ฉบับที่ 277 กระแสต่างแดน

เมืองอยู่ยาก        นายกเทศมนตรีเมืองฟลอเรนซ์ยอมรับว่าเมืองของเขาได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวแบบไร้การควบคุม         ขณะนี้อัตราค่าเช่าบ้านในเมืองดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 84 ของเงินเดือน เมื่อมองย้อนกลับไปจะพบว่าระหว่างปี 2016 – 2023 ค่าเช่าบ้านในเมืองฟลอเรนซ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 ในขณะที่จำนวนที่พักในแอป Airbnb ก็เพิ่มจาก 6,000 เป็น 15,000 ห้อง/หลัง         ล่าสุดเรื่องนี้ส่งผลกระทบให้บรรดาช่างฝีมือจำนวนมากถูก “ไล่ที่” ออกจากบริเวณทำเลทอง เพราะเจ้าของพื้นที่ต้องการเปลี่ยนจาก “โรงงาน” เป็นโรงแรมสำหรับนักท่องเที่ยว         รัฐบาลอิตาลีได้ร่างระเบียบห้ามเปิดที่พักเพิ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว แต่ยังไม่สามารถประกาศใช้เพราะเสียงค้านจากผู้ที่จะได้ประโยชน์ ในขณะที่แผนส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองก็ยังไม่เป็นมรรคผล เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีเวลาไม่เกินสามวัน จึงต้องการไปเยี่ยมชมเฉพาะสถานที่ยอดนิยมเท่านั้น  เยียวยาจิตใจ         คณะกรรมการแก้ไขข้อพิพาทผู้บริโภคแห่งเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย มีคำสั่งให้ Flipkart แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอันดับหนึ่งของอินเดีย จ่ายเงินชดเชยให้กับผู้บริโภค 10,000 รูปี (4,400 บาท) ฐานบกพร่องในการให้บริการและทำธุรกิจอย่างไม่เป็นธรรม         เดือนกรกฎาคม ปี 2022 ผู้บริโภคสั่งซื้อไอโฟนจากร้านค้าแห่งหนึ่งบนแพลตฟอร์มดังกล่าว และชำระเงินด้วยบัตรเครดิตในราคา 39,628 รูปี (17,300 บาท) หกวันต่อมาเขาได้รับข้อความสั้นจาก Flipkart ว่าคำสั่งซื้อถูกยกเลิก เนื่องจากผู้ให้บริการขนส่งติดต่อผู้รับไม่ได้         เมื่อติดต่อไปยังแพลตฟอร์มก็ได้รับคำอธิบายว่าบริษัทจะคืนเงินให้เต็มจำนวนและขอให้เขาทำการสั่งซื้อเข้ามาใหม่ แต่คราวนี้ไอโฟนรุ่นที่เขาอยากได้มีราคาแพงขึ้นกว่าเดิม 7,000 รูปี         คณะกรรมการฯ มองว่าบริษัทจงใจหากำไรเพิ่มด้วยการยกเลิกออเดอร์ของลูกค้า และสร้างความทุกข์ทรมานทางจิตใจให้กับผู้บริโภคด้วยการยกเลิกโดยไม่ถามความยินยอมของเขาก่อน  ต้องจ้างเด็ก         เยอรมนีกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ผู้ประกอบการขนส่งออกมาเตือนว่าอาจต้องลดจำนวนรถที่ให้บริการลงเพราะหาคนทำงานไม่ได้ หลายรายบอกว่าตำแหน่งที่ประกาศรับยังเหลือว่างถึงร้อยละ 30         เมื่อไม่มีพนักงานเพิ่ม คนที่ทำงานอยู่ก็หยุดงานประท้วงบ่อยเพราะต้องแบกภาระหนักเกินไป         บริษัทขนส่งมวลชน VAG ของเทศบาลเมืองนูเร็มเบิร์ก (ซึ่งต้องการพนักงานขับรถสาธารณะอย่างรถไฟ รถรางและรถเมล์ รวมกันปีละ 160 อัตรา) จึงใช้วิธีติดประกาศจ้างงานตามมหาวิทยาลัย ชักชวนให้นักศึกษาใช้เวลาว่างเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ขับรถราง สัปดาห์ละ 20 ชั่วโมง        คุณสมบัติได้แก่เป็นผู้มีใบขับขี่ อายุเกิน 21 ปี มีความรับผิดชอบ รักงานขับรถ และทำงานเป็นกะได้ ผู้ผ่านการคัดเลือกก็จะได้รับการอบรมภาคทฤษฎี ฝึกปฏิบัติกับเครื่องจำลองการขับ จากนั้นจึงฝึกกับรถรางจริง เนื่องจากอยู่ในภาวะเร่งด่วน การฝึกจึงใช้เวลาน้อยกว่าปกติเท่าตัว ขอก่อนรื้อ         กระทรวงแรงงานเดนมาร์กประกาศห้ามการรื้อถอนอาคารที่มีแร่ใยหินโดยไม่ได้รับอนุญาต และกำหนดโทษปรับไว้ไม่ต่ำกว่า 30,000 โครน (ประมาณ 160,000 บาท)         รายงานข่าวระบุว่ากฎหมายดังกล่าวน่าจะสามารถเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคมปีนี้ โดยมีระยะเวลาผ่อนผัน 6 เดือน         พูดง่ายๆ คือ “เจ้าของบ้าน” จะรื้อถอนเองไม่ได้ เพราะการรื้อถอนต้องดำเนินการโดยบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น บริษัทเหล่านี้จะมีระบบควบคุมคุณภาพ และมีเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรมมาสำหรับการนี้โดยเฉพาะ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดการฟุ้งกระจายของฝุ่นแร่ใยหินซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ        แร่ใยหินถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในเดนมาร์กมา 35 ปีแล้ว แต่ปัญหานี้ยังไม่หมดไปเนื่องจากยังมีการใช้ในงานก่อสร้างต่อเติมอาคาร และยังมีอาคารจำนวนไม่น้อยที่สร้างก่อนปี 1989 (พ.ศ. 2532) ส่วนกรณีของประเทศไทย เรายังไม่อยู่ในกลุ่ม 56 ประเทศที่ประกาศแบนแร่ใยหินแล้ว รีบใช้เงิน         คนเกาหลีไต้มีแนวโน้มจะขอรับเงินเกษียณก่อนกำหนดกันมากขึ้น เพราะต้องการเงินไว้ใช้ในวันที่ค่าครองชีพแพงเหลือใจ         ข้อมูลทางการระบุว่าปีที่แล้วมีคนเกษียณก่อนกำหนด 849,744 คน นับเป็นสถิติสูงสุดตั้งแต่ปี 1999 ซึ่งเป็นปีแรกที่อนุญาตให้มี “early retirement” และคาดว่าปี 2024 นี้จะมีถึง 960,000 คน        ก่อนหน้านี้รัฐบาลเกาหลีได้ประกาศขยับอายุเกษียณจาก 62 เป็น 63 ปี เพื่อให้มีเงินเหลืออยู่ในระบบนานขึ้น แต่คนจำนวนมากไม่อยากรอจนตัวเองอายุ 63 พวกเขารู้สึกอุ่นใจกว่าถ้าได้ถือเงินก้อนไว้เลย หลายคนก็ต้องการเงินมาลดความฝืดเคืองในชีวิตประจำวัน         การขอรับเงินก่อนเวลาเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่มีเงื่อนไขว่าผู้รับจะถูกหักเงินบางส่วน เช่นถ้ารับก่อนกำหนดหนึ่งปี จะถูกหักร้อยละ 6 หรือถ้าขอรับก่อนเวลาห้าปีจะถูกหักร้อยละ 30 เป็นต้น          สหภาพแรงงานเกาหลีกำลังผลักดันให้การขยายเวลาการจ้างงาน เพื่อให้โอกาสผู้สูงอายุมีรายได้เพิ่มก่อนจะต้องออกไปหางานใหม่ เพราะเงินที่ได้จากการเกษียณมันน้อยเกินไป 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม ปี 2566

ระวังเบอร์โทรหลอกดูดเงิน        โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เตือนภัยประชาชนกรณีที่มีมิจฉาชีพใช้เบอร์โทร 082-810-3575 ติดต่อประชาชนหลอกล็อกอินและดูดเงิน โดยมีวิธีการคือ แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กระทวงการคลัง หลอกลวงให้กดยกเลิกสิทธิโครงการของรัฐฯ ที่หมดเขต พร้อมให้ประชาชนล็อกอินใส่ username และ password ของ “แอปพลิเคชันเป๋าเงิน” พร้อมทั้งยังแอบอ้างว่าได้รับเอกสารสิทธิพิเศษจากกระทรวงการคลัง และมีการลงนามโดยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังอีกด้วย         ทั้งนี้  ทางโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขอย้ำว่าหากมีเบอร์โทร 082-810-3575 ติดต่อไป อย่ารับเด็ดขาด ให้บล็อกได้เลย และยืนยันว่ากระทรวงการคลังไม่มีเจ้าหน้าที่ติดต่อหาประชาชนให้ยกเลิกสิทธิ์โครงการของรัฐฯ แน่นอน ภัยออนไลน์ปี 2567 มิจฉาชีพอาจใช้ AI ลวงเหยื่อ         สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึง สถิติแจ้งความออนไลน์เกี่ยวกับคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ผ่านมา  อันดับ 1 ยังคงเป็น “การหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการทางออนไลน์” มีจำนวนกว่า 150,000 คดี   ในส่วนคดีที่ความเสียหายรวมสูงที่สุด คือ “หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์” เสียหายรวมกว่า 16,000 ล้านบาท                    แนวโน้มรูปแบบอาชญากรรมทางออนไลน์ ปี 2567 ประชาชนต้องระมัดระวังมิจฉาชีพ ก่อเหตุโดยนำเทคโนโลยี  AI มาใช้ประโยชน์เพื่อปลอมแปลงฉ้อโกง หรือสร้างความเสียหาย สร้างภาพคลิปปลอม เพื่อนำมาหาประโยชน์ต่างๆ เช่น             ·     การสร้างภาพ หรือคลิปปลอมเป็นบุคคลอื่น (AI Deepfakes)             ·     การเลียนเสียงของบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือคนรู้จัก (AI Voice Covers)             ·     การสร้างคลิปลามกปลอม (AI Deepfakes)             ·     การสร้างข่าวปลอม (Fake News)         ขออย่าหลงเชื่อ ยึดหลัก “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมออนไลน์ ประกาศฉบับใหม่! ห้ามขาย “ใบกระท่อม” ให้คนท้อง-เด็กต่ำกว่า 18 ปี         เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง...การปิดประกาศหรือการแจ้งให้บุคคลที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ทราบถึงข้อห้ามขายใบกระท่อมหรืออาหาร ตามกฎหมายว่าด้วยอาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบ พ.ศ. 2566  มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม2566 เป็นต้นไป         โดยประกาศให้ผู้ขายใบกระท่อม หรืออาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบ มีหน้าที่ต้องประกาศ ให้ทราบถึงข้อห้ามขายแก่บุคคลตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ดังนี้             1. ปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผย มองเห็นได้ชัดเจน และมีขนาดเหมาะสมกับสถานที่ขาย             2. ระบุข้อความที่ปิดประกาศว่า ไม่ขายใบกระท่อม หรืออาหารที่มีใบกระท่อม เป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบให้แก่บุคคล ดังต่อไปนี้                 ·บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปี                ·สตรีมีครรภ์                ·สตรีให้นมบุตร                ·ให้ผู้ขายใบกระท่อม หรืออาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบ หรือส่วนประกอบ โดยวิธีการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือด้วยวิธีการหรือในลักษณะอื่นใด ปิดประกาศหรือแจ้งให้ทราบถึงข้อห้ามขายแก่บุคคลตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ปฏิบัติตามข้อ 3 โดยอนุโลม  3 กลุ่มโรคต้องระวังเมื่อถอนฟัน          จากกรณีข่าวสาววัย 25 ปี เสียชีวิตภายหลังถอนฟัน 2 ซี่ ที่โรงพยาบาลพระจอมเกล้าจังหวัดเพชรบุรี นั้น ด้านนพ.เพชรฤกษ์ แทนสวัสดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่าผลตรวจพบก้อนมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบริเวณกรามด้านขวา ซึ่งกดบีบทางเดินหายใจทำให้หายใจลำบากนำมาซึ่งการเสียชีวิต         การถอนฟันเป็นการรักษาปัญหาสุขภาพในช่องปากที่ต้องได้รับการวินิจฉัยจากทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะการถอนฟันเป็นการรักษาที่มีความเสี่ยงสูง เพราะในช่องปากเต็มไปด้วยเชื้อแบคทีเรียจำนวนมากทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อและแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้ ซึ่งมีสามกลุ่มโรคที่ผู้ป่วยควรต้องแจ้งทันตแพทย์ก่อนหากได้รับการวินิจฉัยว่าต้องถอนฟัน ได้แก่ กลุ่มโรคที่เลือดออกง่ายและหยุดไหลยาก เช่น ลิวคีเมีย โรคไตมีประวัติล้างไต  กลุ่มที่อาจแสดงอาการระหว่างทำฟัน เช่น ลมชัก หอบหืด ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และกลุ่มโรคเบาหวานที่เสี่ยงแผลหายยาก         จี้ กสทช. แก้ปัญหาผู้บริโภครับผลกระทบรวม ทรู-ดีแทค         22 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนายธนัช ธรรมิสกุล หน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้เข้ายื่นหนังสือถึง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวมถึง คณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจตามประกาศ กสทช.         “กรณีเรียกร้องให้เร่งตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากผู้บริโภคหลังรวม ทรู-ดีแทค รวมถึงได้นำหลักฐานผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากทุกค่ายมือถือ ระหว่างวันที่ 9 – 23 พฤศจิกายน 2566 จำนวนผู้ทำแบบสำรวจ 2,924 ราย ยื่นแก่ พลเอกกิตติ เกตุศรี ที่ปรึกษาประจำประธาน กสทช.เป็นตัวแทนรับหนังสือ”         ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา 5 ปัญหาที่พบมากที่สุด จากผลสำรวจมากถึงร้อย 81 หลักๆ มีดังนี้ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า สัญญาณหลุดบ่อย โปรโมชันเดิมหมดต้องใช้โปรโมชันที่แพงขึ้น ค่าแพ็กเกจราคาเท่ากันหมดทำให้ไม่มีทางเลือก และ call center โทรติดยาก อย่างไรก็ตาม ด้านข้อเสนอแนะจากผู้บริโภคที่ทำแบบสำรวจ เช่น ขอให้ยกเลิกการควบรวมรวมธุรกิจโทรคมนาคม ระหว่าง ทรู-ดีแทค เพราะหลังจากที่มีการควบรวมแล้ว ผู้บริโภคพบเจอปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตมีปัญหา ราคาค่าบริการแพงขึ้น แพ็คเกจไม่หลากหลาย  พร้อมยังไม่เห็นประโยชน์ใดๆ ที่ผู้บริโภคจะได้รับโดยตรงหลังจากการควบรวม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 ถอนเงินไม่ได้ มาขอให้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ช่วยเหลือ

        ผู้ร้องรายนี้ มีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ไว้กับแบงก์พาณิชย์แห่งหนึ่ง จู่ๆ วันหนึ่ง เมื่อปี 2564 เกิดอุบัติเหตุ ทำให้สมองเบลอ จึงปล่อยทิ้งบัญชีไว้นานหลายปี กระทั่งเดือน มกราคม 2566 ต้องการไปปิดบัญชี เพื่อนำเงินใช้เงินรักษาตัว จึงให้ ญาติ พาไปแบงก์เพื่อถอนเงิน         เจ้าหน้าที่ตรวจสอบยอดเงินฝากทั้งหมด เหลืออ,ยู่ในบัญชี 4,978 ร้อยบาท แต่ ! แบงก์ให้ถอนได้แค่ 378 บาท เท่านั้น ที่เหลืออีก 4,600 ไม่ให้ถอน         อ้าว ! ทำไมเป็นแบบนี้ ? เจ้าของบัญชี ซักถาม แต่เจ้าหน้าที่ กลับไม่มีคำตอบใดๆ อ้างแค่ว่า จะต้องส่งเรื่องไปที่สำนักงานใหญ่ ให้ตรวจสอบสาเหตุ         แต่รอแบงก์มานานเกิน 1 เดือน กลับยังไม่ได้คำตอบใดๆ ไม่ได้การล่ะ ญาติ เกรงว่า จะไม่ได้เงินคืน จึงโทรศัพท์ มาร้องเรียนที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยเล่าเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นให้ฟัง         เจ้าหน้าที่พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซักถามว่า มีหนี้สิน ค้างชำระกับแบงก์ หรือไม่ ผู้ร้อง ยืนยัน ไม่มี เพียงแต่ ทิ้งบัญชีไว้นานหลายปี ไม่มีการเคลื่อนไหว ฝาก- ถอน แนวทางการแก้ไขปัญหา         เจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ ได้โทรศัพท์ ไปที่ ผู้จัดการสาขา ของ แบงก์ที่เกิดเหตุทันที ถามว่า ทำไม ไม่ให้เจ้าของบัญชีถอนเงิน จะเอาไปรักษาตัว ถ้าหากเป็นอะไรไปถึงขั้นเสียชีวิต เท่ากับ ฆ่ากันทางอ้อม จะรับผิดชอบมั้ย ! ถ้าแบงก์ไม่ยอมให้ถอนเงิน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะทำหนังสือร้องเรียนไปถึง ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้มาตรวจสอบ         ผู้จัดการแบงก์ ตอบ “ อย่าให้เรื่องใหญ่โตขนาดนั้นเลย “ พร้อมยื่นข้อเสนอ วันที่ 13 มกราคมนี้ จะจัดการให้ ส่วนเหตุที่เรื่องเกิดความล่าช้า เพราะต่างชาติ เป็นเจ้าของธนาคาร การติดต่อจะยาก ต้องใช้เวลานิดหน่อย         พอถึง 13 มกราคม เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับแจ้ง ว่า เจ้าของบัญชีก็สามารถถอนเงินของตัวเองได้ จึงทำการปิดบัญชี ทันที ส่วนปมเหตุที่ตอนแรก ไม่ให้ลูกค้าถอนเงิน ทางแบงก์อ้างว่า เพราะ เจ้าของบัญชี เมื่อครั้งฐานะยังดี ได้มาเช่าตู้เซฟ เพื่อเก็บทรัพย์สินมีค่า ทางแบงก์จึงห้ามลูกค้าถอนเงินในบัญชี ที่เหลืออยู่ ( อ้าว ในเมื่อแบงก์รู้สาเหตุตั้งแต่ต้น ทำไม ไม่ยอม บอกกับ ลูกค้า ? )        หลายคนอาจจะบอกว่า แค่เงิน 4 พันกว่า จะอะไรนักหนา แต่อย่าลืมว่า เงินจำนวนนี้ สำคัญกับชีวิต ของหลายคน ! ... หลังจาก ได้รับความช่วยเหลือจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผู้ร้อง โทรศัพท์มาขอบคุณที่ช่วยเหลือเป็นอย่างดี และ ยังเป็นกระบอกเสียงให้คนที่ตกทุกข์ได้ยากมีช่องทางได้รับความยุติธรรม         ผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิ สามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โทรศัพท์ : 02-2483734-7 Line id : @ConsumerThai หรือร้องทุกข์ออนไลน์ที่ https://www.consumerthai.com

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 ใครบ้าง มีสิทธิร้องศาลขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด

เรื่องน่าสนใจคราวนี้เกี่ยวกับขั้นตอนการบังคับคดีหลังศาลมีคำพิพากษากันนะครับ  หลายคนอาจไม่ทราบ แต่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นประโยชน์ เพราะหากวันหนึ่งเราตกเป็นลูกหนี้ แล้วถูกฟ้อง จนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้รับผิด เราจะถูกบังคับคดี ซึ่งเราก็ควรรู้ขั้นตอนการบังคับคดีของศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีไว้ ซึ่งในตอนนี้เป็นคดีที่มีผู้ร่วมรับผิดมากกว่าหนึ่งราย รู้ไว้เผื่อต้องใช้สิทธิต่อสู้ในชั้นบังคับคดีได้นะครับ   โดยประเด็นที่หยิบยกมาเล่า เป็นคดีที่มีเจ้าหนี้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยสี่คนร่วมรับผิดใช้เงิน ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสี่รับผิดชำระเงิน หากผิดนัดยอมให้ยึดที่ดินของจำเลยที่ 1 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 4 ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์ แต่ปรากฎว่าจำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงนำยึดที่ดินเพื่อนำออกขายทอดตลาด และโจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดได้ ต่อมาจำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องว่าการยึดที่ดินของจำเลยที่ 1 จำนวน 131 แปลง เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งประกาศเรื่องการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่จำเลยที่ 1 เท่านั้น มิได้ส่งให้แก่จำเลยที่ 3 จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 3 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ย่อมถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียต้องรับภาระหนี้ส่วนที่เหลือ ขอให้ศาลเพิกถอนการขายทอดตลาด ซึ่งต่อมาคดีนี้ได้ขึ้นสู่ศาลฏีกา โดยมีประเด็นที่ศาลฏีกาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาด ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งการขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 3 ทราบ และมีเหตุให้เพิกถอนการขายทอดตลาดหรือไม่  โดยศาลฏีกาได้ตัดสินว่า กรณีมีจำเลยหลายคนที่ต้องร่วมรับผิดกับโจทก์ เฉพาะจำเลยที่เป็นเจ้าของทรัพย์ที่ยึดเท่านั้น ที่ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกรณีนี้ เมื่อที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้เพื่อขายทอดตลาดมีจำเลยที่ 1 เท่านั้นเป็นเจ้าของไม่ปรากฎชื่อจำเลยที่ 3 เป็นหรือร่วมมีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ยึด แม้จำเลยที่ 3 จะเป็นลูกหนี้ที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1   ก็ตาม ดังนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่จำต้องแจ้งวันขายทอดตลาดให้แก่จำเลยที่ 3 การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีทรัพย์ที่ยึดโดยวิธีขายทอดตลาดไปเพียงแจ้งวันขายทอดตลาดและสถานที่ที่กำหนดไว้ในประกาศให้จำเลยที่ 1 ผู้มีชื่อตามทะเบียนผู้เดียว จึงเป็นการขายทอดตลาดโดยชอบแล้วไม่มีเหตุเพิกถอน ตามคำพิพากษาศาลฏีกาที่ 19419/2557คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19419/2557 คำร้องของจำเลยที่ 3 ระบุชัดว่าประสงค์จะให้มีการเพิกถอนการขายทอดตลาดเพราะเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่แจ้งประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดให้ตนทราบ เท่ากับเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเพราะจำเลยที่ 3 เห็นว่าเป็นการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติในภาค 4 ลักษณะ 2 ว่าด้วยเรื่องการบังคับคดีตามคำพิพากษา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 306 ที่กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งคำสั่งของศาลที่อนุญาตให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดและวันขายทอดตลาดแก่บรรดาผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดเห็นได้ว่าในมาตราดังกล่าว กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งการขายทอดตลาดให้เจ้าของหรือผู้มีส่วนเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ยึดได้ทราบถึงการขายทอดตลาดเท่านั้น หมายความว่า หากมีกรณีจำเลยหลายคนที่ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ เฉพาะจำเลยที่เป็นเจ้าของทรัพย์ที่ยึดเท่านั้นที่ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกรณีนี้ ด้วยเหตุนี้ ความในมาตรา 306 จึงบัญญัติไว้เพียงว่าให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งวันขายทอดตลาดแก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดซึ่งทราบได้ตามทะเบียน มิได้หมายความรวมถึงผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดในวิธีบังคับคดีตามมาตรา 280 แต่อย่างใด จำเลยที่ 3 รับมาในคำร้องว่าทรัพย์ที่ยึดเป็นของจำเลยที่ 1 ทั้งทราบได้จากเอกสารท้ายคำร้องและเอกสารในสำนวนว่า ที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้เพื่อขายทอดตลาดมีจำเลยที่ 1 เท่านั้นเป็นเจ้าของไม่ปรากฎชื่อจำเลยที่ 3 เป็นหรือร่วมมีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ยึด แม้จำเลยที่ 3 จะเป็นลูกหนี้ที่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ก็ตาม ผู้มีส่วนได้เสียที่ต้องแจ้งวัน เวลา และสถานที่ในการขายทอดตลาดจึงมีเพียงจำเลยที่ 1 ดังนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่จำต้องแจ้งวันขายทอดตลาดให้แก่จำเลยที่ 3 การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีทรัพย์ที่ยึดโดยวิธีขายทอดตลาดไปเพียงแจ้งวันขายทอดตลาดและสถานที่ที่กำหนดไว้ในประกาศให้จำเลยที่ 1 ผู้มีชื่อตามทะเบียนผู้เดียว จึงเป็นการขายทอดตลาดโดยชอบแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 125 กสิกรไทยหาดใหญ่ ชุ่ย ยอมให้เด็กเก้าขวบถอนเงินเอง

คุณวราภรณ์ เข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2553 ตนได้ไปเปิดบัญชีเงินฝากประจำกับธนาคารกสิกรไทย สาขาคาร์ฟูร์หาดใหญ่ให้กับลูกชาย 2 คนคนหนึ่งอายุ 9 ขวบ อีกคนอายุ 6 ขวบ เปิดเป็นบัญชีเงินฝากทวีทรัพย์ ระยะเวลาฝาก 24 เดือน เดือนละ 5,000 บาท เป็นยอดรวมเงินฝากทั้งสิ้น 120,000 บาท คุณวราภรณ์ผู้เป็นแม่เปิดบัญชีให้ลูกคนละบัญชี โดยใช้ชื่อของลูกชายทั้งสองคนเป็นชื่อเจ้าของบัญชี และมีเงื่อนไขการถอนเงินจากบัญชีว่าให้ลงลายมือชื่อของลูกที่เป็นเจ้าของบัญชีนั้นเพียงคนเดียว“ตลอดมาดิฉันได้มอบหมายให้นางกาญจนา เส้งสุข พี่เลี้ยงของเด็กเป็นผู้ดูแลนำเงินเข้าฝากให้ทุกเดือน จนเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 ดิฉันพบว่านางกาญจนา ได้ยักยอกเงินส่วนหนึ่งของดิฉันแล้วหนีหายไปไม่สามารถติดต่อได้อีกเลย ดิฉันได้แจ้งความดำเนินคดีแล้วเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2554”คุณวราภรณ์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2554 ลูกชายคนโตอายุ 9 ขวบได้พูดเปรยขึ้นมาว่า นางกาญจนาเคยให้ตนกับน้องไปเซ็นเอกสารบางอย่างที่ธนาคาร“จึงเอะใจขึ้นมาค่ะ พอตรวจสอบไปที่ธนาคารปรากฏว่าได้มีการถอนเงินปิดบัญชีเงินฝากของเด็กทั้งสองคนไปเรียบร้อยแล้วค่ะ ตั้งแต่วันที่ 9 และ 10 กุมภาพันธ์ 2554”“ดิฉันได้สอบถามกับพนักงานธนาคารและผู้จัดการ(ธนาคารกสิกรไทย สาขาคาร์ฟูร์หาดใหญ่) ก็ได้รับคำตอบว่าได้ทำถูกต้องตามระเบียบธนาคารแล้ว เพราะเด็กเจ้าของบัญชีเป็นคนมาเซ็นชื่อถอนเงินเอง โดยหลักฐานที่พี่เลี้ยง(นางกาญจนา)นำมาด้วยมีเพียงสำเนาบัตรประชาชนของแม่และสำเนาทะเบียนบ้านของเด็ก ผู้จัดการสาขาให้คำแนะนำแค่ว่าให้เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหากต้องการให้ธนาคารรับผิดชอบก็ให้ดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนของธนาคาร” คุณวราภรณ์เล่าด้วยอารมณ์เซ็งสุดขีดที่เห็นธนาคารปัดความรับผิดชอบออกมาแบบนั้น “ดิฉันขอร้องเรียนมาเพื่อขอความเป็นธรรมแทนเด็กทั้งสองเพราะได้รับความเสียหายที่เกิดจากความประมาทของพนักงานธนาคารที่ให้เด็กยังไม่บรรลุนิติภาวะทำธุรกรรมการเงินได้โดยไม่มีผู้ปกครองที่ถูกต้องตามกฎหมายไปให้ความยินยอมด้วย และขอให้ธนาคารแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของพนักงานด้วย” แนวทางแก้ไขปัญหาเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมทราบว่า มีการเบิกถอนเงินของลูกอายุ 9 ขวบเป็นเงิน 50,123.57 บาท และลูกคนเล็กของคุณวราภรณ์เป็นเงิน 50,124.57 บาท จากนั้นจึงได้นำเรื่องปรึกษาในข้อกฎหมายกับศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภคของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และท้ายสุดได้มีข้อแนะนำให้คุณวราภรณ์ทำจดหมายแสดงเจตนาบอกล้างนิติกรรมการฝากถอนเงิน เนื่องจากการปิดบัญชีเงินฝากและเบิกถอนเงินของเด็กทั้งสองที่ธนาคารยินยอมให้เด็กผู้เยาว์ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะกระทำไปนั้น เป็นการกระทำที่ปราศจากความยินยอมของบิดามารดา ทำให้บิดามารดาในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมและบุตรผู้เยาว์ทั้งสองได้รับความเสียหาย และขอให้ธนาคารคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับจดหมายฉบับนี้ ซึ่งหากพ้นกำหนดคุณวราภรณ์และสามีซึ่งเป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายสามารถดำเนินคดีกับธนาคารได้ตามกฎหมายต่อมาในเดือนเมษายน มูลนิธิฯ ได้ทราบความคืบหน้าจากคุณวราภรณ์ว่า ได้รับเงินคืนเต็มตามจำนวนทั้งหมด 100,274.72 บาท โดยธนาคารขอให้ผู้ร้องเซ็นหนังสือสัญญาว่าจะไม่ติดใจเอาความใดๆกับธนาคารฯ คุณวราภรณ์เห็นว่าตนได้รับเงินคืนครบตามจำนวนที่หายไป และธนาคารฯ รับปากว่าจะตามหาพนักงานที่กระทำผิดมาลงโทษ คุณวราภรณ์จึงขอยุติเรื่องร้องเรียนไว้แต่เพียงเท่านี้เรื่องนี้นับเป็นบทเรียนสำคัญกับผู้บริโภคทุกคนว่า อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน และต้องเพิ่มด้วยว่า “อย่าวางใจธนาคาร” ด้วยเช่นกัน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 121 บริษัท บุญแปด ยอมถอนฟ้องคดีขี้ไก่เหม็น

ทนายความของฟาร์มไก่ไข่ บริษัทบุญแปด ใส่เกียร์ถอยหลัง ขอถอนฟ้องคดีชาวบ้าน “ร้องขี้ไก่เหม็น” หลังเจรจาในศาลร่วม 2 ชั่วโมง โดยมีข้อตกลงร่วมหากเกิดข้อร้องเรียนอีก ให้ตั้งคณะกรรมการซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายเข้าทำการตรวจสอบทันที เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราได้นัดชาวบ้านในเขตตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 27 ราย ซึ่งถูกบริษัท บุญแปด จำกัด ของ นายบุญยง ศรีไตรราศรี หนึ่งในกรรมการบริหารสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ ดำเนินคดีฟ้องร้องเป็นคดีอาญาเกี่ยวเนื่องคดีแพ่ง ฐานความผิด แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและหมิ่นประมาท เรียกร้องค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 2,300,000 บาท เพื่อมาเจรจาไกล่เกลี่ยกันอีกครั้งหลังจากที่เคยมีการเจรจาก่อนหน้านี้มาแล้ว 2 ครั้ง โดยศาลออกนั่งบัลลังก์เมื่อเวลาประมาณ 14.40 น. และได้ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงในการเจรจาไกล่เกลี่ยกับคู่กรณี 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายจำเลยซึ่งมีตัวแทนชาวบ้านพร้อมนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจในการดำเนินคดีจากชาวบ้านที่ถูกฟ้องทั้ง 27 ราย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลลาดกระทิงกับปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลลาดกระทิง เป็นผู้ถูกฟ้องคดีเพิ่มเติมอีก 2 ราย กับทนายความและตัวแทนของบริษัทบุญแปด จำกัด โจทก์ผู้ฟ้องคดี ผลของการเจรจาไกล่เกลี่ย ทนายความของบริษัทบุญแปดได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งหมด 29 ราย โดยแถลงว่า ไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป และได้มีข้อตกลงร่วมกันว่า หากมีข้อร้องเรียนในกรณีที่ได้รับความเดือดร้อนรำคาญของกลิ่นเหม็นจากมูลไก่ และคาดว่าจะมาจากฟาร์มให้สามารถทำการร้องเรียนได้ผ่านช่องทางปกติถึงองค์การบริหารส่วนตำบลลาดกระทิง และให้ตั้งคณะกรรมการที่ได้รับการยอมรับของทุกฝ่ายขึ้นมาตรวจสอบเหตุที่ร้องเรียนนั้น ตามวิธีปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ประกอบกับกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นายวันชัย ฤทธิ์ลิขิต ตัวแทนชาวบ้านที่เข้าร่วมการเจรจาไกล่เกลี่ย ได้กล่าวถึงผลของคดีว่า การที่บริษัทถอนฟ้องคดีกับชาวบ้านเป็นสิ่งที่ควรทำมาตั้งนานแล้ว เพราะดคีไม่มีมูล ชาวบ้านให้ข้อมูลในปัญหากลิ่นขี้ไก่เหม็น ซึ่งเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากการประกอบกิจการของฟาร์มไก่ไข่แห่งนี้แก่ อบต.ลาดกระทิงไปตามความเป็นจริง ไม่ได้มีเจตนากล่าวร้ายป้ายสีให้บริษัทบุญแปดเสียหาย แต่ต้องการให้มีการแก้ไขปัญหากลิ่นเหม็นให้หมดไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองระยอง ซึ่งมีคำสั่งให้ อบต.ลาดกระทิงระงับเหตุรำคาญให้หมดสิ้นไปภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันที่ศาลปกครองระยองได้พิพากษาไปเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2542 และหลังจากนี้ตนและชาวบ้านจะได้ร่วมมือกับ อบต.ลาดกระทิง จัดการปัญหากลิ่นขี้ไก่เหม็นอย่างจริงจัง หากบริษัทฯ ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้คงต้องเร่งรัดขอให้ อบต.ลาดกระทิง สั่งให้บริษัทฯ หยุดประกอบกิจการไว้ก่อนเพื่อจะได้ไม่ขัดต่อคำสั่งของศาลปกครองระยองสำหรับเหตุข้อพิพาทเรื่องนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2549 บริษัท บุญแปด จำกัด ได้เข้ามาประกอบกิจการเลี้ยงไก่ไข่ในพื้นที่ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยได้รับใบอนุญาตจากองค์การบริหารส่วนตำบลลาดกระทิง(อบต.ลาดกระทิง) ให้ประกอบกิจการเลี้ยงไก่ จำนวน 2 โรงเรือน เลี้ยงไก่ไข่ได้ 100,000 ตัว แต่บริษัทฯมีการเลี้ยงไก่ไข่เพิ่มขึ้นอีก 7 โรงหรือ 350,000 ตัว โดยไม่ได้รับอนุญาต ซ้ำยังละเมิดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสถานที่ตั้งที่จะต้องตั้งอยู่ห่างจากชุมชน วัด ศาสนสถาน โบราณสถาน สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล หรือสถานที่อื่นๆ ในระยะที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและไม่ก่อเหตุรำคาญต่อชุมชน แต่ปรากฏว่าฟาร์มไก่แห่งนี้ตั้งอยู่ติดกับสถานีอนามัยลาดกระทิง วัดลาดกระทิง รวมถึงโรงเรียนบ้านลาดกระทิงซึ่งสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยม 3 อันเป็นศูนย์กลางของชุมชนเพียงแค่รั้วกั้น การประกอบกิจการฟาร์มไก่ของบริษัท บุญแปดฯ ทำให้ชาวบ้านไม่น้อยกว่า 250 หลังคาเรือนที่อยู่อาศัยโดยรอบฟาร์มไก่ภายในรัศมี 1-2 กิโลเมตร ต่างได้รับความเดือดร้อนรำคาญทั้งด้านร่างกายและจิตใจจากกลิ่นเหม็นของมูลไก่ที่เกิดจากฟาร์มไก่แห่งนี้มาโดยตลอดและได้พากันร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 ปั๊มแก๊สไม่ยอมทอนเศษสตางค์

ดิฉันมีข้อสงสัยที่จะหารือดังนี้ค่ะ คุณนลินศิริเริ่มเรื่องดิฉันเพิ่งซื้อรถที่ใช้เชื้อเพลิง NGV มาใช้ค่ะที่สงสัยคือเวลาไปเติมแก๊ส NGV แต่ละปั๊ม เวลามีเศษสตางค์ไม่ว่าจะมากน้อยเท่าไหร่ จะถูกปั๊มปัดเศษเป็นจำนวนเต็ม 1 บาทเพิ่มทุกปั๊ม อย่างเติมเป็นเงิน 87.40 บาทหรือ 87.90 บาทก็จะถูกคิดเป็น 88.00 บาทคุณนลินศิริให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีครั้งหนึ่งเคยไปเติมแก๊สและต้องจ่าย 87.40 บาท คุณนลินศิริพอดีมีเศษสตางค์ก็เลยให้เด็กปั๊มไป 87.50 บาท“เขามองหน้า แล้วบอกเอาคืนไปเหอะ ดิฉันก็รับเงินเศษ 50 สตางค์คืน”อย่างนี้ก็ถือว่าโชคดีเพราะปั๊มรังเกียจเศษสตางค์“แต่บางครั้งเราก็คิดว่าเศษน้อยคือแค่ 9-10 สตางค์เขาน่าจะปัดทิ้ง เขาก็ไม่เคยปัดทิ้งมีแต่จะปัดขึ้นแล้วไม่ใช่ปัดเป็นสลึงหรือห้าสิบสตางค์ ส่วนใหญ่จะปรับขึ้นเป็นหนึ่งบาทเลย” “ดิฉันสงสัยว่า เราดูถูกค่าเงิน 25 สตางค์กันแล้วหรือถ้าเด็กปั๊มจะบอกว่า ผมไม่สะดวกทอนเงินดิฉันก็คงยินดีที่จะให้มากกว่ามาบังคับกัน เคยได้ยินข่าวพักหนึ่งเรื่องเดียวกันกับปั๊มแก๊ส LPG แล้วเงียบหายไป ก็เลยสงสัยว่าเรื่องนี้(ปัดเศษสตางค์ขึ้นเป็นหนึ่งบาท) เป็นเรื่องปกติหรือเปล่าจะได้ทำใจค่ะแนวทางแก้ไขปัญหาปัจจุบันประเทศไทยมีเหรียญที่มีค่าเงินที่น้อยที่สุดที่สามารถนำมาชำระหนี้กันได้คือที่ 25 สตางค์ หากเราซื้อสินค้าแล้วมีเศษสตางค์ที่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของ 25 สตางค์คือ 12.50 สตางค์ ในทางปฏิบัติก็ควรจะปัดเป็น 0 สตางค์ เพราะไม่สามารถหาเหรียญหรือธนบัตรมาชำระหนี้กันได้ แต่หากมูลหนี้นั้นมีค่าตั้งแต่ 12.50 สตางค์ขึ้นไป ก็ให้ชำระหนี้หรือทอนเงินด้วยเหรียญ 25 สตางค์ แต่การที่สินค้ามีมูลค่าตกเศษสตางค์แล้วผู้ประกอบธุรกิจปรับเป็นมูลค่า 1 บาท ต้องไม่ถือว่าเป็นเรื่องปกติครับ เนื่องจากคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ได้ประกาศให้ก๊าซธรรมชาติเอ็นจีวีและก๊าซแอลพีจีที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะ ถือเป็นสินค้าชนิดหนึ่งในสินค้าหลายร้อยชนิดที่จะต้องแสดงราคาจำหน่ายขายปลีกให้ผู้บริโภคทราบ หากผู้ประกอบธุรกิจไม่แสดงราคาขายปลีกให้ผู้บริโภคทราบจะมีโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือหากมีการจำหน่ายสินค้าในราคาที่สูงเกินกว่าราคาที่แสดง จะถือว่ามีความผิดในลักษณะเดียวกันคือไม่ได้แสดงราคาป้าย มีโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทเช่นกัน อันเป็นความผิดตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสามารถกล่าวโทษร้องทุกข์ได้กับกรมการค้าภายใน หรือสำนักงานการค้าภายในจังหวัด โทรสายด่วน 1569 หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ครับเพราะถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายนี้ด้วยเช่นกัน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 เมื่อคนร้ายงัดบ้าน เอาสมุดฝากเงินกับบัตรฯ ไปถอนเงิน

สำหรับฉบับนี้เป็นอุทาหรณ์ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคที่ต้องใช้บริการฝากเงินไว้กับธนาคาร และเหตุตามอุทาหรณ์อาจเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคในยุคโจรผู้ร้ายชุกชุม ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2534  โจทก์ทำสัญญาฝากเงินและเปิดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ไว้กับจำเลยที่ 2 ที่สาขาชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์  ต่อมาวันที่ 25  มีนาคม 2549  มีคนร้ายงัดบ้านโจทก์แล้วลักทรัพย์สินไปหลายรายการรวมทั้งบัตรประชาชนและสมุดฝากเงินดังกล่าวไป  ในวันนั้นโจทก์ไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจในทันที  และในวันเดียวกันเวลา 17.34 นาฬิกา โจทก์โทรศัพท์แจ้งศูนย์กรุงไทยโฟน หมายเลข 1551  ให้อายัดเงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่ศูนย์แจ้งว่ารับแจ้งอายัดเฉพาะบัตรถอนเงินและบัตรเครดิต ไม่รับแจ้งอายัดเงินฝาก หากจะแจ้งอายัดเงินฝากต้องแจ้งที่สาขาที่โจทก์เปิดบัญชีไว้  โจทก์ไม่ได้ติดต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่สาขาชนแดน เนื่องจากวันดังกล่าวเป็นวันเสาร์  ต่อมาวันที่ 26  มีนาคม 2549  ซึ่งเป็นวันอาทิตย์มีหญิงคนหนึ่งนำสมุดเงินฝากของโจทก์ไปถอนเงินจำนวน  280,000  บาท  ที่ธนาคารจำเลยที่ 2 สาขาย่อยฟิวเจอร์พาร์ครังสิต จังหวัดปทุมธานี  โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่สาขาย่อยฟิวเจอร์พาร์ครังสิต จังหวัดปทุมธานี ได้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่หญิงคนดังกล่าวไป โจทก์จึงได้มาฟ้อง จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ธนาคารผู้เป็นนายจ้างให้ร่วมกันรับผิด ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 แพ้คดี ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน  จำเลยที่ 2 ยื่นฎีกาหลายประเด็น  แล้วผลจะเป็นอย่างไร คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 268/2556  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า.....คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาข้อแรกว่า เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 1  มิได้กระทำการโดยประมาทเลินเล่อแล้ว จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างย่อมหลุดพ้นความรับผิดไปด้วยนั้น เห็นว่า คดีนี้นอกจากโจทก์จะฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดในมูลละเมิดแล้วโจทก์ยังบรรยายฟ้องด้วยว่าจำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจธนาคาร โจทก์ได้ตกลงทำสัญญาฝากเงินกับจำเลยที่ 2  และจำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้จ่ายเงินให้แก่บุคคลอื่นที่แสดงตัวเป็นโจทก์ ทำให้โจทก์สูญเสียเงินในบัญชีเงินฝาก ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 2 ให้รับผิดในมูลฝากทรัพย์ด้วย  ดังนั้น  แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำการโดยประมาทเลินเล่อเป็นผลให้จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างหลุดพ้นความรับผิด จำเลยที่ 2 ก็หลุดพ้นความรับผิดเฉพาะในมูลละเมิดเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับฝากเงินต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้ฝากเงินตามนัย ป.พ.พ. มาตรา 659  วรรคสาม นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น จำเลยที่ 2 ฎีกาข้อต่อไปว่า ถ้าโจทก์เก็บรักษาบัตรประจำตัวประชาชนไว้กับตัวคนร้ายก็ไม่สามารถปลอมบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ได้ ถือว่าโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่ออยู่ด้วยนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติว่ามีคนร้ายงัดบ้านโจทก์แล้วลักทรัพย์สินไปหลายรายการ  บ้านเป็นเคหสถานซึ่งปกติบ่อมเป็นที่ปกป้องเก็บรักษาทรัพย์สินได้ การที่มีคนร้ายงัดบ้านโจทก์แล้วลักทรัพย์สินภายในบ้านโจทก์ รวมทั้งนำสมุดฝากเงินและบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ไปใช้ถอนเงินไปใช้ถอนเงินจากจำเลยที่ 2 จะถือว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อมิได้ ฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ฯลฯ พิพากษายืน

อ่านเพิ่มเติม >