ฉบับที่ 140 ช่วยบอกหน่อยว่าเมล็ดพันธุ์เป็นหมัน

“เมล็ดพันธุ์คุณภาพ ผ่านการคัดเลือก และปรับปรุงพันธุ์จนได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดี ก่อนจัดจำหน่ายไปยังลูกค้า ทุกขั้นตอนได้มาตรฐานการผลิตเมล็ดพันธุ์”ใครที่เคยซื้อเมล็ดพันธุ์ผัก เมล็ดพันธุ์ดอกไม้ ถ้าเพ่งพินิจหน้าซอง มักจะเห็นข้อความโฆษณาเลิศหรูแบบนี้ แต่มันไม่จะไม่มีข้อความส่วนไหนที่บอกให้คุณรู้เลยว่า มันเป็นหมันคุณดาลิน เป็นนักวิทยาศาสตร์เคมี และเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2555 ที่ผ่านมานี่เอง เธอไปออกบูทงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ครั้งล่าสุด มีเกษตรกรรายหนึ่งเข้ามาปรึกษาเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ของบริษัทด้านเกษตรข้ามชาติยักษ์ใหญ่ว่า เมล็ดพันธุ์ผัก เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ซื้อมา เพาะปลูกไปแล้วไม่สามารถเก็บพันธุ์ไว้เพาะปลูกอีกครั้งได้  เช่น พริกก็เป็นหมัน  เอามาทำพันธุ์เพาะปลูกต่อไม่ได้   แม้กระทั่งตัวคุณดาลินเองที่เป็นนักวิทยาศาสตร์แต่มีใจรักด้านการเกษตร ลงทุนร่วมกับพี่ชายไปซื้อที่ทำนาในพื้นที่ภาคเหนือ แล้วไปซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวจากบริษัทข้ามชาติมาปลูก เมื่อปลูกและได้ผลผลิตข้าวแล้ว จะเก็บพันธุ์ข้าวเพื่อเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป ไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์อีก  ปรากฏว่าเสียรู้  เพาะปลูกไม่ขึ้นในฤดูกาลถัดไป หรือปลูกได้ก็ได้ผลผลิตแย่มากไม่เหมือนปลูกครั้งแรกคุณดาลินเธอบอกว่า เคยติดต่อสอบถามไปที่หน่วยงานด้านเกษตรหลายหน่วยงานอย่าง กรมวิชาการเกษตร สหกรณ์การเกษตร รวมไปถึงกรมวิชาการพันธุ์พืชได้คำตอบจากข้าราชการไทยเป็นเสียงเดียวกันว่า “เกษตรกร รู้อยู่แล้ว ทำไมไม่ไปร้องเรียน ....ที่อื่น”คุณดาลินเห็นว่า หากเกิดความเสียหายด้วยความไม่รู้ของเกษตรกรแล้วมาร้องทุกข์ ก็จะโดนภาษาจากข้าราชการ อย่างนี้เช่นเดียวกัน และ อาจโดนคำพูดปลอบใจว่า เค้ารู้กันทั่วบ้านเมือง ...ดิฉันวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี เคมี ยังไม่รู้เลยค่ะ ว่าคำว่า OP ที่อยู่หน้าซอง แปลว่า หมัน คำว่า S1 ที่อยู่หน้าซอง แปลว่า หมัน หรือคำว่า เมล็ดพันธุ์ลูกผสม ที่อยู่หน้าซอง แปลว่า หมัน “ข้อความแบบนี้เป็นภาษาที่ไม่สื่อ ไม่มีความหมาย หรือมีความหมายไม่ชัดเจน กำกวม และทำให้ เกษตรกรเข้าใจผิด หรือเป็นเหตุให้เกิดการหลงเชื่อไปในทางเข้าใจผิดได้ อยากจะขอให้มีการเพิ่มข้อความ ระบุบนซองเมล็ดพันธุ์  ที่ขึ้นชื่อว่า OP, S1, เมล็ดพันธุ์ลูกผสม  หรือเมื่อมีแนวโน้มเอียงไปในทางไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป  ให้มีถ้อยคำเพิ่มเติม  ดังนี้1.ให้ระบุฉลากให้มีคำว่า  เมล็ดพันธุ์ “ หมัน “ บนหน้าซอง2.ให้ระบุฉลาก ให้มีข้อควรระวังว่า “ ไม่สามารถเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป“ บริเวณด้านหลังซองเพื่อป้องกัน  ความเข้าใจผิด  หรือลดการหลงผิดแก่เกษตรกรรายใหม่  และช่วยทำให้เกษตรกรที่มีการศึกษาน้อย วุฒิการศึกษาขั้นประถมศึกษา สามารถอ่านภาษาไทย  แม้เขียนภาษาไทยไม่ได้ ได้รู้ถึงความหมาย เมื่อแรกที่หยิบซองเมล็ดพันธ์ขึ้นมาอ่าน  และเข้าใจได้ทันที  ด้วยภาษาที่ง่าย หรือเป็นภาษาที่ใช้งานกันบ่อยในชีวิตประจำวัน   และแปลความหมายเข้าใจได้ง่ายกว่า  คำว่า  พันธ์ลูกผสม  (ซึ่งข้าพเจ้า วุฒิการศึกษาปริญญาตรี สาขาเคมี ยังไม่รู้เลยว่า  ผลคือ หมัน ) แล้วจะคาดหวังเกษตร หลงเข้าใจได้อย่างไร แนวทางแก้ไขปัญหานายอำพล เสนาณรงค์อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุวิศวกรรมการเกษตร ได้เคยกล่าวถึงพันธุ์พืชที่เรียกว่าพันธุ์ลูกผสมไว้ว่าพันธุ์ลูกผสม  หมายถึง  ลูกผสมชั่วที่  ๑  (F1) ของพันธุ์สองพันธุ์ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมแตกต่างกัน พ่อแม่ของพันธุ์ลูกผสมอาจจะเป็นพันธุ์ผสมเปิด ประชากร หรือพันธุ์บริสุทธิ์  ปัจจุบันพันธุ์ลูกผสมเป็นพันธุ์พืชที่ใช้มากในการอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ เพราะลูกผสมมักมีผลิตผลสูงและคุณภาพดีกว่าพ่อแม่ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่เรียกว่า "ความดีเด่นของลูกผสม" (Hybrid vigor  หรือ Heterosis)   และเกษตรกรผู้ใช้จำเป็นต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ลูกผสมใหม่ทุกฤดูปลูก  เนื่องจากลูกชั่วต่อไปของลูกผสมจะมีผลิตผลลดลง  และคุณสมบัติอื่น ๆ ปรวนแปร และไม่สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้เองเนื่องจากไม่มีเมล็ดพันธุ์พ่อแม่ เพราะบริษัทผู้ผลิตจะหวงพันธุ์และเก็บไว้เป็นความลับ พืชที่ใช้ลูกผสมปลูกเป็นการค้าอยู่ในปัจจุบันได้แก่ ข้าวโพด ผัก และไม้ดอกไม้ประดับต่าง ๆเห็นด้วยกับข้อเสนอของคุณดาลิน ที่อยากจะเห็นข้อความที่ให้สารสาระบ่งชี้ชัดเจนเข้าใจโดยไม่คลาดเคลื่อนว่า เมล็ดพันธ์ลูกผสมใช้ได้แค่ครั้งเดียว เมล็ดที่ได้จากการปลูกครั้งแรกไม่สามารถนำมาเพาะปลูกได้อีก หรือปลูกได้แต่ผลผลิตก็ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เพื่อให้เกษตรกรได้มีข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในการเลือกเมล็ดพันธุ์เพื่อการเพาะปลูกที่เหมาะสมกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะได้มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้พิจารณาปรับปรุงการแสดงฉลากบนซองเมล็ดพันธุ์ให้มีความชัดเจนนี้ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >