ฉบับที่ 168 “ถุงพลาสติกชีวภาพ” บรรจุภัณฑ์เพื่อผู้บริโภค

ยุคนี้...ตามร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้ามักมีสินค้าพืชผักและผลไม้ห่อหุ้มด้วยพลาสติกวางจัดจำหน่ายให้เห็นละลานตา มีทั้งแบบสุกกำลังพอดีแกะถุงพลาสติกก็สามารถกินได้ทันที และแบบที่สุกๆ ดิบๆ เพื่อให้ผู้บริโภคที่ยังไม่รีบกินได้เลือกซื้อเลือกหาไว้ไปบ่มกินที่บ้าน หรือเก็บไว้เป็นอาทิตย์ๆ ได้โดยที่ยังมีสีสันน่ารับประทาน อย่างไรก็ตาม การห่อหุ้มยืดอายุผลไม้ด้วยพลาสติกมีทั้งคุณประโยชน์ ที่ช่วยเก็บรักษาคงสภาพของพืชผักผลไม้ให้น่ารับประทาน แต่หากห่อหุ้มในสภาพที่ผลไม้ยังคงมีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือยาฆ่าแมลง ก็อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค โดยศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยด้านอาหาร กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อมูลว่าผัก ผลไม้ ส่วนใหญ่มีสารที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค อาทิ จุลินทรีย์ก่อโรคและยาฆ่าแมลง เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาฆ่าแมลงหากมีการใช้ในขั้นตอนการปลูกในปริมาณมากเกินไป หรือเก็บเกี่ยวพืชผลออกจำหน่ายก่อนสารเคมีสลายตัว ก็จะทำให้เกิดสารตกค้างจนเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค โดยอาการที่พบ มีตั้งแต่คลื่นไส้ , อาเจียน , ท้องเสีย , กล้ามเนื้อสั่น , ชักกระตุกจนหมดสติ บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นหยุดหายใจไปเลยก็ได้ และหากสะสมในร่างกายต่อเนื่องจำนวนมากก็จะทำให้เป็นโรคมะเร็ง ด้วยความห่วงใยผู้บริโภคทุกท่าน ก่อนเลือกซื้อผักผลไม้จะดูที่สีสันอย่างเดียวคงไม่ได้ บรรจุภัณฑ์ที่ห่อหุ้มน่าจะสร้างความปลอดภัยต่อผู้บริโภคได้อีกทางหนึ่ง วันนี้จึงมีนวัตกรรมดีๆ จากนวัตกรไทยมาเล่าสู่กันฟัง โดยรองศาสตราจารย์ ดร.อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยคณะผู้วิจัย ที่ได้พัฒนาศักยภาพ “ถุงพลาสติกชีวภาพ” บรรจุภัณฑ์ที่น่าจะช่วยหลีกเลี่ยงอันตรายจากสารเคมี สามารถเก็บรักษาผักผลไม้ได้และคงสภาพยืดอายุผักผลไม้ไว้ได้นาน และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้ผลงานวิจัยเรื่อง “บรรจุภัณฑ์ถุงพลาสติกชีวภาพเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาพืชผลสดและผลไม้แห้ง” จนได้รับรางวัล ผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2558 ระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จากงานวิจัย“ถุงพลาสติกชีวภาพ” ระบุว่าได้ต่อยอดมาจากเม็ดพลาสติก ด้วยการเติมสารชีวภาพ ให้มีรูขนาดเล็กที่ทำให้ ออกซิเจน  คาร์บอนไดออกไซด์  ไอน้ำ สามารถผ่านได้ กระบวนการทำให้สามารถเก็บรักษาความสดใหม่ได้ดีกว่าเดิม 2-7 เท่า ในขณะที่เชื้อโรคไม่สามารถผ่านได้ เห็นข้อดีแบบนี้ผู้บริโภคก็น่าจะเบาใจได้เปาะหนึ่งว่าตั้งแต่กระบวนการห่อหุ้มผักผลไม้ลงในถุงพลาสติก ไปจนส่งถึงมือผู้บริโภค “จุลินทรีย์และเชื้อโรค” คงผ่านเข้าไปในถุงพลาสติกได้ยาก! นอกจากศักยภาพในการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ “ถุงพลาสติกชีวภาพ” นี้สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกร รวมถึงผู้ทำการค้าส่งออก และสร้างความปลอดภัยให้ผู้บริโภคแล้ว  บรรจุภัณฑ์นี้ยังย่อยสลายได้เร็วกว่าถุงพลาสติกทั่วไป โดยใช้ระยะเวลาย่อยสลายได้ภายในหนึ่งปีเท่านั้น นับว่าเป็นนวัตกรรมเชิงพาณิชย์เพื่อสิ่งแวดล้อม ที่สามารถช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกอีกด้วย แต่ถ้าท่านผู้อ่านสนใจเลือกซื้อเลือกหาผักผลไม้ที่ห่อหุ้มถุงพลาสติกชีวภาพ อาจต้องรอหน่อยเพราะนวัตกรรมนี้ยังมีต้นทุนที่สูง เมื่อเทียบกับพลาสติกห่อหุ้มผลไม้ทั่วไป จำหน่ายราคาประมาณกิโลกรัมละ 50 บาท ขณะที่ถุงพลาสติกชีวภาพมีต้นทุนสูงกว่าถึง 3 เท่า โดยราคาจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 150 บาท เห็นตัวเลขถ้าเทียบเฉพาะราคาอาจมองว่าแพง!กว่ามาก...แต่ถ้าวัดกันที่คุณค่าคุณประโยชน์แล้วก็คงต้องยกนิ้วให้กับถุงพลาสติกชีวภาพอย่างแน่นอน คงต้องฝากความหวังไว้ให้ภาครัฐยื่นมือเข้ามาสนับสนุนงานวิจัยดีๆ แบบนี้ให้เป็นรูปธรรม เพราะประเทศไทยมีผลผลิต ทางด้านเกษตรจำนวนมากที่พร้อมส่งถึงมือผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ถ้าผลผลิตเหล่านี้สามารถยืดอายุได้นานโดยสินค้ายังมีคุณภาพดี ก็จะเป็นที่ยอมรับในนานาประเทศและน่าจะทำให้อัตราการส่งออกของสินค้าเกษตรไทยดีขึ้น แต่สำหรับตอนนี้ วิธีหลีกเลี่ยงอันตรายจากสารเคมีและเชื้อโรคที่ง่ายสุด ก็คงต้องทำตามอย่างง่าย ๆ แบบที่โบราณสอนไว้ คือให้เลือกผักที่มีรูพรุน จากการเจาะของแมลง  เลือกกินผักผลไม้ตามฤดูกาล  ล้างผักและผลไม้ให้สะอาดทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยในการบริโภคไปก่อนก็แล้วกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 161 การปนเปื้อนในน้ำหมักชีวภาพ

กระแสความนิยมบริโภคน้ำหมักชีวภาพน่าจะมาพร้อมกับการเติบโตของเคเบิ้ลทีวียุคไร้การควบคุม ย้อนไปเมื่อราว 5-6 ปีก่อน เคเบิ้ลท้องถิ่นและวิทยุชุมชนผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด คอนเทนต์ที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพด้วยการขายสินค้าที่อวดอ้างสรรพคุณเกี่ยวกับการรักษาโรค บำรุงสุขภาพ ปรากฏอยู่ในสื่อประเภทนี้เกือบตลอดทั้งวัน น้ำหมักชีวภาพ หรือน้ำเอนไซม์ ก็เป็นตัวหนึ่งที่โด่งดัง หากจำกันได้ ผู้ที่สร้างกระแสฮือฮามากที่สุดเกี่ยวกับน้ำหมักชีวภาพก็คือ ป้าเช้ง หรือ นางสาวศิริวรรณ ศิริสุนทรินท์ ป้าเช็งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม หลังจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) แจ้งความดำเนินคดี ในข้อหาเป็นผู้ผลิตน้ำหมักชีวภาพ  "น้ำมหาบำบัด" ราคาขวดละ 1,000 บาท อ้างรักษาได้สารพัดโรค และ "น้ำเจียระไนเพชร "ราคาขวดละ 100 บาท ซึ่งอวดสรรพคุณว่าใช้เป็นยาหยอดตา(ทำให้มีคนตาบอด) ในข้อหาจำหน่ายและโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต และโฆษณาเกินจริง (วันที่ 25 มกราคม 2553) ปัจจุบันป้าเช้ง ก็ยังขายฝันอยู่ด้วยการประกาศแจกสูตรน้ำหมักฟรี ด้วยสโลแกน ทำเอง กินเอง เพราะสูตรน้ำหมักไม่ได้ทำยากเย็นอะไรเลย และการกินน้ำหมักหรือของหมักที่เกิดจากจุลินทรีย์ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร มนุษย์เรากินกันมาแต่โบราณแล้ว ข้าวหมาก ไวน์ น้ำส้มสายชูหมัก ก็อยู่ในตระกูลเดียวกับน้ำหมักชีวภาพ ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า น้ำหมักกินได้หรือไม่ได้ แต่ปัญหาคือ การอวดอ้างว่า กินน้ำหมักแล้วรักษาโรคได้ อย่างที่ป้าและคนอื่นๆ ที่แห่ทำขายตามๆ กันมาประกาศต่อชาวโลกต่างหากที่สร้างความสับสนให้กับคนทั่วไป เช่นเดียวกันกับสินค้าด้านสุขภาพอีกหลายประเภท ลำพังตัวมันเองอาจไม่ได้มีปัญหา แต่ปัญหามาจากความมักง่ายของผู้ผลิตที่ผสมสารเคมีทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์ลงไปในผลิตภัณฑ์ด้วย ทั้งนี้เพื่อทำให้เกิดผลบางอย่างที่สอดคล้องกับคำโฆษณา เช่น การผสมสเตียรอยด์ในยาแผนโบราณ หรือการผสมยาลดน้ำหนักลงในกาแฟ เพื่อให้เห็นผลเร็วในการบรรเทาอาการ สำหรับน้ำหมักชีวภาพปัญหาที่พบในส่วนของการผสมสารเคมีอันตรายลงไปคือ การผสม ไดคลอโรมีเทน หรือ เมทิลีนคลอไรด์ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ผลทดสอบ ล่าสุดทางศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 อุบลราชธานี รายงานพบ เครื่องดื่ม น้ำหมักพืชแท้(หอม หวาน เย็นซ่า เต็มพลัง) ตราผู้ใหญ่สุพรรณ ปนเปื้อน ไดคลอโรมีเทน 4,695 มิลลิกรัม/ลิตร  ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สหรัฐอเมริกา  กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ยามีปริมาณไดคลอโรมีเทนเจือปนได้ไม่เกิน 600 ส่วนในล้านส่วน หรือคิดเป็น 600 มิลลิกรัม/ลิตร นอกจากนี้สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สหรัฐอเมริกา กำหนดให้มีปริมาณไดคลอโรมีเทนปนเปื้อนในน้ำดื่มได้ไม่เกิน 0.005 มิลลิกรัม/ลิตร เครื่องดื่ม "น้ำหมักพืชแท้ หอม หวาน เย็นซ่า" เต็มพลังตราผู้ใหญ่สุพรรณ แพร่หลายทุกจังหวัดในแถบภาคอีสาน อาทิ นครราชสีมา สกลนคร ขอนแก่น และนครพนม มักอวดอ้างสรรพคุณทางยาที่สามารถรักษาโรค ให้หายขาดได้ ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำหมักเต็มพลัง ตราผู้ใหญ่สุพรรณ ต้องจัดเป็นยาเพราะมีการแสดงสรรพคุณที่ฉลากว่า บำรุงร่างกาย แต่กลับไม่ได้ขออนุญาตขึ้นทะเบียนตำรับยาจึงจัดเป็นยาเถื่อน ขอให้ผู้บริโภคอย่าได้หลงเชื่อซื้อยามาบริโภคโดยเด็ดขาด เพราะนอกจากเสียเงินโดยไม่จำเป็นแล้วยังไม่ปลอดภัยอีกด้วย ---------------------------------------------------------------------------------------------- ไดคลอโรมีเทน หรือ เมทิลีนคลอไรด์ เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 1 มีลักษณะเป็นของเหลวไม่มีสี ระเหยได้ง่าย มีกลิ่นหอม มักใช้เป็นตัวทำละลายการได้รับสารในระดับต่ำ อาจทำให้เกิดอาการทางระบบประสาท เช่น เคลิ้มฝัน เวียนศีรษะ กระวนกระวาย นอกจากนี้ยังระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการระคายคอ ไอ หายใจไม่อิ่ม การรับสัมผัสโดยการกินจะทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และอาจมีแผลและเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ การได้รับสัมผัสในระดับสูง อาจทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย และกดระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้การหายใจล้มเหลวได้อาการทางระบบประสาทหลังสัมผัสที่ระดับสูง ได้แก่ ปวดศีรษะ มีอาการผิดปกติด้านจิตใจและการเคลื่อนไหวจะกดระบบประสาทส่วนกลางจนหมดสติ เมื่อได้รับปริมาณสูง คือ การทำลายระบบประสาททำให้เสียชีวิต ระยะยาวอาจจะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ---------------------------------------------------------------------------------------------- การปนเปื้อนเชื้อโรคอันตราย น้ำหมักชีวภาพอีกหนึ่งปัญหาที่พบเสมอคือ การพบ เชื้อโคลิฟอร์ม และ อี. โคไล ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเกิดอาการท้องร่วงได้ตั้งแต่เล็กน้อย  จนกระทั่งรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมีอาการปวดมวนท้อง ถ่ายเหลว อาจจะมีเลือดปน และมีไข้ได้   จุลินทรีย์กับน้ำหมัก จุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าต้องอาศัยการส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ จุลินทรีย์แพร่กระจายโดยทั่วไปในธรรมชาติอย่างกว้างขวางในที่ที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโต  อาหารและเครื่องดื่มแต่ละชนิดมีจำนวนจุลินทรีย์แตกต่างกันไป ซึ่งอาจมีอยู่โดยธรรมชาติ หรือเติมลงไปเพื่อทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ตามที่ต้องการ เช่น นมเปรี้ยว เครื่องดื่มแอลกอฮอล์  น้ำส้มสายชู กรดอินทรีย์ ยาปฏิชีวนะ  เป็นต้น  น้ำหมักชีวภาพเกิดจากการกระทำของแบคทีเรียที่สร้าง กรดแลกติก เป็นส่วนใหญ่ พบว่าแบคทีเรียเหล่านี้อาจมีอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งอาจปนเปื้อนมากับส่วนผสมของน้ำหมักชีวภาพ คือ ผัก ผลไม้ น้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำ รวมทั้งมาจากกระบวนการและกรรมวิธีในการผลิต หรืออาจเติมลงไปเพื่อใช้เป็นหัวเชื้อในการผลิต ซึ่งนิยมใช้ในอุตสาหกรรมอาหารหมักหลายชนิด การเติมหัวเชื้อจุลินทรีย์ในการผลิตนี้ เป็นการควบคุมการเจริญของจุลินทรีย์ปนเปื้อนอื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดผลเสียได้  เช่น แบคทีเรียโคไลฟอร์ม (Coliform) และ อี โคไล (E. coli) เป็นดัชนีชี้บ่งถึงสุขลักษณะของน้ำสมุนไพรสกัดชีวภาพ แบคทีเรียสตาฟีโลค็อคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) บาซิลลัส ซีเรียส (Bacillus cereus) อาจสร้างสารพิษในน้ำหมัก ทำให้อาหารเป็นพิษ คลอสทริเดียม เปอร์ฟริงเจน (Clostridium perfringens) เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบ แบคทีเรียซาลโมเนลลา (Salmonella spp.) อาจเป็นสาเหตุทำให้น้ำสมุนไพรสกัดชีวภาพเน่าเสีย นอกจากนี้ยังอาจพบราบางชนิดที่ปนเปื้อน จะสามารถสร้างสารพิษได้  และยีสต์อาจทำให้น้ำหมักเสียรสชาติ มีกลิ่นและลักษณะไม่เป็นที่ต้องการ  ความปลอดภัยและคุณภาพต่อการบริโภคนั้นขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของจุลินทรีย์ที่พบในกระบวนการผลิต และต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญของจุลินทรีย์ที่ต้องการในกระบวนการผลิต ในการควบคุมปัญหาการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ต่างๆ อาจใช้ความร้อน โดยการลวก หรือต้มวัตถุดิบ ส่วนผสมของการผลิตน้ำหมัก  หรืออาจเติมสารเคมีชนิดที่ใช้ในการผลิตอาหารลงในน้ำหมัก รวมทั้งการเลือกใช้วัตถุดิบที่สะอาด ปลอดภัย ในการผลิตน้ำหมักพืช เพื่อเป็นการควบคุมและกำจัดจุลินทรีย์ปนเปื้อน  ทั้งนี้จะต้องอาศัยกรรมวิธีที่เหมาะสมที่จะช่วยในการควบคุมและกำจัดจุลินทรีย์ปนเปื้อน แต่ไม่ทำให้คุณค่าสารสำคัญในน้ำหมักสลายหรือเสียสภาพไป http://www.be-v.net/index.php?lay=show&ac=article&Ntype=20 //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point