ฉบับที่ 170 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนเมษายน 2558 พบกล่องทีวีดิจิตอลตกมาตรฐาน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช.ได้แจ้งมายังบอร์ด กสท.ว่าจากการสุ่มตรวจมาตรฐานทางเทคนิคของกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลในตลาดจำนวน 20 รุ่น พบว่ามีกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลจำนวน 6 รุ่น จาก 4 ยี่ห้อ มีการใช้ระบบเสียงไม่ถูกต้องตามตามที่แจ้งไว้ต่อ กสทช. ซึ่งจากนี้จะมีคำสั่งให้ผู้ประกอบการทั้ง 4 ยี่ห้อที่มีการจำหน่ายสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐานเดินทางมาชี้แจงยัง กสทช.โดยด่วน กล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลที่ไม่ผ่านมาตรฐานทางเทคนิค ได้แก่ ยี่ห้อเอเจ รุ่น SVB-93 และ รุ่น DVB-92, ยี่ห้อครีเอเทค รุ่น CT-1 และ CT4, ยี่ห้อฟินิกซ์ รุ่น T2color และ ยี่ห้อโซเคน รุ่น DB233 สำหรับผู้บริโภคที่ได้นำคูปองไปแลกซื้อกล่องที่การตรวจพบว่าไม่ได้มาตรฐานไปแล้ว หากเกิดปัญหาจากการใช้สินค้า ทาง กสทช.จะหารือกับผู้ประกอบการเพื่อทางแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ ----------------------------------------------------------------------------------------   ห้ามใช้แล้ว!!! สาร “บีพีเอ” ในขวดนม จากนี้ไปคุณแม่ที่จะซื้อขวดนมให้ลูกน้อยต้องดูให้ดีว่าขวดนมพลาสติกที่ซื้อทำมาจากพลาสติกชนิดที่ชื่อว่า “พอลิคาร์บอเนต” หรือเปล่า เพราะอาจเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสาร “บีพีเอ” หรือ สารบิสฟีนอลเอ ซึ่งเป็นสารที่ อย.ยืนยันแล้วว่าอาจเป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง โดยได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 369) พ.ศ. 2558 เรื่อง ขวดนม และภาชนะบรรจุนมสำหรับทารกและเด็กเล็ก เพื่อควบคุมการใช้สารพีบีเอในขวดนมและภาชนะสำหรับทารกอีกหลายประเภท กฎหมายฉบับนี้ควบคุบผลิตภัณฑ์สำหรับทารก ทั้งผลิตภัณฑ์ประเภทขวดนมและภาชนะบรรจุนมสำหรับทารกและเด็กเล็กแบบใช้ซ้ำ เช่น ถ้วยหัดดื่ม ห้ามใช้พอลิคาร์บอเนตโดยเด็ดขาด โดยวัสดุอื่นทดแทน ได้แก่ แก้วชนิดบอโรซิลิเคต และพลาสติกชนิดพอลิพรอพิลีน พอลิอีเทอร์ซัลโฟน ส่วนภาชนะบรรจุนมสำหรับทารกและเด็กเล็กแบบใช้ครั้งเดียว เช่น ถุงพลาสติกที่ใช้เก็บน้ำนมมารดา ถุงพลาสติกบรรจุนมแบบใช้ครั้งเดียวที่ต้องใช้ร่วมกับขวดนม ให้ใช้วัสดุที่อนุญาต ได้แก่ พอลิพรอพิลีน และ พอลิเอทิลีน สำหรับหัวนมยาง ให้ใช้วัสดุที่อนุญาตได้แก่ ยางธรรมชาติ ยางสังเคราะห์ ปัจจุบันแม้องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้จัดสารบีพีเอเป็นสารก่อมะเร็ง แต่ก็มีข้อมูลการศึกษาในสัตว์ทดลอง ว่าสารพีบีเออาจมีผลไปขัดขวาง การทำงานของฮอร์โมนเอสโทรเจนในร่างกาย ส่งผลกระทบต่อระบบการสืบพันธุ์และระบบการผลิตฮอร์โมน นอกจากนี้หลายๆ ประเทศมีการห้ามผลิตหรือจำหน่ายขวดนมพอลิคาร์บอเนตแล้ว เช่น สหภาพยุโรป แคนาดา เป็นต้น -------------------------------------------------------------------------------- “คะน้า - ถั่วฝักยาว” เจอสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN ได้แถลงผลการสุ่มทดสอบการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช พบว่ามีผักที่มีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขสูงถึง 22.5% โดยพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานในกะเพรามากที่สุด 62.5% ถั่วฝักยาวและคะน้าพบ 32.5% ผักบุ้งจีน กวางตุ้ง และมะเขือเปราะพบตกค้าง 25% แตงกวาและพริก12.5% ส่วนผักกาดขาวปลีและกะหล่ำปลีไม่พบการตกค้าง จากผลที่ออกมาทำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องออกสุ่มทดสอบผักในท้องตลาดด้วยเช่นกัน เพราะถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรง ซึ่งผลที่ได้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ยอมรับว่ามีผักที่พบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานอยู่ในท้องตลาดจริง แม้จะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วไม่เท่ากับผลของทาง Thai-PAN แต่นั้นก็เป็นการยืนยันชัดเจนว่าคนไทยอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อสุขภาพจากกินผัก โดยผัก 2 ชนิดที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบว่าที่การตกต้างของสารเคมีค่อนข้างสูงคือ คะน้าและถั่วฝักยาว โดยหลังจากนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะส่งเจ้าหน้าที่ไปสุ่มตรวจผักตามตลาดต่างๆ เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ผู้บริโภคก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการซื้อผัก เลือกซื้อผักตามฤดูกาล และล้างผักให้สะอาดก่อนรับประทาน ------------------------------------------------------------------------------------ “ผักเม็ด-ส้มเม็ด” หลอกลวงสรรพคุณ คนป่วยกินอาการยิ่งทรุด คนไทยยังคงตกเป็นเหยื่อของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหลอกลวงสรรพคุณ ล่าสุดพบอาหารเสริม “ผักเม็ด” และ “ส้มเม็ด” โฆษณาอวดอ้างว่าสามารถรักษาโรคเบาหวานได้ เมื่อมีผู้ป่วยหลงเชื่อคำโฆษณาหาซื้อมารับประทานกลับพบว่าอาการทรุดลง อาการแผลที่เท้าซ้ายบวมแดงและปวดมากกว่าปกติ อีกทั้งยังพบระดับน้ำตาลในเลือดสูงถึง 552 mg (ซึ่งค่าปกติควรอยู่ที่ 82 - 110 mg) ผักเม็ดมีลักษณะภายในเป็นของเหลวคล้ายน้ำมันตับปลา ส่วนส้มเม็ดมีลักษณะเป็นผงบรรจุในแคปซูล โดยผู้ขายแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวชนิดละ 4 เม็ด เช้า - เย็น และให้ใช้ทาแผลด้วย อย.ฝากเตือนถึงที่คิดจะกินอาหารเสริมเพื่อหวังผลในการรักษาโรคนั้น ขอให้คิดไว้เสมอว่าเป็นเรื่องที่โอ้อวดหลอกลวง เพราะอาหารไม่ใช่ยา ไม่มีผลในการรักษาโรค ยิ่งผู้ที่มีโรคประจำตัว ต้องรับประทานอาหารเสริมอย่างระมัดระวังเพราะอาจส่งผลต่อการเจ็บป่วยหนักได้ -----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   เคลือบฟันเทียม “วีเนียร์” ระวังได้ไม่คุ้มเสีย การเคลือบสีฟันเทียม หรือ วีเนียร์ (veneers) ซึ่งเป็นวิธีการที่ช่วยทำให้สีฟันขาวขึ้นและปรับรูปฟันให้สวยงาม กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากโดยเฉพาะกับกลุ่มสาวๆ ที่อยากมีฟันขาวสว่างใส พร้อมกับการที่มีสถานเสริมความงามด้านทันตกรรมเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่การทำเคลือบสีฟันมีผลโดยตรงต่อสุขภาพของฟันและเหงือกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การทำเคลือบผิวฟันเทียม คือการแปะวัสดุลงบนผิวฟันเพื่อเปลี่ยนสีผิวฟัน ซึ่งเดิมทีมีไว้ใช้แก้ปัญหาผู้ที่มีผิวฟันสีผิดปกติ เช่น ฟันตกกระ ฟันเป็นแถบสีน้ำตาลหรือดำ จากการกินยาแก้อักเสบกลุ่มเตตราไซคลิน ซึ่งไม่สามารถแก้ไขด้วยวิธีการฟอกสีฟันได้ ซึ่งวิธีดังกล่าวจะต้องกรอผิวฟันออกไปเล็กน้อยเพื่อแปะวัสดุใหม่ลงไปให้เท่ากับผิวฟันเดิมไม่ให้นูนขึ้นมามากเกินไป ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าการกรอฟันเป็นการทำลายผิวเคลือบฟันที่ดีออกไปและจะไม่มีวันขึ้นมาใหม่ นอกจากนี้การปิดวัสดุนั้นต้องทำด้วยเทคนิคที่ดี วัสดุที่ปิดฟันต้องพอดีกับตัวเนื้อฟันไม่มีส่วนเกินเข้าไปในเหงือก หรือ มีรูรั่ว เพราะอาจทำให้เกิดเหงือกอักเสบ เกิดหินปูน เหงือกร่น ทำให้เกิดพื้นที่ให้เชื้อโรคไปเกาะและเกิดปัญหากลิ่นปากได้ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะทำเคลือบฟันเทียมต้องศึกษาให้ดี เคลือบฟันเทียบย่อมไม่มีแข็งแรงเท่าเคลือบฟันแท้ และการทำให้สีฟันขาวขึ้นยังมีวิธีอย่างการฟอกสีฟันซึ่งไม่ส่งผลเสียต่อเคลือบฟัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 144 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมกราคม 2556 ระวัง “กลลวงทดสอบคุณภาพน้ำ” การประปานครหลวง (กปน.) ฝากเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับการทดสอบความสะอาดและคุณภาพของน้ำดื่ม เพราะทั้งสร้างความเข้าใจผิดเรื่องความสะอาดของน้ำดื่ม แถมยังหวังหลอกลวงผู้บริโภคให้หลงซื้อผลิตภัณฑ์ปรับคุณภาพน้ำ   มีการโฆษณาชวนเชื่อโดยการนำเครื่องมือทดสอบ ชนิดเครื่องแยกสารละลายด้วยไฟฟ้า หรือ เครื่องอิเล็กโทรไลซิส (Electrolysis) ซึ่งประกอบด้วยขั้วไฟฟ้า 2 ขั้ว คือเหล็ก และอะลูมิเนียม โดยเมื่อนำเครื่องมือทดสอบดังกล่าวจุ่มลงไปในน้ำดื่มทั่วไปที่มีส่วนประกอบของแร่ธาตุ และทำให้ไฟฟ้าไหลผ่านน้ำที่ทดสอบ ขั้วไฟฟ้าที่ทำด้วยเหล็กจะละลายและทำปฏิกิริยากับน้ำ ทำให้เกิดตะกอนที่มีสีน้ำตาลแดงคล้ายสนิมเหล็ก เรียกว่า เหล็กไฮดรอกไซด์ ซึ่งตะกอนที่ละลายออกมาจากเครื่องมือนี้เอง ที่สร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชนว่าน้ำที่มีตะกอนละลายคือน้ำที่ไม่สะอาด มีสิ่งเจือปน และไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค ซึ่งความจริงแล้ว น้ำดื่มที่เหมาะแก่การบริโภค ต้องมีส่วนประกอบของแร่ธาตุอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม จึงไม่แปลกที่เมื่อนำเครื่องมือดังกล่าวมาทดสอบแล้วเกิดสีหรือตะกอน ในขณะที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวนำน้ำบริสุทธิ์หรือน้ำที่ผ่านกระบวนการ Reverse Osmosis หรือการขจัดแร่ธาตุทุกชนิดออกไปจากน้ำ จนไม่มีสิ่งใดๆ เจือปนอยู่เลยเทียบเท่าได้กับน้ำกลั่นมาทดสอบ จึงไม่เกิดปฏิกิริยาใดๆ ขึ้นทั้งสิ้น และทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าน้ำดังกล่าวคือน้ำที่สะอาดที่สุด   กปน.ยืนยันว่าน้ำประปาที่ผลิตได้นั้น ได้มาตรฐานน้ำดื่มตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก     ขึ้นราคาค่ารักษาพยาบาล นโยบายปรับขึ้นค่าแรงของรัฐบาลเริ่มส่งผลกระทบกับหลายภาคส่วนของประเทศ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของการรักษาพยาบาล เมื่อกระทรวงสาธารณสุขเตรียมปรับขึ้นค่ารักษาพยาบาล โดยให้เหตุผลว่าเป็นการปรับตามสภาวะเศรษฐกิจ หลังจากที่ไม่ได้ปรับราคามาตั้งแต่ปี 2547 โดยทางกระทรวงฯ เชื่อว่าจะไม่กระทบกับคนไทยส่วนใหญ่ซึ่งมีระบบหลักประสุขภาพรองรับ ทั้งระบบบัตรทอง ระบบประกันสังคม และระบบราชการ แต่ต้องไม่ลืมว่ายังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เลือกใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน ที่จะต้องรับผลกระทบโดยตรงแน่นอน เพราะเมื่อมีประกาศเรื่องการขึ้นราคารักษาพยาบาลจากกระทรวงฯ โรงพยาบาลเอกชนเองก็จะต้องปรับขึ้นราคาตามประกาศ หรือแม้แต่กลุ่มผู้ที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ ก็อาจได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในกลุ่มประกันสังคมอาจมีการเรียกเก็บเงินสมทบเพิ่มจากทั้งนายจ้างและลูกจ้างที่ใช้สิทธิประกันสังคม   ค่าบริการใหม่ครั้งนี้มีรายการที่จะออกประกาศใหม่ทั้งหมด 2,713 รายการ หมวดที่เพิ่มขึ้นสูงสุด คือ ค่าตรวจรักษาโรคโดยวิธีพิเศษซึ่งเพิ่มขึ้น 53% เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีใหม่ รองลงมา คือค่าบริการรังสีวินิจฉัย เวชศาสตร์นิวเคลียร์และรังสีรักษา เพิ่ม 23%รายการที่เพิ่มต่ำสุด คือ ค่าบริการเทคนิคการแพทย์ 8%     กสทช. แจกคูปองส่วนลดกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า การรับชมโทรทัศน์ในบ้านเราจะมีการเปลี่ยนแปลงสัญญาณเป็นระบบดิจิตอลที่มีความคมชัดของทั้งภาพและเสียงดีกว่าสัญญาณระบบอนาล็อกที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงระบบการส่งสัญญาณในครั้งนี้จะมีผลทำให้แต่ละบ้านต้องมีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในการรับชม แต่ผู้บริโภคว่าไม่ต้องกังวลว่าถึงขนาดต้องเปลี่ยนโทรทัศน์ใหม่ เพราะสามารถใช้กล่องรับสัญญาณหรือ set top box รับสัญญาณชมรายการโทรทัศน์ระบบดิจิตอลได้ตามปกติ ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เตรียมแจกจ่ายคูปองส่วนลดให้กับประชาชนทุกครัวเรือนเพื่อนำไปซื้อ Set-top-box เพื่อเตรียมพร้อมสู่การรับชมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล   ข้อดีของทีวีดิจิตอล คือ ในหนึ่งช่องสัญญาณจะสามารถนำมาส่งได้หลายรายการโทรทัศน์ สำหรับรายการดิจิตอลทีวีของประเทศไทยจะมีจำนวน 48 ช่อง ได้แก่ ช่องบริการชุมชน 12 ช่อง ช่องบริการสาธารณะ 12 ช่อง ช่องบริการธุรกิจ (เชิงพาณิชย์) 24 ช่อง ซึ่งยังแบ่งออกเป็นในหมวดรายการเด็กและเยาวชน 5 ช่อง หมวดข่าวสารและสาระ 5 ช่อง หมวดช่องทั่วไป 10 ช่อง หมวดช่องรายการที่มีคุณภาพความคมชัดสูง (HD) 4 ช่อง     โทรนาทีละ 99 สตางค์ จากนี้ไปผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่ายต้องคิดค่าโทรในอัตรานาทีละไม่เกิน 99 สตางค์ หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีประกาศเรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศ พ.ศ.2555 ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2555   จากการตรวจสอบของ กสทช. พบว่าต้นทุนการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ที่ไม่เกินนาทีละ 1 บาท ประกาศฉบับนี้จึงทำให้ผู้บริโภคได้ใช้บริการในราคาที่เป็นธรรม   โดยตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นบริการในระบบเติมเงินหรือเหมาจ่ายรายเดือน ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือห้ามคิดค่าโทรเกิน 99 สตางค์ หากใครพบว่ามีการฝ่าฝืนสามารถแจ้งข้อมูลหรือร้องเรียนเข้ามาได้ทางสายด่วนรับเรื่องร้อนของ กสทช. หมายเลข 1200     ปั่นจักรยานดันกฎหมายผู้บริโภค กลุ่มผู้บริโภคจากทั่วประเทศรวมกันขี่จักรยานและเดินเท้า ถือป้ายรณรงค์กฎหมายองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค และนำรายชื่อประชาชน 107,905 รายชื่อ สนับสนุนการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา สมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ให้ช่วยเร่งจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556   โดยกิจกรรมการ “ปั่นจักรยานทวงสิทธิของคุณคืนมาด้วยมาตรา 61” ถือเป็นกิจกรรมต่อเนื่องที่เริ่มต้นตั้งแต่การรวมตัวปั่นจักรยานของกลุ่มเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศที่บริเวณรอบอนุสาวรีย์ชัย เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2556 และกิจกรรมครั้งที่ 2 คือการปั่นจักรยานที่สวนรถไฟในวันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ ก่อนจะปิดท้ายในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ด้วยกิจกรรมขบวนจักรยานและเดินเท้าของกลุ่มพี่น้องเครือข่ายผู้บริโภคจากทั่วประเทศกว่า 500 คน จากบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า มายังหน้ารัฐสภา เพื่อเป็นการแสดงพลังและส่งเสียงทวงถามถึงความคืบหน้าในการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับสำคัญที่มาจากประชาชน พร้อมกันนี้มีการยื่นหนังสือต่อ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร นายวัฒนา เซ่งไพเราะ และ ส.ส. ส.ว. อีกหลายท่าน เช่น นายบุญยอด สุขถิ่นไทย  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์  นางสาวรสนา  โตสิตระกูล  สว.สรรหากรุงเทพมหานคร  นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย   สมาชิกวุฒิสภา สรรหา และนายวิทยา บูรณะศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ตำแหน่งประธานวิปรัฐบาล เพื่อให้ช่วยกันผลักดันให้เกิดกฎหมายฉบับนี้   แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 61 กำหนดให้รัฐมีหน้าที่จัดตั้งองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคขึ้น ซึ่งประชาชนได้ทำการเข้าชื่อกันกว่า 10,000 ชื่อเพื่อเสนอกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณาไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2552 แต่ปัจจุบันการพิจารณาก็ยังค้างคาอยู่ในกระบวนการจัดตั้งกรรมาธิการร่วม ระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งกลุ่มองค์กรผู้บริโภคเห็นว่ากระบวนการออกกฎหมายฉบับนี้ล่าช้าเกินไป ทั้งที่เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญ และเกรงว่าร่างกฎหมายจะตกไปหากหมดสมัยประชุมสภา กลุ่มเครือข่ายผู้บริโภคจึงต้องออกมารวมพลังเรียกร้องในครั้งนี้เพื่อให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายฉบับนี้ //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 133 เข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอล ผู้บริโภคต้องเตรียมตัวอย่างไร

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ สัญญาณแบบอนาลอก เป็นสัญญาณโทรทัศน์ที่จะหมดยุคภายใน 4-5 ปีนี้ เนื่องจากประเทศไทยเราจะก้าวเข้ามาสู่ยุคโทรทัศน์แบบดิจิตอล ซึ่งผู้บริโภคที่มีความรู้ในเรื่องเทคนิคอย่างค่อนข้างจำกัดนั้น สมควรที่จะต้องหาความรู้พื้นฐาน ตลอดจนการเตรียมการในการที่จะรับสัญญาณแบบใหม่นี้ ความรู้พื้นฐานที่ผู้บริโภคควรมีไว้กับตัวนั้น ผมนำมาจากความรู้ของคณะทำงานในการเตรียมตัวการเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลของเยอรมัน เนื่องจากประเทศเยอรมนีได้ก้าวเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลก่อนเราไปล่วงหน้าหลายปี องค์ความรู้ในด้านการเตรียมความพร้อมทั้งในส่วนผู้ให้บริการ หน่วยงานกำกับดูแล และผู้บริโภค ประเทศเขาสามารถทำได้และทำร่วมกันได้เป็นอย่างดี เราสามารถขอหยิบยืมองค์ความรู้ของเขามาประยุกต์ใช้ในบ้านเราได้ ก็จะทำให้การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีเป็นไปได้อย่างราบรื่น และเป็นภาระกับผู้บริโภคได้อย่างน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น ตอนนี้เรามี คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ครบถ้วนสมบูรณ์แบบแล้ว และเป็นความคาดหวังใหม่ของสังคม โดยเฉพาะในส่วนของผู้บริโภค ที่ไม่ต้องการการถูกเอารัดเอาเปรียบจากภาคธุรกิจเหมือนอย่างในอดีตที่ผ่านมา นอกจากการควบคุมกิจการในด้านนี้แล้ว ภารกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การให้ความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นกับผู้บริโภค เพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลที่จะเดินเข้ามาหาเราในเร็วๆ นี้ การเตรียมความพร้อมในยุคของทีวีดิจิตอลนั้น สำหรับผู้บริโภคที่มีโทรทัศน์ที่รับสัญญาณผ่านเสาอากาศ ก็ต้องจัดหา อุปกรณ์ตัวแปลงสัญญาณที่เราเรียกว่า Set-Top-Box ที่จะแปลงสัญญาณจากอนาลอกมาเป็นดิจิตอล สำหรับทีวีที่มีจุดเชื่อมต่อเป็นแบบ สการ์ต (Scart) เวลาที่เราเลือกซื้อ Set Top Box นั้น ก็จะต้องพิจารณาดูว่า มีจุดเชื่อมต่อสำหรับ การต่อผ่านแผ่น สการ์ตหรือไม่ดังรูปที่ 1 ถ้าทีวีที่ไม่มีแผ่นสการ์ต แต่มีจุดเชื่อมต่อเป็น coaxial cable ก็ต้องเลือก Set-Top-Box ที่มีตัวรับตัวเสียบดังรูปที่ 2ในกรณีที่มีการเชื่อมต่อกับเครื่องเล่นดีวีดี หรือแอมปลิฟายเออร์ การเลือกซื้อ Set – Top- Box ก็ต้องพิจารณาด้วยว่า มีจุดที่สามารถเชื่อมต่อได้ทั้ง แผ่นสการ์ต และจุดเชื่อมต่อแบบโคแอกเซียลดังรูปที่ 3   บทสรุป ผู้บริโภคต้องเตรียมการสำรวจอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์เครื่องเล่นอิเลคทรอนิกส์ ที่มีอยู่แล้วในบ้าน เช่น โทรทัศน์ เครื่องเล่นวีดีโอ เครื่องเล่นดีวีดี และแอมปลิฟายเออร์ ว่า มีจุดเชื่อมต่อกี่จุด และมีจุดเชื่อมต่อเป็นแบบใดแล้ว ผู้บริโภคก็ควรจะเลือกอุปกรณ์ Set Top Box ที่เหมาะสมสามารถที่จะต่อเชื่อมเข้ากับเครื่องเล่นอิเลคทรอนิกส์ ที่มีอยู่แล้ว โดยดูจากจุดเชื่อมต่อของ Set top box ว่าจะมีจุดเชื่อมต่อให้หลายจุดและเพียงพอหรือไม่ ก่อนที่จะพิจารณาต่อในเรื่องคุณภาพของสัญญาณ และราคา ในส่วนของ กสทช. ควรต้องกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์ Set Top Box ที่จะนำมาเสนอขายในท้องตลาด โดยกำหนดให้อุปกรณ์นั้นรองรับกับอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ที่มีอยู่ในครัวเรือนและที่ขายในตลาดบ้านเรา โดยเฉพาะการกำหนดจำนวนและประเภทของจุดเชื่อมต่อขั้นต่ำ ที่จะต้องมีจำนวนเพียงพอ เพื่อให้ผู้บริโภคไม่ต้องรับภาระมากเกินไปในการจัดหาอุปกรณ์เสริมและสายสัญญาณต่างๆ ที่จะต้องใช้ในการรับสัญญาณระบบดิจิตอลที่ได้เริ่มมีการทดลองออกอากาศกันบ้างแล้ว     รูปที่ 1 การเชื่อมต่อระหว่างเสารับสัญญาณและอุปกรณ์ Set Top Box ที่เป็นแบบแผ่นสการ์ต   รูปที่ 2 การเชื่อมต่อระหว่างเสารับสัญญาณและอุปกรณ์ Set Top Box ที่เป็นแบบสายโคแอกเซียล   รูปที่ 3 การเชื่อมต่อระหว่างเสารับสัญญาณและอุปกรณ์ Set Top Box ที่เป็นทั้งแบบสายสการ์ตและสายแบบโคแอกเซียล   แหล่งข้อมูลอ้างอิงwww.ueberallfernsehen.de

