ฉบับที่ 116 การเลือกซื้อที่นั่งเสริมนิรภัยสำหรับเด็ก

หลายครั้งที่เห็นคุณพ่อคุณแม่ พาลูกที่เป็นทารก หรือเด็กน้อยติดไปกับรถยนต์ด้วย และก็มักจะพบภาพ ที่ก่อให้เกิดความหวั่นวิตกเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากกฎหมายบ้านเรา ไม่ได้บังคับให้ติดตั้งที่นั่งเสริมนิรภัยสำหรับเด็กเหมือนในยุโรปหรืออเมริกา เนื่องจากเด็กนั้นมีสถานะพิเศษต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐ (ที่ไม่ใช่รัฐล้มเหลว หรือ failed state) หากพ่อแม่หรือใครก็ตามที่ละเมิดสิทธิของเด็ก ก็จะต้องโดนกฎหมายเอาผิดครับ ทำให้พ่อแม่ที่พาเด็กติดรถ จะต้องขับด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ เด็กจะบาดเจ็บมากกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า  ถึงแม้นว่าจะขับด้วยความเร็ว 30 กิเมตรต่อชั่วโมง แต่ถ้าหากเกิดอุบัติเหตุขับรถชน ด้วยความเร็วขนาดนี้ ทารกหรือเด็ก ก็อาจได้รับอันตรายถึงชีวิตได้ถ้าเป็นคุณพ่อคุณแม่ ที่ตระหนักถึงความปลอดภัย และคิดอยากจะติดตั้งที่นั่งเสริมสำหรับเด็ก ช่วง ฉลาด ช้อป วันนี้มีเคล็ดลับดีๆ มาแนะนำครับ ประเภทของที่นั่งเสริม ในการเลือกซื้อที่นั่งสำหรับเด็ก จะต้องพิจารณาถึงอายุ และขนาดของเด็กเป็นสำคัญ การแบ่งประเภทของที่นั่งเสริมสำหรับเด็ก ตามน้ำหนักของเด็กครับ โดยแบ่งออกเป็นประเภท 0, 0+, I, II, III ประเภท 0 หมายถึง ที่นั่งเสริม ที่จะติดตั้งให้หันหัวไปทางด้านหลังรถ เหมาะสำหรับเด็กที่มีน้ำหนักไม่เกิน 13 กิโลกรัม เป็นที่นั่งเสริมที่ปลอดภัยสูง ประเภท I เหมาะสำหรับเด็กที่มีน้ำหนักระหว่าง 9-18 กิโลกรัม ที่นั่งเสริมประเภทนี้ จะมีระบบยึดติดตัวเด็กแบบยึดเข็มขัดนิรภัยที่ตัวเด็ก (full belt safety harness system) และระบบนี้มีข้อดี คือ ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุรถชนกัน แรงกระแทกที่กระทำต่อที่นั่งเสริมจะน้อย แต่การติดตั้งที่นั่งเสริมประเภทนี้ ค่อนข้างยุ่งยากทีเดียว ประเภท II เหมาะสำหรับเด็กที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 15 – 25 กิโลกรัม หรือ อายุ ตั้งแต่ 3 ขวบครึ่ง ถึง 7 ปี และ ประเภท III เหมาะสำหรับเด็กที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 22 – 36 กิโลกรัม หรือ อายุ ตั้งแต่ 6 ขวบ ถึง 12 ปี ที่นั่งเสริมทั้งสองสามารถปรับระดับความสูงของที่นั่งได้ และมีพนักพิงด้านหลังและด้านข้าง ตำแหน่งและทิศทางในการติดตั้ง ทิศทางในการติดตั้งที่นั่งทารกและเด็กเล็กที่ปลอดภัย คือ การที่ให้เด็กนั่งหันหน้าเข้าสู่เบาะหลัง  เนื่องจากหากเกิดอุบัติเหตุ มีการชนเกิดขึ้น ความปลอดภัยจากการติดตั้งที่นั่งแบบนี้จะสูงมาก เพราะกระดูกต้นคอเด็กจะได้รับการปกป้องจากแรงชนปะทะ นักวิจัยทางด้านอุบัติภัยแนะนำให้ใช้การติดตั้งที่นั่งแบบนี้ กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 4 ขวบ การติดตั้งที่นั่งแบบหันหน้าเข้าสู่เบาะ จะใช้พื้นที่มาก บางครั้งอาจต้องปรับที่นั่งข้างคนขับไปด้านหน้าจนสุด เพื่อให้มีพื้นที่ด้านหลังเพียงพอต่อการติดตั้ง กรณีที่เด็กอายุมากกว่า 4 ขวบ ควรติดตั้งที่นั่งหันหน้าไปทิศทางเดียวกับรถวิ่ง เนื่องจากเด็กในวัยนี้ กล้ามเนื้อต้นคอแข็งแรงแล้ว นอกจากนี้เข็มขัดนิรภัยของที่นั่งเสริม ยังช่วยป้องกันการเหวี่ยงตัวได้ดี ที่นั่งเสริมแบบนี้ประกอบด้วย พนักหลังพิง (seat back) และพนักสำหรับพักศีรษะ (head cusion) ตามรูปที่ 1 ในกรณีที่ติดตั้งที่นั่งสำหรับเด็ก ไว้ที่ที่นั่งข้างคนขับ จะต้องปรับตำแหน่งที่นั่งให้เลื่อนไปข้างหลัง และต้องล็อคการทำงานของ air bag เพราะหากเกิดอุบัติเหตุ เมื่อ air bag ทำงานจะไปกระแทกที่นั่งเสริม ทำให้ไม่ปลอดภัยได้  เครื่องหมายแห่งคุณภาพ การเลือกซื้อที่นั่งเสริมสำหรับเด็ก คุณพ่อคุณแม่ ควรจะลองติดตั้งในรถดู และลองให้ลูกลองนั่งดูก่อนตัดสินใจซื้อ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงความสบายของเด็ก และดูว่าที่นั่งเสริมนั้น เหมาะกับขนาดตัวของเด็กหรือเปล่า นอกจากนี้ยังจะต้องดูด้วยว่าที่นั่งเสริมสำหรับเด็กนั้น มีเครื่องหมายมาตรฐาน ECE R 44 หรือไม่ เครื่องหมายนี้ ทางสมาคมยานยนต์แห่งเยอรมนี (Der Allgemein Deutsche Automobile Club: ADAC) ได้ทำการทดสอบและให้ เครื่องหมายมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อให้คุณพ่อแม่สะดวกในการตัดสินใจเลือกซื้อที่นั่งเสริม เนื่องจากตามกฎหมายยุโรปนั้น ที่นั่งเสริมเป็นอุปกรณ์บังคับ ในกรณีที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี นั่งอยู่ในรถ สำหรับประเทศไทยนั้นการใช้ที่นั่งเสริมยังไม่ได้กำหนดเป็นกฎหมายบังคับ แต่ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ท่านใด ที่ประสงค์อยากจะติดตั้งที่นั่งเสริมสำหรับเด็ก ในเบื้องต้นก็อาจจะลองหาสัญลักษณ์ ECE R 44 เพื่อความปลอดภัยของลูกรักในการนั่งรถยนต์ร่วมทางไปกับผู้ใหญ่ครับ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point