ฉบับที่ 114 ทำอย่างไร ไม่เผลอไปทำร้ายผิว

ทำอย่างไร ไม่เผลอไปทำร้ายผิวรศ.ดร.พิมลพรรณ พิทยานุกุล คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล เราไม่สามารถสร้างบ้านโดยปราศจากเสาหลักที่แข็งแรง เราไม่สามารถสร้างทหารกล้าโดยไม่ผ่านสนามฝึก และเราก็คงไม่สามารถรักษาผิวพรรณให้แข็งแรงโดยใช้เครื่องสำอางที่ดีที่สุดแต่ปราศจากพื้นฐานการดูแลผิวที่ถูกต้อง  หากเราปฏิเสธหรือไม่สนใจพื้นฐานที่ถูกต้องของการดูแลผิวหนัง ก็รับรองได้เลยว่าโปรแกรมต่างๆ หรือเครื่องสำอางแพงๆ ที่เราพยายามหาซื้อมาเพื่อชะลอริ้วรอยผิวหน้าหรือยกกระชับผิวหน้าจะไม่ประสพความสำเร็จ บทความนี้จะครอบคลุมหลักการและพื้นฐานสำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพผิวหนังและป้องกันหรือชะลอการเกิดริ้วรอยแห่งวัย “จำไว้ว่าการดูแลผิวที่ฉลาดที่สุดคือ การไม่ทำร้ายผิวให้บาดเจ็บแม้แต่ระคายเคืองก็ตาม” เราคงแปลกใจที่รู้ว่าส่วนใหญ่ริ้วรอยที่เกิดขึ้นบนใบหน้ามักจะเกิดจากปัจจัยภายนอกมากกว่าการชราภาพโดยธรรมชาติ ดังนั้นราคาที่ถูกที่สุดและขั้นตอนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการเริ่มต้นดูแลผิวคือ ลดและหลีกเลี่ยงปัจจัยภายนอกที่จะมาทำร้ายผิวหนังของเรา วิธีนี้นับเป็นพื้นฐานสำคัญของการชะลอริ้วรอยแห่งวัย ชีววิทยาของผิวหนังและร่างกายเป็นสิ่งที่ซับซ้อน บ่อยครั้งเมื่อผิวหนังบาดเจ็บหรือถูกทำร้าย อาจไม่มีอาการเจ็บปวดแม้แต่ระคายเคืองให้สัมผัสได้อย่างชัดเจน แต่จะเป็นการสะสมทีละน้อยทุกเวลาที่ผ่านไปอย่างที่เราไม่ทันสังเกต สาเหตุหลักที่เป็นปัจจัยทำร้ายผิวหนัง เช่น 1. รังสียูวีจากดวงอาทิตย์ คนส่วนใหญ่คงทราบดีว่ารังสียูวีจากดวงอาทิตย์เป็นปัจจัยทำร้ายผิวหนังและทำให้เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า และยังก่อให้เกิดความเสี่ยงของมะเร็งผิวหนังอีกด้วย ครีมกันแดดมากมายที่อาจไม่เพียงพอหรือไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะปกป้องผิวหนังเราจากการเกิดริ้วรอย และการหลบแดดในที่ร่มก็เป็นเพียงการป้องกันแดดได้บางส่วนเท่านั้น ดังนั้นจึงควรเลือกใช้ครีมกันแดดที่มีค่ากันแดดหรือ ‘เอสพีเอฟ’ ที่เหมาะสมกับสภาวะจริง และควรศึกษาข้อแนะนำการใช้ครีมกันแดดให้ได้ผล เช่น ควรทาทิ้งไว้อย่างน้อย 15 นาทีก่อนออกแดด และควรเลือกครีมที่กันน้ำได้ถ้ามีกิจกรรมมากๆ เช่น เล่นกีฬาที่มีเหงื่อออกมาก และควรทาบ่อยๆเป็นระยะทุก 2-4 ชั่วโมง เพราะสารกันแดดบางชนิดอาจสลายตัวเมื่อได้รับความร้อนนานๆ   2. สารทำความสะอาด เช่น น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก รวมถึงน้ำยาทำความสะอาดทั้งหลาย น้ำยาเหล่านี้อาจก่อให้เกิดระคายเคืองต่อผิวหนังเมื่อใช้เป็นประจำ ทั้งนี้เนื่องจากสารทำความสะอาดเหล่านี้เป็นอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้า อนุภาคเหล่านี้จึงสามารถเกาะติดและสะสมบนผิวหนัง ล้างออกยาก ผู้ที่ต้องทำหน้าที่ล้างถ้วยชามหรือซักผ้าเป็นประจำ จะพบว่าผิวหนังที่มือจะเหี่ยวย่นและระคายเคืองถึงขั้นอักเสบรุนแรงได้ ทั้งนี้รวมถึงผลิตภัณฑ์ล้างหน้าอาบน้ำสระผม ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่อ่อนละมุน ไม่จำเป็นต้องให้ฟองมากๆ 3. คลอรีนและน้ำอุ่น การอาบน้ำอุ่นทำให้เรารู้สึกสบายกาย แต่ผิวหนังเราอาจคัดค้านและไม่เห็นด้วย คลอรีนจากน้ำประปาจัดเป็นสารก่ออนุมูลอิสสระและมีผลทำร้ายผิวหนังให้ระคายเคืองไม่มากก็น้อย สังเกตได้จากคนที่ชอบว่ายน้ำเป็นประจำ เส้นผมจะแห้งแตกปลายและผิวหนังจะแห้งกร้านไปด้วย น้ำร้อนหรือน้ำอุ่นที่ใช้อาบน้ำก็เช่นกัน ส่งผลทำร้ายผิวหนัง ทำให้ผิวหนังแห้ง ยิ่งอุณหภูมิน้ำสูงก็จะยิ่งทำร้ายผิวหนังมากยิ่งขึ้น ดังนั้นผู้ที่ชื่นชอบการแช่น้ำอุ่นหรือสปาน้ำอุ่นที่อุณหภูมิสูง ควรจำกัดความถี่การแช่น้ำรวมทั้งการลดระยะเวลาการแช่น้ำร้อนในแต่ละครั้งและการลดอุณหภูมิของน้ำลง 4. สารก่อความระคายเคืองให้ผิวหนัง สารเหล่านี้อาจระคายเคืองผิวหนังได้สองทาง ทางตรงคือทำร้ายเซลล์ผิว และทางอ้อมคือทำให้ผิวหนังอักเสบหรือทำให้ผิวเกิดอาการแพ้ได้ ผู้ที่มีผิวหนังอ่อนไหวต่อสารต่างๆ ได้ง่าย ควรระวังและหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำยาชนิดต่างๆ และอาจป้องกันโดยการล้างมือบ่อยๆ ภายหลังจากการสัมผัสสิ่งต่างๆ รอบตัว 5. การแสดงออกของสีหน้า ทำให้เกิดริ้วรอยของการแสดงออกทางอารมณ์ เช่น รอยตีนกาจากการหัวเราะหรือรอยย่นบนหน้าผากจากการขมวดคิ้ว เรามักจะทำโดยเราเองก็ไม่รู้ตัว แก้ไขได้โดยการฝึกระวังตัว และพยายามพัฒนาตนเองให้เป็นนิสัยรวมทั้งการฝึกตนให้ผ่อนคลายจากภาวะความเครียดต่างๆ รอบตัว เพื่อป้องกันการเกิดริ้วรอยจากการแสดงออกของสีหน้า 6. การแต่งหน้ามากเกินไป ผลิตภัณฑ์สำหรับแต่งแต้มสีสันบนใบหน้า แน่นอนมักประกอบไปด้วยสารเคมีที่อาจระคายเคืองผิวหน้าได้ การรักษาสุขภาพผิวหนังในระยะยาว ควรลดการแต่งแต้มผิวหน้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งรอบดวงตา ผลิตภัณฑ์ประเภทติดทนนานและกันน้ำ ยิ่งมีผลรุนแรงต่อผิวหน้า และยังต้องใช้น้ำยาที่แรงหรือเข้มข้นล้างออกอีกด้วย 7. การใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวมากเกินไป ผลิตภัณฑ์ที่ดีประกอบไปด้วยสารอาหารที่มีคุณค่าต่อผิวหนัง แต่หากใช้มากเกินไป หรือใช้ไม่ถูกวิธี ก็อาจก่อให้เกิดโทษได้เช่นกัน ควรอ่านฉลากและวิธีใช้ให้ชัดเจน 8. การล้างหน้าและขัดผิวบ่อยเกินไป ผลิตภัณฑ์บางชนิดหากใช้บ่อยเกินไปและใช้ผิดวิธีอาจก่อให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์ การล้างหน้าและขัดผิวหน้าบ่อยเกินไปก็เช่นกัน ทำให้ผิวหน้าแห้งกร้านและระคายเคืองได้ ควรหลีกเลี่ยงการเช็ดหน้าด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีองค์ประกอบของแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ประเภทโทนเนอร์สำหรับเช็ดหน้าหรือเช็ดเครื่องสำอางออก แอลกอฮอล์จะทำให้ผิวหน้าแห้ง ขาดความชุ่มชื้น

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point