ฉบับที่ 126 ร้องทรูมูฟโกงค่าบริการมือถือ

เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2553 โทรศัพท์มือถือของคุณโอภาส ได้รับข้อความเชิญชวนว่าเป็นผู้โชคดีให้เข้ารับโทรศัพท์มือถือยี่ห้อแบล็ค เบอร์รี่ มีเงื่อนไขง่ายๆ ว่า เพียงพิมพ์ตัวอักษร TA แล้วส่ง SMS มาที่หมายเลข 420XXXX X เสียค่าส่งข้อความ 3 บาท เท่านั้นก็มีสิทธิจะเป็นผู้โชคดีแล้วไม่ต้องใช้เวลาคิดนาน เสียแค่ 3 บาทเพื่อลุ้นมือถือราคาเป็นหมื่น คุณโอภาสกดส่งข้อความ TA ไปยังหมายเลขที่ได้รับแจ้งทันที แต่ส่งไปแล้วเงียบฉี่ ไม่มีการตอบรับข้อความแต่อย่างใด“เออ ก็แค่ถูกหลอกเสียเงิน 3 บาท ไม่ได้อะไร” คุณโอภาสคิดในใจแต่หลังจากนั้นไม่นานสักประมาณสี่โมงเย็นของวันเดียวกัน ปรากฏว่ามีข้อความเกี่ยวกับความรักส่งมาที่โทรศัพท์มือถือของคุณโอภาส ซึ่งเป็นเบอร์จดทะเบียนจ่ายเงินรายเดือนของค่ายทรูมูฟ นับจากครั้งนั้นคุณโอภาสจะได้รับข้อความ SMS ลักษณะนี้วันละสองข้อความด้วยความงงๆ ว่า “มันส่งมาทำไม”คุณโอภาสไม่เคยส่งข้อความตอบกลับเลยสักครั้งเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง มาเป็นเรื่องเอาตอนที่บริษัท ทรูมูฟ ส่งใบแจ้งหนี้รายเดือนมา คุณโอภาสจึงทราบว่าข้อความ ”รัก รัก” ที่ส่งมานั้น เขาจะต้องเป็นผู้ชำระเงิน เมื่อสอบถามไปที่ทรูมูฟก็เจอคำตอบเหมือนผู้บริโภคอีกหลายรายว่า ข้อความที่มีการส่งมานั้นไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท ทรูมูฟแต่อย่างใด แต่ขอให้ผู้บริโภคจ่ายเงินมา “ผมมีข้อสงสัยจากพฤติการณ์ของบริษัท ทรูมูฟ ว่าเป็นการฉ้อโกงประชาชนหรือไม่ เพราะมีการหลอกลวงผู้ใช้บริการด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และการหลอกลวงนั้นก็อาจทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง โดยการใช้อุบายในการส่งข้อความเชิญชวนให้ประชาชนที่เป็นผู้ใช้บริการหลงเชื่อทาง SMS แล้วอ้างว่าเป็นการกระทำของผู้อื่น โดยที่บริษัทไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลย” คุณโอภาสถามมา แนวทางแก้ไขปัญหา จะเข้าข่ายฉ้อโกงหรือไม่ก็ต้องมาดูกันที่องค์ประกอบในการกระทำผิด หากเป็นการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง ถ้าผู้ถูกหลอกลวงหลงเชื่อและส่งมอบทรัพย์หรือยอมให้ทรัพย์สินนั้นไปด้วยความเต็มใจ ถือเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ในกรณีนี้ ข้อเท็จจริงมีว่า มีการส่งข้อความเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปที่เป็นกลุ่มผู้ใช้บริการหมายเลขโทรศัพท์แบบเหมาจ่ายรายเดือนเท่านั้น แล้วจึงมีการเรียกเก็บค่าบริการในภายหลัง ถ้ารายไหนไม่ทักท้วงยินยอมจ่ายไปโดยดีแล้วมารู้ตัวภายหลังว่าถูกหลอก ตรงนี้ก็อาจจะไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกับผู้ประกอบการที่ส่ง SMS มาเชิญชวน และผู้ให้บริการมือถือที่มีส่วนได้รับประโยชน์จากการรับและส่ง SMS ในข้อหาฉ้อโกงประชาชนได้ ส่วนผลคดีจะเป็นอย่างไรก็ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเขาสืบสวนกันต่อไป แต่ที่แน่ๆ ผู้ให้บริการมือถือจะต้องคืนเงินที่เรียกเก็บไปแล้วในส่วนของการรับส่ง SMS ที่ไม่พึงประสงค์นี้โดยทันทีแต่หากยังไม่มีการชำระค่าใช้จ่ายตามบิลที่เรียกเก็บมา ผู้บริโภคสามารถทักท้วงได้ว่า บริการ SMS ดังกล่าว ตนมิได้มีความประสงค์ที่จะสมัครใช้บริการแต่เกิดจากการหลอกลวง ขอให้บริษัทผู้ให้บริการมือถือระงับการเรียกเก็บค่าบริการดังกล่าวโดยทันที แต่หากจะยังบังคับขืนใจให้ต้องจ่าย เช่น ขู่ว่าหากไม่จ่ายจะถูกตัดสัญญาณระงับการให้บริการ แล้วผู้บริโภคต้องจำยอมจ่าย มาถึงตรงนี้ก็จะเข้าองค์ประกอบความผิดของการกรรโชกทรัพย์ได้เพื่อป้องกันปัญหาด้านคดีความที่อาจจะเกิดขึ้น ผู้ให้บริการมือถือควรทราบถึงหน้าที่ของตนเอง เมื่อผู้บริโภคได้แจ้งว่าไม่ได้ประสงค์ที่จะใช้บริการ SMS ดังกล่าว ควรที่จะระงับการบริการนั้นทันทีและห้ามมิให้มีการเรียกเก็บเงินค่าบริการกับผู้บริโภค หรือหากมีการเรียกเก็บเงินไปแล้วจะต้องคืนให้กับผู้บริโภคทันทีโดยช่องทางใดทางหนึ่ง เช่น เป็นส่วนลดในรอบบิลถัดไป เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >