ฉบับที่ 132 แค่ 927.32 บาท ก็ฟ้องครับ

“ผมเห็น อ.เจิมศักดิ์(ปิ่นทอง) ฟ้องโดยใช้กฎหมายวิธีพิจารณาดีผู้บริโภคได้ โดยไม่ต้องใช้ทนาย ผมก็ลองใช้บ้าง แต่พอเอาเข้าจริงมันไม่ง่ายเลย...” คุณณัฐพงศ์ เอกะโรหิต ผู้ซึ่งมี อ.เจิมศักดิ์ เป็นต้นแบบในการฟ้องคดีผู้บริโภคโดยไม่ต้องใช้ทนาย จะมาบอกเล่าถึงอุปสรรคที่เขาได้เจอ เมื่อถึงเวลาจะใช้สิทธิฟ้องร้องจริงๆ มันทั้งอึดอัดและน่ารำคาญ แต่ถึงอย่างไรมันก็ทำให้เขาประสบความสำเร็จ แม้เส้นทางจะยากแค่ไหน เขาก็รู้สึกดีที่ได้ “ลงมือทำ”   พูดจาภาษากฎหมาย ประสบการณ์อันล้ำค่า วันที่ 1 ธันวาคม 2554 ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ออกนั่งบัลลังก์ พิพากษา คดีละเมิดให้บริษัท ทีที แอนด์ที ซับสไครเบอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 และบริษัท ทริปเปิลที อินเทอร์เน็ต จำกัด เป็นจำเลยที่ 2 จ่ายค่าเสียหายให้ คุณณัฐพงศ์ จำนวน 8,300 บาท และให้จ่ายเงินค่าเสียหายเชิงลงโทษ ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 อีก 15,000 บาท รวมเป็นเงิน 23,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระค่าเสียหายจนครบ แต่คดียังไม่สิ้นสุดเพราะจำเลยได้ขอขยายเวลาในการยื่นอุทธรณ์ไปวันที่ 1 มี.ค. 2555 “อ.เจิมศักดิ์ บอกว่า พ.ร.บ.นี้ฟ้องเองได้เลย เดินเข้ายื่นฟ้องได้เลยไม่ต้องใช้ทนาย ทุกอย่างจบลงสวยงาม ผมก็มองว่าเอ้ย ถ้า อ.เจิมศักดิ์ ฟ้องได้เราก็น่าจะฟ้องได้ ก็เข้าไปฟ้อง อ่ะ...แต่มันไม่เป็นอย่างนั้น ตอนไปยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่คดีบอกว่า ‘ถ้าเขาละเมิดพี่แต่พี่ไม่มีความเสียหายพี่ก็ฟ้องไม่ได้และถ้าพี่เสียหายแต่เขาไม่ละเมิดพี่ ก็ฟ้องเรียกค่าเสียหายไม่ได้’ ฟังแล้วงงไหมครับ ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาจะเข้าใจไหมครับ ซึ่งส่วนตัวผมมองว่า พ.ร.บ.ตัวนี้ คนเขียน คนตรากฎหมายมีความตั้งใจมาก ต้องทำความเข้าใจ เหมือนปัจจุบัน กฎหมายผู้บริโภคตัวนี้ถูกใช้ผิดวัตถุประสงค์ กลายเป็นเครื่องมือของนายทุน ผู้ประกอบการใช้บังคับกับผู้บริโภคแทนอย่างคดีไฟแนนซ์ คดีเช่าซื้อ นัดเดียวจบ พอผู้บริโภคอย่างผมไปฟ้องบ้างนานนะครับ ไม่แป๊บเดียว”   บริการเจ้าปัญหา ทวงหนี้ ทั้งที่ไม่เป็นหนี้คุณณัฐพงศ์ ยื่นฟ้องบริษัททีที แอนด์ที ซับสไครเบอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 และบริษัท ทริปเปิลที อินเทอร์เน็ต จำกัด เป็นจำเลยที่ 2 ซึ่งยื่นฟ้องทั้ง 2 บริษัทในฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท จำกัด ที่ประกอบกิจการให้บริการอินเตอร์เน็ต เป็นคดีผู้บริโภค เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 กรณีเรียกเก็บค่าบริการจำนวน 927.32 บาท ทั้งที่ได้แจ้งยกเลิกบริการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2552 หลังจากนั้นก็ยังคงได้รับบิลเรียกเก็บค่าบริการอีก ซึ่งคุณณัฐพงศ์ ได้เข้าชี้แจงกับบริษัทผู้ให้บริการว่าได้ยกเลิกบริการเรียบร้อยแล้ว ด้านพนักงานก็รับปากว่าจะจัดการให้เรียบร้อย จนวันที่ 20 สิงหาคม 2553 ก็ยังได้รับหนังสือทวงถามให้ไปจ่ายค่าบริการอีก ทำให้เขาต้องหยุดงาน เข้าไปชี้แจงว่าได้ชำระค่าบริการและได้ยกบริการไปตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2552 แล้ว พร้อมขอคำอธิบายถึงจดหมายทวงถามให้ชำระหนี้ แต่ไม่ได้คำตอบ ซึ่งพนักงานได้ขอให้นำใบเสร็จรับเงินว่าได้ชำระค่าบริการแล้วมายืนยัน คุณณัฐพงศ์ดูทีท่าแล้วคงจะคุยกันไม่รู้เรื่อง จึงขอพบผู้ลงนามในจดหมายทวงถามพร้อมทั้งขอให้ทางบริษัททำจดหมายขอโทษถึงสิ่งที่เกิดขึ้น “ผมสงสัยในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับผมจะเกิดขึ้นกับคนอื่นๆ หรือเปล่าจึงลองค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตดู ทำให้รู้ว่าเรื่องในรูปแบบเดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นผู้บริโภครายอื่นๆ ด้วย คือไม่แสดงยอดค้างชำระในใบเสร็จรับเงิน เมื่อเวลาผ่านไป ผู้บริโภคไม่ได้เก็บใบเสร็จไว้ เมื่อมีการทวงถามให้ชำระหนี้อีก ใครเก็บใบเสร็จไว้ก็ให้นำไปแสดง ใครไม่เก็บก็ต้องจ่ายซ้ำอีก ซึ่งถ้าผู้บริโภคที่ไม่เก็บใบเสร็จรายใดไม่ยอมจริงๆ และเมื่อนำไปฟ้องร้อง ก็จะมีการเจรจาลดหนี้ให้ทั้งๆ ที่เขาเหล่านั้นมิได้เป็นหนี้เลย” และเพื่อพิทักษ์สิทธิของตัวเองคุณณัฐพงศ์จึงเข้าร้องเรียนต่อ สคบ. ซึ่งทาง สคบ.ได้แนะนำให้ไปร้องต่อ สบท.และทาง สบท.ได้แนะนำให้ไปพึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ท้ายที่สุดเพื่อพิสูจน์กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค จึงเข้าแจ้งความสถานีตำรวจภูธรอำเภอหัวหินไว้เป็นหลักฐาน และยื่นเรื่องฟ้องศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ผมมันบ้ามากกว่า ที่ลุกขึ้นมาฟ้อง คนทั่วไปเขายื่นฟ้องกันด้วยเหตุความเสียหายเยอะๆ แต่ของผมแค่ 927.32 บาท   ไม่ท้อและไม่ถอยจากการนับหนึ่งเข้ายื่นเรื่องฟ้องศาลตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2553 เพื่อหวังใช้สิทธิตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 จนถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2554 รวมระยะเวลาในการพิจารณาคดี 1 ปี 2 เดือน 11 วัน และปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการขยายเวลาในการอุทธรณ์ “มันยากครับตั้งแต่การพิจารณาว่าเป็นคดีผู้บริโภคไหม หรืออาจจะเพราะติดรูปแบบเดิมที่ยึดติดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งระยะเวลาในการพิจารณา ภาระการพิสูจน์ว่าเราไม่ได้เป็นหนี้ ต้องรื้อหาใบเสร็จรับเงินมายืนยันว่าเราจ่ายไปแล้ว คือไม่รู้ว่าผู้บริโภคจะต้องเก็บใบเสร็จไว้นานแค่ไหน หรือว่าต้องตลอดชีวิตหรืออย่างไรเพื่อเป็นหลักฐาน แต่ก็จะสู้ต่อไปครับ มันไม่คุ้มหรอกถ้ามองในแง่เศรษฐกิจ แต่ผมคิดว่าจะเป็นแนวทางในการพัฒนากฎหมายในการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป เราสู้นะเหนื่อยกายไม่เท่าไร แต่เราเหนื่อยใจมากกว่า เพราะเจ้าหน้าที่ยังขาดความเข้าใจ ผมมันบ้ามากกว่า ที่ลุกขึ้นมาฟ้อง คนทั่วไปเขายื่นฟ้องกันด้วยเหตุความเสียหายเยอะๆ แต่ของผมแค่ 927.32 บาท ซึ่งศาลก็พิพากษาออกมา ซึ่งผมก็พิสูจน์แล้วว่ากฎหมายตัวนี้ใช้ได้จริงครับแต่…ยังมีเรื่องต้องปรับปรุงอีกเยอะครับ อย่างในกฎหมายระบุว่า สามารถฟ้องได้ด้วยตัวเองไม่ต้องใช้ทนาย แต่เอาเข้าจริงผู้พิพากษาก็ยังถามหาทนายของผมในวันนัดสืบพยาน และบอกว่าจะไม่สืบพยานให้ถ้าไม่มีทนาย และยังว่าหัวหมอ เรียกค่าเสียหายสูง แล้วคิดดูครับค่าเสียหายผมเท่านี้ จะมีทนายที่ไหนมาทำให้กับผม ผมจึงยื่นเรื่องร้องเรียนกับคณะกรรมการตุลาการฝ่ายวินัยเพื่อขอความเป็นธรรม เพื่อขอเปลี่ยนผู้พิพากษา สุดท้ายก็ได้เปลี่ยนผู้พิพากษา หรือแม้แต่การเลื่อนวันพิจารณาคดีซึ่งในกฎหมายระบุไว้ว่าเลื่อนได้ไม่เกินครั้งละ 15 วัน แต่นี่เลื่อนผม 4 เดือน ผมอยากให้เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทำความเข้าใจกฎหมายตัวนี้ให้มากๆ เพราะเป็นกฎหมายที่มีประโยชน์ ขอยกกรณีตัวอย่างของ อ.เจิมศักดิ์ ซึ่งศาลได้พิจารณาคดีออกมาแล้วว่าชดเชยให้ อ.เจิมศักดิ์ 50,000 บาท แล้วถ้าคนบนเครื่องบินในเที่ยวบินเดียวกับ อ.เจิมศักดิ์ ฟ้องด้วย ศาลจะพิจารณาคดีอย่างไร เพราะไม่ใช่แค่ อ.เจิมศักดิ์จะตกใจเป็นคนเดียวนะ จริงไหม ถึงแม้จะกินเวลาหรือเสียเวลาในการฟ้องคดี แต่ผมคิดว่าผลการฟ้องคดีไม่ใช่มีผลกับเราแค่คนเดียว แต่คนอื่นก็ได้ด้วย และสามารถใช้เป็นบรรทัดฐานได้ ถ้าเป็นไปได้ผู้บริโภคก็ต้องลุกขึ้นมาใช้สิทธินะ ไม่ใช่เพื่อตัวเรา แต่เพื่อพัฒนาและเปลี่ยนแปลง และผมคิดว่าทางออกที่น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดก็คือควรจะมีองค์การอิสระในการคุ้มครองผู้บริโภค และมีอำนาจหน้าที่ในการฟ้องแทนผู้บริโภคได้ครับ”

อ่านเพิ่มเติม >