ฉบับที่ 257 ความเคลื่อนไหวเดือนกรกฎาคม 2565

นำกัญชา-กัญชงออกนอกประเทศระวังบทลงโทษหนัก        หลังไทยปลดล็อก “กัญชา-กัญชง” จากยาเสพติดเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์นั้น นางสาวรัชดา ธนาดิเนก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ย้ำต่อประชาชนว่า ห้ามนำ “กัญชา-กัญชง” ตลอดจนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบพืชชนิดดังกล่าวไปยังต่างประเทศ เนื่องจากการปลดล็อกนี้มีผลบังคับใช้ในประเทศไทยเท่านั้น หากจะเดินทางไปต่างประเทศโดยมีส่วนต่างๆ ของกัญญาไว้ครองครองอาจต้องโทษตามกฎหมายประเทศต่างๆ ดังนั้นหากคิดนำออกไปควรตรวจสอบกฎหมายประเทศปลายทางนั้นด้วย         ตัวอย่างประเทศที่มีบทลงโทษรุนแรงในคดีการครอบครองกัญชา กัญชง 1) อินโดนีเซีย ปรับขั้นต่ำ 1 พันล้านรูเปียห์ จำคุก 5 ปี – ตลอดชีวิต โทษสูงสุดประหารชีวิต 2) ญี่ปุ่น จำคุกไม่เกิน 7 ปี (กรณีนำเข้า/ส่งออก) จำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 3 ล้านเยน (กรณีจำหน่าย)  3) เวียดนาม ปรับ 5,000,000 - 500,000,000 เวียดนามด่ง จำคุกตลอดชีวิต หรือโทษสูงสุดประหารชีวิต 4) เกาหลีใต้ จำคุก 5 ปีขึ้นไป หรือตลอดชีวิต (กรณีลักลอบนำเข้า) โทษจำคุกอย่างน้อย 1 ปี (กรณีปลูก/จำหน่าย) โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และถูกเนรเทศห้ามเข้าเกาหลีใต้ (กรณีครอบครองหรือเสพ) 5) สิงคโปร์ จำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือทั้งจำทั้งปรับ (กรณีครอบครองหรือเสพ) โทษประหารชีวิต (กรณีลักลอบค้า/นำเข้า/ส่งออก) โทษจำคุก 5-14 ปี หรือปรับ หรือทั้งจำและปรับ หรือ 6) ออสเตรเลีย โทษจำคุกและปรับ (กรณีนำเข้ากัญชา)  17 รูปแบบ อาชญากรรมทางออนไลน์         พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผบ.ตร. ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เตือนภัยต่อประชาชนถึงวิธีการต่างๆ ที่ทางมิจฉาชีพใช้ในการหลอกบนโลกออนไลน์ว่า มี 17 รูปแบบ ดังนี้ 1.ชื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า 2.หลอกให้ทำงานออนไลน์ 3.หลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ   4.หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน 5.ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว 6.ซื้อสินค้าแต่ไม่ได้สินค้า 7.ชื้อสินค้าแต่ได้ไม่ตรงตามโฆษณา8.หลอกให้รักแล้วลงทุน 9.หลอกให้รักแล้วโอนเงิน 10.ปลอมโปรไฟล์เพื่อหลอกยืมเงิน 11.หลอกลวงเกี่ยวกับเงินดิจิทัล  12.แฮกระบบคอมพิวเตอร์ 13.ล่วงละเมิดทางเพศ 14.ข่าวปลอม 15.แชร์ลูกโซ่ 16.การเรียกค่าไถ่ทางคอมพิวเตอร์ 17.ค้ามนุษย์ในรูปแบบขบวนการ ดังนั้นพึงระมัดระวังอย่าตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเหล่านี้ กทม.เปิดช่องทาง ขอภาพกล้องวงจรปิดได้ 24 ชั่วโมง         นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เผยว่า ขณะนี้ทางกรุงเทพมหานครได้เปิดให้มีการขอภาพกล้องวงจรปิดทางออนไลน์ได้ 24 ชั่วโมง หากประสงค์จะชี้ชัดในกรณีเกิดความเสียหาย อย่างไรก็ตามหากต้องการขอไฟล์ภาพกล้องวรจรปิดต้องทำการแจ้งความที่สถานีตำรวจ ณ ที่เกิดเหตุก่อน ถึงจะสามารถแจ้งความประสงค์เพื่อขอภาพจากกล้องวงจรปิดได้ โดยช่องทางที่ติดต่อขอภาพได้ คือ เว็บไซต์ cctv.bangkok.go.th และไลน์ @CCTVBANGKOK         เอกสารประกอบการขอรับไฟล์ภาพ 1.บันทึกประจำวันจากสถานีตำรวจ 2.สำเนาบัตรประชาชน 3.หมายเลขกล้องวงจรปิด  4.รายละเอียดวันเวลาของไฟล์ภาพที่ต้องการ เมื่อได้รับเรื่องแล้วทางเจ้าหน้าที่จะแจ้งผลการดำเนินการผ่านทางไลน์ และทางอีเมล์ที่ได้แจ้งไว้กับทางหน่วยงาน  มพบ.เผยศาลปกครองเพิกถอนมติที่ประชุม กทค.ให้กลับไปคิดค่าบริการตามจริง แบบไม่ปัดเศษ         19 กรกฎาคม ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษา คดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตกรรมการ กสทช. ได้ฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่องขอให้เพิกถอนมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งทางศาลปกครองกลางได้พิพากษาให้เพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม ครั้งที่ 1/2560 วันที่ 11 มกราคม 2560 ระเบียบวาระที่ 4.1 เรื่อง การพิจารณาทบทวนมติ กทค. ครั้งที่ 10/2559 ให้มีผลย้อนหลังนับแต่วันที่มีมติ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่กำหนดให้บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด คิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงในหน่วยวินาทีตามมติ กทค. ครั้งที่ 10/2559 และพิจารณาแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นต่างๆ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด         ทั้งนี้ นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมายฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คดีนี้ ถือว่าผลคำพิพากษาเป็นแนวทางที่ดีต่อผู้บริโภค ศาลปกครองกลางเห็นถึงปัญหาการคิดค่าบริการของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยว่า การคิดค่าบริการต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริง ไม่ว่าจะมีหน่วยวัดเป็นนาทีหรือวินาทีก็ตาม ซึ่งการคิดค่าบริการเป็นหน่วยนาทีได้จะต้องครบจำนวน 60 วินาทีเท่านั้น จะใช้วิธีการคิดค่าบริการแบบปัดเศษวินาทีเป็นนาทีไม่ได้ และคำพิพากษาในวันนี้เป็นคำพิพากษาในศาลปกครองชั้นต้น ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดียังสามารถใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้อีก นิตยสารฉลาดซื้อ รับรางวัล “สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์”         20 กรกฎาคม นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เข้าร่วมงานรับรางวัล “สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ประเภทสื่อออนไลน์ จากกองกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (Thai Media Fund) ที่ได้ร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย 24 แห่ง จัดงานมอบประกาศนียบัตรเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติให้กำลังใจแก่ผู้ผลิตสื่อคุณภาพ ที่มีเนื้อหาปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมีคุณกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขึ้นรับมอบประกาศนียบัตรโครงการเวทีรางวัลเชิดชูเกียรติสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จากนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้มอบประกาศนียบัตร ในส่วนของสื่อออนไลน์ที่ได้รับรางวัล ได้แก่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 มัดรวมผลทดสอบอาหาร 2 ปีรวด คน "ฉลาดซื้อ" ต้องอ่าน

        “อาหาร” ก็เหมือน “ยา” การได้กินอาหารที่ดีมีคุณประโยชน์ร่างกายก็แข็งแรง ซึ่งแน่นอนว่าหาก “กายดี จิตก็ดี” ในทางกลับกันหากกินอาหารคุณภาพไม่ดี คุณประโยชน์ขาดๆ เกินๆ นอกจากจะไม่แฮปปี้ในการกินแล้วยังส่งผลให้สุขภาพแย่ลงด้วย โดยเฉพาะอาหารที่มีการผสมสารเคมีหรือวัตถุเจือปนอาหารต้องห้ามหรือมากเกินมาตรฐานอย่างสารกันบูด การปนเปื้อนโลหะหนักอย่างสารตะกั่ว หรือการปนเปื้อนสารพิษอันตราย อาทิ สารเคมีทางการเกษตร ทั้งยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงต่างๆ แทนที่จะกินอาหารเป็นยา กลับกลายเป็น “ยาพิษ” ไปได้         ดังนั้นนอกจากการออกเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัย โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่พยายามปรับปรุงอย่างเต็มกำลัง ซึ่งจะมีข้อห้ามและบทลงโทษเอาไว้อย่างชัดเจนแล้ว ก็อาจต้องยอมรับว่า อย.ยังด้อยเรื่องการทำงานเชิงรุก เรียกว่ายังไม่มากเพียงพอที่จะตามทันเล่ห์เหลี่ยมคนที่จ้องจะหาผลประโยชน์จากการผลิต “ผลิตภัณฑ์อาหาร” ที่ไม่ได้คุณภาพออกมา         “นิตยสารฉลาดซื้อ” โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) จึงเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งในการทำหน้าที่ตรวจสอบติดตามผลิตภัณฑ์อาหารที่วางจำหน่ายในท้องตลาดเมืองไทย เพื่อคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมให้คนไทยได้กินอาหารที่ดี มีประโยชน์จริงๆ ซึ่งต้องบอกว่าเรื่องนี้ “ฉลาดซื้อ” ติดตาม เกาะติดมานานหลายปี ช่วยจัดทำชุดข้อมูลข้อเท็จจริงส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำกับติดตามให้เกิดการแก้ไข และเพื่อการมีอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย         ในโอกาสสิ้นปี 2563 นี้ นิตยสารได้ทำการสรุปผลการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้ดำเนินการตรวจสอบตั้งแต่ปี 2562 ถึง 2563 อะไรเด่น “ฉลาดซื้อ” มัดรวมเอาไว้ผ่านบทความชิ้นนี้ โดยแยกเป็นกลุ่ม 1. สารกันบูด 2. สารเคมีทางการเกษตร 3. เชื้อดื้อยา และ 4. ไขมันทรานส์         เริ่มกันที่ กลุ่มวัตถุกันเสีย หรือ สารกันบูด ทั้ง กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) และ กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) มีผลต่อการทำงานของตับ และไต ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมา นิตยสารฉลาดซื้อได้เก็บตัวอย่างมาทดสอบจำนวนมาก ดังนี้...         “โรตีสายไหม” สุดยอดของฝากจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งการตรวจสอบต้องแยกเป็น 2 ส่วนคือ 1.แผ่นแป้ง ซึ่งบูดง่าย อาจมีการใช้สารกันบูดเพื่อยืดอายุการใช้งาน 2.น้ำตาลสายไหม ทำจากน้ำตาล น้ำมันมะพร้าว แป้งสาลี และสีผสมอาหารสังเคราะห์ที่มากเกินไปก็ไม่ดีต่อสุขภาพ หลังจากที่เคยเก็บตัวอย่างเมื่อเดือนมี.ค. 2561 จำนวน 10 ตัวอย่าง พบ 4 ตัวอย่างผสมสารกันบูด ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้เข้ามาจัดการแล้ว แต่จากการเก็บตัวอย่างมาตรวจอีกครั้งในเดือนเม.ย.2562 จากตลาด 13 แห่งในพื้นที่ โดยเป็นโรตีสายไหมจากเจ้าเดิม 10 ตัวอย่าง และเจ้าใหม่อีก 3 ตัวอย่าง ผลทดสอบในแป้งโรตี มีการใช้สีผสมอาหารสังเคราะห์ตาร์ตราซีน (Tartrazine) เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด (สูงสุดไม่เกิน 50 มก./กก.) 2 ตัวอย่าง คือ 1.ร้านวรรณพร ตรวจพบ ตาร์ตราซีน 59.76 มก./กก. และ 2.ร้านประวีร์วัณณ์  ตรวจพบ ตาร์ตราซีน 57.41 มก./กก.         ขณะที่การทดสอบวัตถุกันเสียนั้น ในทุกตัวอย่างไม่พบกรดซอร์บิก แต่พบกรดเบนโซอิกในทุกตัวอย่าง แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน (ไม่เกิน 1,000 มก./กก.) 7 ตัวอย่าง แต่มีอีก 6 ตัวอย่างที่พบกรดเบนโซอิกเกินค่ามาตรฐาน คือ 1. โรตีสายไหม ร้านเรือนไทย 2. ร้านไคโร น้องชายบังอิมรอน 3. ร้านบังหมัด 4.ร้านวริศรา โรตีสายไหม 5.ร้านบังเปีย อามีนะห์ แสงอรุณ และ 6.ร้านแม่ชูศรี (รายละเอียดในฉบับที่ 218) โดยมีอยู่ 2 ร้านที่ผลการทดสอบครั้งแรกเดือนมี.ค. 2561 (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 205) และครั้งนี้พบเกินค่ามาตรฐานทั้ง 2 ครั้ง ร้านเอกชัย (B.AEK) และ ร้านศิลัคข บังอารีย์ แสงอรุณ เจ้าเก่า อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 218)            “เส้นขนมจีน” ซึ่งเป็นหนึ่งในอาหารยอดนิยม เป็นอาหารจำพวกแป้งสด จึงบูดเสียง่าย จึงพบการลักลอบในสารกันบูดเช่นเดียวกัน ซึ่งจากการทดสอบมาแล้ว 2 ครั้ง ในเดือน ก.พ. 2559 (ฉบับที่ 180) และในเดือนมิ.ย. 2560 (ฉบับที่ 196) พบว่ามีการการผสมสารกันบูดเกินมาตรฐานเกินครึ่งของกลุ่มตัวอย่างที่สุ่มเก็บมา         ล่าสุดเดือนพ.ค.2562 สุ่มเก็บมาอีก 31 ตัวอย่าง จากตลาดสดและห้างสรรพสินค้า ตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการแล้วไม่พบกรดซอร์บิกเลย แต่พบกรดเบนโซอิกในทุกตัวอย่าง และมี 2 ตัวอย่างที่พบเกินค่ามาตรฐาน 1.เส้นขนมจีน ยี่ห้อ หมื่นบูรพา จากตลาดคลองเตย พบในปริมาณ 1066.79 มก./กก.และ  2.เส้นขนมจีน ยี่ห้อ M&A บ้านขนมจีนปทุม จากตลาดสี่มุมเมือง พบในปริมาณ 1361.12 มก./กก.         อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตรวจพบว่าเส้นขนมจีนทุกตัวอย่างมีการปนเปื้อนกรดเบนโซอิก จึงสังเกตที่ฉลากบรรจุภัณฑ์เพิ่มเติมพบว่ามีเพียง 4 ตัวอย่างที่แสดงข้อมูลการใช้สารกันบูดหรือวัตถุกันเสีย ที่เหลือบางตัวอย่างมีเลขสารระบบของอย. บางตัวอย่างระบุไว้บนฉลากว่าปราศจากวัตถุกันเสีย ปราศจากสิ่งเจือปน  (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 219)         “น้ำพริกหนุ่ม” สำหรับการตรวจหาสารกันบูดในน้ำพริกหนุ่มนั้น โดยสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำพริกหนุ่มที่จำหน่ายในภาคเหนือ 17 ตัวอย่าง เมื่อเดือนมิ.ย. 2562 ผลการตรวจพบว่า 2 ตัวอย่างไม่มีสารกันบูดเลย ส่วนที่พบสารกันบูดแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน 8 ตัวอย่าง         และพบกรดเบนโซอิกเกินมาตรฐาน 7 ตัวอย่าง คือ 1.น้ำพริกหนุ่ม ร้านดำรงค์ จาก ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบ 890.32 มก./กก. 2.น้ำพริกหนุ่ม ล้านนา จาก ตลาดของฝากเด่นชัย จ.แพร่ พบ 1026.91 มก./กก. 3.น้ำพริกหนุ่ม นิชา (เจ๊หงษ์ น้ำพริกหนุ่ม) จาก ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ 1634.20 มก./กก. 4.น้ำพริกหนุ่ม เจ๊หงษ์ จาก ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบ 1968.85 มก./กก. 5.น้ำพริกหนุ่ม แม่ชไมพร จาก ตลาดสดอัศวิน ร้านสิริกรของฝาก จ.ลำปาง พบ 2231.82 มก./กก. 6.น้ำพริกหนุ่ม ยาใจ (รสเผ็ด) จาก ร้านขายของฝากสามแยกเด่นชัย จ.แพร่ พบ 3549.75 มก./กก. และ 7. น้ำพริกหนุ่ม อุมา จาก ตลาดสดแม่ต๋ำ จ.พะเยา พบ 5649.43 มก./กก. (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 221)         “กุนเชียง” ว่าด้วยเรื่องของกุนเชียงนั้น เมื่อเดือน ธ.ค.2562 “นิตยสารฉลาดซื้อ” ได้รับการสนับสนุนทีมอาสาสมัครจากเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน ในการเก็บตัวอย่าง กุนเชียง 19 ตัวอย่าง แบ่งเป็นกุนเชียงหมู 9 ตัวอย่าง  กุนเชียงไก่ 5 ตัวอย่าง และกุนเชียงปลา 5 ตัวอย่าง มาตรวจสอบ ก็พบว่าทุกตัวอย่างมีความปลอดภัย ไม่มีวัตถุเจือปนอาหาร ไนไตรท์ ไนเตรท กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก เกินค่ามาตรฐาน หรือถ้าพบก็พบในปริมาณน้อยไม่เกินค่า ...(อ่านต่อได้ที่ฉลาดซื้อฉบับ 227)         มาต่อกันที่ “สลัดครีม” เมนูอาหารมื้อเบาๆ ที่มักพบสารกันบูดละไขมันนั้น จากการ สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ประเภทสลัดครีม 17 ตัวอย่าง จากร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าในพื้นที่กรุงเทพฯ มาตรวจวิเคราะห์ พบ 1 ตัวอย่างมีสารกันบูด ทั้งกรดซอร์บิก และ กรดเบนโซอิก รวมกันเกินค่ามาตรฐาน คือ “American Classic Ranch” โดยพบกรดเบนโซอิก664.14 มก./กก. และพบกรดซอร์บิก 569.47 มก./กก. รวมแล้วทั้ง 2 ชนิดพบ 1,233.61 มก./กก. (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 232)         กลุ่มสารเคมีทางการเกษตร และโลหะหนัก ทั้งนี้ สิ่งแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย มีโลหะหนัก หรือการใช้สารเคมีในภาคเกษตรที่มีอยู่หลายร้อยชนิด เป็นความเสี่ยงอย่างสูงที่จะทำให้วัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหารนั้นมีการปนเปื้อนสารเหล่านี้ไปด้วย ดังนั้น ตลอดปี 2562-2563  “ฉลาดซื้อ” มีการเก็บตัวอย่างอาหารมาทดสอบหาการปนเปื้อน           โฟกัสไปที่ “น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ” เมื่อเดือน ก.พ.-มี.ค.2561 ได้ทำการเก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ 12 ตัวอย่าง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อตรวจหาปริมาณตะกั่วและแคดเมียม ผลการตรวจตะกั่ว พบว่าในน้ำปลาร้าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 คือไม่เกิน 1 มก./ อาหาร 1 กก. ส่วนผลทดสอบแคดเมียม เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 98 จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้าของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ แคดเมียมต้องน้อยกว่า 2 มก./กก.ก็พบว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มผช.ทุกตัวอย่าง           ต่อมาเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ 15 ตัวอย่าง โดยเป็นตัวอย่างในชื่อผลิตภัณฑ์เดิม 9 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์ใหม่อีก 6 ตัวอย่าง ตรวจแล้วทุกอย่างอย่างผ่านเกณฑ์การทดสอบตะกั่ว และแคดเมียมทั้งหมด  แต่กลับตรวจพบสารกันบูดแต่ยังไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ซึ่งกรณีที่พบในปริมาณน้อย อาจจะเป็นไปได้ว่า กรดเบนโซอิกสามารถพบได้จากพืชพรรณหลายชนิดตามธรรมชาติ  (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 220)         ขณะที่ “ปลาสลิดตากแห้ง” ซึ่งเป็นอาหารที่แมลงวันชอบมาตอมและไข่ทิ้งไว้ ทำให้ดูไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งบางร้านใช้การขับไล่ตามปกติ แต่บางร้าน  อาจจะมีการใช้ยาฆ่าแมลงฉีดพ่น ดังที่เป็นข่าวเมื่อต้นปี 2560 ที่พบการใช้ ไดคลอโรไดฟีนิลไตรคลอโรอีเทน (Dichloro-diphenyl-trichloroethane หรือ ดีทีที) ดังนั้นเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อเดือน ก.ค. 2562 “ฉลาดซื้อ” จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างปลาสลิดตากแห้ง 19 ตัวอย่าง จากร้านค้าในตลาดสด ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้าทั่วไป และร้านค้าออนไลน์ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แต่ผลตรวจไม่พบว่ามีตัวอย่างใดปนเปื้อนยาฆ่าแมลงในกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต และในกลุ่มไพรีทรอยด์ แต่อย่างใด (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 235)         มาต่อกันที่ “น้ำปู” หรือ “น้ำปู๋” เป็นเครื่องปรุงรสของทางภาคเหนือ กลุ่มเดียวกับกะปิ ซึ่งจากการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์น้ำปูจำนวน 24 ตัวอย่าง จากตลาดในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ ระหว่างวันที่ 7-15 ก.ย. 2563 มาตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของพาราควอต พบสารพาราควอตในน้ำปู 33 % หรือ 1 ใน 3 ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจ ค่าเฉลี่ยของการตกค้าง 0.04275 มก./กก.         โดยตัวอย่างที่พบปริมาณพาราควอตตกค้างมากที่สุด ได้แก่1.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ต.บ้านลา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง พบ 0.090 มก./กก. 2.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ต.ทุ่งฮั้ว อ.วังเหนือ จ.ลำปาง พบ 0.074 มก./กก. 3.น้ำปู ยี่ห้อน้ำปู๋แม่แจ่ม จาก ตลาดสดข่วงเปา ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ พบ 0.046 มก./กก.  4.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ร้าน น.ส.นิตยา ต.แม่ยางฮ่อ อ.ร้องกวาง จ.แพร่ พบ 0.042 มก./กก. 5.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก บ้านป่าสัก ต.ศรีถ้อย อ.แม่ใจ จ.พะเยา พบ 0.040 มก./กก. 6.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ตลาดบ้านปางลาว ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย พบ 0.031 มก./กก. 7.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จากบ้านหนุน อ.ปง จ.พะเยา พบ 0.011 มก./กก. และ 8. น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ร้านป้าหวิน บ้านร่องกาศใต้ ต.ร่องกาศ อ.สูงเม่น จ.แพร่ พบ 0.006 มก./กก. (อ่านรายละเอียดได้ที่ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 235)         ส่วน “หมึกแห้ง” นั้น เมื่อเดือน ม.ค.2563 ฉลาดซื้อได้เก็บหมึกแห้ง 8 ตัวอย่าง  (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 112-113 ปลาหมึกแห้ง ของดีแต่มีเสี่ยง) จากตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งร้านค้าในต่างจังหวัด และห้างออนไลน์ รวม 13 ตัวอย่าง  ตรวจพบว่าทั้ง 13 ตัวอย่างมีการปนเปื้อนปรอทแต่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด โดยตัวอย่างที่พบสูงสุดอยู่ที่ 0.042 มก./กก. เช่นเดียวกับผลการตรวจหาตะกั่วที่พบทั้ง 13 ตัวอย่างแต่ไม่เกินเกณฑ์ สูงสุด คือ 0.059 มก./กก. สำหรับการตรวจหาสารพิษจากเชื้อรา ( Aflatoxin B1, B2, G1, G2 และ Total Aflatoxin) ไม่พบในทุกตัวอย่าง  เช่นเดียวกับการตรวจหาการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ ก็ไม่พบในทุกตัวอย่างเช่นกัน         อย่างไรก็ตาม เมื่อทำการตรวจหาแคดเมียม ก็พบทุกตัวอย่าง แต่มีอยู่ 7 ตัวอย่างที่เกินเกณฑ์มาตรฐาน คือ 1.หมึกแห้ง จาก ตลาดคลองเตย ไม่ระบุ ซ.1 ต้นโพธิ์ พบ 2.003  มก./กก. 2. หมึกแห้ง จาก จังหวัดระยอง ร้านโชคชัยการค้า พบ 2.393 มก./กก. 3. หมึกแห้ง จาก ร้านค้าออนไลน์ SHOPEE พบ 2.537  มก./กก. 4. หมึกแห้ง จาก ตลาดเยาวราช ร้าน ต.วัฒนาพาณิชย์ ตลาดเก่าเยาวราช พบ  3.006  มก./กก. 5. หมึกแห้ง จาก ตลาดมหาชัย ร้านศรีจันทร์ พบ  3.303  มก./กก. 6. หมึกแห้ง จาก จังหวัดตราด ร้านเจ๊อำนวย (ตรงข้าม รพ. จังหวัดตราด) พบ 3.432  มก./กก. และ 7. หมึกแห้ง จาก ตลาดปากน้ำสมุทรปราการ ร้านพี่น้อง (เจ๊เล็ก) พบ 3.872  มก./กก. ...(อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 230)         อีกหนึ่งตัวอย่างที่ฉลาดซื้อให้ความสำคัญคือ “ถั่วเหลือง” เป็นพืชที่พบการใช้สารเคมีอันตราย อย่างพาราควอต และไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส แต่ถูกผลักดันให้ยกเลิกการนำเข้า และใช้สารเคมีเหล่านี้ในประเทศไทย ทั้งนี้เมื่อฉลาดซื้อ เก็บตัวอย่างถั่วเหลืองทั้งแบบเต็มเม็ดและแบบผ่าซีก  3 ครั้ง ในวันที่ 29 พ.ย., 2 ธ.ค. และ 6 ธ.ค. 62  รวม 8 ตัวอย่าง จากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่มาทำการตรวจหาการปนเปื้อนสารเคมีทางการเกษตร         ทั้งนี้ผลตรวจสอบพบการตกค้างของไกลโฟเซต 5 ตัวอย่างแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน  ได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา ไร่ทิพย์ พบ 0.53 มก./กก., ถั่วเหลืองซีก ตรา เอโร่ พบ 0.07 มก./กก., ถั่วเหลือง ตรา ด็อกเตอร์กรีน พบ 0.50 มก./กก., ถั่วเหลืองซีก ตรา โฮม เฟรช มาร์ท พบ 0.20 มก./กก., และถั่วเหลืองผ่าซีก ตรา แม็กกาแรต พบ 0.24 มก./กก. ส่วนอีก 3 ตัวอย่างไม่พบการตกค้างได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา บิ๊กซี, ถั่วเหลิองออร์แกนิค ตรา โฮม เฟรช มาร์ท, และถั่วเหลืองซีก ตรา ท็อปส์        “แม้จะพบไกลโฟเซตไม่เกินค่ามาตรฐานอาหารสากล แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ หากมีการบริโภคในปริมาณที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากถั่วเหลืองที่ไม่ผ่านความร้อนสูงไม่ว่าจะเป็นน้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง เต้าหู้ ฟองเต้าหู้”...(อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 231)         สำหรับกลุ่ม “ไขมันทรานส์” ที่มักพบในขนม นมแนย นั้น และส่งผลกระทบกับสุขภาพของประชาชน ซึ่งล่าสุดทายอย.ประกาศห้ามมีในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ แล้วนั้น อย่างไรก็ตาม “ฉลาดซื้อ” ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาตรวจสอบ และเผยแพร่ต่อประชาชนคือ         “เค้กเนย และชิฟฟ่อน” โดยมีการเก็บตัวอย่าง 16 ตัวอย่าง พบไขมันทรานส์ในปริมาณน้อยไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดไว้ คือ ไม่เกิน 0.5 กรัม/หน่วยบริโภค ยกเว้นเค้กเนยของยี่ห้อ PonMaree Bakery (พรมารีย์ เบเกอรี่)  ที่พบไขมันทรานส์ที่ 0.61 กรัม ต่อ 1 หน่วยบริโภค (55 กรัม) ถือว่าสูงกว่ายี่ห้ออื่นๆ แต่เมื่อตรวจสอบที่ผลการวิเคราะห์ชนิดของกรดไขมันทรานส์ พบว่า ยี่ห้อนี้เขาจัดหนักจัดเต็มในสูตรเค้กเพราะใช้เนยแท้ หรือก็คือ ปริมาณกรดไขมันทรานส์ที่ตรวจพบนี้เป็นกรดไขมันทรานส์ธรรมชาติ จึงไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจผิดต่อผู้ที่รักสุขภาพ ส่วนผลตรวจหาสารกันเสีย ก็พบเค้กเนยนั้นไม่พบกรดเบนโซอิก แต่กรดเบนโซอิกเล็กน้อยไม่เกินปริมาณที่กฎหมายกำหนดไว้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ..(อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 216)           การตรวจหาการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ และเชื้อดื้อยา        “ปลาทับทิมและเนื้อไก่ชำแหละ” ...เมื่อเดือนต.ค. 2563 “ฉลาดซื้อ” ลุยเก็บตัว “ปลาทับทิม” จากตลาดในเขตกรุงเทพฯ 11 แห่ง ตลาดและกระชังปลาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอ่างทอง 4 แห่ง รวม 15 ตัวอย่าง ส่งตรวจพบว่ามี 14 ตัวอย่าง ไม่พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะที่ส่งตรวจ มีเพียง 1 ตัวอย่าง จากตลาดคลองเตย พบ ยา Oxytetracycline ในปริมาณน้อยกว่า 5.00 ไมโครกรัม/กิโลกรัม (ไม่เกินมาตรฐาน)         ส่วน “เนื้อไก่ชำแหละ” ซึ่งได้เก็บมา 10 ตัวอย่าง ผลตรวจพบว่ามี 9 ตัวอย่าง ไม่พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะที่ส่งตรวจ  มี 1 ตัวอย่าง จากเนื้อไก่ที่ซื้อจากตลาดเจ้าพรหม  พบยา Enrofloxacin (Endrofloxacin) ในปริมาณ 0.66 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ทั้งนี้ ยาดังกล่าวไม่ได้เป็นรายการยาในบัญชีแนบท้ายประกาศ แม้ อย. อนุญาตให้ใช้ได้แต่ต้องไม่พบการตกค้างเลย อาจถือเป็นความผิดตามมาตรา 60 โทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ของ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522           มัดรวมไว้ตรงนี้ เผื่อว่าใครยังไม่ทราบว่าฉลาดซื้อได้เคยทำทดสอบด้านอาหารอะไรไว้บ้าง ก็น่าจะได้เป็นแนวทางในการค้นหารายละเอียดต่อไป และเราสัญญาว่า เราจะตามติดและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยา เครื่องสำอาง ฯลฯ เพื่อให้ผู้บริโภคใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจ “ซื้อ” หรือ “ไม่ซื้อ” ในปี 2564 อย่างเข้มข้น แน่นอน 

อ่านเพิ่มเติม >

‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ ยืนหยัด ‘คุ้มครองผู้บริโภค’ แถลงชัดไม่มีนโยบายถอนข้อมูลผลทดสอบจากเว็บไซต์

            ตามที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ดำเนินการเชิงรุกเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคช่วงโควิด - 19 โดยเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ล้างมือในช่วงที่ขาดแคลนและมีราคาแพง รวมทั้ง ขาดข้อมูลอ้างอิงที่จะทำให้ผู้บริโภคเชื่อถือได้ว่ามีคุณภาพตรงกับฉลากหรือคำโฆษณา และไม่ปนเปื้อนสารที่ก่ออันตราย มูลนิธิฯ ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ล้างมือจำนวน 39 ตัวอย่าง เพื่อตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์ว่าเป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือไม่ และตรวจหาการปนเปื้อนของเมธิลแอลกฮอล์ ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดที่มีอันตรายต่อผู้บริโภค ผลพบว่า จำนวน 27 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 69.23 มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 จากนั้นจึงได้เผยแพร่ข้อมูลให้ผู้บริโภคได้รับทราบผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเปิดเผยชื่อยี่ห้อ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อเท็จจริง และมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการเลือกซื้อสินค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้สำหรับปกป้องสุขภาพในภาวะที่มีการระบาดของเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อชีวิตนั้น (อ่านข้อมูล ผลทดสอบเจลแอลกอฮอล์ จากนิตยสารฉลาดซื้อ ได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3420)         ต่อมาวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 บริษัท รีเอกซ์ โปรดักส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเจลแอลกอฮอล์ ได้ฟ้องคดีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 1 และนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่า จำเลยได้กระทำผิดอาญา ใส่ความหมิ่นประมาทบริษัท และระบุว่า “...ไม่ใช่ผลการทดสอบที่ถูกต้องที่จะนำเสนอเป็นข่าวหรือบทความให้สาธารณชนได้รับทราบเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์เจลล้างมือ เพราะเกณฑ์มาตรฐานการทดสอบจำเป็นต้องมีการควบคุมการทดสอบและกำหนดค่าความผันแปรของผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ที่มีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมระหว่างทดสอบ...”         ในวันนี้ (5 พฤศจิกายน 2563) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้แถลงข่าวเพื่อให้ข้อเท็จจริงและแสดงจุดยืนต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้         1. นิตยสารฉลาดซื้อ และ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้จัดให้มีการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 เพื่อเผยแพร่ข้อมูลกับผู้บริโภค โดยมีการเปิดเผยชื่อยี่ห้อให้ผู้บริโภคได้รับทราบ ด้วยเหตุผลในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า ตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 โดยมูลนิธิฯ ได้ดำเนินการตามหลักการนี้มาอย่างต่อเนื่องตลอดมา         2. การทดสอบได้ทำอย่างสุจริตและโปร่งใส โดยยึดมั่นหลักวิชาการ และดำเนินการอย่างมีคุณภาพสูงสุด เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยการทดสอบเจลแอลกอฮอล์ในครั้งนี้ ดำเนินการโดย ศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ มีความเป็นอิสระ และเป็นห้องทดลองที่ได้มาตรฐานและผ่านการรับรอง ISO 17025 แม้แต่ อย. ก็ใช้ห้องทดลองนี้เช่นกัน และในการแถลงข่าวเพื่อเผยแพร่ข้อมูล เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ผู้เกี่ยวข้องกับการทดสอบได้ร่วมในการให้ข้อมูลอย่างเปิดเผย ประกอบด้วย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รศ.ดร.ภก.วรสิทธิ์ วงศ์สุทธิเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร. ยุพดี ศิริสินสุข คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) และรองผู้จัดการแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย         3. มูลนิธิฯ เห็นว่า การฟ้องร้องของบริษัท รีเอ็กซ์ โปรดักส์ จำกัด อาจเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้มูลนิธิฯ ยุติการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้บริโภค         4. มูลนิธิฯ ไม่มีนโยบายถอนข้อมูลผลทดสอบที่ได้จัดทำและเผยแพร่จากเว็บไซต์ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคให้สามารถเลือกซื้อสินค้า โดยเป็นไปตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ดังที่ได้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติตลอดมา         ด้าน ดร. ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ยืนยัน กระบวนการทดสอบสินค้าและบริการของนิตยสารฉลาดซื้อ ใช้ห้องทดสอบที่มีมาตรฐาน ระดับประเทศที่พัฒนาแล้ว สำหรับกระบวนการทดสอบด้านสินค้าและบริการ จะอ้างอิงหลักการและวิธีการออกแบบการทดสอบ ขององค์กรผู้บริโภคระหว่างประเทศ ที่เป็นสมาขิกของ International Consumer Product Research and Testing โดยเน้นหลักการความเป็นกลาง ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ใช้การสุ่มซื้อสินค้าที่มีการจำหน่ายจากร้านค้าจริงทั่วไปและออนไลน์เหมือนผู้บริโภคซื้อสินค้าและเผยแพร่ผลการทดสอบผ่านนิตยสารฉลาดซื้อ ซึ่งเป็นสื่อสาธารณะที่ไม่รับโฆษณาจากบริษัทต่าง ๆ เพื่อทำให้สามารถรักษาผลประโยชน์สาธารณะได้อย่างตรงไปตรงมา         "การทดสอบสินค้าที่มีมาตรฐานกำกับจะดำเนินการทดสอบตามมาตรฐาน โดยใช้ห้องทดสอบของมหาวิทยาลัย หรือ ห้องทดสอบเอกชนระดับมาตรฐาน ISO 17025 กรณีสินค้าที่ยังไม่มีมาตรฐานกำกับจะทดสอบโดยใช้มาตรฐานของต่างประเทศที่ได้รับความน่าเชื่อถือ ตัวอย่างเช่น กรณีการทดสอบเครื่องฟอกอากาศ การทดสอบเปรียบเทียบมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดมาตรฐานอุตสาหกรรมของไทยที่จะเข้าไปกำกับมาตรฐานของเครื่องฟอกอากาศในอนาคต เป็นต้น"        ทั้งนี้ พลังของผู้บริโภคในการสนับสนุนการต่อสู้คดีในครั้งนี้ ซึ่งเป็น “ครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี” ที่ผลการทดสอบและการเปิดเผยข้อมูลของนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถูกฟ้องคดีโดยบริษัทผู้ผลิตหลังจากเปิดเผยชื่อผู้ผลิตและยี่ห้อของสินค้าจากการทดสอบ” จึงมีความสำคัญต่อการยืนหยัดทำหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 ฉลาดซื้อเผยปริมาณโลหะหนัก - สารกันบูดในผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จปลอดภัย แนะผู้บริโภคเลือกยี่ห้อที่ผ่าน อย.

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อเผยปริมาณแคดเมียม, ตะกั่วและสารกันบูดในผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จปลอดภัย สารกันบูดไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด แนะให้ผู้บริโภคอ่านฉลากให้รอบคอบและเลือกรับผลิตภัณฑ์ที่มี อย.ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ โดยโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมมือกับเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือดำเนินการทดสอบซ้ำ ในปีนี้ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังด้านอาหารและสร้างความมั่นใจในการบริโภค โดยในครั้งนี้(  2562 ) เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ จำนวน 15 ตัวอย่าง เป็นตัวอย่างในชื่อผลิตภัณฑ์เดิม 9 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์ใหม่อีก 6 ตัวอย่าง ส่งวิเคราะห์หาสารโลหะหนักตะกั่วและแคดเมียม และเพิ่มการทดสอบปริมาณสารกันบูดกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกด้วย ผลทดสอบตะกั่ว น้ำปลาร้าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 คือไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม            ส่วนผลทดสอบแคดเมียม เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 98 จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้า ของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ แคดเมียม ต้องน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่า ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มผช. เช่นกัน           ผลทดสอบหาปริมาณสารกันบูด พบว่า น้ำปลาร้าปรุงรสตราไทยอีสาน (ฉลากระบุ ไม่ใช้วัตถุกันเสีย) พบปริมาณกรดเบนโซอิก 831.83 มก./กก. และ น้ำปลาร้าส้มตำปรุงสำเร็จ ตะวันทอง ๑  (ฉลากระบุ ไม่ใช้วัตถุกันเสีย) พบปริมาณกรดเบนโซอิก 404.84 มก./กก.   ซึ่งปริมาณการใช้สารกันบูดใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ น้ำปลาร้าต้มสุกเข้มข้น ตราน้องพร คือ พบปริมาณ 641.81 มก./กก. แต่แสดงข้อมูลบนฉลากชัดเจนว่า มีการใช้วัตถุกันเสีย ซึ่งทั้งหมดไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดคือ ไม่เกิน 1,000 มก./กก.              อย่างไรก็ตามหลายผลิตภัณฑ์พบว่ามีปริมาณกรดเบนโซอิกในปริมาณไม่มาก(ไม่ถึง 100 มก./กก.) คือ ไม่มากพอที่จะเป็นการตั้งใจใส่เพื่อให้มีฤทธิ์ในการต่อต้านจุลินทรีย์(ปริมาณที่เหมาะต่อการเก็บหรือยืดอายุอาหารคือ 500-2,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) ดังนั้นเป็นไปได้ว่ามาจากวัตถุดิบที่นำมาผลิต ซึ่งกรดเบนโซอิกสามารถพบได้จากพืชพรรณหลายชนิดตามธรรมชาติ               โดยก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม พ.ศ.2561  โครงการฯ เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ จำนวน 12 ตัวอย่าง เพื่อทดสอบหาปริมาณตะกั่วและแคดเมียม ซึ่งพบว่า ผลทดสอบตะกั่ว ในน้ำปลาร้าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 คือไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม ส่วนผลทดสอบแคดเมียม เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 98 จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้าของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ แคดเมียมต้องน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่า ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มผช. อ่านบทความ  - ฉบับที่ 220 ปริมาณแคดเมียมและตะกั่วและสารกันบูดในผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ    ได้ที่ลิงก์ https://www.chaladsue.com/article/3166 - ฉบับที่ 205 ผลิตภัณฑ์ของฝาก-ของดี จาก 4 ภาค "น้ำพริกหนุ่ม น้ำปลาร้า แกงไตปลาแห้ง และโรตีสายไหม "    ได้ที่ลิงก์ https://chaladsue.com/article/2806/

อ่านเพิ่มเติม >

พฤติกรรมชาวกรุง กับการ Shopping Online

ฉลาดซื้อ ร่วมมือบ้านสมเด็จโพลล์เผย 32.4% โพลล์ชี้คนกรุง 74.7%  เชื่อมั่นใน Online shopping เคยถูกหลอกลวงจากการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ จี้หน่วยงานรัฐรับผิดชอบโดยตรงฉลาดซื้อ ร่วมมือบ้านสมเด็จโพลล์เผย โพลล์ชี้คนกรุง 74.7%  เชื่อมั่นใน Online shopping 40.7% ซื้อของราคา 501 – 1,000 บาท 32.4% เคยถูกหลอกลวงจากการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ เครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศจัดเสวนาสมัชชาผูบริโภค ประจำปี 61 ชูประเด็น “กำกับตลาดดิจิทัลให้เป็นธรรม รวมพลังผู้บริโภคผลักดันกฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ”นิตยสารฉลาดซื้อ ร่วมมือกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ (Online shopping) โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่เคยซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์และอาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,205 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 22 - 25 กุมภาพันธ์ 2561  ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เนื่องจากในปัจจุบันมีการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ (Online shopping) มีเป็นจำนวนมากและมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มมากขึ้น สินค้าที่มีความหลากหลายที่อยู่บนร้านค้าออนไลน์ทั้งในแบบใช้ระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์ และแบบเว็บไซด์ที่จัดทำขึ้นเพื่อขายสินค้า การตัดสินใจ ความเชื่อมั่น ปัญหาต่างๆในการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์เป็นอย่างไร โดยผลการสำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์เกี่ยวกับการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ (Online shopping) โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ ผ่านทางร้านค้าบน Facebook เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 30.9 อันดับที่สองคือร้านค้าบน Instagram ร้อยละ 25.4 อันดับที่สามคือ Lazada ร้อยละ 13.9 อันดับที่สี่คือ Shopee ร้อยละ 10.9 และอันดับที่ห้าคือ Kaidee ร้อยละ 7.8 และมีการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ เป็นสินค้าประเภท เสื้อผ้าผู้หญิง/ผู้ชาย เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 29.8 อันดับที่สองคืออาหารเสริมสุขภาพ ร้อยละ 13.0 อันดับที่สามคือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ร้อยละ 12.1 อันดับที่สี่คือ อุปกรณ์เสริมมือถือ ร้อยละ 9.1 และอันดับที่ห้าคือ สินค้าความงาม ร้อยละ 8.4กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นในการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ ร้อยละ 74.7 มีความเชื่อมั่น เพราะเชื่อมั่นในระบบ/เว็บไซต์ที่มีความน่าเชื่อถือ อันดับหนึ่ง ร้อยละ 33.8 อันดับที่สองคือ เพราะสินค้าที่ซื้อได้รับการรับรองจากผู้ซื้อคนอื่นหรือการรีวิว ร้อยละ 31.0 อันดับที่สามคือ เพราะสินค้าได้รับการรับรองจากระบบ/เว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ ร้อยละ 21.6 อันดับที่สี่คือ เพราะสินค้านั้นมีราคาถูกกว่าไปซื้อหน้าร้าน ร้อยละ 13.5 และคิดว่าสินค้าในร้านค้าออนไลน์ มีความน่าเชื่อถือ ร้อยละ 62.9 ในส่วนของความน่าเชื่อถือ สินค้าบริโภค (ผลิตภัณฑ์อาหาร) ร้อยละ 45.8ในส่วนของราคาที่ใช้จ่ายซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ อันดับหนึ่งคือ 501 – 1,000 บาท ร้อยละ 40.7 อันดับที่สองคือ 101 – 500 บาท ร้อยละ 23.1 อันดับที่สามคือ 1,001 – 1,500 บาท ร้อยละ 19.5 อันดับที่สี่คือ 1,501 – 2,000 บาท ร้อยละ 9.5 อันดับที่ห้าคือ มากกว่า 2,000 บาท ร้อยละ 6.6 และอันดับสุดท้ายคือ น้อยกว่า 100 บาท ร้อยละ 0.6 การชำระค่าสินค้าที่ใช้จ่ายผ่านทางระบบออนไลน์ ด้วยวิธีการ โอนเงิน/หักบัญชีธนาคาร มากที่สุด ร้อยละ 61.1 อันดับที่สองคือ ผ่านบัตรเครดิต/เดบิต ร้อยละ 14.8 อันดับที่สามคือ โอนเงินผ่านเคาน์เตอร์ ร้อยละ 11.1 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าการจัดส่งสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ มีความรวดเร็ว ร้อยละ 75.8 เคยพบการจัดส่งสินค้าล่าช้ากว่ากำหนด ร้อยละ 54.4 และเคยพบสินค้าชำรุด/เสียหาย หรือได้รับสินค้าไม่ครบตามจำนวนที่สั่งซื้อสินค้า ร้อยละ 35.0กลุ่มตัวอย่างเคยถูกหลอกลวงจากการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ ร้อยละ 32.4 และเมื่อพบปัญหาจากการถูกหลอกลวงจากการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ อันดับหนึ่งคือ แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ร้อยละ 39.6 อันดับที่สองคือ โพสต์ลงโซเชียลมีเดีย/เฟสบุ๊ค ร้อยละ 28.7 อันดับที่สามคือ ร้องเรียนผ่านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร้อยละ 19.3 อันดับที่สี่คือ ไม่ดำเนินการใดๆ ร้อยละ 9.7 ในส่วนของการเคยมีการตรวจดูวันเดือนปีที่หมดอายุของสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ ร้อยละ 60.8 เคยมีการตรวจดูสถานที่ผลิตของสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ ร้อยละ 57.3 และเคยมีการตรวจสอบมาตรฐาน อย. (สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา) ของสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ ร้อยละ 58.4ทั้งนี้  ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร เสนอแนะว่า ควรมีหน่วยงานที่ดูแลจัดการในเรื่องการซื้อขายออนไลน์โดยตรง มีมาตรการเข้มงวด รวมถึงการควบคุมดูแลให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภคด้วย อีกส่วนหนึ่งคือ การใช้จ่ายออนไลน์นั้น ส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายโดยการหักบัญชีธนาคาร จากผู้ขายและผู้ซื้อโดยตรง ซึ่งภาครัฐจะสูญเสียรายได้จากภาษี ตรงนี้จะแก้ไขได้อย่างไร นางสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณธิการบริหารนิตยสารฉลาดซื้อ  กล่าวเสริมว่า “ปัจจุบันการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความนิยมในบ้านเรา เป็นที่น่าเสียดายหากภาครัฐจะสูญเสียรายได้ไปไม่น้อยจากการเก็บภาษีอากร  เพราะในต่างประเทศ อย่างเช่นประเทศอินโดนีเซีย มีการเก็บภาษีจากเฟสบุคได้แล้ว  ปีนี้เป็นปีที่ 2  สองปีซ้อนที่สหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International) ร่วมกับองค์กรผู้บริโภคทั่วโลก กำหนดให้วันสิทธิผู้บริโภคสากล (World Consumer Rights’ Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 15 มีนาคม ของทุกปีเป็นประเด็น การคุ้มครองผู้บริโภคจากธุรกิจออนไลน์ เพื่อสร้างความมั่นใจและความ ยุติธรรมให้แก่ผู้บริโภค(Building a Digital World Consumers Can Trust) ในปี พ.ศ. 2560 สู่ “การกำกับตลาดดิจิทัลให้เป็นธรรม” (Making digital marketplaces fairer) ในปี 2561 อีคอมเมิร์ซได้เปลี่ยนวิถีชีวิตทุกคน ผ่านโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์ที่ เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต สามารถชำาระเงินซื้อข้าวของเครื่องใช้บริการได้ทั่วโลก แม้แต่เครื่องใช้ส่วนตัว เครื่องใช้ในบ้าน อุปกรณ์ดนตรี  จองบริการ ขนส่งและที่พัก หรือซื้อตั๋วเข้าร่วมกิจกรรม สำหรับในประเทศไทย มูลค่า e-Commerce ในปี 2559 รวมทั้งสิ้น 2,560,103.36 ล้านบาท ขณะที่งบโฆษณาดิจิทัลในปี 2559 มีมูลค่า 9,477 ล้านบาท คาดว่า ปี 2560 จะทะลุหมื่นล้านขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นของการซื้อขายออนไลน์ ได้ทำให้ เกิดปัญหาสำคัญกับผู้บริโภค เช่น การหลอกลวง ซื้อของแล้วไม่ได้ของ ไม่ได้ เงินคืนหรือถึงแม้ได้เงินคืนก็แสนยากเย็น เมื่อเกิดเหตุการณ์ผิดพลาดขึ้น ถูกหลอกลวง ฉ้อโกง หรือโฆษณาเกินจริง เป็นเท็จ โอ้อวดสรรพคุณ จะได้รับ การชดเชยเยียวยาเป็นอย่างดี หรือถูกจัดการจากหน่วยงานอย่างทันท่วงที  ด้วยเหตุนี้เชื่อว่า การเคลื่อนไหวของขบวนการผู้บริโภคทั่วโลก จะสามารถ ทำาให้เกิดการกำากับตลาดดิจิทัลที่เป็นธรรมสำาหรับผู้บริโภคเพิ่มขึ้นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ จัดงานสมัชชาผู้บริโภคประจำปี 2561 “กำกับตลาดดิจิทัลให้เป็นธรรม รวมพลังผู้บริโภคผลักดันกฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ” ในวันพุธที่ 14 ถึงวันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม 2561 ณ ห้องจูปิเตอร์ ชั้น 3 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ภายในงาน  มีการนำเสนองานวิจัย เรื่อง การคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายออนไลน์ โดย นางพลินี เสริมสินสิริ นักวิชาการอิสระ  เสวนา “กำกับตลาดดิจิทัลให้เป็นธรรม (Making digital marketplaces fairer)”  และมีกิจกรรมวิชาการที่น่าสนใจ อาทิ เสวนา “มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคตลาดออนไลน์” , เสวนา “แนวทางการจัดการโฆษณาผิดกฎหมายในออนไลน์ซ้ำซาก กรณีผลิตภัณฑ์สุขภาพ” , เสวนา เรื่อง “แนวทางการแจ้งเตือนภัยสินค้าไม่ปลอดภัยทางสื่อดิจิตัล” , เสวนา “ความเป็นไปได้ในการตรวจสอบและกำกับค่ารักษาพยาบาลแพง” , เสวนา “ต้นแบบและความร่วมมือรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย”  และในวันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม 2561 ร่วมรับฟังเสวนา “ร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ ความก้าวหน้าและอนาคต” ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานล่วงหน้าได้ที่ 02 248 3737 

อ่านเพิ่มเติม >

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พัฒนาเครือข่ายผู้บริโภค ‘เก็บตัวอย่าง-เฝ้าระวังอาหาร ยา สินค้าสุขภาพ’ รุกสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในระดับท้องถิ่นทั่วประเทศ

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเก็บตัวอย่าง-เฝ้าระวังสินค้าและบริการสุขภาพ” เพื่อเสริมความรู้และพัฒนาศักยภาพในการเก็บตัวอย่างสินค้าและบริการประเภทอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพให้กับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อนำไปใช้ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคให้เข้าถึงระดับท้องถิ่นอย่างมีมาตรฐานถูกต้องและมีประสิทธิภาพวันนี้ (10 ต.ค.60) เวลา 09.00 น. ณ โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ - มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดกิจกรรมฝึกอบรมปฏิบัติการ การเก็บตัวอย่างและเฝ้าระวังสินค้าและบริการสุขภาพ ภายใต้ โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมความรู้ให้เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชน สามารถลงพื้นที่สุ่มเก็บตัวอย่าง ทำการบรรจุ-จัดส่งผลิตภัณฑ์เพื่อส่งตรวจ และเฝ้าระวังสินค้าหรือบริการด้านสุขภาพในท้องถิ่นได้ถูกต้องมีประสิทธิภาพ โดยการบรรยายความรู้การเก็บตัวอย่างเพื่อการทดสอบอาหาร ยาและเครื่องสำอาง จาก ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร อดีตอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และคณะ และกิจกรรมฝึกปฏิบัติการเก็บตัวอย่างสินค้านายสมนึก งามละมัย ผู้ประสานงานโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ กล่าวว่า “การมีส่วนร่วมในการทดสอบสินค้าหรือบริการของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนจากทั่วประเทศ มีผลดีต่อการสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่กว้าง และครอบคลุมทั่วประเทศมากขึ้น ทำให้ผลการทดสอบโดยรวม มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น” “ผู้เข้าอบรมเองจะได้รับความรู้พื้นฐานในการเลือกซื้อสินค้า ดูข้อมูลบนฉลาก ทำให้เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคมีความเชี่ยวชาญในการสุ่มเก็บตัวอย่าง โดยเฉพาะสินค้าในตลาดชุมชนที่ดูมีความสุ่มเสี่ยงน่าสงสัยว่าอาจไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ไปยังห้องแล็บเพื่อตรวจสอบ และนำผลการทดสอบที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค” นายสมนึกกล่าว นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “ความรู้และเทคนิคการสุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าประเภทอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำอย่างถูกต้องและรวดเร็ว เช่น การคำนวณปริมาณที่ต้องสุ่มเก็บ เลขล็อตการผลิตที่ต้องเป็นชุดเดียวกัน การถ่ายภาพตัวอย่าง การบันทึกข้อมูลฉลากของตัวอย่างอาหารติดบนตัวอย่าง เหล่านี้ต้องทำอย่างระมัดระวังและเข้มงวด เพราะการเก็บตัวอย่างที่ถูกต้องจะสามารถนำส่งตรวจวิเคราะห์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะสินค้าประเภทอาหารหากเก็บผิดพลาด อาจไม่สามารถส่งตรวจได้ เป็นการเสียเวลาและงบประมาณ”นางสาวบารีย๊ะ ยาดำ ผู้ประสานงานสมาคมผู้บริโภคจังหวัดสงขลา กล่าวว่า “อำเภอหาดใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีสินค้าหลากหลาย มีแหล่งตลาดสดจำนวนมาก สินค้านำเข้าส่วนใหญ่มาจากจีนและมาเลเซียซึ่งไม่มีฉลากภาษาไทย เช่น อาหารแห้งและเครื่องสำอางที่มีความสุ่มเสี่ยง วันนี้ได้เรียนรู้การอ่านและดูฉลากและเลือกเก็บตัวอย่างประเภทอาหารสด อาหารแห้ง สุ่มเก็บอย่างไรให้ครอบคลุม โดยเรามีเครือข่ายอาสาทำงานในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่รู้เทคนิคการเก็บตัวอย่าง จะนำความรู้ในวันนี้ไปถ่ายทอดให้กับคนทำงานพื้นที่ต่อไป” นางสาวพวงทอง ว่องไว กลไกการคุ้มครองผู้บริโภคภาคเหนือและผู้ประสานงานศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา กล่าวว่า “ปัญหาการเฝ้าระวังสินค้าและบริการสุขภาพในภาคเหนือ ส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้าจากประเทศจีน เช่น ขนม อาหารแห้ง ยา และเครื่องสำอาง ซึ่งไม่มีฉลากภาษาไทย มีการตรวจพบสเตียรอยด์ในยาสมุนไพรจีน จากรถขายเร่ที่มาจำหน่ายตามชุมชน ซึ่งเป็นยาที่ไม่ได้จดแจ้ง มาอบรมวันนี้ได้เทคนิคการอ่านฉลาก วิธีการเลือกเก็บตัวอย่างสินค้า การคำนวณปริมาณสินค้าที่ต้องส่งต่อ การบันทึกข้อมูลเอกสารที่นำส่งเพื่อตรวจสอบสินค้า ซึ่งทั้งหมดจะได้นำไปใช้ทำงานในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”ทั้งนี้ ภายหลังการฝึกอบรมเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนจะลงพื้นที่เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในชุมชนส่งศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการมาตรฐานต่อไป ซึ่งจะส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนครอบคลุมพื้นที่ระดับประเทศมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ยิ้มเห็นเหงือกมากไป แก้ไขอย่างไรดี

หนึ่งในปัญหาความงามของสาวๆ คือ การยิ้มเห็นเหงือกมากเกินไป ซึ่งสามารถทำให้ขาดความมั่นใจเวลายิ้มได้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันเราสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ด้วยหลากหลายวิธีการ ซึ่งจะมีอะไรบ้างและมีข้อแตกต่างอย่างไร ลองไปดูกันเลยรู้จักภาวะยิ้มเห็นเหงือกกันก่อน ภาวะยิ้มเห็นเหงือกมากเกินไป (Gummy Smile) มีสาเหตุจากกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ยกริมฝีปากบนและมุมปากทำงานเกินพอดี หรือเหงือกเจริญลงมาคลุมคอฟันมากเกินไป ทำให้เวลายิ้มแล้วเห็นเหงือกมากกว่าปกติ วิธีการแก้ไขภาวะยิ้มเห็นเหงือก วิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สามารถทำได้หลากหลายและมีข้อแตกต่างกัน ดังนี้ - การศัลยกรรมตกแต่งเหงือก (Gingivectomy) คือ การตัดแต่งเฉพาะเหงือกส่วนเกินออก ด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น เครื่องจี้ไฟฟ้าหรือเลเซอร์ ซึ่งจะทำให้เกิดรอยแผลขนาดเล็ก และสามารถหายสนิทภายใน 1-2 เดือน ข้อดีคือให้ผลการรักษาเป็นแบบถาวร เหงือกจะไม่กลับมางอกซ้ำอีก และราคาไม่สูงมากนัก โดยอัตราค่าบริการมักขึ้นอยู่กับความยากง่ายและจำนวนที่แก้ไข อย่างไรก็ตามการศัลยกรรมดังกล่าวต้องได้รับการประเมินจากแพทย์ก่อนว่า สามารถทำได้หรือไม่ เนื่องจากในบางราย การนูนของเหงือก อาจเกิดจากระดูกหุ้มฟัน ซึ่งต้องกรอแต่งกระดูกดังกล่าวก่อนตัดแต่งเหงือก นอกจากนี้บางคนอาจต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัดที่กระดูกขากรรไกรแทน ซึ่งการผ่าตัดชนิดนี้เป็นการผ่าตัดใหญ่ หลังผ่าตัดต้องมีการพักฟื้นนาน มีการใช้เหล็ก หรือสกรูดามไว้ ทำให้หลังการรักษาอาจจะทำให้การรับประทานอาหารและพูดได้ลำบากในช่วงระยะเวลาหนึ่ง  - การฉีดโบท็อกซ์ วิธีการนี้ใช้แก้ปัญหากรณีกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ยกริมฝีปากบนและยกมุมปากทำงานเกินพอดี ซึ่งโบท็อกซ์จะช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวทำงานน้อยลง และเกิดอาการตึงบริเวณริมฝีปาก ทำให้ฉีกยิ้มได้น้อยลงและเห็นเหงือกน้อยลงนั่นเอง ทั้งนี้วิธีการดังกล่าวมีอัตราค่าบริการสูงและให้ผลการรักษาชั่วคราวเป็นเวลาประมาณ 4-6 เดือน อย่างไรก็ตามวิธีการนี้ต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเท่านั้น เพราะหากมีการฉีดผิดจุด อาจทำให้เราขยับปากไม่ได้หรือปากเบี้ยวไปเลย - การอุดเติมเนื้อฟันหรือทำครอบฟัน วิธีการนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีฟันมีขนาดเล็กหรือสั้นผิดปกติ โดยใช้วัสดุอุดเสมือนฟันช่วยเติมซี่ฟันให้ดูยาวขึ้น หรือใช้การครอบฟันร่วมกับการตัดเหงือก ข้อเสียคือราคาสูง โดยส่วนใหญ่มักเริ่มต้นที่ซี่ละ 3,500 บาท - การจัดฟัน ช่วยแก้ไขในกรณีที่ตำแหน่งฟันผิดปกติ ยื่นออกมามาก หรือฟันห่าง โดยจะใช้การจัดฟันทำให้ฟันชิดและไม่ยื่นได้ หรืออาจใช้การปักหมุดช่วยดึงฟันลงมาเพื่อให้ระดับฟันสูงขึ้น อย่างไรก็ตามวิธีการดังกล่าวใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายสูง - การผ่าตัดตกแต่งบริเวณริมฝีปากบน หากใครที่เคยทำปากกระจับแล้วทำให้ริมฝีปากบนบางเกินไปจนทำให้เกิดภาวะยิ้มเห็นเหงือก สามารถแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัดเสริมริมฝีปากบนให้หนาขึ้น ซึ่งมีข้อเสียคือค่าใช้จ่ายสูงและอาจต้องรักษาหลายครั้งเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ หรือสามารถแก้ไขด้วยการฉีดสารเติมเต็ม (Filler) แต่ผลการรักษาจะอยู่ชั่วคราว และต้องฉีดใหม่ทุกๆ 6 เดือนทั้งนี้ไม่ว่าเราจะเลือกวิธีการใดเพื่อแก้ไขภาวะยิ้มเห็นเหงือก ควรคำนึงถึงการเลือกทันตแพทย์ที่มีความชำนาญ เครื่องมือสะอาด ปลอดภัยหรือแจ้งโรคประจำตัว อาการแพ้ยาต่างๆ ก่อนทำ และควรดูแลตัวเองหลังทำอย่างเคร่งครัด ด้วยการรับประทานยาแก้อักเสบ ทำความสะอาดช่องปากตามที่ทันตแพทย์แนะนำ และหลีกเลี่ยงอาหารแข็ง ร้อนจัด หรือรสจัด เพื่อไม่ให้เกิดการระคายเคืองแผล รวมทั้งหมั่นพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 6 เดือน/ครั้ง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ฉลาดใช้ชีวิต แบบวีระพันธ์ รังสีวิจิตรประภา

ฉลาดซื้อฉบับแรกของศักราชใหม่ พาไปสัมผัสมุมมองจากคนฉลาดซื้อ ที่ไม่ได้สมาร์ทเพียงแค่ตนเอง แต่ยังมองไปถึงภาพรวมของประเทศด้วย ผศ.ดร.วีระพันธ์ รังสีวิจิตรประภา อาจารย์ประจำภาควิชาไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อย่าเพิกเฉยกับการถูกละเมิดสิทธิ“เราคิดว่าเวลาเราซื้อของ ถ้าของแพงต้องเป็นของดี แต่ความเป็นจริงแล้วนั้น ของไม่ดีแต่ราคาแพงเวลาเราซื้อมาก็จะรู้สึกเจ็บใจ ทำไมเราเสียค่าโง่กับของไม่ดีแล้วยังราคาแพงอีก เหมือนซื้อของปลอมเพราะเราคิดว่ามันคือของจริง พอเรารู้ว่าปลอมมันก็เสียความรู้สึก  แต่ในทางกลับกันถ้าเราซื้อของปลอมแล้วเราได้ของดีมาใช้ผมมองว่า มันก็โอนะ ในส่วนการคุ้มครองผู้บริโภคผมมองว่า เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ยกตัวอย่าง ถ้าสมมติเราไม่อยากส่งเสริมการใช้ของปลอมและต้องการสนับสนุนคนที่ทำของจริง  นั่นหมายความว่าเราต้องได้รับความคุ้มครองเพราะเราซื้อของจากร้านที่เราเชื่อถือได้ แต่ถ้าเราได้ของปลอมมามันน่าจะต้องมีมาตรการเพื่อคุ้มครองเรา เพื่อลงโทษผู้กระทำความผิด นี่ก็เป็นการฉลาดบริโภค เพราะเรารู้ทันในเรื่องของราคา สิ่งสำคัญเวลาที่เราจะซื้อ อย่างตัวผมเองไม่ได้แพ้(สารเคมี) อะไรเวลาซื้อก็ไม่ต้องระวัง แต่สำหรับคนที่แพ้เคยพบว่า ตัวเองเคยแพ้อะไรมาบ้างอย่างน้อยสาระสำคัญเหล่านั้น จะต้องสามารถมาตรวจสอบกับสินค้าที่เราจะซื้อว่าไม่มีสารที่เราแพ้จริง ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ถ้าผู้บริโภคมีความรู้ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไรแต่ถ้าไม่มีจะทำอย่างไร ผมยกตัวอย่าง เช่น มีคนไม่ทราบว่าตัวเองแพ้อาหารทะเลแล้วก็ไปบริโภคอะไรที่เราไม่รู้ว่าเขาใส่สิ่งที่เราแพ้ลงไปด้วยจนกระทั่งมันเกิดอาการแพ้กับเรา ถามว่า สิทธิผู้บริโภคเองกับเรื่องพวกนี้ เขาควรจะทราบก่อนไหม กรณีฉลาดบริโภคก็คือ เราได้ของดีในราคาที่เราพอใจ ราคาไม่เอาเปรียบเราแล้วเราก็ได้รับสิทธิในการคุ้มครองจากการที่เราได้รับความเสียหายจากการบริโภคสินค้านั้น ซึ่งอาจจะผ่านทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) หรือ สคบ. ก็แล้วแต่กรณี ถ้าผ่าน มพบ. ผมมองว่าข้อได้เปรียบที่เป็นจุดแข็ง คือการกัดไม่ปล่อย การติดตาม ถ้าทาง สคบ. ก็ดีในแง่ที่ว่าการเยียวยาและกลไกทางศาล ก็จะมีข้อดีไม่ดีต่างกันนิดหน่อย นอกจากนี้เมื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบพิสูจน์แล้วพบว่า ร้านนี้ขายสินค้าที่ติดเครื่องหมายมาตรฐาน แต่ปรากฏว่าติดเครื่องหมายปลอม ก็จะมีกฎหมายในการเล่นงานร้านค้าว่า คุณจำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้รับการรับรอง ก็จะมีช่องทางกฎหมายของเขาอยู่ นี่คือสิทธิผู้บริโภคอย่างหนึ่งที่ผู้บริโภคควรทำ อย่ามองว่าไม่เป็นไรเป็นความโชคร้ายและเราก็เพิกเฉย มันก็จะเกิดผู้เสียหายรายใหม่เพิ่มมากขึ้นและทำให้ผู้ประกอบการที่ไม่มีจริยธรรมก็ยังมีความสุขในการขายของคุณภาพต่ำ เป็นการเอาเปรียบคนอื่นต่อไป ซึ่งผมมองว่าไม่ควรจะไปสนับสนุนเขาแบบนั้น ถ้าเราช่วยกันสอดส่องดูแล เรียกว่าช่วยซึ่งกันและกัน เราก็จะมีแต่สินค้าที่มีคุณภาพในบ้านเรา และกำจัดพวกผู้ประกอบการที่ไม่มีจริยธรรมนั้นให้หมดจากวงการ เราจะได้อยู่ในประเทศที่มีทั้งฉลาดซื้อ ฉลาดเลือก ฉลาดใช้แล้วก็ยังได้รับการคุ้มครองด้วย นี่คือสิทธิของผู้บริโภคที่ควรจะได้รับฉลาดซื้อ ฉลาดใช้ในแบบดร.วีระพันธ์คือ ส่วนตัวผมไม่ขับรถ ความคิดที่ไม่ใช้รถส่วนตัวเพราะคิดว่าผมใช้ชีวิตอยู่ในเมือง ซึ่งมีทั้งรถรับจ้าง รถสาธารณะ ถ้าเราไม่มีภาระอะไรที่ต้องรับผิดชอบหนักๆ การเดินทางโดยรถสาธารณะมันทำให้ชีวิตในการเดินทางของเราดีที่สุด ถ้าการจราจรติดขัดเราก็มีรถไฟฟ้า มีรถใต้ดิน มีมอเตอร์ไซค์หรือแม้แต่เรือ ทุกครั้งเวลาเดินทางต้องถามว่าเราเดินทางไปไหน เวลาไหน ผมก็จะรู้ว่าจะต้องนั่งรถอะไร ขึ้นทางด่วนไหม ต้องต่อรถหรืออะไรก็ว่ากันไป มันก็ทำให้ผมรู้สึกว่าชีวิตมันมีความคล่องตัวดี เพราฉะนั้นผมจึงมองว่าถ้าใช้ชีวิตในเมืองเป็นส่วนใหญ่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้รถ มองให้กว้างขึ้นในประเด็นที่ผมนึกถึง คือ การที่เราไม่มีรถ 1 คันหรือคิดง่ายๆ ว่าทุกวันนี้ปริมาณถนนที่อยู่ในเมืองมันจำกัดแต่ปริมาณรถนั้นมันเพิ่มขึ้น จุดที่เราเรียกว่า จุดอิ่มตัว ก็เป็นปริมาณรถยนต์ต่อเวลานั้นๆ ใน 1 วันมันได้สูงสุดเท่าไร ยิ่งมันเกินตรงนั้นมากเท่าไร การติดขัดก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ถ้าเราไม่ไปเพิ่มจำนวนตรงนั้นอีก 1 คันนั้น ก็หมายถึงว่าเราก็ไม่ไปเพิ่มการติดขัด กรณีคนโสดที่อยู่คนเดียวส่วนใหญ่นั้น ถ้าลดปริมาณการใช้รถลง สังเกตช่วงวันหยุดยาวปริมาณรถบนถนนเบาบาง การเคลื่อนที่ก็คล่องตัวขึ้นในแง่ว่าเราลด 10 % เราจะใช้เวลาบนถนนน้อยลงเกือบ 2 ชั่วโมง คือ เราต้องปล่อยให้คนที่มีความจำเป็นเขาใช้รถไม่ว่ากัน แต่ถ้าเราไม่จำเป็นต้องเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว เพราะรถไฟฟ้าก็ถึงเราก็ช่วยกันลด และมันทำให้เวลาขับเข้าไปในเมืองพื้นที่จอดไม่มี ก็ไปจอดกันบนถนนยิ่งทำให้เป็นการเพิ่มอุปสรรคในการระบายรถอีก คือถ้าพวกเราช่วยกัน ให้คนในเมืองมองเรื่องนี้แล้วช่วยกันคนละไม้คนละมือมันก็จะแก้ปัญหาเรื่องการจราจรได้เยอะทีเดียว นี่เป็นประโยชน์ที่เรามองเห็น กลับมามองประโยชน์อีกด้านหนึ่ง ประโยชน์ในเรื่องของค่าใช้จ่ายเราเอง โดยส่วนตัวผมเองผมมองว่า ถ้าเราซื้อรถยนต์ 1 คันเราต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรอีกจิปาถะ ไม่ว่าจะค่าผ่อนรถ ค่าประกัน ค่าเชื้อเพลิงหรือไม่ว่าค่าบำรุงรักษา ถ้าเราไม่ซื้อค่าใช้จ่ายต่างๆ เหล่านี้ไม่เกิดขึ้น ผมยกตัวอย่างวิธีคิด ซึ่งอาจจะประหลาดๆ นิดหน่อย คือ บ้านผมนั้นอยู่นางเลิ้งผมต้องมาทำงานที่จุฬาฯ ค่ารถที่ผมใช้ทุกวันนี้คือ 80 บาท คิดเป็น 100 ก็ได้ตัวเลขกลมๆ คิดง่าย 100 บาท ไป – กลับวันหนึ่งเท่ากับ 200 บาท  เดือนหนึ่งผมทำงาน 30 วันเลยไม่ต้องหยุดก็ตกเดือนละ 6,000 บาท ผมถามว่า เดือนละ 6,000 บาทผมจ้างคนขับรถได้ไหม มีรถให้ มีคนเติมน้ำมันให้ฟรี มีคนทำประกันให้อีก มีคนจ่ายค่าซ่อมต่างหาก ยังไม่ได้เลย แต่เรามองกลับกันเงินให้คนขับรถเอาที่เท่าไรดีเขาถึงจะโอเค สมมติเขาขอ 18,000 บาท ถ้าเราคิดวันทำงาน 30 วันเท่ากับตกวันละ 600 บาทหรือ 300 บาทต่อเที่ยว เพราะฉะนั้นถ้าใครที่เดินทางโดยแท็กซี่ต่ำกว่า 300 บาทต่อเที่ยว ก็คือผู้ที่เข้าข่ายว่าไม่ควรขับรถ คือนั่งแท็กซี่น่าจะดีกว่า เรื่องปลอดภัยนั้นอีกเรื่องเพราะผู้หญิงบางคนก็ไม่ควรนั่งรถเพราะมันดูจะอันตรายเกินไป เรียกว่ารูปร่างทำร้ายตัวเองอันนี้ก็เข้าข่ายเป็นเรื่องจำเป็นไป ผมมองว่า คนไทยมีนิสัยความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า การมีทรัพย์สินบนตัวหรือโชว์ด้วยยานพาหนะดูเป็นคนมีฐานะ ถ้าเราบอกว่า เรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องประเด็นหลักของชีวิตก็ไม่จำเป็นต้องมี นี่เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมคิดว่าผมใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเลยไม่จำเป็นต้องมีรถ การไม่มีรถส่งผลดีอีกเรื่องหนึ่งด้วนะ  คือว่าเราไม่ต้องมีรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เมื่อไม่มีรถก็ไม่ต้องออกไปไหน ไม่ต้องไปกินข้าวนอกบ้านเพราะไม่รู้จะไปจะกลับอย่างไร อะไรที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องไปจ่ายมัน เศรษฐกิจในตอนนี้ถ้าเราออมอะไรได้มากขึ้นอนาคตก็จะสบายมากขึ้นจะทำอย่างไรให้คนก้าวข้ามความคิดในกรอบเดิมๆ ผมเคยเรียนที่เยอรมัน เพื่อนฝรั่งเยอรมันก็เคยมาที่เมืองไทย เขาบอกว่า คนไทยแปลกเรื่องเสียหน้าเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องเสียตังเรื่องเล็ก ผมฟังแล้วก็เห็นด้วยเพราะมองว่า คนไทยนั้นแม้แต่คนเรียนจบใหม่ๆ เงินเดือนยังไม่เท่าไรก็จะผ่อนบ้านแล้ว หลายคนเลยเลือกผ่อนรถก่อน ผมถามว่าจำเป็นต้องใช้รถขนาดนั้นไหม ซึ่งหลายคนอาจจะจำเป็น เช่น คนที่เป็นเซลล์แต่หลายคนเป็นพนักงานบริษัทที่มีบริษัทตั้งอยู่แนวรถไฟฟ้า อยู่ติดถนนใหญ่ คือกลุ่มคนพวกนี้ถ้าเป็นไปได้ก็อยากชวนว่า คนที่ใช้รถอยู่ทุกวันนี้ถ้าลดได้สัก 10 % ผมว่าการจราจรกรุงเทพฯ ก็จะเบาบางได้อีก คือมันเป็นลักษณะของพฤติกรรมหนึ่งที่ถ้าเราช่วยกันคนละไม้คนละมือ และเราต้องคิดในแง่หนึ่งที่ผมนึกถึงพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 8 ที่ตรัสว่าให้คิดประโยชน์ของคนอื่นเป็นที่ 1 และคิดถึงประโยชน์ตัวเองเป็นที่ 2 ถ้าเราช่วยกันคนละไม้คนละมือในสิ่งเหล่านี้ มีบางคนบอกผมว่า ก็เขามีรถมันก็เลยต้องใช้ ผมจึงบอกไปว่าขายไปเสียจะได้ไม่มี หรือเก็บไว้ใช้ออกนอกเมืองหรือใช้ไปทำงานในที่ที่ไม่ใช่การเดินทางปกติที่ไป - กลับลำบาก เดี๋ยวนี้คนที่อยู่ในหมู่บ้านก็มีเรียกรถ โดยสั่งผ่านแอปพลิเคชั่น ถ้าไม่ได้ลำบากมากมายก็เป็นทางเลือกที่น่าทดลองดูก็ได้ ถ้าการจ้างคนขับคนหนึ่งเงินเดือนสัก 18,000 บาทกับการที่เราจ้างคนขับแท็กซี่แทน ก็เป็นประเด็นที่ผมมองว่านี่คือสิทธิผู้บริโภค ทุกคนมีสิทธิที่จะมีทรัพย์สิน มีรถยนต์แต่ที่ผมมองคือ ตอนนี้ปัญหามันมากมายกับเรื่องรถยนต์ การแก้ปัญหาจราจรไม่ใช่หมายความว่าเป็นหน้าที่ของภาครัฐฝ่ายเดียว วิธีแก้ปัญหาจราจรไม่ใช่การเพิ่มถนน ไม่ใช่เพิ่มทางด่วนแต่วิธีแก้จราจรที่ยั่งยืนที่สุดเลยคือลดจำนวนคนขับรถ ถ้าจำนวนผู้ขับไม่ลด คน 1 คนจะซื้อรถ 10 คันก็ได้แต่ถ้า 1 คนรถ 10 คันไม่ได้ขับแม้แต่คันเดียวมันก็คือ 1 คันหายไป คือการจะทำนโยบายวันคู่วันคี่ ป้ายทะเบียนคู่คี่คือคนมีเงินเขาซื้อได้หมด แต่คนที่ไม่มีต่างหากที่เขาจำเป็นต้องใช้ คนอาจจะไม่มีฐานะมากมายแต่อาจจะเป็นเพราะลูกยังเล็กต้องส่งหลายที่เขาก็คงจะลำบากถ้าไม่มีรถ เราอยากให้คนกลุ่มนี้ต่างหากที่ควรจะขับรถแล้วไม่ต้องไปใส่มาตรการอะไรเลยที่ทำให้คนกลุ่มนี้มีรายจ่ายเพิ่ม เพียงแต่เราเปลี่ยนคนกลุ่มหนึ่งที่คิดว่าจริงๆ แล้วไม่ได้จำเป็นมากมาย ไม่เห็นต้องมีคำว่าเสียหน้าเลย คนที่เสียหน้าแต่กระเป๋าตังหนาผมว่ามันยังดูดีกว่าคนที่มีหน้าแต่กระเป๋าตังบาง คือถ้ามุกคนเปลี่ยนความคิดตรงนี้ได้ ผมเชื่อว่าน่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรที่ยั่งยืนบริการรถสาธารณะที่ดีต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกคน ส่วนตัวผมขอเปรียบไปที่ประเทศเยอรมัน ที่ผมเคยอยู่นั้น อย่างบ้านเราก็จะมีรถที่ให้บริการรถ BRT ให้บริการเส้นสาทร – นางลิ้นจี่ ซึ่งมีช่องรถของเขาเอง เพราะฉะนั้นเขาวิ่งของเขาได้ ที่เมืองนอกก็จัดบริการอย่างนั้น เมื่อก่อนเรามีรถเมล์เดินทางเดียว ซึ่งปัจจุบันเราก็พยายามจะลดตรงนั้นลงเพื่อให้รถมีพื้นที่สัญจรมากขึ้น ก็เลยทำให้คนที่นั่งรถสาธารณะต้องติดเหมือนคนที่นั่งปกติ เพราะฉะนั้นนโยบายภาครัฐผมค่อนข้างจะเห็นด้วยกับการทำให้มีช่องทางรถโดยสารสาธารณะเองให้คนที่โดยสารสาธารณะเดินทางได้เร็วขึ้นมันจะเท่ากับช่วยดึงดูดให้คนที่ใช้รถประเภทไม่มีความจำเป็นมานั่งรถโดยสารสาธารณะมากขึ้นก็จะเป็นประโยชน์มากผมคิดเรื่องการสร้างจิตสำนึกว่าการช่วยกันคนละไม้คนละมือ เหมือนเวลาเรามีภัยพิบัติก็ยังช่วยกันได้ กรณีอย่างนี้เหมือนกันถ้าเราคิดว่าเราไม่ใช่คนมีฐานะมากมายต้องการลดค่าใช้จ่าย ผมว่าเปลี่ยนพฤติกรรมการขับรถมาเป็นนั่งรถสาธารณะ อย่างน้อยทำให้เราไม่ต้องซื้อของเยอะเพราะซื้อเยอะก็ขนไม่ไหว คิดง่ายๆ ขับรถก็ต้องเหนื่อยต้องรถติดอยู่บนถนน รถสาธารณะเราคำนวณเวลาได้ว่าเราต้องออกจากบ้านกี่โมง ถึงกี่โมงในขณะที่รถยนต์ข้างล่างคาดการณ์อะไรไม่ได้เลยแล้วทำไมเราต้องไปเสียเวลากับถนนข้างล่างเพียงแค่ซื้อความสะดวกสบายเรา ผมเคยมีกรณีศึกษาเรื่องหนึ่งเป็นประสบการณ์ของตัวเองเลย คือจะต้องเดินทางโดยเครื่องบินตอน 7 โมงเช้าผมตื่นตอน 6 โมงเช้าผมไปขึ้นเครื่องบินทันด้วยรถแท็กซี่ ผมบอกเขาว่าผมรีบที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผมยังมานึกอยู่ว่าถ้าผมขับรถเองไม่มีทางเลยเพราะผมต้องหาที่จอด นี่คือตัวอย่างแล้วระหว่างอยู่บนรถเรายังสามารถทำนั่นทำนี่ได้เพราะเรามีคนขับรถ ถ้าขับเองแค่ก้มมาชำเลืองมือถือมันไม่ใช่แค่เราแล้วมันมีเพื่อนร่วมท้องถนนอีก ยิ่งทำให้ช้าเข้าไปใหญ่ คือแค่เราบริหารชีวิตเรามันไม่เพียงลดอุบัติเหตุแต่เรายังมีเวลาทำงานได้อีกก็เลยเปลี่ยนจากเป็นคนขับมาเป็นคนนั่งดีกว่า แถมยังประหยัดเงินรักษาพยาบาลเขาอีกลูกหลานไปโรงเรียนก็ต้องให้เงินเขาอีก ในเมื่อเขาเป็นคนขับแท็กซี่เราลงจากรถเราจ่ายเงินเขาเสร็จหน้าที่ความรับผิดชอบของเราที่มีต่อคนขับรถก็หมดสิ้น เดี๋ยวนี้มีรถอูเบอร์แต่เราไม่ได้ส่งเสริมให้คนที่ต้องการจะโชว์ความมีหน้าตาว่าเราเป็นคุณนายจะมานั่งแท็กซี่ได้อย่างไร เขาให้เราถามได้เลยว่าเราจะได้รถอะไร มันจะสมหน้าตาเราไหม ถึงได้บอกว่าวิธีที่คิดคือว่าเรามองจากตัวเองเราจำเป็นแค่ไหนกับการที่ต้องมี ถ้าไม่มีแล้วเราเดือดร้อนมากแค่ไหน ถ้าเดือดร้อนก็มีไปเถอะไม่เป็นไรถือว่ามันจำเป็น แต่สำหรับคนที่ไม่จำเป็นต้องมีรถแล้วได้ทราบข้อมูลนี้แล้วอยากเปลี่ยนพฤติกรรมลดการใช้รถ 1 คันอาจจะทำให้บนถนนนี้น่าใช้ขึ้นก็ได้ คิดแค่นี้พอ ไม่ต้องไปคิดถึงขนาดว่าฉันลดแต่คนอื่นไม่ลด รถก็ติดเหมือนเดิม แค่เปลี่ยนจากตัวคุณไปใช้รถไฟฟ้า รถใต้ดินแทนมันก็ไปถึงที่หมายได้เร็วกว่าเดิมแล้ว ให้เปลี่ยนที่ตัวเราไม่ต้องไปนึกถึงคนอื่น ไม่ต้องมองว่ารัฐต้องทำนั่น ทำนี่เพราะมันจะเป็นเงื่อนไขให้เราไม่ทำ แต่ถ้าเราทำสิ่งที่ควรทำก่อนแล้วเงื่อนไขมันตามมามันก็จะช่วยเสริมให้ดีขึ้น แล้วทีนี้ในส่วนภาครัฐที่ผมมองว่านโยบายค่าน้ำมัน อย่างประเทศบางประเทศอย่างเช่นสิงคโปร์เองมีนโยบายในเรื่องของการขับรถผ่านในย่านที่เป็น Business เมื่อก่อนเราก็เคยติดถนนสีลมใครผ่านย่านนี้ต้องมีใบอนุญาต ผมมองว่าเป็นนโยบายการแก้ไขมากกว่า ผมคิดอีกอันหนึ่ง คือถ้าเป็นนโยบายในเชิงสมัครใจไม่เวิร์ค อาจจะต้องลองนโยบายการบังคับมาใช้ เช่น การเพิ่มราคาน้ำมันเป็นภาษีเรียกว่าภาษีสิ่งแวดล้อม อย่างเยอรมันใช้ภาษีสิ่งแวดล้อมเหมือนกับคนขับรถคุณเติมน้ำมันไป 1 ลิตรนั้นคุณต้องเสียภาษีสิ่งแวดล้อม 5 บาทอันนี้สมมตินะ แล้วภาษีสิ่งแวดล้อมนี้ไปชดเชยให้กับคนที่นั่งรถสาธารณะ ทุกวันนี้เรามีรถเมล์ฟรีสำหรับประชาชนแต่ทุกวันนี้คนอาจไม่อยากนั่งเพราะมันร้อนเราอาจจะเอาค่าน้ำมันตรงนี้เพื่อไปชดเชยให้คนนั่งรถแอร์ฟรี คือคนที่ยอมเสียสละตัวเองไปนั่งรถสาธารณะจะได้นั่งรถฟรีด้วย ก็เป็นนโยบายที่ทำให้ความคิดเปลี่ยนฉลาดในการใช้พลังงานในฐานะอาจารย์ด้านไฟฟ้า เคยมีอาจารย์ท่านหนึ่งปรึกษาผมว่า ค่าไฟที่บ้านแพงมาก ที่บ้านอยู่กัน พ่อแม่ลูก ทั้ง 3 คนนี้ออกจากบ้านตอนเช้ากลับมาบ้านก็นอน ค่าไฟเดือนละประมาณ 6,000 บาท ผมเลยบอกไปว่ามันไม่ปกติคน 3 คนใช้เวลาอยู่บ้านเฉพาะกลางคืนค่าไฟไม่น่าจะเกิน 1,200 บาท พอแพงแบบนี้มันเกิดจากอะไร ผมจึงบอกว่า มันน่าจะเป็นไฟรั่ว ประเด็นไฟรั่วไม่ต้องไปหาใครมาซ่อมมาแก้ไข ตัวเองต่างหากต้องแก้ไข วิธีการที่ผมแนะนำก็คือ หาช่างไฟมาเปลี่ยนคัทเอาท์แล้วก็ทำวงจรเดินสายไปที่ตู้เย็นที่เหลือก็ยกคัทเอาท์ลงทั้งบ้านเลย หรือถ้าใครบอกว่าบ้านใหญ่มันซับซ้อนมากกว่านั้น คือบ้านมีคนอยู่ ยกตัวอย่างอุปกรณ์ที่มีมอเตอร์มีอะไรบ้าง เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า ปั๊มน้ำ ตู้เย็นมีหลายตู้ก็รวมของสดไว้ตู้เดียวที่เหลือก็ดึงปลั๊กออก อุปกรณ์ไหนไม่ใช้ก็ดึงปลั๊กออก ถ้าดึงปลั๊กไม่สะดวกผมก็แนะนำซื้อเบรกเกอร์ 2 โพล ไฟรั่วก็เหมือนน้ำรั่วเราต้องเสียค่าน้ำ เพราะฉะนั้นวิธีเดียวคือยกคัทเอาท์ออกมันจะทำให้กระแสไฟไม่ไหล ไฟก็ไม่รั่วเราก็ไม่ต้องไปจ่ายค่าไฟที่ไม่จำเป็น หรือปั๊มน้ำเรากลับถึงบ้านเราก็เปิดปั๊มมันทำงาน ก่อนเรานอนเราก็ปิดเราก็มีน้ำไว้ใช้แล้ว ถ้าไฟจะรั่วตอนที่เราเสียบปลั๊กก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยเราทำแค่นี้ปรับพฤติกรรมเราเองอย่างน้อยค่าไฟก็ลดไปครึ่งหนึ่ง ไม่ต้องไปหาว่ารั่วที่ไหนเพราะมันจะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญแต่เราสามารถปรับพฤติกรรมเราได้ แนวทางฉลาดใช้ชีวิตที่อยากแนะนำสิ่งหนึ่งที่ผมนึกถึงคือ ฉลาดซื้อ ฉลาดใช้ ฉลาดเลือกแล้วก็สิ่งสำคัญ คือเราต้องรักษาสิทธิผู้บริโภค สิทธิของผู้บริโภคสิ่งหนึ่งที่เรานึกถึงเสมอเลยก็คือ คุณคาดหวังว่าจะได้อะไรจากสินค้า คุณอ่านแล้วคุณเชื่อแต่เมื่อใช้แล้วไม่เป็นไปตามที่คุณเชื่อต้องเรียกร้องสิทธิ ในฐานะที่อย่างน้อยเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ซื้อรายใหม่ต้องไปซื้อสินค้าแล้วทุกข์ทรมานเหมือนกับที่เราโดน คือตรงนี้อยากให้ผู้บริโภคนั้นรักษาสิทธิของตัวเอง แต่ไม่ควรจะเป็นลักษณะที่เรียกว่าไปใช้สิทธิมากกว่าที่เราควรมี ขอใช้คำว่าไปซื้อของปลอม ไปซื้อของที่เรารู้อยู่แล้วว่ามันปลอมแล้วมาเรียกร้องว่าทำไมของนั้นไม่ดีเหมือนของจริง อันนี้เราเรียกว่าเรียกร้องเกินสิทธิ หรืออีกอย่างที่ผู้บริโภคควรจะทราบเหมือนกัน คือว่าเมื่อเราซื้อสินค้ามาแล้วปรากฏว่าสินค้ามันทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและจิตใจ ต่อร่างกายหมายถึงเราบาดเจ็บจากการใช้สินค้า  ทางจิตใจก็คือเรารู้สึกไม่ปลอดภัยจากการใช้สินค้า ก็มี PL Law เรามีสิทธิเรามีขั้นตอนกระบวนการ ตรงนี้อยากให้ผู้บริโภครู้จักใช้กัน คือถ้าเป็นไปได้คือเราให้ข้อมูลกับผู้บริโภคว่าสิทธิที่ผู้บริโภคที่ควรจะได้รับการดูแลนั้นมีอะไรบ้าง เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรเราต้องไปร้องเรียนใครเพื่อให้เขามาดูแลให้ หรือตอนนี้ในส่วนตัวเองที่ช่วยงานที่ สคบ. อยู่นั้นกำลังเตรียมเรื่องของ Recall คือกฎหมายที่จะบอกว่าบริษัทที่จะต้องทำหารเรียกคืนสินค้า ซึ่ง Recall ในกลไกที่เรากำลังเตรียมการอยู่นั้นจะเกิดขึ้นกับสินค้าที่มีการประกาศว่าเป็นสินค้าไม่ปลอดภัย ซึ่งสินค้าไม่ปลอดภัยตอนนี้ที่เราประกาศออกมาแล้วนั้นก็มีอยู่จำนวนหนึ่ง ถ้าเราเป็นผู้ถือสินค้านั้นอยู่ เราซื้อมาแล้วเรามีใบเสร็จเราก็สามารถที่จะเอาสิ่งเหล่านี้ไปที่ร้านค้าเพื่อที่จะขอเงินคืนได้ อันนี้ก็เป็นเรืองของกฎหมาย Recall แต่ขอเน้นว่ากฎหมาย Recall นั้นเป็นกฎหมายที่จะต้องใช้กับสินค้าที่มีการขึ้นประกาศว่าเป็นสินค้าไม่ปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 "17 ปี คนฉลาดซื้อ"

17 คน 17 ปี นิตยสารฉลาดซื้อ 1.พัชรศรี เบญจมาศ นักข่าว / พิธีกร รายการผู้หญิงถึงผู้หญิง 1.มองสังคมปัจจุบัน ที่เป็นสังคมบริโภคนิยม อย่างไร แมร์ว่าคนเราบริโภคกันดุเดือดมากขึ้นนะ เพราะมันมีทั้งแรงโฆษณา กระแส ค่านิยม ซึ่งมันทำให้คนบริโภคกันอย่างดุเดือด อะไรที่ใครบอกว่าดี ก็อยากจะลอง ทั้งใช้ทั้งกิน จนบางครั้งก็ลืมถามตัวเองไปเลยว่า ‘มันจำเป็นกับตัวเราหรือเปล่า’ ‘แค่นี้พอหรือเหมาะสมกับตัวเราแล้วหรือยัง’ อีกอย่างที่แมร์คิดว่าสำคัญก็คือคนเราขาดข้อมูลในการเลือกซื้อ เลือกใช้ หรือขาดข้อมูลที่จะสนับสนุนว่าอะไรดี อะไรที่เหมาะกับชีวิตของเรา ที่เป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้   2.คิดว่า นิตยสารฉลาดซื้อ มีความหมายกับสังคมบริโภคนิยม มาก น้อยแค่ไหน แน่นอนค่ะ มันตามชื่อเลย “ฉลาดซื้อ” ทำให้คนฉลาดมากขึ้น การซื้อของไม่ใช่แค่มีเงินอย่างเดียวนะ เอ้อ..มันก็ต้องมีอะไรที่มันประกอบกันเข้าไปด้วยใช่ม้ะ…มันก็ต้องคิดบ้างล่ะว่าของสิ่งนี้มันเหมาะกับเราไหม รายได้เราเท่านี้ แบบไหนถึงจะเหมาะกับเรา มันก็น่าจะมีหน่วยงานอะไรที่มาบอกกับเรา คอยเป็นหูเป็นตาแทนเรา เป็นปากเป็นเสียงแทนเรา ว่าอะไรที่ไม่ยุติธรรมกับเรา หรือบอกเราว่า “อะไรที่คุ้มค่ากับเรา” ก็น่าจะมีหน่วยงานตรงนั้น 3.ถ้าคุณเป็น บก.ฉลาดซื้อ คุณคิดว่าจะปรับปรุงหรือเพิ่มเติมอะไรให้กับฉลาดซื้อ อืมม..ได้รับเกียรติอย่างยิ่งค่ะ อ้อ..แน่ล่ะรูปลักษณ์มันต้องดูดี แพคเก็จต้องดูดี คนถึงจะหยิบจับไปใช้ ไปหาความรู้ การจัดวางหน้า ปกต้องดูดี รูปแบบตัวหนังสือ ภาพประกอบต้องดูดี หรือแม้แต่เนื้อหาในหนังสือก็ต้องปรับให้ทันยุคทันสมัย เข้าใจง่าย ใช้ภาษาที่เป็นเพื่อนกับคนอ่าน เข้าถึงง่าย พอเขาอ่านได้ง่าย และเกี่ยวกับเขา การที่จะถูกเลือกให้เป็นหนังสือประจำบ้านก็จะง่ายมากขึ้น อย่างคอลัมน์สัมภาษณ์ทำให้ดีไปเลยนำเสนอวิถีและแนวคิดของคนที่ไปสัมภาษณ์ให้คนอ่านได้เห็น อาจจะเป็นกลุ่มคนที่น่าสนใจ เพราะใครๆ ก็จะสนใจว่าคนเหล่านั้นเขาคิด กิน เลือกใช้อะไรกันอย่างไรนะ.   2.สรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรข่าวโทรทัศน์ 1.มองสังคมปัจจุบัน ที่เป็นสังคมบริโภคนิยม อย่างไร คำว่าบริโภคนิยมมันก็ชัดเจนอยู่แล้ว เพราะอยู่ในรูปแบบของสื่ออย่างเต็มรูปแบบ สมัยนี้ถ้าอะไรที่มันติดหรือเกิดกระแสก็จะเกิดในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ผมว่าปัจจุบันคนเรามีความรู้ดีขึ้นนะ คนเราต้องมีการกรองในตัวของมันพอสมควร เพราะเดี๋ยวนี้สินค้าไม่ใช่แค่ขายคุณภาพของสินค้าหรือบริการเพียงอย่างเดียว แต่ขายด้วยความหลากหลาย บางทีก็ขายรสนิยม ขายเทรนด์หรือบางตัวก็แบ่งผู้บริโภคออกเป็นกลุ่มๆ ซึ่งตรงนี้เราก็ไม่ว่ากัน มันขึ้นอยู่ที่ความคุ้มค่า นี่ผมพยายามมองอย่างเป็นกลางนะ อย่างสินค้าบางตัวซื้อด้วยอารมณ์ ซื้อเพราะอยากได้มากกว่าซื้อเพราะประโยชน์ เราก็ขอแต่เพียงว่าอย่าให้มันเป็นโทษก็พอ 2.คิดว่า นิตยสารฉลาดซื้อ มีความหมายกับสังคมบริโภคนิยม มากน้อยแค่ไหน นี่เป็นตัวสำคัญเพราะสามารถหาคำตอบได้เลยทั้งในแง่วิทยาศาสตร์ แต่เป็นปัญหาตรงที่จะทำอย่างไรให้เกิดการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มคนโดยทั่วไป ฉลาดซื้อมีการเปรียบเทียบสินค้าที่ไม่ใช่การแนะนำให้ซื้อในด้านอารมณ์ความรู้สึก น่าเสียดายตรงที่อยู่ในวงแคบไปหน่อย ที่จะได้ให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มค่าในการเลือกซื้อสินค้า อย่างผงซักฟอก เราจะเห็นการโฆษณาผงซักฟอกที่มีการทดลองซักผ้าขาว ยี่ห้อนี้ซักคราบกาแฟ ซักคราบซอสออก แข่งกันโฆษณา แบบนี้เราน่าจะแยกออกมาให้ผู้บริโภคเห็นกันชัดๆ ไปเลยว่ายี่ห้อไหนดี ยี่ห้อไหนเด่นเรื่องอะไร หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดไฟตอนนี้ไปใครๆ ก็บอกแต่ให้ซื้อแต่เบอร์ 5 ซึ่ง ผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็อยากจะรู้ว่ามันมี 5.1 5.2 อีกหรือเปล่า หรือเตารีดใช้งานแบบเดียวกันยี่ห้อนี้ดีอย่างไร ดีกว่าแบบอื่นตรงไหน ให้เปรียบเทียบสินค้ากันให้เห็นไปเลย น่าเสียดายที่ไม่ค่อยเป็นที่น่ารู้จัก เข้าใจนะว่าการทดสอบแต่ละครั้งต้องใช้เงินเยอะ 3.ถ้าคุณเป็น บก.ฉลาดซื้อ คุณคิดว่าจะปรับปรุงหรือเพิ่มเติมอะไรให้กับฉลาดซื้อ ผมว่าก็ดีอยู่แล้วนะ ถ้าเป็นผม ผมก็จะทำแบบนี้ล่ะ เพียงแต่ว่าผมจะมองเพิ่มในเรื่องของสื่อ อาจจะทำให้ประเด็นหวือหวาขึ้น เช่นเอาตัวคนที่มีชื่อเสียงเข้ามาใส่ เช่นการทดลองอะไรบางอย่างก็นำเอาคนที่มีชื่อเสียงเข้ามา หรือประเด็นวิชาการ ลองเขียนให้อ่านง่ายขึ้นหน่อยน่าจะดี คือพอเรานำเสนอข้อมูลให้น่าสนใจ ไม่ว่าข้อมูลจะยากหรือซับซ้อนแค่ไหน มันก็จะง่ายขึ้น คนอ่านก็จะติดตามเราเอง 3. รองศาสตราจารย์ ดร. ปาริชาต สถาปิตานนท์   ภาควิชาการประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย1.มองสังคมปัจจุบัน ที่เป็นสังคมบริโภคนิยม อย่างไร นับวันสังคมไทยเป็นสังคมที่บริโภคกันสูงขึ้นเรื่อยๆ ถือว่าเป็นสังคมบริโภคนิยมมากๆ คนจะอยากได้ อยากมี อยากเป็น และอยากเปลี่ยน และไม่ได้คิดถึงคุณค่าของอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกันกับตัวผู้ประกอบการที่ผลิตเพื่ออายุสั้น ไม่ได้ผลิตเพื่อให้ของนั้นสามารถใช้ได้อายุยาวชั่วลูกชั่วหลาน ซึ่งเป็นภาพที่เกิดขึ้นในสังคมไทยและสังคมโลก 2.คิดว่า นิตยสารฉลาดซื้อ มีความหมายกับสังคมบริโภคนิยม มาก น้อยแค่ไหน การเกิดขึ้นของผลิตภัณฑ์ที่รวดเร็วและหลากหลาย ทำให้เกิดการซื้อเยอะขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือการสร้างกระแสให้เกิดลัทธิการบริโภค ลัทธิการเอาอย่าง ซึ่งตรงนี้เป็นตัวอันตราย และฉลาดซื้อเป็นสื่อหนึ่งที่ช่วยได้ เป็นตัวที่ช่วยเทียบให้เห็นถึงความหลากหลายให้คนได้ชะลอตัวเองมากขึ้น ให้ได้คิดมากขึ้น คิดเรื่องคุณสมบัติต่างๆ ของสินค้าที่จะซื้อ ไม่ใช่ซื้อเพราะชอบยี่ห้อนี้ไม่ได้ดูเหตุผลประกอบ อีกอย่างก็คือฉลาดซื้อมีคอลัมน์ที่หลากหลายทำให้เรามีมุมมองที่หลากหลาย มาแบ่งปันประสบการณ์ทำให้เรารู้เท่าทันว่ามันเกิดอะไรขึ้นในสังคมบริโภคบ้าง 3.ถ้าคุณเป็น บก.ฉลาดซื้อ คุณคิดว่าจะปรับปรุงหรือเพิ่มเติมอะไรให้กับฉลาดซื้อ อยากเห็นซีรี่ส์ที่หลากหลายในฉลาดซื้อ ซึ่งตอนนี้ฉลาดซื้อสื่อออกมาในแนววิชาการที่น่าอ่านและน่าเก็บ แต่อยากเห็นฉลาดซื้อในเวอร์ชั่นสำหรับเยาวชน อยากเห็นจริงๆ ค่ะ อยากเห็นการเชิญชวนให้เยาวชนรุ่นใหม่กล้าคิด กล้าวิเคราะห์ คิดนานๆ เพราะเราไม่สามารถปฏิเสธสังคมบริโภคนิยม ปฏิเสธลัทธิการเอาอย่างได้ เพียงแต่เราจะทำอย่างไรให้เราและเยาวชนเท่าทันได้อย่างไร และนั่นล่ะคือสิ่งที่อยากเห็น อีกอย่างที่อยากเห็นคือการใช้พื้นที่ในส่วนของสังคมออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ เพราะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจและจะเป็นการส่งต่อที่รวดเร็วด้วย 4.ภัทรีดา ประสานทอง นักวาดภาพประกอบหนังสือ 1.มองสังคมปัจจุบัน ที่เป็นสังคมบริโภคนิยม อย่างไร ถามหน่อยว่าใครที่กลับบ้านโดยไม่ซื้ออะไรบ้าง เหมือนความสุขที่หาได้ตอนนี้คือการได้ซื้อแล้วค่ะ บางครั้งซื้อไปแล้วก็ไม่ได้ใช้ แต่มีความสุขที่ได้ซื้อ หรือตอนนี้อาจจะกลายเป็นการติดการซื้อไปแล้ว 2.คิดว่า นิตยสารฉลาดซื้อ มีความหมายกับสังคมบริโภคนิยม มาก น้อยแค่ไหน ตอนได้เห็นหนังสือฉลาดซื้อที่แผง เปิดอ่านดู ต้องบอกก่อนนะคะว่า คำว่า“ฉลาดซื้อ” เหมือนทุกคนต้องป้องกันตัวเองในการซื้อน่ะ เรามีความสุขแค่การซื้อ จ่ายตังค์แล้วก็แค่ได้ของมาบางทีก็ลืมไปเลยว่าเราซื้อของนั้นมา เพราะฉะนั้นมันต้องมีเส้นแบ่งว่า ซื้อจ่ายตังค์แล้วมีความสุข ตอนนี้ความสุขไม่ได้จบลงแค่ของแล้วค่ะ แต่กลายเป็นมีความสุขที่ได้ซื้อ แล้วก็ซื้อไปเรื่อยๆ แต่ใน “ฉลาดซื้อ” ไม่มีโฆษณาเพื่อจูงใจให้ซื้อ อ่านแล้วต้องขอบคุณคนทำเลยค่ะ มีทั้งการเปรียบเทียบของแต่ละอย่าง คือทำให้เราอ่านเลยค่ะ มันต้องอ่านน่ะ 3.ถ้าคุณเป็น บก.ฉลาดซื้อ คุณคิดว่าจะปรับปรุงหรือเพิ่มเติมอะไรให้กับฉลาดซื้อ อยากให้หนังสือมีภาพประกอบที่โมเดิร์น เช่นนำภาพคนที่วาดการ์ตูนในหนังสือ 100 สิ่งที่ไม่ต้องทำฯ มาประกอบ หรือทำสีข้างในให้ดูสดใส ปรับฟ้อนท์อีกนิดหน่อย เนื้อหาข้างในดีอยู่แล้วค่ะ อยากให้ทุกบ้านมีฉลาดซื้อติดบ้านไว้ค่ะ เป็นนิตยสารที่ทุกคนต้องอ่านค่ะ 5.นที เอกวิจิตร์ - หนึ่งในสมาชิก วงบุดดาเบลส1.มองสังคมปัจจุบัน ที่เป็นสังคมบริโภคนิยม อย่างไร ตามหลักพุทธศาสนาเลย ต้องใช้สติอย่างมาก เพราะปัจจุบันเราเห็นอะไรปุ๊บก็ซื้อเลย ยิ่งมีบัตรเงินสดสารพัดบัตร กด รูดกันปุ๊บปั๊บ เห็นโฆษณาเดี๋ยวนี้ก็สมเพชนะครับ ทำให้คนอยากได้ของ มีทั้งเอารถไปดาวน์ เปลี่ยนเป็นเงินสด คือของฟุ่มเฟือยน่ะ มันไม่มีมันก็ไม่ตายหรอกนะ ตรงข้ามกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง มันสวนกระแส ผมว่ามันเป็นทาง ฉิบหายเลยล่ะ เป็นทางสนับสนุนกิเลสโดยไม่เกิดผลเลยชัดๆ ไม่ได้เกิดประโยชน์กับคนหมู่มากเลย ถึงแม้จะทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจมันดีขึ้น คือตัวเลขมันวัดได้ก็จริง แล้วไม่ใช่ตัวเลขหรอกเหรอที่ทำให้เกิดฟองสบู่แตกมาไม่รู้กี่ครั้ง ในต่างประเทศก็เป็น อเมริกาก็เป็น IMF เป็นคนบอกให้เราด้วยซ้ำว่าต้องทำอย่างไร แต่ตัวมันเองยังจะเอาตัวไม่รอดผมว่าอย่างที่ในหลวงท่านพูด มันถูกทุกอย่าง เอาดัชนีความสุขมาวัดดีกว่า อย่ามาใช้ตัวเลขวัดกันเลย ตัวเลขมันก็เป็นแค่ตัวเลขน่ะ รวยแล้วเป็นอย่างไรมีความสุขไหม เศรษฐกิจดีแล้วไง มีความสุขอย่างไร ความสุขก็คือความทุกข์ที่มันยังมาไม่ถึง ฟังแล้วมันอาจดูเวอร์นะ แต่ผมว่าปล่อยให้มันค่อยไปจะดีกว่าไม่เห็นจะต้องตัวเลข GDP สูงกระฉูดเลย แค่ให้อยู่กลางๆ ให้ทุกคนไม่มีใครสุขหนักและทุกข์หนัก แบบนั้นผมว่ามันยังดีนะ เพราะว่าผมว่าบริโภคนิยมเดี๋ยวนี้ทำให้คนที่มีความสุขก็สุขสุดๆ ไปเลย อะไรอยากได้ก็ซื้อ ไม่มีปัญญาซื้อก็ดาวน์ก่อนผ่อนทีหลัง พอใช้หนี้ไม่ไหวก็ทุกข์หนักมีปัญหาตามมาค่อยว่ากัน คือมันสุขหนักกับทุกข์หนักไปเลย 2.คิดว่า นิตยสารฉลาดซื้อ มีความหมายกับสังคมบริโภคนิยม มาก น้อยแค่ไหน ผมว่าฉลาดซื้อนำเสนอเรื่องที่เราไม่เคยรู้ให้ได้รู้ คือถ้ามีคนมาทดลองให้เราดู ให้เรารู้ว่าสารนี้มีผลอะไรต่อร่างกาย ต้องกินเท่าไร กินอย่างไรไม่เป็นอันตราย ช่วยเราได้เยอะนะ อีกอย่างผมว่าฉลาดซื้อจะช่วยให้เราประหยัดได้นะ อย่างเรื่องเครื่องดื่มที่ทำให้สวย พอรู้แล้วว่าเอ้ย…ยย มันไม่มีอะไร แค่เรากินอาหารให้ครบ 5 หมู่ก็สวยและสุขภาพดีได้แล้ว ไม่ต้องไปเสียเงินซื้ออะไรแบบนี้แล้ว 3.ถ้าคุณเป็น บก.ฉลาดซื้อ คุณคิดว่าจะปรับปรุงหรือเพิ่มเติมอะไรให้กับฉลาดซื้อ ผมอยากให้ทำสรุปผลการทดสอบออกมาเลย ว่าอะไรที่อันตราย หรือบอกว่าควรจะกินอย่างไร เดือนหนึ่งควรจะกินกี่ห่อ อะไรกินแล้วดี เพราะดูในตารางแล้วมันงง ไหงจะต้องมาสรุปเอง มันจะงง สรุปให้มันง่ายคนก็จะเข้าใจง่ายขึ้น อีกอย่างเรื่องความเชี่ยวชาญอย่างเรื่องกล้อง ผมก็ไม่แน่ใจนะว่าจะเชี่ยวชาญมากกว่าที่อื่นหรือเปล่า น่าจะลงส่วนที่ทดสอบหรือห้องปฏิบัติการลงไปด้วย จะสร้างความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นครับ 6.ประกิต หลิมสกุล คอลัมนิสต์กิเลนประลองเชิง นสพ.ไทยรัฐ1.มองสังคมปัจจุบัน ที่เป็นสังคมบริโภคนิยม อย่างไร สินค้าหรือของมีการออกมามากมายพัฒนาไปเยอะ ในขณะที่คนไทยภาพรวมในความคิดผมนะยังมีความรับรู้และเข้าใจต่อสิ่งที่จะเข้ามาไม่พอ ยังเลือกที่จะบริโภคของเพื่อตัวเองได้ไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์เลย อย่างเรื่องราวของธุรกิจขายตรง ผมอยู่ในวงการหนังสือพิมพ์มานานก็จะเห็นเรื่องราวซ้ำซากอย่างแชร์ลูกโซ่ มันมีการเปลี่ยนรูปแบบไปเท่านั้นอย่างแจกรถยนต์ มันก็คล้ายๆแชร์แม่ชะม้อยนั่นล่ะ ปัจจุบันก็ยังมีอยู่ หรือแม้แต่เรื่องราวของการตกทอง เป็นการต้มตุ๋นอย่างเห็นได้ชัด ก็ยังมีอยู่ หรือแม้แต่การใบ้หวยปัจจุบันก็ยังมีอยู่ เรื่องที่นอนแม่เหล็กที่เน้นไปที่ความกตัญญูให้ลูกซื้อรักษาโรคให้พ่อแม่ ทั้งที่มันเป็นเรื่องราวการต้มกันชัดๆ ก็ยังมีอยู่ จะเห็นได้ว่าการเรียนรู้การบริโภคเราแย่มาก ยังไปไม่ทัน 2.คิดว่า นิตยสารฉลาดซื้อ มีความหมายกับสังคมบริโภคนิยม มาก น้อยแค่ไหน จากจำนวนสมาชิกฉลาดซื้อปัจจุบัน พอเทียบกับจำนวนคนในประเทศถือว่าน้อยมากนะ คิดเป็นจุดต่ำกว่าศูนย์กี่ตัว คนไทยควรจะอ่านนิตยสารฉลาดซื้อสักครึ่งหนึ่งของประเทศ แล้วสิ่งที่ฉลาดซื้อหวังไว้ถึงจะได้ ฉลาดซื้อก็ดีนะ ผมเห็นแล้วก็จะเปิดดู ผมว่าเก่งนะที่กล้าเปิดเผยรายชื่อผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างไทยรัฐก็เปิดคอลัมน์ “มันมากับอาหาร” หรือมีข่าวมีเรื่องร้องเรียนเข้ามา เราก็เลี่ยงที่จะไม่เปิดเผยชื่อผลิตภัณฑ์ อย่างจิ้งจกในนม หรือสื่อของหน่วยงานภาครัฐเองก็ได้แต่ออกมาเตือน ให้ระวังนะ แต่ก็ไม่ได้กล้าจะเปิดเผยชื่อ เพราะติดเรื่องกฎหมายอาจจะถูกฟ้องกลับได้ แต่ฉลาดซื้อทำได้ ฉลาดซื้อกล้าที่จะทำ กล้าที่จะบอกว่าอะไรดี อะไรไม่ดี ในขณะที่สื่อหลักอาจจะติดปัญหาเรื่องกฎหมาย หนังสือชื่อดีนะถ้าทำอะไรในทางการค้า จะขายได้และร่ำรวยเลย แต่ว่าทำโดยไม่แสวงประโยชน์ จึงไม่ร่ำรวย ถ้าฉลาดซื้อตกอยู่ในมือมารนะรวยแย่เลย 3.ถ้าคุณเป็น บก.ฉลาดซื้อ คุณคิดว่าจะปรับปรุงหรือเพิ่มเติมอะไรให้กับฉลาดซื้อ ฉลาดซื้อทำดีกว่าสื่ออื่นนะ ทำอย่างมีหลักมีเกณฑ์ มีทนายคอยช่วยเหลือ มีหน่วยงานทดสอบ เรื่องราวการนำเสนอเป็นเรื่องราวมีประโยชน์ เป็นเรื่องราวของปัญญาชน แต่ไม่ค่อยมีคนชอบอ่าน เพราะเป็นเรื่องของคนที่ต้องใช้ปัญญา เขาถึงจะอ่านกัน ต้องใช้เวลา และถ้านำข้อมูลแบบฉลาดซื้อมาลงในไทยรัฐ เราก็จะขายได้แค่ 10,000 เล่มเท่านั้นละ มีคนมาดูงานที่ นสพ.ไทยรัฐนะแล้วก็ถามว่าทำไมทำหนังสือแบบนี้ ทำเรื่องนุ่งน้อยห่มน้อย ทำข่าวฆ่ากันตาย เพราะบ้านเรายังมีคนหลายกลุ่ม คนที่เป็นปัญญาชนบ้านเรายังน้อย คนที่หาแต่สาระยังมีน้อย ถ้ากล้าที่จะทำเรื่องที่ท้าทาย ฉลาดซื้อก็จะขายได้เยอะ แต่ทุกอย่างต้องใช้เวลา 7. ดร.ไพบูรณ์ ช่วงทอง1.มองสังคมปัจจุบัน ที่เป็นสังคมบริโภคนิยม อย่างไรตามความคิดและประสบการณ์ส่วนตัวของผมนะครับ ผมว่าขายกันทั้งวันทั้งคืน ทั้งของข้างนอกและในทีวี เราจะเห็นว่ามีโฆษณาที่กระตุ้นให้อยากซื้ออยากได้อยู่ตลอดเวลา เรียกว่าขายกัน 24 ชั่วโมง ถ้าหากเราไปเปรียบเทียบกับต่างประเทศอย่างเยอรมันเขาจะมีวันว่างหนึ่งวันไว้ทำอะไร เล่นกีฬาออกกำลังกาย หรือมีเวลาให้กับครอบครัว แต่ของเรานี่ขายกันอย่างเดียวเลย มีตลาดนัดเกือบทุกที่ กระตุ้นกันอยู่ตลอดเวลา 2.คิดว่า นิตยสารฉลาดซื้อ มีความหมายกับสังคมบริโภคนิยม มาก น้อยแค่ไหน ผมมองว่าเป็นหนังสือที่เปิดมุมมองใหม่ให้กับผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมด้วย และที่สำคัญคือไม่มีโฆษณาทำให้ไม่ตกอยู่ในอิทธิพลของสินค้าหรือภาคเศรษฐกิจ ผมว่าสังคมเราน่าจะเห็นความสำคัญของฉลาดซื้อ จะสนับสนุนแบบไหนก็อีกค่อยว่ากันอีกที ภาครัฐเองก็น่าจะสนับสนุนบางส่วน อย่างเยอรมันก็จะมีนิตยสารตัวหนึ่งที่ทำคล้ายๆ กับฉลาดซื้อทุกอย่างแต่ว่าของเขาจะได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ ซึ่งเป็นการสนับสนุนที่ถูกเขียนไว้ในกฎหมายที่รัฐจะต้องสนับสนุน เหมือนตั้งเป็นมูลนิธิที่ทำหน้าที่ตรวจสอบสินค้าแล้วก็เผยแพร่ความรู้สู่ผู้บริโภค อย่างที่เยอรมันเขาจะทำการทดสอบสองเล่มคือ ทดสอบสินค้า กับทดสอบผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับทางด้านการเงิน คนที่นั่นจึงมีแหล่งข้อมูลและอาวุธในการเลือกซื้อเลือกใช้สินค้า ซื้อรถยนต์ หรือแม้แต่เรื่องทัวร์ต่างประเทศเขาก็ใช้ข้อมูลนี้ 3.ถ้าคุณเป็น บก.ฉลาดซื้อ คุณคิดว่าจะปรับปรุงหรือเพิ่มเติมอะไรให้กับฉลาดซื้อ ก็คงจะเพิ่มเติมในส่วนวิชาการมากกว่าครับที่ทำอยู่ดีอยู่แล้วครับ ทางภาควิชาการก็จะเป็นหน่วยงานที่สนับสนุน เพราะจริงๆ แล้วฉลาดซื้อเป็นองค์กรผู้บริโภคและต้องเล่นบทนำ นักวิชาการเล่นบทสนับสนุน งานคุ้มครองผู้บริโภคความจริงมีหลายด้านนะครับ จึงต้องมีหลายส่วนสนับสนุนและต้องมีภาคสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านความเป็นธรรม อีกส่วนที่ฉลาดซื้อน่าจะเพิ่มเข้าไปก็คือ News Letter ไม่ต้องรอบอกในหนังสือก็ได้ เพราะบางข่าวส่งถึงสมาชิกได้เลย อาจจะทางอีเมลล์ก็ได้ครับสะดวกดี หรือส่งทาง SMS ก็ได้ ด้านรูปเล่มผมว่าดูน่าอ่านมากขึ้นนะ แต่น่าจะนึกถึงผู้สูงอายุด้วยนะ เพราะบางทีตัวเล็กมากก็ลำบากเหมือนกันครับ 8.จุฑา สังขชาติ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้1.มองสังคมปัจจุบัน ที่เป็นสังคมบริโภคนิยม อย่างไร มองในฐานะของคนที่ทำงานองค์กรผู้บริโภคนะ เรียกสังคมว่าตอนนี้เป็นสังคมบริโภคนิยมแบบเต็มตัวไปแล้ว ปัญหาต่างๆ ที่เราเจอก็จะเกิดจากการบริโภคที่เกินตัว และเกินความจำเป็น ทั้งการโฆษณาชวนเชื่อ อย่างเรื่องการแจกซิมการ์ด คือทั้งที่มันก็ไม่จำเป็นอะไรเลย แล้วปัญหาก็ตามมา แล้วไม่ใช่แค่ใช้บริการหรือใช้สินค้าแล้วมันปัญหา แต่มันเกิดปัญหาสังคมโดยภาพรวมตามมาเพราะมันมีความอยากได้ที่มากเกินกำลังของตัวเอง ตอนนี้กับเด็กจะเกิดปัญหามาก อยากมีให้เหมือนเพื่อน ต้องดีกว่าเพื่อน เพราะเขาถูกกระตุ้นความอยากได้ แล้วเขาก็ต้องหาให้ได้มา หรือก็ไปซื้อมาใช้โดยขาดข้อมูลหรือวุฒิภาวะการซื้อไม่เพียงพอ หรือไม่ก็ไปขอเงินพ่อแม่มา แล้วก็ซื้อหามาได้ง่ายๆ อาจจะไปสำแดงฤทธิ์กับพ่อแม่ ที่นี้พ่อกับแม่ก็ไปกู้สถาบันการเงิน นำเงินในอนาคตออกมาใช้ คนแก่ก็มีปัญหานะเพราะขาดข้อมูลในการเลือกซื้อ ก็จะถูกหลอก เช่นมีคนเอาเก้าอี้รักษาโรคไปขาย ให้นั่ง 24 ครั้งแล้วหายจากอัมพาต ราคาเหยียบแสน ผู้ร้องยินดีที่จะขายที่ดินเพื่อจะซื้อเลยนะ เขาก็ยังจะซื้อเพราะเขาทุกข์ทรมานกับโรคมานาน หรือปัญหาโทรศัพท์มือถือจะมี SMS ไปรบกวน ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เขาไม่ต้องการเลย เราจะเห็นความพยายามเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการในวิถีทางต่างๆ นานา 2.คิดว่า นิตยสารฉลาดซื้อ มีความหมายกับสังคมบริโภคนิยม มาก น้อยแค่ไหน ฉลาดซื้อช่วยได้เยอะนะคะ ฉลาดซื้อเหมือน “คัมภีร์ผู้บริโภค” บางคนอ่านแล้วก็บอกว่านี่ล่ะที่เขาหามานาน เป็นคู่มือผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลประกอบการเลือกซื้อ เลือกใช้สินค้าต่างๆ หรือบางเรื่องก็จะเป็นข้อมูลเตือนให้เขาระวัง ทำให้พวกเขาได้เท่าทันการบริโภคปัจจุบัน ในขณะที่เราทำงานผู้บริโภคฉลาดซื้อก็เหมือน “ยาสามัญประจำบ้าน” ที่ต้องมีเพราะเราสามารถหยิบเอาไปพูดในรายการวิทยุชุมชน พูดในเวที หรือเป็นเครื่องมือในการจัดนิทรรศการกับหน่วยงาน กับชาวบ้าน ก็จะหยิบฉลาดซื้อไปจัดนิทรรศการด้วยเป็น “นิทรรศการฉลาดซื้อ” ให้คนที่มาดูได้เห็นว่า ยังมีนิตยสารผู้บริโภคที่ทำเรื่องผู้บริโภคทุกอย่างที่เป็นปัญหา ซึ่งเราจะเห็นว่าเรื่องเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ฉลาดซื้อก็นำมาเสนออีกเราจะเห็นว่าปัญหามันแรงขึ้นกว่าเดิม เหมือนประเด็นของฉลาดซื้อทันสมัยตลอดเวลา ไม่เคยล้าสมัย 3.ถ้าคุณเป็น บก.ฉลาดซื้อ คุณคิดว่าจะปรับปรุงหรือเพิ่มเติมอะไรให้กับฉลาดซื้อ รูปเล่มหน้าตาดูดีขึ้น มีการปรับปรุงให้ทันสมัยตลอด ก่อนที่จะปรับรูปเล่มเคยได้ยินคนบอกว่า “ฉลาดซื้อ อ่านได้ทั้งเดือน” คือมันไม่ล้าสมัย อ่านมันได้ตลอด แต่พอเป็นเล่มเล็กก็จะง่ายขึ้น เร็วขึ้น น่าสนใจมากขึ้น อยากให้เพิ่มข่าวหรือสถานการณ์จากเครือข่ายลงไปด้วย เพราะจะได้เห็นความเคลื่อนไหวของเครือข่ายและเรื่องผู้บริโภคในส่วนภาคอื่นๆ ด้วย 9.พระไพศาล วิสาโล1.มองสังคมปัจจุบันที่เป็นสังคมบริโภคอย่างไรสังคมไทยในปัจจุบันเป็นสังคมบริโภคที่เข้มข้นมาก คือไม่ได้เป็นแค่สังคมของผู้บริโภคหรือสังคมที่เต็มไปด้วยคนที่บริโภคในสิ่งที่ตนไม่ได้ผลิตเท่านั้น แต่ยังเป็นสังคมที่ถูกกระแสบริโภคนิยมครอบงำสูงมาก กล่าวคือผู้คนมีความเชื่ออย่างแพร่หลายว่าความสุขอยู่ที่การบริโภคหรือการมีวัตถุเยอะ ๆ ที่น่าสนใจคือเดี๋ยวนี้คนไม่ได้บริโภคเพราะหวังความสะดวกสบายหรือความเอร็ดอร่อยทางตา หู จมูก ลิ้น และกายเท่านั้น แต่ยังต้องการมีตัวตนใหม่จากการบริโภคด้วย เช่น บริโภคเพื่อเป็นคนรุ่นใหม่ เพื่อเป็นผู้หญิงเก่ง เพื่อเป็นคนทันโลก ฯลฯ ด้วยเหตุนี้สินค้าแบรนด์เนมจึงสำคัญมาก เพราะมันช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดีและทำให้รู้สึกว่ามีตัวตนใหม่ที่โก้เก๋นี้ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วกับสังคมบริโภคอย่างอเมริกาหรือญี่ปุ่น แต่สังคมไทยแตกต่างจาก 2 ประเทศตรงที่ว่า ขณะที่คนอเมริกันและญี่ปุ่นแม้จะใฝ่เสพใฝ่บริโภค แต่เขาก็ใฝ่ผลิต คือมีความขยันขันแข็งด้วย ส่วนคนไทยนั้นไม่ค่อยมีความใฝ่ผลิต อยากได้อะไร ก็คิดแต่ว่าทำอย่างไรถึงจะได้มาโดยไม่เหนื่อย ไม่ต้องออกแรง ก็เลยนิยมทางลัด เช่น เล่นพนัน เล่นหวย พึ่งพาไสยศาสตร์ หนักกว่านั้นคือขโมย โกง หรือคอร์รัปชั่น สรุปคือเป็นสังคมบริโภคที่ล้าหลังมาก 2. คิดว่านิตยสารฉลาดซื้อมีความหมายกับสังคมบริโภคนิยมมากน้อยแค่ไหน นิตยสารฉลาดซื้อมีประโยชน์ตรงที่ช่วยให้คนบริโภคอย่างฉลาด คือซื้อของอย่างรู้ค่าและเหมาะสมกับราคา ทำให้มีสติยั้งคิด ไม่หลงไปตามกระแสโฆษณา และหันมาช่วยเหลือกันเอง ประเด็นหลังนี้สำคัญมาก เพราะบริโภคนิยมมีแนวโน้มให้ผู้คนอยู่อย่างตัวใครตัวมัน ไม่ช่วยเหลือกัน ไม่รวมกลุ่มกันเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง แต่นิตยสารฉลาดซื้อช่วยให้ผู้บริโภคมีเวทีและพื้นที่ที่จะแลกเปลี่ยนความคิด ประสบการณ์ และปรึกษาหารือกัน 3.หากท่านเป็นบก.ฉลาดซื้อ คิดว่าจะปรับปรุงหรือเพิ่มเติมอะไรให้กับฉลาดซื้อ หากเป็นบก.ฉลาดซื้อ อาตมาจะเพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับ “สุขได้แม้ไม่ซื้อ” คือนอกจากซื้ออย่างฉลาดแล้ว เราควรฉลาดที่จะไม่ซื้อด้วย อาตมาจะเพิ่มคอลัมน์เรื่อง “หนึ่งสัปดาห์ในชีวิตที่ไม่ซื้อ” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประสบการณ์ของคนที่ไม่ซื้ออะไรเลยตลอดหนึ่งอาทิตย์ แล้วเขาอยู่อย่างไรโดยที่มีความสุขด้วย อาจจะเชิญชวนคนดังหรืออาสาสมัครมาทดลองอยู่แบบนี้ ต่อไปก็อาจเพิ่มเป็น “หนึ่งเดือนในชีวิตที่ไม่ซื้อ” นอกจากนั้นก็จะมีคอลัมน์เกี่ยวกับการผลิตสิ่งของด้วยตัวเอง ที่เหมาะกับคนในเมือง จากนั้นก็จะขยายไปสู่แนวคิดเรื่อง “สุขได้เพราะไม่ซื้อ” คือลงเรื่องราวเกี่ยวกับคนที่มีความสุขเพราะไม่หลงติดในบริโภคนิยม สุขเพราะปลอดจากความอยากซื้อ 10. หมอวิชัย โชควิวัฒน์ ประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม1.มองสังคมปัจจุบัน ที่เป็นสังคมบริโภคนิยม อย่างไรเป็นสังคมบริโภคนิยมเกือบจะสุดขั้วเลย ในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกานี่นะ เขาเป็นบริโภคนิยม แต่เขาก็ส่งเสริมคนให้ผลิตด้วย แต่ของไทยเราเนี่ยนะส่งเสริมคนให้บริโภค แต่ไม่ส่งเสริมการผลิต แล้วการส่งเสริมการบริโภคนั้นก็เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ ท่ามกลางระบบการคุ้มครองประชาชนด้านบริโภคที่อ่อนแอมาก 2.คิดว่า นิตยสารฉลาดซื้อ มีความหมายกับสังคมบริโภคนิยม มาก น้อยแค่ไหน มีความหมายน้อย สังคมไทยเป็นสังคมที่เน้นการพูดคุยไม่เน้นอ่าน เพราะอากาศมันร้อนคนก็ไม่อยากอุดอู้อยู่ในบ้านอ่านหนังสือ ไม่เหมือนประเทศหนาวที่หลบหนาวอยู่ในบ้าน เพราะฉะนั้นเขาก็จะส่งเสริมการอ่านมากกว่าบ้านเรา ถ้ามองย้อนไปในอดีตบ้านเราแต่โบราณ วัฒนธรรมการถ่ายทอดความรู้เป็นแบบมุขปาฐะ คนที่รู้เยอะเขาจะเรียกว่าพหูสูตร เป็นพวกที่ฟังมาก ไม่ใช่อ่านมาก เพราะฉะนั้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 100 16 ปี ฉลาดซื้อ

ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับหนังสือ “ฉลาดซื้อ” หนังสือที่ดีมีประโยชน์ เป็นอิสระไม่ถูกครอบงำจากกลุ่มทุน เหมือนหนังสือทั่วๆ ไป ที่มีอยู่เกลื่อนประเทศไทย ฉลาดซื้อจึงเป็นหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือทั่วไป แต่เป็นหนังสือที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นสามารถติดอาวุธทางปัญญาให้ผู้อ่านอย่างแท้จริงตลอด 16 ปีที่ผ่านมา จึงขอปรบมือดังๆ ให้และขออวยพรให้หนังสือเล่มนี้ยืนหยัดอยู่คู่กับสังคมไทยต่อไป เพื่อเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบในสังคมไทยยังมีอยู่อีกมากมาย หนังสือฉลาดซื้อจึงยังคงต้องทำหน้าที่ให้ข้อมูล หยิบยื่นอาวุธ(ข้อมูล)ที่ทำให้ผู้บริโภคตื่นรู้ (รู้เท่าไว้ป้องกัน/รู้ทันไว้แก้ไข) และไม่สยบยอมต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบ ร่วมกันลุกขึ้นมาปกป้องคุ้มครองสิทธิของตนเองอย่างแข็งขัน เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างแท้จริง เอ้าๆ ฉบับนี้ครบรอบ16 ปี “ฉลาดซื้อ” ก็อดพูดถึง “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” ไม่ได้ เพราะพี่ๆน้องๆ ในมูลนิธิฯ มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับผู้บริโภคอย่างแท้จริง ทั้งงานข้อมูล งานด้านกฎหมาย งานรณรงค์ การผลักดันให้เกิดกฎหมายใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ตลอดจนประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนทำให้กระแสสิทธิผู้บริโภคกระจายไปสู่สังคมไทยอย่างกว้างขวาง เรียกได้ว่าปัจจุบันเป็นยุคทองของการทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคก็ว่าได้ และจากการทำงานอย่างแข็งขันของมูลนิธิฯ ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตื่นตัว ที่เห็นชัดเจนก็ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ที่ออกประกาศที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การออกประกาศเกี่ยวกับสัญญาเช่าซื้อ ยกตัวอย่างการเช่าซื้อรถ(รถทุกชนิด)ซึ่งเมื่อก่อนเราเช่าซื้อมาในสัญญาจะระบุไว้ชัดเจนว่า หากรถสูญหายผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น พูดง่ายๆ คือเช่าซื้อรถมาแล้วรถหายไป ผู้เช่าซื้อก็ต้องรับภาระผ่อนต่อ(ผ่อนกุญแจ) จนครบตามราคาในสัญญาเช่าซื้อนั้นๆ แต่ปัจจุบันประกาศของ(สคบ.)เขียนไว้ชัดเจนว่าห้ามเขียนสัญญาที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค จนทำให้ผู้บริโภคที่เช่าซื้อรถยนต์ มีโอกาสหายใจได้ทั่วท้องมากขึ้น ตอนนี้หากเราเช่าซื้อรถยนต์(ผ่อนรายเดือน) และรถเกิดสูญหายโดยที่พิสูจน์ได้ว่าการสูญหายนั้นไม่ได้เกิดจากการประมาทเลินเล่อของเรา เราก็ไม่ต้องผ่อนกุญแจอีกต่อไป เพราะทรัพย์ตามสัญญาไม่มีแล้ว ถือได้ว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะ ไม่ต้องผ่อนกุญแจเหมือนเดิมอีกแล้วล่ะ ถึงคราวไชโยกันแล้วใช่ไหมล่ะพี่น้อง ผู้บริโภคเป็นอิสระจากสัญญาไม่เป็นธรรมแล้วจริงๆๆ ขอปรบมือดังๆ ให้ สคบ. และขอตะโกนดังๆ แทนผู้บริโภคว่า.... ไชโยๆๆๆๆๆๆ  

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 178 สถานการณ์ อาหาร GMO ในเยอรมนี

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการร่างกฎหมายจีเอ็มโอ (GMO- Genetically Modified Organism) หรือร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ ที่ผลักดันโดยกลุ่มผู้สนับสนุนจีเอ็มโอและใกล้ชิดกับบรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติผ่านการเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรี แล้ว กำลังถูกเสนอไปสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันเชื่อว่าจะผ่านการพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยเร็ว กฎหมายฉบับนี้จะเป็นใบผ่านเพื่อเปิดทางสะดวกให้กับการปลูกพืชจีเอ็มโอในประเทศไทย โดยเปิดช่องโหว่ให้บรรษัทที่ทำการทดลองจีเอ็มโอในภาคสนาม และขายเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอในเชิงพาณิชย์ไม่ต้องรับผิดชอบผลกระทบที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหาร และผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังมีประเด็นที่ควรปรับปรุง เพราะมีหลายข้อที่ไม่สอดคล้องกับหลักการสากลในพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ และพิธีสารเสริมนาโงย่า-กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการรับผิดและชดใช้ความเสียหาย เช่น กรณีผลกระทบจากกรณีจีเอ็มโอนั้น ในพิธีสารฯ ครอบคลุมถึงการคุ้มครองผลกระทบทางสังคมเศรษฐกิจ และอนุญาตให้ใช้ดุลพินิจตามสมควรได้ แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ แต่ในร่างกฎหมายระบุว่า ต้องใช้ข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนแล้วเท่านั้น สำหรับประเทศเยอรมนี ที่ประชาชนมากกว่าร้อยละ 80 ไม่ต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มี GMO ก็ตกอยู่ในฐานะมัดมือชก ซึ่งก็ยังถูกบังคับให้บริโภคทางอ้อมเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายของเยอรมนีเข้มงวดมากในเรื่องการติดฉลากผลิตภัณฑ์ที่มี ส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ และองค์กรผู้บริโภคก็เรียกร้องให้รัฐบาลแบน อาหารที่มี GMO เป็นองค์ประกอบ   เคยมีกรณีที่รัฐบาลท้องถิ่น ซากเซน อันฮาลต์ (Sachsen Anhalt) เป็นโจทก์ ฟ้องร้องรัฐบาลกลางที่ออกกฎหมายการขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่ปลูกพืช GMO และควบคุมอย่างเข้มงวด ในกรณีที่มีการปนเปื้อน การผสมพันธุ์พืชข้ามแปลง เกษตรกรที่ปลูกพืช GMO จะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ฝ่ายโจทก์อ้างว่า เป็นการจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพ คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี ยืนยันถึงหลักแห่งความปลอดภัยและคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ จึงยกคำร้องของของโจทก์ จนถึงปัจจุบันนี้ พื้นที่การทำการเพาะปลูก พืช GMO ในเยอรมนี เหลือน้อยมาก และไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากถูกต่อต้านจากผู้บริโภคและเกษตรกรที่ให้ความสำคัญกับเกษตรอินทรีย์ เยอรมนีมีคำสั่งประกาศห้ามปลูก ข้าวโพด GMO Mon 810 ถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายห้ามแต่ก็มีช่องทางอื่นที่สามารถหลุดรอดเข้ามาได้ จากการนำเข้าผลผลิตทางเกษตร ไม่ว่าจะเป็น ถั่วเหลือง คาโนลา (พืชสำหรับผลิตน้ำมันพืช) และเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์บางราย ก็ใช้อาหารสัตว์ที่มีส่วนผสมของ GMO เลี้ยงสัตว์ด้วย ในอียูอนุญาตให้ใช้สิ่งมีชีวิตที่ดัดแปลงพันธุกรรม GMO ประมาณ 50 ชนิด ในเยอรมนี รัฐบาลห้ามจำหน่ายพืชผัก เนื้อสัตว์ ที่เป็น GMO ซึ่งเป็นอาหารของมนุษย์ ยกเว้นอาหารบางชนิดเช่น ช็อคโกแลต จาก อเมริกา ซีอิ๊วในร้านอาเซียนช็อป แต่ต้องติดฉลากว่า GMO ให้เห็นอย่างชัดเจนเรื่องการติดฉลาก หากผลิตภัณฑ์ชนิดใดมีส่วนผสมของ ผลิตภัณฑ์ GMO น้อยกว่า 0.9 % ได้รับข้อยกเว้นไม่ต้องติดเครื่องหมาย GMO สำหรับผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ไม่ว่า จะเป็น เนื้อ นม ไข่ ที่ผลิตจาก สัตว์ ที่เลี้ยงด้วยอาหารสัตว์ GMO ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายมาควบคุมเรื่องฉลาก เนื่องจาก การย่อยของกระเพาะสัตว์ ที่เลี้ยงด้วยพืช GMO สามารถย่อยสลาย DNA ของพืชชนิดนี้ได้ แต่จากผลการศึกษาปัจจุบันมีการตรวจพบ ว่า มีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมในสัตว์ที่เลี้ยงด้วย พืช GMO ในอนาคตอาจมีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ให้รัดกุมยิ่งขึ้น หน่วยงานเฝ้าระวังทางด้านอาหารของเยอรมนี ทำการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ทางอาหารมนุษย์เป็นระยะๆ พบว่า หนึ่งในสี่ ของผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง มี GMO ปนอยู่ พบว่าในน้ำผึ้งที่นำเข้ามาจำหน่ายในเยอรมนี มีการปนเปื้อนของ GMO สำหรับข้าวโพดพบมากถึง 6% และ และพบว่า ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง 7 ตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์จากข้าวโพด 3 ตัวอย่างมีการปนเปื้อน GMO สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด (ยกตัวอย่าง ชิปข้าวโพด (maize chip) ที่นำเข้าจากฟิลิปปินส์) และยังตรวจพบมะละกอนำเข้ามี่มีการปนเปื้อน GMO (โชคดีที่ วารสารสำหรับผู้บริโภคที่มีสมาชิกมากกว่า หนึ่งแสนราย ไม่ได้ใส่ชื่อประเทศที่ส่งออกไปว่า เป็นประเทศไทย) สำหรับผู้บริโภคที่ตระหนักถึงความเสี่ยงจากผลกระทบทางด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมจากGMO สามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ปลอดจาก GMO ภายใต้ฉลาก GMO free ซึ่งเป็นการติดฉลากแบบสมัครใจ ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ที่ตระหนักและให้คุณค่ากับการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากในการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์นั้นจะต้องไม่มีการใช้ ส่วนผสมที่เป็น GMO และต้องรักษามาตรฐานความปลอดภัย ไม่ให้มีการปนเปื้อนของ GMO ในฟาร์มแบบเกษตรอินทรีย์ ในกรณีที่เราจะผลักดันนโยบายเกษตรอินทรีย์ นั้น เราคงต้องเลือกระหว่าง GMO กับ เกษตรอินทรีย์ อย่างชัดเจน ว่าจะเอาแบบไหน สำหรับผมเองในฐานะผู้บริโภค ชัดเจนครับว่า “ไม่เอา GMO” ครับ   (ที่มา วารสาร test 2/2014)  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point