ฉบับที่ 202 “ย้ายค่ายใช้เบอร์เดิมไม่ได้ เพราะติดสัญญาส่วนลดค่าเครื่อง” บริษัทมือถือ อ้างอย่างนี้ก็ได้เหรอ ??

มหกรรมช้อปช่วยห้าง เอ๊ย !! ไม่ใช่ ช้อปช่วยชาติ ประจำปี 2560 นี้ หลายคนตัดสินใจควักกระเป๋า เปลี่ยนโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ เพราะค่ายมือถือทุกค่าย จัดโปรโมชั่นลดราคา ค่าเครื่อง Smart Phone หลายรุ่น และโปรโมชั่นที่ HOT HIT ก็คือ ซื้อโทรศัพท์พร้อมสมัครใช้งานแพ็กเกจรายเดือน จะสามารถซื้อโทรศัพท์ได้ในราคาถูกกว่าซื้อเครื่องเปล่า ๆ  โดยมีเงื่อนไขให้ลูกค้าจะต้องใช้บริการรายเดือนประมาณ 6 – 24 เดือน แล้วแต่โปรโมชั่น  ดูแล้วโปรโมชั่นแบบนี้ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะโทรศัพท์ซื้อมาแล้วยังไงก็ต้องใช้บริการ ไม่ใช่ซื้อมาตั้งเฉยๆ ใช่ไหมครับ หลายคนคงคิดอย่างนี้ แต่ปัญหาดันมาเกิดตรงที่ บางคนซื้อโทรศัพท์มาแล้วใช้งานไม่ได้ เพราะคุณภาพสัญญาณไม่ดี ต่อเน็ตก็ไม่ได้ ติดๆ หลุดๆ เสียงก็ขาดๆ หายๆ เพราะตอนซื้อมัวแต่สนใจเรื่องส่วนลดค่าเครื่อง ลืมตรวจสอบว่าบ้านเราอยู่ในพื้นที่ให้บริการรึเปล่า พอแจ้ง Call Center ก็ได้คำตอบว่า คนเยอะ หนาแน่น ก็ต้องแบ่ง ๆ กันใช้ ส่วนการเข้ามาติดตั้งอุปกรณ์ ปรับปรุงคุณภาพสัญญาณเมื่อไรนั้น ก็ให้คำตอบที่ชัดเจนไม่ได้เพราะเป็นเรื่องนโยบายลงทุนของบริษัท จบ  เจอปัญหาแบบนี้ แล้วจะเอาโทรศัพท์ตั้งไว้เฉยๆ จ่ายค่าบริการรายเดือนไปเรื่อยๆ ก็ใช่ที่ “โทรศัพท์ดี แต่สัญญาณห่วย ก็ย้ายค่ายสิครับ จะรออะไร” ลูกค้าหลายคน จึงติดต่อขอย้ายเลขหมายไปใช้ค่ายอื่น เผื่อสัญญาณจะดีกว่า แต่คำตอบที่ได้รับกลับมาก็คือ “ให้ย้ายค่าย ใช้เบอร์เดิมไม่ได้ เพราะติดเงื่อนไขส่วนลดค่าเครื่องที่ต้องใช้บริการให้ครบตามสัญญา ถ้าไม่ปฏิบัติตามสัญญาจะต้องเสียค่าปรับอีกต่างหาก” ข้ออ้างแบบนี้ ฟังขึ้นหรือไม่   ตามประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 32 กำหนดว่า ผู้ใช้บริการมีสิทธิเลิกสัญญาในเวลาใดก็ได้ด้วยการบอกกล่าวเป็นหนังสือให้แก่ผู้ให้บริการทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าห้าวันทำการ และ ข้อ 15 ได้ห้ามผู้ให้บริการกำหนดเงื่อนไขอันก่อให้เกิดภาระ ห้ามเรียกเก็บค่าปรับ หรือค่าเสียหาย จากการที่ผู้ใช้บริการยกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด ปัญหาในทำนองนี้ ก็เคยเกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน ยุคที่บริษัทอินเทอร์เน็ตแข่งกันทำตลาด แจก Modem Router แลกกับการผูกสัญญาให้ต้องใช้บริการ 1 -2 ปี ฟังดูคุ้น ๆ ไหมครับ ที่ผ่านมา กสทช. ก็ได้เคยพิจารณาเรื่องร้องเรียนในลักษณะนี้ว่า ผู้ใช้บริการมีสิทธิยกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด และบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไม่สามารถคิดค่าปรับในกรณีนี้ได้ สิ่งที่แตกต่างกัน ก็คือ เดิมบริษัทผู้ให้บริการจะเอาเงื่อนไขการรับโทรศัพท์ เครื่องอุปกรณ์ ต่างๆ เขียนรวมกันไว้ในสัญญาใช้บริการฉบับเดียว แต่เมื่อ กสทช. มีแนววินิจฉัยเรื่องร้องเรียนชัดเจนแล้วว่า ตามกฎหมาย สัญญาใช้บริการโทรคมนาคม(ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต หรือ โทรศัพท์พื้นฐาน มือถือ ก็ตาม) ห้ามมีข้อกำหนดเรื่องค่าปรับ ค่าเสียหาย ถ้าผู้บริโภคยกเลิกสัญญาก่อนกำหนด ในกรณีที่มีการแจกเครื่องฟรี หรือ ขายให้ในราคาถูก หลังจากนั้น บริษัทก็เลยไม่เขียนเรื่องค่าปรับ หรือเงื่อนไขว่าต้องใช้บริการนานเท่าไร ไว้ในสัญญาใช้บริการโทรคมนาคม แต่แยกเงื่อนไขเรื่องเครื่องฟรี เรื่องส่วนลดราคาพิเศษออกมาเป็นสัญญาอีกฉบับหนึ่ง   การแก้เกมหนีการกำกับ ดูแลของ กสทช. โดยแยกสัญญาออกไปแบบนี้ ว่ากันตามตัวบทกฎหมาย สัญญา หรือ ข้อตกลงเรื่องส่วนลดค่าเครื่อง ค่าอุปกรณ์นี้ ก็ไม่ใช่สัญญาบริการโทรคมนาคม จึงไม่อยู่ในอำนาจกำกับดูแล ควบคุมของ กสทช. ถือว่า เป็นเรื่องทางแพ่งที่คู่สัญญาจะไปตกลงเงื่อนไขกันเองตามความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย  แล้วบริษัทมือถือจะเอาเรื่องอยู่ไม่ครบสัญญาและไม่จ่ายค่าปรับ นี้เป็นเหตุปฏิเสธไม่ให้ผู้บริโภคย้ายค่ายไปใช้บริการค่ายอื่น เพราะถือว่ายังมีหนี้ค้างชำระ ได้หรือไม่  ตามข้อ 17 ของประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และข้อ 4.9  ของเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติการโอนย้ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ให้บริการตามประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เหตุหนึ่งที่ผู้ให้บริการจะปฏิเสธมิให้ย้ายค่าย ก็คือ ลูกค้ามีค่าบริการค้างชำระ ดังนั้น สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อมาก็คือ การไม่จ่ายค่าปรับกรณีอยู่ไม่ครบสัญญานั้น ถือว่าเป็นการค้างชำระค่าบริการหรือไม่ ซึ่งโดยความเห็นส่วนตัวผมแล้ว ก็เห็นว่า ค่าปรับกรณีนี้ เป็นคนละเรื่องกับหนี้ค่าบริการโทรคมนาคม จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่จะปฏิเสธการโอนย้ายเครือข่าย บริษัทต้องยอมให้ลูกค้าย้ายเครือข่ายไปใช้บริการค่ายอื่น แต่ก็ยังมีสิทธิฟ้องร้องเรียกให้ผู้ใช้บริการมาชำระค่าปรับตามสัญญาทางแพ่ง ส่วนฟ้องแล้ว ศาลจะพิจารณาว่าข้อกำหนดเรื่องค่าปรับนี้ เข้าข่ายข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ หรือจะให้จ่ายค่าปรับจำนวนเท่าไร ก็เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากันในศาล แต่ไม่ใช่กรณีที่บริษัทจะถือเอาเป็นเหตุว่า “อยู่ไม่ครบสัญญาและไม่ยอมจ่ายค่าปรับ จึงไม่ให้ย้ายค่าย”  แต่ถ้าจะว่ากันแบบ “แฟร์ แฟร์” ส่วนลดค่าเครื่องที่บริษัทเขาให้มาเพื่อชวนเรามาใช้บริการ ถ้าเราอยู่ไม่ครบตามสัญญา ก็สมควรจะต้องคืนบริษัทเขาไปตามส่วนจึงจะเป็นธรรมกับทุกฝ่าย 

อ่านเพิ่มเติม >