ฉบับที่ 200 แจ้งจับคนขับมอเตอร์ไซค์บนทางเท้า

แม้ทางเท้าหรือฟุตบาทจะเป็นทางเดินสัญจรสาธารณะ แต่ที่ผ่านมาฟุตบาทได้กลายเป็นทั้งที่ขายของ ทางวิ่งรถมอเตอร์ไซค์หรือแม้แต่ที่จอดรถยนต์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้สัญจรไปมาอย่างมาก โดยเฉพาะการขับรถมอเตอร์ไซค์บนทางเท้า ทำให้ภาครัฐออกมาตรการ “ชวนประชาชนแจ้งจับผู้ที่ขี่มอเตอร์ไซค์ทางเท้า และได้รางวัลครึ่งหนึ่งของค่าปรับ” เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวจะใช้ได้ผลจริงหรือไม่ เราลองไปดูเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้กันคุณสมจิตรพบเห็นรถจักรยานยนต์และรถยนต์หลายคันจอดอยู่บนทางเท้า และเห็นหลายคนขับรถจักรยานยนต์บนทางเท้าเป็นประจำ ส่งผลให้เขาและผู้ที่เดินทางสัญจรไปมาบริเวณนั้นได้รับผลกระทบ ต้องเดินหลบกลัวว่าจะถูกรถชน คุณสมจิตรจึงถ่ายรูปเหตุการณ์ดังกล่าวไว้และส่งเรื่องแจ้งไปยังอีเมล citylaw_bma@hotmail.com ตามวิธีการแจ้งเบาะแสของภาครัฐ อย่างไรก็ตามหลังส่งเรื่องไปแล้วหลายอาทิตย์ เขากลับไม่พบการแก้ปัญหาหรือการติดต่อกลับเพื่อให้ไปรับรางวัลนำจับแต่อย่างใด จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาจากการแถลงข่าวโดยรองโฆษกกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา เกี่ยวประเด็นเรื่องการให้รางวัลนำจับ กรณีพบเห็นผู้ขับขี่บนทางเท้าว่า กทม. ต้องการให้โครงการนี้เป็นมาตรการหนึ่งในการจัดระเบียบสังคมให้เกิดความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย ความปลอดภัย โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามามีส่วนร่วม ซึ่งหากพบเห็นผู้ที่จอดหรือขับขี่รถจักรยานยนตร์และรถยนต์บนทางเท้า สามารถถ่ายรูปหรือวิดีโอเก็บไว้เป็นหลักฐานและแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ได้ทันที เพราะถือว่าทำผิดตาม พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ในมาตรา 17 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดจอด หรือ ขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือล้อเลื่อน บนทางเท้า เว้นแต่เป็นการจอดหรือขับขี่เพื่อเข้าไปในอาคาร หรือมีประกาศของเจ้าพนักงานจราจรผ่อนผันให้จอดหรือขับขี่ได้ ซึ่งหากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาทสำหรับช่องทางการแจ้งเบาะแส สามารถทำได้ 6 ช่องทาง ดังนี้ 1.ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน กทม.1555 2.สายด่วนสำนักเทศกิจ 02-465-6644 3. ไปรษณีย์ ส่งถึงสำนักเทศกิจ เลขที่ 1 ถนนเทศบาลสาย 1 แขวงวัดวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี 10600 4. อีเมล์ citylaw_bma@hotmail.com 5. ทางเฟซบุ๊กสำนักเทศกิจ กรุงเทพมหานคร และ 6. สำนักงานเขตในพื้นที่พบเห็นทั้ง 50 เขต ทั้งนี้สำหรับหลักฐานในการเอาผิดต้องให้เห็นชัดเจนคือ มีเลขทะเบียนรถผู้กระทำผิด ซึ่งหากเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้างโดยสารสาธารณะ ต้องให้เห็นหมายเลขเสื้อและวินที่สังกัดด้วย พร้อมระบุวัน เวลา สถานที่กระทำผิด โดยเจ้าหน้าที่จะเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้แจ้งไว้เป็นความลับอย่างไรก็ตามหลักเกณฑ์รางวัลนำจับที่ผู้แจ้งความจะได้รับรางวัลกึ่งหนึ่งของค่าปรับนั้น จะได้รับภายหลังจากที่ผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าปรับแล้ว และสำนักงานเขตจะทำหนังสือไปยังผู้ที่แจ้งข้อมูลดังกล่าว เพื่อให้เข้ามาเพื่อรับค่านำจับ ซึ่งจะได้รับภายใน 60 วันนับแต่วันที่เขตได้รับแจ้ง หรือหากผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าปรับในวันเดียวกัน ผู้แจ้งก็จะได้รับรางวัลค่าปรับในนั้นทันที ในขณะเดียวกันส่วนของค่าปรับนั้นต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่จับครั้งแรกแล้วปรับ 5,000 บาททันที แต่จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่เทศกิจด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะมีการบันทึกประวัติผู้กระทำผิดไว้ หากทำผิดครั้งแรกอาจจะปรับ 1,000 บาท และครั้งต่อไปถึงค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้น เมื่อศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ได้ช่วยติดตามข้อมูลของผู้ร้อง โดยโทรศัพท์ไปสอบถามยังสำนักงานเขตที่ได้แจ้งไป ซึ่งตอบกลับมาว่าได้รับหลักฐานการแจ้งเบาะแสแล้วเรียบร้อย แต่อยู่ในขั้นตอนรอผู้กระทำความผิดมาชำระค่าปรับ และหากมีการชำระแล้ว จะดำเนินการแจ้งผู้ร้องให้เข้ามารับส่วนแบ่งต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >