ฉบับที่ 96 ผมฟ้อง เพื่อสร้างบรรทัดฐาน

ทุกคนมีสิทธิ สุมาลี พะสิม สัมภาษณ์ / ถ่ายภาพประกอบ ผมว่า...คนที่คิดที่จะทำอะไรเพื่อเปลี่ยนสังคม หรือเพื่อสร้างบรรทัดฐานให้กับคนด้อยโอกาสยังมีน้อย อีกอย่างก็คือมันไม่ใช่ค่านิยมของคนในสังคมเราด้วย ถ้าคิดจะทำบุญทีก็เลือกไปทำบุญโดยการสงเคราะห์มากกว่า ไม่ค่อยมีใครคิดว่า การทำแบบผมนี่ก็เป็นการทำบุญอีกแบบหนึ่ง เมื่อคุณซื้อรถกับบริษัทไฟแนนซ์ พอผ่อนจนครบติดต่อขอโอนรถแต่กลับถูกปฏิเสธการโอน พร้อมทั้งบอกว่าคุณยังจ่ายไม่หมด ต้องจ่ายให้ครบก่อนทั้งที่คุณจ่ายครบไปแล้ว คุณจะทำอย่างไร… ทินกร ดาราสูรย์ เขาเลือกที่จะใช้กระบวนการทางกฎหมาย ตามสิทธิที่เขามี โดยการใช้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2551 เป็นตัวสร้างให้เกิดบรรทัดฐานขึ้นในสังคมฟ้องเพื่อสร้างสิ่งดี ดี“ใครๆ ก็ไม่เห็นด้วยกับผมที่ฟ้องบริษัทไฟแนนซ์ เพราะเขามองว่าจะเป็นการเสียเวลาเปล่าๆ ไหนเรื่องจะกินเวลานานอีก กับเงินแค่หมื่นกว่าบาท แค่ผมยอมจ่าย ทางบริษัทก็จะทำเรื่องโอนรถให้ผมแล้ว แต่ผมทนไม่ได้เลยอยากจะสร้างบรรทัดฐานทางสังคมขึ้นมา” คุณทินกร เล่าถึงเหตุผลที่เขาตัดสินใจฟ้อง บริษัทไฟแนนซ์คู่กรณี คุณทินกรตกลงทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับบริษัทไฟแนนซ์คู่กรณี ไปเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2548 โดยตกลงจ่ายเงินเป็นงวด งวดละ4,823.36 บาท โดยไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น จำนวนทั้งหมด 36 งวด และจะชำระเงินทุกวันที่ 1 ของทุกเดือน “หลังจากผมชำระเงินครบ 36 งวดแล้ว ก็ติดต่อขอโอนรถ แต่ทางบริษัทไม่ยอมโอนให้ เขาบอกว่าผมยังค้างเขาอยู่อีก 3 งวด เพราะทางบริษัทนำเงินค่างวดของผมที่ชำระล่าช้า ไปหักเป็นค่าปรับ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถามโดยไม่ได้คิดว่า เป็นค่างวดที่ชำระไป พอผมไปดูในสัญญาก็ไม่มีข้อความใดระบุว่าทำแบบนี้ได้ ซึ่งการจะหักค่างวดไปชำระเป็นค่าปรับนั้น ทางบริษัทก็ต้องมีหนังสือแจ้งไปถึงผมภายใน 7 วัน ซึ่งก็ไม่เห็นจะมีจดหมายทวงถามมา พอผมทวงถามไปทางบริษัทก็ตอบผมไม่ได้ ผมจึงให้เขาทำเรื่องโอนรถให้ผม แต่ทางบริษัทก็ยืนยันว่าต้องให้ผมจ่ายเงินจำนวน 14,511.79 ที่ระบุว่าผมค้างค่างวด 3 งวดก่อน จึงจะทำเรื่องโอนรถให้ ผมก็อ้าว แบบนี้ก็มีด้วย ผมก็หาข้อมูลว่าจะร้องเรียนกับหน่วยงานไหนได้บ้าง ตอนแรกโทรศัพท์ไปปรึกษาที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ก็ไม่ได้ร้องเรียนที่นั่น หลังจากนั้นก็โทรศัพท์มาปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จนได้ยื่นฟ้องบริษัท ให้โอนรถให้ตามสัญญา” คุณทินกร เข้ายื่นเรื่องฟ้องศาลโดยฟ้องด้วยวาจาต่อศาลแพ่ง รัชดา ขอให้บริษัทโอนรถให้ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2551 หลังการยื่นฟ้องของคุณทินกร วันที่ 27 ตุลาคม 2551 ทางบริษัทดังกล่าวได้ยื่นฟ้องแย้งคุณทินกรกลับมา ซึ่งภายหลังคุณทินกรก็ได้ให้คำให้การแก้ฟ้องแย้งไปในวันที่ 31 ตุลาคม 2551 และขณะนี้คดีของคุณทินกร อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลแพ่ง และศาลได้นัดสืบอีกครั้งในวันที่ 5 มิถุนายน 2552 นี้ ความคืบหน้าเป็นอย่างไร ฉลาดซื้อ จะนำเสนอให้ท่านผู้อ่านทราบในภายหลัง