ฉบับที่ 274 ค่าปรับจอดรถหลังเวลากำหนดแพงเกินไปไหม

        ปัญหาเรื่องที่จอดรถนั้นช่างคลาสสิกเหลือเกิน โดยเฉพาะเมื่อต้องไปติดต่อทำธุรกรรมหรือดำเนินการเรื่องอะไรก็ตามในสถานที่ที่ไม่มีที่จอดรถรองรับ ที่พึ่งหนึ่งซึ่งไม่ต้องทำให้เกิดการละเมิดกฎจราจรโดยการจอดในที่ห้ามจอด คือ เข้าจอดในสถานที่หรืออาคารที่เปิดให้นำรถเข้ามาจอดได้แต่จะเรียกเก็บเงินตามระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ถ้าใช้เวลาทำธุรกรรมไม่นานราคาก็ไม่แพงมาก แต่ถ้าเกิดเผลอลืมหรือใช้เวลานานจนล่วงเลยเวลาที่กำหนดให้จอด เช่น ไม่อนุญาตให้จอดเกินเวลา 24.00 น. ราคาค่าปรับจะสูงโด่งจนน่าตกใจ                คุณพูนทรัพย์ นำเรื่องมาปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ตนเองนำรถเข้าจอดในอาคารแห่งหนึ่งใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า เพื่อให้ตนเองเดินทางสะดวกขึ้นไม่ต้องเสี่ยงรถติดในบริเวณที่การจราจรหนาแน่น ปกติแล้วก็เข้าใช้อาคารจอดรถแห่งนี้บ่อยจนตัดสินใจจ่ายในลักษณะรายเดือนเพื่อลดค่าใช้จ่ายลง         แต่วันหนึ่งมีเหตุให้เกิดความล่าช้า ตนเองกลับมาเอารถที่จอดไว้หลังเวลา 24.00 น. ทำให้ถูกเรียกเก็บค่าปรับสูงถึง 400 บาท คุณพูนทรัพย์เองก็เพิ่งทราบว่า ค่าปรับหลังเวลานี้โหดมาก จึงพยายามต่อรองกับทาง รปภ.แต่ไม่ได้รับความยินยอม จึงต้องจ่ายค่าปรับเพื่อนำรถออกมา ที่มาขอคำปรึกษาคือ ตนเองสามารถต่อรองให้ค่าปรับลดลงมาได้ไหม ทางอาคารจะยินยอมหรือไม่และทำไมค่าปรับจึงสูงเกิดจากอะไร  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นได้แจ้งต่อคุณพูนทรัพย์ว่า ทางมูลนิธิฯ จะนำเรื่องของคุณพูนทรัพย์ไปต่อรองกับทางอาคารดังกล่าวให้ เพราะคุณพูนทรัพย์เองก็เป็นลูกค้าประจำ ทางอาคารอาจพิจารณาลดราคาค่าปรับให้ อย่างไรก็ตาม เรื่องการคิดราคาที่จอดรถ ค่าปรับ ฯลฯ  เป็นไปตามวิธีการให้บริการสำหรับอาคารดังกล่าวซึ่งไม่มีการบังคับจากกฎหมายเพราะเป็นการทำธุรกิจของอาคารดังกล่าว ถือเป็นการเสนอขายบริการ หากคุณพูนทรัพย์ไม่พอใจราคา ก็ปฏิเสธไม่เข้าใช้บริการได้ ส่วนของค่าปรับที่แพงหลังเวลา 24.00 น. น่าจะเป็นเพราะทางอาคารไม่ต้องการให้มีการจอดรถในลักษณะค้างคืน จึงเรียกค่าปรับสูง เมื่อนำสัญญาที่คุณพูนทรัพย์ได้ทำกับทางอาคารไว้มาพิจารณา ก็พบว่ามีการระบุเงื่อนไข ราคาและค่าปรับต่างๆ ไว้ชัดเจน จึงขอให้ผู้บริโภคทุกท่านอ่านรายละเอียดของสัญญาต่างๆ ให้รอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจใช้บริการ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดจากความไม่รู้ (แต่จริงๆ ควรต้องรู้)  

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 141 คอนโดมิเนียมหรูเสร็จช้า ลูกค้าขอเรียกค่าปรับ

เดอะกรีน คอนโดมิเนียม @ สุขุมวิท 101 เป็นคอนโดมิเนียมความสูง 8 ชั้น มีจุดขายสำคัญตรงที่ห่างจากสถานีรถไฟฟ้า BTS ปุณณวิถี ประมาณ 800 เมตร มีมอเตอร์ไซค์รับจ้าง มีรถสองแถวซูบารุ ให้บริการวิ่งรับส่งปากซอยตลอด 24 ชั่วโมง มีตลาดคึกคัก ที่สำคัญมีของกินเยอะมาก ถูกใจสาวๆ ออฟฟิศเป็นที่สุดแม้ราคาจะสูงถึง 1,073,000 บาท แลกกับพื้นที่ใช้สอย 31.50 ตารางเมตร แต่คุณนุสราก็บ่ยั่นเมื่อเทียบกับทำเลที่ตั้งที่น่าสนใจของคอนโด ตัดสินใจเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2553 เลือกอยู่ชั้น 8 ชั้นบนสุดเลยทีเดียวหน้าที่ตามสัญญาฯ ฝั่งคุณนุสราจะต้องจ่ายเงินดาวน์ร่วม 2 แสนบาท โดยแบ่งเป็นเงินจ่ายในวันจอง 5 พันบาท จ่ายในวันทำสัญญา 2 หมื่นบาท ยอดที่เหลืออีก 1 แสน 7 หมื่นกว่าบาทแบ่งจ่ายเป็นงวด 20 งวด เริ่มจากเดือนมิถุนายน 2553 ไปจนถึงเดือนมกราคม 2555  ส่วนที่เหลืออีก 8 แสน 7 หมื่นกว่าบาทต้องหามาจ่ายให้ได้ในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิห้องชุดที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนง ในขณะที่ฝั่งกรีนคอนโดสัญญาว่าจะทำการก่อสร้างคอนโดให้เสร็จสิ้นประมาณเดือนกันยายน 2554คุณนุสรา ได้ชำระเงินตามสัญญาอย่างต่อเนื่อง แต่ระหว่างนั้นก็ต้องใจระทึก เพราะช่วงเดือนสิงหาคม 2553 โครงการยังไม่เริ่มตอกเสาเข็ม และได้มีอีเมล์ชี้แจงมายังลูกค้าว่า บริษัทยังอยู่ในช่วงการยื่นเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมีคำสั่งให้มีการแก้ไขในบางจุดอยู่ คาดว่าจะใช้เวลาในกระบวนการทำอีไอเอนี้ราว 60 วัน และใช้เวลาอีกไม่เกิน 2 อาทิตย์ในการขอใบอนุญาตในการก่อสร้างได้ ส่วนเรื่องเงินทุนนั้นไม่มีปัญหาเพราะได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่งทั้งโครงการ พร้อมกับยืนยันว่า อาคารเสร็จตามกำหนดแน่นอน ถ้ามีเหตุจำเป็นที่จะทำให้สร้างไม่ทันตามกำหนด ทางโครงการจะช่วยรับภาระในการผ่อนชำระค่างวดให้จนกว่าโครงการจะแล้วเสร็จ หรือว่าลูกค้าจะหยุดผ่อนค่างวดเงินดาวน์ก่อนจนกว่าทางโครงการจะเริ่มตอกเสาเข็มก็ได้ แต่ก็จะไปหนักในการผ่อนเงินงวดท้ายๆ เพราะว่าโครงการสร้างเสร็จ พอเห็นคำยืนยันของโครงการเกิดความมั่นใจว่า “เสร็จแน่” คุณนุสราจึงเดินหน้าจ่ายค่างวดตามสัญญาต่อไป โครงการสัญญาว่าจะเสร็จประมาณเดือนกันยายน 2554 ก็ยังไม่เสร็จ ส่วนคุณนุสราก็ทำตามสัญญาจ่ายค่างวดจนครบงวดที่ 20 เดือนมกราคม ปี 2555 ปรากฏว่า โครงการก็ยังไม่แล้วเสร็จ“งานนี้โครงการมันไม่เสร็จ แต่ฉันเสร็จแน่ถ้าไม่ทำอะไรสักอย่าง” คุณนุสราคิดในใจ พอเข้าเดือนกุมภาพันธ์ 2555 จึงตัดสินใจเขียนจดหมายถึงโครงการ เรียกค่าเสียโอกาสที่ไม่ได้เข้าอยู่อาศัยนับแต่เดือนตุลาคม 2554 ถึงเดือนมกราคม 2555 เท่ากับค่างวดที่ได้จ่ายไปรวม 4 งวด เป็นเงิน 43,900 บาทเศษ ส่งจดหมายไปแล้วโครงการไม่ตอบว่า จะจ่ายชดใช้ให้หรือไม่ แต่มาถึงเดือนมีนาคม 2555 ถึงได้มีจดหมายจากโครงการเชิญให้ไปตรวจรับห้องชุดคุณนุสราไปตามคำเชิญ พร้อมว่าจ้างวิศวกรไปช่วยตรวจรับห้องชุดด้วย พอไปถึง ได้ตรวจได้ดูสภาพห้องแล้ว สรุปได้ว่าห้องยังไม่เรียบร้อยที่พร้อมจะให้เข้าตรวจรับ รวมถึงพื้นที่ส่วนกลางของคอนโดมิเนียมก็ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ จึงได้มีหนังสือไปถึงโครงการอีกครั้งเพื่อยืนยันที่จะเรียกค่าเสียหาย และแจ้งเรื่องความไม่เรียบร้อยของโครงการ และขอให้โครงการแจ้งวันที่โครงการดำเนินการก่อสร้างและแก้ไขปัญหาในรายละเอียดต่างๆ ได้เรียบร้อยแล้วกลับมาอีกครั้ง พร้อมกับสำทับว่า การไปตรวจรับห้องชุดแต่ละครั้ง ตนต้องมีค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างวิศวกรเพื่อตรวจรับห้องชุด  หากเมื่อถึงวันนัดกันแล้ว  โครงการยังดำเนินการไม่เรียบร้อยอีก โครงการต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้แทนด้วยส่งจดหมายไปแล้ว สิ่งที่ได้รับคือ ความเงียบ ไม่มีปฏิกิริยาโต้กลับใดๆ มาจากโครงการ ถึงเดือนเมษายน 2555 คุณนุสราจึงส่งเรื่องร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหาคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ออกประกาศให้ธุรกิจขายห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2543 มีเนื้อหากล่าวถึงการคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถดำเนินโครงการอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียมให้แล้วเสร็จภายในกำหนดสัญญา หรือคาดหมายได้ว่าจะไม่แล้วเสร็จภายในกำหนด ไว้ 2 แนวทางแนวทางที่ 1 ให้ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเลยก็ได้ และมีสิทธิเรียกเงินที่ได้ชำระไปแล้วทั้งหมดคืน พร้อมดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันกับเบี้ยปรับที่ทางผู้ประกอบธุรกิจกำหนดในกรณีที่ผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดนัดชำระหนี้ และไม่ตัดสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายอย่างอื่นได้อีกด้วยแนวทางที่ 2 หากผู้บริโภคไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ผู้บริโภคมีสิทธิเรียกเบี้ยปรับเป็นรายวันตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 0.01 และเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของราคาห้องชุดที่จะซื้อขายกัน แต่ถ้าผู้บริโภคใช้สิทธิในการปรับครบร้อยละสิบของราคาห้องชุดแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจยังไม่สามารถก่อสร้างอาคารชุดได้ทันกำหนดตามสัญญาอีก ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียได้ตามแนวทางที่ 1 เช่นกันในกรณีของคุณนุสรา เธอไม่บอกเลิกสัญญา แต่ต้องการเรียกค่าปรับ เมื่อราคาห้องชุดที่จะซื้อขายกันอยู่ที่ 1 ล้านบาท ดังนั้นค่าปรับรวมจึงอยู่ที่ไม่เกิน 1 แสนบาท  ซึ่งคุณนุสราได้ยืนยันที่จะเรียกค่าปรับจำนวนสี่หมื่นกว่าบาท โดยใช้ข้อเสนอของโครงการที่เขียนแจ้งทางอีเมล์ว่า ถ้ามีเหตุจำเป็นที่จะทำให้สร้างไม่ทันตามกำหนด ทางโครงการจะช่วยรับภาระในการผ่อนชำระค่างวดให้จนกว่าโครงการจะแล้วเสร็จ มูลนิธิฯ ได้ช่วยแจ้งความประสงค์ของคุณนุสราไปยังโครงการให้อีกทางหนึ่ง โดยผู้บริโภคจะขอหักเป็นส่วนลดในค่าโอนกรรมสิทธิห้องเลย ซึ่งต่อมาทางโครงการได้ทำการก่อสร้างโครงการและแก้ไขรายละเอียดปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ให้ จนสามารถรับโอนกันได้ และขอต่อรองค่าปรับให้ลดลงเหลือ 25,000 บาท คุณนุสราเห็นว่าจะได้ห้องอยู่แล้ว จึงตกลงยินดีไม่มีปัญหา ตอบตกลงรับโอนกรรมสิทธิในเวลาต่อมา ส่วนค่าปรับก็หักจากเงินที่ต้องชำระในวันโอนกรรมสิทธิ และได้อยู่สวรรค์ชั้นแปดของเดอะกรีนคอนโดมิเนียมสมใจปรารถนา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 กระแสต่างแดน

  จับจริงปรับจริง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป ดานัง ซึ่งเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่อันดับ 4 ของประเทศเวียดนาม เขาจะเพิ่มความเข้มข้นของการปราบปรามการทำผิดกฎจราจรขึ้นอีกระดับ อย่างแรก ถ้าคุณทำผิดกฎจราจร คุณจะต้องเสียค่าปรับแพง อย่างที่สอง ตำรวจจราจรที่ปฏิบัติหน้าที่ใน 4 เส้นทางหลักในการเข้า/ออกตัวเมืองดานัง ซึ่งมีความวุ่นวายจอแจไม่ธรรมดา จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นอีกคนละ 5 ล้านด็อง (ประมาณ 7,400 บาท) จากอัตราเงินเดือนปกติ 2 ล้านด็อง (ประมาณ 3,000 บาท) ในขณะที่สารวัตรจราจรจะได้เงินเพิ่มอีกเดือนละ 2 ล้านด็อง (ประมาณ 3,000 บาท) แถมด้วยส่วนแบ่งอีกร้อยละ 10 จากค่าปรับที่เรียกเก็บจากพวกที่ทำผิดกฎจราจรอีกต่างหาก เท่านั้นยังไม่พอ เขาจะมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้ตามจุดตรวจเพื่อลดการติดสินบนเจ้าหน้าที่อีกด้วย ใครมีภาพตัวเองรับสินบน ไม่ว่ามากหรือน้อย จะต้องถูกไล่ออกทันที อีกหน้าที่หนึ่งของตำรวจจราจรที่ดานังคือการตรวจคุณภาพของหมวกกันน็อคของบรรดาผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ด้วย เพราะเมืองนี้กำลังมีปัญหาหมวกกันน็อคปลอมระบาด ที่คนนิยมซื้อมาใช้เพราะราคาถูกกว่ากันครึ่งต่อครึ่ง   ข่าวบอกว่าตำรวจเขาจะเชิญสิงห์มอเตอร์ไซค์เข้าไปนั่งรอการตรวจหมวกกันน็อคในที่ร่มๆ ให้สบายใจ ถ้าพบว่าเป็นชนิดที่ต่ำกว่ามาตรฐาน เขาก็จะเก็บไว้ แล้วให้ซื้อหมวกกันน็อค ที่ทั้งคุณภาพดี มีมาตรฐาน และราคาเพียงใบละ 80 บาทใส่กลับบ้านไปด้วย เหตุที่ผลิตออกมาได้ถูกนั้นก็เพราะ เทศบาลเมืองดานังเขาให้เงินกู้แบบไม่คิดดอกเบี้ย (ประมาณ 11.7 ล้านบาท) กับผู้ผลิตหมวกกันน็อค เพื่อเป็นต้นทุนในการผลิตหมวกนิรภัยที่มีมาตรฐาน โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องผลิตหมวกนิรภัยให้กับเทศบาล 100,000 ใบ ภายในระยะเวลา 2 ปี   รถไฟสายพิเศษ การรถไฟแห่งประเทศฝรั่งเศส ถูกศาลสั่งให้จ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 1,500 ยูโร (ประมาณ 60,000 บาท) ให้กับสาวนางหนึ่งที่ไปทำงานสายถึง 6 ครั้งในช่วงทดลองงาน เพราะรถไฟที่เธอใช้เพื่อเดินทางจากบ้านไปยังสำนักงานในเมืองลียงนั้นมาไม่ตรงเวลา เธอคนนี้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก SNCF หรือ Société Nationale des Chemins de fer Français (ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรถไฟเจ้าใหญ่ของยุโรป รวมถึงเป็นเจ้าของกิจการรถไฟความเร็วสูง TGV ด้วย) ไปทั้งหมด 45,000 ยูโร (ประมาณ 1.8 ล้านบาท) โทษฐานที่ทำให้เธอต้องได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ และสูญเสียรายได้ที่อาจเกิดขึ้นถ้าเธอผ่านการทดลองงานด้วย เธอบอกว่าระยะเวลาที่ต้องรอนั้นมีตั้งแต่ 10 ถึง 75 นาที และสำนักงานกฎหมายที่เธอเข้าทดลองงานในเดือนมิถุนายน ปี 2010 ก็ยืนยันว่าการมาสายของเธอเป็นผลเสียต่อกิจการของบริษัท ศาลเห็นด้วยว่าการที่รถไฟมาไม่ตรงเวลานั้น ทำให้เธอเกิดความเครียด จึงสั่งให้ SNCF จ่ายเงินชดเฉยให้กับเธอเป็นเงิน 1,500 ยูโร แม้ว่าผู้บริโภคจะไม่ได้ค่าชดเชยทั้งหมดที่เรียกร้องไป แต่ข่าวบอกว่านี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่การรถไฟฝรั่งเศสจะต้องเตรียมตัวรับมือต่อไป สองปีก่อน การรถไฟฝรั่งเศสเคยถูกศาลสั่งให้จ่ายค่าชดเชยให้แก่ทนายคนหนึ่งเป็นเงิน 5,000 ยูโร (ประมาณ 200,000 บาท) เพราะรถไฟมาสายและทำให้เขาพลาดรถที่จะต้องต่อไปพบลูกความที่เมืองนีมส์ มาแล้ว     วันนี้ห้ามขาย สำนักงานเทศบาลของ 25 เขตในกรุงโซลลงความเห็นร่วมกันว่า แต่นี้ต่อไป ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ และสาขาย่อยที่เรียกกันว่า SSM (super supermarkets) ของห้างเหล่านั้น จะต้องปิดทำการในวันอาทิตย์ที่สองและสี่ของเดือน นี่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะช่วยให้ร้านค้าแบบดั้งเดิม (หรือที่บ้านเราเรียก “โชว์ห่วย”) ให้สามารถอยู่ควบคู่กันไปกับร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ โดยไม่ต้องปิดกิจการนั่นเอง กรุงโซลเป็นหนึ่งในหลายๆ เมือง ที่กำลังปฏิบัติตามกฎหมายใหม่ ที่ให้อำนาจแก่องค์กรท้องถิ่น ในการสั่งให้ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่และสาขาย่อย ปิดทำการได้ถึงเดือนละ 2 ครั้ง และการฝ่าฝืนจะมีโทษปรับ 30 ล้านวอน(ประมาณ 800,000 บาท) ทั้งนี้มีข้อยกเว้นสำหรับห้างที่ยอดขายเกินร้อยละ 50 มาจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากการเกษตรและปศุสัตว์ ร้าน Hanaro Club ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกที่ดำเนินงานโดยสหพันธ์สหกรณ์การเกษตรแห่งชาติของเกาหลีก็เข้าข่ายนี้เช่นกัน และแน่นอนที่สุด สมาคมร้านค้าปลีกของเกาหลี ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ทบทวนกฎหมายดังกล่าว เพราะ “มันเป็นการละเมิดสิทธิของห้างในการประกอบธุรกิจ และละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในการจับจ่าย”  นอกจากนี้ยังบอกว่าจะล่ารายชื่อ 1 ล้านรายชื่อ เพื่อคัดค้านกฎหมายนี้ สมาคมฯ โอดครวญว่า ทีพวกขายของทางโทรทัศน์หรือทางอินเตอร์เน็ทยังขายได้ทุกวัน วันละ 24 ชั่วโมงเลย (ว่าแต่ร้านโชว์ห่วยเขาขายของแบบเดียวกันกับร้านพวกนี้หรือไงนะ?)     แคลอรี่ บลา บลา? เนื่องจากประชากรของเขามีอัตราการเกิดโรคอ้วนสูงเป็นอันดับต้นๆ ของยุโรป รัฐบาลอังกฤษเลยตัดสินใจประกาศแผนลดความอ้วนระดับชาติ ด้วยการกำหนดให้ผู้ผลิตลดปริมาณแคลอรี่ในอาหารสำเร็จรูปลง เบื้องต้นได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ 17 ราย ซึ่งรวมถึง โคคา โคล่าที่ประกาศว่าจะลดปริมาณแคลอรี่ในเครื่องดื่ม (บางชนิด) ของตนเองลงร้อยละ 30 เช่นเดียวกับ Mars ที่บอกว่าจะทำขนมหวานรสช็อคโกแล็ต แต่ละชิ้นให้มีแคลอรี่ไม่เกิน 250 หรือห้าง Asda ที่ประกาศเปิดตัวผลิตภัณฑ์แบรนด์ใหม่ที่จะผลิตเฉพาะอาหารแคลอรี่ต่ำ เป็นต้น เรื่องนี้จะว่าดีก็ใช่ แต่มันยังไม่ถึงที่สุด พรรคแรงงานออกมาตั้งคำถามกับรัฐบาลว่าทำไมถึงไม่คิดถึงทางเลือกอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากกว่านี้ เช่น กำหนดให้ผู้ประกอบการปรับปรุงฉลากอาหาร หรือจำกัดการโฆษณาอาหารขยะทั้งหลายที่เด็กๆ พบเห็นบ่อยเกินไปในโทรทัศน์ เป็นต้น อีกความพยายามที่น่าสนใจของรัฐบาลอังกฤษคือการขอให้ผู้ผลิตทำบรรจุภัณฑ์ที่เอื้อต่อการเก็บไว้รับประทานในคราวต่อไปได้ด้วย     ถนนนี้เราจอง คุณอาจเคยได้ยินชื่อ เอมิเรตส์ สเตเดียม ในกรุงลอนดอน หรือถ้าคุณเป็นแฟนของทีมฟุตบอลเลสเตอร์ซิตี้ คุณก็คงจะรู้จักคิง พาวเวอร์ สเตเดียม แต่ “แบรนด์” ต่างๆ สามารถไปได้ไกลกว่านั้น อย่างน้อยๆ ก็ที่รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เพราะเขาประกาศขายสิทธิในการตั้งชื่อถนน ทางหลวง สะพาน ฯลฯ ให้กับใครก็ตามที่ยินดีให้ราคาสูงสุดในการประมูล เวอร์จิเนีย ซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรหนาแน่นเป็นอันดับที่ 12 ของอเมริกา ตัดสินใจผ่านกฎหมายดังกล่าวเพื่อหางบประมาณมาซ่อมแซมถนน ซึ่งแต่ละสายก็อายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี นักการตลาดบอกว่านี่เป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการในยุคที่ “แบรนด์” ทั้งหลายแข่งกันสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภค แทนที่จะไปทุ่มเทเงินให้กับนักกีฬาหรือทีมกีฬาที่รวยอยู่แล้ว บริษัทต่างๆ ควรใช้เงินเพื่อสนับสนุนการดูทรัพย์สินสาธารณะดีกว่า ในทางกลับกัน ฝ่ายที่คัดค้านมองว่ามันเป็นการใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อการค้า ซึ่งทำให้ผู้บริโภคต้องถูกแวดล้อมไปด้วยโฆษณาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 กระแสต่างแดน

ขึ้นฟรีแบบมีประเด็นที่ปารีสมีคนกลุ่มหนึ่งมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะขึ้นรถโดยไม่ซื้อตั๋ว เพราะต้องการเรียกร้องให้รัฐจัดบริการขนส่งมวลชนในปารีสให้ฟรี เหมือนกับบริการการศึกษา หรือบริการสุขภาพ  กลุ่มนี้เขารวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นเป็นระบบ ใครโดนจับได้และถูกเรียกเก็บค่าปรับ เขาก็มีกองทุนเอาไว้จ่ายให้ด้วย หนังสือพิมพ์ เลอ ปาริเซียง รายงานว่าปัจจุบันมีกองทุนแบบนี้อย่างน้อย 10 กองทุน โดยสมาชิกร่วมอุดมการณ์นั่งรถฟรีแต่ละคนจะร่วมลงขันคนละ 5 – 7 ยูโร (ประมาณ 200 - 300 บาท) เพื่อสำรองไว้จ่ายค่าปรับ ปารีสเมโทร หรือ ขนส่งมวลชนปารีส เขาบอกว่าปัจจุบันร้อยละ 4 ของคนที่ขึ้นรถนั้นไม่ได้ซื้อตั๋ว ถ้าแยกดูตามเส้นทางจะพบว่า อัตราการขึ้นรถฟรีอยู่ที่ร้อยละ 10 สำหรับรถทางไกล และร้อยละ 6 สำหรับรถที่วิ่งในปารีส แต่ทั้งนี้ขนส่งฯ เขาบอกว่ารายได้จากตั๋วโดยสารนั้นเป็นเพียงแค่ร้อยละ 30 ของต้นทุนการดำเนินงานเท่านั้น เรียกว่าแทบจะไม่พอสำหรับการจ่ายเงินเดือนให้กับนายตรวจซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 968 คน (กลุ่มที่รณรงค์เพื่อรถฟรีเขาตั้งข้อสังเกตว่าค่าใช้จ่ายในปฏิบัติการไล่ล่านั้นน่าจะแพงกว่าราคาตั๋วด้วยซ้ำ)  ชาวปารีสต้องจ่ายค่าตั๋วถึง 1.70 ยูโร (ประมาณ 68 บาท) ในขณะที่ค่าโดยสารเฉลี่ยของประเทศอื่นๆ ในยุโรปอยู่ที่ 1 ยูโร (40 บาท) เท่านั้น อันที่จริง หลายเมืองในฝรั่งเศสเขามีรถฟรีให้ขึ้นกัน เมืองกงปิแอง ก็มีรถฟรีมาแล้ว 33 ปี นอกจากนี้ยังมีเมือง โอบาง กูโลเมีย วิตร หรือชาโตรู ซึ่งทางเมืองเขาคำนวณแล้วว่ารายได้จากการขายตั๋วนั้นไม่ได้มากอะไรเลย เมื่อเทียบกับต้นทุนทั้งหมดของการจัดการขนส่ง  ไม่รู้ว่า ขสมก. ของเราสนใจจะไปเยี่ยมชมดูงานของเขาหรือเปล่า จะได้รู้กันไปว่าการจะขึ้น “รถเมล์ฟรี จากภาษีของประชาชน” ที่ฝรั่งเศสนี่มันต้องเตรียมตัวออกสตาร์ทกันให้ดีเหมือนที่บ้านเราหรือเปล่า --------------------------------------------------------------------- ของ (ไม่น่าจะ) เสีย ปัญหาที่อเมริกาและกลุ่มประเทศในทวีปอัฟริกามีเหมือนกันคือการสูญเสียอาหารปริมาณมหาศาลไปโดยเปล่าประโยชน์  อัฟริกายังขาดแคลนเทคโนโลยีในการเก็บเกี่ยวและเก็บรักษาพืชผล ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรกว่า 1 ใน 4 ต้องเน่าเสียไปก่อนจะได้กลายเป็นอาหาร เพราะสภาพอากาศที่รุนแรง โรคพืช และศัตรูพืช เป็นต้น ในแต่ละปีมีผลิตผลอย่างพืชไร่ ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ปลา นมวัว เสียหายไปไม่ต่ำกว่า 100 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 48 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ประชากรกว่า 265 คนอยู่ในภาวะอดอยาก  ส่วนอเมริกานั้น แม้จะมีเทคโนโลยีขั้นเทพก็ยังมีปัญหาเรื่องอาหารที่ต้องเสียไปโดยเปล่าประโยชน์เช่นกัน ในแต่ละวันคนอเมริกันหนึ่งคน จะทิ้งอาหารประมาณ 1.5 ปอนด์ (เช่น ผักกาดที่เฉาไปนิด เบอร์เกอร์ที่กินไปเพียงครึ่ง หรือแอปเปิ้ลที่ช้ำๆ ดูไม่น่ากิน) รวมๆ แล้วทำให้เกิดเป็นขยะปริมาณเท่ากับสะพานโกลเด้นเกท 74 สะพาน ที่ต้องเป็นธุระนำไปฝังกลบหรือไม่ก็เผาอีกต่างหาก  ร้อยละ 34 ของก๊าซมีเทนในสหรัฐฯ ก็เกิดจากขยะมหึมากองนี้  ถ้าย้อนกลับไปดูที่แหล่งผลิต จะพบว่ามีผลผลิตถูกทิ้งให้เสียไปไม่น้อยเหมือนกัน องค์กรการกุศลแห่งหนึ่ง ส่งอาสาสมัครไปตามฟาร์มต่างๆ เพื่อเก็บผลผลิตสภาพดีที่เหลือทิ้ง ปรากฏว่าเขาสามารถเก็บมาได้ถึง 15.7 ล้านปอนด์ (ข้อมูลปี 2552) ฟู้ด รันเนอร์ ก็เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่จัดหาอาหารสัปดาห์ละ 10 ตัน ให้กับคนไม่มีบ้านอยู่ หรือบ้านพักคนชรา โดยอาหารเหล่านั้นคือของที่ ร้านกาแฟ ร้านอาหาร และซูเปอร์มาร์เก็ต ไม่ใช้แล้วนั่นเอง สถาบัน Worldwatch ฟันธงแล้วว่า อันตรายหมายเลขหนึ่งของโลกเราทุกวันนี้ ได้แก่ “วัฒนธรรมกินใช้อย่างเหลือเฟือ” นี่แหละ ซึ่งไม่ได้ระบาดเฉพาะในหมู่คนอเมริกัน ผู้บริโภคทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะหย่าขาดจากมันให้ได้ --------------------------------------------------------------------- รถสะดวกขาย ในนิวยอร์กมีรถบรรทุกเร่ขายอาหารกว่า 3,000 คัน รถเร่เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมท้องถิ่นไปแล้ว และเทคโนโลยีอย่างทวิตเตอร์ก็ทำให้ธุรกิจนี้มีสีสันขึ้นด้วยการช่วยให้แฟนพันธุ์แท้สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของรถเจ้าประจำได้ ว่าขณะนี้ไปจอดอยู่ที่ไหน   รถเร่เหล่านี้เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคทั้งในด้านความหลากหลายและราคา เรียกว่ามีอาหารนานาชนิดขาย ตั้งแต่ ไอศกรีม ฮอทดอก วอฟเฟิล บราวนี่ และอื่นๆ ด้วยสนนราคาเฉลี่ยเพียง 10 เหรียญ แต่ปัญหาคือเดี๋ยวนี้รถเร่บางคัน กลับจอดปักหลักขายตามหัวมุมถนนที่คนจอแจเสียนี่ บางคันจอดยึดพื้นที่ตั้งแต่ 10.00 โมงเช้าจนถึงเที่ยงคืน บางเจ้าก็ถึงขั้นทำใบปลิวเมนูของร้านพร้อมระบุตำแหน่งที่จอดไว้ด้วย(มั่นใจขนาดนั้นเลย) หลังจากมีเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขยะหรือคราบน้ำมันที่รถเร่เหล่านี้ทิ้งไว้ ปัญหาเรื่องที่จอดรถไม่เพียงพอ การถูกบดบังหน้าร้าน (สำหรับร้านที่ตั้งอยู่ริมฟุตบาธ) เป็นต้น สมาชิกสภาเทศบาลนิวยอร์ก เจสสิกา แลพพิน จึงนำเสนอร่างกฎหมายให้มีการเพิกถอนใบอนุญาตที่กรมสุขภาพออกให้รถเร่เหล่านี้ ถ้าพวกเขาได้รับใบสั่งจราจรมากกว่า 2 ใบ ในระยะเวลา 1 ปี จากการจอดติดเครื่องหรือหยอดเหรียญในมิเตอร์เพื่อซื้อเวลาจอดรถ ต้องรอดูกันต่อไปว่าร่างนี้จะผ่านเป็นกฎหมายหรือไม่ หรือจะมีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญอย่างไร ในวันที่มีการรับฟังความคิดเห็นนั้นมีกลุ่มผู้ค้ารถเร่และบรรดาขาประจำรวมตัวกันเพื่อยื่น 4,000 รายชื่อที่ไม่เห็นด้วยกับร่างดังกล่าว สมาชิกสภาฯ คนดังกล่าวยืนยันว่า ถ้ารถเร่เหล่านี้ต้องการพื้นที่ขายถาวร ก็ควรจะไปหาพื้นที่เปิดเป็นร้าน ถ้าจะเป็นรถเร่ ก็ต้องเร่ให้ตรงคอนเซ็ปต์ --------------------------------------------------------------------- ไม่ซ่อมก็จ่ายมา ที่อังกฤษนั้นถ้าคุณขับรถตกหลุมบนถนน สิ่งแรกที่ควรทำคือกลับบ้านไปเปิดคอมพิวเตอร์ เข้าเว็บไซต์ www.fixmystreet.com หรือ www.potholes.co.uk เพื่อตรวจสอบว่าหลุมที่ไปตกมานั้นมีคนแจ้งซ่อมเข้าไปหรือยัง ถ้ามีแล้ว ก็หมายความว่าคุณมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐได้ ทุกวันนี้มีผู้เดือดร้อนเพียง 1 ใน 10 เท่านั้นที่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้จริงๆ เนื่องจากหน่วยงานของรัฐ เช่น Highways Agency หรือเทศบาลท้องถิ่นจ่ายค่าชดเชยให้โดยอ้างอิงจากหลุมบ่อที่ “ขึ้นทะเบียน” หรือมีการแจ้งซ่อมแซมไว้แล้วแต่รัฐยังไม่ดำเนินการให้เท่านั้น สถิติระบุว่าในเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐซ่อมไปแล้วกว่า 1.4 ล้านหลุม (ในลอนดอนอย่างเดียว ก็ปาเข้าไป 120,000 หลุม) ด้วยงบประมาณกว่า 100 ล้านปอนด์ บ้านเราน่าจะลองเอาไอเดียนี้มาใช้ดูบ้าง ดูท่าทางการแจ้งผ่านรายการทำนอง “ทุกข์ชาวบ้านชาวช่อง” หรือ “ช่วงนี้ชี้ให้ดูนะ” คงจะไม่พอเสียแล้ว ---------------------------------------------------------------------   เย็นอย่างพอเพียง เทศบาลเมืองไทเป ไต้หวัน ออกกฎหมายให้อาคารสำนักงานและห้างร้านใหญ่ๆ ที่บริโภคไฟฟ้าเป็นปริมาณมาก ตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศไว้ที่ 26 องศาเซลเซียส ใครเย็นไปกว่านี้มีปรับกฎหมายว่าด้วยการประหยัดพลังงานและการลดการปล่อยคาร์บอนจากภาคธุรกิจ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ โดยจะมีช่วงเวลาให้ปรับตัว 6 เดือน หลังจากนั้นถ้าใครตั้งเครื่องปรับอากาศไว้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 26 องศาเซลเซียส ก็จะถูกปรับเป็นเงินระหว่าง 10,000 บาทถึง 50,000 บาท ช่วงแรกเขาจะบังคับใช้กับธุรกิจที่ใช้ไฟมากกว่า 100,000 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ต่อเดือน หรือจ่ายค่าไฟเดือนละมากกว่า 300,000 บาท ปัจจุบันในเมืองหลวงของไต้หวันมีองค์กรประเภทนี้ (ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างค้าปลีก โรงแรม ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน) 540 แห่ง ธุรกิจเหล่านี้บริโภคไฟร้อยละ 38 ของพลังงานไฟฟ้าในไทเป ถ้าแต่ละแห่งลดการบริโภคไฟลงร้อยละ 1 ก็จะสามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าในปริมาณที่สามารถใช้ได้กับ 7,000 ครัวเรือนต่อปีเลยทีเดียว ---------------------------------------------------------------------   หมูย้อมแมว บริษัท Primo SmallGood ทางตะวันตกของเมืองซิดนีย์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารจากเนื้อหมูที่ใหญ่ที่สุดในซีกโลกใต้ โดนปรับเป็นเงินประมาณ 6 ล้าน 7 แสนบาท โทษฐานที่ติดฉลาดผลิตภัณฑ์เบคอนของตนว่าเป็น “ผลิตภัณฑ์ของออสเตรเลีย” สาเหตุที่โดนค่าปรับแพงที่สุดตั้งแต่มีการใช้กฎหมายนี้มาก็เพราะเบคอนที่ว่านั้นทำจากเนื้อหมูที่นำเข้าจากเดนมาร์กและแคนาดา นี่เป็นอีกระดับของการคุ้มครองผู้บริโภค ..แม้สินค้าจะไม่ได้เป็นอันตราย แต่ก็ถือว่าได้ละเมิดสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง อย. ของนิวเซาท์เวลส์เขารู้เรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2008 เลยเริ่มทำการสืบสวนบริษัทผู้ผลิตอาหารภายในรัฐ และพบว่าบริษัทนี้มีผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากผิดทั้งหมด 100 ตัน จึงแจกไป 63 ข้อหาภายใต้กฎหมายอาหารของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ทั้งนี้ข่าวเขาบอกว่ายังต้องพิสูจน์กันต่อไปว่าบริษัทดังกล่าวได้รับผลประโยชน์ทางการเงินจากการติด “ฉลากผิด” ที่ว่าด้วยหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >