ฉบับที่ 146 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนมีนาคม 2556 ใช้น้ำมันทอดซ้ำ = ทำผิดกฎมาย หลังจากนิตยสารฉลาดซื้อของเราได้ลงผลทดสอบ “น้ำมันทอดซ้ำในไก่ทอด” ซึ่งตรวจพบสารโพลาร์ – สารก่อมะเร็งในน้ำมันทอดซ้ำในหลายตัวอย่าง ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องอาหารปลอดภัย ก็ได้ออกมารับไม้ต่อในการทำหน้าที่ปกป้องผู้บริโภค โดยทั้งสุ่มตรวจอาหารทอด และออกกฎหมายควบคุมการใช้น้ำมันทอดซ้ำ อย.ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง วิธีการผลิตอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ ซึ่งในประกาศได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำห้ามมีการปนเปื้อนของสารโพลาร์เกินร้อยละ 25 ของน้ำหนักอาหาร หากมีการสุ่มตรวจแล้วพบการปนเปื้อนเกินกว่าค่าที่กำหนด ผู้ผลิตหรือผู้ขายอาหารที่ทำผิดจะมีโทษปรับสูงสุดหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งประกาศนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2556 เป็นต้นไป มีข้อมูลที่ทาง อย. ได้สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำมันทอดซ้ำจากทั่วประเทศ ซึ่งเมื่อดูผลย้อนหลัง 5 ปี พบว่ามีความเสี่ยงจากอันตรายในน้ำมันทอดซ้ำเพิ่มขึ้นทุกปี โดยจากการเก็บตัวอย่าง อาหารทอดที่พบสารโพลาร์เกินร้อยละ 25 มีอย่างเช่น แคบหมู มันฝรั่ง ไส้กรอก ลูกชิ้น และไก่ทอด ----------------------------------------------------------   พ.ร.บ.ยา...ที่ยังมาไม่ถึง (สักที) คนไทยยังคงต้องร้องเพลงต่อไป สำหรับโอกาสที่จะได้ใช้ พ.ร.บ. ยา พ.ศ. ... (ฉบับประชาชน) หลังจากถูกดองโดยรัฐบาลเป็นเวลาร่วม 1 ปี ทั้งๆ ที่กฎหมายฉบับนี้ซึ่งมาจากการเข้าชื่อของประชาชนหนึ่งหมื่นชื่อผ่านการรับรองโดยรัฐสภาแล้วเรียบร้อย แต่นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังไม่ลงนามรับรองร่างกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน รัฐบาลจะต้องออกร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับของรัฐบาลมาควบคู่กัน เพื่อพิจารณาเปรียบเทียบ กฎหมายจากภาคประชาชนฉบับนี้จึงอดแจ้งเกิด ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา กล่าวว่า พ.ร.บ. ยา ฉบับประชาชน จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในเรื่องการใช้ยาของคนไทย ทั้งการตั้งกองทุนชดเชยความเสียหายจากปัญหาการใช้ยา ซึ่งหลายประเทศที่พัฒนาแล้วใช้หลักการนี้ การควบคุมการส่งเสริมการขาย สร้างโครงสร้างราคายาที่เหมาะสม ลดปัญหาการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันเรานำเข้ายาจากต่างประเทศถึง 70% โดยหลังจากนี้ กพย. วางแผนที่จะผลักดันให้เกิดการใช้ร่างเกณฑ์จริยธรรมการส่งเสริมการขายยา ด้วยการพิมพ์เผยแพร่ร่างดังกล่าว ส่งต่อให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ที่สนใจและเห็นประโยชน์เพื่อให้ลองนำไปปรับใช้ต่อไป ----------------------------------------------- สวยต้องห้าม "สเต็มเซลล์ โรลเลอร์” ความสวยไม่ควรมาพร้อมความเสี่ยง การแพทย์เพื่อความงามต้องตั้งอยู่บนความปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ออกโรงยืนยันว่า "สเต็มเซลล์ โรลเลอร์ (Stem Cell Roller)" และ "เดอร์มา โรลเลอร์" (Derma Roller) ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ที่โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณว่า ช่วยรักษารอยเหี่ยวย่น รอยสิว ผิวหน้าไม่เรียบ ทำให้หน้าใส โดยจะใช้ลูกกลิ้งที่มีเข็มเล็กๆ เป็นจำนวนมาก กลิ้งไปบนใบหน้า เพื่อให้ใบหน้ามีการสร้างเซลล์ผิวหนังใหม่ขึ้นมาทดแทนนั้น ไม่ได้รับการรับรองให้ใช้รักษาในประเทศไทย เพราะไม่มีข้อมูลการันตีเรื่องผลการรักษา และยังเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อผิวหน้า โดย อย. ได้เอาผิดกับ 2 คลินิกเสริมความงามชื่อดัง ทั้ง นิติพลคลินิก และ วุฒิ-ศักดิ์คลินิก หลังจากได้รับการร้องเรียนและตรวจสอบพบว่ามีการให้บริการ สเต็มเซลล์ โรลเลอร์ และเดอร์มา โรลเลอร์ อันตรายของ สเต็มเซลล์ โรลเลอร์ และเดอร์มา โรลเลอร์ ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ ที่ทำให้เกิดบาดแผลกับผิวหน้า มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคติดต่ออันตราย หากเครื่องมือที่ใช้ไม่มีความสะอาดและไม่ได้มาตรฐาน ------------   ร้องเนสท์เล่ เรียกคืน “คิทแคท” เจ้าปัญหาแบบในต่างประเทศ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคความปลอดภัยด้านอาหารภาคประชาชน รวมกันแถลงข่าว ร้องขอความรับผิดชอบจาก บริษัท เนสท์เล่ ประเทศไทย ให้มีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ ช็อคโกแล็ตนมสอดไส้เวเฟอร์ ตราเนสท์เล่คิทแคท ออกจากร้านค้าทั่วประเทศ หลังจากพบปัญหาว่าพลาสติกที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์หลุดออกมาปนเปื้อนในเนื้อช็อกโกแลตที่เคลือบขนม ปัญหาแบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ โดยบริษัท เนสท์เล่ ได้แสดงความรับผิดชอบโดยการเรียกคืนสินค้าที่มีปัญหาโดยสมัครใจทั้งใน อังกฤษ เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ หรือแม้แต่มาเลเซีย ซึ่งผลิตภัณฑ์คิทแคทที่จำหน่ายในบ้านเรานำเข้ามาจากมาเลเซีย ลักษณะของปัญหาเกิดจากตัวบรรจุภัณฑ์ที่มีการนำเส้นพลาสติกสีแดงติดอยู่ด้านใน ซึ่งสามารถหลุดลอกออกมาได้ทำให้ไปปนเปื้อนกับตัวอาหาร ยิ่งเนื้อช็อกโกแลตมีโอกาสหลอมเหลวได้ง่ายเมื่ออยู่ในที่ที่มีอากาศร้อน การปนเปื้อนของเส้นพลาสติกกับเนื้ออาหารจึงเกิดขึ้นได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงน่าจะมาจากตัวบรรจุภัณฑ์ที่ถูกออกแบบมาไม่เหมาะสม ------------------------------------------------------------------------------   กสทช. กับความล้มเหลวเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค "2556 ปีทองการคุ้มครองผู้บริโภค " คือคำประกาศที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. นำมาใช้แสดงวิสัยทัศน์ในการทำงาน แต่หากลองพิจารณาถึงการทำงานตลอดปี 2555 ที่ผ่านมา และช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 จะเห็นว่าผลงานที่ประจักษ์ของ กสทช. นั้น ช่างแตกต่างจากคำประกาศอย่างสิ้นเชิง เพราะการทำงานที่ผ่านมา ปัญหาของผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบของ กสทช. ถูกละเลยอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การกำหนดวันหมดอายุบัตรเติมเงิน การคิดค่าโทรนาทีละ 99 สตางค์ หรือปัญหา sms หลอกเงิน ซึ่งหลายเรื่องมีข้อกฎหมายกำหนดชัดเจนมาพร้อมบทลงโทษกับผู้ประกอบการที่กระทำผิด แต่ทุกปัญหาก็ยังคงรบกวนผู้บริโภคอย่างไม่มีทีท่าว่าจะได้รับการแก้ไข นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวเสริมถึงเรื่องปัญหาของผู้บริโภคว่า ปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเต็มที่ ปีที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนมาที่ กสทช. ประมาณ 4 - 5 พันเรื่อง การแก้ไขเป็นไปอย่างล่าช้า ทั้งที่กฎหมายกำหนดว่าต้องดำเนินการภายใน 30 วัน โดยยังคงมีเรื่องร้องเรียนค้างอยู่นับพันเรื่อง ซึ่งสาเหตุของปัญหามาจากการจัดการทั้งเรื่องของบุคลากรและงบประมาณที่ไม่เพียงพอ ขั้นตอนการดำเนินงานที่มากเกินไป ทั้งหมดล้วนเกิดจากการบริหารจัดการที่ยังไม่มีความชัดเจนและไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องปัญหาผู้บริโภคมากเพียงพอ จากนี้ไป ผู้บริโภคอย่างเราก็คงต้องจับตาดูการทำงานของ กสทช. อย่างใกล้ชิด  กสทช. ต้องแสดงความจริงใจในการเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคในยุคที่บริการด้านการสื่อสารมีบทบาทอย่างมากกับการดำเนินชีวิต ไม่ใช้องค์กรที่ค่อยสร้างประโยชน์แก่ผู้ประกอบการอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ---------------------   //

อ่านเพิ่มเติม >