ศาลไคฟง : ศาลผู้บริโภคการตัดสินใจใช้สิทธิของคุณทินกรครั้งนี้ มีกฎหมาย “วิผู้บริโภค” (พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค) เป็นตัวแปรหลักในการตัดสินใจ เพราะคุณทินกรมองว่ากฎหมายนี้มีประโยชน์ต่อผู้บริโภค มาก ช่วยเพิ่มช่องทางการใช้สิทธิให้กับผู้บริโภค นั่นคือทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก ไม่ต้องเสียค่าทนาย ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการยื่นฟ้อง “ช่วงแรกๆ ดูศาลยังไม่ค่อยพร้อมนะครับ แต่ผมก็คิดว่าเป็นการดีที่มีกฎหมายแบบนี้ ตอนเข้าไปผมไปแบบตาสีตาสา เข้าไปก็ไปเขียนแบบฟอร์ม แล้วก็เล่าเรื่องต่างๆให้กับเจ้าหน้าที่ศาลฟัง เขาก็พิมพ์คำฟ้องให้เรา โดยเราไม่ต้องไปจ้างทนายให้มาเขียนคำฟ้องให้เรา การตัดสินใจฟ้องบริษัท ผมคิดไม่นาน พอเห็นช่องทางการใช้สิทธิ ก็ตัดสินใจได้ทันทีว่าจะฟ้อง แต่เมื่อเทียบผลทางด้านเศรษฐศาสตร์แล้ว ผลมันไม่คุ้มกันเลยนะ กับการที่เรายอมจ่ายเงินอีก 10,000 กว่าบาท และการที่เราต้องใช้เวลามาทำเรื่องฟ้อง เสียค่ารถมาศาล ยิ่งคนที่เขาทำงานเป็นเวลา อย่างคนที่ทำงานโรงงานแบบนี้หมดสิทธิเลยนะที่จะเสียเวลามาทำเรื่องแบบนี้ เพราะต้องทำเรื่องลางานมาดำเนินการเรื่อง ซึ่งก็อาจส่งผลกับงานที่ทำอยู่ได้ ถ้าถามว่าทำไมผมทำแบบนี้ ผมอยากสร้างบรรทัดฐาน คือผมมองว่าในสังคมนี้มีการเอาเปรียบทุกอย่าง ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ผู้ประกอบการตั้งใจเอาเปรียบผู้บริโภคอยู่แล้ว อย่างโทรศัทพ์มือถือ เรื่อง 107 บาท ที่ผู้บริโภคถูกเรียกเก็บ ซึ่งตามกฎหมาย กทช.ระบุแล้วว่าจะเก็บกับผู้บริโภคไม่ได้ แต่เขาก็ยังเรียกเก็บ พอเราไม่ยอมจ่ายก็ตัดสัญญาณเรา คนทั่วไปก็เลือกที่จะตัดปัญหาด้วยการยอมจ่ายไป ระยะเว้นวรรคระหว่างรอศาลพิจารณาคดี“ช่วงที่รอศาลอยู่ รถก็ใช้อยู่นะครับ จะเก็บเอกสารที่เราฟ้องศาล ใบแจ้งความไว้ในรถ เผื่อทางบริษัทจะมายึดรถ แต่ผมก็มั่นใจนะว่าศาลจะให้ความยุติธรรมกับเรา เพราะถ้ามองในแง่ของสัญญาแล้ว ทางทนายอาสามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็ให้ความเห็นว่าเข้าข่ายสัญญาไม่เป็นธรรม ซึ่งผมก็มั่นใจว่าศาลจะให้ความเป็นธรรมอยากบอกต่อการลุกขึ้นมาใช้สิทธิของคุณทินกร ถูกมองว่าเป็นเรื่องแปลกในสายตาของคนแวดล้อมของคุณทินกร “ผมมองว่าทุกวันนี้ คนที่คิดและทำแบบผมนี้มีน้อย บางคนคิดว่าผมบ้าไปแล้ว มีคนรอบตัวไม่เห็นด้วยเยอะ มองว่าเสียเวลา แค่เราจ่ายไปก็จบแล้ว แต่เราต้องมาวิ่งให้เสียเวลางาน เสียเงิน ไหนจะค่ารถ ค่าเสียเวลา ซึ่งมันไม่คุ้มกันแล้ว ผมว่าคนคิดแบบนี้เยอะ แต่คนที่คิดที่จะทำอะไรเพื่อเปลี่ยนสังคม หรือเพื่อสร้างบรรทัดฐานให้กับคนด้อยโอกาสยังมีน้อย อีกอย่างก็คือมันไม่ใช่ค่านิยมของคนในสังคมเราด้วย ถ้าคิดจะทำบุญทีก็เลือกไปทำบุญโดยการสงเคราะห์มากกว่า ไม่ค่อยมีใครคิดว่า การทำแบบผมนี่ก็เป็นการทำบุญอีกแบบหนึ่ง อย่างกรณีของผม ถ้าหากคดีเกิดชนะขึ้นมาคนที่ผ่อนรถยนต์ ผ่อนมอเตอร์ไซค์แล้วถูกปรับโน้นนี่ แล้วไม่รู้เรื่องอะไร ไม่กล้าท้วงติง ผมว่าก็มีเป็นแสนคนนะ ก็จะใช้คดีของผมเป็นบรรทัดฐานในการเรียกร้องสิทธิ จะช่วยเรื่องเงินได้เยอะทีเดียว พอผมมองตรงนี้ผมก็มีกำลังสู้ เพราะว่าผลไม่ใช่ได้แค่ผมคนเดียว”

อ่านเพิ่มเติม >