ฉบับที่ 119 กระแสต่างแดน

ตราไม่รับรอง บ่อยครั้งที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ ให้ความไว้วางใจ “ตรารับรอง” โดยลืมถามตัวเองว่าตราสัญลักษณ์ดังกล่าวนั้น “รับรอง” อะไรกันแน่ องค์กรต่อต้านการทารุณสัตว์ SAFE (Safe Animals from Exploitation) ที่นิวซีแลนด์ออกมาแฉกันเต็มๆ ว่า ตรารับรอง “PigCare Accredited” ที่ติดอยู่บนฉลากผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมูที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ตนั้น ไม่ได้มีความหมายอะไร นอกจากจะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถขายของได้มากขึ้น  เพราะผู้บริโภคปัจจุบันต้องการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสัตว์ ตรารับรองที่ว่าจึงทำให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าหมูน้อยเหล่านั้นเคยมีชีวิตอยู่อย่างสุขสบายตามอัตภาพ ไม่ทุกข์ทรมานเพราะถูกกักขังบริเวณอยู่ในกรงจนขยับไม่ได้  แต่ความจริงแล้วเงื่อนไขที่จะได้ตรารับรอง “PigCare” นั้นไม่ได้ครอบคลุมไปถึงเรื่องการห้ามใช้กรงขัง หรือการห้ามเลี้ยงแบบอุตสาหกรรมด้วยซ้ำ ในขณะที่ฟาร์มที่เลี้ยงแบบเปิด ต่างก็ไม่เข้าร่วมขอฉลากรับรองที่ว่าเพราะไม่เห็นด้วยกับการรับรองดังกล่าว  ฮานส์ ครีก ผู้อำนวยการของ SAFE บอกว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่ผู้บริโภคควรมองหาคือตรารับรอง “Free range” หรือ “Free farmed” (ฟาร์มเปิด) มากกว่า  อืม ... จะบริโภคอย่างรับผิดชอบนี่มันไม่ง่ายเลยจริงๆ ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------     คันต่อไปครับ แค่สาวนางหนึ่งถูกปฏิเสธโดยแท็กซี่ 6 คันซ้อน ก็เป็นข่าวลงหนังสือพิมพ์ที่นิวซีแลนด์ซะแล้ว (ไม่อยากจะคุยว่าที่บ้านเรา แค่นี้จิ๊บๆ) วิคตอเรีย กริฟฟิน ออกจากงานเลี้ยงที่บริษัทในย่านเวียดักท์ เมื่อตอนเที่ยงคืนครึ่งของคืนวันเสาร์ที่ 18 ธันวาคมปีที่แล้ว เพื่อมาเรียกรถแท็กซี่ที่จอดรออยู่มากมาย แต่เธอกลับถูกปฏิเสธถึง 6 ครั้งติดต่อกันเพียงเพราะบ้านเธออยู่ใกล้เกินไป คนขับรายหนึ่งบอกให้เธอเดินกลับบ้านเอง มีรายหนึ่งรีบล็อคประตูไม่ให้เธอเปิดเข้าไปเลยด้วยซ้ำ   ค่าโดยสาร(ถ้าเธอได้ขึ้น) จะประมาณ 15 เหรียญ หรือ 350 บาท แต่ค่าปรับซึ่งคนขับแท็กซี่จะต้องจ่าย เพราะทำผิดกฎหมายฐานปฏิเสธผู้โดยสารนั้นอยู่ที่ 400 เหรียญ หรือประมาณ 9,000 บาท เวียดักท์ เป็นหนึ่งในย่านที่มีสถิติการปฏิเสธผู้โดยสารมากที่สุด ทิม เรดดิช ประธานสหพันธ์แท็กซี่นิวซีแลนด์ประเมินว่าอย่างน้อยๆ ต้องมีการถูกปฏิเสธไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง รวมๆ แล้วก็น่าจะหลายพันครั้งต่อปี (แต่มีคนร้องเรียนเข้ามาจริงๆ เพียงปีละ 20 ครั้งเท่านั้น) ตามกฎหมายนิวซีแลนด์ คนขับแท็กซี่สามารถปฏิเสธผู้โดยสารได้เมื่อรู้สึกว่าจะเกิดความไม่ปลอดภัยต่อตนเอง เมื่อผู้โดยสารอยู่ภายใต้อิทธิพลของสิ่งมึนเมาหรือสิ่งเสพติด เมื่อผู้โดยสารพกพาน้ำหรืออาหารมาด้วย เมื่อผู้โดยสารส่งเสียงดังหรือมีพฤติกรรมรุนแรงหรือนำสัตว์ซึ่งไม่ใช่สัตว์นำทางมาด้วย เมื่อมีผู้โดยสารจำนวนมากเกินไป นอกจากนี้ยังให้ปฏิเสธได้ในกรณีที่ผู้โดยสารมีเงินไม่พอจ่าย (คนขับสามารถถามล่วงหน้าได้)  เอาเป็นว่ายังไงก็ไม่อนุญาตให้ปฏิเสธเพราะระยะทางสั้นเกินไป --------------------------------------------------------------------------------------------------------------- เข็มขัดมาช้า คราวนี้มาดูการขนส่งในฮ่องกงกันบ้าง ซึ่งขณะนี้รถที่มีเป็นประเด็นมากที่สุดเห็นจะเป็นมินิบัส ซึ่งมีผู้ใช้บริการถึง 1.85 ล้านคนต่อวันในบรรดารถทั้งหมดที่วิ่งอยู่บนท้องถนนนั้นมีมินิบัสที่จดทะเบียนอยู่ร้อยละ 0.76 แต่กลับมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุสูงถึงร้อยละ 5 และจากสถิติเมื่อสองปีที่แล้ว ร้อยละ 9 ของจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นผู้โดยสารรถมินิบัสนั่นเอง  หลังจากเกิดอุบัติเหตุสองครั้งที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 รายเมื่อปี 2009 กรมการขนส่งฮ่องกงประกาศบังคับให้มินิบัสทุกคันติดตั้ง “กล่องดำ” และอุปกรณ์จำกัดความเร็ว  นอกจากนี้กรมฯ ยังประกาศให้รถมินิบัสที่ขึ้นทะเบียนหลัง 1 สิงหาคม 2004 ทุกคันติดเข็มขัดนิรภัย และมีการคาดการณ์ไว้ว่า ร้อยละ 60 ของรถมินิบัสจะมีเข็มขัดนิรภัยภายในปี 2008 แต่จนถึงกันยายนปีที่แล้วมีรถมินิบัสที่มีเข็มขัดนิรภัยเพียงร้อยละ 55 เท่านั้น  ผู้ตรวจการประเมินว่าภายในปี 2015 จะยังมีรถที่ไม่ปลอดภัยวิ่งอยู่บนท้องถนนอีกไม่ต่ำกว่า 1,000 คัน และคงต้องใช้เวลา 8 ปี จึงจะทำให้รถทุกคันมีเข็มขัดนิรภัยได้   แอพหน้าขาวเชื่อหรือไม่ อินเดียเป็นตลาด “ครีมหน้าขาว” ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และเช่นเดียวกับบ้านเรา ความอยากขาวนั้นไม่เข้าใครออกใคร ที่นั่นตลาดครีมไวท์เทนนิ่งสำหรับผู้ชายเติบโตถึงร้อยละ 25 (สูงกว่าตลาดครีมสำหรับผู้หญิงร้อยละ10) ถึงขนาดเฟสบุ๊คที่อินเดียเขามีแอพพลิเคชั่นให้หนุ่มๆได้อัพโหลดรูปถ่ายหน้าตัวเองเข้าไป แล้วลองลากเส้นผ่าน เพื่อให้รู้กันไปว่าจะหล่อขึ้นได้สักเท่าไรเมื่อหน้าขาวขึ้น (ด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล) แอพพลิเคชั่นดังกล่าวออกมาพร้อมกับการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดและไวท์เทนนิ่งสำหรับผู้ชายยี่ห้อวาสลีนนั่นเอง   โดยมีดาราบอลลีวูดชื่อดัง ชาฮิด คาปูร์ เป็นพรีเซ็นเตอร์แสดงให้เห็นครึ่งหน้าที่ผิวคล้ำและผิวขาวขึ้นด้วยแอพฯ ดังกล่าว ทำให้เกิดกระแสมากมายในเฟสบุ๊ค ทางวาสลีน บอกว่าไม่ใช่เรื่องของการกีดกันสีผิว มันก็เหมือนๆ   กับที่ผู้คนในอเมริกาเหนือหรือยุโรปอยากมีผิวสีแทนนั่นแหละ แต่นักธุรกิจชาวอินเดียที่เปิดแฟนเพจในเฟสบุ๊คเพื่อรณรงค์ต่อต้านเทรนด์ “ต้องขาว” ในอินเดีย บอกว่าการที่คนตะวันตกไม่มีผิวสีแทน ไม่ได้เป็นเหตุให้พวกเขาถูกเลือกปฏิบัติ มันเป็นแค่ทางเลือกหนึ่งเท่านั้น ในขณะที่ในอินเดียนั้นผู้คนเชื่อว่าการมีผิวขาวหมายถึงการประสบความสำเร็จในชีวิต ข่าวแถมข้อมูลมาว่า จากการสำรวจที่ทำกับผู้คนจำนวน 12,000 คน ในปี 2009 โดยเว็บหาคู่ออนไลน์ พบว่าสีผิวเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการเลือกคู่ของหนุ่มสาวในสามรัฐทางตอนเหนือของอินเดีย ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------   เศรษฐศาสตร์ต้นคริสต์มาส ราคาต้นคริสต์มาสที่เดนมาร์กซึ่งเป็นผู้ส่งออกต้นคริสต์มาสรายใหญ่ที่สุดในยุโรป นาทีนี้อยู่ที่ 160 โครเนอร์ (ประมาณ 850 บาท) ต่อความยาวหนึ่งเมตร เขาบอกว่าราคานี้ขึ้นมาจากปีก่อนร้อยละ 25  สมาคมผู้ปลูกต้นคริสต์มาสแห่งเดนมาร์กบอกว่าที่แพงก็เพราะเขาไม่สามารถประเมินความต้องการของผู้บริโภคล่วงหน้าได้ เพราะเจ้าต้นไม้ประจำเทศกาลนี้ต้องใช้เวลาในการปลูกถึง 9 ปี   อย่างไรก็ดี ข้ออ้างที่ว่านี้ยังไม่สามารถคลายข้อข้องใจของสมาคมผู้บริโภคที่นั่นได้เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว สมาคมฯ ถูกศาลสั่งปรับ 500,000 โครเนอร์ (ประมาณสองล้านหกแสนกว่าบาท) โทษฐานที่ชักชวนให้สมาชิกร่วมกันตั้งราคาขั้นต่ำสำหรับต้นคริสต์มาสในช่วงระหว่างปี 2002 ถึง 2006   ข่าวบอกว่าระหว่างปี 2005 ถึง 2009 ราคาต้นคริสต์มาสเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 80 โดยพันธุ์ยอดฮิตที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าได้แก่พันธุ์นอร์ดมันเฟอร์ --------------------------------------------------------------------------------------------------------------   คูปองสองมาตรฐาน องค์กรผู้บริโภคของเดนมาร์กไม่เห็นด้วยกับการแจกคูปองลดราคาเป็นโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย เพราะมันหมายถึงการจ่ายเงินจำนวนต่างกันสำหรับสินค้า/บริการเดียวกัน  ความจริงแล้วตั้งแต่ปี 1994 เป็นต้นมา ที่เดนมาร์กมีกฎหมายห้ามการแจกคูปองลดราคา เพื่อการันตี “ความเท่าเทียม” เรียกว่าใครบังอาจแจกเป็นอันต้องถูกจับและปรับกันไป   เรื่องการแจกคูปองกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง เมื่อสหภาพยุโรปได้ทำข้อตกลงเมื่อปี 2009 ที่ระบุว่าให้สามารถทำได้ ทั้งนี้ข้อตกลงดังกล่าวก็เขียนไว้ชัดเจนว่าให้แต่ละประเทศถือปฏิบัติตามกฎหมายของตนเองไปจนถึงปี 2013   แต่บรรดาผู้ประกอบการที่นั่นไม่รอช้า รีบใช้ประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าวของสหภาพยุโรปทันที แถมยังบอกว่าลูกค้าส่วนใหญ่พึงพอใจกับคูปองลดราคาที่ว่าอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >