ฉบับที่ 140 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกันยายน 2555 6 กีฬาระดับชาติห้าม “จอดำ” หลังจากเหตุการณ์ “จอดำ” ช่วงการแข่งขันฟุตบอลยูโรที่ผ่านมา ทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงอย่าง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ต้องเร่งออกมาตรการมารองรับเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอย ซึ่งทาง กสทช. ก็เตรียมออกประกาศให้รายการแข่งขันกีฬาระดับประเทศ 6 รายการ ต้องมีการเผยแพร่ผ่านทางช่องฟรีทีวีโดยไม่สนว่าผู้ชมจะรับชมผ่านระบบการรับสัญญาณชนิดใด จะเป็นเสาก้างปลาหนวดกุ้ง เคเบิลทีวี จานดาวเทียมสีไหนหรือกล่องรับสัญญาณของใคร เมื่อกำหนดให้เผยแพร่ทางช่องฟรีทีวีแล้ว ผู้รับชมทีวีทุกคนต้องสามารถรับชมได้ สำหรับ 6 รายการแข่งขันกีฬาที่ทาง กสทช. บังคับว่าห้ามจอดำ ประกอบด้วย ซีเกมส์, พาราเกมส์, เอเชียนเกมส์, โอลิมปิก, พาราลิมปิก และการแข่งขันฟุตโลกรอบสุดท้าย มาตรการนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป หรือ MUST CARRY RULE ที่ กสทช. บังคับใช้ตั้งแต่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา หลังเหตุการณ์จอดำ ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ออกมาควบคุมผู้ให้บริการจานดาวเทียม กล่องรับสัญญาณ และเคเบิลทีวี ต้องให้บริการช่องฟรีทีวีโดยทั่วถึง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรายการ หรือตัดสัญญาณ จนทำให้ผู้บริโภคพลาดการรับชม     รักใครให้ล้างมือ การล้างมือให้สะอาดถือเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ช่วยในการดูแลรักษาสุขภาพ แต่หลายคนกลับมองข้าม  ภญ.อินทิรา วงศ์อัญมณีกุล กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเลิดสิน ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยล้างมือลดโรคในโรงเรียน จึงขอนำเสนอผลการศึกษาการลดการเจ็บป่วยที่ได้จากการล้างมือ ซึ่งผลที่ออกมาชี้ชัดว่าการล้างมือบ่อยๆ ช่วยให้เราห่างไกลโรค โดยเป็นการทดลองในเด็กนักเรียนชั้น ป.1-ป.4 ของโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก จำนวน 553 คน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2555 โดยเก็บข้อมูลการขาดเรียนเนื่องจากการป่วยในช่วงก่อนและหลังให้ความรู้ในการล้างมืออย่างถูกวิธี ซึ่งผลการศึกษาพบว่า จำนวนการขาดเรียนเนื่องจากการป่วยลดลงจาก 156 คน เหลือ 74 คน หรือลดลงประมาณร้อยละ 50 การล้างมืออย่างถูกต้องเป็นประจำจะช่วยให้เราลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เพราะโรคหลายโรคเริ่มจากมือที่ไม่สะอาดเป็นตัวนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เช่น โรคท้องร่วง โรคผิวหนังอักเสบ โรคตาแดง ไข้หวัด ฯลฯ ซึ่งประเทศไทยเราเริ่มให้ความสำคัญกับการล้างมือหลังจากมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เช่นเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่เห็นประโยชน์ของการล้างมือ ถึงขนาดที่เมื่อปี 2008 สหประชาชาติประกาศให้วันที่ 15 ตุลาคมของทุกปี เป็น “วันล้างมือโลก” (Global Handwashing Day) จับตา...อาคารไม่ปลอดภัย ในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยตามอาคารและตึกสูงต่างๆ ขึ้นบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเพลิงไหม้หรืออาคารถล่ม ซึ่งสาเหตุมักเกิดจากตัวอาคารไม่ได้มาตรฐานเรื่องความปลอดภัย หรือเจ้าของอาคารและผู้รับผิดชอบขาดความเอาใจใส่ดูแล สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) สมาคมปลอดภัยไว้ก่อน และสมาคมผู้ตรวจสอบและบริหารความปลอดภัยอาคาร จึงได้จับมือร่วมกันเพื่อลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากอาคารที่เสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันยังคงมีอาคารที่หลบเลี่ยงการตรวจสอบการหน่วยงานของรัฐอยู่เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะใน กทม. ทั้งที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าอาคารต่างๆ โดยเฉพาะอาคารสาธารณะ อย่าง สถานที่ราชการ ห้างสรรพสินค้า สถานบริการต่างๆ อาคารที่เป็นลักษณะที่อยู่อาศัยรวม เช่น คอนโด หอพัก อพาร์ทเมนท์ รวมทั้งอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตร ต้องผ่านการตรวจสอบเรื่องความปลอดภัยก่อนอนุญาตให้เปิดใช้งาน ซึ่งจากสถิติการเกิดอัคคีภัยปี 2554 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พบว่า มีอัคคีภัยเกิดในคอนโดมิเนียม สำนักงานและอาคารสูงมากกว่า 180 แห่ง ขณะที่รถดับเพลิงสำหรับอาคารสูงเกิน 10 ชั้นยังมีจำกัดและถนนของซอยที่คับแคบยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าไปช่วยเหลือ เราทุกคนสามารถช่วยกันเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังอาคารที่เสี่ยงอันตราย หากใครพบเห็นหรือมีข้อมูลอาคารที่ไม่ปลอดภัยสามารถแจ้งไปยังทั้ง 3 หน่วยงานได้ทันที   “ฟิลเลอร์”  เสี่ยงมากกว่าสวย ถือเป็นอุทาหรณ์เตือนใจสาวๆ ที่อยากสวยด้วยการฉีดสารต่างๆ กับกรณีของพริตตี้สาวคนหนึ่งที่เสียชีวิตจากการฉีดสารฟิลเลอร์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันนี้ยังมีสาวๆ จำนวนไม่น้อยที่เข้าใจผิดเรื่องการฉีดสารต่างๆ เพื่อเสริมความงาม ไม่ว่าจะเป็น ฟิลเลอร์ โบท็อกซ์ คอลลาเจน และ กลูตาไธโอน ซึ่งสารเหล่านี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อความสวยความงาม แต่ทางการแพทย์เอาไว้ใช้ในการแก้ไขความผิดปกติต่างของร่างกาย แต่กลับมีผู้ไม่หวังดีหรืออาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ลักลอบนำเข้าสารเหล่านี้มาอย่างผิดกฎหมาย แล้วนำมาฉีดให้กับผู้ที่หลงเชื่อตาคำโฆษณาว่าฉีดแล้วสวยฉีดแล้วขาว โดยที่ผู้ให้บริการส่วนใหญ่ไม่ใช่แพทย์ คณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ยืนยันว่าไม่มีการรับขึ้นทะเบียนยาฉีดคอลลาเจน เพราะยังไม่มีการรับรองความปลอดภัยเพื่อใช้สำหรับฉีด ขณะที่สารฟิลเลอร์ที่ขึ้นทะเบียนกับ อย.อย่างถูกต้องมีเพียงชนิดเดียว คือ สารไฮยาลูรอนิกแอซิด (Hyaluronicacid) ส่วนสารกลูตาไธโอนก็ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ใดๆ ว่าช่วยทำให้ผิวขาว การฉีดสารใดๆ เข้าสู่ร่างกายเพื่อความสวยความงาม ควรเข้ารับบริการกับสถานเสริมความงามที่มีใบอนุญาตประกอบสถานพยาบาล ในกรณีที่เกิดอาการแพ้ ทางสถานพยาบาลจะต้องรับผิดชอบดูแล ซึ่งจะมีเครื่องแพทย์และยารักษาคนไข้ได้ทันท่วงที สำหรับแพทย์ที่ทำการฉีดยาควรเป็นแพทย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโครงสร้างผิวหนัง กายวิภาค เซลล์วิทยา เพราะการฉีดต้องไม่ให้กระทบเส้นเลือดหรือเส้นประสาท และปริมาณของยาต้องเหมาะสม อันตรายจากผลข้างเคียงของการฉีดสารต่างๆ เพื่อเสริมความงาม นอกจากจะทำให้กล้ามเนื้ออวัยวะส่วนที่ฉีดสารนั้นเกิดอาการอักเสบอย่างรุนแรงแล้ว ในผู้ที่แพ้มากๆ ก็อาจเกิดอาการหายใจติดขัด ความดันโลหิตต่ำ หากรักษาไม่ทัน อาจถึงขั้นเสียชีวิต เมื่อผู้บริโภคแสดงพลัง กรณี “แคลิฟอร์เนีย (ไม่) ว้าว” ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสมาชิก “แคลิฟอร์เนีย ว้าว ฟิตเนส” ที่ได้รับความเสียหายจากใช้บริการ ไม่ได้รับบริการตามที่ตกลงในสัญญา เนื่องจากมีสาขาที่ปิดให้บริการเป็นจำนวนมาก จากการที่บริษัทตกอยู่ในภาวะล้มละลาย แถมยังถูกละเมิดสิทธิอย่างการไม่อนุญาตให้เขาไปใช้บริการหากไม่ยอมจ่ายเงินเพิ่มทั้งที่ไม่เคยได้ตกลงกันไว้ในสัญญา ที่สำคัญสมาชิกหลายคนชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิต ทำให้ถูกธนาคารหักเงินค่าบริการอย่างต่อเนื่องทุกเดือนแม้จะเข้าไปใช้บริการไม่ได้ สร้างความเดือดร้อนและความทุกข์ใจให้กับผู้เสียหายเป็นอย่างมาก ซึ่งยอดผู้ร้องเรียนที่เข้ามายังมูลนิธิฯ ตั้งแต่วันที่ 21-31 ส.ค. 2555 มีจำนวนมากกว่า 500 คน รวมเป็นค่าเสียหายมากกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ก็ได้ให้การสนับสนุนสมาชิกแคลิฟอร์เนีย ว้าว ฟิตเนส เดินหน้าเพื่อเรียกร้องสิทธิของตัวเอง เริ่มตั้งแต่ทำหนังสือถึงบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) เพื่อขอให้ดำเนินการแก้ไขปัญหากับสมาชิก โดยขอให้ทางบริษัทแจ้งกับธนาคารหรือผู้ให้บริการบัตรเครดิตให้ยุติการเรียกเก็บเงินค่าบริการผ่านบัตรเครดิตทั้งหมด โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น และสมาชิกที่ประสงค์จะยกเลิกสัญญา ขอให้ทางบริษัทคืนเงินที่ชำระไปแล้วทั้งหมดทุกกรณี ต่อด้วยการจัดเวทีสาธารณะโดยเชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาให้ความรู้ความใจที่ถูกต้องเพื่อร่วมกันหาแนวทางในการปกป้องสิทธิ จากนั้นก็มีเข้ายื่นหนังสือต่อ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เพื่อให้เร่งดำเนินคดีอาญากับบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว ข้อหา ฉ้อโกงประชาชน พร้อมกับเข้าแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(ปคบ.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ให้ดำนานการเอาผิดกับบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว ตามกฎหมายต่อไป ต้องคอยติดตามและเอาใจช่วยกันต่อไป ว่าท้ายที่สุดแล้ว สิทธิของผู้บริโภคในเมืองไทย จะยังคงได้รับการคุ้มครองอย่างที่ควรจะเป็นอยู่หรือไม่?

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 กรณีทีวี “จอดำ” (ตอนที่ 5 “ นาตะ ดนตรีที่ศาล?)

9  โมงเช้า ของวันที่  26  มิถุนายน 2555  กลุ่มผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้อง มาพร้อมหน้ากันที่ศาล  ตามเวลาที่นัดหมาย  เหตุการณ์ก็เป็นเหมือนเดิมคือ กว่าศาลจะลงนั่งบัลลังก์ ก็ปาเข้าไปเกือบเที่ยง   จากนั้นศาลได้เริ่มกระบวนการไต่สวนข้อมูลที่ได้จากกระบวนการไต่สวน ซึ่งเป็นที่ตื่นตะลึงมาก   เพราะเรารู้แต่ว่ารายการโทรทัศน์(ฟรีทีวี) บ้านเรามาจากระบบสัมปทานทั้งสิ้น  ช่อง 9 อสมท.  แตกคลื่นไปให้ช่อง 3 เช่า ช่อง 5 กองทัพบก แตกคลื่นไปให้ ช่อง 7 เช่า  ภายใต้สัญญาร่วมการงาน(ซึ่งเป็นสัญญาเช่าช่วงต่อจากผู้รับสัมปทาน)  ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์  และช่องสื่อสาธารณะ THAI PBSที่ว่าตื่นตะลึงคือ กฎข้อบังคับของการให้สัมปทานคือ  ผู้รับสัมปทานฟรีทีวีต้องทำให้ประชาชนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงฟรีทีวีได้โดยสะดวก  นั่นคือต้องลงทุนเพื่อกระจายคลื่น  เพราะฟรีทีวี  แม้ประชาชนจะได้ดูฟรี  แต่ฟรีทีวีเหล่านั้นก็สามารถหาผลประโยชน์ได้จากขายโฆษณาได้ชั่วโมงละ 12 นาที (ทำให้ช่อง 3 ช่อง 7 (รวยติดอันดับต้นๆของประเทศไทย)  แต่ข้อมูลที่เปิดออกมาคือ ผู้รับสัมปทานฟรีทีวีทั้งหมด หยุดการพัฒนาระบบกระจายคลื่นเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงมากว่า 15 ปี  โดยหน่วยงานที่ให้สัมปทาน ไม่มีการติดตามให้ผู้รับสัมปทานทำตามข้อบังคับที่กำหนดไว้ในสัญญารับสัมปทาน    และการที่ผู้บริโภคจะหวังพึ่ง กสทช. ก็คงพึ่งไม่ได้ เพราะ กสทช.เพิ่งออกประกาศ ระยะเวลาที่ผู้ได้รับสัมปทานรายเดิม(ฟรีทีวีทุกช่อง) ยังอยู่ไปอย่างนี้ได้อีก 10 กว่าปี  (มีกสทช.อีก 2 ชุดก็ยังหาน้ำยาไม่เจอ)เมื่อระบบส่งคลื่นสัญญาณไม่มีการพัฒนาก็ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องดิ้นรนกันเอง เพื่อให้เข้าถึงฟรีทีวีอย่างชัดเจน  นั่นคือ หันไปเสียเงินซื้อจานรับสัญญาณกันเองตามกำลังทรัพย์ที่มี    ศาลทั้งตั้งคำถามดีมาก    เช่น ถาม อสมท. ว่า คุณเป็นรัฐวิสาหกิจ ที่ได้รับความไว้วางใจให้บริหารจัดการคลื่นแทนรัฐ   ไปร่วมมือกับเอกชนละเมิดสิทธิการเข้าถึงฟรีทีวีของผู้บริโภคได้อย่างไร ถามว่าเรื่องการส่งคลื่นฟรีทีวี  ปัจจุบันส่งระบบใด  โดยสรุปทุกช่องส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมแล้ว   แม้ว่าจะพยายามบอกว่าคลื่นที่ส่งๆ ไปที่ฐานเครือข่ายของตนเอง  และการที่ประชาชนดูฟรีทีวีผ่านจานรับสัญญาณดาวเทียมได้นั้น  เป็นการลักลอบ  หรือขโมยสัญญาณของเขาโดยไม่ได้รับอนุญาต   เราก็เลยถามว่าเขาลักลอบใช้สัญญาณนานหรือยัง  คำตอบคือ  “มากกว่า 25 ปี”  เราเลยถาม ต่อว่า ทำไมไม่แจ้งจับปล่อยให้ลักลอบใช้สัญญาณนานขนาดนั้นได้อย่างไร คำตอบคือ  “เงียบ” ในส่วนฝั่งแกรมมี่ศาลได้เรียกสัญญาระหว่างแกรมมี่และยูฟ่า มาเปิดเผย(แต่ศาลห้ามนำออกมาภายนอก) ก็เห็นชัดเจนว่า ยูฟ่า ไม่ได้จำกัดการถ่ายทอดผ่านดาวเทียมแต่เขียนห้าม ไม่ให้สัญญาณออกนอกประเทศ ซึ่งประเทศไทยทำได้ที่จะไม่ให้สัญญาณทะลักออกไป นั่นคือการใส่รหัสผ่านเข้าไปดู  การที่ห้ามส่งสัญญาณผ่านผู้ที่ดูฟรีทีวีผ่านจานรับสัญญาณ แกรมมี่เป็นผู้กำหนดเอง  ด้วยเหตุผลทางธุรกิจ  เพราะผู้ที่ดูฟรีทีวีผ่านจานดาวรับสัญญาณคือ กลุ่มที่แกรมมี่จะขายกล่องรับสัญญาณของตนเองได้ (ส่วนกลุ่มที่ชมผ่านก้างปลาหนวดกุ้งไม่ใช่ฐานลูกค้า)  เพราะแกรมมี่มีแผนธุรกิจที่จะทำทีวีดาวเทียม     การที่แกรมมี่ประมูลสัญญาณการถ่ายทอดครั้งนี้แกรมมี่ได้หลายเด้ง  ทั้งขายโฆษณา ขายกล่อง ขยายฐานลูกค้าทีวีดาวเทียมของตนเองในอนาคต (โอ้โห.....พูดไม่ออก...)   ข้อมูลที่พรั่งพรูออกมาจากกระบวนการไต่สวนทั้งการตั้งคำถามของศาล และการตั้งคำถามของผู้ฟ้อง ชัดเจนยิ่ง(ในมุมของเรา) แต่มุมของศาลไม่ใช่ศาลยังอยากได้ข้อมูลประกอบอื่นทั้งเทคนิคเฉพาะเพื่อเป็นส่วนประกอบการตัดสินใจคุ้มครองหรือไม่   โดยขอไต่สวนเพิ่มฝ่ายเทคนิคของช่องต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับคดี และไม่เกี่ยวกับ  กระบวนการไต่สวนดำเนินไปเวลาถ่ายทอดอีกแค่ 2 นัดไม่ทราบว่าเป็นเทคนิคของศาลที่ต้องการลดการกดดันทางกระแสสังคม กับเรื่องนี้อ่อนลงหรือไม่   เพราะดูศาลจริงจังมาก  ลงไต่สวนเต็มองค์คณะ 6-8 คนทุกนัด  เวลาไต่สวนศาลมองมาทางเราบ่อยมาก และพูดประมาณว่าเราต้องมองอนาคต    และวันที่รอคอยก็มาถึงนั่นคือศาลนัดฟังคำตัดสินว่าจะคุ้มครองหรือไม่(คุ้มครองคือต้องถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวีทุกช่อง ไม่คุ้มครองคือถ่ายทอดผ่านหนวดกุ้งก้างปลาเหมือนเดิม)  คำตัดสินอย่างที่ทุกคนรู้กันว่า  “เรื่องนี้มีเรื่องลิขสิทธิ์ต่างประเทศมาเกี่ยวข้องจึงไม่คุ้มครอง  แต่รับคดีไว้พิจารณาต่อไป”สรุปว่าที่เขียนเล่ามาหลายตอน  อารมณ์ของผู้เขียนเหมือนนั่งดู “ลิเก”โรงใหญ่ที่มีผู้แสดงมากมาย  แต่ตอนจบหักมุม “นางเอกโดนน็อคหมดสติ” ลิเกโรงใหญ่ หรือ “นาตะดนตรีที่ศาล” จะจบอย่างไรคงต้องรอคำตัดสินในคดีนี้ต่อไปอย่างใจระทึก....

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 141 กรณีทีวี “จอดำ” ตอนที่ 4 มีสิทธิแต่การเข้าถึงสิทธิต้องรอก่อน..

มาตามที่นัดกันไว้เมื่อตอนที่แล้ว...  เริ่มด้วยเช้าวันที่ 25 มิถุนายน  2555   กลุ่มผู้ฟ้องคดีนัดรวมพลไปฟ้องคดี พร้อมกันทั้ง 5 คน รวมพยานและกองเชียร์ก็ประมาณ 40-50 คน    ประเด็นที่ฟ้องคือ 1.ขอให้ช่องฟรีทีวีแพร่ภาพออกอากาศการถ่ายทอดทันที่โดยไม่ยกข้ออ้างการอุปกรณ์มาปฏิบัติการเข้าถึงฟรีทีวี 2.ขอให้ฟรีทีวีหยุดเอาเปรียบผู้บริโภคและหยุดการกระทำการอันเป็นการไม่รับผิดชอบธุรกิจของตนเอง  พร้อมให้ศาลสั่งลงโทษ ผู้ประกอบการ โดยให้คำนึงถึงผู้เสียหาย 11 ล้านครอบครัว  3. ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4  ชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 1,590 บาท หรือ ในราคาเท่ากับกล่องรับสัญญาณของ GMMZ 4.  ขอให้ศาลมีคำแนะนำไปถึงรัฐบาลให้เร่งดำเนินการผลักดันให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามมาตรา 61เมื่อไปถึงศาลแพ่งรัชดา(โอ้โฮ....ดังจริงๆ เรื่องนี้) กลุ่มสื่อมวลชนจำนวนมากรอเรากันคึกคักมาก  ทำให้กลุ่มผู้ฟ้องอุ่นใจมากขึ้น(บนความหวังจอต้องหายดำคนไทยควรได้ดูบอลที่ถ่ายทอดในฟรีทีวีให้ได้)  ศาลเตรียมการต้อนรับอย่างดียิ่ง  พวกเราได้รับการอำนวยความสะดวกจากศาลที่แสนประทับใจ  ศาลรับคำฟ้องและให้พวกเรานั่งรอ   สักครู่ก็มีเจ้าหน้าที่มาแจ้งว่า  ฝ่ายที่ถูกฟ้องยื่นเอกสารคัดค้าน ว่าประเด็นนี้ไม่อยู่ในอำนาจศาลผู้บริโภค  เพราะฝ่ายที่ถูกฟ้อง เป็นหน่วยงานของรัฐ  ช่อง 5  เป็นของกองทัพบก   ช่อง 9 ช่อง 3 เป็นขององค์การแพร่ภาพกระจายเสียงแห่งประเทศไทย(อสมท.) ซึ่งควรอยู่ในอำนาจศาลปกครอง  ศาลกำลังพิจารณาขอให้ผู้ฟ้องรอก่อน ซึ่งพวกเราคิดไว้แล้วแต่ต้นว่าต้องเจอเรื่องนี้แน่  เพราะคดีผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเจอวิธีนี้ตลอด เรียกได้ว่าเป็นเทคนิค หรือเครื่องมือของผู้ประกอบการ ที่จะนำมาใช้เพื่อยืดคดีออกไปให้นานที่สุด พวกเราก็นั่งลุ้นว่าศาลจะคุ้มครองฉุกเฉินหรือเห็นคล้อยตามเสียงคัดค้าน    จนเกือบ 5 โมงเย็นศาลได้ออกนั่งบัลลังก์ครบองค์ทั้ง 8 คน  แล้วแจ้งว่า ศาลได้พิจารณาแล้ว  เห็นว่าเรื่องที่ฟ้องนี้อยู่ในอำนาจที่ศาลจะพิจารณาได้ ส่วนข้อมูลที่คัดค้านศาลจะส่งเรื่องไปยังศาลอื่นต่อไป   และศาลรับคำฟ้องไต่สวนฉุกเฉิน  แต่ขอนัดไต่สวนในวันถัดไป เวลา 9.00 น.  พวกเราไปรอตามเวลานัด  สิ่งที่เจอคือ  รอ...ก่อน ศาลกำลังพิจารณา  จนเกือบบ่าย 3 (รอ 6 ชม.) ศาลออกนั่งบัลลังก์ ครบ 8 คน ทั้งผู้ฟ้องและผู้ทุกฟ้องอยู่กันครบครัน  โดยเบื้องต้นขอไต่สวน กลุ่มผู้ฟ้องและพยานผู้ทรงคุณวุฒิก่อน  โดยฝ่ายผู้ถูกฟ้องเตรียมทนายมืออาชีพ ที่มีประสบการณ์ด้านเทคนิคการถ่ายทอดทีวีสูงมากมาซักค้าน ผู้ฟ้องถึง 2 คน  ในขณะผู้ฟ้องมิได้เตรียมทนายมาซักแก้     แต่ฝ่ายผู้ฟ้องไม่ได้เตรียมทนายมาเพราะตาม พรบ.วิธีพิจารณาความผู้บริโภค  ระบุไว้ชัดเจนว่าการฟ้องคดีผู้บริโภคไม่ต้องใช้ทนาย   แต่เมื่ออีกฝ่ายเตรียมมา หากฝ่ายผู้ฟ้อง ไม่มีก็จะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบทันที  กลุ่มผู้ฟ้องจึงขอเวลา  ทำหนังสือแต่งทนายกันหน้าบัลลังก์กันเลย   เมื่อมีทนายแล้ว ขบวนการไต่ส่วนก็เริ่มดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น  ใช้เวลาไต่สวน จนเกือบ 5 โมงเย็น    ศาลสั่งให้ไต่สวนใหม่วันรุ่งขึ้นเวลา 9.30 น.(ผ่านไปอีกวันยังไม่เห็นอะไร)โดยศาลมีคำสั่งเพิ่มว่านอกจากวันรุ่งขึ้นจะเป็นคิวไต่สวนผู้ถูกฟ้องแล้ว ศาลยังต้องการข้อมูลเพิ่มเติมด้านเทคนิคการถ่ายทอดทีวีด้วย   ขอให้ทั้งฝ่ายผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องไปช่วยประสาน  โดยศาลจะออกหนังสือเรียกตัวไปยังหน่วยงานต้นสังกัด   ที่สำคัญคือเวลาการถ่ายทอดลดลงเรื่อยๆ  เพราะนัดสุดท้าย คือวันที่ 2  กรกฎาคม 2555 ซึ่งเหลืออีกไม่กี่วัน  การไต่สวนว่าจะคุ้มครองหรือไม่จึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง  เพราะหากใช้เวลาไต่สวนนาน จนหมดเวลา ถึงศาลจะมีคำสั่งคุ้มครองก็จะไม่เกิดประโยชน์  และกลุ่มผู้ฟ้องไม่สามารถคาดเดาได้ว่าศาลจะใช้เวลาไต่สวนอีกกี่วัน  การรอคอยให้ถึงวันรุ่งขึ้น  จึงเป็นที่ระทึกยิ่งนักในกลุ่มของผู้ฟ้อง แต่ก็ไม่สามารถจะทำอะไรได้  คงทำได้แค่ รอ กับรอ..... เท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 140 กรณีทีวี “จอดำ”(ตอนที่ 3 “ฟ้องทั้งที ต้องทำให้ดัง”)

เจอกันอีกครั้ง กับกรณีทีวี “จอดำ” จากเดิม ที่มาถึงตอนที่ ผู้บริโภคตัดสินใจ ปฏิบัติการ “สิบล้อชนตึก” นั่นคือต้องฟ้อง แต่ใครล่ะ! ที่จะฟ้อง   และจะฟ้องศาลไหน?   ที่สำคัญคือเรื่องนี้ช้าไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องเด่นประเด็นร้อน  และมีเวลากระชั้นชิด  เพราะนัดการถ่ายทอดก็ลดลงทุกวัน  จากการตั้งวงคุยก็ได้ข้อสรุปว่ากรณีจอดำเป็นการละเมิดสิทธิ การเข้าถึงฟรีทีวีของผู้บริโภคอย่างชัดเจน  เป้า.....การฟ้องก็หนีไม่พ้นการฟ้องให้เป็นคดีผู้บริโภค ภายใต้กฎหมาย วิธีพิจารณาความผู้บริโภค  แต่การฟ้องด้วยกฎหมายนี้ฟ้องแทนไม่ได้  ต้องให้ผู้เสียหายมาเป็นผู้ฟ้องด้วยตนเอง   และด้วยระยะเวลาที่จำกัด เราหาผู้ร่วมฟ้องได้ 5 คน  คือ(ภายในไม่กี่ชั่วโมง) 1. นางสาวสารี   อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  2. นางสาวบุญยืน  ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค 3. นางสาวเรณู  ภู่อาวรณ์   ประธานศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม  4. นายขวัญมนัส  ภูมินทร์   ตัวแทนศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดราชบุรี  5. นายเฉลิมพงศ์  กลับดี  หัวหน้าศูนย์ทนายอาสามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค     ซึ่งต้องบอกว่าการตัดสินใจครั้งนี้   มีทั้งเสียงชื่นชม   และเสียงวิพากษ์ วิจารณ์ อื้ออึง... ทั้งว่าคนฟ้องเป็นพวกอยากดูฟุตบอลจนขึ้นสมอง   ไม่ยอมลงทุน(ซื้อกล่อง) ดูไม่ได้แล้วออกมาตีโพย  ตีพาย ...(ว่าไปนั่น..)  บ้างก็ว่า ประเด็นนี้เป็นแค่เรื่องเล็กๆ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มาทำเรื่องเล็กๆ อย่างนี้ทำไม  มีเรื่องใหญ่ๆ กว่านี้มากมาย  ทำไมไม่ไปทำ   แต่หลายเสียงก็ชื่นชมบอกขอบคุณที่ช่วยออกมาส่งเสียงต่อสังคมว่าคนส่วนใหญ่กำลังถูกเอาเปรียบ  มีทั้งโทรมาเชียร์  จดหมายมาร้องทุกข์ เมื่อคนทำงานอย่างเรา เจอทั้งกองเชียร์ และคนที่ตั้งคำถาม ก็ทำให้มึนๆ ดีเหมือนกัน   แต่ที่แน่ๆ คือต้องเดินหน้าฟ้องสถานเดียว   เพราะเรื่องนี้กระทบกับผู้บริโภคมากกว่า 11 ล้านครัวเรือน   ที่สำคัญการฟ้องครั้งนี้ ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ลุกขึ้นมาทำหน้าที่(ที่ต้องทำ)  โดยกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคประเด็นนี้ให้ชัดเจน   ให้เป็นบรรทัดฐานการให้บริการฟรีทีวีในประเทศไทย     เพื่อป้องปรามมิให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจ  ที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคมากขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเริ่มตั้งแต่กลุ่มผู้ฟ้องร่วมกันเขียนคำฟ้อง  และเตรียมพยานส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ   ต้องทำเองทุกขั้นตอนเพื่อความรอบคอบของคดี   เมื่อคดีนี้กระทบผู้บริโภคจำนวนมาก    การฟ้องคดีก็ต้องฟ้องให้ดังๆ ดังนั้นก่อนฟ้องจริง  กลุ่มผู้ฟ้องได้จัดเวทีแถลงข่าว  เพื่อให้ฝ่ายธุรกิจรู้ว่าผู้บริโภค “สู้โว้ย...แล้วนะ...” ที่มากไปกว่านั้นคือพวกเรานัดหมายศาลออกอากาศกันเลย......ว่าเราจะไปฟ้องกันวันไหน เพื่อให้ศาลเตรียมการ  หลักจากการแถลงข่าวของพวกเรา (ได้ผลมากกก........)  เพราะสามารถทำให้นักการเมืองที่กำกับดูแลการคุ้มครองผู้บริโภคโดยตรง   แสดงตัวออกมาเป็นเจ้าภาพเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้บริหารแกรมมี่มาหารือเพื่อแก้ปัญหา “จอดำ” อย่างเร่งด่วน...(ทั้งที่เดิมหลับอยู่) กำลังเข้มข้น  เจอกันเล่มหน้านะจ๊ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 139 กรณีทีวี “จอดำ” (ตอนที่ 2 “ปฏิบัติการ สิบล้อชนตึก”)

เจอกันอีกครั้ง กับเรื่อง “จอดำ” จากเดิม ที่มาถึงตอนที่ กสทช.ออกมาประกาศว่าไม่สามารถช่วยเหลือผู้บริโภคที่ดูทีวีผ่านอุปกรณ์รับสัญญาณด้วยจานดาวเทียมได้  เพราะแกรมมี่เป็นผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาต ประกอบกิจการจากกสทช. และที่สำคัญคือ  การที่แกรมมี่ ได้ไปทำสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ การถ่ายทอดฟุตบอล ยูโร กับ ยูฟ่า    ซึ่งแกรมมี่ เป็นฝ่ายยื่นข้อเสนอในสัญญาไปว่า “ฟรีทีวี” ในประเทศไทย ให้มีแต่  ผู้ที่รับสัญญาณทางภาคพื้น ที่ใช้อุปกรณ์รับสัญญาณ โดย หนวดกุ้ง,ก้างปลา เท่านั้น  ที่น่าตกใจคือ  กลุ่มคนที่ถูกกีดกัน (คนมีจาน)เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ  ประมาณราวๆ 75% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ (อุแม่เจ้า..ทำไปได้....)   และที่สำคัญมากไปกว่านั้น ที่กสทช.  ออกมาประกาศชัดเจนว่า ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ในกรณีนี้ได้เพราะ “กสทช.ยังไม่มีระเบียบปฏิบัติในเรื่องนี้” จึงต้องปล่อยไปก่อน  เพราะมันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ “ลิขสิทธิ์ “ เอา.....ละซิ   เจอลูกนี้เข้าไป  ผู้บริโภคอย่างเราถึงกับมึน..... ในเมื่อหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล อย่างกสทช.ออกมาปฏิเสธความรับผิดชอบด้วยเหตุผล “ยังไม่ได้ออกระเบียบ หรือยังออกระเบียบไม่ทัน” เราจะทำอะไรกันดี    ในขณะเดียวกันที่ กสทช.บอกว่าช่วยอะไรผู้บริโภคไม่ได้  ตรงกันข้ามกับการที่มีนำเข้ากล่องรับสัญญาณต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น  กล่อง GMM-Z ทีมีการนำเข้าโดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเช่นกัน(เป็นผู้ประกอบการเถื่อน)  แต่กสทช. กลับบอกว่าเมื่อ กสทช.ยังไม่มีระเบียบเรื่องนี้ต้องยกประโยชน์ให้ผู้ประกอบการโดยต้องปล่อยให้เขานำเข้ามาก่อน จนกว่าจะมีระเบียบ   เป็นไงจ๊ะ....  อ่านถึงตรงนี้แล้วผู้บริโภคอย่างเราๆ รู้สึกตื้นตันใจมากไหม! กับการใช้ดุลพินิจของ กสทช.ในครั้งนี้     ซึ่งเห็นชัดว่า ในส่วนของผู้บริโภค ถูกตีความว่าช่วยอะไรไม่ได้  ต้องปล่อยให้ถูกละเมิดไปก่อน   และในส่วนของผู้ประกอบการ กับใช้ดุลพินิจเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการอย่างชัดเจน..... ดูซิ! การใช้ดุลพินิจเรื่องนี้ช่าง เป็นธรรมเสียเหลือ..เกิ้นนนนนน....   ซึ่งชี้ชัดแล้วว่า  ผู้บริโภคอย่างเราๆ  พึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ไม่ได้จริง  ..  ช่องทางที่เหลือคือ “ต้องช่วยเหลือตัวเอง” วงคุยเรื่องนี้จึงเกิดขึ้น(หลายรอบ)   ในที่สุดที่พึ่งสุดท้ายก็หนีไม่พ้น การนำเรื่องนี้เข้าไปสู่กระบวนการพิจารณาของศาล  เพื่อให้เกิดบรรทัดฐาน ในกรณี จอดำ เพื่อมิให้เกิดปรากฏการ จอดำในอีกหลายกรณี  ทั้ง โอลิมปิก และรายการสำคัญๆที่มาผ่าน ฟรีทีวี  คนไทยทุกคนต้องได้ดู    เมื่อตัดสินใจฟ้อง...  ก็ต้องมาดู  ว่า จะฟ้องศาลไหน!  และจะฟ้องใครบ้าง!    เมื่อมาดูว่าศาลไหน  ที่ง่ายและตรงประเด็นที่สุดคงหนีไม่พ้น  ศาลผู้บริโภค (ศาลแพ่ง)ภายใต้กฎหมายวิธีพิจารณาความผู้บริโภค  ที่เป็นกฎหมายที่ตรงประเด็นที่สุด    เมื่อหันมามองคู่กรณีที่เราจะฟ้อง  ก็หนีไม่พ้น  ฟรีทีวี  ช่อง 3,5,9  และ บ.แกรมมี่ เช่นกัน เขียนเท่านี้ เหมือนไม่มีอะไรมากมาย  แต่พอแตกออกมา การฟ้องช่อง 5 หมายถึง การที่ผู้บริโภคตัวเล็กๆอย่างเรา  ต้องฟ้อง กองทัพบก ฟ้องช่อง 3 ช่อง 9 คือการฟ้อง องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) แกรมมี่ก็เป็นบริษัทธุรกิจบันเทิงขนาดใหญ่ ที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับการเมืองไทย       เอาละซิ...งานใหญ่แล้วละทีนี้    แต่เมื่อคิดจะสู้ ใหญ่ยังไงก็ต้องสู้  เสมือนว่า เล็กก็ล้มใหญ่ได้ถ้าใจมันถึง   สิ่งที่ต้องหาต่อไปคือใครจะเป็นหน่วยกล้าตายที่จะอาสามาเป็นผู้ฟ้อง (ปฏิบัติการสิบล้อชนตึก) ใครบ้าง?จะฟ้องมุมไหน?  ในกระบวนการฟ้องต้องเจอกับอะไรบ้าง ? โปรดติดตามตอนต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 138 กรณีทีวี “จอดำ”(ตอนที่ 1 สัญญาณทีวีของฉัน..หาย...ไปไหน)

หลายท่านคงได้ทราบข้อมูลของขบวนการต่อสู้  เรื่อง “จอดำ”กันมาบ้างพอสมควร  หลังจากที่เครือข่ายผู้บริโภคอออกมาเรียกร้องสิทธิเรื่องนี้กันกระหึ่มเมือง   การที่เครือข่ายฯ ต้องออกมาสื่อสารเรื่องนี้กับสังคม   เพราะเห็นว่าปัญหา “จอดำ” เป็นการดำเนินการที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคอย่างชัดเจน    เริ่มจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนว่า  ทีวีที่รับสัญญาณฟรีทีวีด้วยจานดาวเทียม ดูฟุตบอล “ยูโร”ไม่ได้เพราะจอมีเพียงสีฟ้า และตัวหนังสือขออภัยไว้ยืดยาว  สรุปคือ ดูไม่ได้หรือไม่ได้ดู นั่นเองเรื่องขยายไปสู่ข้อร้องเรียนของปัญหาที่ผู้เขียนและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ต้องมาหารือกันว่าจะทำอะไรได้บ้างในเรื่องนี้   และสิ่งที่พวกเราเห็นว่า “แปลก”คือเราเคยดูฟรีทีวีได้อย่างปกติไม่ว่าจะใช้อุปกรณ์ไหน.. รับจากจานฯ รับจากก้างปลา รับจากหนวดกุ้ง และอื่นๆวันดีคืนดี สัญญาณที่เคยรับฟรีทีวีได้ก็หาย...ไป ผู้บริโภคที่รับสัญญาณจากดาวเทียมเป็นกลุ่มที่ถูกกำหนดโทษโดยภาคธุรกิจ  ว่าเป็นกลุ่มที่ไม่มีสิทธิดูฟรีทีวี ที่มีการถ่ายทอดสดฟุตบอล ยูโร ในครั้งนี้  “ถูกต้องไหม” ซึ่งในความเห็นของพวกเราที่ทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค  เห็นพ้องต้องกันว่า เรื่องนี้เป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคอย่างชัดเจน  ครั้งยิ่งใหญ่ เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบครั้งนี้มากกว่า 11 ล้านครอบครัว  หากคูณ ครอบครัวละ 3 คน คนที่ถูกละเมิดก็ปาเข้าไป  33 ล้านคน   เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่คนทำงานคุ้มครองผู้บริโภคไม่อาจนิ่งเฉยได้    และการกระทำครั้งนี้น่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ  พ.ศ. 2550 มาตรา 47  วรรค 1  ที่กำหนดไว้ว่า  “คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ” ซึ่งเป็นข้อความที่ชัดเจนว่าประชาชนทุกคน เป็นเจ้าของและมีสิทธิเข้าถึงคลื่นความถี่ดังกล่าวได้อย่างเท่าเทียม      ก็ยิ่งชัดเจนว่า หากปล่อยไปไม่ทำอะไรเลย..ประเด็นเช่นนี้ก็จะเกิดขึ้นอีกมากมาย     และอาจนำไปสู่การแข่งขันของภาคธุรกิจที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ ผลักดันให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินเพื่อให้เข้าถึงสิทธิมากขึ้นโดยไม่มีขีดจำกัด เมื่อหันไปดูที่หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในเรื่องนี้   ก็หนีไม่พ้น  คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ซึ่งยังนิ่งเฉยไม่หือไม่อือ  ทั้งๆ ที่มีหน้าที่โดยตรงอย่างชัดเจน (ยังทำหน้ามึนๆ เหมือนไม่เกิดอะไรขึ้น) เมื่อมีข้อมูลค่อนข้างชัดเจนปฏิบัติการทวงสิทธิก็อุบัติขึ้น   เริ่มจากเครือข่ายผู้บริโภค ร่วมกันออกแถลงการณ์  เพื่อเรียกร้องสิทธิทันที   จนส่งผลให้ กสทช. สั่งปรับ ทรู วันละ 20,000 บาท  ฐานที่โฆษณาเกิน  “บอกว่าจะดูฟรีทีวีได้  แต่กรณี ยูโร  ลูกค้าที่จ่ายค่าสมาชิกรายเดือนของทรู ที่ดูไม่ได้      ส่วนผู้บริโภคที่ใช้จานแบบอื่น กสทช. ออกมาบอกว่า  ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะยังไม่ได้เขียนระเบียบเรื่องนี้      กสทช.จัดการได้เพียงบริษัททรู   เพราะเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต  ส่วนแกรมมี  เป็นธุรกิจที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาต   กสทช.ยังไม่สามารถจัดการได้  เอาละ......เรื่องราวกำลังเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ  โปรดติดตามตอนต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 158 กระแสต่างแดน

กระแสต่างแดนฉบับนี้ขอนำเสนอบางส่วนจากการประชุมนานาชาติเรื่อง “การคุ้มครองผู้บริโภคในยุคดิจิตอล” เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส เชียงใหม่ ประเทศไทยเรานี่เอง งานนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมจากองค์กรที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคกว่า 200 คน จาก 32 ประเทศ (ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฟิจิ อินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน อัฟกานิสถาน เนปาล โอมาน อียิปต์ เยเมน ลิเบีย เลบานอน ซาอุดิอาระเบีย ซูดาน ซิมบับเว อัฟริกาใต้ อาร์เจนตินา ชิลี สโลเวเนีย อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา)   นาทีนี้ถ้าไม่พูดเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคทีวีดิจิตอลก็กลัวจะเชย เราจึงนำประเด็นที่วิทยากรจากต่างประเทศนำเสนอมาฝากกัน ... เริ่มจากเพื่อนบ้านใกล้เคียงในอาเซียนอย่างสิงคโปร์กันก่อนเลย     สิงคโปร์ ประเทศในภูมิภาคอาเซียนตกลงกันว่าจะเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิตอลให้หมดภายในปี 2020  สิงคโปร์ก็เริ่มเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ทีวีดิจิตอลตั้งแต่ปี 2013 แล้ว เขาใช้กล่องรับสัญญาณดิจิตอล มาตรฐาน DVB-T2 เหมือนบ้านเรา สนนราคาที่ขายกันอยู่ก็สูงตามค่าครองชีพ อยู่ที่ประมาณ 3,000 กว่าบาท ประเด็นที่น่าสนใจคือการให้ความช่วยเหลือกับครัวเรือนรายได้น้อย (ได้แก่ ครัวเรือนที่เป็นผู้เช่าอาศัยแฟลตขนาดไม่เกิน 2 ห้องนอน ครัวเรือนที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 1,900 เหรียญ ที่สำคัญต้องไม่เป็นสมาชิกเคเบิลทีวีหรือทีวีดาวเทียมอยู่ก่อน และคนที่อยู่ภายใต้โครงการความช่วยเหลืออื่นๆ จากรัฐ) รวมๆ แล้วมีผู้ที่เข้าข่ายได้รับความช่วยเหลืออยู่ประมาณ 170,000 ครอบครัว สมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์เล่าถึงประสบการณ์การเปลี่ยนผ่านฯ ว่ารัฐบาลได้ขอความเห็นจากสมาคมฯ รวมถึงข้อห่วงใยเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับครัวเรือนรายได้น้อย รวมถึงทำงานร่วมกับภาคธุรกิจโดยเรียกร้องให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงสิทธิผู้บริโภคด้วย สิงคโปร์เขามีการกำหนดหลักประกันว่าประชาชนต้องสามารถเข้าถึงเนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์ได้ โดยอาจมีการเรียกเก็บค่าบริการบ้างเล็กน้อย จึงไม่ต้องรับมือกับปัญหา “จอดำ” และตามสไตล์สิงคโปร์การโฆษณาในทีวีจะถูกกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด โฆษณาอกฟูรูฟิตคงจะหาดูได้ยากหน่อย   เกาหลีใต้ ขยับออกไปไกลอีกนิด ไปที่เกาหลีใต้กันบ้าง การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบดิจิตอลของเกาหลีใต้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2540 และเขามีการหยุดระบบอนาล็อคไปในเดือนธันวาคมปี 2555  โดยแผนการดำเนินงาน 4 ขั้นตอน เริ่มจากการรณรงค์ระดับชาติให้ผู้บริโภคได้รับรู้และเข้าใจเรื่องทีวีดิจิตอล  จากนั้นเริ่มทดลองปิดระบบอนาล็อค ในระหว่างปี 2553 - 2554  จากนั้นทำการตรวจสอบประเมินการปิดระบบอนาล็อค และขั้นตอนสุดท้ายคือการ ติดตามการดำเนินงานเรื่องการจัดสรรช่องใหม่ ตามความเห็นของผู้บริหารองค์กรผู้บริโภคแห่งเกาหลี การปิดระบบอนาล็อคนั้นถือว่าได้ผลดี และทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเปลี่ยนผ่าน ตั้งแต่องค์กรผู้บริโภค บริษัทผู้ผลิตเครื่องรับโทรทัศน์ (ซัมซุงและแอลจี) และผู้ประกอบการโทรทัศน์ เป็นต้น บทเรียนจากการทำงานของเกาหลีฝากไว้ให้กับประเทศที่กำลังจะทำการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิตอลคือ 1. ในการเปลี่ยนผ่านนั้น จะต้องมีการให้ข้อมูลที่เพียงพอและให้การสนับสนุนช่วยเหลือผู้บริโภคในการใช้เทคโนโลยีใหม่(ผู้บริโภคเกาหลีสามารถรับกล่องสัญญาณโดยไม่มีค่าใช้จ่าย .. อิจฉาล่ะสิ) 2. ควรมีศูนย์ข้อมูลสำหรับผู้บริโภคที่มีความพร้อมในการรับเรื่องร้องเรียนที่จะเกิดขึ้น   อินเดีย ไปที่ประเทศที่ผู้คนจำนวนมากมองว่าโทรทัศน์เป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต (ชนิดไม่มีหลังคาบ้านยังพออยู่ได้ แต่ไม่มีเคเบิลดูละครฉันไม่ยอมเด็ดขาด) ที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิตอลให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายนปีนี้  ตัวแทนจากฟอรั่มผู้บริโภคมุมไบเล่าให้เราฟังว่าปัจจุบัน อินเดียมีช่องโทรทัศน์ไม่ต่ำกว่า 900 ช่องและรายได้ของธุรกิจโทรทัศน์ในปี 2013 ก็สูงถึง 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2523 – 2532 อินเดียมีผู้ประกอบการโทรทัศน์เพียง 1 รายเท่านั้น องค์กรผู้บริโภคให้ความเห็นว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอลนี้เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ผู้บริโภคได้ประสบการณ์การรับชมรับฟังที่ดีขึ้น มีทางเลือกมากขึ้น และมีบริการเพิ่มมูลค่ามากขึ้นด้วย ในขณะที่ภาครัฐก็ได้ประโยชน์จากการเรียกเก็บค่าบริการอย่างโปร่งใสและมีรายได้เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ และผู้ประกอบการก็ได้รับผลกำไรจากการบริหารจัดการคลื่นความถี่ด้วยเช่นกัน แต่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการเปลี่ยนผ่าน สิ่งที่อินเดียต้องทำเป็นอย่างแรกคือการหลอมรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งหมด (ซึ่งขณะนี้ยังมีความลักลั่นกันอยู่) เพื่อรองรับปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ลืมบอกไปว่างานประชุมนานาชาติครั้งนี้ร่วมจัดโดย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International)   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 บทเรียน ทีวี จอดำ กับมาตรการป้องกันผู้บริโภคจากการถูกเอาเปรียบ

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการการแข่งขันฟุตบอลระหว่างชาติยุโรป หรือ ศึกยูโร 2012 เป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะแต่สำหรับคนที่สนใจในเกมส์การแข่งขันแล้ว แต่สำหรับคนทำงานเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชน น่าจะใช้เหตุการณ์นี้เป็นบทเรียน โดยเฉพาะเรื่องการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ชมโทรทัศน์ในบ้านเรา ที่จะมีการเปลี่ยนระบบส่งสัญญาณโทรทัศน์เป็นระบบดิจิตอลในอนาคตอันใกล้นี้ ใครที่เป็นสมาชิกทรูวิชันส์ ดูทีวีผ่านระบบเคเบิล หรือผ่านระบบดาวเทียมนั้นต่างก็ก่นด่า และเบื่อหน่ายรำคาญ กับการเห็นแก่ได้ของฝ่ายทุน ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ทรู แกรมมี หรือแม้แต่ สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีเองก็ตาม การเอาเปรียบผู้บริโภคโดยอาศัยลิขสิทธิ์ในทางการค้านั้น แม้แต่ในประเทศเยอรมนีเอง ที่ภาคประชาชนเข้มแข็ง ภาคการเมืองเป็นอิสระจากระบบทุนมากกว่าของไทยเรา เพราะพรรคการเมืองไม่ได้อยู่ภายใต้อาณัติของระบบทุนนิยมสามานย์ นั้น มีการจัดการอย่างไรในเรื่องนี้ บทความฉบับนี้ผมขออนุญาตนำบทเรียนจากทางเยอรมันมาเล่าสู่กันฟังครับ   ผู้บริโภคโดนจำกัดสิทธิ เพราะเทคโนโลยีก้าวล้ำ แต่คุณธรรมที่ล้าหลัง ในประเทศเยอรมนีเองนั้น หลังจากเปลี่ยนการแพร่สัญญาณโทรทัศน์จากระบบอนาลอกมาเป็นระบบดิจิตอลโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2012 แล้ว ผู้บริโภคก็ประสบปัญหาไม่สามารถรับชม รายการโทรทัศน์ทั้งจาก ฟรีทีวีได้ ถึงแม้ว่า จะมีช่องฟรีทีวีที่หลากหลาย และรายได้ของช่องสถานีฟรีทีวีจะมาจากโฆษณาก็ตาม ช่องรายการของโทรทัศน์สาธารณะที่มีอยู่  2 ช่องในระดับสหพันธรัฐ และอีก 1 ช่องในระดับรัฐบาลท้องถิ่น ที่ทำหน้าที่และมีบทบาทเหมือนกับช่องไทย พีบีเอสบ้านเรา ซึ่งเป็นผลมาจากการที่บริษัทผู้ให้บริการเคเบิลทีวี และผู้ให้บริการทีวีดาวเทียม ต้องการจะขายเครื่องรับสัญญาณของตนให้กับผู้บริโภคโดยถือโอกาสใช้การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีไปใช้ในการหาประโยชน์ในทางธุรกิจ ซึ่งผู้บริโภคส่วนมากก็จะต้องเสียค่าบริการรายเดือนเหมือนกับบ้านเรา และที่ร้ายไปกว่านั้น ในกรณีที่ผู้บริโภคย้ายที่อยู่จากมลรัฐหนึ่งไปอยู่อีกมลรัฐหนึ่ง กล่องรับสัญญาณที่ผู้บริโภคมีอยู่เดิมนั้นไม่สามารถรับสัญญาณได้อีกต่อไป ต้องไปซื้อกล่องรับสัญญาณอีก เพราะในการเปลี่ยนผู้ให้บริการนั้น ก็ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์รับสัญญาณไปด้วย ในกรณีนี้ ผู้บริโภคจะจ่ายสองเด้ง คือ จ่ายในรูปของภาษี เพราะช่องรายการโทรทัศน์สาธารณะนั้น จะได้รับเงินสนับสนุนจากภาษีของประชาชน แต่ถ้าผู้บริโภคอยากจะดูรายการก็ต้องจ่ายสตางค์เพื่อจะซื้อกล่องรับสัญญาณอีก ทั้งๆ ที่ตามกฎหมายแล้ว รัฐจะต้องดำเนินนโยบายให้ประชาชนเข้าถึงรายการสาธารณะโดยทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ในกรณีของฟรีทีวี ซึ่งมีรายได้จากการขายเวลาโฆษณา ถึงแม้นว่าประชาชนได้ชมรายการจากฟรีทีวี ก็ต้องดูโฆษณาจากฟรีทีวีด้วย ผู้ประกอบการฟรีทีวีได้รับรายได้สองต่อคือค่าโฆษณาและเงินรายได้จากสถานีโทรทัศน์ที่ต้องการเพิ่ม rating ให้กับสถานีของตน แต่ประชาชนขาดทุนสองเด้งเช่นกัน คือ จ่ายค่าสมาชิกให้กับบริษัทประกอบกิจการเคเบิลทีวี และจ่ายภาษีให้กับรัฐด้วย   ผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคในเยอรมันทำอย่างไร ผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคที่เกี่ยวข้อง เช่น สหพันธ์องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค (VZBV) และ สหพันธ์องค์กรคุ้มครองสิทธิคนอยู่บ้านเช่า (Der Deutsche Mieterbund) และสหพันธ์องค์กรผู้ประกอบกิจการที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์ (Bundesverband deutscher Wohnungs- und Immobilienunternehmen) ได้ทำหนังสือแถลงการณ์ประท้วงไปยังรัฐบาลท้องถิ่น และรัฐบาลกลางเพื่อให้เปลี่ยนแปลงนโยบายที่ไม่ได้เป็นมิตรกับผู้บริโภคในเรื่องการเข้าถึงสื่อทีวีสาธารณะเช่นนี้ พร้อมกับสนับสนุนให้องค์กรผู้บริโภค ได้จัดเวทีสานเสวนา (Dialog) ถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค (น่าสังเกตว่านักการเมือง ของเขานั้น ไม่ได้เติบโตมาจากกลุ่มทุน แต่เติบโตมาจากพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองจริงๆ แยกออกมาจากกลุ่มธุรกิจอย่างสิ้นเชิง กรรมการบริหารพรรค ไม่ได้มีรากเหง้ามาจากแวดวงธุรกิจเหมือนกับนักการเมืองส่วนใหญ่ในบ้านเรา)   บทเรียนของเยอรมนีกับการกำกับดูแลภายใต้ กสทช. สำหรับองค์กรคุ้มครองสิทธิคนอยู่บ้านเช่านั้น เข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ เพราะ คนเยอรมันส่วนใหญ่ ไม่มีบ้านหรือที่ดินเป็นของตนเอง จะอยู่ห้องเช่า (Wohnung) เป็นส่วนมากของจำนวนประชากรทั้งหมด เพราะฉะนั้นมีความจำเป็นในเรื่องการคุ้มครองสิทธิของคนที่อยู่บ้านเช่าเพื่อมิให้ถูกบริษัทธุรกิจทำบ้านให้เช่านั้นเอาเปรียบ เนื่องจากบ้านเช่าหรือห้องเช่าในเยอรมนีนั้นส่วนมากจะมีระบบรับสัญญาณเคเบิลทีวี  อยู่ในห้องแล้วเรียบร้อย ผู้เช่าห้องสามารถบอกรับการเป็นสมาชิกได้เลย ไม่ต้องทำเรื่องติดตั้ง หรือต่อสายเข้ามาในบ้านเหมือนบ้านเรา สำหรับเรื่องการติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณเคเบิลนั้น กสทช. สมควรจะเข้ามาควบคุมดูแล ร่วมกับบริษัทเอกชน เพราะเป็นเรื่องโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน หาก กสทช. กำกับดูแลดี ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์และเข้าถึงสัญญาณโทรทัศน์ได้อย่างทั่วถึง ประกอบกับจะเกิดการใช้ทรัพยากรของชาติอย่างคุ้มค่า ซึ่งได้กำหนดไว้ในแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2555- 2559 ภายใต้ยุทธศาสตร์ ที่3 การกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มีการแก้ไขเยียวยาปัญหาอย่างรวดเร็วและไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งถึงแม้นว่า กสทช. จะออกคำสั่งทางปกครองสั่งปรับทรู วิชันส์ วันละสองหมื่นบาทนั้น ย่อมเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ถูกจุด มูลค่าในการสั่งปรับน้อยมาก ไม่กระทบกระเทือนกับธุรกิจ  และไม่สามารถเยียวยาผู้บริโภคได้เลย หลังจบฟุตบอลยูโรแล้ว กสทช. ฟรีทีวี และทีวีสาธารณะอาจต้องร่วมกันหามาตรการป้องกันการผูกขาด ที่มาในรูปของลิขสิทธิ์ที่กลุ่มทุนนำมาใช้เป็นเครื่องมือ ในการจำกัดสิทธิผู้บริโภคในการเข้าถึง Event ระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น ฟุตบอลโลก ฟุตบอลยูโร และกีฬาโอลิมปิคในอนาคต เหมือนกับที่สื่อสาธารณะของเยอรมนี ไม่ยอมก้มหัวให้กับการหากำไรของทุนนิยมในประเทศของเขาครับ

อ่านเพิ่มเติม >