ฉบับที่ 165 Code นมสิ่งสำคัญในการปกป้องสุขภาพเด็กไทย

Code นม หรือ หลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ (International Code of Marketing of Breast  Milk Substiututes ) ณ ปัจจุบันหลักเกณฑ์นี้ยังไม่มีกฎหมายเป็นข้อบังคับ จึงทำให้เกิดปัญหาความเข้าใจผิดต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และส่งผลให้สถิติการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของประเทศไทยอยู่ภาวะที่ต่ำมากในเอเชีย นั่นหมายถึงสุขภาพของเด็กไทยที่จะต้องเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพในอนาคต นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา  กล่าวว่า  Code นม ที่ประเทศต่างๆ ได้มีมติรับรองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524  เป็นกฎเกณฑ์ปกป้องสุขภาพเด็ก เพื่อให้เด็กได้กินนมแม่  ซึ่งถือเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก และเพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อจำเป็นต้องใช้อาหารอื่นแทนนมแม่ แม่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนผ่านวิธีการตลาดที่เหมาะสม สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ เรื่อง “หลักเกณฑ์สากลว่าด้วยเรื่องการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ตั้งแต่ พ.ศ. 2524  แต่ด้วยประเทศไทยไม่มีกฎหมายเพื่อบังคับใช้อย่างจริงจัง  ทำให้ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายอาหารทารกและเด็กเล็ก ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงนี้ มีหลักฐานจากหลายประเทศแสดงให้เห็นว่า การตรากฎหมายเพื่อควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กนั้น มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมปัจจัยที่เอื้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  อย่างเช่นการวิจัยในประเทศฟิลิปปินส์ พบว่า การออกกฎหมายควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กในปี 1986 ส่งผลให้มีการแจกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ในโรงพยาบาลลดลง จากร้อยละ 57.5  ในปี ค.ศ. 1986 เหลือเพียงร้อยละ 2.8 ในปี ค.ศ. 1988  ประเทศไทยของเราน่าเป็นห่วงมากว่า ถึงแม้เราจะประกาศใช้หลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องมานานถึง 30 ปีแล้ว แต่เราไม่สามารถป้องกันหรือบังคับใช้ได้ เพราะไม่มีการลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืน การมีหลักเกณฑ์จึงไม่สามารถควบคุมการส่งเสริมการตลาดที่ดำเนินการอยู่ได้ ในทัศนะของ ดร.บวรสรรค์ เจี่ยดำรง นักวิชาการนิเทศศาสตร์อิสระ ผู้ติดตามการส่งเสริมการตลาดของอุตสาหกรรมนมผงในประเทศไทย เห็นว่า มีกลยุทธ์ในหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ การโฆษณาในสื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อโฆษณาอื่นๆ  มีการแจกตัวอย่างผลิตภัณฑ์เป็นของขวัญฟรีแก่แม่  การใช้ข้อความ รูป หรือสัญลักษณ์บนฉลากผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เข้าใจว่าสร้างพัฒนาการที่ดีให้กับเด็ก และมีสารอาหารที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ  การอบรมคุณแม่ตั้งครรภ์ผ่านสถานประกอบการ หรือผ่านกิจกรรมในโรงพยาบาล  การทำตลาดผ่านสื่อ Call Center  จดหมาย หรือ SMS  เพื่อติดต่อกับแม่และครอบครัวโดยตรง  การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ผ่านโรงพยาบาลและคลินิก ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งแจกของขวัญให้กับบุคลากรในโรงพยาบาล “เครื่องมือส่งเสริมการตลาดเหล่านี้ ได้สร้างมายาคตินมผงเท่ากับนมแม่ ชวนให้แม่เชื่อผิดๆ ว่านมผงมีสารอาหารเทียบเท่านมแม่ ภายใต้กรอบความเชื่อที่ผิดๆ เช่นนี้จะมีผลต่อการตัดสินใจเลือกทางเลือกในการเลี้ยงลูกด้วยนมผงร่วมกับนมแม่ ซึ่งเป็นกลยุทธ์อันแยบยลที่อุตสาหกรรมนมผงใช้ในการขัดขวางการผลิตน้ำนมของแม่  เมื่อแม่ไม่ได้ให้นมลูก กระบวนการผลิตน้ำนมก็ไม่ได้ถูกกระตุ้น  ทำให้น้ำนมแม่ก็แห้งไปจากอกแม่  แม่จึงเข้าใจว่าน้ำนมไม่พอ ในที่สุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนก็ไม่สำเร็จ” เมื่อทารกไม่ได้กินนมแม่หรือได้รับนมแม่ไม่เพียงพอในช่วง 6 เดือนแรก ทารกก็สูญเสียสิทธิที่จะได้รับสารอาหารที่ดีสุดในชีวิตไป ซึ่งทารกที่ไม่ได้กินนมแม่หรือกินไม่เพียงพอก็เสี่ยงที่จะเป็นโรคภูมิแพ้ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยพบเด็กวัยแรกเกิด-5 ปี ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้สูงถึง 6 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่แม่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อนมผงเลี้ยงลูกสูงถึงปีละกว่า 7 หมื่นบาท นี่ยังไม่รวมค่ารักษาพยาบาลโรคภูมิแพ้อีกปีละเกือบ 7 หมื่นบาท ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขมีต้นทุนค่ารักษาพยาบาลปีละกว่า 7,500 ล้านบาท ท่ามกลางความเสียหายต่อสุขภาพทารกและระบบสาธารณสุขของประเทศ การดำเนินธุรกิจที่ไร้จริยธรรมทำให้อุตสาหกรรมนมผงได้กำไรต่อปีกว่าพันล้านบาท ทางด้านเครือข่ายคุณแม่ออนไลน์ ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มคุณแม่ ที่มีความตระหนักร่วมกันไม่ต้องการให้การตลาดนมผงมาสร้างมายาคติ หรือความเชื่อที่ผิดๆ ให้กับคุณแม่ทั้งหลาย โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีฐานะการเงินที่ไม่ดี เพราะนมมีคุณค่าที่สุดที่จะเลี้ยงลูกของตนเอง  จากคุณแม่ไม่กี่คนที่เชื่อมั่น และต้องการเห็นเด็กๆ คนอื่น มีความเท่าเทียมในการเติบโตอย่างมีสุขภาพ จึงเริ่มต้นแนะนำให้ความรู้กับคุณแม่มือใหม่ด้วยสื่อออนไลน์เพราะเข้าถึงคนได้ง่าย จากเว็บไซต์ และปัจจุบันยังอาสาทำงานให้ความรู้คุณแม่เท่าทันการตลาด ล่าสุดเข้าเพื่อความรวดเร็วและเข้าถึงผู้คนได้ง่ายและขยายผลได้ดี ปัจจุบันจึงเป็นเฟสบุ๊ค “นมแม่ แบบแฮปปี้” พญ.ศศินุช รุจนเวช  ตัวแทนเครือข่ายคุณแม่ออนไลน์ ยังเล่าให้ฟังว่า ตนเองไม่ใช่กุมารแพทย์ เหมือนกับคุณแม่ทั่วไป ที่กังวลกับการมีลูก ตอนที่มีลูกก็มีปัญหาน้ำนมไม่มี แต่ได้รับการดูแลจากโรงพยาบาลที่เข้ามาสนับสนุนนมแม่ จึงเริ่มสนใจเข้าใจเรื่องเหล่านี้ และเริ่มต้นจากแม่ๆ มาเริ่มพูดคุยแชร์เรื่องเหล่านี้ร่วมกัน  จึงเกิดความต้องการอยากให้คุณแม่ทุกคนให้นมแม่สำเร็จ เห็นลูกเราแข็งแรง แต่เด็กอื่นๆ ที่กินนมผง กินนมแม่น้อย มีความเจ็บป่วยมากกว่า มีสุขภาพไม่แข็งแรง จึงทำให้สนใจเรื่องการตลาด และข้อเท็จจริงก็คือคนส่วนใหญ่สามารถให้นมแม่ได้สำเร็จอยู่แล้ว แต่พอมีการตลาดเข้ามาก็ไปขัดขวางให้คุณแม่เข้าใจเรื่องนี้ผิดๆ  เราเป็นห่วงว่าอัตราการให้นมแม่ของประเทศไทยน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย อย่างคุณแม่ในทีมที่แข็งขันท่านหนึ่ง ที่มีสามีเป็นแพทย์ก็ได้ศึกษาหาข้อมูลตรงนี้มาเผยแพร่ พวกเราช่วยกันทำงานนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม คุยกับคนใกล้ตัว แล้วก็เจอปัญหาที่โดนคนรอบข้างกดดันเพราะอิทธิพลของการโฆษณา หลายคนเจอว่าทำไมไม่ให้ลูกกินนมผง มีสารดีๆ อยู่ในนมผงเยอะนะ  เราจึงเห็นว่านี่คือผลของอิทธิพลการโฆษณา ทำให้คนรอบข้างไม่เข้าใจและส่งผลต่อแม่ที่อยากให้ลูกทานนมแม่ ประเทศไทยจึงควรขจัด “มายาคติ” เหล่านี้ จึงอยากฝากคุณแม่ทุกท่านให้ลูกได้กินนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน และอยากให้มีเครือข่ายกว้างขวางช่วยกันเผยแพร่ความรู้ ถ้าเครือข่ายเราเข้มแข็งการป้องกันเด็กทารกจะดีขึ้น และท้ายที่สุดหวังว่าจะมีการสนับสนุนให้มีกฎหมายที่ช่วยคุ้มครองสุขภาพเด็กไทยจากอิทธิพลของการตลาดนมผง   ข้อมูลจาก เวทีชี้แจงกับสื่อมวลชน ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 ในประเด็น “ความสำคัญของ Code นม เพื่อปกป้องสุขภาพเด็กไทย”  ที่ โรงแรมแรมเอเชีย  จัดโดยโครงการสื่อสารเพื่อสนับสนุนนมแม่ฯ  ได้รับการสนับสนุน โดย องค์การยูนิเซฟ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 167 เช็ค “แคลอรี” ในขนมหวานยอดฮิต

“ฮันนี่ โทสต์”, “เครปเค้ก”, “แพนเค้ก”, “เอแคลร์”, “ชูครีม” “มาการอง” ฯลฯ เหล่านี้คือ เมนูเบเกอรี่สูตรอินเตอร์ที่กำลังฮิตติดเทรนด์สุดๆ ในหมู่บรรดาผู้นิยมขนมหวาน ผู้ซึ่งไม่หวั่นต่อปริมาณน้ำตาลและไขมัน เรียกว่าฮิตขนาดที่ร้านดังๆ มีคนเฝ้ารอต่อแถวซื้อยาวเหยียด บางคนต้องรอเป็นชั่วโมงกว่าจะได้ชิม แบบเดียวกับปรากฏการณ์เข้าคิวซื้อขนมยอดฮิตในอดีตอย่าง “โรตีบอย” และ โดนัท “คริสปี้ครีม” ซึ่งขนมที่เคยฮิตทั้ง 2 ประเภท (ปัจจุบันนี้โรตีบอยไม่มีขายในไทยแล้ว ส่วนโดนัทคริสปี้ครีมหลังขยายสาขาปรากฏการณ์เข้าคิวซื้อก็หายไปในเวลาอันรวดเร็ว) “ฉลาดซื้อ” ของเราก็เคยนำมาทดสอบดูปริมาณน้ำตาลและไขมันมาแล้ว เมื่อมีของกินมาใหม่และกำลังได้รับความนิยม แบบนี้ “ฉลาดซื้อ” ของเราไม่พลาดที่จะนำมาวิเคราะห์กันดูสิว่า แต่ละร้านแต่ละเมนูให้ พลังงาน น้ำตาล และไขมัน แค่ไหนกันบ้าง   ผลทดสอบค่าพลังงานในตัวอย่างขนมหวานยอดนิยม จากผลวิเคราะห์ที่ได้ จะเห็นว่าบรรดาขนมหวานยอดนิยมทั้งหลาย ล้วนแล้วให้ค่าพลังงานที่ค่อนข้างสูง อย่าง Round & Brown ของร้าน แพนเค้ก คาเฟ่ 1 เสิร์ฟ ให้พลังงานถึง 617.5 กิโลแคลอรี หรือคิดเป็นประมาณ 30% ของพลังงานที่ร่างกายต้องการใน 1 วัน หรือจะเป็นเมนูยอดนิยมที่สุดในตอนนี้อย่าง ชิบูญ่า ฮันนี่ โทสต์ ของร้าน อาฟเตอร์ยู ที่ 1 เสิร์ฟ ให้พลังงานสูงถึง 802.5 กิโลแคลอรี หรือคิดเป็นประมาณ 40% ของพลังงานที่ร่างกายต้องการใน 1 วัน แต่อย่าเพิ่งตกใจ เพราะส่วนใหญ่คนที่ไปกินขนมหวานเหล่านี้ ไม่ได้กินคนเดียวหมด 1 เสิร์ฟ เพราะ 1 จากที่ทางร้านเสิร์ฟมา ก็มักจะช่วยๆ กันกิน ที่เห็นส่วนมาก จาน 1 ก็กินกันที 2 – 3 คน ถ้าเป็นแบบนี้ค่าพลังงานที่ได้ก็จะลดลง ไม่ถึงกับน่ากลัว ถ้าบริหารดีๆ ค่าพลังงานที่ได้จากการกินอาหารใน 1 วัน ก็น่าจะยังไม่เกินกับที่ร่างกายของเราต้องการ(ไม่เกิน 2,000 กิโลแคลอรี) แต่เห็นค่าพลังงานแบบนี้แล้ว บางคนที่คิดว่าไหนๆ พลังงานก็สูงแล้วกินมันแทนข้าวไปเลยแล้วกัน ถ้าเป็นแบบนั้นไม่ดีแน่ๆ เพราะแม้จะให้พลังงานสูงเทียบเท่าอาหารมื้อหลัก แต่คุณค่าทางอาหารนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง ขนมเหล่านี้ส่วนใหญ่ทำจากแป้ง น้ำตาล ครีม ยังขาดสารอาหารสำคัญๆ อีกมากที่ร่างกายต้องการ อย่าง โปรตีน วิตามิน ใยอาหาร กินแต่ขนมก็ได้แต่ แป้ง ไขมัน น้ำตาล ถ้าอ้วนขึ้นมาจะหาว่าฉลาดซื้อไม่เตือนไม่ได้นะ ส่วนพวกที่เป็นขนมทานเล่นเป็นชิ้นๆ อย่าง ปารีส เอแคลร์ รส ไอเฟล ที่ 1 ชิ้นให้พลังงาน 306 กิโลแคลอรี ถ้ากิน 2 ชิ้น 612 กิโลแคลอรี ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สูง หรืออย่าง ขนมปังหน้าสังขยา จากร้าน มนต์นมสด ที่ปริมาณแคลอรีต่อ 1 แผ่นอยู่ที่ 268.6 กิโลแคลอรี 2 ชิ้นก็จะกลายเป็น 537.2 กิโลแคลอรี ก็ถือว่าค่อนข้างสูง ประมาณ 1 ใน 4 ของ พลังงานที่ร่างกายเราควรได้รับใน 1 วัน เพราะฉะนั้นอย่าคิดว่าแค่กินขนมชิ้น 2 ชิ้น คงไม่อ้วน ถ้าหากมื้อหลักอื่นๆ เรายังกินอาหารที่เต็มไปด้วยแป้งและไขมัน โดยเฉพาะพวกของทอด แล้วยิ่งถ้ากินพวกน้ำหวาน น้ำอัดลม กาแฟเย็น ชาเย็น ด้วยพลังงานที่เราได้รับมีสิทธิพุ่งทะยาน กินแบบนี้บ่อยๆ ไม่ใช่แค่ไขมันจะมาเพิ่มที่รอบเอว แต่สุขภาพก็จะมีปัญหาตามมาด้วย เทคนิคกินขนมหวานให้มีความสุข สุขใจไม่ทำร้ายสุขภาพ กินขนมให้เป็นขนม อย่ากินโดยคิดว่าจะกินแทนข้าว กินแค่พออร่อย อย่ากินเอาอิ่ม ขนมชิ้นใหญ่ จานใหญ่ อย่ากินคนเดียว แชร์กันกินกับเพื่อนหลายๆ คน ไม่ทำร้ายสุขภาพ แถมประหยัดเงินด้วย เพราะช่วยๆ กันจ่าย กินขนมหวาน อย่ากินคู่กับน้ำหวาน เดี๋ยว น้ำตาล กับ ไขมัน จะทวีคูณ กินของคาวแล้วไม่จำเป็นต้องกินขนมหวานเสมอไป ถ้าอิ่มแล้ว ก็ขอให้พอ เอาไว้กิน มื้อหน้า วันหน้า ก็ได้ กินขนมหวานแล้วอย่าลืมออกกำลังกาย อย่าเอาแต่นั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่ที่โต๊ะ ลุกไปออกกำลังกายบ้าง เผาผลาญแคลอรี   กินถูกหลัก “พลังงานไม่เกิน” คนที่กลัวอ้วนหรือกำลังอยู่ในช่วงลดน้ำหนักหลายคนกังวลเรื่องปริมาณแคลอรีของพลังงานจากการกินอย่างมาก ซึ่งมีหลายคนเข้าใจผิดเรื่องการคุมพลังงานจากการกินอาหาร ความจริงแล้วพลังงานถือเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมากต่อร่างกาย การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย ทั้งการทำงานของสมอง ระบบการเต้นของหัวใจ ระบบการหายใจ ล้วนแล้วต้องอาศัยพลังงานที่เราได้จากการกินอาหารและพลังงานบางส่วนที่ร่างกายเราสะสมเอาไว้ ซึ่งปริมาณแคลอรีของพลังงานจากการกินอาหารที่เหมาะสมต่อร่างกายใน 1 วันคือ 1,600 – 2,000 กิโลแคลอรี ซึ่งหากเราต้องกินอาหาร 3 มื้อต่อ 1 วัน ใน 1 มื้อ ปริมาณแคลอรีที่เราได้จะอยู่ประมาณ 350 – 500 กิโลแคลอรี ซึ่งเมื่อนำมารวมกันแล้วถือว่าเหมาะสมพอดีกับที่ร่างกายของเราต้องการ แถมยังเหลือพอให้เรากินพวกผลไม้ต่างๆ เป็นว่างของหวานหลังการกินอาหารมื้อหลักได้อีก แต่สาเหตุที่หลายคนน้ำหนักเพิ่มหรือมีรูปร่างอ้วนจากการกิน ส่วนใหญ่เป็นเพราะอาหารที่เพิ่มมาจาก 3 มื้อหลัก พวกขนมหวาน น้ำหวานน้ำอัดลม กาแฟเย็น ชาเย็น พวกนี้แหละคือตัวร้ายที่ทำให้หลายคนอ้วนขึ้น เพราะบรรดาขนมหวาน กับเครื่องดื่มรสหวานทั้งหลายให้พลังงานสูง สูงพอๆ กับอาหารจานหลัก อย่างเมนูเบเกอรี่ยอดฮิตทั้งหลายที่ฉลาดซื้อนำมาทดสอบล้วนแล้วแต่มีวัตถุดิบหลักคือ แป้ง น้ำตาล นม เนย ครีม บางสูตรก็เติมน้ำเชื่อม แยม ช็อกโกแลต เพิ่มความอร่อย เพราะฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจ ถ้ากินขนมพวกนี้บ่อยๆ แล้วพุงน้อยๆ จะเริ่มย้อยออกมา เพราะฉะนั้น ทั้งๆ ที่ก็กินข้าวแค่ 3 มื้อปกติ แต่ลืมคิดว่าระหว่างมื้อหลักก็กินขนมหวานของว่างจุบจิบอีกไม่รู้ตั้งเท่าไหร่ แบบนี้จะไม่ให้แคลอรีเกินได้ยังไง   ค่าพลังงานในอาหารแต่ละประเภท   ที่มา : การดูแลสุขภาพทางโภชนาการด้วยตนเอง, ดร. บุญศรี   กิตติโชติพาณิชย์ ภาควิชาการพยาบาลสูติ-นารีเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช   ปริมาณสารอาหารที่เหมาะกับร่างกายใน 1 วัน   -พลังงานวันละ 2,000 กิโลแคลอรี -โปรตีน ตามน้ำหนักตัว กรัม (เช่น น้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม ควรได้รับโปรตีนต่อวันคือ 50 กรัม) -ไขมันทั้งหมด น้อยกว่า 65 กรัม -กรดไขมันอิ่มตัว น้อยกว่า 20 กรัม -โคเลสเตอรอล น้อยกว่า 300 มิลลิกรัม -คาร์โบไฮเดรต ทั้งหมด 300 กรัม -ใยอาหาร 25 กรัม -โซเดียม น้อยกว่า 2,400 มิลลิกรัม -น้ำตาล น้อยกว่า 24 กรัม (ประมาณ 6 ช้อนชา) ที่มา : ปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน สำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป (Thai RDI (Thai Recommended Daily Intakes))   ออกกำลังกายช่วยเผาผลาญแคลอรี ใน 1 ชั่วโมง เราเผาพลังงานด้านได้แค่ไหน วิ่งเร็ว                                       560 กิโลแคลอรี วิ่งช้า (จ๊อกกิ้ง)                           490 กิโลแคลอรี เดิน                                         245 กิโลแคลอรี ปั่นจักรยาน                                420 กิโลแคลอรี ที่มา : http://manycalorie.com/calories-burned-running/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 99 อยากเปรี้ยวอย่างมีคุณค่า ต้องถามหา “จุลินทรีย์”

เรื่องทดสอบ 2กองบรรณาธิการ  คนรุ่นใหม่อย่างเราๆ คงรู้กันดีอยู่แล้วว่า “นมเปรี้ยว” คืออะไร ถูกผลิตขึ้นมาได้อย่างไร แต่ถ้าใครยังไม่เคยรู้ถึงที่มาที่ไปของความอร่อยและคุณประโยชน์ของนมเปรี้ยวมาก่อนล่ะก็ ลองเขยิบ (สายตา) เข้ามาใกล้ๆ วันนี้เรามีเรื่องดีๆ เกี่ยวกับนมเปรี้ยวมาบอกกันนมเปรี้ยว เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำน้ำนมสัตว์ปกติมาหมักด้วยจุลินทรีย์ที่ไม่ทำให้เกิดโรคหรือที่เป็นอันตราย จุลินทรีย์ที่สำคัญในการหมักคือจุลินทรีย์ที่ผลิตกรดแลคติก โดยทำให้น้ำตาลแลคโตสในนมเปลี่ยนเป็นกรดแลคติกทำให้นมมีรสเปรี้ยว ก่อนจะนำมาเติมแต่งปรุงรสชาติให้อร่อยด้วยน้ำผลไม้ เป็นนมเปรี้ยวแบบที่เราได้ดื่มกันเป็นประจำทุกวัน มาทำความรู้จักประเภทของนมเปรี้ยว1. นมเปรี้ยว (fermented milk) หมายถึง ผลิตภัณฑ์นมที่ได้จากนมหรือผลิตภัณฑ์นมซึ่งเกิดจากการหมักบ่มด้วยจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดกรดแล็กติกเป็นหลัก เช่น แล็กโตบาซิลลัส เดลบรูคิอิ ซับส์ บัลการิคัส (Lactobacillus delbrueckii subsp bulgaricus) สเตรปโตค็อกคัส เทอร์โมฟิลัส (Streptococcus thermophilus) ไบฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) แล็กโตบาซิลลัส อะซิโดฟิลัส (Lactobacillus acidophilus) หรือจุลินทรย์อื่นที่ใช้ในการผลิตนมเปรี้ยว ทั้งจะมีจุลินทรีย์ที่ใช้ในการหมักบ่มที่มีชีวิตคงเหลืออยู่หรือไม่ก็ได้2. โยเกิร์ต (yoghurt) หมายถึง นมเปรี้ยวซึ่งมีจุลินทรีย์ใช้ในการหมักบ่มที่มีชีวิตคงเหลืออยู่3. โยเกิร์ตปรุงแต่ง (flavoured yoghurt or composite fermented milk) หมายถึงโยเกิร์ตที่ผ่านการปรุงแต่งกลิ่น รส สี หรือวัตถุอื่นที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น ผลไม้ แยม เป็นต้น ซึ่งอาจแยกชั้นในภาชนะบรรจุ (set yoghurt) หรือผสมรวมเข้าด้วยกัน (stirred yoghurt) และมีจุลินทรีย์ใช้ในการหมักบ่มที่มีชีวิตคงเหลืออยู่4. นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม (fermented milk drink or drinking yoghurt) หมายถึง นมเปรี้ยวที่ผ่านการเจือจางและปรุงแต่งกลิ่น รส สี หรือวัตถุอื่นที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น น้ำผลไม้ น้ำผึ้ง เป็นต้น สำหรับดื่มโดยตรง และมีจุลินทรีย์ใช้ในการหมักบ่มที่มีชีวิตคงเหลืออยู่5. นมเปรี้ยวพร้อมดื่มพาสเจอไรซ์ (pasteurized fermented milk drink or pasteurized drinking yoghurt) หมายถึง นมเปรี้ยวพร้อมดื่มที่ผ่านการทำลายจุลินทรีย์ ด้วยความร้อนโดยกระบวนการพาสเจอไรซ์ และมีจุลินทรีย์ใช้ในการหมักบ่มที่มีชีวิตจำนวนหนึ่ง6. นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม ยูเอชที (UHT fermented milk drink or UHT drinking yoghurt) หมายถึง นมเปรี้ยวพร้อมดื่มที่ผ่านการทำลายจุลินทรีย์ด้วยความร้อนโดยกระบวนการ ยูเอชที ข้อแตกต่างระหว่าง นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม, นมเปรี้ยวพร้อมดื่มพาสเจอไรซ์ และ นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม ยูเอชที - นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม เป็นนมที่เน้นให้คนที่ดื่มได้รับประโยชน์ของเชื้อแบคทีเรีย ที่เติมลงไปมากกว่าประโยชน์จากนมสด เนื่องจากมีส่วนประกอบของนมขาดมันเนยเพียงร้อยละ 50 เท่านั้น นมเปรี้ยวชนิดนี้มีอายุการรักษาที่อุณหภูมิตู้เย็นประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ ซึ่งน้อยที่สุดใน 3 ประเภท- นมเปรี้ยวพร้อมดื่มพาสเจอไรซ์ ด้วยกระบวนการพาสเจอไรซ์ทำให้อายุการเก็บรักษายาวนานขึ้น คือสามารถเก็บไว้ได้ในอุณหภูมิตู้เย็นประมาณ 1 เดือน แต่การเนื่องจากกระบวนการนี้ต้องผ่านความร้อน จึงทำให้เอ็นไซม์กาแลคโตชิเอส และแบคทีเรียถูกทำลายหมดไป ประโยชน์ที่ได้จึงเป็นเรื่องของปริมาณน้ำตาลแลคโตสลดลง - นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม ยูเอชที คือนมเปรี้ยวพร้อมดื่มที่ผ่านการฆ่าเชื้อแบบยูเอชที สามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องได้นานมากกว่า 6 เดือน สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับจากการดื่มนมเปรี้ยวพร้อมดื่ม ยูเอชที นั้น จะเหมือนกับนมเปรี้ยวพร้อมดื่มพาสเจอไรซ์ จุลินทรีย์ สิ่งที่ดีที่สุดในนมเปรี้ยว- จุลินทรีย์ ช่วยรักษาสมดุลให้กับระบบการทำงานของลำไส้ ซึ่งในลำไส้ของคนเรามีจุลินทรีย์มากมายหลายชนิด มีทั้งที่เป็นประโยชน์และให้โทษ ซึ่งเมื่อคนเราอยู่ในช่วงสุขภาพไม่แข็งแรง ระบบการทำงานของลำไส้ก็จะเกิดปัญหา จุลินทรีย์ที่ให้โทษก็จะขยายตัวมากขึ้นจนมีมากกว่าจุลินทรีย์ที่ดี เพราะระบบการทำงานในลำไส้เสียสมดุล ซึ่งทำให้เกิดอาการท้องเสีย จุลินทรีย์ที่มีชีวิตในนมเปรี้ยวเมื่อดื่มเข้าสู่ร่างกาย จะเข้าไปช่วยปรับสภาพของลำไส้ให้กลับมาสู่ภาวะสมดุล- จุลินทรีย์ ในนมเปรี้ยวมีคุณสมบัติช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย ช่วยผลิตสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อย่าง กรดแลคติก กรดอะมิโน- จุลินทรีย์ ช่วยในระบบการย่อยอาหาร ซึ่งส่งผลดีต่อมายังระบบขับถ่าย - จุลินทรีย์ ช่วยยับยั้งมะเร็ง และกำจัดสารก่อมะเร็งบางชนิด เพราะเชื้อแลคโตบาซิลัสสามารถจับกับสารก่อมะเร็ง โลหะหนัก และกรดน้ำดีซึ่งมีพิษ ยับยั้งการเจริญเติบโตของกลุ่มแบคทีเรียในลำไส้ที่สร้างสารไนเตรท ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่งได้ ตารางแสดงคุณลักษณะทางเคมีและทางจุลชีววิทยาในนมเปรี้ยว ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม   รายการ โยเกิร์ต โยเกิร์ตปรุงแต่งพร้อมดื่ม นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม นมเปรี้ยวพร้อมดื่มพาสเจอไรซ์ นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม ยูเอชที     จุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดกรดไม่น้อยกว่า โคโลนี*ต่อกรัมหรือโคโลนีต่อลูกบาศก์เซนติเมตร     107     107     107     104     น้อยกว่า 10     *โคโลนี หมายถึง กลุ่มเซลล์จุลินทรีย์ที่สามารถมองเห็นได้ โดยหนึ่งโคโลนีเจริญมาจากหนึ่งเซลล์ ผลทดสอบ- อย่างที่บอกว่าจุลินทรีย์ที่มีชีวิตในนมเปรี้ยว ถือเป็นประโยชน์หลักที่เราจะได้รับจากการดื่มนมเปรี้ยว แต่ด้วยข้อจำกัดที่ไม่สามารถเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์แต่ละยี่ห้อให้มีวันผลิตให้ใกล้เคียงกัน จึงอาจทำตัวเลขจำนวนของจุลิทรีย์มีชีวิตแต่ละยี่ห้ออาจมีการเปลี่ยนด้วยปัจจัยของวันที่ผลิตและอุณหภูมิที่ใช้เก็บรักษา- บีทาเก้น สูตรนมพร่องมันเนย เป็นผลิตภัณฑ์ที่ปริมาณจุลินทรีย์ที่มีชีวิตมากที่สุด เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์นมเปรี้ยวยี่ห้ออื่นๆ ในการทดสอบครั้งนี้ ซึ่งบนฉลากผลิตภัณฑ์ระบุว่าใช้จุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัส คาเซอิ- จุลินทรีย์ แอล.คาเซอิ ชิโรต้า เป็นชนิดของจุลินทรีย์ที่พบเฉพาะในยาคูลท์เท่านั้น ซึ่งชื่อนี้มีที่มาจาก ดร.ชิโรตะ มิโนรุ ซึ่งเป็นผู้ค้นพบแบคทีเรียชนิดนี้ ในปี 1930- ชนิดของจุลินทรีย์ที่นมเปรี้ยวที่ใช้ทดสอบครั้งนี้ระบุไว้ที่ฉลากได้แก่ แอล.คาเซอิ ชิโรต้า, แลคโตบาซิลลัส คาเซอิ, แลคโตบาซิลลัส บัลแกริคัส, สเตร็ปโทค็อกคัส เทอร์โมฟิลัส, บิฟิโดแบคทีเรียม อะนิมาลิส-ดีเอ็ม173010 และ แลคโตบาซิลลัส เดลบรีคคิโอซัมสปีชีส์ บัลแกริคัส- มี 6 ยี่ห้อ ที่มีจำนวนจุลินทรีย์ที่มีชีวิตตามคุณลักษณะทางเคมีและทางจุลชีววิทยา ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกำหนด ซึ่งได้แก่ บีทาเก้น สูตรนมพร่องมันเนย (9.0 x 108 cfu), โฟร์โมสต์ โอเมก3 นมเปรี้ยวไขมันต่ำ (1.2 x 107 cfu), ดีไลท์ ดัชมิลล์ (ฉลากสีฟ้า) นมเปรี้ยวปราศจากไขมัน น้ำตาลน้อยกว่า (3.0 x 107 cfu), เคซีไอ (casei) นมเปรี้ยวปราศจากไขมัน ผสมใยอาหารอินนูลิน (5.5 x 107 cfu), เคซีไอ (casei) ฉลากโดราเอมอน นมเปรี้ยวปราศจากไขมัน ผสมใยอาหารอินนูลิน (2.4 x 107 cfu) และ ดานอน แอคทีเวีย นมเปรี้ยวโยเกิร์ต กลิ่นสตอร์เบอรี่ (1.4 x 107 cfu)- เมจิ บิวติ ดีโทซี่ โยเกิร์ตพร้อมดื่มไม่มีไขมัน ทั้ง 2 รส คือ ชนิดผสมน้ำผึ้งและนาว กับ ชนิดผสมน้ำผึ้งและแอปเปิลไซเดอร์ ทดสอบพบจุลินทรีย์น้อยกว่า 10 cfu ด้วยกันทั้งคู่- ดานอน แอคทีเวีย นมเปรี้ยวโยเกิร์ต กลิ่นสตอร์เบอรี่ เป็นยี่ห้อที่ทดสอบพบปริมาณแคลเซียมมากที่สุด ซึ่งมากกว่ายี่ห้ออื่นถึงเกือบเท่าตัว ขณะที่นมเปรี้ยวยี่ห้ออื่นๆ มีปริมาณแคลเซียมเฉลี่ยใกล้เคียงกัน- ปริมาณน้ำตาลที่พบในนมเปรี้ยวในการทดสอบครั้งนี้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน เฉลี่ยอยู่ที่ 14 -15 กรัม หรือ 4 ช้อนชา ซึ่งปริมาณน้ำตาลที่แนะนำให้รับประทานในแต่ละวันคือไม่เกิน 6 ช้อนช้า ดังนั้นการรับประทานนมเปรี้ยวจึงไม่ช่วยทำให้ผอมลงได้อย่างแน่นนอน สาวๆ ที่ยังเข้าใจผิดต้องรีบเปลี่ยนความคิดโดยด่วน ตารางแสดงผลทดสอบนมเปรี้ยว  *cfu = Colony Forming Unit หรือ หน่วยก่อรูปเป็นโคโลนีวิเคราะห์โดยสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยามหิดล ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >