ฉบับที่ 110 เกือบตายเพราะถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน

จะเป็นอย่างไรหากคุณตัดสินใจซื้อรถยนต์คันหนึ่งด้วยเล็งเห็นถึงความปลอดภัย แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นถึงได้รู้ว่ารถยนต์ที่คิดว่าปลอดภัย มีถุงลมนิรภัย จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ ก็หาเป็นดังที่หวัง อย่างกรณีของ จิรพงษ์ ชูชาติวงศ์ และพรศรี ชูชาติวงศ์ 2 สามีภรรยา ที่เกิดอุบัติเหตุรถที่ขับมาพุ่งชนเข้ากับรถยนต์คันที่สวนมาระหว่างทาง แต่ปรากฏว่าถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน ทางบริษัทให้เหตุผลว่า ชนไม่ถูกจุด ถุงลมจึงไม่ทำงาน เรื่องนี้จะเป็นอย่างไร ฉลาดซื้อจะพาคุณผู้อ่านไปคุยกับคู่ชีวิตที่รอดจากมัจจุราชได้อย่างหวุดหวิด ชนไม่ถูกจุด ถุงลมไม่ทำงาน“ช่างเทคนิค เขาบอกเจ๊ว่าชนครั้งแรกเข็มขัดมันรัดไว้แล้ว ชนซ้ำอีกถุงลมนิรภัยจะออก เจ๊ก็บอกว่าน้องอย่าพูดอย่างนี้ ถ้าชนซ้ำเจ๊ไม่ตายซะก่อนเหรอ” พรศรี บอกเล่าถึงคำพูดของช่างเทคนิคของบริษัทที่อธิบายกับเธอและสามีถึงเหตุที่ถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน เมื่อเธอมาทวงถามว่าเหตุใดหนอถุงลมนิรภัยในรถคันที่เธอซื้อมาไม่โผล่ออกมาช่วยลดแรงปะทะไม่ให้ได้รับบาดเจ็บมากกว่าที่เป็นอยู่นี้เมื่อครั้งเธอและสามีเกิดอุบัติเหตุเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2552 เช้าตรู่ของวันนั้นเธอและสามีเดินทางไปทำธุระต่างจังหวัด โดยใช้เส้นทางถนนดอยสะเก็ด-เชียงราย ผ่านทางโค้งหลายโค้ง แล้วรถยนต์ของเธอและสามี(คนขับ) ขณะกำลังวิ่งขึ้นเขาด้วยความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็พุ่งชนกับรถยนต์อีกคันที่วิ่งสวนลงมาเข้าอย่างจัง ส่งผลให้รถยนต์โตโยต้า คัมรี่ สีขาวไข่มุก ที่ซื้อมาราคา 1,528,000 บาท เมื่อปี 2545 ของเธอและสามีถึงกับกันชนส่วนหน้า คานหน้า หน้ากระจัง หม้อน้ำ บังโคลนซ้าย-ขวา และฝากระโปรงรถยนต์ เสียหายอย่างหนัก เธอและสามีเป็นอย่างไรบ้างนะหรือ เดชะบุญที่เธอและสามีคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่นั่งรถ แต่แรงปะทะก็ทำให้เธอบาดเจ็บสาหัสบริเวณหน้าอก กลางหลังและต้นคอ กระดูกสันหลังส่วนอกชิ้นที่ 11 หักและแตกละเอียด สามีเธอก็บาดเจ็บไม่แพ้กันเขาได้รับบาดเจ็บสาหัสบริเวณหน้าอกและกลางหลัง กระดูกสันหลังยุบ 1 ข้อ อีกทั้งซี่โครงร้าว ทั้งสองต้องรักษาตัวอยู่นานถึง 6 เดือน จนปัจจุบันถึงแม้จะผ่านไปปีกว่าแล้วแต่อาการเสียวๆ ที่กระดูกของเธอ และความหวาดระแวงที่ขึ้นรถก็ยังมีอยู่ การงานที่เคยทำได้ก็แทบไม่ได้ทำทั้งสวนลำไย งานรับจ้างทำรองเท้าผ้าฝ้ายส่งประเทศญี่ปุ่น ขายผ้าฝ้ายและผ้าชาวเขาที่ทำให้เธอมีรายได้เดือนละ 150,000 บาท ก็มีอันต้องเลิกรา “น้องคนนั้นก็บอกว่าจะให้ความช่วยเหลืออะไรบ้าง เจ๊ก็บอกว่าเสนอให้ซ่อมรถให้เจ๊ถูกหน่อยหรือซ่อมรถให้เจ๊ฟรีก็ได้ เจ๊จะไม่เอาเรื่องที่ถุงลมไม่ทำงาน แค่นี้ก็พอใจแล้ว เขาก็ไม่ยอม เขาให้รอไปก่อน แล้วเขาจะติดต่อที่กรุงเทพฯให้ทางบริษัทติดต่อเราโดยตรงเลย จากนั้นประมาณ 1 เดือนเจ๊ก็โทรไปตามตลอด เกือบ 2 เดือน ช่างเทคนิคที่ กทม.ก็มาบอกให้เจ๊ไปฟัง” ก่อนจะได้พูดคุยกับตัวแทนจากบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด “เจ๊ได้ยินช่างเทคนิคเขาบอกกับพนักงานข้างๆ ว่าถุงลมนิรภัยไม่ออกดีแล้ว ถ้าออกค่าซ่อมเป็นแสนนะ คล้ายๆ ให้เจ๊ดีใจว่าถุงลมนิรภัยเจ๊ไม่ออกนี่ประหยัดค่าซ่อม เจ๊ก็เลยเอ๊ะขนาดค่าซ่อมยังเป็นแสน แล้วซื้อใหม่นี่บวกเข้าไปกี่แสนก็ไม่รู้ แต่ถึงเวลาฉุกเฉิน เกือบจะเอาชีวิตแลก ถุงลมนิรภัยมันไม่ออกมาป้องกันเราแล้วเอามาทำไม มันไม่เป็นไปตามที่โฆษณาเลย เจ๊ก็เลยยิ่งรู้สึกว่าช้ำใจ แล้วยิ่งได้คำตอบว่ารถไม่บกพร่องสักอย่าง เพราะมันชนแรงไม่พอ และชนไม่ถูกที่ เจ๊ก็เลยว่าอย่างนี้ไม่ได้ ขนาดแรงสั่นสะเทือน กระดูกข้อที่สิบเอ็ดที่เจ๊เอกซเรย์ออกมานี่มันจะแตกสลาย หมอบอกว่าเจ๊กล้ามเนื้อแข็งแรง กระดูกเลยไม่ยุบลงไป ถ้ายุบลงไป ต้องมาผ่าตัด มาจัดกระดูกใหม่ ถ้าโดนเส้นเอ็นต้องนั่งรถเข็นตลอดชีวิต ถ้าผ่าตัดสำเร็จก็โชคดีไป แต่ยังดีกล้ามเนื้อเจ๊แข็งแรงมันก็เลยประคองไว้ไม่ยุบลงไป เจ๊ก็เลยไม่ยอมที่ช่างเทคนิคพูดอย่างนี้ เขาก็เลยมีเอกสารมาจากกรุงเทพฯ ฝ่ายเทคนิคบอกว่าถ้าไม่พอใจให้โทร.ไปทางโน้น เขาว่าชนแรงไม่พอ ชนไม่ตรงจุด ก็เหมือนเดิมนั่นล่ะ เจ๊ก็เลยโทร.ไปคุยกับกับบริษัทฯ ที่กรุงเทพ ทางบริษัทบอกว่าไม่สามารถช่วยเหลือตรงนี้ได้ ไม่เกี่ยวกับบริษัท เจ๊บอกว่าทำไมไม่เกี่ยว เจ๊ก็ว่าถ้าเธอไม่รับผิดชอบนะเจ๊จะฟ้อง เขาก็บอกว่าเชิญตามสบาย” นั่นคือคำตอบที่เธอและสามีได้จากบริษัท ซื้อรถใหม่ เพราะอยากได้ถุงลมนิรภัย“ตอนเจ๊ตัดสินใจซื้อรถคันนี้ เพราะรถคันเก่าเจ๊มันไม่มีถุงลมนิรภัยไง เขาก็แนะนำว่ารถนี้รุ่นพิเศษมีถุงลมนิรภัย 4 ใบ ปกป้องชีวิตได้ แต่ถ้าซื้อแล้วนะ ข้างในห้ามไปติดสติกเกอร์ ห้ามไปตกแต่ง ถ้าตกแต่งแล้วมันไม่ออกจะเข้าบริษัทไม่ได้ ถ้าเราไม่ทำอะไร เวลาเกิดเรื่องแล้วมันจะออกมาอัตโนมัติ ป้องกันชีวิตเราเนอะ ถ่ายรูปไว้ด้วยนะวันที่เราไปรับรถคันนี้มา ไม่ใช่ว่าร่ำรวยอะไรมากมายและซื้อรถใหม่ๆ มาโชว์ แต่ว่าเพื่อปกป้องชีวิต เพราะเราเดินทางบ่อย ซื้อด้วยเงินสดเลยนะ แล้วเวลาเกิดเรื่องขึ้นมา ชนปุ๊บมันไม่ออกเลย ชนแรงจนหัวยุบไปหมดเลยที่เห็น ค่าซ่อมที่เขาประเมินตั้งเจ็ดแสนกว่าบาท” เธอว่าพลางนำภาพเมื่อครั้งได้รถมาใหม่ๆ ให้ทีมงานฉลาดซื้อดู ไล่เรียงมาตั้งแต่ใหม่เอี่ยม จนถึงสภาพรถบุบบู้บี้ไม่เหลือสภาพรถรุ่นพิเศษให้เห็นแม้แต่น้อย “หลังจากเรายื่นคำขาดกับบริษัทไปว่าเราจะฟ้องเขาก็ทำให้กินไม่ได้นอนไม่หลับนะ ไปหาทนาย ไปหาทุกที่เลย ทนายเชียงใหม่ก็ไม่มีใครกล้าต่อสู้กับบริษัทเลย แต่เขาก็แนะนำให้ไปขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิฯ ที่กรุงเทพ เจ๊ก็เลยให้ลูกชายช่วยติดต่อให้ ระหว่างนั้นก็มีคนบอกว่าอย่าไปสู้เลย ดีไม่ดีถูกฟ้องกลับเพราะทำชื่อเสียงบริษัทเขาเสียหาย ตอนแรกเจ๊ก็รู้สึกกังวลอยู่ครึ่งนึง แต่พอเจ๊ติดต่อกับคุณอิฐบูรณ์ว่าช่วยดูรูปถ่ายและเอกสารต่างๆ ว่าพอจะฟ้องเขาได้ไหม ถ้ามั่นใจก็ฟ้อง แต่ถ้าไม่มั่นใจเจ๊ก็ยอมทิ้งแล้ว เพราะส่วนตัวเจ๊ก็ล้าแล้วเหมือนกัน เพราะสู้กับเขามาเกือบครึ่งปีกว่าแล้ว” มูลนิธิที่พรศรี พูดถึงคือศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หลังจากอิฐบูรณ์ อ้นวงศา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค ดูเอกสารต่างๆ แล้ว จึงส่งเรื่องต่อให้ ศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องแพ่งบริษัทโตโยต้าเชียงใหม่ จำกัด ในข้อหา ละเมิด เรียกค่าเสียหาย เป็นเงิน 5,620,208 บาท ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล แต่บริษัทบ้านเรานี่ไม่ต้องบอกเรื่องเปลี่ยนรถคันใหม่อะไรหรอก แค่ยกกระเช้ามาเยี่ยม มาถามทุกข์สุขว่าเจ็บยังไงบ้าง ยังไม่มีเลย เจ๊ดูข่าวมากก็เลยรู้สึกว่า ที่อื่นเขาได้ดูแล ทำไมเราเป็นอย่างนี้ ก็ไม่ยอม ยิ่งมีรู้ว่ามีการคุ้มครองผู้บริโภค เราต้องใช้สิทธิ ถ้าไม่ฟ้อง จะให้ทำอย่างไร“ทุกวันนี้รู้สึกว่าถ้าทางบริษัทถ้าเขาเห็นใจเราสักนิด ทางเราก็ไม่ฟ้อง ขอแค่เขามาถามทุกข์สุขนิดนึง ก็พอใจ เจ๊ไม่ใช่งกเงินตรงนี้ ถ้าเขามีน้ำใจนิดนึง ให้ผู้มีอำนาจมาเยี่ยมหน่อย มาพูดดีๆหน่อย อย่าใจดำเกินไป รถคันนี้ราคาประเมินค่าซ่อมเจ็ดแสนกว่าบาท แล้วยังจะขอค่าจอดรถเจ๊ด้วย ตอนเอารถไปจอด พอเจ๊ไม่ซ่อมรถกับเขา เจ๊จะเอาออกรถไปขายไงเพราะซ่อมไปก็ไม่คุ้ม เจ๊เลยไม่จ่ายค่าจอดเขาก็ทำอะไรไม่ได้ สุดท้ายเขาเรียกเก็บค่าประเมินรถเจ็ดพันบาท เฮีย(สามี) ก็เลยจ่ายไปหกพันกว่า คือของเราเสีย ไม่ช่วยเหลือเราไม่ว่า เราไม่ซ่อมยังขอค่าจอดอีก ใบเสร็จตรงนี้ก็ยังเก็บไว้ เจ๊รู้สึกว่ามันไม่เป็นธรรม มันเยอะเกินไป แล้วเจ๊ก็ขายรถคันนี้เป็นเศษเหล็กไปแล้ว คิดแล้วเจ็บใจตอนที่เจ๊ไปซื้อนะขับรถมาเสนอขายถึงที่บ้านเลย เอาใจสารพัดเลย พอซื้อมาบริการก็เปลี่ยนแปลงแล้ว” คนทั้งประเทศไม่มีใครรู้ อยากให้คนอื่นรู้ “มีคนบอกว่าเจ๊มีทางก็ต่อสู้ ก็สู้เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้คนทั้งประเทศ ไม่มีใครรู้เลยว่าถุงลมนิรภัยต้องออกตามโฆษณา ในความหมายของเขามันแค่ไหน ชนแบบนี้ออก แต่หากชนตรงนี้ไม่ออก ในคู่มือบอกว่าวิ่ง 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไปชนอย่างไรถุงลมนิรภัยก็จะออกมา อะไรมันก็จะมีลูกศรชี้ไว้ว่า หน้าไฟสองอัน กลางๆ ชนตรงไหนก็ออก แต่พอเกิดเรื่องขึ้นมา ชนจนหัวยุบหมดแล้วมาบอกอย่างนี้อย่างโน้นแล้ว ใครไม่เจอกับตัวจะไม่รู้เลยว่า ความยุติธรรมมันเป็นยังไง แถวภาคเหนือเราอาจจะคิดว่าใครใหญ่ใครอยู่ บริษัทมันใหญ่ เราเป็นคนตัวเล็กๆ ต่อสู้เขาไม่ได้หรอก ก็เลยไม่กล้าไปต่อสู้กัน ช่างรถยนต์ก็พูดว่าอย่าไปสู้เลย สู้กับเขาไม่ไหวหรอก แต่เจ๊ก็จะสู้แรกๆ ก็กลัวเขาฟ้องกลับติดคุกนะ แต่พอเรารู้ว่าฟ้องแพ่งไม่ติดคุกเราก็ไม่กลัวละ เราต้องลุกขึ้นมาสู้ เจ๊ดูรายการทีวีต่างประเทศชอบดูเรื่องกฎหมายของเมืองนอก อย่างไต้หวัน พอดีเจ๊เห็นของเมืองนอก มีถุงลมนิรภัยไม่ออกแหละ ฝรั่งเขาเรียกสิบล้านเลย สุดท้ายบริษัทเขาชดใช้ไปเจ็ดหรือแปดล้าน แล้วก็ยังมีเพื่อนคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า BMW คันหนึ่ง เมียเขาขับไปแล้วถุงลมนิรภัยไม่ออกแล้วคอหักเลย พอไปบอกบริษัทแต่ยังไม่ได้ฟ้องนะ แค่ไปบอก บริษัทก็เสียค่ารักษาพยาบาลให้แล้วก็เปลี่ยนรถคันใหม่ให้ทันทีเลย แต่บริษัทบ้านเรานี่ไม่ต้องบอกเรื่องเปลี่ยนรถคันใหม่อะไรหรอก แค่ยกกระเช้ามาเยี่ยม มาถามทุกข์สุขว่าเจ็บยังไงบ้าง ยังไม่มีเลย เจ๊ดูข่าวมากก็เลยรู้สึกว่า ที่อื่นเขาได้ดูแล ทำไมเราเป็นอย่างนี้ ก็ไม่ยอม ยิ่งมีรู้ว่ามีการคุ้มครองผู้บริโภค เราต้องใช้สิทธิ จริงๆ แล้วคนไทยเราเป็นคนที่ใจอ่อน นิสัยดีกว่าต่างประเทศมากเลย ขอให้เขายอมมีน้ำใจ การชดใช้ตรงนี้มันไม่ใช่ปัญหา เราคุยกันได้ ถ้าจะให้เหมือนบริษัทเมืองนอกนี่ กฎหมายเมืองไทยก็ยังไปไม่ถึงขนาดนั้น เมืองนอกเขาจะเอาเท่าไหร่เขาจะเรียกเยอะๆ เลย รถคันนี้ราคาเท่าไหร่ ไม่เกี่ยวเขาจะดูว่าชีวิตเขามีค่าแค่ไหนมาเปรียบเทียบเอา แต่เมืองไทยเราจะดูว่ารถคันนี้ราคาแค่นี้เอง แล้วจะเรียกร้องได้แค่นั้น เขาจะคิดอย่างนั้น ถ้าต่างประเทศเขาจะไม่คิดแบบนี้ เขาจะคิดว่าชีวิตคนมีค่ามหาศาลเท่าไหร่ก็ประเมินค่าไม่ได้ เรื่องกฎหมายบ้านเรากับต่างประเทศอาจจะเทียบกันไม่ได้ แต่อย่างน้อยๆ ในบ้านเรา เราก็ยังมีสิทธิในการเรียกร้อง เราต้องใช้สิทธิเมื่อเกิดความเสียหาย ให้บริษัทยอมรับผิดชอบบ้าง ปกติเขาจะไม่รับผิดชอบทิ้งไปอย่างนี้ตลอด ที่เจ๊ต่อสู้มาทุกวันนี้นะ ไปศาล ทำอะไรทุกครั้ง เจ๊รู้สึกว่าเจ๊ก็เสียรายได้เยอะเหมือนกันจะไปไหนก็ไปไม่ได้ ต้องรอขึ้นศาล เสียเวลา เจ๊ไม่ได้ว่าไม่มีทางหากินแล้วจะมาตื้อเอาเงินกับบริษัทนะ เจ๊ก็ทำมาหากิน แต่ที่เจ๊ทำเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมเท่านั้นเอง” ทุกวันนี้ พรศรี ชูชาติวงศ์ และสามี เหลือเพียงกิจการเล็กๆ ขายเสื้อผ้าและกระเป๋าอยู่ที่ ตลาดสันป่าข่อย จังหวัดเชียงใหม่ กิจการอื่นๆ ที่เคยทำต้องงดไปโดยปริยายด้วยข้อจำกัดทางร่างกายที่ไม่แข็งแรงเหมือนแต่ก่อน

อ่านเพิ่มเติม >