ฉบับที่ 276 ถูกมิจฉาชีพหลอกให้จองที่พัก

        เรื่องราวของมิจฉาชีพที่มาในรูปแบบของเพจเฟซบุ๊กปลอมหลอกให้โอนเงินจนเสียทรัพย์สินเกิดขึ้นบ่อย แต่ก็ยังมีหลายคนพลาดเพราะความเนียนของมิจฉาชีพ ซึ่งไม่นานนี้คุณพลอยก็ได้ร้องเรียนเรื่องนี้เข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเช่นกัน         เรื่องนี้เริ่มจาก คุณพลอย ได้พบ Facebook ชื่อ BEACH VIEW pool Villa โพสต์โฆษณาที่พักที่หาดเจ้าสำราญ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ซึ่งสวยงาม ถูกใจมาก คุณพลอยสนใจจึงติดต่อไปจองเข้าพักในวันที่ 23-24 ธ.ค. 66 แอดมินเพจ BEACH VIEW pool Villa ก็ตอบกลับอย่างรวดเร็วแจ้งให้คุณพลอยโอนเงินค่าที่พักทันทีแล้วจะได้ส่วนลด 3,300 บาท จากราคาเต็ม 13,000 บาท คุณพลอยจึงโอนเงินค่าที่พักไปทันที จำนวน 9, 700 บาท  แต่เมื่อโอนเงินแล้วแอดมินเพจยังบอกอีกว่า ต้องโอนค่าประกันที่พักอีกจำนวน  5,000 บาท การจองจึงจะสมบูรณ์ คุณพลอยหลงเชื่อเพราะคิดว่าได้โอนเงินไปแล้ว 9, 700 บาท การติดต่อก็ไม่ได้ขาดหาย แล้วเรื่องเงินประกันก็มีเหตุผล ซึ่งเงินประกันย่อมได้คืนหากไม่มีอะไรเสียหายกับที่พัก เธอจึงโอนเงินไปให้อีก 5,000 รวมเป็นเงิน 14,700 บาทถ้วน         แต่เรื่องราวกลับถูกเปิดเผยว่า นี่คือมิจฉาชีพ เมื่อคุณพลอยเดินทางไปยังสถานที่จริงตามที่เพจระบุกลับไม่พบที่พักสวยหรูอย่างที่โพสต์ไว้เลย เวียนหายังไงก็ไม่เจอ เมื่อถามกับโรงแรมใกล้เคียงก็พบว่าไม่มีที่พักชื่อ Beach View Pool Villa และไม่สามารถติดต่อผู้ขายและแอดมินเพจได้อีกแล้ว จึงรู้ว่าถูกหลอก คุณพลอยจึงแจ้งความเพื่อดำเนินคดีที่ สน.สำเหร่ ทันที ต่อมาเมื่อนำไปไปสืบหาความจริงเรื่อยๆ จึงได้พบว่า แท้จริงแล้วภาพสวยๆ ที่อยู่บนโพสต์นั้นเป็นมิจฉาชีพนำภาพของที่พักชื่อ Canary Good Pool Villa มาเนียนหลอกลวงคน ซึ่งเจ้าของที่พัก (เจ้าของภาพ) ดังกล่าวก็ได้แจ้งความเอาผิดกับมิจฉาชีพแล้วด้วยเช่นกัน  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อผู้บริโภครู้ว่าซื้อสินค้าบริการแล้วถูกหลอก  ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้         1.เก็บหลักฐานข้อมูลให้มากที่สุด เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการสืบสวน เช่น เบอร์โทรศัพท์ผู้ขาย , ภาพหน้าร้านเพจ, โปรไฟล์ของพ่อค้าแม่ค้า,บัญชี, ธนาคารที่โอนเงินไป, สลิป และ การโอนเงินชำระค่าสินค้า         2. โทรแจ้งธนาคารอาญัตบัญชีของมิจฉาชีพทันที  เมื่อรู้ตัวว่าถูกโกง ผู้บริโภคสามารถโทรศัพท์ไปที่ศูนย์รับแจ้งเหตุภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพของธนาคารต่างๆ ได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง (โดยที่ไม่จำเป็นต้องแจ้งความก่อน) ซึ่งเป็นไปตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี         3. ไปแจ้งความทันที โดยแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน โดยแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่า “ขอให้ดำเนินคดีให้ถึงที่สุด” อย่าทำเพียงลงบันทึกประจำวันเด็ดขาด! หรือแจ้งความออนไลน์ที่  www.thaipoliceonline.com         4. ประสานงาน ติดต่อแพลตฟอร์มผู้ให้บริการ เพื่อนำหลักฐานการแจ้งความ เพื่อแจ้งประสานงานขอข้อมูลมิจฉาชีพ ที่ใช้ทำการสมัคร และเพื่อให้ เพื่อค้นหาข้อมูลต่างๆ ในการตามตัว รวมทั้งเพื่อให้ แพลตฟอร์มผู้ให้บริการยกระดับความปลอดภัยของผู้ขายสินค้าด้วย             5.ส่งข้อมูลที่ได้เพิ่มมาให้กับตำรวจ เป็นระยะเพื่อตามตัวมิจฉาชีพให้ได้         อย่างไรก็ตามจนถึงปัจจุบัน คุณพลอยแม้จะได้แจ้งความกับตำรวจและติดต่อให้ธนาคารอายัดบัญชีธนาคารของมิจฉาชีพแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับเงินคืนแต่อย่างใด ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคขอย้ำว่า การมีความรู้เท่าทันไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพหรือการป้องกัน เป็นวิธีการที่ดีกว่าการแก้ปัญหาภายหลังแน่นอน  ซึ่งกรณีนี้ที่คุณพลอยถูกมิจฉาชีพหลอกให้จองที่พักในเพจ Facebook ชื่อ BEACH VIEW pool Villa  มีข้อสังเกตที่ผู้บริโภคสามารถนำไปป้องกันตนเองได้คือ           1. มิจฉาชีพให้คุณพลอยชำระค่าที่พักและค่าจองไปยังบัญชีที่เป็นชื่อบุคคล  ซึ่งหากเป็นโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้อง ชื่อบัญชีจะเป็นชื่อโรงแรมหรือบริษัทโดยตรง        2. เพจ Facebook ชื่อ BEACH VIEW pool Villa  มีรูปที่พัก ผู้ติดตามจำนวนมาก และยังมีโชว์ภาพผู้เข้าพัก เหมือนจริงทุกอย่างแต่เท่านั้นยังเชื่อไม่ได้ ต้องมีการตรวจสอบชั้นที่ 2 โดยผู้บริโภค ควรโทรศัพท์ไปติดต่อสอบถาม พูดคุยโดยตรงด้วยให้บ่อยครั้ง เพราะมิจฉาชีพส่วนใหญ่มักจะตั้งระบบไม่ให้สามารถโทรกลับได้ง่าย หากเบอร์ไม่สามารถติดต่อได้ หรือติดต่อได้ยาก จุดนี้จะทำให้เห็นพิรุธได้ว่า ไม่น่าเป็นเบอร์โทรศัพท์ติดต่อของที่พัก โรงแรมที่จะติดต่อได้ง่ายตลอดเวลา         3. หากเห็นว่ามีผู้เข้ามาพูดคุย หรือแสดงความคิดเห็นในเพจ เราควรเข้าไปดูเฟซบุ๊กของผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นด้วยว่า เป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือ มีลักษณะของผู้ที่เป็นบุคคลจริงหรือไม่  มีข้อสังเกตว่าหากเป็นมิจฉาชีพมักใช้วิธีการจูงใจหลายรูปแบบ เช่น อ้างว่าจะให้เหล้าหรือไวน์ฟรีจำนวนมากเพื่อเร่งรัดให้ตัดสินใจโอนเงิน

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 274 โดนแอบอ้างใช้บัตรเครดิต เสียหายเป็นแสน

        เสียงผู้บริโภคในวันนี้เป็นเรื่องราวที่หลายคน คงได้เห็นกันตามข่าวกันมาเยอะ กับกรณีที่ถูกพวกแก๊งมิจฉาชีพหลอก นำข้อมูลส่วนตัวของเราเพื่อไปทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งเรื่องของคุณน้ำตาลที่ได้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็เกี่ยวกับการโดนภัยออนไลน์หลอกเช่นกัน แต่มาในรูปแบบอีเมล         คุณน้ำตาลได้เล่าให้ฟังว่า เธอได้รับอีเมลจากทางเว็บไซต์ที่ให้บริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น จองที่พัก จองเที่ยวบิน หรือจองรถเช่าต่างๆ  รายหนึ่ง (ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะเป็นเว็บไซต์ปลอมที่พี่มิจฉาชีพแอบอ้างขึ้นมา) โดยในอีเมลมีการระบุข้อความว่า “แจ้งให้รางวัลสำหรับการเข้าพัก” หลังได้รับอีเมลดังกล่าว ตัวเธอเองก็ไม่ได้คิดอะไรตอนนั้น จึงให้ข้อมูลบัตรเครดิต และ OTP สำหรับการยืนยันไป แต่พอผ่านไปไม่ถึง 10 นาที เธอก็เริ่มมีสติ! รู้สึกไม่สบายใจขึ้นมาได้ แต่...ก็ยังไม่ทันอยู่ดีเพราะเธอได้กรอกข้อมูลไปเรียบร้อยแล้วเลยคิดว่าคงโดนหลอกแล้วแน่ๆ เธอจึงรีบโทรติดต่อไปยังธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตเพื่อให้ยกเลิกการทำธุรกรรมต่างๆ ทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นหลังจากเผลอให้ข้อมูลไปทางอีเมล ทางคอลเซนเตอร์ แจ้งรับทราบเรื่องพร้อมทั้งบอกว่าจะระงับธุรกรรมที่เกิดขึ้นและออกบัตรให้ใหม่คุณน้ำตาล         ทว่าในเดือนต่อมาดันมีสเตทเม้นท์แจ้งว่ามียอดการใช้จ่ายที่บริษัทแห่งหนึ่งในรายการชำระค่าบัตรเครดิตของเธอ ยอดค่าใช้จ่ายคือ 234,682.96 บาท คุณน้ำตาลก็ตกใจสิ! ฉันแจ้งระงับไปแล้วนะ เลยรีบไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ทันที พร้อมกับปรึกษากับธนาคารแห่งประเทศไทยว่าเกิดเรื่องราวแบบนี้ขึ้น เธอไม่ควรต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่ใช่หรือ ซึ่งเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งกับทางคุณน้ำตาลว่า เมื่อแจ้งระงับการใช้บัตรแล้วก็ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องยอดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นภายหลังการแจ้งระงับให้เธอสามารถใช้จ่ายได้ตามปกติเลย         แม้เธอได้รับข้อมูลว่าจบ แต่เอาจริงเรื่องก็ยังคงไม่จบ เพราะว่ายังคงมีอีเมลส่งมาจากธนาคารว่าเธอได้ซื้อของทางออนไลน์เพิ่มเติมอีก โดยมีชื่อผู้ซื้อเป็นชื่อชาวต่างชาติ ซึ่งไม่ใช่ชื่อเธอที่เป็นเจ้าของบัตร แถมการจัดส่งสินค้าก็ยังขึ้นที่อยู่จัดส่งอยู่ในประเทศโปแลนด์อีกด้วย     อีกทั้งต่อมาเธอได้รับจดหมายที่ส่งมาจากทางธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตอีกครั้งว่า หลังจากได้มีการตรวจสอบแล้วยอดค่าใช้จ่ายใหม่ที่เกิดขึ้นธนาคารได้ระงับการเรียกเก็บเงินทั้งหมด แต่ทางคุณน้ำตาลต้องเป็นคนรับผิดชอบยอดค่าใช้จ่ายครั้งแรกคือ 234,682.96 บาท         คุณน้ำตาลจึงมาปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่าควรจะแก้ปัญหาอย่างไรดี?  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางมูลนิธิฯ แนะนำวิธีการแก้ไขให้ผู้ร้องเบื้องต้นดังนี้         1. ทำหนังสือปฏิเสธการชำระทั้งหมด ไปยังธนาคารดังกล่าว เนื่องจากผู้ร้องไม่ได้เป็นผู้ใช้จ่ายเอง (มิจฉาชีพเป็นผู้ทำธุรกรรม) พร้อมทั้งแจ้งธนาคารเพื่ออายัด และให้ผู้ร้องมีการทำสำเนาถึงธนาคารแห่งประเทศไทยและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอีกด้วย โดยทางมูลนิธิฯ จะติดตามเรื่องและช่วยในการไกล่เกลี่ยให้กับผู้ร้องเพื่อไม่ต้องชำระยอดค่าใช้จ่ายที่ผู้ร้องไม่ได้กระทำ         2. หากเกิดกรณีธนาคารฟ้องร้องได้อธิบายต่อผู้ร้องว่า อาจใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ถึง 2 ปี ซึ่งแนะให้ผู้ร้องสู้คดี เพราะคำพิพากษาจะเป็นประโยชน์ต่อร้องเนื่องจากไม่ใช่ความผิดของทางผู้ร้องเอง         3. หากระหว่างนั้นผู้ร้องติดเครดิตบูโร แนะนำว่าถ้าสู้คดีในชั้นศาลเสร็จสิ้น ให้ไปแจ้งสาเหตุดังกล่าวต่อทางเครดิตบูโร          ดังนั้นจึงฝากเตือนใจ เตือนภัยผู้บริโภคให้ระมัดระวังให้มากเมื่อต้องทำข้อมูลทางออนไลน์ โดยเฉพาะไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวสำคัญหรือ OTP แก่ผู้ติดต่อที่ไม่มีตัวตนแน่ชัด ไม่น่าเชื่อถือ แนะนำว่า ให้ลองถามคำถามแรกกับตัวเองก่อนว่า บุคคลเหล่านี้เป็นมิจฉาชีพหรือไม่          นอกจากนี้ สิ่งที่ควรระวัง ก็คือพวกลิงก์ปลอม ก่อนกดลิงก์ถ้าไม่แน่ใจว่า จริง หรือ ปลอม แนะนำว่าให้หลีกเลี่ยงที่จะไม่กดไปเลยเพื่อความปลอดภัย หรือถ้ามาในรูปแบบแจกของรางวัลต่างๆ ให้เช็กกับทางเว็บไซต์ทางการเพื่อความแน่ใจดีกว่าก่อนที่จะกดเข้าไป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 จองที่พักผ่อนได้ แต่ถูกตัดเต็มจำนวน ซ้ำยังไม่ได้ที่พัก!!

        เทรนด์ ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง มาแรง ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภค เข้าถึงสินค้า บริการได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูให้ดีว่าทำได้จริงไหมเพราะหากผิดพลาดอาจสูญเงินไปฟรีๆ  เช่น เรื่องของคุณทิพย์ที่จองที่พักเพื่อไปพักผ่อนกับครอบครัวในช่วงวันหยุดยาวปลายปีที่ผ่านมา ผ่านแอพจองที่พักชื่อดังแห่งหนึ่ง ที่โฆษณาว่าสามารถผ่อนชำระค่าที่พักผ่านบัตรเครดิตได้ แต่เมื่อคุณทิพย์เข้าไปจอง ระบบของแอพชื่อดังกลับตัดยอดค่าที่พักเต็มจำนวนจากบัตรเครดิตของคุณทิพย์ในครั้งเดียว !         เมื่อเห็นแจ้งเตือนการตัดบัตรเข้ามาที่มือถือ วันรุ่งขึ้นคุณทิพย์จึงติดต่อบริษัทเจ้าของแอพ ชื่อดังเพื่อยกเลิกการจอง แต่บริษัทกลับบ่ายเบี่ยงว่าเป็นการจองที่ยกเลิกให้ไม่ได้ ให้คุณทิพย์ติดต่อกับโรงแรมเอง หากโรงแรมยกเลิกให้ บริษัทก็จะคืนเงินให้ คุณทิพย์จึงติดต่อโรงแรมไปหลายครั้งจนได้รับการยืนยันว่า ยังไม่มีการจองเข้าไปและหากมีเข้ามา โรงแรมก็ยินดีที่จะยกเลิกให้ คุณทิพย์จึงติดต่อกลับไปยังบริษัทอีกหลายครั้งเพื่อขอเงินคืน บริษัทปฏิเสธจนสุดท้าย ยอมรับกับคุณทิพย์ว่าได้ส่งต่องานให้บริษัท Supplier เป็นผู้ดำเนินการให้ คุณทิพย์ยังคงขอเงินคืนหลายครั้งแต่บริษัทบ่ายเบี่ยงตลอดมาจนสุดท้ายได้แจ้งกับคุณทิพย์ว่าจะไม่คืนเงินให้  คุณทิพย์ไม่ยอมลดละ บริษัทขอประนีประนอมคืนเงินให้คุณทิพย์ 70 % คุณทิพย์ปฏิเสธไม่รับข้อเสนอเพราะเห็นว่า บริษัทยังไม่ได้ทำการจองใดๆ ให้เธอทั้งสิ้น จึงไม่มีความเสียหายใดๆ เกิดขึ้น เธอยืนยันขอเงินคืน 100%  บริษัทยังปฏิเสธ จนคุณทิพย์ต้องเข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ช่วยเหลือ เธอจึงได้เงินคืนเต็มจำนวน ใช้เวลาทั้งหมดราว 3 เดือน แนวทางการแก้ไขปัญหา         กรณีของคุณทิพย์ เมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้ว คุณทิพย์รีบติดต่อขอยกเลิกกับบริษัท และติดต่อพูดคุยกับโรงแรมทันทีซึ่งทำให้เข้าใจปัญหาได้ชัดเจนว่ายังไม่มีการจองเกิดขึ้น         ในขั้นต่อมาเมื่อติดพูดคุยกับบริษัท สำนักงานประเทศไทยแต่ยังคงไม่รับผิดชอบ คุณทิพย์ยังได้ติดต่อไปยังต้นสังกัดที่ประเทศสิงคโปร์ซึ่งแม้จะยังไม่ได้รับเงินคืน  แต่ทำให้คุณทิพย์รู้ว่าต้องเข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและด้วยคุณทิพย์ได้เก็บหลักฐานไว้ทุกอย่างตั้งแต่ต้น เมื่อมูลนิธิได้รับเรื่องร้องเรียนและติดต่อกับบริษัท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 จองห้องพัก ตัดบัตรเครดิตเต็มจำนวน...แต่ไม่ได้เข้าพัก!!

เดี๋ยวนี้ เรามักจะได้ยินข่าว เช่นว่า เด็กเผลอกดโหลดแอพดูดเงินออกจากบัญชี  หรือ สารพัดแอพที่ดูดเงินจากธนาคารออนไลน์ได้ของเราได้ง่ายๆ  แต่จริงๆ แล้ว แม้ศึกษาข้อมูลมาอย่างดี ความผิดพลาดจนเสียเงินก็ยังเกิดขึ้นได้ เช่นเรื่องราว คุณพาณิภัค ทิพย์เที่ยงแท้ ที่เธอได้จองที่พักเพื่อไปพักผ่อนกับครอบครัวในช่วงวันหยุดยาวเอเปคระหว่างวันที่ 16- 18 พฤศจิกายน ที่หัวหินที่ผ่านมา ซึ่งการจองที่พักเธอคิดว่าสามารถผ่อนชำระได้ แต่เมื่อเข้าไปจองระบบกลับตัดยอดค่าที่พักเต็มจำนวนจากบัตรเครดิตในครั้งเดียว เมื่อเธอพยายามติดต่อขอยกเลิกการจอง แต่กลับถูกหักเงินและไม่ให้บ้านพักที่จองไว้อีกด้วย เรื่องนี้ แม้ปัญหาจะได้รับการแก้ไขแล้ว แต่คุณพาณิภัคก็อยากส่งต่อเรื่องราว เพื่อให้ผู้บริโภครู้เท่าทัน รักษาสิทธิไม่ให้ใครมาละเมิดได้         “เราไม่ได้ยอมแพ้ เราเลยได้เงินจำนวนนี้คืนมา  เพราะมันก็เป็นสิทธิที่ไม่ควรเสียไปตรงนี้”  ตอนที่ปัญหาเริ่มเกิดขึ้น  มีที่มาอย่างไร          คือช่วงวันที่ 16 – 18  พฤศจิกายน ที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศให้เป็นวันหยุดพิเศษ ที่ทำงานเราก็หยุดด้วยเลยอยากพาครอบครัวไปเที่ยว พักผ่อนที่หัวหิน แล้วเลยต้องจองที่พัก เราจึงเลือกใช้บริการกับ Agoda  เพราะว่าใช้กันมานานแล้ว  แล้วเราสอบถามไปที่โรงแรมที่ต้องการไปพักแล้วแพงกว่าราคาใน  Agoda เชคตอนนั้นราคาใน Agoda คือถูกที่สุดเราก็เลยจอง  ตอนนั้นที่จองเป็นบ้าน 1 หลังเลยเพราะไปพักกับครอบครัว มี  3 ห้องนอน แล้วปัญหาเริ่มเกิดขึ้น ตอนไหน ยังไง          คือปกติ  Agoda จะมีให้ผ่อนชำระด้วยบัตรเครดิต คือผ่อนได้ทั้งทางบัตรเครดิต และผ่านทางแอพพลิเคชันของเขา ผ่อนชำระได้  3- 6 เดือน ซึ่งตอนจองเราคิดว่าตอนเลือกชำระเงินก็ต้องมีให้เลือกว่าจะจ่ายเงินอย่างไร แต่พอกดตกลงไปแล้ว มันไม่ได้มีผ่อน กดไปแล้วชำระเต็มจำนวนเลย  45,000  บาท  คือในเว็บไซต์ราคา 45,000 แต่จะมีส่วนต่างที่จะคืนเป็นแคชแบ็กให้ ที่ตัดไปจากบัตรจะตัดไป 43,000 กว่าบาท ตอนที่จองเวลาประมาณ 22.27 น. พอเห็นยอดตัดเด้งเข้ามาที่มือถือ เราเลยรีบยกเลิก  เขาก็ขึ้นมายกเลิกไม่ได้ การจองนี้เป็นการจองที่ยกเลิกไม่ได้ เราเลยโทรไปที่ Agoda  แจ้งว่าเป็นการกดชำระผิด  Agoda ก็บอกว่าให้เราติดต่อไปที่โรงแรมด้วยตัวเอง ถ้าเกิดโรงแรมยินยอมให้ยกเลิก  Agoda ก็ยินดีที่จะคืนเงินให้เต็มจำนวน  แต่ตอนนั้น 4 ทุ่มครึ่งแล้ว  ฝ่าย reservation ของโรงแรมเลิกทำงานไปแล้ว เราเลยติดต่อในวันรุ่งขึ้น ที่ต้องการจะยกเลิกเพราะไม่พอใจ ที่บริษัทบอกว่า สามารถผ่อนชำระได้ แต่ตัดจ่ายในครั้งเดียว         ไม่พอใจที่ตัดยอดเต็มจำนวน   ตรงที่เลือกตรงที่ให้ผ่อนได้  มันหายไป  เราเข้าใจว่าอีกหน้าหนึ่งหรือเปล่า ตอนที่กด เขาบอกว่าห้องพักนี้ผ่อนชำระได้ แต่เข้าไปแล้ว ไม่มีตัวเลือกนั้น  กลายเป็นตัดเต็มจำนวนไปเลย ตอนหลังเราลองทำในคอมพิวเตอร์ก็มีผ่อนชำระ  แต่ไม่สามารถทำได้ในแอพนะ ยังไงก็ทำไม่ได้  ซึ่งตอนนั้นเราก็ไม่ได้ถามปัญหานี้กับบริษัทนะ  ยอมรับว่า เราก็ห่วงแต่เรื่องเงินของเรา แล้วคิดว่าถ้าจบแล้ว จะไม่ได้ใช้บริการแล้ว ถ้าทำผิดอีก แล้วเงินมันเยอะ เราก็รู้สึกว่า ถ้าเงินเยอะ แล้วมีปัญหา กดดันมากกว่าเงินจำนวนน้อย แล้วการติดต่อโรงแรมในวันรุ่งขึ้นเป็นอย่างไร         ฝ่าย reservation ของโรงแรม เขาก็บอกว่า ยินดียกเลิกให้ คืนเงินให้ แต่เขายังไม่เห็นว่ามีการจองนี้เข้ามาเลย          ตรงนี้เราเลยโทรกลับมาที่ Agoda อีกครั้งว่า โรงแรมแจ้งว่ายังไม่มีการจองนี้เกิดขึ้น  ซึ่งถ้ามีเข้าไป โรงแรมจะยกเลิกให้  เราบอกเขาว่า โรงแรมยินดียกให้     โอเค Agoda ก็ให้รออีก  48 ชม.  ผ่านไป เราก็ร้อนใจ มันขึ้นสถานะว่ายังไม่ได้ยกเลิก เราก็โทรกลับไปใหม่ เขาบอกว่าจะติดต่อกลับ อีกวันหนึ่งเขาก็โทรมา เขาใช้คำว่า ‘Property’ ไม่ให้ยกเลิก ซึ่งก็ต้องหมายถึงโรงแรมใช่ไหม  เขาใช้คำนี้ เราเลยบอกว่า ไม่ใช่นะ เพราะได้คุยกับโรงแรมแล้ว  แต่เราก็เอ๊ะ หรือว่าโรงแรมเขาเปลี่ยนคนหรือเปล่า ไม่ใช่คนที่คุยกับเราแล้วเขาเลยไม่ยกเลิกให้เรา เลยโทรกลับไปที่โรงแรมใหม่ แล้วเลยถามชื่อ ว่าคนที่เราคุยด้วย ชื่ออะไร เขาเลยบอกว่า ชื่อคุณคนนี้ .... แล้วเขาบอกว่า เขายินดีให้เราบอก Agoda ได้เลย เขาชื่อนี้ เขายินดียกเลิกให้         สรุปสุดท้าย Agoda พูดว่า การจองนี้ เป็นการจองที่เขาส่งไปให้บริษัท Supplier  อีกเจ้าหนึ่งเป็นคนจองให้  เราเลยบอกว่า เราไม่รับรู้ เราไม่ได้จองผ่านที่อื่น ถ้ารู้ว่าเขาจะไปส่งต่อให้  Supplier แล้วมันยุ่งยากเราจะไม่จอง เพราะว่าเราก็เชื่อถือใน  Agoda  แล้วทางโรงแรมไม่ได้มีปัญหาเลย แล้วตอนนั้น เริ่มแก้ปัญหาอย่างไร          เราเลย อีเมลไปต้นสังกัด ที่สำนักงานใหญ่ Agoda สิงคโปร์  ต้นสังกัด เขาตอบกลับมาอีกว่าเป็นเพราะ ‘Property’ ไม่อนุญาตให้คุณยกเลิกการจอง แล้วเวลาหยุดก็ใกล้เข้ามาก็ยังไม่มีความคืบหน้าอะไร เราเข้าไปจองวันที่ 22 ตุลาคม จนวันที่ 27 ตุลาคม เขามาแจ้งว่าจะไม่คืนเงินให้ เขาจะยืดเงินไว้ทั้งหมด แล้วจนถึงตอนนั้นเราโทรไปที่โรงแรม  โรงแรมก็ยังไม่ได้รับการจองเลย  คือไม่มีการจองเข้าไป  เราเลยโทรกลับไปที่ Agoda อีกครั้งว่า ก็มันยังไม่มีการจอง แล้วจะมายึดเงินเรื่องอะไร  เสียหายอะไรถึงจะมายึดเงิน คือการจองยังไม่สมบูรณ์อะไร  โรงแรมเขาก็ยืนยันว่ามันไม่มีชื่อนี้จองเข้ามา ถามเขาแล้วว่า แล้วมีชื่ออื่นไหมที่จองเข้ามาระหว่างวันที่ 16 – 17 พ.ย.  โรงแรมบอกว่า ไม่มีเลย ไม่มีชื่อใครจองเข้ามา ทาง  Agoda  ยืนยันอีกว่าเขาจะไม่คืนแต่เขาจะช่วยนั่นนี่ คือเขาจะคืนเงินให้เรา 70 % อีก 30% เขาจะหักไว้คือประมาณ 12,000   เราบอกว่าไม่รับ เพราะว่าเขายังไม่ได้ทำอะไรให้เลยจะหักเงินไป เฉยๆ 12,000 ได้ยังไง  เขาบอกว่าให้รับไปเถอะ เพราะว่าวันนี้ Supplier ยอมแค่นี้  แต่ว่าถ้าเลยวันนี้ไปเขาไม่รับประกันว่าจะคืนเงินให้หรือเปล่า เขาอาจไม่คืนให้เลยก็ได้  เราเลย อ่ะ ไม่เป็นไร  เดี๋ยวเราจะฟ้องเพราะว่าทุกอย่างมันยังไม่เกิดขึ้น  เขายังไม่ได้เสียอะไร   นั่นคือจุดเปลี่ยนที่แบบ ปัญหานี้แก้เองไม่ได้แล้ว  ต้องการความช่วยเหลือ          ถึงตอนนี้ เรายังพยายามนะ สุดท้ายเราก็บอกว่า งั้นเอาแบบนี้ได้ไหม ถ้าคืนเงินให้ไม่ได้จริงๆ   คุณเอาห้องให้เราได้ไหม ให้เราไปพักในราคานี้ก็ได้  เพราะ เราก็เสียเงินไปแล้วจริงไหม  เขาบอกว่า ทำให้ไม่ได้ เขาจะหักเงินเท่านั้น  คือเขาไม่คุย เขาจะหักเงินเท่านั้น  คือห้องก็ไม่ให้  คือเขาไม่ให้อะไรเลย  เราเลยไม่โอเคแล้ว   ตอนนั้น Agoda  สำนักงานที่ไทยหรือ สิงคโปร์ที่บอกว่าจะหักเงินไว้ 30%         ตอนแรกคือ Agoda Thailand  เป็นอีเมลที่เขาตอบโต้มา แต่ก็ Agoda สิงคโปร์ด้วยที่ตอบกลับมา  เราเลยบอกว่า เราไม่รับนะ  เราไม่โอเค แล้วเลยเข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   งั้นปัญหาจริงๆ  น่าจะอยู่ที่บริษัท Supplier ไม่ได้เข้าไปจองกับโรงแรม        ใช่   สุดท้าย พอใกล้ถึงเวลาจริงๆ เราต้องไปจองอีกเว็บหนึ่ง  เพราะว่าใกล้วันที่จะเข้าไปพักแล้ว เราจองไปตอนสายๆ  พอจองแล้วโทรไปถามตอนเที่ยง มีชื่อเราแล้ว โรงแรมได้รับจองแล้ว   แต่จาก Agoda   ยังไม่ไปขึ้นอยู่ดี  ก็เหมือนจริงๆ แล้วไม่ได้จองให้เรา   แล้วพอตัดสินใจว่าไม่ยอม คุณพาณิภัค เข้าไปร้องเรียนที่ไหนบ้าง          มาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทางระบบร้องเรียน และ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ (สคบ)  แค่ 2 ที่นี้  เข้ามาร้องเรียนช่วง  1 พ.ย.  ก่อนเข้าพักไม่นาน เพราะมูลนิธิยังโทรกลับมาถามว่า ใกล้ถึงช่วงที่เราจะเข้าพักแล้ว มีอะไรคืบหน้าไหม   ระหว่างนั้น มูลนิธิเข้าไปดำเนินอะไรบ้าง        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้โทรเข้าไปที่บริษัท  Agoda จากที่เราให้เบอร์ไว้ ซึ่ง Agoda เขาไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลในรายละเอียดกับมูลนิธิฯ ได้ เพราะไม่ใช่คนที่จองเข้าพัก  มูลนิธิเลยบอกว่าจะส่งจดหมายไปที่บริษัท Agoda เลย        ส่วนทาง  สคบ.เขาก็มีหนังสือเป็นจดหมายลงทะเบียนจะขอให้เรียกบริษัท Agoda  เข้ามาชี้แจง ท่าทีของบริษัทเปลี่ยนไปไหม  เมื่อมีหลายหน่วยงานเข้าไป         ใช่ๆ  เพราะตอนแรก  เขาไม่ติดต่อกลับมาอีกเลย เราก็โอเค ในเมื่อคุณไม่คืนเงินนะ เราก็จะดำเนินการฟ้องร้อง คือไม่มีติดต่อกลับมาอีกเลย     ไม่มีบอกว่าจะช่วยเหลือหรืออะไรอย่างไร  จนวันเข้าพักผ่านไป เขาก็ไม่ติดต่อกลับมา  จนมีหนังสือกลับมาจาก สคบ. แล้วมูลนิธิโทรมาบอกว่า  Agoda  บอกว่าจะติดต่อกับมูลนิธิ เป็นหนังสือภายใน  10 ม.ค.         สุดท้ายวันที่ 25 ธันวาคม บริษัทโทรมาบอกว่า  เขาเห็นว่าเราเป็นลูกค้าชั้นดี เขาจะคืนเงินให้เต็มจำนวน แล้วไม่นาน อีเมลก็เข้ามา เราเข้าไปดู เขาคืนเงินมาแค่  70%  เราเลยโทรไปถามว่า จากที่โทรมาบอกว่าจะคืนให้เต็ม 100% นะ  เขาบอกว่า ตอนแรกเขายอมแค่  70%  แต่ตอนนี้เขาโอเคแล้ว อีกยอดหนึ่งจะเข้ามา แล้วอีกประมาณ  3-4 วัน ก็ได้อีกยอดหนึ่ง 30% จำนวน  11,999  สุดท้ายคือได้ครบ ภายในเดือน ธ.ค. ตอนนี้ก็ได้เงินคืน ครบหมดแล้ว ตอนนี้ปัญหาได้รับเงินคืนแล้ว แต่เป็นเรื่องที่อยากบอกเล่า เพราะอะไร          เพราะเขาบอกว่า ยกเลิกแล้ว ไม่มีสิทธิ์ดึงห้องกลับมา เราเลยถามว่า เราต้องเสียเงินไปฟรีๆ เลยหรือ  โดยที่เขาไม่ได้ทำอะไร เหมือนเอาเงินเราฟรี เขาไม่ยอมเลย จนมูลนิธิช่วย เขียนจดหมายไปหาเขา  เลยมีฟีดแบ็คกลับมา   เราคิดว่าถ้าตัวเราเอง คงไม่สามารถทำอะไรได้ เขาปฏิเสธการคืนเงินอย่างเดียวเลย  แล้วเราไปที่ สคบ. ออนไลน์ ด้วย เลยได้คืนมา อยากฝากอะไรถึง ผู้บริโภคที่อาจได้ทำธุรกรรมแบบนี้บ้าง         ฝากว่าเรื่องบางอย่างที่ไม่เป็นธรรม  ก็อย่าคิดว่าจะไม่มีที่ไหนช่วยเหลือได้  เราลองหาข้อมูลก่อน เพราะอย่าง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือ สคบ. เราก็หาข้อมูลด้วยตัวเอง  ที่ไหนที่จะดูแล คุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคได้  เราก็หาข้อมูลจาก google  แล้วเข้าไปปรึกษาไป แล้วเราไม่ได้ยอมแพ้ เราเลยได้เงินจำนวนนี้คืนมา  เพราะมันก็เป็นสิทธิ์ที่ไม่ควรเสียไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 กำลังเช็กเอ้าต์ ทำไมจะกลายเป็นเช็กอิน

