ฉบับที่ 144 " World Consumer Rights Day"

ฉบับนี้ขอพาคุณไปพบกับสตรีแกร่งแห่งวงการสิทธิผู้บริโภคทั้งไทยและต่างประเทศ มุมมองในประเทศโดย คุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และมุมมองจากต่างประเทศ ดาโต๊ะ อินดรานี ทูไรซิงคาม ผู้อำนวยการสหพันธ์ผู้บริโภคสากล สาขาเอเชียแปซิฟิกและตะวันออกกลาง ในสถานการณ์ที่ไทยและเหล่าประเทศในกลุ่มอาเซียนกำลังจะกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน   “ไปดูรายงานของ กกต.ที่บอกว่าธุรกิจใหญ่ๆ สนับสนุนงบประมาณให้พรรคการเมือง หากกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ภายใต้กลไกการเมือง ก็ไม่มีความเป็นอิสระ  การที่จะมีนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคก็จะเกิดขึ้นได้ยาก”   ผู้บริโภคไทยกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน สิ่งที่เรากลัวมาก ก็คือการที่แต่ละประเทศมีการคุ้มครองผู้บริโภคที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น การนำเข้าสารเคมี 4 ชนิดที่เป็นอันตรายอย่างมากนั่นคือ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น ในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ลาว ยกเลิกแล้ว  แต่ไทยยัง ถ้าเรายังไม่มีกลไกของรัฐในการผลักดันให้เป็นมีเอกภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค ก็จะทำให้ประเทศไทยของเรากลายเป็นที่ทิ้งขยะสารเคมีเหล่านี้ เพราะประเทศอื่นมีการถอนทะเบียนไปแล้ว  ก็ควรที่จะมีกติกาในการคุ้มครองผู้บริโภคที่เหมือนกัน   อีกเรื่องก็คือกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคในอาเซียนเองยังกระจัดกระจาย อย่างคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในอาเซียนซึ่งเป็นกลไกของหน่วยงานรัฐที่มารวมตัวกันนั้น ดูเรื่องสินค้าและบริการทั่วไป  แต่อาหาร ยา ก็ไปอยู่ภายใต้การดูแลของ อย.แต่ละประเทศ การคุ้มครองผู้บริโภค มันจึงมีหลายส่วนหากทำให้ระดับการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างน้อยมีมาตรฐานขั้นต่ำที่เหมือนกัน  ก็ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำกันใน 10 ประเทศทั้งที่เราจะเป็นประชาคมเดียวกัน   ที่น่ากังวลอีกส่วนก็คือประเทศไทยยังไม่ตื่นตัวมากพอในแง่การคุ้มครองผู้บริโภค เห็นได้จากคณะกรรมการการคุ้มครองผู้บริโภคอาเซียน ซึ่งมีเว็บไซต์ ให้สมาชิกแจ้งสินค้าที่อาจมีอันตรายกับผู้บริโภคและมีการนำออกนอกตลาด ไทยเราไม่แจ้งเข้าไปเลย ทั้งที่ก็พบอยู่ประเทศที่ส่งอยู่ 5 ประเทศ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์  มาเลเซีย เช่น อินโดนีเซียห้ามขายหม้อหุงข้าว  ไดร์เป่าผม ที่ไม่มีภาษาอินโดนีเซีย ก็สะท้อนว่าเรายังไม่มีความตื่นตัวที่จะร่วมมือในการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับอาเซียน  ไทยเราควรตามเรื่องเหล่านี้ให้ทัน  สคบ.ควรที่จะนำข้อมูลการแจ้งเตือนเหล่านี้มาแปลและแจ้งให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ ตอนนี้ก็ใช้ได้เฉพาะผู้บริโภคที่รู้ภาษาอังกฤษเท่านั้น ประเทศไทยอย่ามัวกังวลในการคุ้มครองผู้ประกอบการอยู่   องค์กรที่ทำงานด้านผู้บริโภคเตรียมตัวอย่างไร ปีนี้ครบ 30 ปีในการทำข้อตกลงความคุ้มครองผู้บริโภคในสหประชาชาติ ซึ่งสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลก็ได้ทำงานผ่านรัฐบาลของประเทศต่างๆ ขณะนี้จะทบทวนการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในระดับโลกทั้งเรื่องสิทธิผู้บริโภคที่อาจะไม่ทันสมัย ซึ่งหน่วยงานรัฐไทยเราก็น่าจะถือโอกาสนี้ปรับปรุงการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย และสร้างกลไกในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระทั้งจากการเมือง ธุรกิจ หากไปดูรายงานของ กกต.ที่บอกว่าธุรกิจใหญ่ๆ สนับสนุนงบประมาณให้พรรคการเมือง หากกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ภายใต้กลไกการเมือง ก็ไม่มีความเป็นอิสระ  การที่จะมีนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคก็จะเกิดขึ้นได้ยาก   การมีองค์การอิสระฯ จึงเป็นเหมือนตัวกระตุ้นให้ตัวตรวจสอบตัวสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้บริโภคได้เท่าทันการใช้ชีวิต ซึ่งคิดว่าการมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นกลไกที่มีความสำคัญ   องค์กรผู้บริโภคเองก็ตื่นตัวกับการคุ้มครองผู้บริโภคอาเซียน มีการตั้ง “สภาผู้บริโภคอาเซียน” ขึ้น ซึ่งหากพบปัญหาอะไรที่รุนแรงก็พร้อมจะร่วมมือกัน อย่างการพยายามสร้างกลไกให้ความเห็นต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคอาเซียน ว่าควรจะคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไร ที่ตื่นตัวมากขณะนี้ก็ประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์  ที่ผ่านมาก็ทำ MOU เรื่องการเยียวยาผู้บริโภคในอาเซียน เช่น ผู้บริโภคไปซื้อของที่สิงคโปร์ กลับมาไทยแล้วมีปัญหา ก็ให้องค์กรผู้บริโภคที่สิงคโปร์รับเรื่องร้องเรียนแทนเราได้ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีในการช่วยเหลือผู้บริโภค -----------------------   ดาโต๊ะ* อินดรานี ทูไรซิงคาม ผู้อำนวยการสหพันธ์ผู้บริโภคสากล สาขาเอเชียแปซิฟิกและตะวันออกกลาง   “ผู้หญิงคือผู้ริเริ่มเศรษฐกิจใหม่ และการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้หญิง จะทำให้พวกเธอสามารถใช้สิทธิ และตัดสินใจด้วยตนเองได้”   บทบาทผู้หญิงกับการคุ้มครองผู้บริโภค ประเด็นผู้บริโภคเป็นสิ่งที่ผู้หญิงให้ความสนใจมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัยของอาหาร อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ หรือการมีโภชนาการดี นอกจากนี้ยังมีเรื่องใหม่ๆ เช่นบริการการเงินการธนาคาร การบริโภคอย่างยั่งยืน หรือความปลอดภัยของข้อมูลด้วย   ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการออกแบบและตัดสินใจรูปแบบการบริโภค และการดำเนินชีวิตของสมาชิกในครอบครัว และธรรมชาติของผู้หญิงในฐานะผู้ให้การดูแลและสัญชาติญาณในการเอาใจใส่ผู้อื่น ทำให้ผู้หญิงมีส่วนทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่มั่นคง ปลอดภัย และยั่งยืน เพื่อตนเองและครอบครัว   ผู้หญิงกำลังทำลายกำแพงและผลักดันให้รัฐบาลยกระดับความสำคัญของสตรี พวกเธอไม่ใช่ช้างเท้าหลังอีกต่อไป ผู้หญิงมีความสนใจสิทธิและความยั่งยืน และประเด็นเล่านี้จะเป็นสิ่งที่ควบคุมทิศทางความเคลื่อนไหวในอนาคต   ต่อไปนี้ข้าวของเครื่องใช้ในบ้านจะต้องสมบูรณ์(ไม่ใช่สินค้ามีตำหนิ) คุณภาพดี สามารถนำมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และคุ้มค่าเงิน เป็นต้น   ผู้หญิงคือผู้ริเริ่มเศรษฐกิจใหม่ และการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้หญิง จะทำให้พวกเธอสามารถใช้สิทธิ และตัดสินใจด้วยตนเองได้  ผู้บริโภคต้องตระหนักว่าทุกๆ การกระทำของตนเองมีผลต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการแข่งขันในตลาด  ดังนั้นจึงต้องมีความรู้เพียงพอที่จะแยกแยะว่าเมื่อไรตนเองกำลังถูกเอาเปรียบ   และที่สำคัญ ประเด็นที่ผู้หญิงใส่ใจ เช่นการใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า สิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว และอาหารที่เด็กๆ บริโภค ได้กลายเป็นประเด็นระดับโลกที่องค์กรสากลอย่าง องค์การอนามัยโลก และแผนงานสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ก็ให้ความสนใจเช่นกัน   อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดของการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในอาเซียน อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดคือผู้บริโภคในอาเซียนขาดความกระตือรือร้น และปล่อยให้ตัวเองถูกบริษัทใหญ่ๆเอาเปรียบ พวกเขาไม่มีความมั่นใจว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงกลไกตลาดได้ ประกอบกับภาครัฐก็ขาดความเด็ดขาดในการบังคับใช้กฎหมายด้วย ถ้าเทียบกันแล้วในภูมิภาคนี้ สิงคโปร์ถือว่าเป็นอันดับหนึ่งในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้วยกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่ก้าวหน้าที่สุดและการบังคับใช้ได้ดีที่สุดด้วย เช่น สิงคโปร์มีกฎหมายเฉพาะสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน/ความคาดหวังของผู้บริโภค (Lemon Law) และมีศาลพิจารณาคดีสำหรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ เป็นต้น   ประเทศไทยน่าจะมาเป็นอันดับสอง ด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคที่อยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี แสดงว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก และองค์กรผู้บริโภคในประเทศไทยก็มีความตื่นตัว และมีการเคลื่อนไหวหลายอย่างเพื่อปัญหาผู้บริโภค   สื่อใหม่ในสังคมออนไลน์กับการคุ้มครองผู้บริโภค มันมีทั้งประโยชน์และโทษ อยู่ที่วิธีการใช้  เราสามารถใช้มันเพื่อเผยแพร่ประเด็นผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวางโดยใช้เวลาไม่มาก  ขณะเดียวกันผู้ประกอบการที่ไม่รับผิดชอบหรือไม่มีจริยธรรม ก็สามารถใช้โซเชียลมีเดียในการเอาเปรียบผู้บริโภคได้เช่นกัน ผู้บริโภคยุคนี้จึงต้องตื่นตัวตลอดเวลา   *“ดาโต๊ะ” คือตำแหน่งที่รัฐบาลมาเลเซียมอบให้แก่บุคคลที่ทำประโยชน์ให้สังคม   อินดรานีเรียนจบทางด้านกฎหมาย เธอบอกว่าอยากทำงานที่เป็นประโยชน์กับสังคม เธอจึงเลือกทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ในปีพ.ศ. 2542 เมื่อเธอยังทำงานอยู่ที่สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งมาเลเซีย Federation of Malaysian Consumers Associations (FOMCA) อินดรานีและทีมประสบความสำเร็จในการผลักดันกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ในปี  พ.ศ. 2543 และ พ.ศ. 2550 เธอเป็นผู้แทนขององค์กรผู้บริโภคแห่งมาเลเซียในคณะกรรมการของสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International) และปัจจุบันเธอทำงานเคลื่อนไหวเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับภูมิภาคในตำแหน่งผู้อำนวยการสหพันธ์ผู้บริโภคสากล สาขาเอเชียแปซิฟิกและตะวันออกกลาง ขณะนี้อินดรานีเป็นผู้ประสานงานการทำข้อเสนอขององค์กรผู้บริโภคจากประเทศต่างๆ ต่อสหประชาชาติ ซึ่งกำลังปรับปรุงแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคในศตวรรษที่ 21

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point