ฉบับที่ 268 ควบคุมดูแลสุขภาพด้วย CalkCal

        ปัจจุบันเครื่องดื่มที่ให้ความสดชื่นกับร่างกายมีหลากหลายชนิดและเป็นที่ชื่นชอบกันมากโดยเฉพาะกลุ่มวัยเรียนและวัยทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่เลือกที่จะบริโภคเครื่องดื่มที่มีความหวาน อาทิ ชานมไข่มุก ชาเย็น กาแฟเย็น เป็นต้น อีกทั้งการเลือกบริโภคเครื่องดื่มที่มีความหวานเหล่านี้อาจช่วยทำให้รู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า จึงทำให้บริโภคจำนวนมากในแต่ละวัน         กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้เผยถึงสถิติคนไทยติดหวานกินน้ำตาลเฉลี่ยวันละ 25 ช้อนชา ซึ่งมากกว่าที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ที่ไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา ถึง 4 เท่า โดยพฤติกรรมเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ หลอดเลือดหัวใจ และฟันผุ ตามมาได้         นอกจากความเสี่ยงข้างต้น ยังมีความเสี่ยงที่เกิดจากอาหารประเภทอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายจนเกิดโรคต่างๆ ตามมาได้อีก ดังนั้นการดูแลสุขภาพเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยการเลือกบริโภคอาหารที่เหมาะสมในแต่ละวัน และตรงตามความต้องการของร่างกาย เพื่อควบคุมดูแลสุขภาพให้แข็งแรงและห่างไกลจากโรคภัย ฉบับนี้มาแนะนำให้ลองมาใช้ตัวช่วยในการควบคุมอาหารกับแอปพลิเคชัน “CalkCal” กันดู ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ไม่ยุ่งยาก ง่ายต่อการใช้งานเป็นอย่างมาก         แอปพลิเคชันนี้เน้นในเรื่องของการควบคุมอาหารเป็นหลัก ใช้งานในรูปแบบการบันทึกจำนวนแคลอรีโดยเลือกจากเมนูอาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อ เมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน จะสอบถามข้อมูลส่วนตัว ได้แก่ เพศ ส่วนสูง น้ำหนัก รวมไปถึงเป้าหมายของการลดน้ำหนัก เพื่อนำมาคำนวณและหาค่าเฉลี่ยในการควบคุมพลังงานที่ควรได้รับในแต่ละวัน ภายในแอปพลิเคชันจะแบ่งหมวด 5 หมวด ได้แก่ หมวด Calories หมวด Statistic หมวด Exercise หมวด Setting และหมวด About Us         การใช้งานไม่มีความซับซ้อนใดๆ เมื่อผู้ใช้แอปพลิเคชันต้องการกรอกรายละเอียดมื้ออาหารที่รับประทานในแต่ละวัน ให้กดที่หมวด Calories จะปรากฎชื่อรายการอาหารพร้อมจำนวนแคลอรี เมื่อค้นหาเมนูอาหารเจอแล้ว จะต้องระบุจำนวนและเลือกมื้ออาหาร โดยจะแบ่งมื้ออาหารเป็น 4 มื้อ ได้แก่ มื้อเช้า มื้อกลางวัน มื้อเย็น และมื้ออาหารว่าง กรณีที่ไม่เจอเมนูอาหารที่ต้องการสามารถเพิ่มรายการได้เอง ซึ่งให้กดเลือกปุ่มเครื่องหมายบวกที่อยู่ด้านบนขวามือ         หมวด Statistic ช่วยคำนวณปริมาณแคลอรี่ในแต่ละวันว่าควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารอย่างไร เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ส่วนหมวด Exercise จะเป็นรายการการออกกำลังกายพร้อมจำนวนแคลอรีที่จะถูกเผาผลาญออกไป         เป้าหมายของการห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บ ย่อมสัมพันธ์กับการเลือกรับประทานอาหาร ดังนั้นการควบคุมอาหารให้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายอย่างแท้จริง รวมถึงการออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงสุขภาพดีได้ เลิกติดหวานและหันมาติดการออกกำลังกายและควบคุมอาหารให้เหมาะสมกันดีกว่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 “มือแชร์ข่าวปลอมเลยพวกนี้ ต้องเอากลับมาแชร์ข่าวดีแทน”

        นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับนี้พาไปพบคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภคอีกท่าน ภญ.ชโลม เกตุจินดา หลังจากเรียนจบสาขาวิชาเภสัชศาสตร์ ก็มุ่งมั่นมาทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพราะสนใจเรื่องอาหารสุขภาพ อาหารปลอดสารพิษ การดูแลสุขภาพ โดยเน้นเรื่องวัฒนธรรมชุมชน เธอบอกเราว่า “เราอยากจะเห็นสินค้าที่มันอยู่ในชุมชนได้รับการสนับสนุนและมีมาตรฐาน” ประสบการณ์และเรื่องเล่ามากมาย แต่ครั้งนี้จะเน้นถึงงานเรื่อง ข่าวปลอม ข่าวลวง ข่าวดี ว่ามีผลต่อผู้บริโภคอย่างไร และการทำงานด้วยพลังของอาสาสมัครนั้นสำคัญอย่างไร งานที่อาจารย์ให้ความสำคัญมากคือการเฝ้าระวังสินค้าออนไลน์         คืองานเฝ้าระวังออนไลน์ของเราตอนนี้ เราจะมุ่งไปที่การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายอาสาสมัครคนทำงาน ซึ่งสินค้าออนไลน์ส่วนหนึ่งนี่มันก็จะมีการแชร์ โพสต์ขาย เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิดค่อนข้างเยอะ    ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยารักษาหรือว่าชุดผลิตภัณฑ์ต่างๆ การตรวจพวกนี้หรือว่าสมุนไพร ซึ่งพอมีคนโพสต์แนะนำหรือให้ข่าวว่าสมุนไพรตัวนี้ใช้ดี สักพักเดี๋ยวก็จะมี “ตัวผลิตภัณฑ์” เกี่ยวกับสมุนไพรนั้นโผล่ขึ้นมาในกลุ่มไลน์ ซึ่งเป็นกลุ่มเฉพาะความที่เป็นกลุ่มเฉพาะมันก็จะทำให้การตรวจสอบจากข้างนอกมันเข้าไปไม่ถึง การที่เรามีอาสาสมัครที่เป็นกลไกอยู่ในกลุ่มไลน์ต่างๆ กลุ่มชุมชน กลุ่มวิสาหกิจ กลุ่ม อพม.อะไรอย่างนี้ พอเจอประเด็นอะไรเขาก็สามารถแคปหน้าจอกลับมาให้เราตรวจดูได้ อาจจะมีการแชร์เรื่องสมุนไพรที่โฆษณาเกินจริง มีการแชร์กันเกิดขึ้นอย่างนี้นะคะ เราจะมุ่งไปที่การพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครในพื้นที่ ในการที่จะใช้สื่อออนไลน์แบบมีประสิทธิภาพ คนอายุเยอะส่วนใหญ่จะเป็นอาสาสมัครของเรา อายุประมาณ 50-60 หรือ 40 แถวๆ นี้         แต่ก็ยากตั้งแต่แคปหน้าจอเลย พอเราบอกว่าปัญหาของคนกลุ่มนี้คือ เชื่อง่าย แชร์ง่ายด้วย แชร์เร็ว แต่ว่าหาหลักฐานหาข้อมูลไม่ได้ เราก็จะให้เขาช่วยแคปข้อมูลกลับมาแล้วเราก็ตรวจสอบ หลักจากนั้นก็ทำกระบวนการให้เขาสามารถเชคเกอร์ (Checker) หรือตรวจข้อมูลจาก Application ของ อย. หรือ FDA ได้ อย่างน้อยๆ ตรวจเลข อย.เป็น ว่าอันนี้คือตัวผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหรือว่าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือว่าเป็นยาสามัญประจำบ้าน หรือว่าเป็นยาสมุนไพร เขาก็จะตรวจสอบผ่าน Application เป็นนะคะ อย่างนี้นะคะ ก็ค่อนข้างยากเพราะว่าแคปหน้าจอหลายยี่ห้อนะโทรศัพท์ มือถือหลายยี่ห้อมันก็จะแคปหน้าจอลำบาก พอแคปมาตัวหนังสือเขาก็จะเป็นฟอนต์ประมาณ 30 ตัวอักษรใหญ่ๆ ยาวๆ เต็มจอ มันก็จะมองไม่เห็นไม่ครบหน้าจอ ก็แคปได้ทีละจออะไรอย่างนี้ เราจะสอนให้เขาแคปแล้วก็แคปรูปแบบยาวๆ ให้มีข้อมูลครบ ก็จะเป็นเรื่องเทคนิค เพราะฉะนั้นอันนี้มันก็จะกลายเป็นเหมือนเราฝึกทักษะทางดิจิตอลให้กับอาสาสมัครผู้บริโภคในการเฝ้าระวังด้วย ตอนนี้มีอาสาสมัครกี่คนที่กระจายตามกลุ่มไลน์ต่างๆ         เราทำอบรมมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 ตอนนี้ก็จะมีของสงขลา ประมาณ 100 คน แล้วเราก็ขยายเฉพาะโครงการนี้เป็นการเฝ้าระวังสื่อออนไลน์ คือรวมถึงเรื่องการเคลียร์เรื่องข้อมูลเท็จ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพด้วย แล้วก็จะมีประปรายไปว่าเอาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มันมีปัญหานะคะ ก็มีเริ่มไปอีก 5 จังหวัด แต่ก็ไม่ค่อยต่อเนื่องเพราะว่าสถานการณ์โควิด การฝึกอบรมที่จะต้องจับมือทำงาน  เลยจับไม่ได้เพราะว่าต้องใกล้ชิด โทรศัพท์เขาบางทีก็จะเป็นโทรศัพท์ที่มีปัญหาว่าข้อมูลเต็มเล่นอะไรไม่ได้แล้ว โทรศัพท์ลูกให้ ข้อมูลเต็มไปหมดแล้วก็ดี ไปกดรับอะไรก็ไม่รู้เป็นข้อความ SMS ยืมเงินอีก ก็เจอนะ ก็ต้องมานั่งช่วยเคลียร์ให้ เคลียร์แคช (Cache) เคลียร์อะไรให้ อันนี้ก็จะเป็นประเด็นหนึ่งเรื่องศักยภาพในเรื่องของการใช้พวกมือถือในการสื่อสาร         แต่ในช่วงโควิดนี้ อสม.ส่วนหนึ่งเขาก็จะได้รับหน้าที่ในเรื่องของการสำรวจข้อมูล ทำ Google from มันก็เลยทำให้งานแบบนี้มันได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะฉะนั้นทุกคนก็จะรู้สึกว่ามันช่วยการทำงานของเขา อาสาสมัครเราส่วนหนึ่งส่วนมากก็จะเป็นแกนนำเป็น อสม.อยู่ในชุมชนที่ต้องใช้เรื่องพวกนี้ ขณะเดียวกันก็จะมีงานอีกชุดหนึ่งร่วมกับ กพย.กับทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในเรื่องของการเฝ้าระวังยาชายแดน แล้วก็คิดงานในลักษณะเป็นยุทธศาสตร์เพื่อทำงานเสริมศักยภาพเครือข่ายการทำงานร่วมกัน         เครือข่ายภาคีทำงานร่วมกันก็จะมีตั้งแต่ สาธารณสุขจังหวัด หน่วยบริการที่มีเภสัชฯ อยู่ในโรงพยาบาลระดับชุมชน เพราะว่างานเรื่องการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมส่วนหนึ่ง ก็จะมีกลุ่มเภสัชฯ ในโรงพยาบาลชุมชนที่เขาต้องลงไปดูเรื่องยาชุด ยาที่มีปัญหาสารสเตียรอยด์เกิดขึ้นในพื้นที่ หรือตัวอื่นๆ อย่างเช่น อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ที่มันขายอยู่ตามตลาดนัด  ซึ่งตัวผลิตภัณฑ์นี้จะไม่มีฉลากภาษาไทย รวมถึงยาบางตัวที่อยู่ตามเขตชายแดนก็จะเป็นภาษามลายู ภาษารูมี ที่เป็นภาษาของทางมาเลเชียเขียนแบบภาษาอังกฤษแต่อ่านคำเป็นภาษามาเลเชีย ก็จะสอดคล้องกับในพื้นที่เองเขาก็มีกระบวนการทำงานของอีกด้านหนึ่ง ด้านงานคุ้มครองผู้บริโภคที่ไปเชื่อมกันที่เรียกว่า Border Health ที่เรียกว่าคณะกรรมการชายแดนเรื่องสุขภาพ ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกัน คณะเภสัชฯ ซึ่งรับหน้าที่เป็นกลไกวิชาการประสานประชาคม ซึ่งพวกเราเองคือเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ ก็จะมีประเด็นทำงานร่วมกันมีการเฝ้าระวังผลิภัณฑ์ชายแดน ทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน เพราะว่าปัญหาอยู่ในส่วนของชุมชน             “คือส่วนหนึ่งคนไม่ค่อยไปแจ้ง อย.หรือแจ้ง สสจ.แต่พอเราไป Survey สำรวจ มีกระบวนการเฝ้าระวัง เราก็จะไปถึงต้นตอปัญหาก็คือการใช้ยาในครัวเรือน” ครัวเรือนนี้ได้ยามาจากไหน ได้ยาจากคนที่เพิ่งไปกลับมาจากอินโดฯ กลับจากมาเลย์ แล้วก็มีการส่งต่อ รวบรวมมาแล้วก็ส่งให้ศูนย์วิทย์ฯ ก็เลยกลายเป็นการร่วมมือของภาคี ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เอง คณะเภสัชฯ ก็จะไปทำกระบวนการที่เรียกว่า ฝึกให้เราเป็นนักวิจัยร่วม คือเก็บข้อมูล แล้วก็ออกแบบสอบถามให้มันสามารถมาประมวลผลวิเคราะห์ได้ ฉะนั้นก่อนที่จะไปเก็บข้อมูลก็ต้องมานั่งออกแบบสอบถาม แบบ Survey ก่อนว่าเราต้องการข้อมูลแบบไหน มันก็จะทำให้เห็นทิศทางการจัดการปัญหา         เช่น ถ้าเกิดเจอแบบนี้แสดงว่าสเตียรอยด์ที่เราเจอ คือมันค่อนข้างที่จะชัดเจนแล้ว ทางศูนย์วิทย์ฯ ก็จะส่งไปตรวจสอบ แล้วก็หลังจากนี้เราก็จะดูว่าถ้าเกิดตัวนี้มีปัญหาเราก็จะพูดคุยผ่านใครล่ะ ก็ต้องส่งไปที่ Border Health ส่วนหนึ่งก็จะมีทางสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาสนะคะ ที่ทำงานกับตรงนี้แล้วก็กับด่านสินค้า ด่านตรวจสินค้าก็จะมีด่านศูนย์วิทย์ฯ ของสงขลาด้วยส่วนหนึ่งนะคะ หลังจากนี้เราก็จะเอาข้อมูลพวกนี้มานั่งคุยกันว่าจะมีข้อเสนอต่อไปอย่างไรเพื่อจัดการตัวผลิตภัณฑ์นี้ อันนี้ก็จะเป็นกระบวนการทำงานและอาสาสมัครเองส่วนหนึ่งก็จะตรวจง่ายๆ เป็นสเตียรอยด์จะเป็นในกลุ่มที่เขาถ้าพัฒนาอีกนิดหนึ่งเขาก็จะเป็นอาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญที่เขาเรียกว่า อาสาสมัครนักวิทย์ อสม.เขาจะมีกลุ่มนี้ก็จะตรวจสเตียรอยด์กันเป็นเบื้องต้นก่อน ศักยภาพของกลุ่มอาสาสมัครที่น่าสนใจ         คือกลุ่มไลน์พวกนี้ที่เขาเป็นสมาชิกกันเขาก็จะเกรงใจกันส่วนหนึ่ง แต่ว่าเขาก็จะมีศักยภาพคืออย่างน้อยๆ ตอนนี้เขาเริ่มพิมพ์เป็น คือกดพิมพ์ไม่ใช่กดแชร์อย่างเดียว พอเริ่มกดพิมพ์ได้เขาก็จะเริ่มถามว่าถ้าพูดไปอย่างนี้ดีไหม อย่างคนที่ส่งข้อมูลมามีวุฒิการศึกษานะเป็นอาจารย์โรงเรียนด้วย แต่อาจารย์คนนี้ส่งข้อมูลที่มันไม่น่าเชื่อถือ น่าสงสัย เรา (อาสาสมัคร) จะตอบกลับไปอย่างไร ก็จะมีกลุ่มไลน์เพื่อปรึกษาหารือกันเป็นกลุ่มไลน์เพื่อส่งข้อมูล คือแชร์หน้าจอมาแล้วเหล่าอาสาสมัครเขาก็จะถามว่าอันนี้จะตอบไปอย่างไรดี ให้ไม่หักหน้ากันมากนัก ปัจจุบันก็ยังมีข้อความที่แชร์เรื่องผิดๆ อยู่มาก มีวิธีจัดการอย่างไร         ใช่ค่ะ ถูก เพราะฉะนั้นตอนนี้ศักยภาพของอาสาสมัครเราที่เห็นได้ชัดเจนคือ ข่าวปลอมๆ พวกนี้ที่ได้รับมาบางส่วนมันเริ่มเป็นข่าววนซ้ำ เขา (อาสาสมัคร) จะจำได้ เช่น ข่าววนซ้ำว่าแชร์เรื่องคลิปที่อาจารย์มหิดลเขาทำวิจัยเรื่องกระชาย อาสาสมัครของเราก็สามารถบอกกันต่อได้ว่า “เออวิจัยนั้นเขาก็จะยังไม่เป็นยานะ เป็นแค่การทดลองในเซลล์ที่อยู่ข้างนอกที่เป็นในหลอดทดลองยังไม่ได้ใช้ในคน” เขาก็จะพิมพ์พวกนี้ได้เรียกว่ามีชุดข้อมูลที่ถูกต้อง  คือมีชุดคำที่พร้อมจะไปอธิบายว่า เห้ย ยังไม่ได้เป็นยาอันนี้อันนั้น หรือว่าอันนี้น้ำกระชายจริงๆ ยังไม่ควรกินแบบคั้นสด เพราะมันกินแล้วมันจะระคายเคืองปาก ปากคุณจะเป็นตุ่มนะและก็ไม่ได้รักษามีแค่เสริมภูมิ ก็จะชุดคำที่เขาเอาไปพูดได้แต่มันจะเริ่มวนซ้ำแล้ว เดี๋ยวสักพักจะมีคนในกลุ่มเขาก็จะแชร์เนื่องจากความยากในการเข้าถึงยาตอนนี้นะคะ          แต่ตอนนี้ก็อาจจะมีอีกประเด็นหนึ่งซึ่งยังเป็นความคลุมเครือยังไม่ลงตัวกันของข้อมูล เช่น ATK Antigen Test Kit ตอนนี้มันคืออะไรแน่มันต้องผ่าน WHO ก่อน หรือมันผ่าน อย.ก่อน ก็เป็นเรื่องประเด็นถกเถียงกัน ซึ่งการสื่อสารของ อย.ก็ไม่ชัด สื่อสารของหน่วยที่จัดซื้อก็ไม่ชัด อันนี้ก็จะลำบากนิดหนึ่ง จากประสบการณ์ของอาจารย์เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ         คือเราเองความไว้เนื้อเชื่อใจเรื่องมาตรฐานหรือเรื่อง อย.เราก็คิดว่าเป็นเกณฑ์แรก แต่ในขณะที่ความเปลี่ยนแปลงเรื่องเทคโนโลยีโดยเฉพาะในเรื่องของไลฟ์สไตล์ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพการบำรุงสุขภาพเป็นพวก Function Drink  อะไรพวกนี้ไปไกลมากกว่าการที่จะมารับรองมาตรฐาน  แล้วคนก็สนใจในเรื่องภูมิคุ้มกันเรื่องการสร้างความแข็งแรงมากกว่าการรักษา เพราะฉะนั้นตัวผลิตภัณฑ์พวกนี้มันค่อนข้างจะคลุมตลาดได้กว้างมากขึ้นนะคะ แล้วก็การให้ใบอนุญาตอะไรพวกนี้มันก็ง่ายขึ้นแต่ไม่มีใครยืนยันความชัดเจน คือมันขายเหมือนอาหารนั่นแหละแต่มันโฆษณามากเกินกว่าอาหาร อันนี้ก็เป็นปรากฏการณ์ที่เห็น         เรื่องพฤติกรรมของผู้บริโภค ปัจจุบันคนก็ชอบทางลัดคือกินอะไรง่ายๆ กินนิดเดียวก็ได้ผัก 2 กิโลกรัม อะไรอย่างนี้ก็จะยิ่งสอดรับกับวิถีแบบนี้ ซึ่งเราก็คงไปบอกเขาห้ามกินไม่ได้ แต่เราก็จะต้องทำเรื่องกำกับคุณภาพกับหน่วยงาน หน่วยงานรัฐให้เขาทำเรื่อง Post Marketing ให้เยอะขึ้น เพราะเขาอนุญาตไปแล้วแต่เขาไม่ได้มาตามดูคุณภาพหลังจากที่มีใบอนุญาตออกมาแล้ว ก็มีการขายในท้องตลาดแล้ว มันควรจะมีหน่วยงานต่างหากที่มาทำเรื่องนี้ ทำวิจัยที่เรียกว่า Out of Pocket ด้วย ก็คือเราจะสุขภาพเกินไปไหม คือบางคนพร้อมจะจ่ายนะ แต่การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่มันเป็นการตลาดเหมือน Functional Drink ที่เราเห็นบางโครงการมันจะเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ และหน่วยงานก็ไม่ได้กำกับดูแล กลายเป็นเราต้องไปซื้อหาเพื่อดูแลสุขภาพมากเกินจำเป็น แต่ก็ยังเจ็บป่วยอยู่เหมือนเดิม อันนี้ก็เห็นอยู่ในประเด็นเรื่องสุขภาพ         สำหรับประเด็นเรื่องอื่นของผู้บริโภค เนื่องจากผู้บริโภคไม่มีแหล่งข้อมูลรีวิวสินค้าที่เป็นกลางมาก อันนี้ก็จะเห็นพัฒนาการว่าเรายังไม่มีหน่วยงานที่จะมาดูแลสินค้าที่น่าเชื่อถือ ก็คาดหวังว่าหน่วยงานรัฐเองจะสนับสนุนเรื่องเกณฑ์สินค้าที่เป็นมาตรฐานจริงๆ แล้วก็สินค้าบางตัวที่มันทำให้เสื่อมเร็ว ซึ่งมันไม่สอดคล้องกับวิถีที่เราจะต้องดูแลสิ่งแวดล้อม มันก็ควรจะมีข้อบ่งใช้ให้พวกบริษัท ร้านค้า ผู้ประกอบธุรกิจร่วมรับผิดชอบด้วยเกี่ยวกับขยะต่างๆ ที่มันจะเกิดขึ้น อันนี้ในแง่มุมผู้บริโภค ซึ่งอันนี้น่าจะเป็นประเด็นเรื่องผู้บริโภคยั่งยืนด้วยคะ ก้าวต่อไปที่คิด         ก็คิดว่าส่วนหนึ่งคือ เราต้องไปทำระบบที่มันเป็นระบบข้อมูลที่คนเข้าถึงได้ง่าย คือตอนนี้ Application มันเยอะ สแกน QR Code ก็ง่ายแต่มันไม่มีเครื่องมือสำหรับผู้บริโภคที่เราจะเข้าถึงได้ง่ายอย่างนี้นะ ก็คิดว่ามันควรจะมีใครมาทำเรื่องพวกนี้ เปรียบเทียบราคาสินค้าต่างๆ เปรียบเทียบคุณภาพจากการสแกน QR Code คือผู้บริโภคจะต้องทำได้ง่ายขึ้น ก็คงจะต้องไปพัฒนาเขาเรียกว่า Smart People ให้เท่าทันกับสถานการณ์ว่าเรารีวิวสินค้าไม่ได้ แต่เราควรจะต้องมีเครื่องมืออะไรที่เรารู้ว่าอันนี้มันมีคะแนนให้จากคนทั่วไป ชุมชนอื่นหรือ อสม. หรือเครือข่ายผู้บริโภคอื่นๆ ที่สนใจ มีคำแนะนำอย่างไร         คือเริ่มต้นจริงๆ อสม.ทำได้นะคะ มันมีกองทุนสุขภาพท้องถิ่นรวมตัวกันแล้วก็เขียนโครงการเป็นเรื่องพัฒนาศักยภาพผู้บริโภคได้เลยในเรื่องของสุขภาพในเรื่องของการตรวจสอบความเท่าทันข้อมูลสุขภาพที่เรียกว่า Health literacy อาจจะต้องให้ทางเจ้าหน้าที่ช่วยหน่อยเป็นเรื่องความฉลาดทางสุขภาพนะคะ Health literacy ซึ่งมันต้องใช้พวกเครื่องไม้เครื่องมือนี้นะคะ ไปเขียนโครงการพัฒนาศักยภาพและก็ขณะเดียวกันก็อาจจะต้องหาคนมาช่วยเรื่องพวกนี้ แต่ว่าติดต่อมาทางเราได้ ยินดีเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 สมัครคอร์สดูแลสุขภาพแล้วพบว่าป่วยจะบอกเลิกสัญญาได้ไหม

        ใครๆ ก็อยากมีสุขภาพดีแล้วถ้ามีวิธีไหนที่จะทำให้สุขภาพดีและมีรูปร่างดูดีด้วยแล้ว เราก็คงอยากจะทำ เช่น คอร์สดูแลสุขภาพพร้อมความงาม แต่ถ้าเราตกลงแล้วจ่ายเงินเป็นค่าคอร์สไปเรียบร้อยแล้ว แต่พบว่าเราป่วยเป็นโรคร้ายแรง และหากยังฝืนทำตามคอร์สที่ซื้อมาอาจทำให้อาการป่วยเราแย่ลงจะขอเงินที่จ่ายไปแล้วคืนได้ไหม         คุณนวล ได้รับโทรศัพท์เชิญชวนให้ “เขา” เข้าตรวจสุขภาพของศูนย์ดูแลสุขภาพแห่งหนึ่ง เขาตอบรับคำชวนและเข้ารับการตรวจสุขภาพเพราะฟังคำเชิญชวนแล้วรู้สึกดีมาก ผลการตรวจพนักงานวิเคราะห์ว่า เขาสุขภาพไม่ค่อยดีนักมีปัญหาหลายเรื่อง เช่น ซึมเศร้า ไตไม่ดี และอื่นๆ ถ้าอยากจะรักษาต้องมีการตรวจเลือดแล้วนำผลเลือดมาพบแพทย์เพื่อห้วินิจฉัยโรคต่อไปซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายในคอร์สนี้ 499,000 บาท         คุณนวลชะงักไปเมื่อได้ยินค่าใช้จ่าย บอกพนักงานไปว่าเขาเกษียณแล้วจะเอาเงินมากมายขนาดนั้นมาจากไหน พนักงานเสนอราคาพิเศษลดให้เหลือ 199,000 บาท แต่เขาก็ยังไม่มีเงินพออยู่ดี จึงต่อรองกับพนักงานและจ่ายไปก่อน 30% เป็นเงิน 59,700 บาท ด้วยบัตรเครดิตโดยรายละเอียดคอร์สนี้จะต้องได้รับการรักษา 17 ครั้ง เท่ากับเฉลี่ยครั้งละ 3,512 บาท         หลังจากพบคุณหมอที่ศูนย์ดูแลสุขภาพ เขาได้รับการฉีดวิตามิน 2 ตัว และ Zinc เมื่อฉีดวิตามินแล้วเขารู้สึกเหมือนว่าหน้าอกเขาเริ่มใหญ่ขึ้น(พองขึ้น) และเจ็บที่หน้าอก หลังจากนั้นเขาได้รับวิตามินอีก 4 ครั้ง มีอาการเจ็บหน้าอกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงกังวลใจรีบได้ไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล ผลออกมาว่าเขาเป็นมะเร็งปอด ต้องรับการรักษาด่วน         เมื่อคุณนวลแจ้งกับแพทย์ของโรงพยาบาลว่า เขาสมัครคอร์สดูแลสุขภาพไว้ โดยรับการฉีดวิตามินและอื่นๆ  แพทย์บอกว่าให้หยุดการรักษาทุกอย่างก่อนเพราะถ้าเกิดอะไรขึ้นจะไม่รู้ว่าสาเหตุของอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมาจากสาเหตุใด         หลังจากนั้นเขาไปปรึกษาแพทย์ที่ศูนย์ดูแลสุขภาพ แพทย์เห็นด้วยว่า ควรหยุดการรักษาที่ศูนย์สุขภาพฯ ก่อน และเซ็นเอกสารให้ยกเลิกการรักษา คุณนวลจึงทำหนังสือยกเลิกสัญญาและขอเงินส่วนต่างที่ยังไม่ใช้บริการจำนวน 42,140 บาทคืน แต่ทางศูนย์ฯ โดยพนักงานยึกยักแจ้งว่าสามารถคืนได้เพียง 22,140 บาทเท่านั้น มิเช่นนั้นก็ให้ชวนคนอื่นเข้ามารักษาแทน (โอนสิทธิ) โดยเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย คุณนวลไม่สบายใจ เมื่อไม่อาจตกลงกันได้จึงมาขอคำปรึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหา         เนื่องจากคุณนวลขอยกเลิกสัญญาและขอเงินคืนเพราะมีเหตุผลด้านสุขภาพ คุณนวลย่อมมีสิทธิได้รับเงินส่วนต่างคืนตามยอดที่ได้ใช้จ่ายไปจริง โดยการเข้าคอร์ส​ครั้ง​นี้​พนักงาน​ได้​เรียก​เก็บ​เงิน​ไป​เป็​นเงินจํานว​น ​59,700 บาท​ ซึ่ง​จะ​ต้อง​ได้​รับ​การ​รักษา​ทั้ง​หมด​ 17 ครั้ง​ เท่ากับเป็นการ​รักษา​ครั้ง​ละ​ 3,512 บาท​ แต่คุณนวลได้รับการ​รักษาไปเพียง 5 ครั้ง​ รวม​เป็น​เงิน​ทั้ง​สิ้น​จํานว​น 17,560 บาท​ ดังนั้นจึง​มี​จํานวน​ส่วน​ต่าง​ที่จะ​ต้องได้คืนคือ ​42,140 บาท         ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ แนะนำให้คุณนวลทำหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาและขอคืนเงิน หลังจากที่หนังสือถึงศูนย์สุขภาพ ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ติดต่อไปยังศูนย์สุขภาพโดยช่วยคุณนวลอธิบายเรื่องสิทธิของลูกค้าที่จะได้รับเงินคืนและนัดวันเวลาเพื่อเจรจาเรื่องจำนวนเงินส่วนต่างที่จะต้องคืนให้แก่คุณนวล          ต่อมาทราบจากคุณนวลว่า ศูนย์สุขภาพฯ จะคืนเงินส่วนต่างให้เขาจำนวน 37,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่คุณนวลพอใจจึงขอยุติเรื่องร้องเรียนไป

อ่านเพิ่มเติม >