ฉบับที่ 168 คดีประวัติศาสตร์ ศาลปกครองสูงสุดตัดสิน ซอยร่วมฤดีกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนวจริง

 ย้อนกลับไปเมื่อเกือบสิบปีก่อน  เคยเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้อาคารภายในซอยร่วมฤดีขึ้น ในครั้งนั้นรถดับเพลิงไม่สามารถเข้ามาในซอยเพื่อดับเพลิงได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากสภาพของซอยร่วมฤดี เป็นซอยขนาดเล็กในใจกลางเมืองใหญ่ มีความกว้างของถนนเพียงรถยนต์วิ่งไปได้กลับ 2 เลน เท่านั้น ทำให้รถดับเพลิงที่มีขนาดใหญ่ เข้าไม่ได้ทั้งหมด ซึ่งจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ยังเป็นภาพของความหวาดกลัว และวิตกกังวลถึง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาอัคคีภัย และการจราจรที่แออัดจนทำให้ประชาชนเกิดความไม่ปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ของประชาชนผู้อยู่อาศัยภายในซอยร่วมฤดีจวบจนปัจจุบันจนกระทั่งในปี 2548 เริ่มมีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่จำนวน 2 อาคาร โดยมีอาคารที่มีความสูง 18  ชั้น ของบริษัท ลาภประทาน และ อาคารที่มีความสูง 24 ชั้น ของบริษัท ทับทิมทร  ของบริษัทเอกชน ขึ้นบริเวณปากซอยร่วมฤดี 2 ภายในซอยร่วมฤดี  โดยอ้างเอกสารการรับรองความกว้างของถนนว่าซอยร่วมฤดีมีความกว้างของถนน 10 เมตรตลอดแนวของสำนักงานเขตปทุมวันซึ่งต่อมาชาวบ้านที่อาศัยโดยรอบเขตก่อสร้างอาคารดังกล่าว ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานเขตปทุมวัน และสำนักงานโยธากรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้ตรวจสอบการก่อสร้างอาคารดังกล่าว เนื่องจากความกว้างของถนนในซอยร่วมฤดีมีความกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนว ซึ่งการก่อสร้างอาคารสูงดังกล่าวจึงขัดกับกฎกระทรวงฉบับที่ 33 พ.ศ. 2535  ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แต่การก่อสร้างก็ยังคงดำเนินการต่อไป เมื่อการร้องเรียนไม่เป็นผล กลุ่มผู้ร้องเรียน โดยนายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ กับพวก 24 คน ได้มอบอำนาจให้นายเฉลิมพงษ์  กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นคดีปกครองต่อศาลปกครองกลาง  ในฐานะเป็นผู้บริหารราชการในราชการส่วนท้องถิ่นและเป็นผู้ใช้อำนาจหรือออกคำสั่งทางปกครองในเขตปกครองท้องที่สำนักงานเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานครและยังเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยออกเอกสารรับรองความกว้างของถนนซอยร่วมฤดีเกินกว่าความเป็นจริง และปล่อยให้เอกชนก่อสร้างอาคารสูงใหญ่เกินกว่ากฎหมายกำหนด โดยได้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551ซึ่งต่อมาในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 ศาลปกครองกลางได้พิเคราะห์ข้อมูลหลักฐานที่ผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องได้นำเสนอแล้วพิจารณาเห็นว่า ซอยร่วมฤดีซึ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์และเป็นสถานที่ตั้งอาคารที่พิพาทมีความกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนวจริง ตามข้อมูลการรังวัดของกรมที่ดิน ซึ่งได้ทำการรังวัดรังวัดสอบเขตทางตามคำสั่งของศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2553 จึงเป็นการขัดกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ในข้อ 2 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่ห้ามมิให้มีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ จึงได้มีคำสั่งพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง คือ ผู้อำนวยการเขตปุทมวัน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง แต่คู่กรณีทั้งสามฝ่ายอุทธรณ์และต่อมาเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2557  ศาลปกครองสูงสุดออกอ่านคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ให้ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  ใช้อำนาจตามตรา 40 มาตรา 41 มาตรา 42 และมาตรา 43 แห่งพระราชาบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ดำเนินการกับผู้ร้องสอด คือ บริษัท ลาภประทาน จำกัด และบริษัท ทับทิมทร จำกัด แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุดทั้งนี้นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า     " คำพิพากษานี้ถือเป็นบทเรียนชี้ชัดถึงปัญหาการก่อสร้างอาคารสูงในซอยแคบ รวมถึงซอยร่วมฤดีที่มีถนนความกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนว  และแม้ว่าการต่อสู้ของประชาชนจะยาวนานกว่าจะได้รับความเป็นธรรม เพราะต้องต่อสู้กันอย่างถึงที่สุด อย่างน้อยก็เป็นบทเรียนที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น หากไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ท้ายที่สุดอยากเรียกร้องให้มีระบบการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ชัดเจนมากขึ้น"    นายแพทย์สงคราม  ทรัพย์เจริญ   ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กล่าวเพิ่มเติมว่า  “ การที่กทม.อนุญาตให้มีการก่อสร้างอาคารสูงและมีขนาดใหญ่บนถนนที่มีความกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนวได้นั้นขัดกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ในข้อ 2 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ถือว่าไม่คุ้มครองประชาชน เนื่องจากกฎหมายนี้มีเจตนารมณ์ เพื่อประโยชน์เกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัย การสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การสถาปัตยกรรม และการอำนวยความสะดวกแก่การจราจร จึงต้องออกกฎกระทรวงกำหนดความกว้างเขตทางสำหรับการก่อสร้างอาคารสูงดังกล่าว ดังนั้น จากคำพิพากษานี้ ข้าราชการกทม.และในภูมิภาคอื่นๆ ควรคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนในการอนุมัติโครงการต่างๆด้วย ไม่ใช่เพียงคำนึงถึงผลทางเศรษฐกิจเท่านั้น ”

อ่านเพิ่มเติม >