ฉบับที่ 128 ป้องกันภัย...เด็กตกตึก

  ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก สังกัดภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี   กรณีข่าวการเสียชีวิตของเด็กเล็กที่ตกลงมาจากตึกสูง ไม่อาจมองเป็นเพียงแค่อุบัติเหตุที่น่าสลดใจเท่านั้น หากเมื่อได้ประมวลสถานการณ์และสภาพแวดล้อมแล้ว จะพบว่าเป็นอุบัติเหตุที่ป้องกันได้ ขอเพียงแต่ให้เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของผู้ปกครอง ผู้ออกแบบ และเจ้าของอาคารสูงสำหรับพักอาศัย ตลอดไปถึงอาคารสูงสาธารณะ ที่พร้อมจะช่วยกันดูแลและปกป้องชีวิตน้อยๆ ให้อยู่รอด ปลอดภัย   เหตุการณ์จริง   กรณีที่ 1   คอนโดมิเนียมย่านเมืองทองธานี เด็กหญิง 4 ปี ตกระเบียงชั้น 12   เวลาราว 9 โมงเช้าของวันที่ 6  ก.พ. 2553  เด็กหญิงวัย 4 ปี ต้องอยู่ในห้องพัก(ชั้น12) โดยลำพัง เพราะคุณพ่อลงไปซื้อของกินของใช้ที่ร้านสะดวกซื้อ ที่ชั้นล่างของคอนโด ส่วนคุณแม่ซึ่งเป็นนางพยาบาลก็ต้องไปเข้าเวรตามกิจวัตร อาจเพราะด้วยความซุกซนตามวัย หรือตามหาคุณพ่อคุณแม่ จึงเดินไปเปิดประตูบานเลื่อนแล้วเข้าสู่ระเบียง(เพราะประตูห้องปิดล๊อกไว้)   แล้วเธอก็ปีนตู้แอร์(คอมเพรสเซอร์)ซึ่งจัดวางอยู่ติดระเบียง  พลัดตกลงมา บนพื้นปูนที่ชั้น 5 ซึ่งทำยื่นออกมาเพื่อเป็นที่ตั้งของสวนหย่อม –สระว่ายน้ำ-สนามเทนนิส   กรณีที่ 2   สถานที่คอนโดแห่งหนึ่ง ย่าน บางแค เด็กชาย 5 ปี ตกระเบียงชั้น 7  คุณพ่อปล่อยให้ลูกชายวัย 5 ปีนอนหลับโดยลำพัง โดยตนเองขับรถออกไปจากห้องพักเพื่อไปรับลูกสาวและภรรยาที่สถานีขนส่งหมอชิตใหม่  หลังจากคุณพ่อออกรถไปได้ไม่นาน เด็กชายตื่นขึ้น คาดว่าได้เดินไปเปิดที่ประตูกระจกบานเลื่อน แล้วออกมาที่หน้าระเบียง ซึ่งมีราวระเบียงสูงเพียง 70 ซ.ม. และมีช่องว่างระหว่างราวแต่ละช่องประมาณ 20 ซ.ม. เด็กได้ตกลงมาโดยไม่รู้ว่าเป็นการปีนป่าย หรือมุดลอดช่องห่างระหว่างราว  กรณีที่ 3   สถานที่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง ย่านพัทยา พ่อกินยาตาย หลังจากลูกชายวัย 4 ปีตกระเบียงชั้น 16   โค้ชสอนมวยไทย ชาวอเมริกัน วัย40 ปี ได้ตัดสินใจฆ่าตัวตายในห้องพัก โดยกินยาเกินขนาด 3 วันหลังจากลูกชายประสบอุบัติเหตุ เสียชีวิตจากการตกราวระเบียงจากห้องพักที่ชั้น 16 โดยทิ้งบันทึกไว้ว่า...I love my son   เหตุที่คล้ายคลึงกันและป้องกันได้ เมื่อเด็กพลัดตกจากที่สูงไม่ว่าจะบ้าน อาคารสูง คอนโด หรือที่สาธารณะ จุดที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรงในเด็ก คือ การบาดเจ็บบริเวณศีรษะ เนื่องจากเด็กมีน้ำหนักศีรษะมาก เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ใหญ่ ดังนั้นการตกลงมาของเด็กจะคล้ายลูกแบดมินตัน คือเอาส่วนหัวเป็นส่วนนำ หากไม่เสียชีวิตก็มีโอกาสพิการได้มาก ไม่เพียงแค่นั้น เด็กเล็กๆ คือศูนย์รวมจิตใจของพ่อ แม่ และผู้ดูแล การเสียชีวิตของเด็ก อาจก่อให้เกิดผลกระทบกระเทือนต่อสภาพจิตใจของผู้ปกครองอย่างรุนแรง เกิดความซึมเศร้า จนคิดทำร้ายตนเองตามมาได้ จะมีก็แต่ผู้ออกแบบ ผู้ประกอบการ ผู้รับผิดชอบควบคุมอาคารตามอำนาจหน้าที่ฝ่ายรัฐ เท่านั้น ที่อาจจะยังไม่รู้สึกเลยว่า การเสียชีวิตที่เกิดขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งคือความรับผิดชอบของตนเองด้วย  จากการวิเคราะห์เหตุการณ์ตายของเด็กเล็กเหล่านี้พบว่า องค์ประกอบของเหตุมีจุดบกพร่องทั้งสามด้านคือพฤติกรรมของเด็ก การดูแลของผู้ปกครอง และการออกแบบสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสมกับเด็กที่เป็นผู้ใช้สถานที่ร่วมกับผู้ใหญ่  1.พฤติกรรมของเด็กเล็ก  เด็กวัยนี้ เป็นวัยซุกซน ชอบสำรวจ ขณะเดียวกันก็ยังไม่รับรู้ความเสี่ยงมากนักจนกว่าจะอายุหกปีขึ้นไป จึงเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ยาก การดูแลของผู้ปกครองที่ประมาทแม้เพียงนิด เช่น การทอดทิ้งเด็กอายุน้อยกว่าหกปีให้อยู่ในสถานที่เสี่ยงตามลำพังนั้น ไม่เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำในการดูแลเด็ก จริงๆ แล้ว ถือว่า มีความผิดตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ่อแม่ต้องเข้าใจเรื่องพัฒนาการเด็ก วิธีการดูแลที่ถูกต้องและสำคัญต้องไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพัง ในต่างประเทศมีการใช้กฎหมายเข้าแทรกแซงครอบครัวที่มีการเลี้ยงดูเด็กที่ไม่เหมาะสมเพื่อป้องกันปัญหาลักษณะนี้ แต่เมืองไทยยังไม่เคยเห็นการจัดการที่เป็นรูปธรรม  2. สถานที่  ความเสี่ยงสำคัญคือ  มีการออกแบบไม่เหมาะสมกับผู้ใช้ที่เป็นเด็ก ผิดพลาด โดยในประเทศเราไม่มีกฎหมายกำหนด แต่ในต่างประเทศมีการศึกษาและกำหนดสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับเด็กอย่างชัดเจน ที่ประเทศออสเตรเลียมีงานวิจัยของ Dr. John F Culvenor ที่พบว่าในปี 1992-1993 มีเด็กได้รับบาดเจ็บจากการพลัดตกจากที่สูงถึง 6,642 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 4 ปีถึงร้อยละ 33 ของการบาดเจ็บทั้งหมด โดยเหตุการณ์การตกส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากการตกจากเครื่องกั้นหรือราวกันตกที่สูงไม่เกิน 90 เซนติเมตรเท่านั้น! หรือไม่ก็เป็นการมุดลอดตามช่องของซี่ราวกันตก  ซึ่งมีความกว้างมากจนเด็กสามารถมุดลอดได้ โดยระบุว่าช่องว่างระหว่างราวระเบียงเป็นจุดที่ดึงดูดให้เด็กเข้าไปเล่นมาก เพราะเนื่องจากมีขนาดที่เหมาะต่อการสอดแขน ขา หรือศีรษะ หรืออีกพฤติกรรมหนึ่งของเด็กคือการปีนราวกันตกหรือที่กั้นกันตก (ซึ่งไม่แตกต่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่บ้านเราเลย) เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ต้องเริ่มต้นที่การออกแบบอาคาร โดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยที่สามารถป้องกันได้ ซึ่งมีวิธีการตรวจสอบความเสี่ยงและสิ่งที่ต้องคำนึงถึงดังนี้  1) ราวหรือแผ่นกั้นกันตกควรมีความสูงจากพื้นถึงขอบราวไม่ต่ำกว่า 100 เซนติเมตร โดยอาคารตั้งแต่สามชั้นขึ้นไป (ซึ่งพบว่ามีการบาดเจ็บรุนแรงจากการตก) ต้องมีความสูงราวหรือแผ่นกันตก ไม่ต่ำกว่า 120 เซนติเมตร จากพื้น 2) ไม่มีจุดที่สามารถปีนป่ายได้ หมายถึง ต้องไม่มีโครงสร้างลักษณะที่เป็นแท่งในแนวนอนและมีช่องรูให้วางเท้าที่เอื้อต่อการปีนป่าย รวมไปถึงตำแหน่งการวางของที่ใกล้ราวกันตก ที่ทำให้สามารถปีนป่ายได้ เช่น ตู้แอร์(คอมเพรสเซอร์) ที่วางไว้บริเวณระเบียง เป็นต้น  3) ราวกั้นกันตก ควรเป็นลักษณะแนวตั้ง โดยช่องว่างระหว่างราวควรมีระยะห่างที่พอเหมาะไม่กว้างเกินกว่า 9 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระยะที่แคบที่สุดที่เด็กเล็กจะสามารถมุดลอดโดยเอาเท้า ขา และลำตัวสอดเข้าไปได้แต่ศีรษะติดค้างเกิดการเสียชีวิตในลักษณะแขวนคอได้ หรือออกแบบให้เป็นแผ่นทึบแทนเช่น คอนกรีต โดยไม่เจาะช่องลมให้เป็นที่สอดเท้าเหยียบแล้วปีนป่ายได้  4) ซี่ราวแนวนอนซึ่งเป็นคานล่างของซี่ราวแนวตั้งนั้นมีได้ แต่ต้องอยู่สูงจากพื้นไม่เกิน 9 เซนติเมตร เช่นเดียวกันซี่ราวที่สูงเกินกว่า 100 เซนติเมตร นั้นมีซี่ราวแนวนอนเป็นคานยึดซี่ราวแนวตั้งได้ที่ระดับ 100 เซนติเมตรเป็นต้นไปเท่านั้น   ในประเทศไทยขณะนี้ยังไม่กฎหมายบังคับที่แน่ชัด แต่ในพระราชบัญญัติควบคุมอาคารของกระทรวงมหาดไทยระบุไว้แต่เพียงว่า ความสูงจากพื้นถึงขอบหน้าต่างไม่ควรต่ำกว่า 90 เซนติเมตร ไม่มีการกำหนดลักษณะระเบียง ราวกันตก ช่องห่าง การวางเฟอร์นิเจอร์ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการปีนป่าย ทั้งในบ้าน อาคาร และที่สาธารณะ  ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้สามารถแก้ไขได้ เพียงแค่ผู้บริหารบ้านเมืองกำหนดกฎหมายที่แน่ชัด ผู้ประกอบการให้ความสำคัญและคำนึงถึงความปลอดภัยควบคู่ไปกับผลประกอบการที่จะได้รับ และพ่อแม่ผู้ปกครองใสใจดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เพียงเท่านี้ก็จะสามารถลดอัตราการบาดเจ็บจากการพลัดตกจากที่สูงได้ดีที่สุด   ข้อมูล จากการประชุมเวทีประชาชนเพื่อความปลอดภัยในเด็ก จัดโดย คณะแพทยศาสตร์สามสถาบัน (จุฬา-รามา-ศิริราช) ร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และ สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ วันที่ 18 มิถุนายน 2554 ณ อิมแพค คอนเวนชั่น เซนเตอร์ เมืองทองธานี

อ่านเพิ่มเติม >