห่งสแกนดิเนเวีย” เป็นโฆษณาที่หลอกลวงผู้บริโภคหรือไม่ เขาบอกว่าสโลแกนดังกล่าวจงใจทำให้นักท่องเที่ยวเข้าใจว่ากรุงสต็อคโฮล์มนั้นเป็นเมืองหลวงของคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย ที่ความจริงแล้วประกอบด้วย 3 ประเทศด้วยกันได้แก่ เดนมาร์ก นอร์เวย์ และสวีเดน เขาสอบถามไปยังเทศบาลเมืองสต็อคโฮล์มและได้คำตอบกลับมาว่า ที่ขนานนามเช่นนั้นเพราะ เมืองของเขาดังกล่าวมีสนามบินนานาชาติถึง 5 แห่ง แถมด้วยประชากรกว่า 3.5 ล้านคน และกว่าร้อยละ 40 ของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนสแกนดิเนเวียนั้นจะมาเที่ยวที่นี่   แต่เขายังข้องใจ เพราะสต็อคโฮล์มไม่ได้มีสนามบินที่ใหญ่ที่สุดในย่านนี้สักหน่อย ไม่ได้ตั้งอยู่บริเวณศูนย์กลางของภูมิภาค แถมยังไม่ใช่ประเทศที่เป็นต้นกำเนิดของรางวัลโนเบลอย่างประเทศนอร์เวย์ของเขาซึ่งมีเมืองหลวงชื่อว่าออสโลอีกด้วย สรุปว่าเขาไม่เห็นว่า สต็อคโฮล์ม จะดีไปกว่าเมืองหลวงอื่นๆ ตรงไหน ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งออสโลเองก็ไม่ค่อยปลื้มกับคำขวัญของสต็อคโฮล์มเช่นกัน  เขาเปรยๆ ในการสัมภาษณ์ลงหนังสือพิมพ์ทำนองว่า “สต็อคโฮล์มเขาช่างกล้า” อยู่บ่อยๆ คำขวัญนี้มีใช้มา 7 ปีแล้ว แต่เพิ่งจะกลับมาเป็นข่าวอีกครั้งเมื่อองค์การท่องเที่ยวของสต็อคโฮล์มเป็นสปอนเซอร์งานสัมมนาส่งเสริมการลงทุนที่จัดที่ฝรั่งเศส สโลแกนดังกล่าวมีอยู่ทั่วทั้งงานทั้งบนป้ายและบัตรเข้าชมงาน ผู้เข้าร่วมสัมมนาจากเดนมาร์กและนอร์เวย์หลายคนรับไม่ได้ ขนาดถึงขั้นฉีกตั๋วทิ้งกันเลยก็มี     จ่ายก่อนจร เมืองใหญ่มักมาคู่กันกับปัญหารถติด หลายๆ ที่จึงต้องใช้วิธีเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมการเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วนหรือในเขตที่มีการจราจรหนาแน่น เพื่อลดจำนวนรถลงบ้าง เช่น ที่ลอนดอน ซึ่งกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกในเดือนกันยายนปีนี้ เขามีมาตรการสกัดกั้นรถเข้าเมืองมาเกือบ 10 ปีแล้ว ถ้าใครขับรถเข้าไปในเขต “เซ็นทรัล ลอนดอน” ในวันจันทร์ถึงศุกร์ ระหว่างเวลา 7 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น จะต้องเสียค่าธรรมเนียม 10 ปอนด์ในกรณีที่คุณไปจ่ายเงินภายในเที่ยงคืนของวันนั้น แต่ถ้าข้ามวันคุณจะต้องเสียเพิ่มเป็น 12 ปอนด์  ถ้าทำเมินลืมจ่ายก็จะมีค่าปรับ 60 ปอนด์ – 187 ปอนด์ (ประมาณ 3,000 – 9,400 บาท) เขาตามหนี้เราได้ เพราะมีกล้องวงจรปิดบันทึกภาพไว้ สำหรับคนที่ต้องเข้าเมืองในเวลาดังกล่าวเป็นประจำเขาจะใช้วิธีจ่ายล่วงหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงค่าปรับ แต่เขาจะไม่เก็บจากรถที่ปล่อยคาร์บอนน้อยกว่า 100 กรัม/กิโลเมตร หรือรถที่มีมากกว่า 9 ที่นั่ง วิธีนี้ทำให้รัฐมีรายได้ปีละเกือบ 150 ล้านปอนด์ ไว้เป็นทุนปรับปรุงระบบการจราจร กลับมาที่เวียดนามเพื่อนบ้านของเราบ้าง ขณะนี้เขากำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะห้ามรถยนต์ส่วนบุคคลจากเขตเมืองชั้นในของฮานอยและโฮจิมินห์ในวันธรรมดา ให้ได้อย่างน้อย 5 ชั่วโมง ก่อนหน้านี้เขาคิดจะแบนรถมอเตอร์ไซค์ แต่มีเสียงคัดค้านว่าควรจะห้ามรถยนต์ส่วนบุคคลมากกว่า  เพราะแม้ว่ารถยนต์จะเป็นเพียงร้อยละ 10 ของยานพาหนะบนท้องถนน แต่มันครอบครองพื้นที่บนถนนกว่าร้อยละ 55 และพื้นที่จอดถึงร้อยละ 65 ข่าวบอกว่า ในที่สุดแล้วเขาอาจจะเลือกใช้ระบบเดียวกับที่ลอนดอน ส่วนที่เมืองออสโล นอร์เวย์ นี่มาแปลก เพราะไม่ได้มีปัญหารถแน่นถนน แต่เป็นปัญหาคนแน่นรถแทน เขาจึงเสนอวิธีการแก้ปัญหาด้วยการขึ้นค่ารถสาธารณะในชั่วโมงเร่งด่วน โดยคิดอัตราค่าบริการตามช่วงเวลาที่เราเดินทาง เพื่อให้คนเปลี่ยนมาเดินทางนอกช่วงเวลาเร่งด่วนกันมากขึ้น แต่สภาผู้บริโภคของเขาไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับวิธีนี้ คนที่อุตส่าห์ช่วยลดปัญหาการจราจรด้วยการหันมาใช้บริการขนส่งมวลชน ควรจะต้องได้รางวัล ไม่ใช่การลงโทษ ... อืม นั่นสินะ     อ่านอย่างพอเพียง มนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย... ใครเคยนับบ้างว่าคุณอ่านอีเมล์ (หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์) วันละกี่ครั้ง งานวิจัยล่าสุดโดยมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียร่วมกับศูนย์วิจัยของกองทัพสหรัฐฯ เขาออกมายืนยันว่า คนที่อ่านอีเมล์ในที่ทำงานน้อยกว่าจะสามารถสร้างผลงานได้มากกว่า ทีมวิจัยเฝ้าสังเกตพฤติกรรมตามปกติของพนักงานออฟฟิศทั้งหมด 13 คน และขอให้คนเหล่านั้นหยุดอ่านอีเมล์เป็นเวลา 5 วัน เขาพบว่าในช่วงที่คนเหล่านี้พักจากการอ่านอีเมล์นั้น พวกเขาจะมีสมาธิอยู่กับงานเฉพาะหน้าได้นานกว่า แถมยังพบว่าพวกเขามีอัตราการคลิ๊กเปลี่ยนหน้าจอต่ำกว่าด้วย แล้วความเครียดล่ะ ...  เมื่อวัดอัตราการเต้นของหัวใจดูแล้วยังพบว่าระดับความเครียดเวลาที่ไม่เช็คอีเมล์นั้นแตกต่างจากตอนที่อ่านอีเมล์อย่างมาก กลอเรีย มาร์ค อาจารย์ด้านสารสนเทศศาสตร์ ผู้ศึกษาผลกระทบของใช้อีเมล์ในที่ทำงานมาเป็นเวลากว่า 8 ปี  เสนอให้บริษัททั้งหลายลองส่งอีเมล์ถึงพนักงานเพียงวันละหนึ่งหรือสองครั้งต่อวันเท่านั้น เพื่อที่พนักงานจะได้ไม่ต้องกังวลมาคอยเช็คเมล์ทุกๆ 10 นาที เพราะกลัวพลาด ที่สำคัญเธอเสนอให้ผู้คนทดลอง “พักร้อนจากอีเมล์” กันดูบ้าง เพราะว่าได้ผลดีไม่แพ้การลางานไปพักร้อนเลยทีเดียว สถิติน่าสนใจ : คนที่ใช้อีเมล์เป็นประจำจะเปลี่ยนหน้าจอ 37 ครั้งในหนึ่งชั่วโมง ในขณะที่คนอื่นๆ ที่เปิดอ่านอีเมล์น้อยครั้งกว่า จะเปลี่ยนหน้าจอเพียง 18 ครั้งต่อชั่วโมงเท่านั้น   ข้อเสียอีกประการของการเปิด “กล่องจดหมายเข้า” คือการต้องพบกับ “โฆษณาไม่พึงประสงค์” คุณเป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ว่าอะไร แค่กด “delete” ทิ้งมันลงถังขยะไปเฉยๆ ผู้บริโภคที่ฮ่องกงเขาทำมากกว่านั้น จากการสอบถามชาวฮ่องกง 1,046 คน พบว่าเกือบร้อยละ 50 ตอบว่าตัวเองจะตอบโต้ด้วยการ “บอยคอต” แบรนด์สินค้าที่ส่งอีเมล์/SMS  เข้ามาโฆษณาไม่หยุดหย่อน ด้วยการเลิกซื้อไปเลย ที่นั่นเขาคงโฆษณากันหนักจริงๆ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ ได้บอยคอตไปไม่ต่ำกว่า 4 แบรนด์แล้ว แต่บริษัทโฆษณามีหรือจะท้อ เขาบอกว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวจัดให้ใหม่ ที่ผู้บริโภคเซ็งแบรนด์ไปนั้นเป็นเพราะว่ายังสื่อสารไม่ถูกกลุ่มเป้าหมายและไม่ถูกเวลามากกว่า ต่อไปจะต้องเก็บข้อมูลผู้บริโภคให้ละเอียดมากขึ้น เอาล่ะสิ  งานกลับมาเข้าที่ผู้บริโภคอีกแล้ว ทุกวันนี้เรายังถูกเก็บข้อมูลไม่มากพออีกหรือ   เอกสิทธิ์เฉพาะคนจน? ไปดูสถานการณ์น้ำมันที่อินโดนีเซียกันบ้าง คงยังจำกันได้ว่าเขามีประท้วงใหญ่กันไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขณะนี้รัฐบาลอินโดนีเซีย ประกาศห้ามคนรวยหรือคนชั้นกลางซื้อน้ำมันชนิดที่รัฐช่วยพยุงราคา หมายความว่าใครก็ตามที่ขับรถที่มีขนาดเครื่องยนต์เกินกว่า 1.5 ลิตรขึ้นไป จะไม่สามารถซื้อน้ำมันเกรดต่ำได้ ข่าวบอกว่า แม้จะเป็น “น้ำมันเกรดต่ำ” ที่รัฐช่วยรับภาระไว้ครึ่งหนึ่ง แต่คนที่ใช้ส่วนใหญ่ก็เป็นคนมีเงิน เพราะคนจนนั้นไม่มีรถให้ต้องเติมน้ำมันอยู่แล้ว  ส่วนกลุ่มที่พอจะมีรายได้(แต่น้อย) ก็มีแต่มอเตอร์ไซค์ซึ่งใช้น้ำมันประเภทอื่น หลังจากประกาศใช้ กฎดังกล่าวจะมีผลภายใน 3 เดือนในจาการ์ตา และจะมีผลทั้งประเทศในอีก 4 เดือนหลังจากนั้น รถยนต์ของหลวงนั้นจะต้องปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวภายใน 7 วันหลังการประกาศใช้ ส่วนรถสาธารณะนั้นไม่เข้าข่าย รถเล็กก็เติมต่อไปได้ตามปกติ องค์กรผู้บริโภคบอกว่านโยบายนี้จะทำให้ปั๊มน้ำมันหัวนอกได้เปรียบ เพราะถ้าจะต้องซื้อน้ำมันแพง ผู้บริโภค ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้ลำบากเรื่องเงิน จะหันไปเติมน้ำมันกับปั๊ม อย่างเชลล์ และโททาล เพราะเชื่อว่าน่าจะดีกว่าปั๊มท้องถิ่นอย่างเพอตามีนาของอินโดนีเซีย     ความผิดแนวตั้ง อย่างที่รู้กันดีว่าสิงคโปร์เมืองสะอาดเอี่ยมเขาเฮี้ยบมากในการจัดการกับพวกทิ้งขยะไม่เป็นที่ แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่เขาจัดการไม่ได้เสียทีแม้จะรณรงค์มากว่า 10 ปีแล้ว ด้วยเนื้อที่อันจำกัด คนสิงคโปร์ส่วนใหญ่ต้องอาศัยอยู่ในแฟลตสูง และหนึ่งในปัญหาที่เจออยู่บ่อยๆ คือ “ขยะลอยฟ้า”  ทางการบอกว่าได้รับเรื่องร้องเรียนไม่ต่ำกว่า 100 เรื่องต่อเดือน องค์การสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของสิงคโปร์จึงทดลองนำกล้องวงจรปิดไปติดตั้งไว้ 10 จุดที่ชั้นบนสุดของแฟลตการเคหะสิงคโปร์ ในบริเวณที่มีผู้คนร้องเรียนมาบ่อยๆ ได้ผลดีทีเดียวสำหรับการลงทุนกล้องตัวละ 25,000 เหรียญ (ประมาณ 620,000 บาท) ที่สามารถเก็บภาพต่อเนื่องได้อย่างน้อย 5 วัน  นับว่าคุ้มมาก จากที่เคยต้องให้คนไปซุ่มรอกันคราวละหลายชั่วโมง เขาจึงวางแผนว่าจะติดเพิ่มอีก 40 จุด ภายในเดือนสิงหาคมนี้ หนุ่มรายหนึ่งถูกเรียกไปศาลและถูกตัดสินให้จ่ายค่าปรับจำนวน 800 เหรียญสิงคโปร์ (เกือบๆ 20,000 บาท) โทษฐานที่ทิ้งขยะในที่สาธารณะ โดยมีหลักฐานจากกล้องวงจรปิด ความละเอียดสูง ที่บันทึกภาพของเขาขณะโยนก้นบุหรี่ออกมาจากห้องพักบนชั้น 3 ของแฟลต เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว

อ่านเพิ่มเติม >