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 ชวนกันเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอล

คาดว่าในระยะปีหรือสองปีต่อไปนี้ การรับชมโทรทัศน์ของคนไทยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง จากที่เคยดูฟรีทีวี(ช่อง 3,5,7,9,11 และไทยพีบีเอส) ได้เพียง 6 ช่อง คนไทยจะสามารถดูฟรีทีวีได้ถึง 48 ช่อง ด้วยภาพและเสียงที่คมชัดในระบบดิจิตอล นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ อาจเทียบได้กับเมื่อครั้งที่เราเปลี่ยนจากการรับชมทีวีภาพขาวดำเป็นทีวีภาพสี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คือการก้าวเข้าสู่โลกของ “ทีวีดิจิตอล” นั่นเอง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ต้องนับว่าเร็วมาก จนหลายคนอาจจะตามไม่ทัน และเริ่มมีความกังวลกับ  "ทีวีที่บ้านของตัวเอง" ว่าจะยังรับชมรายการได้ตามปกติหรือเปล่า? แล้วจะซื้อทีวีใหม่ตอนไหน? แล้วทีวีดาวเทียมกล่อง Set top Box ที่มีอยู่เต็มบ้าน ถ้าเปลี่ยนเป็นระบบดิจิตอล จะดูได้หรือไม่ จะต้องเปลี่ยนอีกหรือเปล่า? หลากหลายคำถามที่เกิดขึ้น หลายคนก็ยังไม่รู้คำตอบ เอาเป็นว่า เรามาเตรียมความพร้อมไปกับฉลาดซื้อด้วยกันเลย   Time line การออกอากาศรายการโทรทัศน์ไทย เริ่มออกอากาศรายการโทรทัศน์ในระบบขาวดำเป็นครั้งแรกในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม พ.ศ. 2498 โดยใช้ชื่อว่า "สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม" พัฒนาจากโทรทัศน์ระบบขาวดำมาสู่โทรทัศน์ระบบสี พ.ศ. 2510 คนไทยสามารถรับชมโทรทัศน์(ฟรี)ได้ 6 ช่อง ภายใต้ระบบสัมปทานผูกขาดยาวนาน โดยบริษัทและหน่วยงานรัฐไม่กี่หน่วยงาน เกิด กสทช. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 47 ปี พ.ศ. 2550 ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นโทรทัศน์เพื่อความเหมาะสมของประเทศ(ยกเลิกการผูกขาด) ปลายปี 2556 การออกอากาศรายการโทรทัศน์จะเริ่มเปลี่ยนจากสัญญาณระบบอนาล็อก(ภาพ-เสียงไม่คมชัด)เป็นสัญญาณระบบดิจิตอล(ภาพ-เสียงคมชัด) ปี 2558 จะสามารถรับชมรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลได้ถึง 48 ช่อง   อะไรคือ “ทีวีดิจิตอล” ที่ผ่านมาการรับชมรายการโทรทัศน์ผ่านช่องฟรีทีวี ไม่ว่าจะเป็น ช่อง 3,5,7,9,11 และไทยพีบีเอส โดยอาศัยเพียงการใช้เสาอากาศแบบก้างปลาหรือหนวดกุ้ง เราจะพบปัญหาเรื่องภาพและเสียงที่ไม่คมชัด บางทีภาพก็เป็นเงาซ้อนๆ กัน หรือเป็นเม็ดแตกพร่าบนหน้าจอโทรทัศน์ รวมทั้งเสียงที่ไม่ชัดเจน นั่นก็เป็นเพราะว่า การส่งสัญญาณของสถานีโทรทัศน์ทั้ง 6 ช่องนั้น ยังเป็นการส่งสัญญาณภาพและเสียงด้วยระบบเก่า(เทคโนโลยีเดิม) ที่เรียกว่า การส่งสัญญาณระบบอนาล็อก ซึ่งหากต้องการแก้ปัญหาเรื่องความไม่คมชัดของภาพและเสียง จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ในการส่งสัญญาณที่เรียกว่า ระบบดิจิตอล หรือ โทรทัศน์ดิจิตอล การส่งสัญญาณด้วยระบบดิจิตอลไม่เพียงช่วยให้ภาพเสียงคมชัดเท่านั้น ยังทำให้สามารถเพิ่มช่องสำหรับการรับชมรายการโทรทัศน์ได้มากขึ้นด้วย ขนาดที่ว่าจากเคยทำได้แค่ 6 ช่อง สามารถเพิ่มได้สูงสุดถึง 48 ช่อง การส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลนั้น ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกเขาทำกันไปนานแล้ว ส่วนประเทศไทยเพิ่งเข้าที่เข้าทางและ กสทช. ได้ประกาศถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2555 และคาดว่าไทยพร้อมจะเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลเต็มรูปแบบในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า (ตอนนี้สถานีไทยพีบีเอส สถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ก็เริ่มทดลองส่งสัญญาณการออกอากาศในระบบดิจิตอลไปแล้ว)   ปัจจุบันภาคการส่งและรับสัญญาณรายการโทรทัศน์ในประเทศไทย มี 3 รูปแบบ คือ 1.ระบบแพร่ภาพภาคพื้นดิน (DVB-T the Digital Video Broadcasting - Terrestrial System) หรือการรับชมฟรีทีวี (ช่อง 3 5 7 9 11และไทยพีบีเอส) ในปัจจุบัน ซึ่งกำลังจะเปลี่ยนจากสัญญาณอนาล็อกเป็นดิจิตอล 2.ระบบแพร่ภาพผ่านสายเคเบิลทีวี (DVB-C the Digital Video Broadcasting - Cable System) รับชมรายการผ่านกล่องรับสัญญาณที่มาทางสายเคเบิล เป็นการให้บริการแบบบอกรับสมาชิก ผู้ชมต้องจ่ายค่าแรกเข้าและบริการรายเดือน 3.ระบบแพร่ภาพผ่านดาวเทียม (DVB-S The Digital Video Broadcasting - Satellite System) รับชมผ่านกล่องรับสัญญาณดาวเทียม โดยครั้งแรกจะต้องมีการติดตั้งจานดาวเทียมพร้อมกล่องรับสัญญาณ หรือปัจจุบันมีขายเฉพาะกล่องสัญญาณ(โดยผ่านจานดาวเทียมอะไรก็ได้ที่ติดตั้งไว้ก่อนแล้ว) ส่วนใหญ่เมื่อติดตั้งครั้งแรกแล้ว จะไม่มีค่ารายเดือนอีก เว้นแต่มี คอนเทนต์พิเศษ ที่ต้องเข้ารหัสเก็บเงินค่าดู     สิ่งที่ผู้บริโภคต้องเตรียมสำหรับการรับชมทีวีดิจิตอล เนื่องจากโทรทัศน์ในประเทศไทยใช้ระบบอนาล็อกมาโดยตลอด อุปกรณ์เครื่องรับโทรทัศน์ที่เราใช้จึงเป็นระบบอนาล็อกทั้งหมด เมื่อจะมีการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอล ไม่เพียงทางผู้ประกอบการหรือสถานีจะต้องเปลี่ยนระบบการส่งสัญญาณเท่านั้น เราในฐานะผู้บริโภคหรือผู้รับชมรายการก็จะต้องลงทุนเพิ่มด้วย ซื้อกล่องแปลงสัญญาณ กรณีที่ไม่อยากเปลี่ยนเครื่องรับโทรทัศน์ใหม่ เราต้องซื้อกล่องแปลงสัญญาณ หรือ Set top Box (หน้าตาคล้ายๆ กล่องเวลาดูโทรทัศน์ดาวเทียมหรือเคเบิล) เพื่อต่อกับเครื่องรับโทรทัศน์เก่าของเรา 1 กล่องต่อ 1 จุดรับชม(เครื่องรับ) ถ้าบ้านท่านมีทีวี 3 เครื่องก็ต้องซื้อ 3 กล่อง คาดว่า ราคาน่าจะไม่เกิน 800 บาท (ต้องจุดนี้ทาง กสทช. กำลังออกมาตรการมาช่วยเหลือผู้บริโภคโดยการออกคูปองส่วนลดเพื่อซื้อกล่อง Set top Box แต่ยังไม่ฟันธงแน่ชัด ต้องตามข่าวกันต่อไป) ซื้อโทรทัศน์เครื่องใหม่ที่รองรับการดูทีวีระบบดิจิตอลได้ กรณีนี้ก็ไม่ต้องหาซื้อกล่องแปลงสัญญาณ หรือ Set top Box มาเสริมให้ยุ่งยาก ซื้อเครื่องรับโทรทัศน์ใหม่เลย แต่ต้องเลือกที่มีระบบรองรับการดูทีวีดิจิตอลเท่านั้น   --------------------------------------------------------------------------------------------------------   การเลือกซื้อโทรทัศน์ใหม่เพื่อดูทีวีดิจิตอล ณ ปัจจุบันเครื่องรับโทรทัศน์ในบ้านเรายังไม่มีระบบรองรับสำหรับการดูทีวีดิจิตอล แต่เชื่อแน่ว่าเมื่อประเทศไทยเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลเต็มรูปแบบ ผู้ผลิตก็พร้อมนำเทคโนโลยีใหม่ติดไว้ในเครื่องรับโทรทัศน์อย่างแน่นอน สำหรับระบบทีวีดิจิตอลบ้านเรา กสทช. ได้เลือกให้นำระบบของยุโรป หรือ “DVB-T2” มาเป็นมาตรฐานระบบโทรทัศน์ดิจิตอลภาคพื้นดินของประเทศ ดังนั้นหากจะเลือกซื้อโทรทัศน์ใหม่(ที่กำลังจะมาขายในอนาคต) ถ้าต้องการให้รับชมทีวีดิจิตอลได้เลย โดยไม่ต้องผ่านกล่อง Set top Box ต้องตรวจดูว่า โทรทัศน์เครื่องนั้นมีระบบ “DVB-T2” หรือเปล่า เครื่องรับโทรทัศน์ บ้านเราปัจจุบันมี 3 แบบ แบ่งออกเป็นของจำเป็นพื้นฐานกับของพิเศษ(คล้ายๆ กับ มือถือธรรมดากับสมาร์ทโฟน) ได้แก่ - ทีวี-จอแก้ว , จอพลาสม่า LCD , LED ทั่วไป ล้วนแต่มีภาครับเป็นระบบอนาล็อก ถ้าจะดูระบบดิจิตอลต้องมีกล่อง set-top-box มาต่อพ่วง - ทีวี.ดิจิตอล, จอพลาสม่า LCD  LED  ที่เปลี่ยนภาครับเป็นระบบดิจิตอลแล้ว (อีกไม่นานจะมาครองตลาด ราคาก็พอ ๆ กับ กลุ่มข้างบน) สองอันนี้จัดเป็นของจำเป็นพื้นฐาน - สมาร์ท-ทีวี อันนี้เป็นทีวีที่รวมความสามารถของสมาร์ทโฟน-แท็ปเล็ต-และทีวี เข้าด้วยกัน ถ้าจะดูทีวีดิจิตอลด้วย ก็ต้องมีระบบรองรับ  “DVB-T2”   ถ้าที่บ้านดูโทรทัศน์ผ่านเคเบิลหรือดาวเทียมอยู่แล้วต้องซื้อกล่องเพิ่มอีกไหม 12 ล้านครัวเรือนไทย ดูทีวีผ่านดาวเทียมกับเคเบิล ซึ่งเยอะกว่าคนที่รับชมฟรีทีวี ผ่านเสาหนวดกุ้ง ก้างปลาเพียงอย่างเดียวที่มีอยู่ประมาณ 10 ล้านครัวเรือน กลุ่มที่ดูผ่านเคเบิลหรือดาวเทียม ไม่จำเป็นต้องซื้อกล่องแปลงสัญญาณเพิ่มแต่อย่างใด ท่านสามารถรับชมรายการในกลุ่มฟรีทีวี 48 ช่องได้เลย อย่างไรก็ตามคุณภาพอาจไม่ดีเท่า เพราะทีวีดิจิตอลนั้นมีหลายช่องที่ออกอากาศด้วยระบบ HD แต่เมื่อชมผ่านดาวเทียมหรือเคเบิล คุณภาพอาจไม่ได้มาตรฐาน HD   ช่องหรือสถานีเดิม ช่อง 3,5,7,9,11 และไทยพีบีเอส จะยังดูได้อีกไหม ในช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบดิจิตอลเราจะยังคงมีสถานีโทรทัศน์ช่องเดิมๆ  ที่เราดูอยู่ให้ติดตามต่อไปอีกหลายปี(ประมาณ 10 ปี) แต่สิ่งที่เราได้เพิ่มขึ้น คือ มีช่องใหม่ๆ รายการใหม่ๆ ให้เลือกรับชมมากกว่าเดิม โดยเมื่อก้าวเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลแล้ว รายการโทรทัศน์ต่างๆ จะมีความหลากหลายขึ้น การออกอากาศรายการโทรทัศน์จะดำเนินควบคู่กันไปทั้งระบบอนาล็อก(6 ช่อง) และดิจิตอล(48 ช่อง) บ้านไหนไม่ต้องการซื้อกล่อง  Set top Box หรือซื้อทีวีใหม่ ก็สามารถรับชมรายการทั้ง 6 ช่องได้เหมือนเดิม แต่ถ้าได้รับชมทั้งสองแบบแน่นอนว่า ทีวีดิจิตอลที่คมชัดกว่า มีรายการให้เลือกมากกว่า ก็จะทำให้เกิดการเปรียบเทียบได้เอง   -------------------------------------------------------------------------------------------------------- เมื่อช่อง 3,5,7,9,11 และไทยพีบีเอส จะไม่ใช่ช่องเดิมอีกต่อไป กสทช. มีคลื่นโทรทัศน์สำหรับการออกอากาศด้วยระบบดิจิตอลอยู่จำนวน 48 ช่อง โดย กสทช. ต้องทำหน้าที่จัดสรรคลื่นให้กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนนำไปใช้ประโยชน์ ตามแผนของ กสทช. ได้แบ่งสัดส่วนทั้ง 48 ช่องเป็น 3 ประเภท คือ ประเภทบริการสาธารณะ 12 ช่อง ประเภทบริการชุมชน 12 ช่อง และประเภทบริการธุรกิจ 24 ช่อง ช่อง 3,7,9 เดิมนั้น จะเข้าข่ายประเภทบริการธุรกิจ(เพราะขายโฆษณาหากำไรเป็นหลัก) ผู้ประกอบการทั้ง 3 ช่องนี้ต้องไปประมูลใบอนุญาตแข่งกับผู้ประกอบการรายอื่น ซึ่งถ้าประมูลได้(คงได้แหละ) ก็จะไม่ได้เลขช่องในเลข 3,7,9 เหมือนเดิมอีกแล้ว เพราะ กสทช. กำหนดช่องประเภทบริการธุรกิจให้เริ่มต้นที่ช่อง 13-36 (ใครประมูลสูงสุดได้เลือกก่อน) ส่วน ช่อง 5 ช่อง 11 และช่องไทยพีบีเอส ตามกฎหมายจะได้เข้าไปอยู่ในประเภทบริการสาธารณะโดยไม่ต้องไปแข่งกับใคร แต่ช่อง 5 กับ ช่อง 11 ต้องปรับผังรายการให้เข้ากับนิยามหรือเงื่อนไขของประเภทบริการสาธารณะ หลักๆ คือ ไม่มีโฆษณา ซึ่งช่องที่ได้รับการจัดสรรสำหรับโทรทัศน์ประเภทบริการสาธารณะคือ ช่อง 1-12 (ตอนนี้เดากันว่า ช่องไทยพีบีเอส คงได้เลข 1 ไปครอง) ทำไมต้องเปลี่ยนจากทีวีอนาล็อกเป็นทีวีดิจิตอล ถ้าประเทศไทยไม่รีบเป็นทีวีดิจิตอลภายในปีสองปีนี้ จะส่งผลกระทบอย่างน้อย 2 ประการคือ 1. ผู้ให้บริการ-ผู้รับบริการมีความเสี่ยงที่จะไม่มีอุปกรณ์คุณภาพดีใช้งานภาย หลังปี 2558 เนื่องจากทั่วโลกจะเริ่มยกเลิกการผลิตในระบบอนาล็อก ส่งผลให้อุปกรณ์มือสองจากทั่วโลกจะหลั่งไหลเข้ามาขายในไทยแต่อุปกรณ์มือหนึ่งจะหาได้ยากขึ้น 2. ทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีจะเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีการเข้าถึงผู้บริโภค ได้ถึง 90% ของครัวเรือนไทยภายในปี 2558 จากปัจจุบันที่มีอัตราการเข้าถึงผู้บริโภคอยู่ที่ 50-60% ทำให้ดิจิตอลทีวีที่เกิดขึ้นในภายหลังอาจไม่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค และลดความน่าสนใจในการลงทุน   ทีวีดิจิตอลมีข้อเสียหรืออะไรที่ต้องระวัง ข้อเสียสำคัญคือ ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินเพิ่ม เพราะเราต้องซื้อกล่องแปลงสัญญาณต่อกับทีวีเครื่องเก่าหรือซื้อทีวีเครื่องใหม่ ซึ่งเป็นต้นทุนเพิ่มเติมของผู้บริโภค ข้อที่ต้องระวังมากๆ คือ การมีทีวีระบบดิจิตอล ทำให้มีสถานี รายการ และเนื้อหาเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว ยิ่งทำให้ยากในการกำกับดูแลไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภค เช่น การโฆษณาผลิตภัณฑ์อันตราย ผลิตภัณฑ์หลอกลวง ต้องจุดนี้ต้องมีระบบการป้องกันและลงโทษที่เข้มแข็ง และผู้บริโภคต้องช่วยกันเฝ้าระวัง //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point