        การเข้าใช้บริการแอปพลิเคชันทั้งหลาย เราควรมีความระมัดระวัง อย่ามือลั่น โดยเฉพาะหากต้องมีการจ่ายเงินเพราะหากมันไม่ใช่ กว่าที่จะทำเรื่องขอเงินกลับมันจะใช้เวลานานทำให้เดือดเนื้อร้อนใจ  แต่บางทีเราไม่ได้ประมาทแต่อย่างใด เพียงแค่เลื่อนดูรายการบางอย่างกลับกลายเป็นเงินหายไปไม่เสียอย่างนั้น แล้วจะทำอย่างไรดี         ขอนำเรื่องของคุณพรทวี ซึ่งกำลังมีความสุขอยู่ดีๆ กับการเที่ยวพักผ่อนในช่วงวันที่ 13 และ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา และขณะกำลังเช็กเอาต์ออกจากโรงแรม A ในวันที่ 14 คุณพรทวีได้เข้าไปดูรายการในแอปพลิเคชันของ agoda โดยกดดูราคาห้องพักที่โรงแรม A ขณะที่กดดูรายละเอียดของห้องพักหน้าถัดไป กลับกลายเป็นการยืนยันการจองห้องพักของโรงแรม A ในวันที่ 14 พฤษภาคม พร้อมกับยืนยันการชำระเงินโดยตัดบัตรเครดิตของคุณพรทวีจำนวน 2,476 บาท แบบรวดเร็ว โดยที่คุณพรทวีไม่ได้กดทำรายการจองห้องพักใดๆ เลย         ด้วยความตกใจจึงแจ้งให้พนักงานโรงแรมทราบทันที แต่ทางโรงแรมบอกว่า ไม่สามารถยกเลิกได้ คุณพรทวีต้องติดต่อกับ agoda โดยตรง พอคุณพรทวีติดต่อไปที่ agoda แจ้งเรื่องผิดพลาดที่เกิดขึ้น ทางพนักงานของ agoda ได้ระบุว่ารับเรื่องร้องเรียนไว้แล้วและจะยกเลิกรายการจองดังกล่าวให้ พร้อมคืนเงินเข้าระบบบัตรเครดิต         “ตอนนั้นก็คิดว่า เรื่องคงเคลียร์แล้ว แต่ต่อมาได้ใบแจ้งหนี้จากบัตรเครดิตว่า ค้างชำระและต้องชำระเงินภายในวันที่ 1 กรกฎาคม พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 18.7 ไม่เข้าใจเลยว่า ทำไม agoda จึงไม่ทำเรื่องของตนให้เรียบร้อย ทั้งที่แจ้งให้ดำเนินการแก้ไขทันทีที่เกิดเรื่องแล้ว”         จึงขอคำปรึกษามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         การติดต่อกับ agoda ซึ่งเป็นเจ้าของแอปพลิเคชันและแอปฯ มีการทำรายการผิดพลาดเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว สิ่งที่คุณพรทวีควรทำเพิ่มคือ การติดต่อกับคอลเซนเตอร์ของบัตรเครดิตเพื่อแจ้งเรื่องดังกล่าว และปฏิเสธการจ่ายเงินที่ตนเองไม่ได้ใช้บริการคือ การจองห้องพักของวันที่ 14 พฤษภาคม เพื่อให้ทางบัตรเครดิตกับ บ.agoda ได้ประสานงานเรื่องการคืนเงินกันให้เรียบร้อย ไม่สร้างภาระให้กับผู้บริโภค เรื่องนี้อยู่ระหว่างเจรจาให้ทาง agoda ดูแลแก้ไขปัญหาให้กับคุณพรทวี   ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคเห็นว่าน่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้บริโภคท่านอื่นจึงนำมาเสนอไว้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 ขึ้นเครื่องบินไม่ได้เพราะใช้ชื่อย่อ

        หลายครั้งที่เราเคยชินกับการทำบางสิ่งลงไปแล้ว และทำซ้ำโดยคิดไม่ถึงว่าจะเกิดความผิดพลาดในภายหลัง กรณีต่อไปนี้อาจเป็นบทเรียนสำคัญที่เป็นอุทาหรณ์ว่า เราต้องใส่ใจต่อการติดตามข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัยเสมอ          คุณเรือง มีชื่อจริงและนามสกุลที่ค่อนข้างยาว โดยเฉพาะเมื่อต้องสะกดเป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้นในการจองตั๋วเดินทางท่องเที่ยวผ่าน Trip.com คุณเรือง จึงใช้ชื่อย่อแค่ตัวอักษร R (คุณเรืองบอกว่า ทางเว็บไซต์ให้ใส่แค่ชื่อย่อได้) แต่เมื่อถึงวันเดินทางจริง ทางสายการบินแจ้งว่า ไม่สามารถให้คุณเรืองขึ้นเครื่องบินได้ แม้ว่าจะมีการจองตั๋วผ่านเว็บไซต์จริง           “ผมเคยไปกับสายการบินหนึ่งโดยใช้ชื่อย่อเช่นกัน ไม่มีปัญหาอะไรเลย และหลักฐานยืนยันก็คือบัตรประชาชนก็ใช้ยืนยันตัวตนได้แล้ว แต่ทางสายการบินนี้ยืนยันว่าจะต้องซื้อตั๋วเครื่องบินใหม่ทั้งหมด พร้อมบอกด้วยว่า ทำไมลูกค้าไม่พิมพ์ข้อความจากหน้าจอที่ทำการจองตั๋วไว้ ระบุด้วยว่านโยบายแต่ละสายการบินไม่เหมือนกัน”               อย่างไรก็ตามคุณเรืองต้องเดินทางพร้อมเพื่อนจึงซื้อตั๋วใหม่ทั้งหมด แต่ได้ทำเรื่องร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอให้ช่วยแก้ไขปัญหานี้ให้ด้วย “สายการบินคิดค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับก็ได้ แต่ไม่ควรให้ผมซื้อตั๋วเครื่องบินใหม่โดยไม่รับภาระอะไรเลย” แนวทางแก้ไขปัญหา          ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้แจ้งเรื่องต่อสายการบินและสำนักงานการบินพลเรือน เพื่อขอทราบรายละเอียดเงื่อนไขและช่วยตรวจสอบเรื่องดังกล่าวให้กับคุณเรืองว่ากรณีดังกล่าว สายการบินไม่ยินยอมให้คุณเรืองคุณเครื่องนั้น ทำได้หรือไม่ และจำเป็นต้องซื้อตั๋วเครื่องบินใหม่ทั้งหมดหรือไม่           และจากหนังสือตอบกลับของ กทพ. แจ้งว่า จากการตรวจสอบกับทาง Trip.com พบว่า “ทางระบบมีการแจ้งเตือนผู้ร้องขณะกรอกชื่อผู้โดยสารแล้วว่า ชื่อและนามสกุลต้องตรงกับเอกสารยืนยันตัวตน การที่ผู้ร้องถูกปฏิเสธการเดินทางเนื่องจากชื่อตามเอกสารยืนยันตัวตน(บัตรประชาชน) ไม่ตรงกับชื่อในเอกสารการเดินทาง(ตั๋วโดยสาร) จึงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ร้องเป็นบุคคลที่มีชื่อตามเอกสารยืนยันการเดินทาง จึงเป็นไปตามเงื่อนไขของบริษัทสายการบิน ทั้งนี้ตามที่ผู้ร้องอ้างว่า เคยใช้ชื่อย่อในการเดินทางได้นั้น พบว่าผู้ร้องไม่มีหลักฐานยืนยันกรณีดังกล่าวอ้าง และตามประกาศคณะกรรมการการบินพลเรือน เรื่อง แผนรักษาความปลอดภัยในการบินพลเรือนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 การเข้าพื้นที่เขตการบินจะถูกจำกัดเฉพาะผู้โดยสารที่แท้จริงและจะต้องถูกตรวจสอบเอกสารสำหรับการเดินทางฉบับจริงและถูกต้อง พร้อมเอกสารที่ยืนยันตัวตนที่ออกโดยรัฐ ซึ่งในทางปฏิบัติหากเอกสารยืนยันการเดินทางมีการระบุชื่อผู้โดยสารไม่ตรงกับชื่อในเอกสารยืนยันตัวตน บุคคลดังกล่าวจะไม่สามารถเข้าไปยังพื้นที่เขตการบินได้”           ดังนั้นด้วยเงื่อนไขนี้ การถูกปฏิเสธการเดินทางของคุณเรืองทางสายการบินสามารถทำได้ ส่วนเรื่องค่าธรรมเนียมหรือการระบุให้ซื้อตั๋วใหม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องผลักดันในเชิงนโยบายต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 จองตั๋วเครื่องบินพลาด ระวังค่าธรรมเนียมแพง

        การทำธุรกรรมทางออนไลน์ ก่อนจะคลิกเพื่อตกลงในเงื่อนไขใดๆ ควรพิจารณารายการให้ละเอียดรอบคอบสักนิด เพราะหากพลาดแล้ว และการแก้ไขก็อาจไม่ง่ายอีกทั้งยังต้องเสียเงินที่เรียกว่า ค่าธรรมเนียมเป็นจำนวนสูงด้วย          เรื่องนี้ได้รับการร้องทุกข์จากคุณกรณ์ ซึ่งซื้อตั๋วเครื่องบินผ่านระบบการจองตั๋ว และชำระเงินด้วยระบบ E-Banking หลังจากชำระเงินสำเร็จ คุณกรณ์จึงพบว่าตนเองซื้อตั๋วผิด จากที่จะเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปอุดรธานี กลายเป็นซื้อตั๋วเดินทางจากอุดรธานีมาที่ปลายทางกรุงเทพฯ จึงรีบโทรศัพท์ติดต่อคอลเซนเตอร์ของทางสายการบินเพื่อขอแจ้งเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินให้ถูกต้อง คำตอบในครั้งแรกคือ ทำไม่ได้และทางพนักงานแนะนำให้แจ้งธนาคารที่คุณกรณ์ใช้ในการจ่ายเงิน เมื่อคุณกรณ์โทรไปธนาคารตามที่ได้รับคำแนะนำ พบว่ายอดเงินได้ถูกตัดแล้วและไม่สามารถนำเงินกลับได้ แนะนำว่าให้โทรไปยังส่วนที่เป็นบริการตัวกลางชำระเงิน ก็ได้คำตอบกลับมาว่า เงินถูกโอนไปที่สายการบินแล้ว เรียกคืนไม่ได้เช่นกัน แนะนำให้โทรกลับไปที่สายการบินอีกครั้ง           คราวนี้เมื่อโทรไปที่สายการบิน ทางพนักงานแจ้งว่าสามารถเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินได้ แต่มีค่าธรรมเนียม คือ (1) 500 บาทต่อการอัพเกรดที่นั่ง (2) ราคาค่าโดยสารที่ปรับขึ้นไปจาก 1,500 เป็น 2,000 บาท คุณกรณ์ต้องจ่ายส่วนต่างนี้ และ (3) ค่าปรับในการเปลี่ยนเที่ยวเดินทาง 500 บาท คุณกรณ์รู้สึกไม่เห็นด้วย ที่ถูกคิดค่าธรรมเนียมสูงขนาดนี้ “ถึงผมจะซื้อตั๋วผิด แต่ก็รีบติดต่อขอเปลี่ยนแปลงทันที ควรทำได้โดยมีค่าปรับในการเปลี่ยนเที่ยวบินตามสมควร มิใช่ราคาแพงกว่าค่าตั๋ว”  แนวทางการแก้ไขปัญหา          ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ติดต่อกับทางสายการบินเพื่อขอทราบรายละเอียดการคิดค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนแปลงเที่ยวเดินทางและขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับผู้ร้อง และอีกทางหนึ่งได้แจ้งเรื่องต่อทางสำนักงานการบินพลเรือนเพื่อขอให้ช่วยบรรเทาปัญหาให้ผู้บริโภค ต่อมาได้รับการชี้แจงจากทางสำนักงานการบินพลเรือน(กพท.) ว่า “การสลับต้นทางกับปลายทางไม่ใช่ความผิดพลาดของระบบการสำรองที่นั่งของสายการบิน เพราะทางบริษัทสายการบินดังกล่าวได้แสดงรายละเอียดเส้นทางและปลายทางไว้แล้ว จึงเป็นหน้าที่ของผู้ซื้อบัตรโดยสารที่จะต้องตรวจสอบรายละเอียดการเดินทางและข้อมูลผู้โดยสารให้ถูกต้อง และจะต้องศึกษาและตกลงยอมรับเงื่อนไขในการขนส่งก่อนการชำระเงิน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเส้นทางบินหลังจากชำระเงิน ผู้ร้องจะต้องชำระค่าธรรมเนียม โดยค่าธรรมเนียมและเงื่อนไขการขนส่งของบริษัทสายการบิน ได้รับความเห็นชอบจาก กพท.แล้ว บริษัทฯ จึงสามารถดำเนินการได้”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 จองคิวออนไลน์กับกรมการขนส่งทางบก

        ยุค 2019 ต้องยอมรับเลยว่าอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีมีผลกับการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็จะเห็นแอปพลิเคชันที่เข้ามาตอบโจทย์แทบทุกเรื่อง        กรมการขนส่งทางบกก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาเกี่ยวกับการรอคิวนานสำหรับผู้มาใช้บริการที่กรมการขนส่งทางบก โดยได้จัดทำแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า DLT Smart Queue ซึ่งสามารถรองรับสมาร์ทโฟนได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และระบบปฏิบัติการ Android         แอปพลิเคชั่น DLT Smart Queue ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้สำหรับจองคิวเพื่อเข้ารับการอบรมและเรื่องอื่นๆ ได้ล่วงหน้า โดยต้องลงทะเบียนจองล่วงหน้าก่อน 1 วันที่จะเข้าใช้บริการกับกรมการขนส่งทางบก         ขั้นตอนภายในแอปพลิเคชันลำดับแรกต้องลงทะเบียนโดยการกรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน คำนำหน้าชื่อ ชื่อและนามสกุล เบอร์โทรศัพท์ เมล และตั้งรหัสผ่าน เมื่อลงทะเบียนเรียบร้อยให้กรอกรายละเอียดเพื่อเข้าสู่ระบบ         หลังจากนั้นแอปพลิเคชันจะปรากฏปุ่มจองคิว (Book a Queue) เมื่อกดปุ่มจะปรากฎข้อความแจ้งเตือนซึ่งเป็นข้อกำหนดในการใช้บริการ โดยให้ผู้ใช้บริการที่จองคิวผ่านแอปพลิเคชันต้องมาก่อนเวลาที่ทำการนัดหมายอย่างน้อย 20 นาที และเตรียมเอกสารให้เรียบร้อย พร้อมทั้งยื่นหน้าจอสมาร์ทโฟนที่ได้ทำการนัดหมายไว้แก่เจ้าหน้าที่         ขั้นตอนต่อไปผู้ใช้บริการจะต้องเลือกจังหวัดที่ต้องการเข้ารับบริการ และเลือกสาขาของสำนักงานขนส่งในพื้นที่ที่สะดวก ถัดไปจะเป็นการเลือกประเภทงานที่ต้องการเข้ารับบริการ ซึ่งในแต่ละสาขาจะมีประเภทงานแตกต่างกันไป         โดยประเภทงานที่ต้องการเข้ารับบริการมีตั้งแต่ประเภทขอรับใบอนุญาตครั้งแรก ประเภทการต่ออายุใบอนุญาตจาก 2 ปีเป็น 5 ปี ประเภทการต่ออายุใบอนุญาตจาก 5 ปีเป็น 5 ปี ประเภทการชำระภาษี ประเภทการขอใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศ ประเภทการออกใบแทนใบคู่มือจดทะเบียนรถหรือเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี ประเภทการออกเล่มทะเบียน ประเภทการขอออกแผ่นป้ายทะเบียน ประเภทการย้ายรถออก  ประเภทการแก้ไขรายการ เป็นต้น         เมื่อเลือกประเภทงานที่ต้องการเข้ารับบริการได้แล้ว แอปพลิเคชันจะแจ้งเตือนรายละเอียดเกี่ยวกับเอกสารที่ต้องเตรียมมาประกอบ ต่อจากนั้นต้องเลือกวันเวลาที่สะดวกในการทำการนัดหมาย ซึ่งในแต่ละประเภทงานที่ต้องการเข้ารับบริการจะกำหนดจำนวนสูงสุดและจำนวนที่จองคิวที่สามารถจองคิวผ่านแอปพลิเคชันได้         นอกจากการจองคิวผ่านแอปพลิเคชัน DLT Smart Queue แล้ว ยังสามารถจองคิวผ่านทางเว็บไซต์ https://gecc.dlt.go.th ได้เช่นกัน        ใครมีความจำเป็นต้องใช้บริการกับกรมการขนส่งทางบก ลองใช้แอปพลิเคชัน DLT Smart Queue ซึ่งสามารถช่วยลดระยะเวลาในการรอคิวมากเลยทีเดียว        ทีนี้ก็หมดปัญหาเรื่องการรอคิวยาวแล้วล่ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 กระแสต่างแดน

ไม่มีเซอร์ไพรซ์        ลูกค้าเว็บจองโรงแรม แอร์บีเอ็นบี ในยุโรป สามารถจองห้องได้อย่างสบายใจ เพราะต่อไปนี้เขาจะแจ้งค่าธรรมเนียมทุกอย่าง (รวมถึงค่าทำความสะอาดและภาษีท้องถิ่น) ไว้ในหน้าแรก         ผู้บริโภคยังจะได้ทราบด้วยว่าเจ้าของห้องพักดังกล่าว เป็นชาวบ้านทั่วไปที่แบ่งห้องให้เช่าหรือผู้ประกอบการด้านที่พักโดยตรง ในกรณีที่เกิดปัญหาก็มีลิงก์ไปยังแพลทฟอร์มที่ผู้บริโภคสามารถส่งเรื่องร้องเรียนได้ทันที         นอกจากนี้ผู้ใช้สามารถฟ้องร้องต่อศาลในประเทศที่ตนเองอยู่อาศัย และไม่เสียสิทธิในการฟ้องร้อง “เจ้าบ้าน” ในกรณีที่เกิดอันตรายหรือความเสียหายอื่นๆ กับตนเอง             บริษัทบอกว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขใดๆ โดยไม่แจ้งให้ผู้ใช้ทราบอย่างชัดเจน และไม่ปิดโอกาสผู้ใช้ในการปฏิเสธสัญญา         เหตุที่บริษัทสัญชาติอเมริกันยอมทำตามข้อกำหนดของคณะกรรมาธิการยุโรป ก็เพื่อหลีกเลี่ยงค่าปรับหลายล้านยูโรนั่นเองเค็มแถวหน้า        จีนเป็นประเทศที่มีอัตราการบริโภคเกลือสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก งานวิจัยโดยมหาวิทยาลัยควีนแมรี่แห่งลอนดอนพบว่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ผู้ใหญ่ชาวจีนบริโภคเกลือเฉลี่ยวันละมากกว่า 10 กรัม ในขณะที่เด็กวัย 6 ปีขึ้นไป ก็บริโภคเกลือวันละเกือบ 9 กรัม         มีเพียงเด็กเล็กวัย 3 ถึง 6 ปีที่บริโภคเกลือวันละ 5 กรัม (ซึ่งเป็นปริมาณการบริโภคเกลือที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ)         นักวิจัยพบว่าอัตราการบริโภคเกลือในหมู่ประชากรทางเหนือของประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีผักสดให้รับประทานตลอดทั้งปีจึงไม่ต้องพึ่งพาผักดอง         แต่กลับพบการบริโภคเกลือที่สูงขึ้นทางตอนใต้ของประเทศ เพราะผู้คนนิยมรับประทานอาหารแปรรูปและซื้ออาหารนอกบ้านทานมากขึ้น         นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าเด็กที่ชอบทานเค็มจะโตเป็นผู้ใหญ่ที่ชอบเค็มด้วย สถิติยังระบุว่าร้อยละ 40 ของสาเหตุการตายในหมู่ประชากรจีนเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและความดันสูงที่เกิดจากการบริโภคเกลือมากเกินไปด้วย  “เมดอินเวียดนาม”        บริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน Asanzo ของเวียดนาม มีเรื่องต้องอธิบายผู้บริโภค เมื่อถูกเปิดโปงว่าเครื่องรับโทรทัศน์ที่ “ผลิตในเวียดนาม” ของบริษัท มีส่วนประกอบถึงร้อยละ 80 ที่ผลิตมาจากจีนก่อนหน้านี้ผู้ผลิตกุญแจยี่ห้อ “มินไค” ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนเวียดนามมานานกว่า 30 ปี ได้เริ่มนำเข้ากุญแจจากประเทศจีนมาติดฉลากเป็นยี่ห้อตนเอง ประทับตรา “ISO 9000-2000” และ “สินค้าคุณภาพสูงจากเวียดนาม”         ปลายปี 2017 “ไคซิลค์” ก็ออกมายอมรับว่านำเข้าผ้าไหมจากจีนเข้ามาตีตราขายเป็นสินค้าแบรนด์ตัวเองในเวียดนามมาเป็นสิบปีแล้ว ความแตกเพราะลูกค้าที่ซื้อผ้าพันคอไป 60 ชิ้น (ในราคาชิ้นละประมาณ 850 บาท) พบว่าผ้าผืนหนึ่งมีทั้งฉลาก “ผลิตในประเทศจีน” และฉลาก “ผลิตในเวียดนาม”         ทั้งหมดนี้สร้างความขุ่นเคืองให้ผู้บริโภคที่เวียดนามอย่างมาก ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าบอกว่าเรื่องนี้ทำกันทั้งผู้ผลิตรายใหญ่และรายย่อย เพราะปัจจุบันไม่มีเกณฑ์ว่าอย่างไรถึงจะเข้าข่ายเป็น “ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง” และ “ผลิตในเวียดนาม”“ไม่เอาหลอด”        กฎหมายว่าด้วยการจัดการขยะในครัวเรือนทำให้ชาวเซี่ยงไฮ้ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสั่งอาหาร/เครื่องดื่มออนไลน์ เพื่อลดภาระในการคัดแยกขยะ เอเลมี ผู้ให้บริการส่งอาหารบอกว่าตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีถึง 4,100 คำสั่งซื้อที่มีข้อความกำกับมาด้วย หนี่งในสี่ของคำสั่งซื้อระบุว่า “ขอซุปน้อยลง” ที่เหลือก็เป็นทำนอง “ขอข้าวน้อย” “ไม่เอาพริกไทยซอง” “แกะย่างไม่เอาไม้เสียบ” เป็นต้น         เหม่ยถวน ผู้ให้บริการอีกเจ้าหนึ่งระบุว่ามีคำสั่งซื้อที่ระบุว่า “ไม่เอาช้อน/ซ้อม/ตะเกียบ” เพิ่มขึ้นจากเดิมถึงสี่เท่า และ “หลอด” ทั้งที่เป็นกระดาษและพลาสติกก็เป็นที่รังเกียจเช่นกันยกตัวอย่างกรณีชานมไข่มุก หากกินไม่หมดก็ต้องเทน้ำชาลงซิงค์ ทิ้งเม็ดไข่มุกลงในถังขยะเปียก และนำแก้วไปทิ้งในถังรีไซเคิล         เว็บไซต์ Caijing.com พบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม 50,000 คน จะเลิกกินชานมเพราะขั้นตอนการแยกขยะที่ยุ่งยากซับซ้อนรอได้ก็เขียวได้         ในทางทฤษฏี อีคอมเมิร์ซเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะการขับรถบรรทุกออกมารอบเดียวแต่ส่งของให้กับผู้คนได้มากมายมันย่อมดีกว่าให้แต่ละคนขับรถไปห้างกันเอง  งานวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตันในปี 2012 ก็ยืนยันว่าการสั่งซื้อแบบนี้สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80         แต่ขณะเดียวกันก็มีงานวิจัยที่พบว่าถ้ารถส่งของนำสินค้าไปส่งให้ผู้สั่งซื้อน้อยกว่า 6 รายต่อเที่ยว มันจะไม่ช่วยอะไร ยิ่งถ้าต้องนำส่งแบบทันทีโดยไม่รอรวมกับใครก็ยิ่งแล้วใหญ่ เฉลี่ยแล้วถ้ารถต้องออกไปโดยมีของส่งเพียงหนึ่งชิ้น ปริมาณคาร์บอนที่เกิดขึ้นจะมากกว่ากรณีที่มีของเต็มรถถึง 35 เท่า         นอกจากนี้ผู้บริโภคยังไม่รู้ถึงค่าใช้จ่ายที่แท้จริงในการเลือกรับสินค้า “ภายในวันเดียว” เนื่องจากเห็นว่าเป็นบริการฟรี (เพราะบริษัทแบกรับต้นทุนไว้) ทั้งที่อาจจะไม่ได้รีบใช้        ผู้เชี่ยวชาญเสนอทางออกเป็นปุ่ม “จัดส่งแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ให้ผู้บริโภคเลือกคลิก เพราะมีงานวิจัยที่พบว่าผู้บริโภคกว่าร้อยละ 50 ยินดีที่จะรอ หากช่วยลดภาระต่อสิ่งแวดล้อมได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 จองตั๋วเครื่องบินผ่านเอเยนต์ เครื่องล่าช้าขอเคลมได้

        มีหลายเรื่องที่บางคนอาจเห็นว่าเสียเวลา เช่นการร้องเรียนเพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากการให้บริการที่แย่ของผู้ประกอบการ ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคไม่อยากให้คิดเช่นนั้น การร้องทุกข์หนึ่งครั้งย่อมดีกว่า การบ่นปากเปล่า เพราะไม่เพียงช่วยให้ผู้ให้บริการได้ตระหนักถึงปัญหาตลอดจนหาแนวทางแก้ไข ยังช่วยให้เกิดบทเรียนกับบุคคลอื่นอีกด้วย         เช่นกรณีของคุณเด่น ที่ใช้บริการจองเที่ยวบินเดินทางไปจังหวัดภูเก็ตกับทาง Traveloka มีกำหนดเดินทางวันที่  8 กรกฎาคม ปีที่แล้ว เที่ยวบินกำหนดเวลาการเดินทาง 10.55 น. สายการบินไลอ้อนแอร์ ปรากฏว่าเที่ยวบินล่าช้ากว่ากำหนดไปเกือบสามชั่วโมง โดยไม่แจ้งสาเหตุแห่งความล่าช้าแก่ผู้โดยสาร คุณเด่นไม่สามารถทนรอต่อไปโดยไม่ทราบว่าจะได้เดินทางเมื่อไรกันแน่ จึงทำเรื่องขอเงินค่าโดยสารคืนกับทางสายการบิน ทางพนักงานสายการบินแจ้งว่าจะคืนเงินให้แต่ขอให้คุณเด่นติดต่อขอคืนเงินผ่านทางเว็บ Traveloka  “ดิฉันก็ทำเรื่องติดต่อประสานงานผ่านทั้ง สายการบินไลอ้อนแอร์และทางเว็บ Traveloka  แต่เหมือนทั้งคู่เกี่ยงกันไปมาไม่ยอมรับผิดชอบ สองเดือนแล้ว ดิฉันควรทำอย่างไรดี”  แนวทางการแก้ไขปัญหา        ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ทำหนังสือถึง บ.ไทย ไลอ้อนแอร์ บ.ทราเวลโลก้า และกรมการบินพลเรือน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ช่วยบรรเทาความเสียหายให้กับคุณเด่น เบื้องต้นทางทราเวลโลก้าแจ้งว่า ตรวจสอบกับทางสายการบินแล้ว ทางสายการบินแจ้งว่า “หมายเลขรหัสการจองของคุณเด่น” ไม่สามารถขอเงินคืนได้ เนื่องจากเที่ยวบินไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทางศูนย์ฯ ได้พยายามติดตามเรื่องอย่างต่อเนื่องเพราะเห็นว่าไม่เป็นธรรมกับทางคุณเด่น จนในที่สุดทางสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ แจ้งกลับมาว่า “กรณีขอเงินคืนจะสามารถย้อนหลังได้ไม่เกิน 90 วันและจะติดต่อกับทราเวลโลก้าก่อนว่าจะดำเนินการคืนเงินให้กับลูกค้าได้หรือไม่”         ย่างเข้าปลายเดือนมกราคม 2562 ทางสายการบินโทรแจ้งว่า หมายเลขรหัสจองของคุณเด่นได้รับการพิจารณาคืนเงินแบบ Full Refund ซึ่งกำหนดคืนภายใน 45 วัน โดยสายการบินแจ้งเรื่องไปที่เอเยนต์ซี่แล้ว ภายใน 30 วันให้ตรวจสอบการคืนเงินจากเอเยนต์ซี่ได้ จึงแจ้งเรื่องให้คุณเด่นทราบความคืบหน้าว่าจะใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 30 วัน ต่อมาเดือนมีนาคมเมื่อสอบถามกับคุณเด่นว่าได้รับการติดต่อคืนเงินหรือยัง จึงทราบว่า ยังไม่ได้รับการคืนเงิน จึงติดต่อกลับสายการบิน ได้รับแจ้งว่าสายการบินคืนเงินให้ทางทราเวลโลก้าแล้ว เมื่อสอบถามทราเวลโลก้า กลับระบุว่า ได้รับเงินจากสายการบินจริง แต่ไม่เต็มจำนวน จึงขอประสานงานกับทางสายการบินก่อนและจะแจ้งผลภายใน 24 ชั่วโมง สุดท้ายคุณเด่นก็ได้รับเงินค่าตั๋วคืนเต็มจำนวน แต่ก็ต้องใช้เวลาหลายเดือน คมนาคม เปิดสิทธิ์ชดเชยผู้โดยสารเที่ยวบินดีเลย์รายงานข่าวจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ปัญหาสายการบินล่าช้าที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการ ดังนั้น กพท. กำชับไปยังทุกสายการบินให้เร่งแก้ไขปัญหารวมทั้งให้การดูแลผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบให้ครบถ้วนตาม เกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด สำหรับผู้โดยสารที่ประสบปัญหาเที่ยวบินดีเลย์สามารถขอใช้สิทธิ์ชดเชย ได้ดังต่อไปนี้สำหรับเที่ยวบินประจำภายในประเทศ ตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องการคุ้มครองสิทธิ์ของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางประจำภายในประเทศ พ.ศ. 2553กรณียกเลิกเที่ยวบิน หรือ ปฏิเสธการขนส่ง ผู้โดยสารจะได้รับการปฏิบัติจากสายการบิน ดังนี้ 1. ได้รับเงินค่าโดยสารคืน หรือ เปลี่ยนเที่ยวบิน หรือ เดินทางโดยการขนส่งทางอื่น และ2. ได้รับการดูแลจากสายการบิน อาหารและเครื่องดื่ม, โทรศัพท์ / โทรสาร / E-mail, ที่พักพร้อมการขนส่งระหว่างสนามบินกับที่พัก (ถ้าต้องค้างคืน) และ3. ได้รับค่าชดเชย 1,200 บาท เว้นแต่ สายการบินพิสูจน์ได้ว่าการยกเลิกเที่ยวบินเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัยหรือสายการบินได้แจ้งการยกเลิกเที่ยวบินก่อนวันเวลาเดินทางไม่น้อยกว่า 3 วัน หรือ สายการบินเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินให้แก่ผู้โดยสารไปยังจุดหมายที่ระบุในบัตรโดยสารได้ภายในไม่เกิน 3 ชั่วโมง จากเวลาเดิมสำหรับกรณีเที่ยวบินล่าช้า ผู้โดยสารจะได้รับการปฏิบัติจากสายการบิน ดังนี้ 1. เที่ยวบินล่าช้าเกิน 2 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 3 ชั่วโมง อาหารและเครื่องดื่ม และโทรศัพท์ / โทรสาร / E-mail , ได้รับเงินค่าโดยสารคืน กรณีไม่ประสงค์จะเดินทางต่อ2. เที่ยวบินล่าช้าเกิน 3 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 5 ชั่วโมงอาหารและเครื่องดื่ม และโทรศัพท์ / โทรสาร / E-mail , ได้รับเงินค่าโดยสารคืน หรือ เปลี่ยนเที่ยวบิน หรือ เดินทางโดยการขนส่งทางอื่น3. เที่ยวบินล่าช้าเกิน 5 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 6 ชั่วโมง อาหารและเครื่องดื่ม และโทรศัพท์ / โทรสาร / E-mail , ได้รับเงินค่าโดยสารคืน หรือ เปลี่ยนเที่ยวบิน หรือ เดินทางโดยการขนส่งทางอื่น และ, ค่าชดเชยเป็นเงินสดจำนวน 600 บาท เว้นแต่ สายการบินพิสูจน์ได้ว่าเที่ยวบินล่าช้าเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัย4. เที่ยวบินล่าช้าเกิน 6 ชั่วโมง ทั้งนี้ สายการบินต้องปฏิบัติต่อผู้โดยสารเช่นเดียวกับมาตรการในเรื่องการยกเลิกเที่ยวบินทั้งนี้ หากสายการบินไม่ปฏิบัติตามประกาศฯ ผู้โดยสารสามารถร้องเรียนมาที่ กพท. E-mail : info@caat.or.th โทรศัพท์ 0-2568-8800ที่มา https://www.khaosod.co.th/economics/news_920242

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 แอปพลิเคชันจองเที่ยวบินพลาด

        ทุกวันนี้ต้องยกให้เทคโนโลยีเป็นเสมือนหัวใจของทุกสิ่ง โดยเฉพาะเรื่องการติดต่อสื่อสาร การทำธุรกรรมต่างๆ ซึ่งเทคโนโลยีได้เข้ามารองรับไว้เกือบจะทั้งหมดแล้ว ยิ่งการจองตั๋วเครื่องบิน เราแทบไม่ต้องพูดคุยกับมนุษย์ คุณทำได้เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส  อย่างไรก็ตามเรื่องความผิดพลาดจากเทคโนโลยีนั้นหลายครั้งก็เกิดขึ้นได้ จึงต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ         คุณแมงมุม ซึ่งรักการเดินทางเป็นชีวิตจิตใจ มีแผนการเดินทางไปญี่ปุ่น ณ เมืองโอซาก้า ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ตอนนั้นจึงเข้าแอปพลิเคชั่นของสายการบินนกสกู๊ต โดยกรอกข้อมูลต่างๆ ไปตามปกติ โดยระบุต้นทางกรุงเทพฯ ปลายทางโอซาก้า  พร้อมชำระเงินจนเรียบร้อย แต่เมื่อได้ทบทวนรายการอีกครั้งกลับพบว่า เส้นทางขาไปแทนที่จะเป็น กรุงเทพ-โอซาก้า ได้สลับเป็น โอซาก้า-กรุงเทพ แทน ซึ่งแน่นอนว่าความผิดพลาดนี้คุณแมงมุมมั่นใจว่าเกิดจากแอปพลิเคชันมิได้เกิดจากตนเอง จึงโทรศัพท์ติดต่อกับคอลเซนเตอร์ของสายการบินนกสกู๊ตเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว         เมื่อติดต่อไปคอลเซนเตอร์กลับระบุว่า ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ เพราะแอปพลิเคชันไม่มีทางพลาด น่าจะเป็นคุณแมงมุมเองที่กรอกข้อมูลผิด         เจอคำตอบแบบนี้เข้าไป คุณแมงมุมก็ไม่ยอมจำนนโดยง่ายเพราะเธอมั่นใจว่า เธอทำทุกอย่างถูกต้อง จึงทดลองจองตั๋วผ่านแอปพลิเคชันอีกครั้ง ก็พบว่าเมื่อเมื่อกดเลือกต้นทางปลายทางในตอนแรกแล้ว ระหว่างที่ทำการเลือกวันเดินทางในขั้นตอนถัดมา ระบบได้สลับต้นทางปลายทางเองโดยอัตโนมัติ ความผิดพลาดนี้จึงควรเป็นสิ่งที่สายการบินต้องรับผิดชอบต่อผู้บริโภค คุณแมงมุมจึงร้องเรียนมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา        เมื่อรับเรื่องจากคุณแมงมุม ทางศูนย์ฯ ได้ติดต่อประสานงานกับบริษัทนกสกู๊ต เพื่อขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับผู้ร้อง ซึ่งได้รับแจ้งในเวลาถัดมาจากคุณแมงมุมว่า ทางสายการบินได้ปรับแก้ตั๋วเดินทางให้ถูกต้องเป็นกรุงเทพ-โอซาก้า เรียบร้อยแล้ว จึงขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยเหลือให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิอย่างที่ควรเป็น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 ข้องใจทำไมบริษัทรับจองตั๋วเครื่องบินไม่แจ้งการเลื่อนเที่ยวบิน

ปัจจุบันการจองตั๋วเครื่องบินไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไร มีบริการทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชันให้เลือกมากมาย หนึ่งในผู้ให้บริการที่นิยมกันในเวลานี้ คือ ทราเวลโลกา(Traveloga) ซึ่งมีผู้ร้องรายหนึ่งปรึกษามาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิว่าไม่ได้รับบริการที่ดี ควรทำอย่างไร เรื่องมีอยู่ว่า คุณตุลยา ใช้บริการจองตั๋วเครื่องบินกับ ทราเวลโลกา ทั้งหมด 3 ครั้ง สองครั้งแรกพบปัญหาว่า เมื่อสายการบินต้องเลื่อนเวลาการเดินทาง คุณตุลยาจะไม่เคยได้รับข้อมูลการแจ้งเตือนจาก ทราเวลโลกา เลย เหตุครั้งแรกเกิดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เธอไปตามตารางเวลาบินแต่พบว่า สายการบินประกาศเลื่อนการเดินทาง เมื่อสอบถามกับสายการบินว่าทำไมไม่มีการแจ้งล่วงหน้า “สายการบินแจ้งว่า ได้บอกข้อมูลเรื่องเลื่อนการเดินทางกับทราเวลโลกาแล้ว” เหตุดังกล่าวทำให้คุณตุลยาต้องเสียเวลาอยู่ที่สนามบินหลายชั่วโมง  ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 16 เมษายน จองตั๋วเที่ยวบิน ภูเก็ต-กรุงเทพฯ เวลา 21.40 น. ครั้งนี้อาศัยว่ามีประสบการณ์ไม่ดีมาก่อน เลยโทรไปสอบถามกับสายการบินเอง พบว่าเที่ยวบินเลื่อนการเดินทางเป็น 20.35 น. ซึ่งถ้าไม่สอบถามเองเธอคงต้องพลาดโอกาสขึ้นเครื่องบินแน่ๆ  ทางคุณตุลยาอยากให้ทางทราเวลโลกาปรับปรุงเรื่อง บริการแจ้งเตือนลูกค้า และไม่อยากพลาดอีกเป็นครั้งที่สาม แนวทางแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ประสานไปที่ ทราเวลโลกา ผ่านทางระบบแชทหน้าเว็บไซต์ พนักงานให้ข้อมูลว่า ทราเวลโลกา มีระบบเรื่องการแจ้งเตือนเมื่อมีการเลื่อนเที่ยวบิน  โดยปกติสายการบินจะแจ้งตรงต่อผู้โดยสารเอง และหากแจ้งผ่านมาทางทราเวลโลกา บริษัทจะแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบผ่านทางอีเมล ทั้งนี้ทราเวลโลกา อยากทราบข้อมูลผู้ร้องเพื่อตรวจสอบหาสาเหตุว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร ตรงนี้คุณตุลยาไม่อยากเปิดเผยข้อมูลกับทราเวลโลกา เพราะเกรงว่า อาจมีปัญหาในภายหลัง อย่างไรก็ตามคุณตุลยาสอบถามเพิ่มเติมว่า กรณีนี้ใครเป็นฝ่ายผิด ผู้โดยสารหรือทราเวลโลกา หากขึ้นเครื่องไม่ทัน เรื่องนี้ต้องดูที่เงื่อนไขการให้บริการของตัวแทน หากบริษัทตัวแทนมีภาระหน้าที่ต้องแจ้งเตือนผู้ใช้บริการ บริษัทก็เป็นฝ่ายผิดเพราะไม่แจ้งเตือน สำหรับกรณีทราเวลโลกา ทางบริษัทแจ้งว่า มีระบบแจ้งสองแบบ คือ สายการบินแจ้งเองกับสายการบินแจ้งผ่านทราเวลโลกา  ก็มองได้ว่าทราเวลโลกาเป็นฝ่ายผิด สามารถเรียกค่าเสียหายได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 บอกเลิกสัญญาจองรถได้หรือไม่

เชื่อว่ามีหลายคนที่เคยตัดสินใจวางเงินมัดจำจองรถ แต่มาเปลี่ยนใจภายหลัง เพราะไม่อยากได้รถคันดังกล่าวแล้วด้วยเหตุผลต่างๆ ซึ่งมักเกิดคำถามตามมาว่า เงินจองที่เสียไป จะสามารถขอคืนได้หรือไม่ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสมใจตัดสินจองรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด ภายในงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา โดยชำระเงินจองเป็นเงินจำนวน 5,000 บาท อย่างไรก็ตามภายหลังเธอพบว่า ตนเองประสบปัญหาด้านการเงิน และเกรงว่าจะไม่สามารถผ่อนชำระค่างวดรถในอนาคตได้ จึงต้องการยกเลิกการซื้อรถดังกล่าว เธอแจ้งความจำนงกลับไปที่บริษัทพร้อมขอเงินจองคืน ซึ่งพนักงานตอบกลับมาว่า สามารถคืนเงินให้ได้เมื่อจบงานมอเตอร์โชว์ อย่างไรก็ตามเมื่อจบงานดังกล่าวแล้ว ทางบริษัทก็บ่ายเบี่ยงการคืนเงินมาตลอด คุณสมใจจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า การบอกเลิกสัญญาสามารถทำได้ หากมีเหตุแห่งการบอกเลิก ซึ่งตามมาตรา 378 (2) ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2551 กำหนดไว้ดังนี้ข้อ 3 ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อผู้ประกอบธุรกิจกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้3.1 ปรับเปลี่ยนราคารถยนต์สูงขึ้น3.2 ไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคภายในระยะเวลาที่กำหนด3.3 ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มี ยี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์ ตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญา3.4 ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มีรายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถม หรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่กำหนดในสัญญาข้อ 4 ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบธุรกิจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสิทธิบอกเลิกสัญญา หากมีข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับทราบว่า ผู้บริโภคต้องขอสินเชื่อเพื่อการซื้อรถยนต์และผู้บริโภคไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อตามที่ขอภายในกำหนดเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์ดังนั้นหากไม่มีเหตุให้บอกเลิกสัญญาตามข้อกำหนดเบื้องต้น ผู้ร้องจะไม่สามารถเรียกร้องเงินจองหรือเงินมัดจำคืนได้ อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้ศูนย์ฯ เสนอว่าสามารถช่วยให้เกิดการเจรจาระหว่างผู้ร้องกับบริษัทรถยนต์ เพื่อขอให้มีการคืนเงินบางส่วนได้ ซึ่งจะมีการหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงไป แต่ผู้ร้องได้ขอกลับไปตัดสินใจก่อน และจะแจ้งความจำนงมายังมูลนิธิฯ ในภายหลัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 จองตั๋วเครื่องบินไม่ได้

มีวิธีการมากมายในการจองตั๋วเครื่องบินผ่านสายการบินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจองผ่านเว็บไซต์ หรือผ่านแอพพลิเคชั่น อย่างไรก็ตามแม้วิธีการเหล่านั้นจะสะดวกสบายและรวดเร็ว แต่ก็สามารถสร้างปัญหาได้เช่นกัน หากระบบการจองเกิดความผิดพลาด เหมือนเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้คุณสมชายและเพื่อนต้องการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ จึงจองตั๋วเครื่องบินของสายการบินแอร์เอเชีย ผ่านแอพพลิเคชั่นของสายการบินดังกล่าว และชำระเงินผ่านบัตรเครดิตเป็นเงิน 3,094.72 บาท อย่างไรก็ตามหลังชำระเงินเรียบร้อยกลับขึ้นข้อความว่าแจ้งเตือนว่าหมดเวลา(Time out) คุณสมชายจึงโทรศัพท์ไปยังบริษัทเพื่อสอบถามปัญหา ซึ่งพนักงานตอบกลับว่าไม่มีรายการจองตั๋วดังกล่าว และขอให้ทำรายการใหม่ ดังนั้นเขาจึงต้องทำการจองใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง รวมทั้งชำระเงินผ่านบัตรเครดิตในยอดเงินเท่าเดิม ซึ่งปัญหาก็เกิดขึ้นเหมือนครั้งก่อน โดยมีการแจ้งเตือนผ่านหน้าแอพพลิเคชั่นว่าทำรายการล้มเหลว แต่มีการตัดยอดเงินในบัตรเครดิตเช่นเดิม ยิ่งกว่านั้นเมื่อเขาได้ตรวจสอบข้อมูลการจองอีกครั้ง กลับพบว่าตนเองจองตั๋วผิด และหลังจากโทรศัพท์ไปยังสายการบินเพื่อขอเปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน พนักงานก็ได้แจ้งกลับมาว่าหากสำรองที่นั่งแล้ว สายการบินอนุญาตเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินได้ก่อนกำหนดเดินทางอย่างน้อย 48 ชม. หากเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดไม่อนุญาตให้เปลี่ยนแปลงใดๆ และการเปลี่ยนแปลงนี้จะต้องชำระค่าธรรมเนียมตามอัตราของสายการบินด้วย ส่วนในกรณีที่ไม่สามารถเดินทางได้ สามารถขอคืนค่าภาษีสนามบินได้หลังจากที่เที่ยวบินได้ผ่านไปแล้ว เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้คุณสมชายจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวการทางการแก้ไขปัญหาหลังได้รับเรื่องร้องเรียน ศูนย์ฯ ช่วยติดต่อกับทางบริษัทให้มีการเจรจา ซึ่งใช้หลักฐานประกอบการดำเนินการคือ ข้อมูลหมายเลขบัตรโดยสาร และยอดบัตรเครดิตที่จ่ายไป ทั้งนี้ผู้ร้องต้องการให้ทางสายการบินคืนเงินค่าตั๋วทั้งหมดจำนวน 6,189.44 บาท อย่างไรก็ตามทางบริษัทได้ส่งหนังสือชี้แจงกลับมาว่า สามารถคืนเงินค่าโดยสารได้แค่ครั้งแรกที่เกิดความผิดพลาดจากระบบ ส่วนครั้งที่สองเสนอให้เก็บยอดดังกล่าวไว้เพื่อใช้ในการเดินทางครั้งต่อไป ด้านผู้ร้องยินดีรับข้อเสนอดังกล่าว และขอยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 186 โดนเชิดเงินหนีหลังจองรถ

แม้คนส่วนใหญ่ต่างมั่นใจว่าการเช่าซื้อรถยนต์ที่ศูนย์บริการจะมีความปลอดภัย แต่หากเราประมาทเพียงเล็กน้อยก็สามารถโดนเชิดเงินจองรถ ที่จ่ายให้กับตัวแทนของบริษัทไปแล้วก็ได้ คุณสุชาติเช่าซื้อรถยนต์มือหนึ่ง รุ่น พรีเมล่า (Premera) จากศูนย์นิสสัน ราคาประมาณ 530,000 บาท โดยจ่ายค่าจองรถไว้ก่อนจำนวน 5,000 บาท ถัดมาอีก 2 วัน พนักงานของบริษัทได้ติดต่อมาว่า ตอนนี้มีโปรโมชั่นพิเศษสำหรับลูกค้าที่จองรถ ซึ่งหากต้องการรับสิทธิดังกล่าวต้องโอนเงินมาเพิ่มอีก 5,000 บาท เมื่อผู้ร้องได้รับข้อมูลดังนั้นและเชื่อว่าเป็นโปรโมชั่นของบริษัทจริง จึงโอนเงินไปเพิ่ม แต่เหตุการณ์ไม่ได้จบเพียงเท่านี้ เพราะอีก 1 อาทิตย์ถัดมา พนักงานคนเดิมก็โทรศัพท์เข้ามาอีกครั้งเพื่อแจ้งว่า ทางบริษัทต้องการคำยืนยันที่ชัดเจนว่าผู้ร้องยังต้องการรถ ซึ่งทางบริษัทจะนำเข้าหรือสั่งมาให้ตามจำนวนที่ลูกค้าต้องการ โดยสามารถยืนยันสิทธิได้ด้วยการโอนเงินมาเพิ่มอีก 22,000 บาท หลังจากตัดสินใจสักพัก ผู้ร้องก็หลงเชื่อและโอนเงินไปอีกครั้ง ซึ่งหากรวมๆ แล้ว จำนวนเงินที่ผู้ร้องโอนให้พนักงานคนดังกล่าวเป็นจำนวนทั้งสิ้น 32,000 บาทเวลาต่อมาคุณสุชาติก็ได้นัดหมายกับไฟแนนซ์ และพนักงานของบริษัทรถที่เขาโอนเงินไปให้ เพื่อให้มาตกลงเรื่องการส่งค่างวดรถ อย่างไรก็ตามพนักงานคนดังกล่าวกลับบ่ายเบี่ยง และอ้างว่าไม่สะดวกทุกครั้งที่เขานัด ทำให้คุณสุชาติเริ่มไม่พอใจและติดต่อกลับไปยังบริษัทฯ เพื่อสอบถามปัญหา ภายหลังการพูดคุยและสอบถามถึงจำนวนเงินที่โอนไปก่อนหน้านี้ ทางบริษัทฯ กลับแจ้งว่า ไม่เคยได้รับเงินที่คุณสุชาติโอนเข้ามาก่อนหน้านี้เลย และเมื่อติดต่อไปยังพนักงานคนดังกล่าวก็พบว่า เขาได้ลาหยุดมาหลายวันแล้ว และไม่สามารถติดต่อได้ อย่างไรก็ตามเมื่อคุณสุชาติถามถึงการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางบริษัทฯ ก็ตอบกลับว่า ไม่สามารถรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ คุณสุชาติต้องเป็นคนจัดการเอง ซึ่งเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ เขาจึงไปแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐาน และมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ผู้ร้องเข้ามาปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพื่อต้องการทราบว่าการที่บริษัทฯ ปฏิเสธการรับผิดชอบเช่นนี้ สามารถทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้ชี้แจงกฎหมายที่เกี่ยวข้องสำหรับเหตุการณ์เช่นนี้ คือ ตามหลักกฎหมายตัวการตัวแทน กำหนดไว้ว่า ตัวการย่อมมีความผูกพันกับบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลาย อันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้กระทำไปในขอบเขตแห่งฐานตัวแทนนั้น หมายถึง การที่ตัวแทนได้ไปกระทำการในนามของบริษัท โดยได้กระทำในขอบเขตที่บริษัทให้ทำ ก็ต้องถือว่าทางบริษัทต้องรับผิดชอบกับตัวแทนนั้นด้วย ปกติบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จะต้องมีตัวแทนคนหนึ่งหรือหลายคนกระทำการแทนบริษัท ตามกฎหมายข้อบังคับหรือตราสารที่ได้กำหนดไว้ ดังนั้น1. พนักงานของบริษัท เมื่อได้มีการกระทำแทนบริษัทในกิจการภายในวัตถุประสงค์ของบริษัท พนักงานบริษัทจึงถือเสมือนเป็นตัวแทนของบริษัท2. หากทางพนักงานได้ทำการแทนบริษัท โดยได้รับเงินภายในกรอบวัตถุประสงค์ของบริษัท ทางบริษัทย่อมมีความผูกพัน ในจำนวนเงินที่พนักงานนั้นได้รับ แต่ถ้าหากพนักงานได้ทำการแทนนอกวัตถุประสงค์แล้ว ก็ไม่ถือว่าเป็นผลผูกพันต่อบริษัท3. ตามที่ผู้ร้องได้ทำการโอนเงินให้กับพนักงาน โดยผู้ร้องเข้าใจว่าพนักงานนั้นเป็นตัวแทนและเป็นผู้มีอำนาจเรียกเก็บเงินของบริษัท จึงถือว่าผู้ร้องได้โอนเงินนั้นไปโดยสุจริต โดยถือว่าบริษัทได้ทำการยอมรับให้พนักงานนั้น เป็นตัวแทนของตนในการรับหรือเก็บเงินของผู้ร้อง เพราะฉะนั้นทางบริษัทจึงต้องรับผิดชอบต่อผู้ร้อง ซึ่งถือเป็นบุคคลภายนอกโดยสุจริต จึงไม่ถือว่าเป็นความผิดของผู้ร้อง4. หากพนักงานบริษัทได้กระทำการใดที่อยู่ในขอบเขตอำนาจตรงตามวัตถุประสงค์ของบริษัท ถือว่าเป็นการกระทำแทนบริษัท บริษัทจึงต้องรับผิดชอบในการที่พนักงานนั้นได้กระทำแทนบริษัทไป เสมือนกับทางบริษัทได้กระทำการนั้นด้วยตนเอง จากหลักกฎหมายดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นว่า บริษัทฯ ไม่สามารถปัดความรับผิดชอบจากการกระทำของพนักงานคนดังกล่าวได้ นอกจากนี้ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ เอกสารการจองรถที่ผู้ร้องนำมาเป็นหลักฐานนั้น ไม่ใช่เอกสารการจองฉบับจริงของบริษัท แต่เป็นสำเนาการถ่ายเอกสาร ซึ่งผู้ร้องให้ข้อมูลว่า พนักงานนำใบจองรถที่ถ่ายสำเนามาให้เซ็นชื่อ ซึ่งเขาเชื่อโดยสนิทใจว่าเป็นเอกสารการจองรถของบริษัทจริงๆ โดยมารู้ภายหลังว่าพนักงานคนดังกล่าว ได้แอบนำใบจองฉบับจริงไปถ่ายเอกสาร ซึ่งหากเราไม่สังเกตก็อาจทำให้โดนหลอกได้ง่ายๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 186 แก้ปัญหารถยนต์ใหม่มือหนึ่งชำรุดบกพร่อง

เมื่อเราซื้อรถยนต์ใหม่มือหนึ่ง ย่อมต้องคาดหวังในประสิทธิภาพที่คุ้มค่ากับราคา อย่างไรก็ตามใช่ว่ารถยนต์ใหม่มือหนึ่งทุกคันจะไม่มีปัญหากวนใจ ซึ่งเราควรแก้ไขปัญหาอย่างไรลองมาดูเหตุการณ์นี้กันคุณสุนีย์ต้องการซื้อรถยนต์ใหม่มือหนึ่งยี่ห้อ วอลโว่ รุ่น S60 T4F จากบริษัทแห่งหนึ่ง ในราคาเกือบ 2 ล้านบาท อย่างไรก็ตามภายหลังเธอสังเกตเห็นว่าในใบสั่งจองรถยนต์คันดังกล่าว ประทับตราข้อความว่า “รถทดลองขับ/รถผู้บริหารใช้แล้ว” เมื่อสอบถามไปยังผู้จัดการฝ่ายขายก็ได้รับคำตอบว่า ที่ต้องประทับตราข้อความเช่นนั้น เนื่องจากเป็นโปรโมชั่นพิเศษ เพื่อให้ผู้ร้องผ่อนได้ศูนย์เปอร์เซ็นต์ ทำให้เธอไม่ติดใจอะไรและตกลงซื้อรถยนต์คันดังกล่าวมาอย่างไรก็ตามเมื่อรับรถมาแล้วประมาณ 4 เดือน เธอพบว่ารถยนต์มีอาการสั่นรุนแรงและสตาร์ทไม่ติด ทำให้ต้องส่งเข้าศูนย์ซ่อม ซึ่งภายหลังศูนย์ได้เปลี่ยนแบตเตอรี่ให้ เพราะมีปัญหาเกิดจากแบตเตอรี่เสื่อม ทำให้เธอข้องใจว่า ทำไมรถยนต์ใหม่ถึงมีปัญหาเช่นนี้ เมื่อสอบถามข้อมูลจึงพบว่ารถคันดังกล่าวผลิตในปี 2014 ทำให้อาจมีปัญหาแบบนี้ได้ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณสุนีย์จึงมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพื่อขอคำปรึกษา เนื่องจากก่อนหน้าที่เธอจะตกลงซื้อรถยนต์คันดังกล่าว ได้แจ้งกับพนักงานแล้วว่าต้องการรถรุ่นใหม่ล่าสุด หรือรุ่นที่ผลิตในหรือ 2015 ไม่ใช่รุ่นเก่าเช่นนี้แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องขอข้อมูลการซ่อมที่ผ่านมาทั้งหมดจากศูนย์บริการ เพื่อให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับรุ่นและประวัติต่างๆ พร้อมส่งจดหมายถึง บริษัท วอลโว่ คาร์ ประเทศไทย เพื่อให้ช่วยตรวจสอบข้อมูลและดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งภายหลังก็ได้รับการยืนยันว่า รถคันดังกล่าวไม่ใช่รุ่นที่ผู้ร้องต้องการ ดังนั้นตามหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาจองรถ พบว่าหากบริษัทมีการส่งรถไม่ตรงตามสัญญา เช่น ผิดรุ่นดังกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ผู้ร้องสามารถคืนรถคันดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตามเมื่อมีการเจรจากับทางบริษัทก็ได้รับการชี้แจงว่า รถยนต์รุ่นนี้ไม่มีการผลิตในปี 2015 ซึ่งรถคันนี้เป็นรถใหม่ แต่อาจจอดทิ้งไว้นานจนทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น แต่ยินยอมรับผิดชอบด้วยการคืนเงินที่ลูกค้าจ่ายไป พร้อมปิดไฟแนนซ์ให้ โดยขอหักค่าเสื่อมจำนวน 60,000 บาท ด้านผู้ร้องยินดีรับข้อเสนอดังกล่าวจึงยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 139 ถูกยกเลิกเที่ยวบิน แถมคืนเงินไม่ครบ

คุณอาทรร้องเรียนสั้นๆ มาว่า....ผมได้จองตั๋วเที่ยวบิน กรุงเทพฯ-โคลอมโบ ศรีลังกา เพื่อไปท่องเที่ยวระหว่างวันที่ 26-29 ตุลาคม 2555 ปรากฎว่าทางสายการบินแจ้งยกเลิกครับ และแจ้งว่าจะคืนเงินให้เฉพาะส่วนที่เป็นค่าตั๋วและค่าธรรมเนียมต่างๆ แต่จะไม่คืนเงินในส่วนที่ซื้อเพิ่มเติมคือ ค่าโหลดกระเป๋าและค่าอาหารบนเครื่อง และยังไม่สามารถแจ้งให้โอนเงินเข้าบัญชีได้อีกครับ จะโอนเงินผ่านช่องทางที่ซื้อเข้ามาเท่านั้น คือผ่านทางบัตรเครดิตให้ซึ่งเงินก็จะไปอยู่ในบัตรไม่สามารถเบิกมาได้เป็นเงินสด แถมยังคืนไม่ครบอีกจึงอยากจะขอปรึกษาว่าผมจะดำเนินการอย่างไรได้บ้างครับ รู้สึกว่าไม่ยุติธรรมและเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคทั้งๆ ที่เป็นความผิดของตนเองแท้ๆ ที่ยกเลิกไฟท์การบิน ทำให้เกิดความเสียหายแถมยังรับผิดชอบแบบครึ่งๆ กลางๆ อีกครับ แนวทางแก้ไขปัญหาปัญหาที่เกิดจากการใช้บริการโดยสาร ไม่ว่าจะเป็นรถ เรือ หรือเครื่องบิน ล้วนอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายในเรื่อง “รับขนคนโดยสาร” ที่มีข้อกำหนดหลักๆ สรุปเป็นภาษาให้พอเข้าใจได้ว่า ผู้ประกอบการรับส่งผู้โดยสารจะต้องรับผิดต่อผู้โดยสารในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวผู้โดยสาร หรือในความเสื่อมเสียอย่างใดๆ ที่เป็นผลโดยตรงจากการที่ต้องชักช้าในการขนส่งผู้โดยสาร เว้นแต่การเสียหายหรือชักช้านั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเกิดจากความผิดของผู้โดยสารเอง ในขณะที่กระทรวงคมนาคม ได้ออกประกาศเรื่อง การคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทย ในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ พ.ศ. 2553 แม้จะบังคับใช้เฉพาะสายการบินของไทย และบินในเส้นทางภายในประเทศ แต่ก็พอนำมาเทียบเคียงเรียกร้องสิทธิให้กับผู้โดยสารท่านนี้ได้ประกาศฉบับนี้ได้กล่าวถึงการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารในกรณีการยกเลิกเที่ยวบิน หรือการปฏิเสธการขนส่ง ว่าสายการบินต้องปฏิบัติต่อผู้โดยสาร โดยมีทางเลือกให้ผู้โดยสาร 2 ทาง ทางเลือกแรกคือ รับเงินค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ถูกเรียกเก็บคืนเต็มตามจำนวนที่จ่ายไป หากสายการบินจะชำระเป็น Travel Vouchers หรือสิ่งอื่นแทนเงินค่าโดยสาร และค่าธรรมเนียม จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้โดยสารก่อนแล้วเท่านั้น ทางเลือกที่สอง คือ การเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินเพื่อเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่ระบุไว้ในบัตรโดยสาร หรือจุดหมายปลายทางอื่นที่ใกล้เคียงกับจุดหมายปลายทางเดิมโดยเร็วที่สุดภายในวันเดียวกัน วันถัดไป หรือวันอื่นตามความสมัครใจของผู้โดยสาร ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้โดยสาร และที่นั่งว่างที่สายการบินสามารถจัดให้ได้ โดยสายการบินต้องไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมไม่ว่าในกรณีใด ๆ แต่หากการเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินนั้นมีค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมอื่นที่ต่ำกว่าจำนวนเงินค่าโดยสาร และค่าธรรมเนียมที่ผู้โดยสารได้ชำระไว้แล้ว สายการบินต้องชำระเงินส่วนต่างคืนให้กับผู้โดยสารด้วยสำหรับวิธีปฏิบัติในการคืนเงินค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมอื่น หรือเงินส่วนต่างให้แก่ผู้โดยสารนั้น สายการบินจะต้องคืนเงินให้ผู้โดยด้วยวิธีการที่ผู้โดยสารเลือก เช่น เงินสด โอนผ่านบัญชีธนาคาร เช็คธนาคาร เป็นต้น ซึ่งประกาศฉบับนี้ยังได้กำหนดระยะเวลาการคืนเงินด้วย คือ(ก) กรณีผู้โดยสารซื้อบัตรโดยสารด้วยเงินสดต้องดำเนินการคืนให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน (ข) กรณีผู้โดยสารซื้อบัตรโดยสารด้วยบัตรเครดิตต้องดำเนินการคืนให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาไม่เกิน 45 วันระเบียบนี้แม้จะไม่ใช่ระเบียบที่ใช้กับการบินระหว่างประเทศ แต่ก็ใช้เป็นหลักในการเรียกร้องสิทธิของเราได้ เบื้องต้นเมื่อเกิดปัญหาการถูกแจ้งยกเลิกเที่ยวบินและต้องการเรียกร้องเงินคืนให้ผู้โดยสารทำหนังสือจะเป็นจดหมายหรืออีเมล์ก็ได้ไปถึงสายการบินเพื่อแสดงเจตจำนงความต้องการของตนเองให้ชัดเจน และกำหนดวิธีการคืนเงินให้ชัดเจนด้วย เท่านี้ก็ถือเป็นการประกาศสิทธิของผู้บริโภคที่สายการบินจะต้องรับผิดชอบแล้วครับ ผลที่ได้รับก็ไม่นานเกินรอ และดีกว่าโทรคุยอย่างเดียวแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 133 คนคอนจองรถ โดนเซลล์อมเงิน

คุณสุรางค์ เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองปากพนัง นครศรีธรรมราช ใช้รถฮอนด้า ซีวิค ปี 2002 อยากจะขายรถเพื่อเอาเงินไปซื้อรถคันใหม่เธอเที่ยวตระเวนไปตามศูนย์ซื้อ-ขายรถหลายแห่งในเมืองนครฯ ก็ยังไม่เจอศูนย์รถที่ให้ราคาที่ถูกใจ ท้ายสุดมาเจอกับพนักงานขายรถยอดแสบ นายทวี ปานถนอม ของบริษัท จ.วินิต จำกัด จึงได้เรื่องนายทวีบอกรับซื้อรถของคุณสุรางค์ที่นำมาเสนอขาย แต่ขอโทรศัพท์ไปสอบถามราคากับผู้ประเมินราคารถก่อน ซึ่งคุณสุรางค์ก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร ไม่นานนายทวีวางโทรศัพท์หันมาบอกว่าผู้ประเมินฯ ให้ราคาอยู่ที่ 320,000 บาท คุณสุรางค์นึกกระหยิ่มเพราะได้ราคาสูงกว่าที่บริษัทอื่นประเมินราคามา แถมรถใหม่ที่จะซื้อนายทวีบอกว่าจะได้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ย 1.99% และอาจน้อยกว่านี้อีกขึ้นอยู่กับเงินดาวน์คุณสุรางค์ดีดลูกคิดในใจ ว้าว ...ดอกเบี้ยต่ำกว่าหลายๆ บริษัทที่ไปคุยมา ราคาและเงื่อนไขซื้อขายดีขนาดนี้ “อย่าปล่อยให้หลุดมือเชียว” จึงตกลงใจที่จะซื้อขายรถกับบริษัท จ.วินิต ผ่านทางนายทวีทันทีตอนนั้นเป็นช่วงเย็นนายทวีบอกว่าศูนย์จะปิดบริการแล้วไม่สะดวกในเรื่องเอกสารและการออกใบเสร็จบอกว่าจะนำเอกสารสัญญาจองรถให้คุณสุรางค์เซ็นต์ถึงที่ทำงานเลยในวันรุ่งขึ้น ส่วนรถคันเก่าจะทำสัญญาซื้อขายในวันออกรถใหม่คุณสุรางค์ไม่ได้เอะใจอะไร คิดแต่ว่าช่างเป็นวันที่ดีจริงๆ ได้มาเจอศูนย์ขายรถที่ให้ราคารับซื้อรถเก่าที่สูง แถมจะได้สินเชื่อผ่อนรถใหม่ดอกถูกแสนถูกอีก หาที่ไหนไม่ได้แล้ว วันรุ่งขึ้นนายทวี มาหาคุณสุรางค์ถึงที่ทำงานที่เทศบาลปากพนังในชุดพนักงานบริษัท จ.วินิต จำกัด มีป้ายชื่อพนักงานแขวนคอมาพร้อมสรรพ นำใบสัญญาจองรถให้คุณสุรางค์เซ็นต์ คุณสุรางค์เซ็นต์เสร็จก็ล้วงเงิน 5,000 บาทจ่ายเป็นค่าจองรถไป นายทวีให้สำเนาใบจองรถที่มีหัวเป็นชื่อบริษัท จ. วินิตเป็นหลักฐาน พร้อมหยอดข้อเสนอใหม่ก่อนจากว่า จะรีบติดต่อธนาคารเรื่องขอสินเชื่อให้ถ้ารีบทำในช่วงนี้จะได้ดอกเบี้ย 1.55% พอได้ยินดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าครั้งแรก คุณสุรางค์น้ำตาแทบเล็ดไม่คิดว่าจะมีเซลล์แสนดีขนาดนี้อยู่ในโลก รีบขอบอกขอบใจนายทวีเป็นการใหญ่สามวันต่อมาหลังเซ็นต์สัญญาจองรถ นายทวีพาผู้ชายคนหนึ่งมาหาคุณสุรางค์ แนะนำตัวว่าอยู่แผนกสินเชื่อ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขานครศรีธรรมราช รับผิดชอบการทำสินเชื่อรถยนต์ และนำเอกสารการขอสินเชื่อให้คุณสุรางค์เซ็นต์ ส่วนนายทวีบอกว่าจะได้รับรถภายในกลางเดือนถัดไป หลังเซ็นต์สัญญาขอสินเชื่อไป 2-3 วัน ก็มีโทรศัพท์มาหาคุณสุรางค์เป็นเสียงผู้หญิงบอกว่าโทรจากธนาคารไทยพาณิชย์ ขอสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับรถที่จอง และแจ้งว่าจะดำเนินการส่งเรื่องให้สำนักงานใหญ่พิจารณาต่อไป ทำให้คุณสุรางค์มั่นใจว่านายทวีได้ดำเนินการจองรถให้จริงกระบวนการต้มเหยื่อยังไม่จบ จากนั้นไม่นานนายทวีโทรมาหาเหยื่ออยู่หลายครั้งเพื่อหลอกล่อให้ใส่อุปกรณ์ตกแต่งรถเพิ่มเติม คุณสุรางค์ทนลูกตื๊อไม่ไหวจึงตกปากรับคำซื้ออุปกรณ์ตกแต่งรถเพิ่มเติมเป็นเงินอีก 33,000 บาท โดยที่นายทวีอาศัยจังหวะน้ำท่วมใหญ่เข้านครศรีธรรมราชอ้างเรื่องความไม่สะดวกในการเดินทาง ขอให้คุณสุรางค์โอนเงินเข้าบัญชีของตัวเอง คุณสุรางค์โอนเงินให้โดยไม่เอะใจอะไรเพราะคิดว่ายังพอมีใบโอนเงินของธนาคารเป็นหลักฐานอยู่ต่อมาก่อนถึงเวลารับรถ 1 สัปดาห์ นายทวีโทรมาหาเหยื่อบอกว่า ตอนนี้มีคนสั่งจองรถเป็นจำนวนมาก อาจมีปัญหาไม่ได้รับรถตามกำหนด ขอให้คุณสุรางค์จ่ายเงินค่าล็อครถจำนวน 20,000 บาท ไม่งั้นอาจมีคนอื่นแย่งไปได้คุณสุรางค์โดนรีดเงินไปแล้ว 38,000 บาท(5,000+33,000) พอได้ยินค่าล็อครถอีก 20,000 บาทก็ถึงกับสะอึก “มีด้วยเหรอค่าล็อครถ” คุณสุรางค์ขอวางสายกับนายทวี แล้วโทรไปหาน้องเขยที่กรุงเทพฯ ซึ่งเคยใช้บริการกับบริษัทมิตซูบิชิผู้ผลิตรถปาเจโรเรื่องค่าล็อครถ 20,000 บาท น้องเขยยืนยันว่ามีจริง คุณสุรางค์จึงเดินทางไปที่บริษัท จ.วินิตเพื่อจะจ่ายเงินค่าล็อครถ 20,000 บาทผ่านนายทวี แต่ก่อนจ่ายเงินคุณสุรางค์เอ่ยขอใบเสร็จรับเงิน นายทวีบอกว่าจะออกให้ในวันที่ออกรถทีเดียวทั้งหมด คุณสุรางค์จึงถามหาใบเสร็จรับเงินชั่วคราว นายทวีก็บ่ายเบี่ยงบอกว่าต้องขอเวลาสัก 1 ชั่วโมงจะไปถามหัวหน้าดูก่อนและจะไปช่วยเพื่อนพนักงานขนของด้วย“แค่ขอใบเสร็จ ให้รอนานขนาดนี้ กลับบ้านดีกว่า” คุณสุรางค์บอกกับตัวเองกลับมาถึงบ้านไม่ถึง 20 นาที นายทวีได้โทรมาหาบอกว่า ปรึกษากับหัวหน้าแล้วให้ออกใบเสร็จได้ และจะไปขอรับเงินที่บ้านพักของคุณสุรางค์เลยเพื่อจะได้รีบกลับมาดำเนินการส่งเรื่องให้บริษัทใหญ่ภายในวันนี้ คุณสุรางค์จึงตกลงไม่นานนายทวีได้มารับเงินสดค่าล็อครถ 20,000 บาทจากคุณสุรางค์ แต่แทนที่จะได้รับเป็นใบเสร็จรับเงิน นายทวีกลับใช้ใบสั่งจองรถยนต์ของบริษัท จ.วินิต เป็นหลักฐานการรับเงินแทน คุณสุรางค์นึกสงสัยแต่เห็นหัวเห็นตราของบริษัทในกระดาษ คิดว่าไม่มีปัญหาจึงยอมจ่ายเงินให้ไปหลังจากจ่ายเงินไปแล้วคุณสุรางค์ยังรู้สึกไม่สบายใจเรื่องหลักฐานการจ่ายเงินที่ได้จากนายทวีที่เป็นใบสั่งจองรถทั้งหมด หยิบขึ้นมาเทียบดูก็เห็นความผิดปกติ ใบแรกที่ได้รับเป็นใบสั่งจองเล่มที่ 073 ส่วนใบที่สองที่เพิ่งได้มากลับเป็นใบสั่งจองเล่มที่ 065 ซึ่งย้อนหลังไปอีก กำลังมึนๆ งงๆ กับตัวเลขในใบสั่งจองรถอยู่ นายทวีได้โทรศัพท์เข้ามาพอดี บอกว่าจะขอค่ามัดจำรถอีก 30,000 บาท คุณสุรางค์นึกในใจจ่ายไปแล้ว 58,000 บาท ยังไม่เห็นหน้ากระโปรงรถเลย นี่จะเอาอีก 30,000 บาท สงสัยจะโดนต้มเสียแล้ว จึงบอกกับนายทวีว่าเดี๋ยวจะจัดการให้แล้ววางสายทันที แนวทางแก้ไขปัญหาคุณสุรางค์ได้ติดต่อกลับไปที่บริษัท จ.วินิต และนำหลักฐานใบจองรถที่ได้รับจากนายทวีให้บริษัทฯตรวจสอบ บริษัทฯ ตรวจสอบแล้วบอกว่า ไม่เคยมีการจองรถคันนี้ และไม่มีการนำเงินเข้าบริษัทฯ เลย แต่บริษัทฯ จะรับผิดชอบทั้งหมด ตอนนี้อย่าเพิ่งกระโตกกระตากและให้หยุดการติดต่อกับนายทวี ซึ่งบริษัทฯ แจ้งว่าเป็นเพียงพนักงานชั่วคราวยังไม่ได้รับการบรรจุจากบริษัทฯ และขณะที่บริษัทฯ ทราบเรื่องนายทวีก็ยังปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานขายให้บริษัทฯ อยู่ บริษัทฯ จึงไปขอยึดรถจักรยานยนต์ของนายทวีไว้เป็นประกันก่อนจากนั้นคุณสุรางค์และเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ ได้พากันไปหาพ่อแม่ของนายทวีถึงบ้าน ก็ทราบว่าพ่อแม่มีฐานะยากจนไม่สามารถชดใช้ค่าเสียหายแทนลูกชายได้ เจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ จึงแนะนำให้คุณสุรางค์ไปแจ้งความดำเนินคดีกับนายทวีที่สถานีตำรวจภูธรปากพนัง และบริษัทฯ เสนอที่จะชดใช้เงินเฉพาะตามหลักฐานของบริษัทฯ คือเงินจองและเงินค่าล็อกรถรวม 25,000 บาท คุณสุรางค์ไม่ตกลง ต่อมาได้มีการเจรจากันอีกครั้งที่สถานีตำรวจ ท้ายสุดคุณสุรางค์ยอมรับเงินจากนายทวีที่ 50,000 บาท ที่เหลือ 8,000 บาทนั้น ยินยอมลดให้นายทวี โดยได้มีการทำบันทึกเป็นหลักฐานไม่ติดใจดำเนินคดีทั้งแพ่งและอาญาอีกต่อไป พอทำบันทึกออกมาเช่นนี้ เป็นผลให้บริษัทฯ ไม่ต้องรับผิดชอบการกระทำของนายทวีทันทีเรื่องนี้มาถึงมูลนิธิฯ หลังจากที่ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงที่ว่ามาเรียบร้อยแล้ว การเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติมจึงเป็นอันต้องยุติไปด้วย จึงนำเรื่องมาแจ้งเตือนให้ระวังภัยโดยทั่วกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 โอนบ้านแล้วเกือบปี กลับถูกฟ้องเรียกเงินจองเงินทำสัญญาย้อนหลัง

อย่างนี้ก็มีด้วย...โครงการบ้านเป็นฝ่ายบอกลดเงินจอง เงินทำสัญญาให้ ผู้บริโภคจึงตัดสินใจซื้อบ้าน จนมีการจ่ายเงินค่าบ้านค่าที่ดินและโอนรับบ้านกันเรียบร้อย แต่กลับถูกโครงการติดตามทวงหนี้ย้อนหลังอ้างยังได้เงินจองเงินทำสัญญาไม่ครบคุณศิริวรรณ ผู้บริโภคที่ประสบเหตุเล่าว่า เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2551 ได้ไปชมโครงการหมู่บ้านพร้อมพัฒน์ ในเครือแสนสิริของบริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด โดยขอเข้าชมบ้านตัวอย่างของโครงการฯ โดยมีพนักงานขายพาชมบ้านตัวอย่างดิฉันได้สอบถามข้อมูลเงินจองและเงินทำสัญญา พนักงานขายบอกว่า เงินจอง 20,000 บาท และเงินทำสัญญา 50,000 บาท ดิฉันบอกจะมาดูใหม่อีกครั้ง พนักงานขายจึงบอกว่าถ้าจองภายในวันนั้น เงินจองจะลดเหลือ 10,000 บาท และเงินทำสัญญาเหลือ 40,000 บาท ดิฉันจึงได้ตัดสินใจวางเงินจองบ้าน ด้วยราคา 10,000 อีกประมาณ 2 เดือนไปจ่ายเงินทำสัญญา 40,000 บาท (ใบเสร็จออกรวม 50,000 บาท )จากนั้นได้ดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเรื่องให้ทางธนาคารพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ และจ่ายเงินก้อนสุดท้ายในวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ เมื่อถึงวันนัดโอนวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 คุณศิริวรรณได้ไปที่สำนักงานที่ดิน เพื่อทำธุรกรรมโอนกรรมสิทธิ์ และมีการส่งมอบโฉนดแลกเปลี่ยนกับเช็คด้วยจำนวนที่แจ้งไว้เป็นที่เรียบร้อย โดยพนักงานบริษัทฯ มิได้ท้วงติงถึงเรื่องเงินจองบ้านแต่อย่างใดหลังจากนั้นไม่เท่าไหร่ ประมาณเดือนมกราคม 2552 คุณศิริวรรณได้รับโทรศัพท์แจ้งให้จ่ายค่าเงินจอง และเงินทำสัญญาที่ยังค้างอยู่ จำนวนเงินรวม 20,000 บาท คุณศิริวรรณรู้สึกแปลกใจจึงปรึกษากันกับคนที่บ้านว่า เป็นมิจฉาชีพในคราบของพนักงานขายหรือเปล่า เนื่องจากบ้านมีการโอนกรรมสิทธิ์จากเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ เรียบร้อยแล้ว และยอดเงินดังกล่าว พนักงานขายของบริษัทฯ บอกว่าเป็นส่วนลด หากยังค้างชำระเงินจองจริง บริษัทฯ ต้องแจ้งมาในใบรายละเอียดค่าใช้จ่าย หรือไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์ให้ อย่างแน่นอน จากนั้นเรื่องก็หายเงียบไป จนถึงเดือนกรกฎาคม 2553 คุณศิริวรรณได้รับจดหมายแจ้งเตือน ขอให้ชำระหนี้จำนวนรวม 20,000 บาท ให้แก่ บริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด ภายใน 7 วัน ซึ่งจดหมายดังกล่าวไม่มีข้อความแจ้งแหล่งที่มาของจดหมาย ไม่มีชื่อบริษัทฯ ไม่มีตราประทับและไม่มีที่อยู่ให้ติดต่อกลับ เป็นเพียงซองสีขาวเปล่าๆ มีเพียงเบอร์โทรศัพท์มือถือ( Mobile)ไว้ให้เท่านั้น คุณศิริวรรณเกรงว่าจะเป็นมิจฉาชีพสวมรอยจึงมิได้ติดต่อกลับไปจนถึงเดือนกันยายน 2553 บริษัท อาณาวรรธน์ได้ยื่นฟ้องคุณศิริวรรณเรื่องผิดสัญญาซื้อขายบ้านและที่ดิน เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 20,000 บาทเศษ คุณศิริวรรณไม่รู้จะทำอย่างไรจึงได้ร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหาหลังได้ตรวจสอบคำฟ้องของฝ่ายโจทก์คือ บริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด แล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้มอบหมายให้ศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภคเข้าช่วยเหลือผู้ร้องโดยทันที โดยทนายความอาสาได้เขียนคำให้การให้กับผู้บริโภคเพื่อนำไปยื่นต่อศาล ด้วยตนเองโดยคำให้การของผู้บริโภคได้ยืนยันว่า ผู้บริโภคได้จ่ายเงินจองเป็นจำนวน 10,000 บาท และเงินทำสัญญาจำนวน 40,000 บาทตามจำนวนที่ได้รับส่วนลดจากพนักงานขายของบริษัทฯ โดยจ่ายผ่านบัตรเครดิตและเช็คตามลำดับ และในวันที่ทำสัญญาเมื่อจ่ายเงินทำสัญญาไปเรียบร้อยแล้ว ทางโครงการยังมอบสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินของโครงการและในสัญญาได้ระบุอย่างชัดเจนว่าผู้บริโภคได้ชำระเงินจองและเงินทำสัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในหนังสือสัญญาขายที่ดินก็ระบุว่าผู้บริโภคในฐานะผู้ซื้อได้ชำระและผู้ขายได้รับค่าที่ดินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงขอให้ศาลได้พิจารณายกฟ้อง  เมื่อเห็นคำให้การของฝ่ายผู้บริโภค ทนายความของผู้ประกอบธุรกิจจึงต้องขอเลื่อนนัดศาลออกไปเพื่อขอตั้งหลัก เพราะไม่คิดว่าผู้บริโภคจะแข็งข้อลุกขึ้นต่อสู้คดีได้ดังนั้น หากผู้บริโภครายใดเจอเหตุการณ์เช่นนี้ อย่าผลีผลามจ่ายเงินให้ผู้ประกอบธุรกิจ ควรตรวจสอบให้ถ้วนถี่และรีบติดต่อมาที่มูลนิธิฯ โดยทันที ผลของคดีนี้มีความคืบหน้าอย่างไร จะแจ้งให้ทราบเป็นบทเรียนโดยทั่วกัน

อ่านเพิ่มเติม >