ฉบับที่ 183 การค้ำประกันผู้รับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ

การค้ำประกันผู้รับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ    หลังจากที่มีข่าวเรื่องของทันตแพทย์คนหนึ่งไปค้ำประกันให้ผู้รับทุนไปเรียนต่างประเทศแล้วหนีการใช้ทุน เกิดความลำบาก ต้องหาเงินมาใช้ทุนแทน และมีภาระต้องไปฟ้องเรียกเงินเอากับนักเรียนหนีทุนคนดังกล่าวอีกคราวหนึ่ง  วันนี้ จึงนำคำพิพากษาฎีกาน่าสนใจในเรื่องที่เกี่ยวกับการค้ำประกันผู้รับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ มาให้ศึกษากันครับ     เรื่อง แรกเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 เป็นนักเรียนทุนที่ได้ทุนไปเรียนต่อปริญญาเอกที่ต่างประเทศ โดยมีจำเลยที่ 2 มาค้ำประกันให้ แต่ปรากฏว่าครบกำหนดแล้ว ยังเรียนไม่จบ จึงทำเรื่องขออนุมัติเรียนต่ออีกสามครั้ง  ต่อมาหลังจากเรียนจบก็กลับมาใช้ทำงานใช้ทุนได้ปีกว่า ก็เกิดปัญหา ทำผิดวินัย ถูกไล่ออกจากราชการ และทางผู้ให้ทุนจึงมาฟ้องนักเรียนทุนคนดังกล่าวให้รับผิดร่วมกับผู้ค้ำประกัน ซึ่งในคดีนี้ ศาลตัดสินว่า คนค้ำต้องร่วมรับผิดด้วย แม้การอนุมัติให้ศึกษาต่อ จะไม่ได้แจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบ และไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ค้ำประกันก็ตาม เพราะเห็นว่าอยู่ในข้อตกลงสัญญาค้ำประกัน             คำพิพากษาฏีกาที่ 1056/2536     “สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้ระบุระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศ และสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับโจทก์ก็มิได้ระบุเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษาต่อเช่นกัน ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศเป็นเวลา 2 ปี ครบแล้วโจทก์ได้อนุมัติให้จำเลยที่ 1 ศึกษาต่ออีกเป็นเวลา 4 ปีเศษโดยมิได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบ และจำเลยที่ 2 มิได้ยินยอมในการที่โจทก์อนุมัติให้จำเลยที่ 1 ศึกษาต่ออีกนั้น แม้จะเป็นภาระหนักขึ้นแก่จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันแต่ก็ไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อตกลงในสัญญาและเป็นคนละเรื่องกับการที่เจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้ลูกหนี้ จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิด จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาต่อโจทก์จะต้องคืนเงินเดือนเงินเพิ่มช่วยค่าครองชีพที่ตนรับไปให้โจทก์เป็นเงิน 161,863.96 บาท และต้องเสียเบี้ยปรับอีกเท่ากับเงินทั้งหมดที่รับไปกับจะต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีสำหรับเงินต้นรวมกับเบี้ยปรับตามสัญญาด้วยนั้น เบี้ยปรับและดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นข้อสัญญาที่ระบุความเสียหายหรือความรับผิดในการที่จำเลยไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้าเมื่อศาลเห็นว่าเบี้ยปรับสูงเกิน ส่วนศาลก็มีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 และเมื่อกำหนดเบี้ยปรับเป็นค่าเสียหายจำนวนพอสมควรแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องให้ค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยอีก”แต่ถ้าเป็นกรณีเพียงค้ำประกันการไปศึกษาต่อต่างประเทศในระดับปริญญาโท และตัวผู้ขอทุนได้จบปริญญาโทแล้ว ทำเรื่องขอเรียนต่อปริญญาเอก และได้รับอนุมัติ โดยผู้ค้ำไม่ได้ยินยอมด้วย เช่นนี้ ผู้ค้ำประกันรับผิดเพียงสัญญาเดิมเท่านั้น  โดยคดีที่ยกมาอ้างอิงนี้ เป็นเรื่องของ อาจารย์ท่านหนึ่ง ขอไปเรียนต่อปริญญาโทที่ต่างประเทศ สาขาการสอนคณิตศาสตร์ มีกำหนด 2 ปี  โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน พอครบ 2 ปี อาจารย์ท่านก็จบปริญญาโท แต่ไม่ได้กลับมาใช้ทุน และขอเรียนต่อปริญญาเอกอีก รวมเป็นเวลา 5 ปีกว่า แต่ปรากฏว่าเมื่อเรียนจบปริญญาเอกแล้ว ไม่กลับมารับราชการ ดังนี้ ศาลเห็นว่า การที่โจทก์ให้ผู้ให้ทุนไม่ได้แจ้งให้ จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันทราบถึงการอนุมัติให้เรียนต่อปริญญาเอก และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันเพิ่ม จำเลยที่ 2 จึงรับผิดเฉพาะตามสัญญาค้ำประกันใช้ทุนเดิม คือ 2 ปี เท่านั้น คำพิพากษาฏีกาที่ 3579/2536 “ จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการปฏิบัติและความรับผิดตามสัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษาหรืออบรม ณ ต่างประเทศ ที่จำเลยที่ 1 ทำกับโจทก์ในการที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยทุนส่วนตัว (ทุนประเภท 2) มีกำหนด2 ปี นับแต่วันออกเดินทาง โดยเมื่อจำเลยที่ 1 เสร็จการศึกษาตามที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติให้ลาไปศึกษาต่อ หรือจำเลยที่ 1ถูกเรียกตัวกลับ และจำเลยที่ 1 ไม่กลับมารับราชการกับโจทก์เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 เท่าของเวลาที่ได้รับเงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่มและจำเลยที่ 1 ไม่ชดใช้เงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่มและเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ตามสัญญา จำเลยที่ 2 ยินยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น ส่วนที่หลังจากครบกำหนด2 ปี แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ขอลาศึกษาต่อด้วยทุนส่วนตัวอีก 5 ปี9 เดือน 4 วัน และโจทก์อนุมัติให้จำเลยที่ 1 ลาศึกษาต่อโดยไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการลาไปศึกษาต่อเพิ่มเติมของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์แต่อย่างใดจำเลยที่ 2 จึงคงมีความรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันเพียงสำหรับการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี เท่านั้น สัญญาค้ำประกันระบุว่า หากโจทก์จะผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ตกลงยินยอมรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันต่อไป มีความหมายเพียงว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาที่จำเลยที่ 1 ทำกับโจทก์ ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้เงินคืนให้โจทก์พร้อมเบี้ยปรับภายในกำหนด 30 วัน ถัดจากวันได้รับแจ้งจากโจทก์ตามสัญญาข้อ 4 และ ข้อ 5 และจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน แม้โจทก์ผ่อนเวลาในการชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ก็ยินยอมรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันต่อไปข้อความดังกล่าวหาได้มีความหมายว่า จำเลยที่ 2 ยินยอมรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ทุกประการโดยไม่จำกัดเวลาและจำนวนหนี้ที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นในอนาคตไม่”หลายๆ ท่านคงทราบดี ว่ากฎหมายค้ำประกันมีการแก้ไขใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่20) พ.ศ.2557  ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558  หากใครไปทำสัญญาค้ำประกันตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 ก็ต้องไปว่ากันตามกฎหมายใหม่ ซึ่งสิ่งที่พอจะช่วยคนค้ำได้คือ ในการเซ็นสัญญาค้ำประกันให้กับผู้ที่ประสงค์จะไปเรียนต่อต่างประเทศ  หากเขาขอทุนเพื่อไปศึกษาต่อปริญญาโท จะต้องมีการแจ้งตัวเลขที่ชัดเจนกับผู้ค้ำประกันทันทีว่าจะต้องมีส่วนรับผิดชอบเป็นจำนวนเงินเท่าใด หากครบกำหนดแล้วนักเรียนทุนรายนั้นไม่สามารถมาใช้ทุนได้ ต้องมีการระบุตัวเลขชัดเจนตั้งแต่วันทำสัญญาและในกรณีที่ขอทุนไปเรียนโทแล้วจบการศึกษาแล้วประสงค์ต่อปริญญาเอกเลย ก็จะต้องมีการพูดคุยกับผู้ค้ำประกันอีกครั้งถึงมูลค่าการรับผิดชอบที่จะต้องเพิ่มขึ้น หากผู้ค้ำไม่ยินยอมก็จะต้องมีการหาผู้ค้ำรายใหม่สำหรับทุนปริญญาเอกแต่สุดท้ายนี้ขอฝากไว้ว่า หากท่านจะไปทำสัญญาค้ำประกันให้ใครก็ขอให้ดูให้ดี เพราะสุดท้ายหากเขาไม่มีความรับผิดชอบ หรือหนีทุนเหมือนกับหลายคนที่เป็นข่าว ก็จะทำให้ตัวท่านเองเดือดร้อนโดยไม่จำเป็น และหากจำเป็นต้องค้ำ ก็ขอให้พิจารณาถึงวงเงินที่ตนจะสามารถรับผิดชอบได้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระกันในภายหลังครับ  

อ่านเพิ่มเติม >