ฉบับที่ 237 จับพิรุธ ตระเวนซื้อยาแก้แพ้ แก้ไอ

        วัยรุ่นยุคนี้มักมีพฤติกรรมแปลกๆ เพื่อโชว์ให้คนสนใจ บางครั้งกลับทำให้เกิดอันตรายกับตัวเองดังกรณีล่าสุดที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต้องออกมาเตือนวัยรุ่นว่า อย่าลอกเลียนแบบการทำ Benadryl challenge เด็ดขาด หลังพบรายงานผู้เสียชีวิตจากการเข้าร่วมทำไวรัลดังกล่าวผ่านแอพพลิเคชั่น TIKTOK เพราะยาเบนาดริล (Benadryl) แม้จะเป็นยาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษา แต่หากรับประทานเกินขนาด อาจเกิดอาการข้างเคียงจนถึงแก่ชีวิตได้         ยาเบนาดริล (Benadryl) มีชื่อสามัญทางยาคือ ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) เป็นยาแก้แพ้ที่ใช้ในการบรรเทาอาการโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจส่วนบนและอาการหวัด เช่น น้ำมูกไหลและจาม ในแง่กฎหมายจัดเป็นยาอันตรายที่ต้องสั่งจ่ายยาโดยแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น หากรับประทานเกินขนาด อาจเกิดความผิดปกติกับหัวใจทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง หัวใจหยุดเต้นและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้         ในประเทศไทยมีการขึ้นทะเบียนตำรับยาที่มีไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) หลายตำรับ ทั้งยาน้ำ ยาเม็ด และยาแคปซูล มีชื่อการค้าต่างๆ มากมาย  ร้านขายยาที่จ่ายยานี้ให้กับผู้ป่วยจะต้องจัดทำบัญชีการขายยาเพื่อป้องกันการนำยาไปใช้ในทางที่ผิด         จากการลงพื้นที่ตรวจสอบตามร้านขายยาและข้อมูลในชุมชนพบว่า วัยรุ่นมักจะตระเวณมาขอซื้อยานี้ตามร้านต่างๆ ทั้งจากร้านยาหรือร้านขายของชำบางแห่งที่แอบลักลอบนำมาขาย ในอดีตวัยรุ่นที่มาซื้อยาเหล่านี้ เราจะสังเกตได้ง่าย โดยดูจากท่าทีและพฤติกรรมของพวกเขาที่แสดงออกอย่างชัดเจน แต่เมื่อทางการเข้มงวดมากขึ้นก็เลี่ยงหาวิธีต่างๆ มาซื้อ เช่น จ้างผู้ใหญ่มาซื้อโดยอ้างว่าจะนำไปใช้กับบุตรหลาน เคยมีข้อมูลว่าบางครั้งมีการจ้างคนแต่งกายเป็นพระสงฆ์หรือผู้สูงอายุมาขอซื้อ อ้างว่ารับประทานประจำ ล่าสุดมีการจ้างเด็กวัยรุ่นที่ท่าทางสุภาพเรียบร้อยมาขอซื้อยาเหล่านี้         วิธีง่ายๆ ที่จะจับพิรุธคือ เมื่อคนกลุ่มนี้เข้ามาในร้านยามักจะคอยสอดส่ายสายตา กวาดตามองยาตามชั้นวางยาพยายามเพ่งไปบริเวณที่มียาน้ำ และเมื่อจะขอซื้อก็มักจะเอ่ยปากขอซื้อยาโดยระบุชื่อการค้าของยาพวกนี้ที่วัยรุ่นนิยมแทนที่จะบอกอาการเจ็บป่วยไม่สบาย  หรือบางคนโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่กลับจะซื้อแต่ยาน้ำเชื่อมและมักจะวนมาขอซื้อบ่อยๆ จนมีพิรุธว่าทำไมอาการป่วยไม่หายสักที และทำไมรับประทานยาหมดก่อนกำหนดตามปริมาณที่ได้รับไป         หากใครเจอพฤติกรรมเหล่านี้ หรือเจอร้านขายยาที่ไม่เข้มงวดปล่อยปละละเลยในการขายยาอย่างไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ช่วยไปกระซิบเจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาให้ลงไปตรวจสอบด้วยนะครับ เพื่อคุ้มครองให้บุตรหลานเราปลอดภัยต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >