ฉบับที่ 188 กฎหมายคุ้มครองสิทธิของผู้เช่าตึกแถว

คราวนี้เราจะมาพูดถึงการคุ้มครองสิทธิด้านที่อยู่อาศัยของตนเองกันต่อ แต่เป็นเรื่องสิทธิของผู้เช่าที่ไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่อาศัยนะครับ แต่ก็ถือว่า เขาเป็นผู้บริโภคคนหนึ่ง มีสิทธิครอบครองใช้สอยทรัพย์ที่เช่าตามสัญญาได้ และมีสิทธิจะอยู่ในที่อยู่อาศัยหรือสิ่งแวดล้อมที่ดีเช่นกัน ดังนั้นเมื่อมีใครมาทำให้เขาเดือดร้อน กฎหมายก็คุ้มครองเขานะครับมีคดีหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นกรณีผู้เช่าตึกแถวคนหนึ่ง ที่เช่าอยู่มาเกือบ 20 ปี ที่อยู่มาวันดีคืนดี ก็มีเจ้าของที่มาสร้างกำแพงปูนปิดปากทางถนน ที่ผู้เช่าใช้เป็นทางสัญจรผ่านเข้าออกเป็นประจำ ทำให้ได้รับความเดือดร้อน ไม่สามารถใช้ทางได้โดยปกติสุข ก็มาฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งศาลก็มองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิโจทก์ผู้เช่าตึกแถวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1036/2543แม้โจทก์จะเป็นเพียงผู้เช่าตึกแถวจากจำเลยที่ 1 แต่ถนนพิพาทเป็นถนนหน้าตึกแถวที่จำเลยที่ 1 สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่ซื้อหรือเช่าตึกแถวจากจำเลยที่ 1 ใช้เป็นทางสัญจรผ่านเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้ และโจทก์ได้ใช้ถนนพิพาทตลอดมาเป็นเวลานานถึง 17 ปีแล้ว โดยจำเลยที่ 1 ไม่เคยหวงห้าม แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 จะขายตึกแถวที่โจทก์เช่าอยู่ให้แก่บุคคลภายนอก แต่โจทก์ก็ยังคงอยู่ในตึกแถวที่เช่าต่อมา การที่จำเลยที่ 2 สร้างกำแพงปูนปิดปากทางถนนพิพาทด้านถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินที่ตนซื้อจากจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์สัญจรผ่านเข้าออกไม่ได้ตามปกติย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ได้จำเลยที่ 1 ตกลงกับโจทก์และผู้เช่ารายอื่นว่าจะจัดให้ถนนพิพาทเป็นทางสัญจรเข้าออกสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินได้ตลอดไป มิฉะนั้นโจทก์และผู้เช่ารายอื่นคงไม่ยินยอมจ่ายเงินช่วยค่าก่อสร้างและจดทะเบียนการเช่ากับจำเลยที่ 1 เป็นเวลานานถึง 20 ปี และจำเลยที่ 1 ก็คงไม่ยินยอมให้โจทก์และครอบครัวตลอดจนบุคคลอื่นที่อาศัยอยู่ในตึกแถวดังกล่าวได้ใช้ถนนพิพาทเป็นทางเข้าออกตลอดมาเป็นเวลานานถึง 17 ปี เช่นเดียวกัน แม้สัญญาเช่าตึกแถวระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จะมิได้ระบุเรื่องการใช้ถนนพิพาทไว้ก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้หวงห้ามมิให้ผู้ซื้อหรือผู้เช่าตึกแถวจากจำเลยที่ 1 ใช้ถนนพิพาท และจำเลยที่ 2 ก็ทราบดีอยู่แล้วว่า จำเลยที่ 1 ก่อสร้างถนนพิพาทไว้สำหรับให้ผู้ซื้อหรือผู้เช่าตึกแถวใช้เป็นทางสัญจรเข้าออกสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินได้ การที่จำเลยที่ 2 ซื้อถนนพิพาทบางส่วนจากจำเลยที่ 1 และได้ก่ออิฐเป็นกำแพงปิดกั้นถนนพิพาทบริเวณปากทางออกสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ย่อมบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตมุ่งแต่ประโยชน์ตนฝ่ายเดียว โดยรู้อยู่แล้วว่าต้องเกิดความเสียหายแก่ผู้ที่ซื้อหรือผู้เช่าตึกแถวจากจำเลยที่ 1 ที่ไม่สามารถใช้ถนนพิพาทออกสู่ทางสาธารณะด้านถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินได้โดยปกติสุข การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่ารายหนึ่งอีกเรื่อง เป็นการเช่าช่วง ที่ผู้เช่าช่วงต้องทราบว่า หากจะให้เกิดสิทธิของผู้เช่าช่วงก็ต้องทำหนังสือสัญญาเช่ากับผู้ให้เช่าไว้เป็นหลักฐานด้วย หากไม่มีก็อาจจะถูกฟ้องขับไล่ เหมือนอย่างคดีดังต่อไปนี้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6275/2551การเช่าช่วงที่ดินพิพาทถือ เป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่ง จึงต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 538 ซึ่งจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ เมื่อจำเลยเข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอ้างว่า เช่าช่วงจากโจทก์ แต่ไม่ได้ทำหนังสือสัญญาเช่าช่วงกับโจทก์แต่อย่างใด และไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อของจำเลยผู้เช่า จำเลยจึงไม่อาจยกการเช่าช่วงขึ้นใช้ยันโจทก์ได้ การที่จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทจึงต้องถือว่าจำเลยอยู่โดยอาศัยสิทธิของโจทก์ จำเลยจะอ้างว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยบอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินแก่โจทก์แล้ว เพื่อต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ไม่ยินยอมให้จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทอีกต่อไปและได้บอกกล่าวให้จำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทต่อมาย่อมเป็นการอยู่โดยละเมิด โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายได้

อ่านเพิ่มเติม >