ฉบับที่ 140 จิระชัย มูลทองโร่ย สคบ.ยุคนี้ จะไม่มองแบบม้าลำปาง

“...ภาครัฐมักมองทางตรงมากกว่าการมองข้าง เดี๋ยวนี้ต้องมอง 360 องศา เราจะไม่มองแบบม้าลำปาง จะต้องมีการบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐ ถ้าผู้บริโภคมีปัญหาขึ้นมาหน่วยงานภาครัฐจะต้องระดมสรรพกฎหมาย ระดมสรรพกำลังในการแก้ไขปัญหา...” ฉลาดซื้อฉบับนี้พาคุณไปทำความรู้จักคนคุ้นเคย ที่ทำงานคู่ขนานกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมาตลอด ท่าน “จิระชัย มูลทองโร่ย” เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 55 หากแต่คลุกคลีอยู่ใน สคบ.มากว่า 12 ปีแล้ว ไปดูแนวคิดการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในยุคของเลขาฯ สคบ.ท่านนี้กันค่ะ ประเด็นใดในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคที่ถือเป็นความท้าทายของ สคบ. งานคุ้มครองผู้บริโภคที่ต้องทำต่อก็คือ ต้องผลักดันประเด็นในการคุ้มครองผู้บริโภคให้เป็นรูปธรรม ทุกวันนี้เราซื้อสินค้าด้วยความเสี่ยง ซื้อไปแล้วเกิดปัญหาใครจะรับผิดชอบ ผู้บริโภคเองก็ต้องมาร้องที่ สคบ. ซึ่งนั่นเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคแบบเดิมๆ เราจึงจัดทำเครื่องหมายของ สคบ.แสดงไว้บนผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการซื้อสินค้าหรือใช้บริการ ว่าเมื่อไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการแล้วจะไม่ถูกเอาเปรียบ ไม่ถูกหลอกลวง หรือเมื่อไปซื้อสินค้าและใช้บริการแล้วเกิดปัญหา ผู้ประกอบการต้องแสดงความรับผิดชอบ หรือชดใช้อย่างชัดเจน แต่ที่ยังไปไม่ได้ก็คือการรับผิดชอบของผู้ประกอบการ นั่นก็คือถ้าหากเกิดความเสียหายขึ้นมาจะมีหลักการรับประกันอย่างไร ยังอยู่ในการทำความเข้าใจกันอยู่ ซึ่งตอนนี้มีสินค้าและบริการที่ต้องทำตรา สคบ.แล้ว 26 รายการ 8 หมวด นั่นก็คือทั้งอสังหาริมทรัพย์ สินค้า สุขภาพ ฯ   อีกความท้าทายก็คือการเป็นศูนย์กลางในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค สคบ.เป็นหน่วยงานเดียวที่คุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคทั้ง 5 ข้อนี้ การประสานความร่วมมือทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการ และภาคประชาชนในการทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจึงมีความสำคัญ เพราะภาครัฐมักมองทางตรงมากกว่าการมองข้าง เดี๋ยวนี้ต้องมอง 360 องศา เราจะไม่มองแบบม้าลำปาง จะต้องมีการบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐ ถ้าผู้บริโภคมีปัญหาขึ้นมาหน่วยงานภาครัฐจะต้องระดมสรรพกฎหมาย ระดมสรรพกำลังในการแก้ไขปัญหา ในต่างจังหวัดนั้นมีความสำคัญอย่างมาก ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีคนแค่เพียง 10 ล้านกว่าคน ในต่างจังหวัดอีกกว่า 75 จังหวัดล่ะ “ใครดูแลเขา” ในอดีต สคบ.อาจจะไม่มีการประสานความร่วมมือทางหนังสือเท่าไรนัก แต่ต่อจากนี้ไปจะประสานความร่วมมือและพบปะพูดคุยกันให้มากยิ่งขึ้น ประสานส่วนผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการผมถือว่าเป็นต้นน้ำของการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ต้องประสานก่อนเลยก็คือสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ สคบ.เข้าไปรับฟังขอบเขตงานด้วย และจะร่วมมือกันในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างไร นั่นก็คือต้องดำเนินการตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค มีการติดฉลาก ดูการโฆษณา ดูสัญญาก่อน ต่อไปก็ไปดูเรื่องความรับผิดชอบว่าถ้าเกิดความเสียหาย จะเยียวยาหรือให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคอย่างไร สินค้าที่มีปัญหามีหลักเกณฑ์อย่างไรในการเยียวยา ประสานส่วนภาคประชาชน ที่มีการรวมกลุ่มกันชัดเจนแล้ว อย่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ก็จะมีเครือข่ายผู้บริโภค ในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเรามีจุดหมายเดียวกัน ก็คือการคุ้มครองผู้บริโภค แต่การทำงานของมูลนิธิฯ อาจจะง่ายและกระชับกว่า ก็จะได้ผนวกไปด้วยกัน หรืออาจจะเชิญตัวแทนองค์กรผู้บริโภคเข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการ สคบ. รวมไปถึงการทดสอบสินค้า การรับเรื่องร้องเรียน ตรวจสอบผู้ประกอบการ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ก็อยู่ระหว่างการตั้งคณะทำงานขึ้นมาในช่วงปี 2556 อยากจะทำงานด้วยไม่ว่าจะเป็นส่วนกลางหรือส่วนต่างจังหวัด มีแผนงานอะไรก็บอกกันให้รู้ สคบ.จะได้ส่งคนเข้าไปช่วยดำเนินการด้วย การทำงานร่วมกัน?...จะเป็นลักษณะแบบไหน จะเป็นคล้ายๆ ระบบสั่งการเหมือนภาครัฐทำกับภาครัฐหรือเปล่า ไม่เหมือนแน่นอน การสั่งการในภาครัฐก็อาจจะทำได้เป็นเรื่องๆ ที่เป็นนโยบายร่วมกัน เราใช้คำว่า “ประสานงาน หรือบูรณาการเข้าด้วยกัน” ร่วมกันทำงาน “สคบ.จะไม่ใช่ One man show” แต่จะประสานงานร่วมกัน สคบ.จัดการกับผู้ประกอบการอย่างไร อีกหน้าที่ที่ต้องทำก็คือการตรวจสอบผู้ประกอบการ ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ต้องทำตามหน้าที่ที่ระบุไว้ในกฎหมาย อย่างไปสำรวจเต็นท์รถยนต์มือสอง ว่ามีการจัดทำฉลาก ทำหลักฐานการรับเงินหรือเปล่า ในห้างสรรพสินค้ามีสินค้าหมดอายุมาขายไหม ฉลากถูกต้องหรือเปล่า สำรวจเสร็จ สคบ.ในฐานะมีหน้าที่และอำนาจทางกฎหมาย ก็จะเข้าไปดำเนินการจัดการกับผู้ประกอบการ ซักถามเรื่องกฎหมาย ตักเตือน ก็ว่ากันไป ในเรื่องการจัดการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ส่วนนี้มีปัญหาและได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ว่ามีความล่าช้า ไม่ทันใจประชาชน แต่ก็ต้องยอมรับว่าการแก้ปัญหาของ สคบ.ในชั้นการเจรจาไกล่เกลี่ย สามารถจบลงได้ 80 % ซึ่งการเจรจาไกล่เกลี่ยเป็นประโยชน์ของคู่กรณีทั้งคู่ ผมยังให้ความสำคัญอยู่ ก่อนที่จะยื่นเรื่องฟ้องศาล ผมไม่ตามใจผู้ร้องนะ อย่างซื้อรถยนต์ใหม่มาแล้วมีปัญหา จะขอเปลี่ยนคันเลย ก็ต้องให้บริษัทชี้แจง แก้ไขจุดบกพร่องก่อน ให้เวลาผู้ประกอบการบ้าง เรื่องร้องเรียนที่ยังค้างอยู่ เป็นจำนวนมากที่ผู้ร้องไม่ยินยอมรับการชดเชยความเสียหายตามที่บริษัทนำเสนอ หรือตามที่ สคบ.เห็นว่าสมควรแล้ว แต่ผู้ร้องยังเรียกร้องตามอำเภอใจ ซึ่งผมเองมั่นใจว่าจะใช้อำนาจในการบริหารยุติเรื่องและให้ผู้ร้องไปฟ้องศาลด้วยตนเอง การดำเนินคดีในชั้นศาลผมถือว่าไม่เป็นประโยชน์ส่วนรวม การจะฟ้องคดีแทนผู้บริโภค ผมมีองค์ประกอบ 3 เหตุผล 1.ต้องเป็นผู้บริโภค 2.ต้องถูกละเมิดสิทธิ 3.ต้องเป็นประโยชน์ส่วนรวม สคบ.ฟ้องแทนผู้บริโภค จะฟ้องรวมหมู่ได้ไหม เรื่องการฟ้องแทนเราฟ้องให้อยู่แล้ว ถ้าฟ้องแล้วเป็นประโยชน์กับส่วนรวมเราก็ฟ้องแทนให้ อย่างผู้บริโภคร้องเรียนเรื่องซื้อหมามาเลี้ยงผ่านไป 2 วัน แล้วหมาตาย สคบ.ก็รับเรื่องแล้วชวนมาไกล่เกลี่ย เจ้าของฟาร์มเสนอไม่ชดเชยให้ แต่ถ้าซื้อตัวใหม่จะลดให้ครึ่งราคา ส่วนผู้ร้องไม่รับข้อเสนอ จะให้ชดเชยเป็นค่าสุนัข 10,000 บาท ค่ารักษาพยาบาลอีก 9,000 บาทรวมค่าเสียเวลา ฟาร์มบอกว่าตั้งแต่ขายมาไม่มีปัญหาอะไรเลย กรณีแบบนี้เราก็ฟ้องให้นะครับ เพราะเราถือว่าตลาดนัดจตุจักร มีคนเข้าออกประจำ อาจจะพบปัญหาเหมือนกับกรณีรายนี้ด้วยก็ได้ เพราะเราเห็นถึงประโยชน์ส่วนรวม แต่ถ้ามาเกี่ยงกันในเรื่องการชดเชยที่ต่างกันแค่ 500 หรือ 1,000 บาท แบบนี้เราไม่ฟ้องให้ แต่ถ้าผู้ประกอบการมีการโกงผู้บริโภคแค่ 1 บาท เราก็ฟ้องให้ เพราะสินค้าผลิตมาเท่าไร...มากมาย เราก็เปรียบเทียบตัวเลขผู้ประกอบการกับตัวเลขผู้ร้องว่าเป็นอย่างไร ถ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์กับส่วนรวมเราก็ฟ้องแทนผู้บริโภคได้   สคบ.มีบทลงโทษผู้ประกอบการ แต่การไม่เปิดเผยชื่อผู้ที่ถูกลงโทษ ถูกปรับทำให้ผู้บริโภคยังถูกละเมิดต่อ วิธีการแบบนี้ยกเลิกได้ไหม อือ...หลายคนตำหนิ สคบ.อย่างนี้ว่าลงโทษผู้ประกอบการ แต่ไม่บอกว่าใคร ความจริงเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย มาตรา 10 อนุ3 บอกให้ สคบ.เปิดเผยรายชื่อผู้ประกอบการรวมถึงสินค้า ว่ามีผู้ประกอบการรายใดที่ทำผิดกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ สคบ.เองก็ปรับปรุงว่าเราต้องมีสื่อที่จะลงข่าวเหล่านี้ ก็อยู่ระหว่างการจัดทำสื่อ แล้วก็เผยแพร่สู่สื่อมวลชน เครือข่ายผู้บริโภคและพี่น้องประชาชน เพราะการจะเปิดเผยชื่อได้นั้น ต้องผ่านมติคณะอนุกรรมการก่อนถึงจะเปิดเผยรายชื่อได้ จะเปิดเผยรายชื่อทันทีก็ไม่ได้ ไม่งั้น สคบ.เองนั้นละจะถูกฟ้อง   องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 61 จะช่วยหนุนการทำงานของ สคบ.อย่างไรบ้าง และมีความคิดเห็นต่อ กม.นี้อย่างไร เป้าหมายการทำงานของ สคบ.กับ องค์กรผู้บริโภค มีเป้าหมายเดียวกันคือการคุ้มครองผู้บริโภค จะแตกต่างกันก็แค่ภารกิจ วิธีการ มีอะไรที่เราทำร่วมกันได้ก็มาแชร์กัน อย่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถ้ามีโอกาสเข้าไปเป็นกรรมการองค์การอิสระฯ ก็เข้าไปทำงานเลย แบบนี้มูลนิธิฯ ก็จะมีแนวทางในการขยายความร่วมมือต่อไปได้ แล้วถ้าถามต่อว่า สคบ.จะอยู่อย่างไร ผมก็ต้องอยู่เพราะเป็นหน่วยงานภาครัฐ แต่องค์การอิสระฯ รัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างไร ก็ควรที่จะทำอย่างนั้น เช่นรัฐธรรมเขียนอำนาจหน้าที่ไว้ 3 แต่กลับไปเพิ่มเป็น 4 5 6 นั้นเป็นการก้าวก่ายแล้ว ไม่ได้ต่อต้านนะ เห็นด้วยที่ให้มีเพราะต้องมีหน่วยงานกลางขึ้นมาเพื่อบูรณาการทุกเรื่อง เข้ามาเสริม เข้ามาหนุนงาน ให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมมากกว่า ควรจะมีกรอบอย่างนั้น เรื่องการจัดสรรงบประมาณดำเนินการ สคบ.ตั้งมา 30 กว่าปีแล้ว ยังได้งบไม่ถึง 200 ล้านเลย แล้วองค์การนี้เพิ่งจะร่างขึ้นมาไปเอาค่าหัวดำเนินการ 3 บาท 5 บาท ไปเอาเกณฑ์อะไรมา ทำไมไม่ให้ สคบ. เพราะถือว่าเป็นหน่วยงานหลักด้วยซ้ำ ปีหนึ่งได้ 100 ล้านบาท ก็ส่งงบลงพื้นที่ กระจายทุกจังหวัดที่ ให้กับประชาชนที่มีโครงการมากมาย บุคลากรก็ต้องให้ความรู้ทุกเรื่อง ยังได้ไม่ถึง 200 ล้านเลย แล้วนี่องค์การนี้เพิ่งจะเกิด มีคณะกรรมการ 15 คน ภารกิจหนักหนาขนาดไหน ต้องเอาค่าหัว 3 บาท 5 บาท แต่ผมไม่ได้คัดค้านนะ แต่ควรที่จะเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย @.

อ่านเพิ่มเติม >