ฉบับที่ 112-113 สามีไปม็อบ - ไม่ยอมส่งค่างวดรถ

เหตุการณ์เรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่รัฐบาลยังไม่สามารถขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผุ้ชุมนุมเสื้อแดงได้  เช้าวันหนึ่งของต้นเดือนพฤษภาคม 2553  คุณวรรณาโทรศัพท์เข้ามาที่มูลนิธิฯ ด้วยเสียงกระหืดกระหอบปนแค้นๆ เธอบอกว่า ตนเองทำสัญญาเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้าให้กับสามีที่มีอาชีพขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง โดยให้พี่สาวเป็นคนค้ำประกัน ส่วนสามีของเธอเป็นผู้ส่งค่างวด ที่ผ่านมาสามีก็ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างและรับส่งเธอซึ่งทำงานเป็นลูกจ้างร้านค้า มีเงินไปชำระค่างวดอย่างต่อเนื่องไม่เคยขาดต่อมาประมาณต้นปี 2553 มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง สามีก็ไปเข้าร่วมม็อบด้วยโดยอ้างว่าอยากเข้าร่วมการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ช่วงที่มีม็อบแถวสนามหลวงก็ไปๆ มาๆ  แต่ก็กลับเอาเงินมาให้ที่บ้านทุกวัน จนกระทั่งเสื้อแดงย้ายมาที่ราชประสงค์สามีเริ่มไม่กลับบ้าน อ้างว่าเป็นการ์ดต้องอยู่ช่วยคนเสื้อแดง จนเดือนมีนาคมสามีเธอไม่กลับบ้านเลย ติดต่อไปก็อ้างโน่นอ้างนี่ จนกระทั่งต้นเดือนพฤษภาคม เธอได้รับเอกสารติดตามทวงหนี้ค่างวดรถที่ค้างชำระจำนวน 2 งวดจากไฟแนนซ์ทำให้ทราบว่า สามีไม่ได้ส่งค่างวดรถมาตั้งแต่เดือนมีนาคมด้วยความร้อนใจจึงโทรมือถือไปหาสามี ปรากฏว่าติดต่อไม่ได้  จึงได้ไปดักรอเพื่อนของสามีที่ไปม็อบเสื้อแดงด้วยกันแล้วกลับมาแถวบ้าน  เพื่อนสามีบอกว่า สามีของเธอไปติดผู้หญิงในม็อบเสื้อแดงด้วยกัน  คงไม่กลับบ้านแล้วคุณวรรณาโกรธมากที่สามีนำรถไปใช้กลับไม่รับผิดชอบอะไร ซ้ำยังไปมีผู้หญิงใหม่อีก แต่ก็กัดฟันบอกกับเพื่อนสามีให้ไปบอกกับสามีในม็อบว่า ไฟแนนซ์ทวงค่างวดรถมาให้เอาเงินไปจ่ายด้วย เพื่อนของสามีแจ้งว่าคงไม่เข้าไปแล้ว เพราะสถานการณ์กดดันและกลับบ้านยากมากกว่าจะออกจากม็อบได้  เธอจึงสอบถามถึงการปัญหาติดต่อทางโทรศัพท์ เพื่อนสามีบอกว่า ไม่สามารถติดต่อได้หรอก เพราะคนที่พาเข้าไปเค้าไม่ให้เปิดมือถือ คุณวรรณาเล่าด้วยความแค้นใจที่สามีทรยศ และรู้สึกทุกข์ใจที่ทำให้พี่สาวต้องเดือดร้อน นอกจากนี้ก็ยังกังวลว่าสามีอยู่ในม็อบเสื้อแดงถ้านำรถไปใช้ในทางไม่ดีผู้ร้องจะติดร่างแหไปด้วยหรือเปล่า จึงต้องการรถคืน  และยินดีผ่อนค่างวดรถเอง  แต่ไม่รู้จะทำยังไงต่อไปดีแนวทางการแก้ไขปัญหาเราได้ให้ข้อแนะนำกับคุณวรรณาว่า หากกังวลเรื่องจะมีการนำรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย ก็ให้ไปแจ้งความไว้กับตำรวจเพื่อขอให้ทำบันทึกไว้เป็นหลักฐานว่ารถมอเตอร์ไซค์คันนี้ถูกสามีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสนำไปใช้โดยที่ตนไม่ได้ให้ความยินยอม ในระหว่างที่ยังลูกผีลูกคนยังไม่รู้ว่ามอเตอร์ไซค์จะพาสามีกลับมาบ้านได้หรือไม่ ก็ต้องผ่อนส่งค่างวดอย่าให้ติดค้างเป็นดีที่สุด เพราะเมื่อสถานการณ์คลี่คลายสามารถติดตามรถมาจากสามีได้ก็ได้ใช้ต่อไป ส่วนตัวสามีนั้นจะใช้งานในฐานะสามีต่อไปหรือไม่ก็ขอให้คุณวรรณาได้พิจารณาเอาเองก็แล้วกัน เรื่องนี้ไม่ขอเกี่ยวครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 ขอแก้ด้วยคน

และแล้ว เหตุการณ์น่าระทึกใจจากการชุมนุมประท้วงต่างๆ ทั้งเรื่องสีเสื้อ เรื่องทวงคืนเขาพระวิหาร ก็ผ่านพ้นไปด้วยดี ตามมาด้วยเสียงถอนหายใจดังๆ ที่แสดงถึงความโล่งอกโล่งใจ ของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงพ่อแม่พี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ก็หายใจได้ชื่นปอดมากขึ้น เพราะอย่างน้อยก็ทำให้เชื่อได้ว่ารัฐบาลยังน่าจะยืนระยะต่อไปได้อีกพักหนึ่งแน่ๆทันทีที่สิ้นเสียงปี่กลองของการชุมนุม พลันก็มีเสียงโหยหวนจากเหล่านักการเมือง เรื่องการขอแก้รัฐธรรมนูญดันแทรกขึ้นมาทันทีทันใด โดยการขอแก้ครั้งนี้มีนัยยะสำคัญว่า คราวนี้ต้องแก้ให้ได้ ใครเอาช้างมาฉุดก็น่าจะยาก หากมีการแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จก็หมายความว่า ปี่กลองการเลือกตั้งต้องดังขึ้นมาอีกครั้งอย่างแน่นอน ดังนั้นหากจะพูดว่าการแก้รัฐธรรมนูญกับการเลือกตั้งเกือบๆ จะเป็นเรื่องเดียวกันก็ไม่ผิดเมื่อพูดถึงการเลือกตั้งสำหรับผู้เขียนนั่นหมายถึงการไม่มีทางเลือก เพราะคำว่าเลือกตั้งควรจะหมายถึงสิทธิที่เราจะเลือกใครก็ได้ที่เราชอบ แต่ความจริงคือเราเลือกคนที่เราชอบไม่ได้(ไม่มีคนชอบให้เราเลือก) เราต้องเลือกคนที่พรรคการเมืองจัดมาให้(ผู้ผลิตสินค้า) ถ้าเปรียบนักการเมืองเป็นสินค้าก็เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคเลือกไม่ได้ เหมือนถูกบังคับให้ต้องซื้อสินค้าที่คุณภาพต่ำ และไร้มาตรฐานแบบไม่มีทางเลือก และเมื่อเลือกไปแล้วรู้ว่าสินค้าไม่ดี การขอคืนสินค้าขั้นตอนการคืนก็ยุ่งยาก สรุปคือมันคืนไม่ได้ (จริงอยากใช้พรบ.ขายตรงที่บอกว่าสินค้าซื้อแล้วไม่พอใจสามารถคืนเงินได้ใน 7 วัน แฮ่ๆ แต่มันก็ใช้ไม่ได้ง่ะ..)ครั้นเราจะไม่ไปเลือกก็อาจถูกประณามว่านอนหลับทับสิทธิ ไม่ใช่นักประชาธิปไตยอีก(อึดอัดว่ะ) การตัดสินใจเลือกของเราที่มุ่งหวังจะเลือกคนที่เราชอบจึงเป็นไปไม่ได้ จากที่ต้องการเลือกคนที่ดีที่สุด กลายมาเป็นว่าเราต้องเลือกคนที่คิดว่าพอมีความดีหลงเหลือหน่อย(เลวน้อยที่สุด) บางคนใช้วิธีอารยะขัดขืน โดยการฉีกบัตรเลือกเพื่อแสดงให้เห็นว่าเราไม่ต้องการสินค้าที่เขาส่งมา หรือไม่ออกไปใช้สิทธิมันซะเลย ให้มันสิ้นเรื่องสิ้นราวกันไป หรือทางออกสุดท้ายของการใช้สิทธิคือการกาช่องไม่ประสงค์จะเลือกผู้ใด (โนโหวต) และตรงนี้เองคือปัญหา เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ให้สิทธิตรงนี้ไว้ แต่จริงๆ คือไม่มีสิทธิ เพราะผลที่เกิดขึ้นคือ การกาช่องไม่ใช้สิทธิ มีผลเท่าบัตรเสียเท่านั้น คือไม่มีผลใดๆ ต่อการนับคะแนนเลือกตั้งเลย ไม่รู้ว่าให้สิทธิตรงนี้ไว้ทำไม ? ดังนั้นหากต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญจริงๆ ก็อยากจะเสนอให้ มีการแก้เรื่องผลการโนโหวต ให้มีศักดิ์และสิทธิเทียบเท่ากับการกาช่องลงคะแนน เพราะประชาชนจำนวนหนึ่งก็อึดอัดกับการที่ต้องเลือกคนที่พรรคการเมืองต่างๆ เสนอมา และต้องกล้ำกลืนฝืนทนเลือกทั้งๆ ที่ไม่เต็มใจ และเมื่อหากจะแก้รัฐธรรมนูญกันทั้งที ก็เลยอยากขอแก้ด้วยคนโดยขอเสนอแก้ไขให้ผลการโนโหวต จำนวนกี่ % ก็ว่ากันไป ให้มีผลให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นอันโมฆะ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราไม่ต้องการสินค้าที่พรรคการเมืองส่งมาให้เลือก โดยให้พรรคการเมือง ส่งคน มาให้เราเลือกใหม่อีกครั้ง...หากอยากจะแก้กันจริงๆ กล้าแก้ตามที่เราเสนอมั้ยล่ะ..ท่านนักการเมือง .......................

อ่านเพิ่มเติม >