ฉบับที่ 135 หนึ่งบทเรียนจากการทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์

“ผมยังมองว่าหลักการประกันชีวิตเป็นเรื่องที่ดี  ที่ผมฟ้องก็เพราะต้องการปกป้องตัวแทนประกันชีวิต เพื่อที่จะได้มีอาชีพทำต่อไป  ปกป้องหลักการประกันชีวิตซึ่งผมเชื่อว่าดี แต่การทำแบบนี้ทำให้หลักการประกันชีวิตเสียหาย  จึงต้องสู้กันในเรื่องกฎหมายเพื่อยกระดับมาตรฐาน...” ทุกคนมีสิทธิฉบับนี้สมาชิกนิตยสารฉลาดซื้อท่านหนึ่ง ได้แนะนำบุคคลน่าสนใจเข้ามา เพราะไปพบเรื่องราวการต่อสู้ที่เว็บไซต์ของ  www.pantip.com เขาเป็นผู้บริโภคอีกคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิตนเองในกรณีเกี่ยวกับการประกันชีวิต เชิญมาติดตามกันค่ะ คุณทรงกฤษณ  ศรีสุขวัฒนา  เป็นอีกคนที่วางแผนและมองการณ์ไกลเรื่องอนาคต หลังการฟังคำแนะนำ ของตัวแทนบริษัทประกันชีวิต AIA (บริษัท อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด) โดยใช้แผ่นพับแนะนำที่เรียกว่า  21 TMAE เรื่องแผนการออมเงินในรูปแบบของการทำประกันชีวิต เขาจึงตกลงใจทำสัญญาประกันชีวิต 21 ปี วงเงินประกัน 300,000 บาท เมื่อวันที่  4  สิงหาคม 2532 ในขณะที่เขาอายุ 31 ปี  โดยมีเงื่อนไขว่าเมื่อครบกำหนดสัญญา  21  ปี  ผู้เอาประกันจะได้รับเงินคืนตามเอกสารแนะนำดังนี้   1.ผู้เอาประกันจะได้รับเงินคืน  10  %  ของวงเงินประกัน  ทุก  3  ปี  รวม 6 ครั้ง โดยจะได้รับเงิน  สิ้นปีที่ 3, 6, 9, 12, 15, และ 18  และได้รับเงินคืน  เมื่อครบกำหนดสัญญาสิ้นปีที่ 21  เป็นเงิน  40 %  ของวงเงินประกัน 2. เมื่อครบกำหนดสัญญาสิ้นปีที่ 21   ผู้เอาประกันจะได้รับทุนประกันเพิ่มประมาณ 10  %  ของวงเงินประกันทุก  3  ปี  สะสมรวม  7  ครั้ง  เป็นเงินประมาณ  70 %  ของวงเงินประกัน 3.เมื่อครบกำหนดสัญญาสิ้นปีที่ 21   ผู้เอาประกันจะได้รับเงินปันผลเมื่อครบกำหนดสัญญาประมาณ 30  % ซึ่งเมื่อครบกำหนดสัญญา  21  ปี  ผู้เอาประกันจะได้รับเงินคืน  รวมประมาณ  140 %  ของวงเงินประกัน  (40%+70%+30% = 140%)  (วงเงินประกัน  300,000 X 140 % = 420,000 บาท) ซึ่งเขาต้องจ่ายเบี้ยฝากสะสมเป็นรายปี  ปีละ  20,301 บาท  เป็นเวลา  21  ปี  เป็นเงินเบี้ยฝากสะสม  รวมทั้งสิ้น  426,321 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับเงินที่จะได้รับแล้ว เขาจ่ายเงินส่วนต่างไป 6,321 บาท แต่เมื่อครบกำหนดสัญญาของกรมธรรม์   21 ปี เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2553 ทางบริษัทฯ ทำจดหมายแจ้งคุณทรงกฤษณมาว่า จะจ่ายเงินให้  405,000 บาท  ซึ่งน้อยกว่าในสัญญาที่ควรจะได้ 15,000 บาท คุณทรงกฤษณจึงทำหนังสือทวงถามทางบริษัทให้ชำระเงินส่วนที่เหลือตามกรมธรรม์  ต่อมาบริษัทฯได้ทำหนังสือชี้แจงการจ่ายเงินเบี้ยประกันให้กับคุณทรงกฤษณ  จึงทำให้ทราบว่ากรมธรรม์ ที่  บริษัท  AIA  ออกให้เมื่อวันที่  8  สิงหาคม  2532  นั้น  บริษัท  AIA  จำกัดความรับผิดจ่ายเงินส่วนเพิ่มจากทุนประกัน เป็นไม่น้อยกว่า  6 %  ซึ่งเป็นการระบุความรับผิดชอบจ่ายเงินในส่วนนี้น้อยกว่าในแผ่นพับแบบ  21 TMAE ซึ่งระบุไว้ว่าจะจ่ายประมาณ  10  %  ทุก 3 ปี สุดท้ายจึงฟ้องบริษัท อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด เป็นคดีผู้บริโภค ในคดีผิดสัญญา(ประกันชีวิต)  ที่ศาลแขวงพระนครใต้ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2553 เรียกค่าเสียหาย 40,894.52 บาท  พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี  โดยอ้างอิงแผ่นพับการเสนอขายประกัน 21 TMAE ที่ตัวแทนบริษัทประกันยื่นขาย เป็นหลักฐาน ภายหลังการพิจารณาคดีศาลพิพากษา เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2554 ศาลมีคำพิพากษาให้บริษัทอเมริกันอินเตอร์แนชชันแนลแอสชัวรันส์ จำกัด ต้องจ่ายเงินคืนให้คุณทรงกฤษณ จำนวน 40,894.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันทวงถาม จนถึงวันยื่นฟ้อง ฟ้องเพื่อยกเป็นมาตรฐาน “ทางบริษัท AIA เขายื่นอุทธรณ์ผมเขียนยื่นอุทธรณ์ไปแล้ว  การต่อสู้ในศาลทางบริษัทจะต่อสู้ว่าโบรชัวร์ไม่ใช่ของบริษัทของเขา แต่ผลสุดท้ายศาลก็ตัดสินให้ผมชนะ การต่อสู้ของผมครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการต่อสู้เพื่อตัวเองเลย เพราะการเสนอขายประกันของบริษัท AIA  ที่เรียกว่า แบบ  21 TMAE นั้น  นอกจากจะขายให้ผมแล้วน่าจะขายให้กับคนอีกมาก และอาจจะเกิดปัญหาคล้ายๆ กับผม ก็น่าจะใช้เกณฑ์นี้ยื่นฟ้องศาลได้เช่นกัน ตอนแรกบริษัททำจดหมายแจ้งว่าเมื่อครบกำหนดสัญญาจะได้รับเงิน 405,000 บาท แทนที่จะเป็น 420,000 บาท แบบที่คิดคำนวณ  ก็มีส่วนต่างอยู่ 15,000  บาท  พอผมทำจดหมายทวงถามไปก็ได้จดหมายชี้แจงมาทำให้ผมรู้ว่า บริษัท  AIA  จำกัดความรับผิดจ่ายเงินส่วนเพิ่มจากทุนประกันเป็นไม่น้อยกว่า  6   %  ซึ่งเป็นการระบุความรับผิดชอบจ่ายเงินในส่วนนี้  น้อยกว่าในแผ่นพับ แบบ  21 TMAE  ซึ่งระบุไว้ว่าจะจ่ายประมาณ  10  %  ทุก 3 ปี ในปีแรกๆ จะจ่ายให้ 10.5 % ซึ่ง 0.5 % ที่เกินมาเป็นการกระตุ้นการขาย แต่พอช่วงหลังใกล้หมดสัญญาประกัน ก็จ่ายที่อัตราขั้นต่ำ 6%  เป็นระยะเวลา 3 งวด ผมจึงคิดส่วนต่างตรงนี้ เป็น 12% แล้วยื่นฟ้องต่อศาล การทำธุรกิจประกันภัยต้องคำนึงถึงคุณธรรม จริยธรรมในการประกอบธุรกิจเป็นหลัก  แผนทางการเงินในเอกสารเสนอขายประกันกับสัญญากรมธรรม์ต้องเป็นตัวเดียวกัน ซึ่งการที่ตัวแทนขายประกันหรือแผนทางการเงิน  ที่ไม่ได้บอกความรับผิดชอบสูงสุดในการจ่ายคืนเบี้ยประกันไว้ ก็หมายความว่าเสนอขายเท่าไรก็ได้  แต่สุดท้ายเมื่อครบกำหนดกรมธรรม์กลับบอกว่ารับประกันขั้นต่ำตามกรมธรรม์  ซึ่งถือเป็นการตีความฝ่ายเดียว แล้วประชาชนจะทำอย่างไรล่ะ ก็ต้องฟ้อง คำพิพากษาจะมีค่ามากเพราะประชาชนได้ประโยชน์ และเป็นหัวใจในการต่อสู้ครั้งนี้  ที่สำคัญคือผมต้องชนะ  ไม่ใช่เพื่อตัวผมเอง  แต่เพื่อสร้างบรรทัดฐาน  และสร้างมาตรฐานให้ระบบประกันถ้าปล่อยไปแบบนี้มีปัญหาแน่นอน  ต่อไปถ้าตัวแทนเดินเข้าบ้านใครก็คงต้องถูกด่า เพราะคนขาดความเชื่อมั่นในระบบประกัน ส่วนตัวผมยังมองว่าหลักการประกันชีวิตเป็นเรื่องที่ดี  ที่ผมฟ้องก็เพราะต้องการปกป้องตัวแทนประกันชีวิต เพื่อที่จะได้มีอาชีพทำต่อไป  ปกป้องหลักการประชีวิตซึ่งผมเชื่อว่าดี แต่การทำแบบนี้ทำให้หลักการประกันชีวิตเสียหาย  จึงต้องสู้กันในเรื่องกฎหมายเพื่อยกระดับมาตรฐาน   บริษัทประกันต้องมีจริยธรรมในการทำธุรกิจ การแก้ปัญหานั้นต้นตอมันอยู่ที่บริษัทประกัน  ต้องมีจริยธรรม  บางทีพอเรารู้เรื่องการคืนเบี้ยประกันไม่ตรงกับแผนทางการเงินในแผ่นพับแล้ว  แต่ยังไม่ครบกำหนดกรมธรรม์เราจะหยุดจ่ายก็จะกลายเป็นว่าเราผิดสัญญา  แต่ถ้าเราจ่ายต่อจนครบสัญญากรมธรรม์แล้วไปฟ้องศาล  ก็จะเป็นข้อต่อสู้คดีของเขาว่ารู้มาตั้งหลายปีแล้วยังยอมจ่ายก็จะมีการอ้างว่าเรายอมรับในเงื่อนไขนั้นแล้ว  ก็กลายเป็นว่าภาระตกอยู่ที่เราอีก การฟ้องศาลจึงดูจะเป็นทางออกในการสู้  ใครที่เกิดปัญหาต้องสู้เพื่อให้บริษัทเกิดคุณธรรม  จริยธรรม ยิ่งมีการฟ้องมากขึ้น  ภาพและคำถามที่ตามมาว่าเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทนี้  ก็จะช่วยสร้างทางออกได้   ศาลผู้บริโภค คุณทรงกฤษณ  ฝากบอกขอบคุณและชื่นชมการทำงานของเจ้าหน้าที่ศาลแขวงพระนครใต้ว่าให้ความช่วยเหลือด้านการเขียนคำฟ้องคดีผู้บริโภคอย่างดี “ต้องขอชื่นชมครับ ที่ให้ความช่วยเหลือดีมากในการยื่นฟ้องคดี  ใครที่มีปัญหานี้สามารถเข้ายื่นเรื่องฟ้องศาลที่นี่ได้เลยครับ กฎหมายฉบับนี้(พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค) ถือว่ามีประโยชน์กับผู้บริโภคมาก  ลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการฟ้องคดีได้  และไม่ต้องใช้ทนาย  ไม่ต้องมีเงินวางศาล แต่สิ่งหนึ่งที่ยังเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคก็คือภาระการพิสูจน์ยังคงตกอยู่กับผู้บริโภคในการต่อสู้คดี” สำหรับใครที่เกิดปัญหาคล้ายๆ คุณทรงกฤษณนั้น สามารถยื่นเรื่องฟ้องได้ที่ศาลแขวงพระนครใต้ได้ค่ะหรือจะโทรปรึกษา คุณทรงกฤษณได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 089 – 494 – 7335 ค่ะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point