ฉบับที่ 209 ค่าเช่าบ้านปรับราคาทุกปี จะต่อรองอย่างไรไม่ให้เสียเปรียบ

ทุกข์จากที่อยู่อาศัยนั้น ไม่ใช่เรื่องจะแก้ไขได้โดยง่ายอย่างการซื้อสินค้าหรือบริการทั่วๆ ไปเพราะเกี่ยวพันกับความรู้สึกที่ผูกพัน หรือทำเลที่ตั้งอันเหมาะสม ยิ่งเป็นเรื่องของการเช่า ซึ่งมีเรื่องของอำนาจการต่อรองที่ผู้ให้เช่ามีมากกว่าผู้ขอเช่านั้น ยิ่งสร้างความอึดอัดคับข้องใจได้อย่างมาก ดังเช่น คุณสำราญ ที่กำลังกลัดกลุ้มใจ เพราะบ้านที่ตนเองเช่าเพื่ออยู่อาศัยกับครอบครัวมาตั้งแต่ปี 2559 นั้น ถูกผู้ให้เช่าเรียกร้องค่าต่อสัญญา(ทำใหม่ทุกปี) อัตราใหม่ เพิ่มค่าเช่าห้อง และขอเก็บเงินค่าประกันเพิ่มขึ้น ลองมาดูรายละเอียดกัน- ค่าเช่ารายเดือน ห้องละ 2,000 บาท (จำนวน 2 ห้อง )- เงินประกัน จำนวน 30,000 บาท- ค่าภาษีโรงเรือน (ปี 2559 = 3,800 ปี 2561 เพิ่มเป็น 4,000 บาท)- ค่าทำสัญญา ปี 2559 ห้องละ 18,000 บาท (รวม 2 ห้อง 36,000 บาท) โดนขอปรับค่าทำสัญญาเพิ่มเป็น ห้องละ 25,000 บาท หรือเท่ากับ 50,000 บาท)- ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ จ่ายกับผู้ให้บริการเองเมื่อคุณสำราญถูกขอปรับค่าทำสัญญาใหม่ ในเดือน พฤษภาคม ที่ผ่านมา จึงรู้สึกอึดอัด  และโทรศัพท์มาขอคำปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ ว่าจะเจรจากับผู้ให้เช่าอย่างไรดี สามารถอ้างเรื่องใดได้บ้าง เพื่อผ่อนเพลาค่าที่อยู่อาศัยที่ถูกปรับราคาเพิ่มขึ้น แต่ต้องไม่ทำให้ฝ่ายผู้ให้เช่าไม่พอใจจนยกเลิกสัญญาเช่า เพราะคุณสำราญค่อนข้างพอใจกับทำเลที่อาศัยในตอนนี้ ไม่อยากย้ายไปที่อื่น แนวทางการแก้ไขปัญหาหากเรานำเงื่อนไขเรื่องที่ต้องทำสัญญาใหม่ทุกปีมาคำนวณเป็นรายเดือน ตอนปี 2559 มีค่าทำสัญญาที่ 18,000 บาท หรือเท่ากับเดือนละ 1,500 บาท เมื่อรวมกับค่าเช่าห้อง เดือนละ 2,000 บาท ก็เท่ากับว่าค่าเช่าห้องตกที่ห้องละ 3,500 บาท โดยเก็บเป็นเงินค่าทำสัญญาไปก่อนแล้ว 18,000 บาท (คุณสำราญเช่าสองห้อง เท่ากับต้องจ่ายเงินค่าเช่าเบ็ดเสร็จที่เดือนละ 7,000 บาท) มาปีนี้ 2561 ถูกเรียกค่าทำสัญญาใหม่ที่ 25,000 บาทหรือตกเดือนละ 2,083 บาท ถ้าบวกกับฐานค่าเช่าเดิมคือ 2,000 บาท เท่ากับต้องจ่ายเงินค่าเช่าเดือนละ 4,083 บาท หรือเพิ่มขึ้นมาอีกราว 15% วิธีการแบบนี้คือ การบอกให้เช่าโดยเรียกเก็บเงินค่าเช่าไปก่อนล่วงหน้าเป็นรายปี โดยเรียกมันว่าการทำสัญญาใหม่ ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง “ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561” โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคนั้น  ห้ามมิให้เก็บค่าเช่าล่วงหน้าเกินกว่า 1 เดือน หรือถ้าเรียกมันว่า ค่าทำสัญญา ตามประกาศฉบับนี้ ข้อ 4 (9) ระบุว่า กรณีเงินค่าทำสัญญา / ค่าต่อสัญญา ไม่ให้ใช้ข้อสัญญาที่กำหนดให้ผู้ประกอบการมีสิทธิเรียกเก็บค่าต่อสัญญาเช่าอาคารจากผู้เช่ารายเดิม  ดังนั้นเท่ากับว่า ค่าทำสัญญาหรือค่าต่อสัญญาเช่าผู้ประกอบการไม่มีสิทธิเรียกเก็บ ซึ่งข้อนี้ ผู้เช่าหรือคุณสำราญ น่าจะสามารถใช้เป็นข้อต่อรองได้ โดยอาจขอให้เรียกเก็บค่าเช่าแบบตรงไปตรงมา ว่าผู้ให้เช่าจะเรียกเก็บที่ราคาเท่าไร โดยไม่ต้องเรียกเก็บล่วงหน้าเป็นรายปีอย่างที่ทำอยู่ เพราะถือว่าผิดกฎหมาย สำหรับเรื่องเงินค่าประกันความเสียหาย ตามประกาศระบุว่า ผู้เช่าจะต้องจ่ายผู้ให้เช่าหลังจากเซ็นสัญญาเช่า โดยเมื่อหมดสัญญาเช่าแล้ว ผู้ให้เช่าจะต้องคืนให้แก่ผู้เช่าในกรณีที่ผู้เช่าไม่ทำความเสียหายให้กับห้องเช่าหรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ที่ระบุในสัญญา ภายใน 7 วัน หลังจากการเช่าหมดสัญญา สำหรับกรณีคุณสำราญที่ต้องต่อสัญญาทุกปี ผู้ประกอบการอาจเก็บเงินประกันก้อนดังกล่าวไว้ก่อนได้ และหากต้องการเพิ่มก็เรียกให้จ่ายเพิ่มได้ แต่ทั้งนี้ตามประกาศ ในข้อ 4 (4) นั้นระบุว่า เงินประกันค่าเสียหายห้ามเรียกเก็บเกินกว่า 1 เดือนของอัตราค่าเช่ารายเดือน เมื่อคุณสำราญมีค่าเช่าห้องที่เดือนละ 2,000 บาท ค่าประกันความเสียหายจะเรียกเก็บได้ไม่เกิน 2,000 บาท   คุณสำราญจึงควรหาราคาค่าเช่าห้องที่พอเหมาะกับรายได้ของครัวเรือน และเจรจากับทางผู้ให้เช่า ให้เรียกเก็บในอัตราที่พอใจกันทั้งสองฝ่าย โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าเช่าล่วงหน้า ด้วยการคิดเป็นค่าต่อสัญญาและไม่เรียกเก็บเงินค่าประกันความเสียหายเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 

อ่านเพิ่มเติม >