ฉบับที่ 276 โดนบ้านน็อคดาวน์ น็อค

        ปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงานเกิดขึ้นบ่อยครั้ง คราวนี้เกิดขึ้นกับทาสแมว คุณดุจดาว หญิงสาวผู้รักน้องแมวเหมือนลูก ไม่ใช่รักธรรมดาด้วยนะ รักแบบสุดจิตสุดใจเพราะเลี้ยงแมวจรจัดไว้กว่า 10 ตัว         เมื่อปริมาณเหมียวน้อยมากจึงจำเป็นต้องจัดหาพื้นที่เพื่อเหล่านายท่าน ซึ่งคุณดุจดาวเคยเห็นโฆษณาเกี่ยวกับบ้านน็อคดาวน์สำหรับน้องแมว เธอเลยมีความคิดอยากสร้างบ้านน็อคดาวน์ให้ลูกๆ เธอติดต่อไปที่เพจของบริษัท xxx ซึ่งประกาศรับสร้างบ้านทรงนอร์ดิก ที่ดูแล้วสวยงาม แถม ความน่าเชื่อถือก็มีด้วยนะ เพราะมีดาราชื่อดังหลายคนเป็นพรีเซ็นเตอร์ ก็เลยตัดสินใจว่าจ้างบริษัทฯ นี้ทำบ้านน็อคดาวน์ให้แมวของเธอ ซึ่งตกลงการจ้างทำที่ราคา 1.6 แสนบาทเศษ แบ่งจ่าย 2 งวด กำหนดเวลา 20 วัน บ้านเสร็จ         ขณะที่สบายใจแล้วว่าจะมีที่ทางให้เหมียวๆ เธอกลับต้องโทรศัพท์มาร้องเรียนที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  บอกว่า เจอน็อค เข้าเต็มเปา เพราะความไว้ใจเหล่าพรีเซนเตอร์ของเพจแท้ๆ  คือเธอจ่ายเงินค่าจ้างให้บริษัทฯ ไปก่อน เพราะบริษัทอ้างว่าจะส่งมอบสัญญาให้ภายหลังจากก่อสร้างเสร็จแล้ว เรื่องนี้เลยกลายเป็นสัญญาปากเปล่านะสิ         เมื่อไม่มีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร คุณดุจดาวจึงเสียเปรียบ เพราะนับตั้งแต่ 15 มิถุนายน 2566 ที่เริ่มก่อสร้าง... จวบจนถึงปัจจุบัน ( 2567 ) บ้านน็อคดาวน์ของแมวก็ไม่เสร็จเสียที แถมของเดิมที่สร้างไว้ก่อนหน้านี้ (แบบยังไม่เสร็จ) ก็มีปัญหาแทบทุกจุดของบ้าน แล้วตอนนี้ผู้รับเหมาก็หายตัวไปแล้วด้วยก็เลยมาขอคำปรึกษาว่าจะทำยังไงดีเพื่อให้ได้เงินกลับคืนมา หรือให้ผู้รับเหมากลับมาสร้างบ้านให้เสร็จเรียบร้อย แนวทางการแก้ไขปัญหาเจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ เมื่อได้ฟังปัญหาจบ จึงให้คำแนะนำเบื้องต้น 3 ข้อ ดังนี้        1. หาก ”ผู้ร้อง”ไม่ต้องการให้ทำจดหมายบอกยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน โดยส่งแบบไปรษณีย์ตอบรับเท่านั้น พร้อมส่งสำเนาถึง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อช่วยติดตามเรื่องและสามารถใช้เป็นหลักฐานทางด้านคดีด้วย        2. ใน จดหมาย “ให้ ผู้ร้อง” กำหนดเงื่อนเวลากำกับให้ชัดเจน เพราะหากเลยกำหนด แต่ผู้รับเหมาไม่ยอมคืนเงิน ขั้นตอนต่อไปมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะเชิญ 2 ฝ่าย มาไกล่เกลี่ย        3. หากกระบวนการไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ ผู้ร้องในฐานะผู้เสียหาย สามารถยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค ที่ศาลแพ่ง แผนกคดีผู้บริโภค https://civil.coj.go.th/.../category/detail/id/22/iid/334689                                                                                     เบื้องต้นผู้ร้องจะดำเนินการตามข้อแนะนำ หากต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมจะแจ้งมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคดำเนินการฟ้องคดีแล้ว ในกระบวนการทางศาลอาจเกิดกระบวนการไกล่เกลี่ยอีกครั้งก็ได้ โดยการฟ้องร้องกรณีนี้สามารถฟ้องได้ทั้งทางแพ่งและอาญา         ในทางแพ่ง: กรณีดังกล่าวเป็นการจ้างทำของ ผู้รับจ้างจะต้องส่งมอบงานให้เสร็จ ตามที่ตกลงกัน การที่ผู้รับจ้างไม่สามารถส่งมอบงานได้ จึงถือเป็นการผิดสัญญา ผู้ว่าจ้างมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากผู้รับจ้างที่ผิดสัญญา เช่น เรียกเงินค่าจ้างคืน ค่าปรับหรือเบี้ยปรับส่งมอบงานล่าช้า ค่าเสียหายกรณีชำรุดบกพร่อง เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ว่าจ้างจะต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายใน 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1)         ในทางอาญา : เมื่อมีการผิดนัดไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างบุคคลสองฝ่ายเกิดขึ้น มักมีปัญหาข้อกฎหมายที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ คู่กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญานั้นมีจะความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ต้องพิจารณา “เจตนาขณะทำสัญญา” ของคู่กรณีฝ่ายที่ผิดสัญญาว่า ขณะที่ทำสัญญามีเจตนาจะปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงที่ให้ไว้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ ถ้าขณะทำสัญญาคู่กรณีฝ่ายที่ผิดสัญญา ไม่มีเจตนาจะปฏิบัติตามสัญญาเลยตั้งแต่แรก เป็นการทำสัญญาเพื่อหวังผลประโยชน์จากคู่กรณีแบบนี้จึงถือ เป็นความผิดฐานฉ้อโกง แต่ถ้าขณะทำสัญญา คู่กรณีฝ่ายที่ทำผิดสัญญานั้น มีเจตนาที่จะปฏิบัติตามสัญญา แต่ภายหลังแล้วไม่ได้ปฏิบัติตาม เป็นเพียงเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง หากจะดำเนินคดีในทางอาญาจึงจะต้องมีหลักฐานชี้ให้ศาลเห็นให้ได้ว่า ขณะทำสัญญาคู่กรณีมีเจตนาฉ้อโกงตั้งแต่แรกแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 กระแสต่างแดน

ลดแล้วเพิ่ม         หลังจากเนเธอร์แลนด์ปรับลด “ความเร็วจำกัด” บนท้องถนนในเมือง จาก 50 กิโลเมตร เป็น 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จำนวนผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงจากอุบัติเหตุจราจรกลับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 21 จากปี 2022         ข้อมูลจากสถาบันความปลอดภัยทางถนน (SWOV) ระบุว่า ปีนี้มีผู้เสียชีวิต 745 คน บาดเจ็บสาหัส 8,300 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 39 ของผู้เสียชีวิต และร้อยละ 70 ของผู้ได้รับบาดเจ็บคือผู้ใช้จักรยาน คนส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ยังเป็นผู้สูงอายุอีกด้วย         สาเหตุหลักคือ อุบัติเหตุรถล้มขณะขับขี่ การชนกับจักรยานด้วยกันเอง หรือไม่ก็อุบัติเหตุที่คู่กรณีไม่ใช่พาหนะคันอื่น         เรื่องนี้ค้านกับสิ่งที่ผู้คัดค้านการบังคับสวมหมวกนิรภัยเคยเสนอว่าการบาดเจ็บล้มตายจากอุบัติเหตุจักรยานควรเป็นการทำสภาพถนนให้ปลอดภัยและปรับลดความเร็วจำกัดบนท้องถนน พวกเขาไม่เชื่อในการบังคับสวมหมวกนิรภัย เพราะจะทำให้คนไม่อยากใช้จักรยานไม่เอาหนี้นอก         ช่วงนี้เทรนด์การจัดการหนี้นอกระบบกำลังมา ประเทศร่ำรวยอย่างเกาหลีใต้เพิ่งจะประกาศใช้กฎระเบียบที่เข้มขึ้นพร้อมเพิ่มบทลงโทษเจ้าหนี้เงินกู้ที่คิดดอกแพงลิ่ว จุดประสงค์คือการคุ้มครองลูกหนี้ไม่ให้จมกองหนี้โดยไม่มีทางออก         ลูกหนี้รายหนึ่งกู้เงินมา 250,000 วอน สามเดือนต่อมาหนี้ดังกล่าวงอกเงยขึ้นเป็น 150,000,000 วอน ในขณะที่เจ้าหนี้สาวรายหนึ่งถูกจับกุมดำเนินคดีเพราะเรียกเก็บดอกเบี้ยร้อยละ 5,000 และยังข่มขู่ลูกหนี้ไปไม่ต่ำกว่า 300 ครั้ง            แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าปัญหาที่แท้จริงคือการเข้าไม่ถึงเงินกู้จากแหล่งทุนถูกกฎหมาย (สมาคมผู้ให้บริการเงินกู้บอกว่าพวกเขาปล่อยกู้ได้น้อยลงเกือบร้อยละ 70) แม้แต่การกู้เงินจากบัตรเครดิตก็ไม่ง่ายเช่นกัน         เกาหลีใต้มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้นจากปี 2019 มากกว่าสองเท่าตัว และในปี 2022 มีคนเข้าสู่วงจรนี้ไม่ต่ำกว่า 70,000 คน  ทาสแมวมีเฮ         รัฐบาลสิงคโปร์เสนอให้ยกเลิกการห้ามเลี้ยงแมวในแฟลตของรัฐ หลังใช้กฎหมายดังกล่าวมานานกว่า 30 ปี โดยรัฐบาลให้คำมั่นว่าแผนนี้จะเป็นผลดีทั้งต่อคนที่เลี้ยงและไม่ได้เลี้ยงแมว         ทั้งนี้ภายใต้ร่างกฎหมายใหม่ที่ว่าด้วย “การจัดการแมว” เจ้าของจะต้องนำแมวไปขึ้นทะเบียน ฝังไมโครชิป (ผู้มีรายได้น้อยสามารถขอรับบริการฟรีได้) และปฏิบัติตามมาตรการในการดูแลสวัสดิภาพสัตว์เลี้ยง เช่น การจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมด้วยการติดตั้งลูกกรงหรือตาข่ายป้องกันน้องตกจากตึก เป็นต้น         หลังการประกาศใช้ในครึ่งหลังของปี 2024 ทาสแมวจะมีเวลา 2 ปีในการยื่นเรื่องขอใบอนุญาตขอเลี้ยงแมวที่มีอยู่ (ซึ่งอาจจะมากกว่าสองตัวก็ได้) โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หากเกินกำหนด ทาสจะถูกปรับ 5,000 เหรียญ (ประมาณ 130,000 บาท)         ส่วนมือใหม่ที่จะเริ่มเลี้ยงแมวก็ต้องเข้ารับการอบรมออนไลน์ว่าด้วยการมีสัตว์เลี้ยงอย่างรับผิดชอบต่อสังคม ก่อนจะได้รับใบอนุญาตด้วย  ขยะที่ถูกลืม         หลายประเทศมีแผนรับมือกับขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รวม “ก้นบุหรี่” ไว้ในขยะประเภทนี้         งานวิจัยโดยศูนย์ธรรมาภิบาลนานาชาติในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ยังเสนอให้มีการ “แบน” ก้นบุหรี่โดยด่วน เพราะขยะที่ถูกทิ้งในประมาณมากที่สุดในโลกคือก้นบุหรี่ ซึ่งข้อมูลวิชาการยืนยันว่าไม่ได้มีสรรพคุณในการลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ได้อย่างที่เข้าใจกัน         ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือประเทศจีนซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคยาสูบรายใหญ่ที่สุดของโลก ค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะจากก้นบุหรี่และซองใส่บุหรี่ในจีนสูงถึงปีละ 2,600  ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 20 ของค่าใช้จ่ายทั้งโลกรวมกัน)         ปัญหาสิ่งแวดล้อมอาจเป็นเรื่องใหม่ แต่ปัญหาสุขภาพนั้นมีมานานแล้ว จีนมีนักสูบไม่ต่ำกว่า 300 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคอย่างมะเร็ง โรคปอด โรคหัวใจ วันละประมาณ 3,000 คน    เงินไม่ถึง         หน่วยงานควบคุมดูแลการแข่งขันทางการค้าของอิตาลีสั่งปรับบริษัทของบล็อกเกอร์/ดีไซเนอร์ ชื่อดัง เคียร่า แฟร์รานี เป็นเงินล้านกว่ายูโร         การสอบสวนพบว่าบริษัทดังกล่าวไม่ได้นำเงินที่ได้จากการขาย “เค้กการกุศล” ไปมอบให้กับมูลนิธิของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในช่วงคริสต์มาสปีที่แล้ว ตามที่โฆษณาไว้ ด้านบริษัท Balocco ผู้ผลิตเค้กก็โดนปรับไป 420,000 ยูโรเช่นกัน         หน่วยงานดังกล่าวพบว่า มูลนิธิเพื่อการวิจัยและรักษาโรคมะเร็งกระดูกของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองตูริน ได้รับเงินบริจาค 50,000 ยูโร จากบริษัทผู้ผลิตเค้กหลายเดือนก่อนคริสต์มาส แต่หลังจากที่บริษัทของแฟร์รานีออกแคมเปญชวนทำบุญและระดมทุนได้มากกว่าหนึ่งล้านยูโร กลับไม่มีการบริจาคเพิ่มให้อีกเลย             มาดูกันว่าผู้ติดตามเกือบ 30 ล้านคนในอินสตาแกรมของแฟร์รานีจะมีปฏิกิริยากับเรื่องนี้อย่างไร 

อ่านเพิ่มเติม >