ฉบับที่ 199 คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว หัวใจฟรุ้งฟริ้ง : ก็เพราะแม่เป็นยิ่งกว่าแมวเก้าชีวิต

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานนิยามศัพท์เอาไว้ว่า “ผู้หญิง” หมายถึง “เพศที่ออกลูกได้” และเพราะภายใต้การกำหนดนิยามว่าเป็น “เพศที่ออกลูกได้” ดังกล่าว ก็ดูเหมือนว่า จะมีระบบวิธีคิดหลายประการที่ซุกซ่อนอยู่ในนั้น ตั้งแต่ระบบคิดที่ว่า ถึงแม้ผู้หญิงจะ “ออกลูกได้” แต่ก็ต้องอาศัยผู้ชายในการ “ผลิตลูก” ออกมา หรือถ้าผู้หญิงเป็นเพศที่ “ออกลูกได้” แล้ว หน้าที่ทางสังคมของการเลี้ยงดูกุลบุตรกุลธิดาก็จะถูกมอบหมายเอาไว้ให้กับผู้หญิงเป็นลำดับแรก ไปจนถึงระบบคุณค่าที่อธิบายว่า ถ้าจะเป็นผู้หญิงที่ดีและเป็นที่พึงปรารถนาของสังคมแล้วไซร้ ต้องพยายามสรรค์สร้างครอบครัวแบบ “พ่อแม่ลูก” จนเกิดขึ้นเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์แบบให้จงได้ และเพราะคุณค่าความเป็น “ครอบครัวสมบูรณ์แบบพ่อแม่ลูก” ได้ถูกอุปโลกน์เอาไว้เช่นนี้เอง จึงกลายเป็นกรอบที่สังคมไทยใช้กำหนดผู้หญิงเอาไว้ไม่ให้คิดเป็นอื่น นั่นหมายความว่า หากผู้หญิงคนใดที่ริจะหย่าร้างหรือมิอาจประคับประคองชีวิตครอบครัวให้เป็นไปตามมาตรวัดดังกล่าวได้ เธอก็จะถูกตีตราว่าผิดพลาดใน “ความเป็นเพศหญิง” ตามที่สังคมได้ออกแบบไว้ จะมีตัวอย่างก็คือกรณีของ “มุลิลา” (หรือ “มู่ลี่”) ที่ดูจะเป็นตัวแทนของผู้หญิงคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาท้าทายบรรทัดฐานของสังคมเสียใหม่ว่า แม้แต่สิ่งที่เรียกว่า “ความเป็นแม่” ก็ใช่ว่าสังคมจะเข้ามากำหนดได้เบ็ดเสร็จสมบูรณ์ 100% เพราะด้วยสองมือของผู้หญิงที่สร้างโลกอยู่นั้น ก็สามารถออกแบบ “ความเป็นแม่” แบบที่เธอมีอำนาจเลือกเองได้เช่นกัน  มุลิลาคือตัวละครผู้หญิงวัย 30 ต้นๆ เป็นนักการตลาดในบริษัทธุรกิจใหญ่แห่งหนึ่ง ที่ดูเหมือนหน้าที่การงานน่าจะรุ่งเรืองก้าวหน้าไปได้อีกไกลเมื่อเทียบกับผู้หญิงคนอื่นที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกัน แต่ด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่างที่เข้ามาโรมรันพันตู กลับทำให้ชีวิตครอบครัวและชีวิตการงานของเธอต้องเป็นทั้ง “unlucky in love” และ “unlucky in game” ไปพร้อมๆ กัน  เปิดฉากเริ่มเรื่องของละครออกมา มุลิลาที่แต่งงานอยู่กินกับ “พงศ์พิศุทธิ์” และมีลูกชายวัย 5 ขวบคือ “น้องปลื้ม” ต้องเผชิญกับสถานการณ์ปัญหาชีวิตถาโถม เพราะด้านหนึ่งชีวิตแต่งงานก็ไม่มีความสุขนัก ชีวิตครอบครัวที่เธอต้องดูแลงานทุกอยู่ในบ้านแบบ “ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ” ไปจนถึงชีวิตการงานที่เพราะเธอต้องดูแลลูกและครอบครัว จนไม่มีเวลาให้กับภาระงานนอกบ้านได้อย่างเต็มที่ วันเดียวกับที่มุลิลาถูกให้ออกจากงานประจำ เพราะเงินเดือนสูงแต่เวลาทำงานถูกเจียดไปดูแลลูกชายคนเดียว เมื่อกลับมาถึงบ้าน เธอก็เข้ามาเห็นภาพของสามีกำลังฟีเจอริ่งอยู่กับผู้หญิงคนอื่นอยู่ มุลิลาจึงตัดสินใจหย่าร้างกับพงศ์พิศุทธิ์ และก้าวเข้าสู่สถานภาพใหม่ของ “ซิงเกิ้ลมัม” นับจากนั้นเป็นต้นมา แม้ว่าสายตาสังคมจะตำหนิติฉินว่า เธอมีวัตรปฏิบัติเบี่ยงเบนไปจากมาตรวัดบรรทัดฐานที่ผู้หญิงดีๆ พึงกระทำกัน แต่ “คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว” อย่างมุลิลา ก็เห็นว่าเธอยังคงมี “หัวใจฟรุ้งฟริ้ง” แม้จะยืนอยู่นอกขนบที่สังคมพยายามขีดเส้นยัดเยียดเอาไว้ให้ เหมือนกับภาพในฉากต้นเรื่องหลังจากเธอตัดสินใจจะมารับสถานภาพ “คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว” ที่มุลิลาพูดกับตัวเองและหันมาทางกล้องเพื่อพูดกับผู้ชมไปพร้อมๆ กันว่า “ฉันชื่อมุลิลา...มุลิลาแปลว่าแมว” และหาก “แมวมีเก้าชีวิต” การหย่าร้างและลุกขึ้นมายืนหยัดเลี้ยงลูกน้อยด้วยตนเอง ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตเธอถึงกับพังพาบสิ้นสุดลงแต่อย่างใด เมื่อต้องมาสวมบทบาทใหม่เป็น “ซิงเกิ้ลมัม” เพราะเป็นบทบาทที่เบี่ยงเบนไปจากจารีตปฏิบัติของสังคม มุลิลาจึงถูกบททดสอบมากมาย เพื่อจะให้เธอตั้งคำถามกับตัวเองว่า จะทนทายาทอยู่เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวได้นานเพียงใด เริ่มต้นจาก “บุปผา” มารดาของมุลิลาเอง ที่แม้จะเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวมาก่อน แต่มิไยก็พยายามหน่วงรั้งพูดกรอกหูลูกสาวให้กลับไปคืนดีกับสามีตลอดเวลา หรือ “บริสุทธิ์” อดีตแม่สามีที่วางแผนทุกทางเพื่อช่วงชิงน้องปลื้มกลับมาอยู่ในความดูแลของพงศ์พิศุทธิ์ บททดสอบถัดมา เมื่อต้องเลี้ยงดูลูกน้อยเพียงลำพัง เงื่อนไขทางเศรษฐกิจก็บีบให้คุณแม่ต้องออกทำงาน และมาเผชิญกับความอิจฉาริษยาของเพื่อนร่วมงานใหม่ ไม่ว่าจะเป็น “ตรีดาว” “พราวฟ้า” “รักชนก” และ “แพตตี้” ที่ร่วมกันใช้เหตุผลความเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวเพื่อขจัดมุลิลาออกไปจากสนามแข่งขันในที่ทำงาน แต่อย่างไรก็ดี บททดสอบสุดท้าทายของคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวก็คงหนีไม่พ้นการเข้ามาของผู้ชายหลายคนในชีวิตของมุลิลา นอกจากพงศ์พิศุทธิ์สามีเก่าที่ปรารถนาจะกลับมาใช้ชีวิตคู่กันอีกครั้งแล้ว ยังมี “ชิษณุ” ซีอีโอหนุ่มใหญ่เจ้าของบริษัทที่เธอทำงานอยู่ กับ “อัศวิน” ชายหนุ่มรุ่นกะเตาะลูกชายเจ้าของร้านซาลาเปา ที่ดูจะเข้ากันได้ดีกับน้องปลื้มลูกชายของเธอ ชายคนแรกที่อายุเสมอกันคือคนที่เลิกร้างไป ชายคนที่สองอายุมากกว่าแต่ก็มีสถานะเป็นเจ้านายของเธอ และชายคนสุดท้ายที่อายุน้อยกว่าแต่ก็ริมาหลงรักคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวรุ่นพี่ สามตัวเลือกของชายที่ต่างวัยกันได้กลายมาเป็นข้อสอบปรนัยให้มุลิลาเลือกตัดสินใจว่า จะกากบาทไปที่คำตอบข้อใดกัน เพราะเชื่อมั่นว่าผู้หญิงมีศักยภาพที่จะเป็นยิ่งกว่า “แมวเก้าชีวิต” เมื่อมุลิลาพบว่า ภาระงานและปัญหารุมเร้าจากตัวเลือกผู้ชายทั้งสามคน ได้บั่นทอนเวลาที่เธอจะมีให้ลูกน้อยมากเกินไป ในที่สุด มุลิลาก็ตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อมาทำกิจการเล็กๆ ส่วนตัว ควบคู่ไปกับการยืนหยัดในบทบาท “คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว” ด้วย “หัวใจฟรุ้งฟริ้ง” ต่อไป และที่สำคัญ ในท่ามกลางปัญหาที่คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวต้องเผชิญอยู่นั้น ละครได้ชี้ให้เห็นอีกด้านของความหวังด้วยว่า สำหรับผู้หญิงแล้ว “you will never walk alone” ด้วยเหตุนี้ มุลิลาจึงมีบรรดาเพื่อนๆ ทั้งเพื่อนผู้หญิงอย่าง “ต้องตา” เพื่อนผู้ชายอย่าง “พี่ยักษ์” และเพื่อนเพศที่สามอย่าง “ดอลลี่” ที่คอยเป็นกำลังใจและเป็นกองหนุนอยู่เบื้องหลังตลอดเวลา สำหรับบรรดา “ซิงเกิ้ลมัม” ทั้งหลายนั้น กฎเกณฑ์ของสังคมอาจมิใช่กฎของธรรมชาติที่แปรเปลี่ยนไม่ได้ ตราบใดที่ผู้หญิงยังมีตัวเลือก ยังรู้จักคิดที่จะเลือก และตัดสินใจลงมือเลือกได้ตามที่ต้องการ ตราบนั้น แม้ผู้หญิงจะเลือกยืนอยู่นอกอาณัติของกฎสังคม แต่ก็เป็นการเลือกยืนอยู่ได้ด้วย “หัวใจฟรุ้งฟริ้ง” นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >