ฉบับที่ 269 ถูกหลอกเสียเงินหลักแสนว่าจะให้ของฟรีที่ไม่มีจริง!!

        การถูกล่อลวงให้ซื้อเครื่องสำอางหรือคอร์สเสริมความงามจนประชาชนต้องสูญเสียเงินมหาศาลนั้น ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาแม้กับคนที่ไม่ชอบใช้เครื่องสำอางเลย เช่น คุณดาว ที่แค่เพียงเดินผ่านหน้าร้าน ก็ถูกชักจูงให้รับของฟรีให้เอาไปทดลองใช้ พอคุณดาวเผลอหลวมตัวเข้าไปนั่งภายในร้าน จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ถูกหลอกซื้อเครื่องสำอางเสียเงินไปกว่าแสนบาท          เรื่องราวนี้เริ่มเพียงแค่ตอนแรกคุณดาวถูกใจและตกลงซื้อเครื่องสำอางที่จัดโปรโมชั่นลดราคาเหลือ  1,900 บาท จึงยื่นบัตรเครดิตให้พนักงานไปรูดเป็นค่าสินค้า แต่ในระหว่างที่พนักงานร้านถือบัตรเครดิตไว้แล้ว พนักงานอีก 2 คน ก็เข้ามาเสนอคอร์สทรีตเมนท์หน้าฟรีให้อีก ‘พี่รู้มั้ย มาสก์ครั้งเดียวก็ 60,000 บาทแล้ว’ คุณดาวปฏิเสธไปหลายครั้งเพราะจะรีบไปรับลูกที่โรงเรียนแต่พนักงานงานกลับช่วยกันประคองพาคุณดาวเข้าในห้องเล็กๆ เพื่อทำทรีตเม้นท์หน้าต่อ และเพียงล้มตัวนอน ฝรั่งเจ้าของบริษัทก็ปรากฏตัวขึ้นและบอกว่า ถูกใจคุณดาวมากจนอยากให้เป็นพรีเซนเตอร์ และให้พนักงานนำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของบริษัทมาวางให้คุณดาวที่ข้างเตียงมากมาย จนถึงตอนนี้ คุณดาวก็รู้สึกว่าคุ้มมากๆ เพียงเข้ามาซื้อเครื่องสำอางราคา 1,900 บาทกลับได้ทรีตเมนท์หน้าฟรี ยังจะได้เป็นพรีเซ็นเตอร์และยังได้เครื่องสำอางกลับไปใช้อีกเป็นจำนวนมากด้วย         จนเมื่อพนักงานเสนอกับคุณดาวว่า “ค่าคอร์สทำหน้า ราคา 96,000 บาท ทำหน้าได้ 12 ครั้งซึ่งตอนนี้บอสถูกใจให้ทำคอด้วยอีก 12 ครั้ง  แล้วเครื่องสำอางที่นำมาวางให้กว่า 9 รอบทั้งหมดคือให้ฟรี ใช้แล้วจะเต่งตึงอยู่ได้ 5 ปี ไม่ต้องไปใช้ตัวอื่นอีกเลย” คุณดาวจึงเริ่มรู้สึกกระอักกระอ่วนใจมากแล้วเพราะราคาสูงลิ่ว และอยากออกจากร้านแล้ว แต่เพราะพนักงานยังไม่ล้างทรีตเม้นท์บนหน้าให้ ในระหว่างนี้ยังนำเครื่องสำอางมาวางให้ฟรีเรื่อยๆ ไม่หยุด จนคุณดาวต้องปฏิเสธบอกว่า เธอเป็นป่วยโรคมะเร็งและไม่อยากเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่ใช้อยู่ พนักงานก็รับประกันว่า ‘ไม่ต้องห่วง ปลอดภัยต่อผู้ป่วยมะเร็งแน่นอน และทั้งหมดนี้มีมูลค่าสูงเกือบล้านบาทแต่วันนี้ลดราคาเหลือ 96,000 บาท’ เท่านั้น  ด้วยเพราะเป็นห่วงลูกที่รอให้ไปรับที่โรงเรียนและด้วยความรำคาญจึงตอบตกลงซื้อคอร์สทรีตเมนท์ใบหน้า เพราะคิดว่าอย่างน้อยระยะเวลาให้เข้ามาใช้บริการก็ยาวนานถึง 5 ปี และยังรับประกันว่าปลอดภัย มีประสิทธิภาพไม่ต้องใช้ผลิตภัณฑ์อื่นอีก         จนเมื่อกลับถึงบ้านและเห็นใบเสร็จอย่างชัดเจนว่ายอดบัตรเครดิตทั้งหมดที่พนักงานบอกว่า เป็นค่าเครื่องสำอางที่บอกว่าให้ฟรีทั้งหมดนั้นไม่ฟรีจริง ส่วนคอร์สทรีตเมนท์หน้าไม่มีรายละเอียดใดๆ ให้กลับไปใช้บริการได้เลยอีกด้วย (สัญญา 5 ปีคืออะไร)  ในท้ายใบเสร็จยังระบุว่า ‘ไม่สามารถเปลี่ยนสินค้าคืนได้’  วันรุ่งขึ้นคุณดาวจึงกลับไปที่ร้านอีกแต่ไม่พบพนักงานที่ขายของให้เลยและยังไม่สามารถติดต่อพนักงานคนใดให้รับผิดชอบได้เลยด้วย คุณดาวและสามีจึงช่วยกันสืบหาข้อมูลของบริษัทและพบว่ามีผู้เสียหายที่ถูกทำให้เข้าใจผิด ถูกยัดเยียดขายให้แบบคุณดาวจำนวนกว่า 10 ราย บางคนเป็นแพทย์ มีรายได้สูงก็ถูกหลอกขายและกดบัตรเครดิตเสียเงินไปถึงกว่า 4 แสนบาท จึงมาปรึกษาว่าตนเองและผู้ร้องรายอื่นจะสามารถทำอะไรเพื่อแก้ไขเรื่องนี้ได้บ้าง แนวทางการแก้ไขปัญหา         เรื่องนี้คุณดาวเองได้เดินเรื่องร้องเรียนไว้กับทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ด้วย เธอฝากบอกถึงผู้เสียหายรายอื่นๆ ว่า เมื่อเกิดเรื่องขึ้นให้เก็บหลักฐานการซื้อขายทุกอย่าง เก็บรักษาผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้อยู่ในสภาพคงเดิมและเข้าร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ  สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยกับบริษัท ณ ปัจจุบันคุณดาวได้ไกล่เกลี่ยกับบริษัทแล้ว แต่ยังหาข้อยุติไม่ได้ เพราะบริษัทไม่รับผิดชอบตามข้อเรียกร้องคุณดาวจึงร่วมกับผู้เสียหายรายอื่นๆ แต่งตั้งทนายความเพื่อสู้คดีแล้ว         “หากเดินผ่านร้านแบบนี้  ไม่อยากให้แวะเลย แม้ว่าเขาจะสร้างภาพหรูหราหรือตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่โตแล้วเราคิดว่าจะปลอดภัยไม่ใช่ มีทุกรูปแบบ  ไม่อยากให้รับของฟรี หรือ  gift voucher ฟรีใดๆ ปฏิเสธแล้วรีบเดินออกมาเลยดีที่สุด”

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 212 รับมือไม่ไหวโดนรุมให้เซ็นสัญญาซื้อคอร์สเสริมความงาม

เมื่อคุณปิ๊กปฏิเสธ พนักงานขายอีกสองสามคนก็เข้ามารุมให้ข้อมูล เกลี้ยกล่อม “พูดล่อลวงให้หลงเชื่อและเปลี่ยนใจซื้อบริการ...มีการขอบัตรเครดิต พอบอกว่าขอกลับไปคิดก่อน ก็อ้างว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายแล้ว ปิดบูท โปรโมชั่นนี้จริงๆ ไม่มีแล้วแต่มอบให้คุณปิ๊กเป็นกรณีพิเศษ...” อยู่ในวงล้อมนี้ราวหนึ่งชั่วโมง สุดท้ายคุณปิ๊กก็ต้านทานไม่ไหว รูดบัตรเครดิตจ่ายค่าคอร์สไปแบบงงๆ              รับมือไม่ไหวโดนรุมให้เซ็นสัญญาซื้อคอร์สเสริมความงาม    เคยไหมเวลาเดินเล่นเพลินๆ ให้ห้างสรรพสินค้า แล้วถูกเซลล์ของบรรดาคลินิกหรือสถานเสริมความสวยงาม สถานบริการลดน้ำหนัก พุ่งเป้าเล็งคุณด้วยการเชิญชวนที่ยากจะปฏิเสธ กว่าจะรู้ตัวก็เซ็นสัญญารูดบัตรเครดิตไปเรียบร้อย ถ้าพลาดไปแล้วจะทำอย่างไร ลองดูกรณีตัวอย่างนี้     ขณะคุณปิ๊กกำลังเพลิดเพลินเดินห้างอย่างสบายอารมณ์ พนักงานขายของคลินิกบริการด้านความงาม (ขอเรียกว่า คลินิก T) “พยายามเรียกดิฉันให้เข้าไปในบูท บอกว่าแค่เขียนชื่อเพื่อที่ตัวน้องเขาจะได้ยอด” ด้วยความใจดี คุณปิ๊กจึงช่วยเขียนชื่อให้เพราะไม่คิดว่าต้องเสียอะไร      แต่คุณปิ๊กคงคาดไม่ถึงว่าตนเองต้องผจญกับการเสนอโปรโมชั่นต่างๆ ทั้งลด แจก แถม ที่พนักงานขายพยายามเสนอให้อย่างสุดความสามารถ เมื่อคุณปิ๊กปฏิเสธ พนักงานขายอีกสองสามคนก็เข้ามารุมให้ข้อมูล เกลี้ยกล่อม “พูดล่อลวงให้หลงเชื่อและเปลี่ยนใจซื้อบริการ...มีการขอบัตรเครดิต พอบอกว่าขอกลับไปคิดก่อน ก็อ้างว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายแล้ว ปิดบูท โปรโมชั่นนี้จริงๆ ไม่มีแล้วแต่มอบให้คุณปิ๊กเป็นกรณีพิเศษ...” อยู่ในวงล้อมนี้ราวหนึ่งชั่วโมง สุดท้ายคุณปิ๊กก็ต้านทานไม่ไหว รูดบัตรเครดิตจ่ายค่าคอร์สไปแบบงงๆ     เมื่อกลับมาบ้านจึงมีเวลาได้ทบทวนและตรวจสอบราคาค่าบริการ คุณปิ๊กพบว่าราคาค่าบริการของคลินิก T แพงกว่าราคาตลาดประมาณ 5-10 เท่า แม้แต่ราคาโปรโมชั่นที่ได้ซื้อไปก็แพงกว่า 2 เท่า จึงโทรศัพท์ปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิว่าสามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้อย่างไร แนวทางแก้ไขปัญหา     เนื่องจากยังไม่ได้เข้าไปใช้บริการ ศูนย์พิทักษ์สิทธิจึงแนะนำเบื้องต้นให้ทำหนังสือ (จดหมาย) “บอกเลิกการใช้บริการและขอเงินคืนทั้งหมด” ถึงคลินิก T และทำหนังสือ “ขอระงับการจ่ายเงิน” ถึงผู้ให้บริการบัตรเครดิต (ธนาคาร) แล้วสำเนาส่งมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อจะได้ดำเนินการต่อเนื่อง     ผลการดำเนินการ ทางคลินิกแจ้งเป็นหนังสือว่าจะจ่ายเงินค่าคอร์สคืนให้แก่ผู้ร้องคือคุณปิ๊ก จำนวน 19,500 บาท จากจำนวนเต็ม 30,000 บาท โดยขอหักไว้ 35% (10,500 บาท) อ้างว่า เป็นค่าธรรมเนียม กรณีนี้ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิเห็นว่าผู้ร้องควรใช้สิทธิดำเนินการทางศาลหรือฟ้องเรียกเงินคืนจะดีกว่าวิธีที่ผู้ร้องคิด คือจะขอไปใช้บริการในส่วน 10,500 บาทและรับเงินคืน 19,500 ซึ่งวิธีนั้นทางคลินิกไม่ยินยอมและยืนยันการคืนเงินตามหนังสือที่แจ้งมา ถ้าผู้ร้องฟ้องคดีอาจได้รับเงินในส่วนที่ถูกหักไว้ 35% คืนกลับมา เพราะค่าธรรมเนียมที่ทางคลินิกเรียกถึง 35% นั้นสูงเกินไป ซึ่งคุณปิ๊กเห็นด้วย เรื่องนี้จึงอยู่ในกระบวนการฟ้องคดี และจะนำมารายงานต่อเมื่อคดีสิ้นสุด                               ใจแข็งไว้นะคะเวลาเผชิญหน้ากับเซลล์ ไม่ว่าจะสินค้าใดก็ตาม ผู้บริโภคควรมีเวลาสำหรับการหาข้อมูลให้แจ้งชัดและมีเวลาสำหรับการตัดสินใจ

อ่านเพิ่มเติม >